- การเรียนคือการใช้สมอง ถ้าเด็กไม่ได้กินอะไรก็ไม่มีแรงไปเรียน สมองไม่พร้อมจะเรียนรู้ นี่คือสิ่งที่โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา สมุทรปราการ ทุ่มเทเพื่ออาหารคุณภาพสำหรับเด็กๆ ของเขา
- กระบวนการผลิตอาหารกลางวันภายใต้งบ 20 บาท ของโรงเรียนแห่งนี้ นอกจากจะสามารถจัดการได้อย่างมีคุณภาพ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ที่สนใจได้ หาคำตอบกับ อรัญญา พิสุทธากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา
- “การจัดอาหารเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งนะ สมมติวันนี้มีแกงกะทิ ของหวานก็ไม่ควรเป็นกะทิละ เพราะไม่งั้นมื้อนี้แคลอรี่อาจจะเกิน ซึ่งตัวโปรแกรม Thai School lunch ก็จะช่วยเราในการวางแผนเมนูอาหาร”
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวที่อาจฟังดูเป็นข่าวดี ก็คือข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มงบอาหารกลางวันนักเรียนจาก 20 บาท เป็น 21 บาท
ที่บอกว่าอาจฟังดูเป็นข่าวดี เพราะการเพิ่มงบประมาณก็เหมือนเป็นการส่องสปอตไลท์ว่าพวกเขาเห็นเรื่องนี้สำคัญ แต่ก็ ‘อาจ’ เป็นแค่ข่าวดีสำหรับคนบางกลุ่ม เพราะหลายเสียงของคนที่อ่านข่าวนี้ต่างเป็นแง่ลบ ทั้งปัญหางบเดิม 20 บาท และงบใหม่ที่เพิ่มมาแค่ 1 บาท
ถ้าไล่เลียงเรื่องอาหารกลางวันนักเรียน เราเชื่อว่ามีประเด็นให้ถกเป็นร้อย แบบไม่นับรวมประสบการณ์อาหารกลางวันส่วนตัวแต่ละคน แค่ภาพอาหารกลางวันโรงเรียนที่เรามักเห็นตามโลกโซเซียล ไข่พะโล้ที่มีไข่ครึ่งลูก เนื้อสัตว์ชิ้นเล็กๆ หรือข่าวครูต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 – 4 ไม่ใช่เพื่อเตรียมการสอน แต่ลุกมาทำอาหารกลางวันจะได้ประหยัดเงินจ้างแม่ครัว
ทำให้บางคนตั้งคำถามว่าปัญหาอาหารกลางวันมาอาจจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอ
ถ้าอย่างนั้นเราอยากถามคุณผู้อ่านว่า คุณคิดว่างบอาหารกลางวันโรงเรียน 20 บาทต่อคนเพียงพอหรือไม่?
เพื่อหาคำตอบดังกล่าวอีกทาง The Potential จัดงาน Chef’s Table ชวนคนในแวดวงทำงานประเด็นอาหารกลางวันมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไอเดียในการจัดการอาหารกลางวันโรงเรียน (อ่านบทความ)
ซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมงานที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา ที่ได้รับโจทย์ผลิตอาหารกลางวันภายใต้งบ 20 บาทเช่นกัน แม้งบจะจำกัด แต่โรงเรียนสามารถเสิร์ฟอาหารที่มีคุณภาพ โดยมีผู้ช่วยนักโภชนาการคอยดูแล
ทำไมโรงเรียนแห่งนี้ถึงใส่ใจกับการจัดอาหารกลางวัน และสามารถจัดการได้อย่างมีคุณภาพ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ที่สนใจได้ The Potential ชวนไปหาคำตอบกับ อรัญญา พิสุทธากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา
เด็กไทยแก้มใส
โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษาเป็นโรงเรียนรัฐบาลขนาดใหญ่ สังกัดเทศบาลตำบลแพรกษา ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ จัดการศึกษาให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 3
จุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงเรียนสนใจเรื่องอาหารกลางวัน คงต้องย้อนกลับไปปี 2558 ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรกมีโอกาสพบกับดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ และที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จนได้รู้จักกับโครงการ ‘เด็กไทยแก้มใส’ หรือโครงการเด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ เป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมีการบริหาร ผลิตอาหารโรงเรียนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ก่อนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และกระทรวงมหาดไทยจะร่วมมือทำโครงการให้กับโรงเรียนในเมือง ผอ.มีความสนใจเลยชวนคนในโรงเรียนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
“สองปีแรกยากมาก (เน้นเสียง) เราไม่อยากทำเหมือนกัน ด้วยความกังวลว่าเราก็ค่อนข้างใหม่ ไม่รู้ว่าโครงการนี้เป็นยังไง ต้องทำอะไรบ้าง พอทางโครงการ เขาเชิญเข้าไปรับการอบรมหลายๆ ครั้ง เราก็มีความเข้าใจมากขึ้น และดำเนินงานโครงการฯ มาตลอด จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน ทุกวันนี้โรงเรียนของเราเป็นที่รู้จักว่าเป็นโรงเรียนแม่ข่ายเด็กไทยแก้มใสฯ ในรูปแบบโรงเรียนในเมือง เป็นโรงเรียนต้นแบบที่มีการจัดอาหารกลางวันได้อย่างมีคุณภาพ มีโรงเรียนอื่นๆ ทั้งในและนอกจังหวัดเข้ามาศึกษาดูงาน” ครูอุ้ม – อุรสา เดชพละ ครูผู้ดูแลโครงการเด็กไทยแก้มใสฯของโรงเรียนเล่าให้ฟังถึงช่วงต้นๆ ของการเริ่มทำโครงการ
เธอเล่าต่อว่า ใช้เวลา 2 ปีทุกคนในโรงเรียนก็สามารถปรับตัวเข้ากับโครงการได้ เมื่อเข้าโครงการเด็กไทยแก้มใสจะมีแนวทางให้โรงเรียนปฎิบัติอยู่ 8 ด้าน ได้แก่ การทำเกษตรในโรงเรียน สหกรณ์นักเรียน การจัดบริการอาหารของโรงเรียน การติดตามภาวะโภชนาการ การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ การจัดการบริการสุขภาพ และการบูรณาการทั้ง 7 ด้านข้างต้นเข้ากับการเรียนรู้นักเรียน
“ตามหลักโครงการเด็กไทยแก้มใส การทำแปลงเกษตรก็เพื่อให้ได้ผลผลิตไปประกอบอาหาร แต่ว่าพื้นที่โรงเรียนเราไม่พอปลูกแน่นอน ไม่สามารถส่งวัตถุดิบเข้าโรงครัวได้ 100 % แล้วจริงๆ ทางครัวเองก็สามารถหาซื้อวัตถุดิบได้จากข้างนอก
ฉะนั้น แปลงผักนี้ก็เป็นเหมือนห้องเรียนให้เด็กๆ ได้รู้จักวิธีปลูกผัก ได้ทดลองทำ เช่น เห็ด ต้นอ่อนทานตะวัน เราใช้ชื่อว่า ‘เกษตรน้อยในป่าปูน’ ผลผลิตที่ได้เด็กๆ ก็จะเก็บไว้กินเอง หรือส่งเข้าครัว หรือนำมาขายให้ผู้ปกครอง บุคลากรโรงเรียน ผ่านกิจกรรมที่เราจัด เช่น ตลาดนัดโรงเรียน สมมติว่ามีแพลนอีก 3 เดือนจะจัดตลาดนัด เด็กแต่ละห้องก็จะเริ่มวางแผนว่าจะที่แปลงที่ปลูกตอนนี้ผลผลิตจะพอขายไหม จะปลูกอะไรเพิ่มอีกดี เงินที่ขายได้เด็กๆ จะนำไปฝากสหกรณ์ห้องเรียน เป็นทุนหมุนเวียนในแต่ละห้อง”
ทุกคนในโรงเรียนมีส่วนร่วมในมื้ออาหาร
หัวใจหลักของโครงการเด็กไทยแก้มใส คือ นักเรียนต้องได้กินอาหารโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่ด้วยปัจจัยและข้อจำกัดที่โรงเรียนแต่ละแห่งต้องเผชิญ ทำให้การเดินทางไปถึงเป้าหมายค่อนข้างยากลำบาก
ที่แพรกษาวิเทศศึกษาก็เช่นเดียวกัน ผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบัน อรัญญา พิสุทธากุล เล่าว่า ด้วยงบอาหารกลางวันที่จำกัด ทำให้ทุกขั้นตอนในการจัดอาหารกลางวัน ทางโรงเรียนต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อให้ใช้งบได้คุ้มค่าที่สุด
แต่ที่โรงเรียนก็มีปัจจัยอื่นช่วยสนับสนุน คือ นโยบายของเทศบาลแพรกษา ‘Education come first การศึกษาต้องมาก่อน’ ซึ่งเทศบาลก็จะช่วยสนับสนุนความต้องการของโรงเรียนในเรื่องอาหารกลางวัน ทางเทศบาลตั้งงบประมาณในการจ้างแม่ครัว ผู้ช่วยนักโภชนากร และจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์งานบ้านงานครัว ต่างๆ ให้กับโรงเรียน งบอาหารกลางวันของโรงเรียนทั้งหมด 20 บาทต่อคน เลยสามารถทุ่มไปที่การซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ ได้อย่างเต็มที่
“พอมาอยู่หน้างานจริงๆ รู้เลยว่างบ 20 บาทต่อคนทำยาก อย่างราคาหมูเนื้อแดงแบบเกรดดีเลยนะ ปีที่แล้วกิโลกรัมละประมาณ 130 บาท แต่ปีนี้ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 170 – 180 บาท ฉะนั้น เราต้องวางแผนการใช้วัตถุดิบให้ดี โดยจะวางเมนูอาหารแบบรายเดือน แต่ต้องดูราคาวัตถุดิบด้วย เช่น วันนี้มีแผนจะทำแกงจืดเต้าหู้หมูสับ แต่ผักกาดขาวราคาสูง เราก็อาจจะเปลี่ยนดึงเมนูอื่นที่ราคาวัตถุดิบถูกกว่ามาแทน
พี่ไปเจอว่านโยบายของสสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ควรมีนักโภชนาการประจำโรงเรียน เลยส่งเรื่องไปที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เขาก็มีหนังสือมาที่เทศบาลและจังหวัดให้จัดจ้างผู้ช่วยโภชนาการหรือนักโภชนาการ เพื่อเข้ามาดูแลกระบวนการทำอาหารทุกอย่าง เดิมที่โรงเรียนจะเป็นครูดูแล เขาต้องตื่นตั้งแต่ตีห้ามาทำงาน กว่าจะเสร็จก็บ่ายถึงจะได้เริ่มการสอน ซึ่งมันก็ไม่ใช่หน้าที่เขา พอเราได้ผู้ช่วยนักโภชนาการมาครูก็งานเบาลงมาทุ่มการสอนเต็มที่” ผอ.อรัญญาเล่า
กระบวนการผลิตอาหารจะเริ่มจากวางแผนว่าเดือนนี้โรงครัวจะทำอาหารอะไรบ้าง โดยมีผู้ช่วยนักโภชนากรและหัวหน้างานโภชนาการของโรงเรียนออกแบบเมนู มีผู้ช่วยเป็นเจ้าโปรแกรม Thai School lunch จากโครงการเด็กไทยแก้มใสฯ ในการคิดเมนูอาหาร ความพิเศษของโปรแกรมนี้ คือ เมื่อกรอกเมนูเข้าไป ตัวโปรแกรมจะโชว์ว่ามื้อนี้เด็กๆ ได้รับคุณค่าทางโภชนาการเท่าไร
เมื่อได้เมนูครบแล้ว ก็จะส่งสายพานไปที่การสั่งซื้อวัตถุดิบและเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตต่อไป ผอ.อรัญญาสร้างกรุ๊ปไลน์ดึงฝ่ายโภชนาการทุกคนในโรงเรียนมาช่วยกันดูกระบวนการผลิต ตรวจสอบคุณภาพอาหาร
“การจัดอาหารเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งนะ สมมติวันนี้มีแกงกะทิ ของหวานก็ไม่ควรเป็นกะทิละ เพราะไม่งั้นมื้อนี้แคลอรี่อาจจะเกิน ซึ่งตัวโปรแกรม Thai School lunch ก็จะช่วยเราในการวางแผนเมนูอาหาร
คือ เราสามารถกรอกรายละเอียดเมนูที่เราเตรียมไว้ โปรแกรมก็จะคำนวณมาเลยว่าอาหารของเรามีคุณค่าทางอาหารเท่าไร ขาดตัวไหนไปบ้าง อย่างเช่นธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารที่เด็กขาดเยอะ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือน นอกจากนี้ก็จะบอกเรื่องปริมาณอาหารที่เด็กควรได้รับด้วย”
“โครงการแก้มใสจะมีพาร์ทดูแลสุขภาพ เป็นหน้าที่ครูที่จะต้องเช็คสุขภาพของเด็กแต่ละคน เราจะชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เอาข้อมูลไปประมวลผลในโปรแกรม INMU-Thaigrowth จะรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีภาวะโภชนาการเป็นอย่างไร และรายงานให้ผู้ปกครองทราบ ถ้าคนไหนมีปัญหาครูประจำชั้นก็จะดูแล เช่น เด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ก็ต้องคุมน้ำหนัก จัด Slim Zone โดยมีการตักอาหารตามธงโภชนาการ โดยเฉพาะ ข้าว หรือเส้น ต่างๆ อย่างเวลากินข้าวถ้าไม่อิ่มเขาอยากเติมเราให้เติม เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้แทนได้
“แรกๆ เด็กไม่เข้าใจไปบอกกับผู้ปกครองว่า อยู่โรงเรียนกินข้าวไม่อิ่ม (หัวเราะ) จึงมีการทำความเข้าใจถึงแนวทาง เขาเริ่มเข้าใจก็จะปรับตัวได้ โรงเรียนก็มีจัดบริบทสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้เด็ก เด็กที่น้ำหนักเกินก็ต้องหาวิธีให้เขาออกกำลังกาย ส่วนเด็กที่น้ำหนักตามเกณฑ์ก็ส่งเสริมให้เขาดียิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เขาทำสิ่งที่อยากทำ” ครูอุ้มเล่า
การใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่าถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหารกลางวันภายใต้งบประมาณจำกัด ผอ.อรัญญา เล่าว่า หลังจากครูเช็คชื่อนักเรียนเสร็จ หัวหน้าแต่ละชั้นเรียนก็จะส่งจำนวนนักเรียนที่มาเรียนวันนี้ เพื่อให้ครัวรู้ว่ามีนักเรียนกี่คนต้องปรับลดหรือเพิ่มปริมาณอาหาร เพราะโรงเรียนเคยเจอช่วงเสาร์อาทิตย์โรงเรียนจัดค่ายลูกเสือให้นักเรียนชั้นมัธยม เปิดเรียนวันจันทร์เด็กขาดไป 100 กว่าคน แม่ครัวรู้จำนวนเด็กที่มาทำให้เขาสามารถลดวัตถุดิบ ทำอาหารเพียงพอกับปริมาณนักเรียน แล้ววัตถุดิบที่ลดวันนี้ก็อาจจะเอาไปเพิ่มในวันอื่นที่เด็กมาเยอะ หรือวันที่เด็กๆ อยากกินอะไรเป็นพิเศษ เช่น สปาเก็ตตี้ ขนมจีนแกงเขียวหวานไก่
สาเหตุที่โรงเรียนแพรกษาทุ่มเทกับกระบวนการผลิตอาหาร ใส่ความใส่ใจลงไป ทั้งหมดเพราะพวกเขาเชื่อว่า เมื่อใดที่เด็กๆ ท้องอิ่ม พวกเขาก็จะมีแรงไปเรียนต่อ
“เด็กก็เหมือนกับผู้ใหญ่ การเรียนคือการใช้สมอง ถ้าไม่ได้กินอะไรก็ไม่มีแรงไปเรียนหรอก สมองไม่รับ ไม่พร้อมจะเรียนรู้ แน่นอนว่าโรงเรียนมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมศักยภาพเขา แต่ถามว่าถ้าสมองเขาไม่พร้อม ส่งอะไรเขาก็ไม่รับหรอก นี่คือสิ่งที่โรงเรียนต้องพยายามทำอาหารให้มีคุณภาพ
“ตอนหาข้อมูลอาหารกลางวัน พี่ไปศึกษาหลายที่ อย่างฟินแลนด์ ประเทศที่เราฟังว่า โอ้ เขาจัดการศึกษาดีที่สุดในโลก จุดเริ่มต้นหนึ่งมาจากอาหารกลางวันนะ เขาเชื่อว่าอาหารที่ดีช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ก็ออกนโยบายเลยว่านักเรียนทุกคนต้องได้กินอาหารกลางวันโรงเรียนฟรี แล้วอาหารก็ต้องมีคุณค่าทางโภชนาการ หรือที่ญี่ปุ่น ให้เวลาพักเที่ยงนับเป็นหนึ่งชั่วโมงการเรียน เขาถือว่าการทานอาหารของเด็กก็เป็นการเรียนอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ถือถาดอาหาร กินข้าว รับผิดชอบตัวเอง ใส่ไปในแผนการเรียน” ผอ.อรัญญาเล่า
เรียนรู้ผ่านจานอาหาร
มิชชั่นอีกหนึ่งข้อของโครงการเด็กไทยแก้มใส คือ นำกระบวนการผลิตอาหารทั้งหมดไปบูรณาการสร้างการเรียนรู้ ซึ่งความน่าสนใจคงอยู่ตรง ‘อาหาร’ จะสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร
ครูอุ้มตอบด้วยการถามกลับว่า เด็กๆ รู้จักสารอาหารแต่ละชนิดถือเป็นการเรียนรู้ไหม? หรือการบวกลบคำนวณเงินที่ฝากกับสหกรณ์ หรือรู้จักวิธีปลูกผัก การบูรณาการอาหารเข้ากับการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับครูแต่ละรายวิชา เท่านี้คงพอทำให้เราเห็นภาพอาหารในเวอร์ชั่น ‘สื่อการเรียนรู้’
นอกจากเรียนรู้ผ่านอาหาร ระบบการเรียนที่โรงเรียนแพรกษาฯ เป็นแบบพหุภาษา คือ สอนโดยใช้ 2 ภาษา ไทยและอังกฤษ ปัจจุบันมีพ่วงภาษาจีนเพิ่ม ทำให้การเรียนการสอนและกิจกรรมในโรงเรียนเน้นใช้ภาษา เด็กๆ ที่นี่จึงเก่งภาษากัน
ผอ.อรัญญา ยกตัวอย่างกิจกรรมที่โรงเรียนเพิ่งเริ่มทำเมื่อเดือนที่แล้ว โดยปกติรูปแบบวันเรียนของแพรกษาจะเป็นแบบ Six days rotation คือจะไม่นับว่าเป็นวันจันทร์ – ศุกร์ แต่จะนับเป็นเดย์วัน (Day one) ไปเรื่อยๆ จนถึงเดย์ซิก (Day Six) เพื่อที่ว่าหากวันเรียนไหนตรงกับวันหยุดก็จะไม่ขาดไป สมมติวันศุกร์ตรงกับวันหยุดราชการ ถ้านับตามวันปกติก็จะถือว่าการเรียนวันนี้หยุด ไปเริ่มวันจันทร์ แต่การนับแบบ Six days rotation จะรันไปตามปกติ หากวันพฤหัสบดี คือ เดย์วัน วันศุกร์ที่หยุดก็ไม่นับเป็นเดย์ทู แต่ไปนับวันจันทร์เป็นเดย์ทูแทน
เดิมเดย์ซิกจะเป็นวันที่เด็กๆ ใช้เวลาทำกิจกรรมของโครงการเด็กไทยแก้มใส เช่น ลงแปลงผัก ดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ เป็นต้น ผอ.อรัญญาอยากให้เด็กได้ทำกิจกรรมและฝึกภาษาเพิ่มขึ้น เธอและครูในโรงเรียนตกลงทำกิจกรรมที่เรียกว่า ‘ฐานการเรียนรู้โดยใช้ภาษาเป็นฐาน’ โดยจะแบ่งงานให้ครูแต่ละหมวดวิชารับผิดชอบคิดฐานกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ เช่น สัปดาห์ที่ 1 เป็นของหมวดสาระวิชาอังกฤษ ครูประจำหมวดนี้ก็จะช่วยกันคิดฐานกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้ฝึกภาษา
“ฐานแรกเป็นฐานสนามบิน ครูก็จะจำลองสถานที่ให้เหมือนสนามบินเลย มีเคาท์เตอร์เช็คอิน ก็ฝึกเด็กๆ ว่าเขาต้องปฎิบัติตัวยังไง เช็คอินต้องทำอะไรบ้าง เขาก็จะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้บวกกับใช้ภาษาไปด้วย หรืออีกฐานเป็นฐานหาหมอ ครูสวมบทบาทสมมติเป็นหมอรอเด็กๆ มาพบ เขาก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ไทย จีน ในการสื่อสาร ถ้าปวดหัวต้องพูดยังไง รับยาต้องพูดว่าอะไร”
แต่จำนวนบุคลากรมีน้อย ทำให้ผอ.อรัญญาต้องขอแรงพี่ๆ ชั้นมัธยมมาช่วยประจำฐานกิจกรรมด้วย เด็กๆ เกือบทุกคนถ้าเรียนที่โรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาได้ดีมาก ทำให้สามารถเป็นวิทยากรช่วยคุณครูได้
“พี่เคยถามครูว่าทำกิจกรรมนี่เป็นไงบ้าง เขาบอกเหนื่อยแต่สนุก ถามว่าจะทำต่อไหม ทุกคนบอกเสียงเดียวกันว่าทำต่อ เพราะคนทำสนุกแล้วตัวเด็กก็สนุกด้วย พี่มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ความรู้ที่ยั่งยืนเกิดจากทักษะที่ได้จากการปฏิบัติ ในห้องเรียนครูพูดไปเถอะ เด็กอาจจะรับได้ 50 – 80% ไม่ได้เต็มร้อย แต่การทำกิจกรรมแบบนี้ มันทำให้เขาได้ใช้จริง ฝังเข้าไปในตัวเขา”
การจัดการเรียนรู้ให้น่าสนใจเหมาะสมกับคนเรียนย่อมสำคัญ แต่ผอ.อรัญญาเน้นย้ำว่า ฐานสำคัญ คือ เด็กๆ ต้อง ‘ท้องอิ่ม’ ก่อนพวกเขาถึงจะมีแรงไปเรียน
“วันหนึ่งเรากินอาหาร 3 มื้อ มื้อที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กๆ พี่ว่าเป็นอาหารกลางวันโรงเรียนนะ อาหารเช้าผู้ปกครองก็ไม่ค่อยมีเวลาเตรียมหรอก หรือแม้กระทั่งอาหารเย็นเหมือนกัน ถ้าเช้าๆ เด็กไม่ได้กินข้าว สายๆ เขาก็เริ่มหิวละ แล้วการเรียนคือการใช้สมอง แน่นอนว่าถ้าท้องว่างก็เกิดความอ่อนเพลีย ส่งอะไรไปเขาก็ไม่รับ”
“โรงเรียนมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมศักยภาพเขา อาหารเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำ ไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่ฝั่งผู้ปกครองก็อาจจะทำยาก เพราะต้องเป็นคนที่มีเวลา มีปัจจัย 4 ครบถ้วน มีส่วนที่ส่งเสริมสนับสนุนซับพอร์ตได้” ผอ.อรัญญาทิ้งท้าย