- โลกใบแรกที่เด็กต้องเผชิญและเรียนรู้คือ ครอบครัว ซึ่งมีอิทธิพลต่อความเชื่อที่มีในตนเอง หลายคนไม่สามารถมองเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) ได้ เพราะโลกใบแรกนี้มักตำหนิ ต่อว่า หรือคาดหวังให้พวกเขาต้องดีขึ้น เก่งขึ้นอีก แล้วก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ให้เห็นว่าเป็นแบบนั้นนะถึงจะดี และบ่อยครั้งก็ปราศจากคำชื่นชมใดๆ จึงไม่แปลกที่จะทำให้เขาเชื่อสนิทใจว่า “ฉันไม่ดีพอจริงๆ”
- การสร้างทักษะการเห็นคุณค่าในตนเองนั้น เหนือสิ่งอื่นใดเราควรมีก็คือ การมี Empathy ต่อตนเอง ถึงแม้สังคมหรือคนรอบตัวที่เราต้องพบเจออยู่เป็นประจำ อาจจะขาด Empathy ก็ตาม แต่อย่างน้อยถ้าเรามีสิ่งนี้ให้กับตนเองอย่างสม่ำเสมอ มันก็เพียงพอต่อการเพิ่มพลังงานทางกายและใจให้เราใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น
ความคิดที่ว่า “ฉันไม่ดีพอ” กลายเป็นความเชื่อที่ถูกฝังอยู่ในใจของใครหลายๆ คนไปแล้ว เลยทำให้เราต่างต้องพยามที่จะพัฒนาตัวเองและปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า “เราดีพอนะ” เพื่อให้เกิดการยอมรับ หรือบางครั้งก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ ที่อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ดีพอ เศร้า เสียใจ น้อยใจ ผิดหวัง จนขาดโอกาสในการใช้ชีวิตตามที่ตนเองต้องการ และสร้างความทุกข์ใจ สร้างบาดแผลเอาไว้หลายต่อหลายครั้ง แล้วอะไรกันที่ทำให้เราเกิดความเชื่อที่ว่า ฉันไม่ดีพอขึ้นมาได้
ความเชื่อที่มีต่อตนเองถูกก่อร่างสร้างตัวจากหลายๆ ปัจจัย และในแต่ละคนก็เกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป บทความนี้จะขออธิบายในมุมมองกว้างๆ และไม่ได้ลงลึกมากนัก ซึ่งจะพาย้อนกลับไปในวัยเด็กช่วงสั้นๆ ให้เห็นว่าเมื่อเด็กเติบโตขึ้นมา โลกใบแรกที่เด็กต้องเผชิญและเรียนรู้ก็คือสถาบันครอบครัว ซึ่งโลกใบนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อความเชื่อที่มีในตนเอง และความสามารถในการเห็นคุณค่าของตนเอง (Self-Esteem) นั้นเริ่มต้นจากจุดนี้
มีหลายคนที่ไม่สามารถมองเห็นคุณค่าตนเองได้ เพราะโลกใบแรกนี้มักจะตำหนิ ต่อว่า หรือคาดหวังให้พวกเขาต้องดีขึ้น เก่งขึ้นอีก แล้วก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ให้เห็นว่าเป็นแบบนั้นนะถึงจะดี และบ่อยครั้งก็ปราศจากคำชื่นชมใดๆ ซึ่งเมื่อคำพูดหรือการกระทำที่ขาด Empathy เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในโลกใบแรกที่เด็กเพิ่งจะเริ่มเรียนรู้เชื่อมโยงตนเองกับโลกภายนอก ก็ไม่แปลกเลยที่จะทำให้เด็กคนหนึ่ง โตมาแล้วเชื่อสนิทใจว่า “ฉันไม่ดีพอจริงๆ” แล้วเราจะหยุดหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อนี้ได้ยังไงกัน ?
สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องกลับมาสร้าง “ความสามารถในการเห็นคุณค่าในตนเอง” และฝึกฝนอยู่เป็นประจำ โดยสามารถฝึกฝนได้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้
การทำ self-monitoring การสังเกตติดตามตนเอง
ลองจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เราเกิดความคิดที่ว่า “ฉันไม่ดีพอ” ว่าเป็นเหตุการณ์อะไร หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้น เรามีความคิดอะไรบ้าง ความรู้สึกอะไรบ้าง พร้อมให้คะแนนระดับความเข้มข้นของความรู้สึกเหล่านั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นเราทำอะไรบ้าง ตอนนั้นร่างกายเราเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อให้เราสามารถรู้ทันตนเองมากขึ้น เข้าใจตนมากขึ้น และไม่จมอยู่กับความเศร้านานเกินไป เพราะได้เห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวกับความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตนเอง และเห็นโอกาสที่ตัวเองจะสามารถจัดการหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้
การหาข้อมูลมาสนับสนุนหรือคัดค้าน ความเชื่อที่เรามีต่อตนเอง
หลายครั้งเราอาจจะเผลอเอาเรื่องแย่ๆ เหตุผลหรือความคิดเชิงลบมาอธิบาย และตีความสิ่งที่เกิดขึ้น แม้เราจะทำได้ดีแล้วก็ตาม เช่น “ฉันได้รับคำชมจากเพื่อนร่วมงานว่าทำงานได้ดี แต่จริงๆ ไม่หรอก ฉันมันแย่จะตาย เพื่อนแค่พูดไปอย่างนั้นเอง” การฝึกหาเหตุผลมาสนับสนุนหรือคัดค้านจะทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้ว มันมีเหตุผลอื่นอีกนะ ที่มาสนับสนุนหรือคัดค้านความคิดที่เรามี อาจจะทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้ว ที่เพื่อนชมไม่ใช่เพราะชมไปอย่างนั้น แต่เพราะเราเองก็เป็นคนขยันนะ เรามีน้ำใจ เราตรงต่อเวลา เรามีความพยายาม เรามีความรับผิดชอบด้วย ซึ่งเหตุผลใหม่ๆ เหล่านี้ จะทำให้เราสามารถตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมากขึ้น และไม่มองตนเองลบจนเกินไป
ฝึกการตีความสถานการณ์ต่างๆ ให้หลากหลายมากขึ้น
โดยปกติแล้วเราจะมีการตีความอย่างรวดเร็วเมื่อกระทบกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจากประสบการณ์และความเชื่อที่เรามี เกิดเป็นความคิดอัตโนมัติ (Automatic thought) เช่น เหตุการณ์ที่เราถูกปฏิเสธไม่รับเลือกเข้าทำงาน ความคิดอัตโนมัติก็เกิดขึ้นทันทีว่า เพราะเราไม่ดีพอ ส่งผลให้เรารู้สึก เศร้า เสียใจ น้อยใจ ผิดหวัง
ขั้นตอนนี้อยากจะชวนคิดว่า เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว จากแต่ก่อนที่เราตีความแบบเดิมว่าเราไม่ดีพอแน่ๆ หลังจากนี้เราจะฝึกตีความเป็นอย่างอื่นได้อีกไหม เพื่อให้เรามีความสามารถในการตีความที่หลากหลายมากขึ้น และนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้นด้วย แล้วเราจะตีความว่าอะไรได้อีกบ้าง เพื่อให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเองได้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น
เป็นไปได้ไหมว่าที่เราถูกปฏิเสธงานเพราะบริษัทเห็นว่าเรายังไม่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราไม่ดีพอ อาจจะมีบริษัทอื่นที่เราเหมาะมากกว่าก็เป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ไหมว่าบริษัทอาจจะต้องชะลอการรับคนเข้าทำงานเพราะสถานการณ์โควิด-19 หรือเพราะนโยบายของบริษัท ฯลฯ พอมาถึงตรงนี้เราอาจจะได้เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ว่าในสถานการณ์หนึ่งเราสามารถตีความต่างไปจากเดิมได้เหมือนกัน และมีอีกหลายเหตุผลมากที่เราสามารถนำมาอธิบาย หรือตีความเหตุการณ์ต่างๆได้
ฝึกการชื่นชมและให้กำลังใจตนเอง
การสร้างทักษะการเห็นคุณค่าในตนเองนั้น เหนือสิ่งอื่นใดเราควรมีก็คือ การมี Empathy ต่อตนเอง ถึงแม้สังคมหรือคนรอบตัวที่เราต้องพบเจออยู่เป็นประจำ อาจจะขาด Empathy ก็ตาม แต่อย่างน้อยถ้าเรามีสิ่งนี้ให้กับตนเองอย่างสม่ำเสมอ มันก็เพียงพอต่อการเพิ่มพลังงานทางกายและใจให้เราใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น
ไม่มีใคร Perfect ในโลกใบนี้ ไม่ว่าคุณเองหรือคนรอบข้าง เพราะฉะนั้นบางครั้งที่เราผิดพลาดบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาสากล และไม่จำเป็นต้องซ้ำเติมตัวเองมากนัก ให้ฝึกลองเปลี่ยนจากการซ้ำเติมตนเองมาเป็นการให้กำลังใจ และชื่นชมตนเองแทน เพื่อผลิตความคิดที่สร้างพลังงานดีๆ กับตนเองในทุกวัน อารมณ์เศร้าต่างๆ หรือบาดแผลที่ทุกข์ทรมานนั้น ก็จะค่อยๆ เบาบางลง มันอาจจะไม่ได้หายไป แต่เราจะสามารถรับมือได้ดีขึ้น และเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้นอีกด้วย
เราสามารถสั่นคลอนความเชื่อเดิมๆ ที่มีต่อตนเองได้จากการเฝ้าสังเกตตนเอง ตั้งคำถามกับความเชื่อนั้นๆ อย่าเพิ่งเชื่อทุกอย่างที่เราคิด เพราะการตีความของเราเองบางครั้งก็ไม่ตรงตามความเป็นจริงเท่าไรนัก และหากเกิดเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกเศร้า หรือเสียใจจริงๆ ก็ไม่เป็นอะไรที่จะแสดงความอ่อนแอออกมา แต่ให้คอยเฝ้าดูตนเอง ไม่ให้คิดลบต่อตนเองมากจนเกินไป จนเกิดเป็นความเศร้านานและสะสม ให้กลับมารู้ทันความคิดตนเอง และมองสถานการณ์ให้ตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น ให้กำลังใจตนเอง ชื่นชมตนเองทุกๆ ครั้งที่มีโอกาส เพื่อสร้างความสามารถในการเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้นและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติสุขอีกครั้ง
อ้างอิง