- หนึ่งปีที่ผ่านมาการเรียนของเด็กๆ ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้เป็นอย่างไรบ้าง ถอดบทเรียนจากงานเสวนา “เปิดเทอมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม” สอนอย่างไร เรียนแค่ไหน เมื่อออนไลน์ไปไม่ถึง
- ชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง Self-Directed Learning Package, ครูหลังม้า, อสม.การศึกษา นี่คือตัวอย่างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในยุคของวิด 19 ของโรงเรียนในพื้นที่ที่ตกที่นั่งลำบากในการจัดการเรียนแบบออนไลน์
- การจัดการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ที่ต่อเนื่องเท่านั้น แต่คือการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เข้าถึงทักษะเด็กๆ ด้วย
ภาพ : ปริสุทธิ์
หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ออกไปอีก จากกำหนดเดิมวันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ที่ไม่สู้ดีนัก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา และเพื่อให้มีระยะเวลารับการฉีดวัคซีนด้วย
ในสถานการณ์เช่นนี้ทางเลือกในการจัดการเรียนการสอนจึงเน้นไปที่การ ‘เรียนออนไลน์’ และ ‘เรียนทางไกล’ แต่สำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร บนภูเขาสูง ที่เข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต บางพื้นที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า ไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน คำถามก็คือ ทุกโรงเรียน ทุกพื้นที่ และทุกคนสามารถเรียนออนไลน์ได้จริงหรือ?
“ไม่ได้เรียนค่ะ เพราะบนดอยอินเทอร์เน็ตค่อนข้างช้า ฝนตกทำให้ไฟดับบ่อย นักเรียนบางคนมีฐานะยากจนก็เลยไม่มีโทรศัพท์ใช้”
“การที่ครูเอาแบบฝึกหัดไปให้ทำที่บ้าน ก็เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร จะถามพ่อแม่ก็ไม่ได้เพราะพ่อแม่ไม่เคยเรียนมาก่อน จะถามครูก็ห่างไกลจากโรงเรียนมาก” นี่คือเสียงสะท้อนเด็กๆ จากห้องเรียนกลางดอย ในงานเสวนา “เปิดเทอมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม” สอนอย่างไร เรียนแค่ไหน เมื่อออนไลน์ไปไม่ถึง โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, วุฒิสภา, TDRI, The Reporter และ The Active Thai PBS
The Potential เลือกหยิบบางประเด็น โดยเฉพาะนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในยุคโควิด 19 ของโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดการเรียนผ่านออนไลน์หรือออนแอร์ได้ มานำเสนอให้เห็นว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่ไม่ได้ปล่อยผ่าน มีการระดมความคิดเพื่อหาทางออกสำหรับข้อจำกัดที่เกิดขึ้นเพื่อให้การเรียนรู้ดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง Self-Directed Learning Package, ครูหลังม้า หรือ อสม.การศึกษา ตามด้วยการหาคำตอบว่า ถ้าจะต้องเปิดเทอมใหม่เร็วๆ นี้ พวกเขาพร้อมรับมือหรือไม่
สร้างการมีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้ ‘โรงเรียนบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร’
โรงเรียนบนพื้นที่สูง เป็นโรงเรียนที่มีความยากลำบากในการจัดการศึกษาทั้งการเดินทางและความเป็นอยู่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และอยู่ติดชายแดน จากการสำรวจของ อ.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย และที่ปรึกษาเครือข่ายชมรม ‘นักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ’ เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า มีราว 1,190 โรง กระจายตัวอยู่ในโซนภาคเหนือ ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก ไปจนถึงราชบุรีและกาญจบุรี
“เราลงไปพบผู้เรียนเพื่อดูว่าวิธีการจัดการศึกษาที่เราทำปีที่แล้วเวิร์กสำหรับเขาไหม ซึ่งพบว่าแต่ละบ้านไม่มีความพร้อมที่จะเรียนออนไลน์หรือใช้ออนแอร์ทีวีใดๆ บางบ้านมีนักเรียนหลายคน มีทีวีแต่ก็เรียนกันคนละช่อง แล้วบ้านไม่ได้เอื้อต่อการเรียนรู้ ไม่มีโต๊ะนั่งเรียน ไม่มีอุปกรณ์การเรียน และสภาพการทำงานของครูเองก็ค่อนข้างยุ่งยาก ลำบาก บางพื้นที่เดินทางยาก บางพื้นที่ครูเป็นคนแปลกหน้าสำหรับชุมชน หลายหมู่บ้านล็อกดาวน์ตัวเอง เพราะกลัวคนนอกจะเอาเชื้อมาแพร่ในหมู่บ้าน”
แล้วโรงเรียนปรับตัวอย่างไร? อ.ศุภโชค เล่าว่า เราต้องเรียนรู้ร่วมกันไป สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาสิ่งที่โรงเรียนหลายแห่งเริ่มขยับทำกันบ้างแล้ว คือ การปรับมายเซ็ตครู ออกแบบการจัดการเรียนรู้ของตนเอง ทำอย่างไรถึงจะรู้วิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพกับผู้เรียนได้ และคัดเลือกเนื้อหาที่ควรจะเรียนมาก่อน เน้นให้มีการบูรณาการเพิ่มขึ้น และเน้นทักษะการเรียนรู้ กระบวนการตั้งคำถาม สืบค้น สรุปความรู้ นำเสนอ หาวิธีแก้ปัญหา
“แทนที่จะเรียนตามบทเรียนก็เอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นคือเรื่องของโควิด 19 มาเรียน เช่น โควิดศึกษา คืออะไร มีผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวอย่างไร และจะปฏิบัติตนอย่างไร) ออกแบบชุดคำถามให้นักเรียน เพื่อให้เขาไปสำรวจคนที่บ้าน และสรุปความรู้ ซึ่งเราก็พยายามติดตามผล ความก้าวหน้าของผู้เรียน”
ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน เชิญผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่กลุ่มเล็กๆ เพื่อจะอธิบายวิธีการเรียน และขอความร่วมมือในการช่วยกันดูแลลูกหลานในช่วงโควิดนี้
“เราต้องคัดกรองว่ามีเด็กกี่คนออนไลน์ได้บ้าง ส่วนเด็กที่ไม่สามารถเรียนได้ก็จัดให้เรียนแบบออฟไลน์ ใช้ชุดการเรียนรู้ที่จัดทำเอง และอีกวิธีหนึ่งคือการผสมผสานวิธีการที่ยืดหยุ่น คัดกรองให้เด็กบางส่วนในบริเวณใกล้ๆ โรงเรียนเข้ามาเรียนที่โรงเรียนได้ หรือใช้อาสาสมัครเพื่อการศึกษา เช่น ศิษย์เก่า ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เข้าไปสอนในหมู่บ้าน ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยด้วย ที่ผ่านมาจะเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนยังไม่ได้มีการอบรมอาสาสมัครกันจริงจัง แต่พลังของกลุ่มนี้เป็นตัวช่วยที่ดีที่ช่วยโรงเรียนได้ในระดับหนึ่ง”
สิ่งที่ครูเห็นพ้องต้องกันว่าเด็กสามารถสะท้อนการเรียนได้ จากการจัดการเรียนเช่นนี้คือ เด็กๆ มีการจัดทำชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น เนื่องจากการใช้สบู่หรือเจลล้างมือที่ใช้บ่อยมากทำให้มือแห้ง เขาจึงคิดค้นน้ำยาล้างมือจากพืชในท้องถิ่นที่ช่วยให้มือนุ่ม หรือวิธีการทำ social distancing ในโรงเรียน ทำอย่างไรที่จะเราไม่นั่งชิดกันได้โดยอัตโนมัติ เขานำกระถางต้นไม้มาวางกั้นแทนที่จะเอาอะไรมาทำเครื่องหมายไว้ เป็นวิธีการที่เรียบง่ายแต่ได้ผล
การจัดการเรียนรู้ภายใต้วิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
การจัดการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนเดิมในที่นี้ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ที่ต่อเนื่องเท่านั้น แต่คือการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เข้าถึงทักษะเด็กๆ ด้วย
ในช่วงหนึ่งที่ระบบการเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนเป็น New Normal รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และวิทยบริการ ม.ศรีปทุม ชลบุรี ได้ทำวิจัยแนวทางการจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิด 19 พัฒนาอบรมครูให้มีความพร้อมดูแลเด็กๆ ชื่อโครงการว่า TSQP โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อใช้ในการดูแลโรงเรียนทั้งหมด 260 โรงเรียน กระจายไป 54 จังหวัด มีครูที่ดูแลให้คำปรึกษาและพัฒนาอยู่ราว 3,000 คน โดยสำรวจว่าลักษณะของการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความคาดหวังและเหตุผลในการรับการศึกษาจะเปลี่ยนไป คนอาจจะไม่คาดหวังว่าต้องการมีศักยภาพหรือขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อไปเป็นแรงงานในสถานประกอบการขนาดใหญ่แล้ว รูปแบบการประกอบธุรกิจและอาชีพก็จะเริ่มกลายเป็น start-up องค์กรขนาดเล็กที่ทำแบรนด์ท้องถิ่น และเน้นการสร้างอาชีพใหม่ด้วยตัวเองมากขึ้น”
โดยผลกระทบที่ตามมาจะทำให้ความคาดหวังของระบอบการศึกษาหรือผลลัพธ์ทางการศึกษาในระบอบเปลี่ยนไป ในผลลัพธ์การเรียนรู้จะเน้นทักษะการคิด ทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต การอ่าน เขียน คำนวนพื้นฐาน ทักษะสังคม และที่สำคัญมากก็คือ การเป็นนักเรียนรู้เชิงรุกตลอดชีวิต เพราะเราคงไม่สามารถยึดโยงกับโรงเรียนได้อีกต่อไป
และด้วยผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ทำให้กระบวนการจัดการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป อย่างแรกคือ หน่วยการเรียนรู้จากรายวิชา เป็น Unit ซึ่งอาจหมายถึง 1 โปรเจค เป็นการบูรณาการการเรียนรู้ สองคือ โรงเรียนในวิถีใหม่นี้ไม่สามารถจัดการศึกษาแบบแมสได้อีกต่อไป ฉะนั้นคำว่า ‘โรงเรียน’ คงจะถือเป็นสรณะไม่ได้แล้ว จึงเป็น Unschooling หรือความไร้ระบอบในการเรียนรู้ เรียนตามอัธยาศัย แล้วก็เรื่องของการศึกษาทางไกล (Remote Learning) เรียนรู้จากสภาพแวดล้อม ปรากฏการณ์จริง ปัญหา และที่สำคัญคือ บทบาทของครูจะเปลี่ยนเป็นครูโค้ช ผู้แนะนำ และผู้ประสานงาน
จากความเปลี่ยนแปลงที่เห็นโครงการนี้จึงพัฒนานวัตกรรมขึ้นมา 2 ตัวด้วยกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในวิถีใหม่นี้ คือ Learning Process และ การพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางไกล
“Learning Process ใหม่ ที่เราทำหรือทำการพัฒนาครู 3,000 คน โดยติดตั้งแนวคิดเรื่องของ Community Innovation Project การจัดการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน ใน ‘โครงการนวัตกรรมเพื่อชุมชน’ ให้แก่ครู ซึ่งผู้เรียนจะเรียนรู้จากปัญหา สถานการณ์จริง กับชุมชนของตัวเอง โดยคำถามที่คุณครูจะมอบหมาย การเรียนแบบนี้ครูมีหน้าที่เป็นผู้ถาม ผู้โยนโจทย์ ผู้ชี้แนะเท่านั้น จะไม่ได้อยู่ติดกับผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมี space มากขึ้น”
ตัวอย่างคำถามเพื่อสร้างสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม
1.ในชุมชนมีปัญหาใดที่กำลังทำให้ความภูมิใจหรือคุณาพชีวิตของคนในชุมชนลดลง (ทุกข์)
2.สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง พร้อมข้อมูล หรือหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ (สมุทัย)
3.นวัตกรรมใดที่จะสามารถนํามาแทโยปัญหาดังกล่าวนี้ได้ (นิโรธ)
4.มีหลักการ หลักวิชา และทฤษฎีใดบ้างที่จะทําให้การสร้างนวัตกรรมนี้สําเร็จ (มรรค)
“4 คำถามนี้ ครูจะเป็นคนถามเด็กตั้งแต่แรก แล้วเมื่อเขาอยู่ที่บ้านเขาก็จะสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ในการสร้างนวัตกรรมดังกล่าว สิ่งที่เป็นประโยชน์คือผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และเขาจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง เพราะเขาเป็นคนสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง โดยการวางแผนการรียนรู้ร่วมกับคนอื่นว่าจะเรียนรู้วิชาไหนบ้างที่จะทำให้นวัตกรรมของเขาสำเร็จ
อีกส่วนที่สำคัญคือ การเห็นคุณค่าในตัวเอง โครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน มีผลดีมากๆ ในเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น และเด็กที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีความยากลำบากในชีวิต”
สำหรับ ‘การพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางไกล’ จะเห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความพยายามสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางไกล เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษายากลำบาก ไม่ว่าจะเพราะโควิด 19 หรือความยากไร้ ตัวอย่างเช่น อินเดียที่ทำโมบายแล็บ, ห้องเรียนบนลา ของโคลัมเบีย, ห้องเรียนบนเรือ ที่จะเข้าไปตามชุมชนของลาว หรือห้องเรียนบนอูฐ ของปากีสถาน ก็เป็นตัวอย่างที่หลายประเทศพยายามจะแก้ปัญหา
ซึ่งบ้านเราก็มีเช่นกัน คือ Self-Directed Learning Package หรือ ชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่จะมี 12 เรื่องราวที่เป็นธีมหลัก มีชุดคำถามที่ยกตัวอย่างไป โดยใช้กล่องที่เป็นอุปกรณ์นี้ไปสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านธีมต่างๆ ซึ่งมี 4 กลุ่มวิชาด้วยกัน คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม, สังคมและมนุษยชน, วิทยาการวิจัย และสัมมาชีพศึกษา (สหกิจ/ประกอบการ) โดยหัวใจของชุด Self – Directed Learning Package ไม่ใช่อุปกรณ์แต่ว่าเป็นตัวธีม ชุดคำถาม และใบงานที่จะไปกระตุ้นให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ และยังมีอีกหลายโมเดลที่ครูพยายามปรับให้เข้าบริบทของตัวเองซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
“ผู้เรียนสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านชิ้นงาน โครงงาน กิจกรรมต่างๆ และมีการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ อุปกรณ์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง หาผล ทดสอบสมมติฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์กระดาษ แว่นขยาย ชุดกระดาษลิตมัส แล้วก็ยังมีอุปกรณ์ในการประดิษฐ์ต่างๆ และมีการติดตามผลเพื่อกระตุ้น ส่งเสริม สอบถามข้อเสนอแนะของผู้เรียนและผู้ปกครอง โดยชุดโครงงานส่วนใหญ่เน้นเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ที่จะทำให้เด็กเองดีขึ้น”
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรอบรมเติมเต็มให้ครูทุกวัน เช่น โครงงานนวัตกรรมชีวจักรกลเพื่อชุมชน, Phenomenon Based Learning ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบนวัตกรรม เพื่อชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น, ทักษะในการสร้าง Self-Directed ด้วยตัวเองอย่างง่ายของครู ต้องบอกว่าพวกนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จแต่เป็นประตูบานแรกที่อยากให้ครูได้เรียนรู้ที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในวิถีชีวิตใหม่ เพราะฉะนั้นนวัตกรรมทั้งสองอย่างที่มอบให้ครูจึงเป็นประตูบานแรกให้เขาได้ฝึกฝน และสร้างทักษะเพิ่มให้ครู
ขนความรู้ไปให้เด็กๆ บนดอย กับ ‘ครูหลังม้า’
แม่ฮ่องสอนก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีโรงเรียนกระจายตามหมู่บ้าน ตามหุบเขาและบนภูเขาสูง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงสภาพความยากจนครัวเรือนของผู้ปกครองที่ไม่มีรายได้ เนื่องจากว่าเกือบ 100% เป็นชาวไทยภูเขาประกอบอาชีพเกษตรกรรมสามารถทำไร่ได้ปีละครั้ง ซึ่งบริโภคอย่างเดียวไม่ได้ขาย ส่งผลให้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเรียนให้กับบุตรหลาน ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แล็ปทอป หรือว่าทีวี
อ.สยาม เรืองสุกใสย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเรียกโครงการนี้ว่า ‘ครูหลังม้า’ ซึ่งเคยเป็นนวัตกรรมในอดีตของแม่ฮ่องสอนในการเข้าถึงพื้นที่โดยใช้ม้าบรรทุกสื่อการเรียนรู้ไปพร้อมกับครูแล้วก็ไปจัดการเรียนรู้ตามหย่อมบ้าน ปัจจุบันใช้รถมอเตอร์ไซต์แทนม้า แต่ในบางพื้นที่ก็ยังต้องเดินเท้า แบกเป้บรรทุกสื่อเข้าไป เพราะไม่สามารถเดินทางโดยรถได้
รูปแบบการเรียนการสอนของครูหลังม้า จะจัดเป็นคลาสเรียนเล็กๆ คละชั้น ประถม 1-6 มัธยม 1-6 ส่งครูเข้าไปในพื้นที่ กินนอนอยู่ร่วมกับชุมชน แต่ละหย่อมบ้านจะอยู่ราวหนึ่งสัปดาห์ พอหมดเนื้อหาก็หมุนวนไปหย่อมบ้านถัดไป หลังจากนั้นครูวิชาใหม่ก็จะเข้ามาแทน เหมือนกิจกรรมเข้าฐาน จนครบเนื้อหาวิชา ซึ่งการจัดการเรียนรู้จะต้องมีการออกแบบที่เหมาะสมกับบริบท เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์
เมื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ จะต้องมีการวัดผล ประเมินผลที่แตกต่างไป โดยเราเน้นการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง ไม่ได้ยึดตามตัวชี้วัด แต่ยึดตามสาระการรียนรู้ที่เราคิดว่าสำคัญ โดยดูจากสภาพจริง ชิ้นงาน พัฒนาการของผู้เรียน
กลไกการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบอาสาสมัคร
นอกจากชุดการเรียนรู้ที่พูดถึงไปแล้ว ในพื้นที่ที่เด็กไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ อ.เฉลียว เถื่อนเภา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโกล่าง จังหวัดราชบุรี มีนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจของ ‘ราชบุรีโมเดล’ ที่ใช้กลไกการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบอาสาสมัคร
“จากโควิด 19 รอบที่แล้ว โรงเรียนได้สำรวจความพร้อมของนักเรียนราว 780 คน แล้วแบ่งสภาพภูมิศาสตร์ออกเป็น 7 หย่อมบ้าน ซึ่งทั้งหมดเด็กสามารถมารวมตัวกันได้ เราก็ต้องมองหาว่าตรงไหนบ้างที่จะให้เด็กรวมตัวกันได้ภายใต้ข้อกำหนดของ ศบค. ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศาลาวัด โบสถ์คริสต์ ที่ตั้งหน่วยงานทหารต่างๆ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน จากนั้นก็ประสานกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา นายกอบต. ผู้ใหญ่บ้าน อสม. แบ่งภารกิจกัน พยายามกระจายเด็กๆ ให้ไม่เกิน 40 คนต่อจุด แล้วก็ได้ไปรวมศิษย์เก่ามาเป็นอาสาสมัครในการจัดการเรียนการสอน”
“ในการทำงานครั้งนั้นเราได้สร้างเครือข่ายทางการศึกษา ที่มาช่วยกันสร้างการเรียนรู้ให้เกิดความต่อเนื่องและเกิดการเรียนรู้ที่สร้างทักษะของเด็กๆ แต่ละคนได้ มีทั้งศิษย์เก่าที่มาช่วยสอน ได้พ่อแม่ผู้ปกครองมาช่วยดูแลลูกหลานอีกแรง การที่เขาได้เข้ามามีบทบาทเช่นนี้ทำให้เขารู้จักเด็กๆ ในชุมชนมากขึ้น และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน”
ซึ่งโรงเรียนบ้านห้วยนกกกก็ใช้การจัดการเรียนรู้ลักษณะนี้เช่นกัน อ.ประหยัด อุสาห์รัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยนกกก จังหวัดตาก ออกตัวก่อนเลยว่า โรงเรียนแห่งนี้อาจไม่ได้กันดารเหมือนอีกหลายๆ โรงเรียน เนื่องจากอยู่ติดถนนใหญ่ เดินทางไม่ลำบากนัก แต่มีนักเรียนที่มาจากหลายหมู่บ้านทั้งรอบๆ โรงเรียน และเดินทางมาเรียนโดยอาศัยอยู่หอพัก รวมๆ แล้ว 30 หย่อมบ้าน ซึ่งการจัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิดที่ผ่านมา ครั้งแรกทางโรงเรียนจัดตามนโยบายใช้การเรียนออนไลน์ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในขณะที่เจอปัญหาก็คิดค้นทางหนีทีไล่มาแก้ปัญหา 3 รูปแบบ ด้วยกัน
อย่างแรก เรียนที่โรงเรียน คัดเลือกนักเรียนในหมู่บ้านและบางหมู่บ้านที่ใกล้ๆ รวมถึงนักเรียนบ้านไกลที่อยู่หอพักมาเรียนที่โรงเรียน สองใช้โมเดล พี่ครูสอนน้อง และนวัตกรรม 4 จอ คือ จำอ่าน จำจด จำแจก (แจกรูปผสมคำ) จำเขียน ที่เรียกว่า ‘พี่ครู’ เพราะโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ จะเรียกพ่อครู แม่ครูกันส่วนใหญ่ พอเป็นนักเรียนพี่สอนน้องเราจึงเรียกว่า พี่ครู เพื่อเกิดความภูมิใจ นักเรียนเขาจะภูมิว่าได้เป็นครูแล้ว ฉันเป็นพี่และฉันเป็นครูด้วย
สุดท้ายคือ ครูเคลื่อนที่ ในบริเวณโรงเรียนมีหมู่บ้านละแวกนั้นที่ใกล้ๆ กัน ก็จะให้นักเรียนเช่นหมู่บ้านที่ 1 เปิดชั้น ป.1-ป.2 หมู่บ้านที่ 2 เปิดชั้นที่ 2 ป.3-ป.4 ชั้นป.5 ป.6 ที่อยู่ละแวกเดียวกันก็จะให้เด็กไปเรียนรวมตัวหมู่บ้านที่ 1 เฉลี่ยกันไป แล้วให้ครูเคลื่อนที่ 1 วิชา วนไปสอน แล้วก็จะมีฝ่ายส่งอาหารด้วย
อ.ประหยัด บอกว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันทางโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย ทั้งครูและนักเรียน ครูได้มากักตัว 14 วันตั้งแต่วันที่ 3 ของเดือนนี้ ดังนั้นวันนี้สามารถมาทำงานได้แล้ว ส่วนนักเรียนได้ทำประกาศส่งไปที่ผู้นำหมู่บ้านแล้วว่า นักเรียนต้องกักตัวอยู่บ้าน และใครที่ออกไปนอกพื้นที่ต้องกลับมาภายในวันที่ 17 นี้ เพื่อกักตัว นอกจากนี้ผู้นำชุมชนเองก็ต้องรู้สถานะว่าชุมชนตัวเองมีความเสี่ยงมากเท่าไร ต้องมีข้อมูลแจ้งให้ทราบว่าในชุมชนมีคนที่ออกนอกพื้นที่และเข้ามาในพื้นที่กี่คน
สุดท้าย สิ่งที่ทุกท่านสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันคือ ภาครัฐควรจะสนับสนุนงบประมาณ เช่น อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์คัดกรอง คลายล็อกเรื่องงบประมาณการจัดซื้อหนังสือเรียน เงินส่วนนี้สามารถจัดทำแบบฝึกเพื่อให้สอดคล้องกับที่แต่ละโรงเรียนต้องการ รวมถึงเรื่องอาหารกลางวัน และเมื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ จะต้องมีการวัดผล ประเมินผลที่แตกต่างไป โดยเน้นการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง ไม่ใช่ดูแค่ตัวชี้วัด ยึดตามสาระการรียนรู้ที่คิดว่าสำคัญ ชิ้นงานและพัฒนาการของผู้เรียน เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย