- ความรู้สึกเสียใจและเสียดายว่าทำไมถึงตัดสินใจผิดได้ ทั้งๆ ที่มันน่าจะเห็นชัดๆ อยู่ว่าควรจะทำหรือไม่ทำในตอนนั้น แต่กลับเลือกผิดได้อย่างน่าเขกหัวตัวเองจริงๆ มันคือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่มีชื่อเล่นน่ารักๆ ว่า “รู้งี้”
- เมื่อเจอกับผลลัพธ์แล้ว เราก็จะรู้ได้ตอนนั้นว่าเส้นทางที่เลือกมันถูกหรือผิดเพราะอะไร แต่อคติจะทำให้เราลืมไปว่าตัวเองในอดีตตอนที่ตัดสินใจเลือกนั้นไม่รู้ข้อมูลดังกล่าว และพอเอาตัวเราที่ “อัปเดต” ความรู้แล้วมาประเมินตัวเองในอดีต เราเลยมองว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้เรื่อง
- ถ้าเรามีความรู้ในสมองมากขึ้น อคติที่มาทำงานเพราะเรามีข้อมูลไม่พอก็จะน้อยลงไป
ท่านเคยไหมกับความรู้สึกว่า “รู้แบบนี้ไม่น่าทำเลย…” หรือ “รู้แบบนี้ทำไปตั้งนานแล้ว” หรือความรู้สึกเสียใจและเสียดายว่าทำไมถึงตัดสินใจผิดได้ ทั้งๆ ที่มันน่าจะเห็นชัดๆ อยู่ว่าควรจะทำหรือไม่ทำในตอนนั้น แต่กลับเลือกผิดได้อย่างน่าเขกหัวตัวเองจริงๆ ยิ่งกับในวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ ที่ทุกการตัดสินใจในชีวิตนั้นมีค่า เพราะมันอาจจะเกี่ยวกับเงินจำนวนมาก ความก้าวหน้าของการงาน หรือความสุขในชีวิต วันนี้เราจะมีทำความรู้จักกับปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่มีชื่อเล่นน่ารัก ๆ ว่า “รู้งี้” กันครับ
อาจจะฟังแล้วแสบเหมือนเกลือป้ายแผล แต่ท่านที่ขายบิตคอยน์หรือเงินสกุลคริปโตอื่นๆ ไปในช่วงที่ค่ามันตกต่ำ หลายๆ คนอาจคิดในใจว่า “รู้งี้ถ้าเก็บไว้ตอนนี้รวยเป็นล้านแล้ว” หรือท่านที่ “ตกรถ” ซื้อหุ้นที่อนาคตดีไม่ทัน เอาแต่คิดหน้าคิดหลังตัดสินใจจนราคาพุ่งไปถึงไหนต่อไหน จะซื้อตอนนี้ก็แพงเกินไปแถมเสี่ยงจะติดดอยเอา “รู้งี้รีบๆ ซื้อไม่ต้องคิดมากก็ดี” ผมอ่านงานเขียนของนักลงทุนหลายๆ ท่าน และผมมักจะเจอคำขวัญหรือสโลแกนเตือนใจนักลงทุนท่านอื่นๆ ว่า “รู้อะไร ไม่สู้ รู้งี้” เพราะนักลงทุนนั้นนอกจากจะช้ำจากความขาดทุนแล้ว ความเจ็บปวดและเจ็บใจที่ตัดสินใจพลาดแบบไม่น่าพลาดนี่สิ เป็นปัญหาอันสาหัสของประสบการณ์การลงทุนเลยก็ว่าได้
ไม่ใช่แค่นักลงทุนที่เจอปัญหานี้ ตอนนี้เทรนด์การย้ายไปอยู่เมืองนอกกำลังมาแรงเหลือเกิน แต่หลายๆ คนแค่คิดก็หนักใจแล้วเพราะไหนจะต้องเรียนภาษาที่สองที่สาม ซึ่งอายุมากขึ้น การเรียนรู้สิ่งใหม่มันก็ยากขึ้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า “รู้งี้ตอนเด็กๆ เรียนภาษาเยอะๆ ดีกว่า”
หรือที่หนักหนากว่านั้นหลายๆ คนที่ลงหลักปักฐานไปกับธุรกิจการท่องเที่ยว การบิน หรือธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบสาหัสเหลือเกินจากโควิด คงมีความคิดว่า “รู้งี้หาทางหนีทีไล่ไว้บ้างก็ดี”
ทำไมถึงตัดสินใจไปในทางที่มันน่าจะเห็นชัดๆ ว่าไม่ใช่หนทางที่ดี อย่าง รู้อยู่ว่าเรียนภาษาเยอะๆ เถอะ มันมีประโยชน์แน่ๆ แล้วทำไมตอนนั้นไม่คิดเรียนเพิ่มสักที หรือรู้อยู่ว่าไม่มีงานไหนมั่นคงตลอดกาล ทำไมไม่หาแผนสำรองให้ชีวิต การตัดสินใจพลาดบางครั้งมันได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจริงๆ บางท่านตัดสินใจพลาดครั้งเดียว สิ่งที่สู้ลำบากกัดฟันมานานอย่างเงิน ตำแหน่งการงาน หรือแม้แต่ชีวิตรักกลับหายไปในพริบตา แค่การสูญเสียก็หนักหนามากแล้ว ความรู้สึกแย่ ความรู้สึกผิดมันยังมาคอยทำร้ายจิตใจเราจนไม่อยากจะลุกสู้อีกแล้ว
จริงอยู่ว่ามันมีคำว่า “กฎแห่งกรรม” เราได้รับผลจากสิ่งที่ตนเองทำ แต่การโทษตัวเองในอดีตว่าทำไมถึงทำหรือไม่ทำอะไรไปนั้น อาจจะต้องตั้งสติกันนิดนึงว่า จริงหรือว่าตัวเราในอดีตนั้นตัดสินได้แย่ จริงหรือที่รู้ทั้งรู้แต่ก็ยังตัดสินใจพลาด ที่ผมถามเพราะมันมีสิ่งที่ทำให้ท่านโทษตนเองจนเกินเหตุ และหนึ่งในสิ่งนั้นคือ “อคติ” ที่มาคอยเป่าหูให้เราว่าเราในอดีตน่ะตัดสินใจพลาดแบบ “โง่ๆ” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราในอดีตอาจจะไม่ได้ตัดสินใจผิดก็ได้
อคติดังกล่าวมีชื่อว่า Hindsight เป็นคำที่ไม่มีชื่อไทย แต่มันมาจากสำนวนว่า “Hindsight is 20/20” ก็คือการมองย้อนกลับไป อะไรๆ มันก็ช่างชัดแจ๋ว (20/20 คือค่าวัดสายตาแบบหนึ่งที่แปลว่าตาดีมาก) Hindsight นั้นเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ในวันนี้ผมจะเน้นถึงแบบที่ทำให้เราคิดว่าตนเองในอดีตที่ตัดสินใจพลาดนั้น มีข้อมูลว่าทางไหนถูกทางไหนผิดเกินจริง Hindsight แบบนี้ก็คือ “รู้งี้” นั่นแหละครับ
อคติในทางจิตวิทยาหมายถึงความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งมันเป็นเหมือนโปรแกรมที่ทำให้สมองเราคิดอะไรได้ไวขึ้น แต่อคติมักไม่ค่อยแม่นยำนัก และคนมักไม่รู้ตัวด้วยว่ามีอคติอยู่ “รู้งี้” ก็เป็นเช่นเดียวกันครับ
คนเรานั้นเมื่อเจอกับผลลัพธ์แล้ว เราก็จะรู้ได้ตอนนั้นว่าเส้นทางที่เราเลือกนั้นมันถูกหรือผิดเพราะอะไร แต่อคติจะทำให้เราลืมไปว่าตัวเองในอดีตตอนที่ตัดสินใจเลือกนั้นไม่รู้ข้อมูลดังกล่าว และพอเราเอาตัวเราที่ “อัปเดต” ความรู้แล้วมาประเมินตัวเองในอดีต เราก็เลยมองว่าเราตัดสินใจไม่ได้เรื่องเลย ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์มันชัดเจนอยู่แล้ว เช่น คนที่รู้สึกว่าสายไปเสียแล้วที่จะเรียนภาษาเอาตอนอายุปูนนี้ ตอนนี้อยากไปเรียนต่อเมืองนอก อยากย้ายงานไปต่างประเทศก็ไม่ทันแล้ว “รู้งี้ เรียนภาษามันตั้งแต่เด็กๆ ดีกว่า ใครๆ ก็บอกว่าภาษาอังกฤษจะใช้มากขึ้น แล้วธุรกิจระหว่างประเทศก็โตเอาๆ ทำไมตอนนั้นถึงยังดื้อไม่คิดจะเรียน”
แต่แหม ตัวเราในสมัยก่อนไม่ได้เห็นเหตุการณ์ปัจจุบันเหมือนสมัยนี้นี่ครับ เราในตอนนั้นไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเหมือนตอนนี้ว่างานหายาก สายงานเราตอนนี้ไปต่างประเทศแล้วรุ่งกว่า สมัยที่เราตัดสินใจว่าไม่เรียนมันหรอกภาษา เพราะเราคิดว่าก็ทำงานในไทยต่อไปได้เรื่อยๆ แต่พอสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไป เราเอาตัวเราที่อัปเดตข้อมูลแล้วไปตัดสินว่าตัวเราสมัยก่อนตัดสินใจไม่ได้ได้เรื่อง มันก็ไม่สมเหตุสมผลจริงไหมครับ มันเหมือนดูเฉลยแล้วค่อยคิดว่า “ผิดได้ยังไงเนี่ย พลาดข้อง่ายๆ เลย” แต่ตอนในห้องสอบนั่นวิธีทำที่บอกว่าง่ายน่ะ มันยังไม่มีในหัวเหมือนตอนนี้นี่นา
“รู้งี้” ยังเกิดได้จากการที่เราเลือกนึกถึงแต่อดีตที่มันสอดคล้องกับปัจจุบัน ไม่สนใจความทรงจำที่ขัดแย้งกับผลในปัจจุบัน อย่างเช่น คนที่ไม่ยอมลงทุนสักที พอรู้ตัวอีกทีหุ้นก็ไต่ราคาสูงลิบจนเกินเอื้อมคว้าแล้ว อาจจะมีความคิดว่า “รู้งี้รีบลงทุนไปดีกว่า ตอนนั้นก็เห็นอยู่ว่าธุรกิจบริษัท xyz มั่นคง ในอนาคตราคาหุ้นพุ่งแน่ๆ” แต่เราไม่ได้คิดเลยว่าสมัยตอนที่ไม่ซื้อนั่น เราก็คิดถึงความเสี่ยงต่างๆ นานา ตลาดของบริษัทนี้ยังไม่ชัดเจน (เท่าปัจจุบัน) การลงทุนในรูปแบบอื่นอาจมั่นคงกว่า เราก็เลยเลือกเก็บเงินฝากประจำในธนาคารไม่เสี่ยงลงทุน แต่พอผลออกมาหุ้นราคาสูงลิ่ว “รู้งี้” มันก็จะเลือกมาแต่ความทรงจำในสมองที่มันสอดคล้องกับตอนนี้ เช่น นึกถึงแต่ตอนที่มีเพื่อนมาชวนลงทุนหลายต่อหลายคน ยิ่งคิดยิ่งทำให้เราปวดใจกับการตัดสินใจพลาดของตัวเอง
ดังนั้นใครที่กำลังรู้สึกแย่ รู้สึกผิดหวังกับตัวเองที่ตัดสินใจพลาดในแบบที่ไม่ควรพลาด อยากให้เราเข้าใจตัวเราในอดีตสักหน่อยนะครับ ว่าตอนนั้นเราก็อาจจะตัดสินใจดีแล้ว ก็เมื่อก่อนเราอาจจะไม่มีข้อมูลที่มากพอเหมือนตอนนี้ ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ชัดเจนเหมือนปัจจุบัน มันก็เป็นธรรมดาที่เราจะตัดสินใจพลาดได้ อย่าปล่อยให้อคติมาทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่จนไปต่อไม่ได้
คำถามต่อมาคือถ้า “รู้งี้” นั้นมันมีโทษคือทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเราเอง แล้วทำไมมนุษย์ถึงมีระบบ “รู้งี้” อยู่ในสมองกัน…
ก่อนจะตอบคำถามเรื่องนั้น ผมอยากชวนมาทำความรู้จักกับ Hindsight ในรูปแบบอื่นๆ นอกจาก “รู้งี้” Hindsight นั้นยังทำให้เกิดปรากฏการณ์อีกรูปแบบที่เกิดกับคนที่ตัดสินใจถูกด้วยครับ ผมขอตั้งชื่อเล่นว่า “ว่าแล้ว” และมักจะพ่วงมากับคำว่า “นั่นไง” “เห็นไหม” สำหรับคนบางคนที่โชคดีหรือบังเอิญตัดสินใจถูก ทั้งๆ ที่ตอนตัดสินใจนั่นไม่ได้มีเหตุผล หรือข้อมูลอะไรให้มั่นใจเลย แต่พอผลมันออกมาถูก แล้วเหตุผลมา ข้อมูลบังเกิดขึ้นมาในหัวได้ทันที “นั่นไง ว่าแล้วว่าเงินบาทไทยน่ะ เดี๋ยวก็อ่อน ปกติจะให้ค่าเงินดอลลาร์ตกมายี่สิบแปดยี่สิบเก้าบาทเนี่ยมันไม่ค่อยมีหรอก เดี๋ยวพอสหรัฐฯ ประคองตัวจากโควิด เงินบาทก็อ่อนลง ช่วงที่ถูกๆ เลยซื้อไว้ตั้งเยอะ” ในอดีตน่ะไม่ถึงกับไม่มีเหตุผล หรือไม่มีข้อมูลหรอกนะครับ แต่มันไม่ชัด หรือเหตุผลมันไม่เกี่ยว แต่พอปัจจุบันยืนยันว่ามาถูกทาง สมองเลยจัดเหตุผลที่สอดคล้องใส่พานมาให้เราไว้อวด ไว้ภูมิใจได้เลย
ปรากฏการณ์ “ว่าแล้ว” ยังถึงขั้นเชื่อมโยงให้สิ่งต่างๆ กลายเป็นหลักการอธิบายถึงผลดีๆ ในปัจจุบันได้เลยล่ะครับ เหมือนอย่าง “ว่าแล้ว ว่าคนเราใช้มือถือเยอะขึ้นทุกวัน เห็นไหมว่าตอนนี้ร้านค้าออนไลน์เลยรุ่งยิ่งกว่าอะไร ดีนะที่ลงทุนทำเว็บขายของมาแต่แรกๆ” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ยอดขายที่เพิ่มกับคนใช้มือถืออาจจะไม่ได้เกี่ยวกันก็ได้ แต่ด้วยข้อมูลเหล่านี้มันมีในหัว สมองเลยจัดการโยงเหตุผลให้เราเสร็จสรรพ
ถึง “รู้งี้” จะทำให้รู้สึกแย่ ส่วน “ว่าแล้ว” จะทำให้รู้สึกดี แต่ผลของมันคล้ายกันครับ คือการที่เราได้เหตุผลหรือหลักการของผลลัพธ์ในปัจจุบัน Hindsight อยู่ในสมองเราก็ด้วยเหตุผลนี้แหละครับ
อคติทางจิตวิทยาเป็นความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่แม่นยำนัก แต่อคติทุกประเภทนั้นมีข้อดีของมันอยู่คือมันช่วยให้สมองตัดสินใจรวมถึงเข้าใจสิ่งอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น หรือทำได้แม้มีข้อมูลที่จำกัด มนุษย์นั้นพยายามหาเหตุผล เข้าใจระบบกลไกของสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ พอมีเหตุการณ์อะไรที่มันตรงกับแค่บางส่วนของข้อมูลในหัวของเรา สมองของเราก็จัดแจงหาสิ่งที่เกี่ยวข้องในหัว จัดแจงระบบ เชื่อมโยงเหตุผลให้ตัวเราในปัจจุบันสร้างหลักการเพื่อใช้ทำนายสิ่งต่าง ๆ ได้
สมมติว่าเรามีความรู้ในหัวนิดๆ หน่อยๆ ว่า เห็ดสีสดๆ มักจะมีพิษ แต่เห็ดพิษบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องมีสด แล้วบังเอิญเราไปเดินป่าแล้วเจอเห็ดสีขาวออกน้ำตาลหน่อย ไม่น่าจะมีพิษอะไร พอกินเข้าไปแล้วปรากฏว่าท้องเสียจนเกือบตาย สมองเราจะจัดแจงตัดข้อมูล “แต่เห็ดพิษบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องมีสด” มาให้เราเห็นชัดๆ เลยว่า และ “รู้งี้” จะทำงานให้เรารู้สึกแย่ว่า ไม่น่าเลย และต่อไปเราจะเรียนรู้ว่าไม่ว่าเห็ดสีอะไรก็เสี่ยงอยู่ดี นั่นคือกฎที่สมองมอบมาให้เราไว้ใช้เลี่ยงอันตราย แต่ถ้าสมมติเรากินเข้าไปแล้ว ไม่เป็นอะไรเลย แถมอร่อยด้วยซ้ำ สมองก็ตัดข้อมูล “เห็ดสีสดๆ มักจะมีพิษ” มาให้เรา และ “ว่าแล้ว” ก็จะทำงาน ว่าเห็นไหม พวกสีอ่อนๆ แบบนี้น่ะกินได้ แต่ก็อย่างที่เห็นครับ ทั้ง “รู้งี้” และ “ว่าแล้ว” ในกรณีนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องโดยสมบูรณ์ เห็ดมีพิษหรือไม่อาจจะมีสิ่งอื่นที่จำแนกได้ดีกว่าการใช้สี ดังนั้นมันอาจจะไม่แม่นยำนัก แต่มันก็ช่วยให้สมองสร้างความรู้จากข้อมูลที่มีไม่มากให้เราได้
ถ้าจะบอกว่าที่มนุษย์จับแพะชนแกะ สร้างทฤษฎี กฎเกณฑ์จนโลกเจริญก้าวหน้ามากมาย ส่วนหนึ่งก็เพราะ Hindsight ก็คงไม่ผิดนัก แต่ก็นั่นแหละครับไม่ใช่ทุกอย่างที่มนุษย์คิดขึ้นจะถูก ความรู้มากมายที่มาพบที่หลังว่ามันผิด ที่อธิบายมามันไม่ใช่ก็มี แต่เราก็คงเห็นแล้วว่า Hindsight มีประโยชน์ของมัน
ส่วนข้อเสียของ Hindsight นั้นในฝั่ง “รู้งี้” เราคงได้เห็นไปแล้วว่า มันมีผลข้างเคียงคือมันทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองกินจริง โทษตัวเองเกินจริงตอนที่พบว่าตัวเองตัดสินใจผิด เอาความรู้หลักการที่เราเพิ่งพบเพิ่งคิดได้ มาเป็นมาตรฐานตัดสินโทษตัวเองในอดีตที่ตัดสินใจผิด คนที่พลาดไปทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นคิดดีแล้ว แต่ผลของเหตุการณ์ปัจจุบันมันแย่เหลือเกิน อย่างเช่น ตัดสินใจเลิกกับคนรัก แต่มารู้ทีหลังว่าอยู่คนเดียวนั้นแย่กว่า ตัดสินใจออกจากงาน แต่มารู้ทีหลังว่างานใหม่หายากมาก บางคนรู้สึกแย่จนเป็นโรคซึมเศร้ากันไปก็มี รู้สึกว่าทำไมตัวเองตัดสินใจแบบนั้นไปได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มองเลยว่าในอดีตนั้นตนเองมีเหตุผลของตนเองที่จะเลิกกับแฟน ที่จะออกจากงาน และผลเสียในปัจจุบันตอนตัดสินใจเลิกกับแฟน ตอนออกจากงานเราในอดีตรู้เสียทีไหน
ส่วน “ว่าแล้ว” นั้นก็มีข้อเสียตรงที่ความมั่นใจในเหตุผลว่า เพราะแบบนั้นแบบนี้ ผลมันถึงออกมาเป็นผลลัพธ์ในปัจจุบัน มันอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง หรือมันอาจจะไม่สมเหตุสมผลเสียด้วยซ้ำ นักวิจัยนั้นต้องระวัง “ว่าแล้ว” ให้ดี เพราะทฤษฎีที่สมองของเรานั้นพยายามเหลือเกินที่จะเอาความรู้ในหัวเรามาปะติดปะต่อให้มันฟังดูสมเหตุสมผลกับผลการวิจัยนั้นมันอาจจะผิด
“ว่าแล้ว” ยังเป็นเรื่องใหญ่ของแวดวงการแพทย์ หมอเวลาเจอคนไข้ที่อาการไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร เลยลองให้ยาบางตัวไป พอคนไข้กินแล้วดีขึ้น ก็ “ว่าแล้ว ว่าเป็นโรคนี้” ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะเป็นโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน หรือแม้แต่คนไข้ดีขึ้นเพราะสาเหตุอื่นก็ได้ หรือในการวินิจฉัยหมอเองไปปักธงไว้แล้วว่าน่าจะเป็นโรคนี้ พอคนไข้พูดอาการที่มันตรงกับธงขึ้นมา หมอก็เลย “นั่นไง เห็นไหมว่าเป็นโรคนี้” กลายเป็นสร้างความมั่นใจจนเกินเหตุและทำให้รักษาผิดพลาด
ตอนนี้ตัวอย่างที่เห็นชัดสุดในช่วงนี้อาจจะเป็นเรื่องของไวรัสโควิด หลาย ๆ คนพอรู้ว่าใครไปติดโรคมาก็ “นั่นไง บอกแล้วว่าอย่าขึ้นรถไฟฟ้า” “ว่าแล้ว ว่าโรงพยาบาลน่ะเชื้อโรคเยอะ” สุดแล้วแต่สมองจะสรรหาคำอธิบายมาให้ ซึ่งความมั่นใจเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะคนนั้นไปติดโรคมาแล้ว สมองเลยหาคำอธิบายมาให้เราพอใจว่าทำไมเขาถึงติด แต่มันอาจจะไม่เป็นความจริงก็ได้
เช่นเดียวกับอคติอื่นๆ Hindsight มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเป็นส่วนใหญ่ คือหมายถึงตอนที่เราเกิด “รู้งี้” “ว่าแล้ว” เราไม่รู้หรอกครับว่าเรากำลังใช้อคติซึ่งมันไม่สมเหตุสมผลอยู่ งานวิจัยบอกว่าถึงคนทำความเข้าใจว่ามนุษย์เรามีสิ่งที่เรียกว่า Hindsight อยู่ และรู้แล้วว่า Hindsight ทำงานอย่างไร ก็ไม่ได้แปลว่าจะป้องกัน Hindsight ไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้นต่อให้ระวังก็อาจจะไม่ได้แปลว่าจะป้องกันไม่ให้สมองใช้งานมันได้ แต่ถึงอย่างนั้นผมก็หวังว่าการได้รู้จัก “รู้งี้” จะทำให้ท่านให้อภัยตนเอง และเข้าใจตนเองในอดีตได้มากขึ้นว่าการตัดสินใจในอดีตถึงได้ผลลัพธ์ที่แย่ แต่ในตอนนั้นเราก็มีเหตุผลอยู่ เราเลยตัดสินใจแบบนี้ ตอนนี้เราเสียดายที่ทำไมสมัยอยู่มหาวิทยาลัยไม่ลงเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่เราชอบ ที่เราสนใจ ซึ่งตอนนั้นใครจะรู้ว่าตัวเราจะอยากหางานในต่างประเทศ ขอให้นำ “รู้งี้” เป็นบทเรียนในอนาคต แต่อย่าไปใช้มันเพื่อต่อว่าตัวเองเลยครับ
อคติ “ว่าแล้ว” นั้นต้องระวังว่าอย่ามั่นใจเกินเหตุ มีงานวิจัยบอกว่าถึงจะห้ามไม่ให้มีอคติแบบนี้คงยาก แต่พอจะมีทางลดมันได้บ้าง คือต้องพยายามหาคำอธิบายทางเลือกอื่นๆ ด้วยเสมอ
อย่างถ้าเรากินสมุนไพรตัวหนึ่งที่เขาลือมาว่ากินแล้วต้านไข้หวัดใหญ่ได้ หลังจากนั้นมารู้ทีหลังว่าเพื่อนโต๊ะข้างๆ ติดโควิด แต่เราไปตรวจแล้วรอดไม่ติด ก็อย่าเพิ่งคิดว่าเพราะสมุนไพรทำให้เราไม่ติด ลองหาเหตุผลอื่นๆ ที่อาจจะเป็นไปได้ดู เขาใส่หน้ากากหรือเปล่า เราระวังตัวด้วยวิธีอื่นดีแค่ไหน พูดง่ายๆ คือการต้องคิดให้รอบคอบและรอบด้าน ถ้าเรามีความรู้ในสมองมากขึ้น อคติที่มาทำงานเพราะเรามีข้อมูลไม่พอก็จะน้อยลงไป ระวัง “ว่าแล้ว” แบบไม่ระวัง เอาเหตุผลผิดๆ ไปใช้ในอนาคต แล้วจะมาต้องมาเสียใจจนรู้สึก “รู้งี้” เอานะครับ