- หากเด็กทุกคน คือ เมล็ดพันธุ์เมล็ดหนึ่ง เด็กที่เกิดมาพร้อมกับความพิเศษก็คงเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่อาจแตกต่างกับเมล็ดอื่นๆ แต่ก็เติบโตได้ไม่ต่างกัน อาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่สุดท้ายมันก็จะยืนหยัดเป็นต้นไม้ได้เช่นเดียวกัน
- พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกในทางลบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รู้สึกผิด โทษตัวเองที่ทำให้ลูกเกิดมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งยิ่งรู้สึกผิดมากเท่าไหร่ เรากลับยิ่งทำใจยอมรับลูกได้ยากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การหยุดโทษตัวเอง ให้อภัยตัวเองและยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น
- ความเชื่อมั่นในตัวลูกสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ลูกเราอาจจะเดินช้ากว่าปกติ พัฒนาการอาจไม่ได้เลื่อนอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นในตัวลูก พวกเขาก็สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้
เรื่องเล่าจาก “เมล็ดถั่วเขียว”
ในห้องเรียนของเด็กประถมต้นแห่งหนึ่ง คุณครูได้มอบหมายให้เด็กทุกคนปลูกต้นถั่วเขียวมาส่งจำนวน 10 ต้น
คุณครูวางถ้วยที่เต็มไปด้วยถั่วเขียวไว้หน้าห้อง จากนั้นให้เด็กๆ แต่ละคนมาเลือกเมล็ดทั้ง 10 ไปปลูกที่บ้าน
เป็นธรรมดาที่เด็กทุกคนจะควานหา และเลือกสรรเมล็ดที่ดูสมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อหวังให้มันเติบโตมามีลำต้นที่สูงกว่าใครๆ
ในตอนนั้น เด็กน้อยคนหนึ่งคน พยายามจะแย่งชิงเมล็ดพันธุ์ที่ดูอ้วนพีมาไว้ในครอบครอง แต่สุดท้ายจากทั้ง 10 เมล็ดที่ตนเองได้มา ก็มีเพียง 1 เมล็ดที่ดูไม่สมบูรณ์ บิดเบี้ยว และแห้งเหี่ยวไปจากเมล็ดอื่นๆ
ถึงกระนั้น เมื่อถึงบ้านเขาก็ได้ปลูกเมล็ดทั้งหมดลงไปในกระถาง
ผ่านไปสองวัน…
เมล็ดพันธุ์เกือบทั้งหมดมีใบเล็กๆ แตกออกมา ยกเว้นเมล็ดเพียงไม่กี่เมล็ด ที่ไม่มีแม้แต่วี่เเววของการแตกใบ คงไม่ต้องคาดเดาใดๆ ว่าหนึ่งในนั้นมีเมล็ดใดบ้าง เพราะเมล็ดที่บิดเบี้ยวก็ยังคงเป็นเมล็ดที่บิดเบี้ยว ไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม…
ณ ตอนนั้นเด็กน้อยก็ไม่ได้คาดหวังว่า เมล็ดนี้จะเติบโตเหมือนเมล็ดอื่นๆ ไม่แม้แต่จะคาดหวังว่ามันจะแตกใบออกมาเสียด้วยซ้ำ แต่ทุกๆ วันก็รดน้ำให้เจ้าเมล็ดถั่วเมล็ดนี้เฉกเช่นกับที่รดน้ำให้กับเมล็ดอื่นๆ
หนึ่งวันก่อนส่งงานให้คุณครู…
เมล็ดพันธุ์ที่บิดเบี้ยวกลับไม่ได้มีเพียงแค่ใบที่งอกออกมา แต่มันกลับมีลำต้นที่สูงเกือบเท่าต้นที่สูงที่สุดในกระถางเลย…
สิ่งที่เมล็ดถั่วเขียวแสนบิดเบี้ยวเมล็ดนั้นได้สอนเด็กน้อยก็คือ “แม้จะแตกต่าง แต่ก็เติบโตได้ไม่ต่างจากเมล็ดถั่วเขียวเมล็ดอื่นๆ อาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่เจ้าถั่วก็โตเข้าหาแสงของพระอาทิตย์อยู่เสมอ ถึงแม้เมล็ดที่บิดเบี้ยวอาจจะโตได้ช้ากว่าใครเขา ลำต้นหงิกงอไม่ยืดตรง แต่สุดท้ายมันก็ยืนหยัดเป็นต้นถั่วได้เช่นเดียวกัน”
หากเราเปรียบเทียบว่า “เด็กทุกคน คือ เมล็ดพันธุ์”
เด็กที่เกิดมาพร้อมกับความพิเศษก็คงเปรียบได้กับเมล็ดถั่วเขียวเมล็ดนั้น
เด็กที่มีความต้องการพิเศษในกลุ่มโรคต่างๆ ซึ่งทางการแพทย์ได้บัญญัติชื่อเรียกให้กับเด็กๆ เหล่านั้นในชื่อเรียกต่างๆ เหล่านี้… เช่น
เด็กในกลุ่มดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) คือ เด็กที่เป็นโรคพันธุกรรมที่เกิดจากการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมาทั้งอันหรือบางส่วน เด็กจะมีพัฒนาการล่าช้า มีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะ ได้แก่ มีดวงตาทั้ง 2 ข้างเฉียงขึ้น หัวคิ้วด้านใกล้จมูกหนาตัวขึ้น ม่านตามีจุดสีขาว สันจมูกแบน ปากเปิดออก เป็นต้น และมีข้อจำกัดในด้านการเรียนรู้
เด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง (Cerebral Palsy: CP) คือ เด็กที่เนื้อสมองได้รับความเสียหายในช่วงอายุที่สมองยังเจริญไม่เต็มที่ ส่งผลให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ การขยับแขนขา ลำตัวใบหน้า ลิ้น รวมถึงการทรงตัวที่ผิดปกติ เด็กกลุ่มนี้มักมีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลต่อการพูด การกิน และการควบคุมการหายใจ
เด็กที่มีภาวะออทิสติก (Autistic Disorder) หรือ เด็กที่ไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านสังคม ภาษา และการสื่อสารได้ตามวัย ที่สำคัญมีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำๆ และขาดความยืดหยุ่น
เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) หรือ เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นกว่าปกติ ขาดการควบคุมตัวเอง ทั้งด้านร่างกายและการยับยั่งชั่งใจ เช่น หุนหันพลันแล่น อยู่ไม่นิ่ง วอกแวกง่าย ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้จดจ่อหรือทำงานได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด และจะเป็นเช่นนี้ในทุกสถานการณ์ ทั้งกับกิจกรรมที่ชอบและไม่ชอบ
เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ารอบด้าน (Global Development Delayed) หรือ เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติในวัยเดียวกันที่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้
ในทางการแพทย์ได้ระบุไว้ว่า เด็กเหล่านี้มีความแตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป และมีความบกพร่องในด้านต่างๆ เช่น ด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม การสื่อสาร และอื่นๆ ซึ่งทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษมักถูกเข้าใจผิดว่า “พวกเขาอาจจะเติบโตไม่ได้”
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเด็กทุกคนมีความสามารถในการเติบโตในแบบของตัวเอง
ใน “ความบิดเบี้ยว” และ “ไม่สมบูรณ์แบบ” ของเมล็ดพันธุ์ ทำให้เรามองมันแตกต่างจากเมล็ดอื่นๆ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เมล็ดทั้งหมดก็เป็นเมล็ดถั่วเหมือนๆ กัน
ใน “ความพิเศษ” ของเด็กบางคนทำให้เรามองเห็นเขาแตกต่างจากเด็กคนอื่น เราลดความคาดหวัง และมักจะตีค่าความแตกต่างนั้นในทางที่ไม่ควรจะเป็น…
ซึ่งสิ่งที่เราควรจะทำ คือ ให้โอกาสเขาได้เติบโตในแบบที่เขาเป็น ให้เขาได้เดินไปข้างหน้าด้วยจังหวะความเร็วที่เขาเลือก…
“ไม่ต้องสูงใหญ่อย่างใครเขา ขอแค่เติบโตเป็นตัวเราก็พอ”
“ความพิเศษไม่ได้หมายความว่า เด็กคนนี้ไม่มีศักยภาพ หรือไม่สามารถเรียนรู้ได้”
Dr. Ivar Lovaas ได้กล่าวไว้ว่า “If they can’t learn the way we teach, we teach the way they learn” “ถ้าเด็กไม่สามารถเรียนตามแนวทางที่เราสอนได้ เราก็สอนตามแนวทางที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้”
ถึงแม้จะ “บิดเบี้ยว” และ “แตกต่าง” แต่เมื่อมองอีกมุมเราจะพบกับแง่งามในความไม่สมบูรณ์แบบของเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้เสมอ
“ความบิดเบี้ยว” สอนให้เรารู้จักการรอคอย และอดทน
“ความแตกต่าง” สอนให้เรายอมรับในสิ่งที่เขาเป็นอย่างไม่มีเงื่อนไข
“ความพิเศษ” สอนให้เรารู้ว่า เราต้องมองออกไปข้างนอกกรอบ และค้นหาวิธีใหม่ๆ ที่จะสอนเขาอยู่เสมอ
และ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” สอนให้เรารู้ว่า มันไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป เพื่อที่จะอยู่รวมกันอย่างเติมเต็ม…
ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดถั่วเมล็ดไหน ต่างก็ต้องการน้ำ และแสงเพื่อที่จะเติบโตทั้งนั้น
เช่นเดียวกัน…ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติ หรือ เด็กพิเศษพวกเขาล้วนต้องการ “ความรัก ความเอาใจใส่ และโอกาส” เพื่อที่จะเรียนรู้ และเติบโต
ที่สำคัญเหนือไปกว่าสิ่งอื่นใด คือ การสนับสนุนและการยอมรับจากบุคคลที่ใกล้ชิดเขามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ
เพราะถ้าหากปราศจากกระถาง และดินแล้ว รากของเมล็ดพันธุ์ย่อมไม่มีวันแข็งแรง…
เด็กที่ขาดรากฐานที่แข็งแรงจากครอบครัวย่อมไม่มีวันยืนหยัดได้อย่างมั่นคง และสง่างาม…
“พ่อแม่” คนพิเศษของ “เด็กพิเศษ”
ไม่ใช่แค่เพียง ลูกๆ ที่เปรียบเสมือนของขวัญของพ่อแม่
สำหรับลูกๆ แล้ว พ่อแม่ก็เปรียบเสมือนของขวัญสำหรับพวกเขาเช่นกัน
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกคนพิเศษ ในตอนแรกที่เราได้รับรู้ว่า ลูกของเราเป็นคนพิเศษ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกในทางลบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรู้สึกตกใจ สับสน กลัว ผิดหวัง เสียใจ และความรู้สึกแย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเรา คือ ความรู้สึกผิด
ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น มักจะเกิดจากการที่พ่อแม่โทษตัวเองที่ทำให้ลูกเกิดมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งยิ่งรู้สึกผิดมากเท่าไหร่ เรากลับยิ่งทำใจยอมรับลูกได้ยากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การหยุดโทษตัวเอง ให้อภัยตัวเองและยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น
ไม่ว่าลูกจะเป็นเช่นไร เขาเกิดมาเพื่อเป็นตัวเองที่ดีที่สุด พ่อแม่เองก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับลูก ขอแค่เราเป็นพ่อแม่ธรรมดาที่มีอยู่จริงตรงนี้สำหรับลูกก็พอแล้ว
ความเชื่อมั่นในตัวลูกสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
(1) “ล่าช้า” ไม่ได้แปลว่า “ล่าถอย” บางทีเขาอาจจะแค่ช้ากว่าค่าเฉลี่ย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เขาไม่เรียนรู้ หรือ พัฒนาไม่ได้ อย่าหมดหวังในตัวเขา สอนต่อไป ทำต่อไป ทำไม่ได้ ทำใหม่ สอนใหม่ ย้ำๆ ซ้ำๆ สม่ำเสมอ เพราะถ้าเราหยุดสอน หมดหวัง จากแค่ “ล่าช้า” อาจจะกลายเป็น “ล่าถอย” ถดถอยจากเดิมได้
(2) “ลำดับขั้นพัฒนาการ” มาจากค่าเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ เพื่อให้เราทราบว่า ลูกของเราอยู่ในเกณฑ์ปกติไหม ดังนั้นการที่ลูกไม่ตรงตามเกณฑ์ ไม่ได้หมายความว่า “ลูกไม่สามารถพัฒนาได้” หรือ ไม่ได้เป็นตัววัดว่า “เขาจะไม่มีความสุขในชีวิต” อย่าให้ตัวเลขเป็นตัววัดคุณค่าในตัวลูก และค่าความสุขของเรากับลูก
เมื่อทราบว่าลูกเราอยู่ตรงไหนของพัฒนาการ ขอแค่มองว่า ลูกเราอยู่ตรงขั้นบันไดที่เท่าไหร่ แล้วดูว่าการที่ก้าวขึ้นไปที่ขั้นต่อไปต้องทำอะไรบ้าง จากนั้นนำมาสอนเขา พัฒนาเขาไปด้วยกัน อย่านำขั้นบันไดนั้นมาบั่นทอนกำลังใจเรากับลูก
นอกจากนี้ความสุขของเด็กทุกคน (ไม่ว่าจะพัฒนาการช้าหรือเร็ว) คือ การที่พ่อแม่รักเขา มีเวลา และปล่อยให้เขาได้เป็นเด็ก อย่าบังคับเขาให้เรียนทุกอย่าง เพื่อให้เขาตรงตามวัย พัฒนาเขาตามสมควร สอนวินัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น(มาก) และให้เขาเล่นอย่างเต็มที่ นั่นคือสิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับ
(3) ในวันที่ลูกได้รับคำวินิจฉัย อย่าหมดหวังในตัวเขา ความเชื่อในตัวลูกของพ่อแม่มีผลต่อลูกมากกว่าคำวินิจฉัยมากนัก
เด็กคนหนึ่งถูกวินิจฉัยว่า มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู็ (Learning Disorder: LD) แต่แม่ของเด็กคนนี้เชื่อว่า ลูกของเธอเรียนรู้ได้ เธอสอนลูกด้วยวิธีที่ลูกสามารถเข้าใจได้ ทุกวันนี้ลูกของเธอกำลังจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในด้านที่เขาชอบ ดังนั้น พ่อแม่อย่าหมดหวังในตัวลูก
(4) บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ เรื่องบางเรื่อง ไม่ได้แปลว่า ชีวิตเขาบกพร่อง พัฒนาในส่วนที่เขามี พัฒนาให้สุด ส่วนที่บกพร่องก็เช่นกัน พัฒนาต่อไป เพราะเด็กบางคนไม่ได้เก่งวิชาการ แต่เขาอาจจะเก่งบางเรื่องมากกว่าเด็กคนอื่นเสียอีก อย่าลดคุณค่าในตัวเขาด้วยการเปรียบเทียบเขาจากเรื่องๆ เดียว
ปลาบางตัวว่ายน้ำในบ่อบางบ่อไม่ได้ดี แต่น้ำบ่ออื่นอาจจะเหมาะกับปลาตัวนั้น สิ่งสำคัญ อย่าทำลายความมั่นใจในตัวเขา เพราะ ถ้าหากทำลายสิ่งนี้ไปแล้ว ต่อให้เปลี่ยนบ่อ ก็อาจจะไม่ยอมว่ายอีกเลย
(5) พ่อแม่ คือ รากฐานทางใจของเด็กทุกคน ให้ความรัก ให้เวลา ให้การสอนสั่ง ให้ความเชื่อมั่น คือ สิ่งที่ทำให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีพัฒนาการช้าหรือเร็ว เติบโตได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อลูกวางใจในตัวพ่อแม่ และรู้ว่าพ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเขา เขาจะวางใจต่อสภาพแวดล้อม และกล้าออกไปเรียนรู้ด้วยจังหวะชีวิตของตัวเอง วันใดที่เขาล้ม เขาจะหันกลับมามองเรา เพื่อลุกขึ้นยืน และก้าวต่อไป
สุดท้าย เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ใช่ว่าคนที่เดินเร็วกว่า จะมีความสุขและประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะตัวชี้วัดที่แท้จริง ไม่ได้มากจากค่าเฉลี่ยอีกต่อไป
“ตัวเราเอง” ต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดความสุข และความสำเร็จของตัวเราเอง ดังนั้น อย่าเปรียบเทียบตัวเราหรือลูกกับใคร
เด็กทุกคนมีจังหวะในการก้าวเดินของตัวเอง ถึงจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่ผู้ใหญ่มีหน้าที่เชื่อมั่นใจตัวเขาต่อไป ได้โปรดอย่าหมดหวังในตัวเขา
เด็กที่มีความต้องการพิเศษหนึ่งคน อาจจะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญมากกว่าหน่ึงคน
ซึ่งสหวิชาชีพที่มักทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้แก่
- จิตแพทย์เด็ก ให้การดูแลรักษาและวินิจฉัยเด็กที่มีอาการผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือทางจิตใจ ความผิดปกติทางจิตเวชในเด็ก มีสาเหตุจากปัจจัย 2 ประการ คือ พันธุกรรม และสภาพแวดล้อม
- นักจิตวิทยาคลินิก ใช้มาตรวัดเพื่อคัดกรองอาการต่างๆ เพื่อให้จิตแพทย์วินิจฉัยและแนะนำแนวทางการรักษาได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
- นักจิตวิทยาเด็ก ให้การกระตุ้นพัฒนาการที่ล่าช้า หรือปรับพฤติกรรมต่างๆ
- นักกิจกรรมบำบัด ช่วยออกแบบกิจกรรมที่สามารถช่วยบำบัดให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้
- นักกายภาพบำบัด ช่วยฟื้นฟูหรือพัฒนาให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- นักอรรถบำบัด หรือ นักแก้ไขการพูด ช่วยแก้ไขความบกพร่องกับกระบวนการพูด ระบบภาษา การทำงานของอวัยวะในช่องปาก คอ หลอดอาหารช่วงต้น
- นักศิลปะบำบัด ช่วยเปิดโอกาสและให้อิสระกับผู้รับการบำบัดได้สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งมุ่งเน้นการทำความเข้าใจภายในตนเองมากกว่าผลงานที่สวยงาม
- นักเล่นบำบัด ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงออกผ่านการเล่นและของเล่นต่างๆ ในห้องเล่นบำบัด และสังเกตความรู้สึก ตามอารมณ์ และสะท้อนกลับสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เด็กมองเห็นและเข้าใจตัวเองได้ชัดเจนขึ้น
- นักดนตรีบำบัด ใช้กิจกรรมทางดนตรีเช่น การเล่นดนตรี การร้องเพลง การฟังเพลง หรือ การแต่งเพลง เป็นมาช่วยในการบำบัด เพื่อช่วยเยียวยาและพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ
- ครูการศึกษาพิเศษ ช่วยจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจจะไม่สามารถทำความเข้าใจหรือไม่สามารถเรียนรู้ในการเรียนการสอนรูปแบบทั่วไปได้ ทำให้ครูการศึกษาพิเศษจำเป็นต้องจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่เด็กคนดังกล่าวสามารถเรียนรู้ได้
แนวทางการบำบัดและช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
Early Intervention คือ การให้การป้องกันแทรกแซงตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่เด็กจะเกิดโรคหรือมีแนวโน้มของอาการที่แย่ลง ซึ่ง Early Intervention ถือเป็นร่มใหญ่ของการบำบัดต่างๆ ดังนี้
(1) การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied Behaviour Analysis: ABA) คือ การวิเคราะห์หาสาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และพฤติกรรมที่ขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การทำร้ายร่างกายตนเอง การทำร้ายผู้อื่น และการทำลายข้าวของ เป็นต้น ซึ่งเมื่อทราบถึงสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ นักบำบัดจะออกแบบวิธีการจัดการกับพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์มีความเชื่อว่า ถ้าหากต้องการให้เด็กทำพฤติกรรมใด เราควรตอบสนองหรือให้การส่งเสริมพฤติกรรมนั้น ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement)” เช่น เมื่อเด็กสามารถเก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จด้วยตนเอง เราสามารถให้การชื่นชมกับพฤติกรรมการเก็บของของเขาได้ทันที ซึ่งการตอบสนองด้วยการชื่นชม สำหรับเด็กท่ีมีความต้องการพิเศษบางกลุ่ม เราอาจจะต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่า เรากำลังชื่นชมเขา เพราะเด็กอาจจะไม่เข้าใจว่า เรากำลังชื่นชมสิ่งที่เขาทำอยู่
ข้อสำคัญของการบำบัดแบบนี้ คือ การสอนทักษะใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กนำทักษะดังกล่าวไปใช้กับบุคคลที่หลากหลาย และในทุกๆ สถานการณการณ์จริง
(2) การสอนด้วยวิธีการปรับพฤติกรรมทางวาจา หรือ Verbal Behavior Approach (VB) เป็นวิธีการสอนการสื่อสารที่ยึดแนวคิดของการปรับพฤติกรรมของ สกินเนอร์ (B.F. Skinner) ร่วมกับ หลักการของการวิเคราะห์พฤติกรรมแบบ ประยุกต์ (ABA) โดยเน้นการสื่อสารด้วยวาจา (Verbal) หรือการสื่อสารทางเลือก เช่น การแลกเปลี่ยนภาพเพื่อสื่อสาร (Picture Exchange for Communications: PECS) การใช้ท่าทางเพื่อการสื่อสาร (Sign language) ไปพร้อมๆ กับส่งเสริมทักษะอื่นๆ
สิ่งสำคัญของการบำบัดแบบนี้ คือ สอนการสื่อสารด้วยคำพูดหรือการสื่อสารทางเลือก เพื่อให้เด็กสามารถบอกความต้องการของตนเองได้ เมื่อเด็กเรียนรู้ว่า “การสื่อสาร” นั้นทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ เขาจะทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลง
(3) Floortime หรือที่เรียกว่า Developmental Individual – Difference Relationship – based (DIR) Approach (DIR Floortime) เป็นการบำบัดที่ใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละคนผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กสนใจ ได้แก่ การเล่นหรือกิจกรรมที่เด็กชอบ โดยนักบำบัดต้องสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับเด็กก่อน จากนั้นระหว่างการบำบัดจะค่อยๆ แทรกการสอนหรือการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมให้กับเด็ก ทั้งนี้เด็กยังคงเป็นผู้นำกิจกรรมในชั่วโมงบำบัด ส่วนนักบำบัดเป็นผู้ตาม
สิ่งสำคัญของการบำบัดแบบนี้ คือ Floortime จะเน้นการส่งเสริมพัฒนาการจากพื้นฐานไปสู่เรื่องที่ซับซ้อนหรือยากขึ้น และเน้นกระบวนการระหว่างการบำบัดมากกว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง Floortime จะมุ่งเอาความต้องการของตัวเด็กเป็นตัวขับเคลื่อนการบำบัด การบำบัดจึงเป็นไปแบบไม่เร่งรีบ และเด็กเป็นผู้กำหนดจังหวะการก้าวเดิน
คำถาม “การบำบัดใดดีที่สุด?”
คำตอบ “คงไม่มีการบำบัดใดที่ดีที่สุด จะมีก็เพียงแต่การบำบัดที่เหมาะสมกับตัวเด็กและครอบครัวที่สุด
ดังนั้นการเลือกแนวทางการบำบัดให้เราดูบริบทของครอบครัว ความต้องการของเด็ก และลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขและช่วยเหลือเป็นหลัก”
สุดท้าย โลกใบนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ
ในคนปกติ ร่างกายครบ 32 บางคนก็รู้สึกขาดตลอดเวลา เพราะสิ่งที่ขาดอาจจะไม่ใช่สติปัญญา หรือ ร่างกาย แต่เป็นที่ความคิดของเขาเอง
ดังนั้นในเด็กที่มีความต้องการพิเศษ พวกเขาอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่พวกเขาสามารถเติมเต็มความรักให้กับครอบครัวของเขา และเติมเต็มโลกใบนี้ได้ในแบบที่พวกเขาเป็นได้
“ขอแค่พ่อแม่ต้องไม่หมดหวังในตัวเขา และสังคมเปิดโอกาสให้เขาได้เติบโต”