- มหกรรมนิทานสร้างเมือง งานที่จะชวนเด็กๆ มารู้จักจังหวัดเชียงใหม่ผ่านการอ่าน ‘นิทาน’ จากตัวอักษรสู่การเชื่อมโยงเด็กๆ ให้รู้จักและรักสิ่งที่อยู่รอบตัวพวกเขา ต้นไม้ ลำน้ำ และสัตว์น้อยใหญ่
- พร้อมกับเข้าฐานกิจกรรมที่ชวนมาลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นฐานดอกไม้พื้นเมือง ที่นำเศษขยะมารวมกับดอกไม้แห้งกลายเป็นของตกแต่งบ้าน หรือฐานรูปลอยออกมา ชวนทำนิทานป็อบอัพแบบง่ายๆ
เราทุกคน คือ ผลผลิตของสิ่งที่ลงทุนไป เราเป็นอย่างที่เราคิดและทำเสมอ เด็กๆ เองก็เช่นกัน ลูกเป็นผลผลิตของพ่อแม่ เด็กเป็นผลของการสร้างและบ่มเพาะทั้งทางตรงและทางอ้อมจากผู้ใหญ่ เราอยากให้คุณภาพของเด็กเป็นอย่างไรจึงต้องเริ่มต้นที่ผู้ใหญ่นั่นเอง
เด็กปฐมวัย คือ จุดเริ่มต้นของการลงทุนที่วิเศษสุด สิ่งใดที่เราริเริ่มปลูกฝังไว้ในตัวเขา จะสามารถก่อรูปเติบโตไปได้ไม่รู้จบ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ชื่อดังแนะนำว่า การลงทุนดีที่สุดที่พ่อแม่ควรทำ คือ อ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวันอย่างน้อยวันละ 30 นาที การฟังนิทานช่วยสร้างสมองที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น ลูกได้รับประโยชน์จาก “พลังของนิทาน” มหาศาล ทั้งสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ (พ่อแม่มีจริง) สร้างตัวตนของลูก เรียนรู้ภาษาและความคิดต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน โดยอาจได้ความฉลาดและรักการอ่านเป็นผลพลอยได้ที่ตามมาด้วย
นิทานสร้างเด็ก ชุด “อ่านดอยสุเทพ”
ด้วยเพราะตระหนักในการอ่านและพลังของนิทาน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สนับสนุนโดย สสส.) ร่วมกับโครงการเชียงใหม่อ่าน และ Spark U Lanna จึงคิดเห็นร่วมกันว่านิทานมีศักยภาพทำให้เด็กๆ รู้จักบ้านเมืองของตัวเองได้ เมื่อ “รู้จัก” แล้วจึง “รัก” และ “รักษา” โครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่จึงถูกออกแบบให้อยู่ในกรอบคิดเรื่อง “อ่านดอยสุเทพ” เพื่อให้เด็กๆ ช่วงปฐมวัยได้เรียนรู้เรื่องดอยสุเทพ-พื้นที่สำคัญทางจิตวิญญาณของคนเชียงใหม่ในหลากหลายมิติ ผ่านนิทานสามเล่ม ได้แก่ “กราบดอยสุเทพ” “หนูน้อยไปดอยสุเทพ” ชวนเรียนรู้เรื่องการกราบ การฟังเสียงธรรมชาติระหว่างเดินทางขึ้นดอยและเสียงต่างๆ ภายในวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ และ “ป่าดอยบ้านของเรา” ที่สื่อสารเนื้อหาเรื่องธรรมชาติวิทยา ชวนรู้จักและเข้าใจต้นไม้ สิ่งมีชีวิตต่างๆ บนดอยสุเทพ และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ผ่านภาพวาดน่ารักและเนื้อหาอย่างง่าย ซึ่งนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ให้ข้อคิดเห็นต่อนิทานเรื่องป่าดอยบ้านของเราไว้ว่า เป็นนิทานที่เล่าเรื่องน้ำได้มีชีวิตชีวามาก ทั้งน้ำใต้ดิน น้ำฟ้า โดยไม่ต้องมีคำว่า “วัฏจักร” เลย ซึ่งทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องความเชื่อมโยงของธรรมชาติและสรรพชีวิตทั้งหลายได้อย่างดียิ่ง
โครงการเชียงใหม่อ่านในฐานะแกนนำผู้สร้างสรรค์งาน “มหกรรมนิทานสร้างเมือง” ร่วมกับภาคีเครือข่ายการเรียนรู้จึงเลือกใช้นิทานเรื่องป่าดอยบ้านของเราเป็นแนวคิดตั้งต้นเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง เพราะเชื่อหมดใจว่าเด็กคืออนาคต เป้าหมายของการจัดงานจึงเป็นทั้งการส่งเสริมการอ่านนิทานระหว่างพ่อแม่ลูก การแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และสร้างความรักในบ้านเมืองของตัวเองไปพร้อมกัน เรียกว่าทั้งสนุก ได้ประโยชน์ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้ในการทำงานครั้งเดียวจริงๆ
พลังนิทานสร้างเมือง
จากนิทานในสวนอักษร “ป่าดอยบ้านของเรา” ได้เปิดพื้นที่เรียนรู้ใหม่มาสู่สนามหญ้าที่เด็กๆ วิ่งเล่นได้จริงผ่านการลงมือทำกิจกรรม โดยเชื่อมโยงเนื้อหาที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ครบถ้วนทุกมิติทั้งเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขยะ วัฒนธรรมพื้นถิ่น ทัทยา อนุสสรราชกิจ ผู้รับผิดชอบโครงการเชียงใหม่อ่านและแกนนำจัดงานมหกรรมนิทานสร้างเมืองร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ กล่าวว่า โครงการเชียงใหม่อ่านได้นำหนังสือนิทานชุดอ่านดอยสุเทพทั้งสามเล่มไปสอนครูทั้งจังหวัดเชียงใหม่เกือบหนึ่งพันคนเพื่อให้ครูเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง รวมทั้งส่งมอบนิทานให้แก่ศูนย์เด็กเล็กในเชียงใหม่ เกิดเป็นแรงกระเพื่อมเชิงบวกให้คนรู้ว่าดอยสุเทพเป็นมากกว่าภูเขา ตอบโจทย์การอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน และเริ่มตระหนักว่าเราสามารถสร้างเมืองหรือเปลี่ยนเมืองได้จริงๆ ผ่านพลังของนิทาน
“เรามีวิสัยทัศน์เมืองอย่างหนึ่งว่า เราต้องเตรียมคนในแบบที่เราอยากเห็นในอนาคต เราอยากให้เขารักเมืองอย่างไร เราก็ต้องสร้างเด็กให้มีคุณภาพแบบนั้น นี่คือหัวใจสำคัญของคำว่าให้นิทานสร้างเด็ก แล้วให้เด็กสร้างเมือง” ทัทยา อนุสสรราชกิจ กล่าว
บรรยากาศในมหกรรมนิทานสร้างเมืองนั้นน่ารักมาก มีการจำลองบรรยากาศและสัตว์ในนิทานออกมาในสนามหญ้าจริง มีมุมนิทานที่มีหนังสือมากมายให้เลือกอ่าน ในเวทีกลางมีการเล่านิทานเรื่องป่าดอยบ้านของเรา เพื่อเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาการเรียนรู้ต่างๆ ทั้งห้องเรียนต้นไม้ ห้องเรียนสัตว์ ห้องเรียนน้ำ ห้องเรียนขยะ สลับกับการแสดงของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวชิรวิทย์เชียงใหม่ ฟังแนวทางการบ่มเพาะเด็กให้รักธรรมชาติจากคุณยายสิริกร ว่องตระกูล ฟังเรื่องเล่าของสัตว์บนดอยสุเทพจากศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพ ฟังเรื่องน้ำจากชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่และกลุ่มคนใจบ้าน เรียนรู้แนวคิดเรื่องบอร์ดเกมจากน้องๆ ห้องสมุดลิบลับ เปิดตัวนิทาน “มาช่วยเพื่อนเรากันนะ” เพื่อสื่อสารปัญหาขยะ และที่รู้สึกเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาอันยิ่งใหญ่ คือ การมีพิธีส่งมอบเมืองจากผู้ใหญ่สู่เด็ก เป็นเหมือน สัญญะที่สื่อความหมายว่า เด็กคืออนาคต คือผู้กำหนดบ้านเมืองในวันข้างหน้าอย่างแท้จริง
ในเวทีเสวนาเรื่องจากนิทานสร้างเด็กสู่นิทานสร้างเมือง ผู้ร่วมอภิปรายหลายท่านให้ข้อคิดเห็นที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า “เด็กคือความหวังและนิทานมีพลังกว่าที่คิด” สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านยืนยันว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงแปดขวบนั้นเป็นเวลาที่สำคัญ เพราะสมองพัฒนาสูงสุด การอ่านนิทานให้ลูกฟังจึงมีความหมายมากกว่าตัวอักษร หากหมายถึงการบ่มเพาะความดี ความงาม ความเป็นมนุษย์ที่งดงามในอนาคต เช่นเดียวกับที่ ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่กล่าวว่า หนังสือช่วยลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้คนได้มีการศึกษาได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม เป็นช่องทางความรู้ที่เข้าถึงได้โดยใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นโอกาสของการแก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง
สอดคล้องกับสุวารี วงศ์กองแก้ว หัวหน้าส่วนงานพัฒนาเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ให้ความเห็นว่า หนังสือและการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงมนุษย์และสร้างมนุษย์จากภายใน แนวคิดในหนังสือจะช่วยก่อรูปวิธีคิด ความคิดที่ถูกต้องดีงามให้เราได้ การอ่านหนังสือจึงเป็นการลงทุนสร้างมนุษย์ได้อย่างยั่งยืนที่สุด
การสร้างมนุษย์ที่รักการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการอ่านจึงเปรียบได้กับการเตรียมเยาวชนคุณภาพ ที่ไม่เพียงแค่ “อ่านหนังสือ” เป็นเท่านั้น หากยังมีศักยภาพที่จะ “อ่านบ้านอ่านเมือง” และ “อ่านโลก” ได้ในอนาคตด้วย
เมื่อรู้จัก-รัก-แล้วจึงรักษา(เมือง)
ทั้งที่เป็นวันที่ค่าฝุ่นควันสูงเกินมาตรฐานและสถานการณ์โควิท 19 ระบาด แต่ผู้ร่วมงานทั้งผู้ปกครอง ครู และเด็กๆ ต่างกระตือรือร้นในการมาร่วมกิจกรรมตั้งแต่เช้าโดยสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองเต็มที่ คนมายืนรอหน้างานจนต้องเปิดให้เด็กๆ เข้าฐานกิจกรรมตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดงาน กิจกรรมทุกฐานได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีคนเข้าร่วมเรียนรู้เยอะตั้งแต่เช้าจรดเย็น แนวคิดการออกแบบฐานการเรียนรู้ก็น่าสนใจมาก เป็นการเชื่อมโยงความรู้สู่การลงมือทำอย่างสอดประสานกลมกลืน โดยไม่ลืมเป้าหมายสำคัญที่ทำให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้เรื่องเมืองเชียงใหม่ของตัวเอง
- ฐานดอกไม้พื้นเมือง ชวนคนนำเศษขยะอย่างฝาแก้วกาแฟมาทำของแต่งบ้านจากดอกไม้แห้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ที่พบได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นการชี้ชวนให้ความงามของสิ่งรอบกายในชีวิตประจำวัน และสะกิดให้คนตระหนักถึงปัญหาขยะที่เป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นทุกที
- ฐานสนุกเรื่องสีสัน ชวนเด็กๆ มาทำสีจากธรรมชาติจากพืชผักใกล้ตัว เช่น สีเหลืองจากขมิ้น สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากผลผักปลัง
- ฐานปลูกต้นไม้กันเถอะ ชวนทำกระถางและปลูกต้นไม้ลดฝุ่น ซึ่งฝุ่นควันเป็นมลพิษที่ก่อผลกระทบต่อสุขภาพเชียงใหม่มายาวนาน
- ฐานเจอะนกในเมือง ชวนเด็กเรียนรู้เรื่องนกบนดอยสุเทพจากตัวอย่างนกที่สตาฟท์ไว้ และออกแบบระบายสีที่คาดหัวรูปนกต่างๆ เด็กๆ หลายคนสนุกกับการเปิดคู่มือดูนกเป็นครั้งแรกและพบว่าโลกของนกนั้นเป็นเรื่องสนุกที่น่าค้นหายิ่ง
- ฐานเรื่องสัตว์บนดอย ชวนเด็กๆ มารู้จักสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบบนดอยสุเทพ ทั้งแมลงปอเข็มท้องยาวดอยสุเทพ ตุ๊กกายดอยสุเทพ ด้วยการตัดกระดาษแล้วสร้างลวดลายสีสันในแบบของตัวเอง การได้รู้จักสัตว์ที่นามสกุลดอยสุเทพ (Suthepensis) เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น อยากกลับไปเชื่อมโยงกับผืนป่าหลังบ้านที่คุ้นเคย (แต่ไม่เคยรู้จักอย่างแท้จริง) แก่พ่อแม่ครูและเด็กๆได้ดีเหลือเกิน
- ฐานรูปลอยออกมา พาอ่านนิทานป็อปอัพที่น่าตื่นตาตื่นใจและชวนเด็กๆ ทำการ์ดป็อปอัพแบบง่ายๆ
- ฐานจากแม่ข่าถึงแม่ปิง ชวนให้คนเข้าใจและมองเห็นความเชื่อมโยงจากน้ำบนดอยสุเทพสู่น้ำกินน้ำใช้ในชีวิตจริง ผ่านการจำลองเส้นทางน้ำจากบนดอยสู่คลองแม่ข่า แม่น้ำปิง (และไหลเรื่อยไปสู่เจ้าพระยาและอ่าวไทยในท้ายที่สุด) หลายคนชื่นชอบฐานนี้มาก เพราะโมเดลการจำลองเส้นทางน้ำนั้นถูกทำให้ง่าย ชัดเจน ทำให้คนรู้ว่าน้ำมาจากไหนและตระหนักว่าปัญหาคลองแม่ข่าเน่าเสียเป็นเรื่องของคนเชียงใหม่ทุกคน
- ฐานสนุกจริงทำกิน ชวนทำไข่ป่าม อาหารพื้นถิ่นแสนง่ายดายและใช้ใบตองช่วยเพิ่มความหอมกรุ่นแถมลดขยะได้ด้วย
- ฐานน้ำขมิ้นส้มป่อย ชวนเด็กเข้าใจประเพณีการรดน้ำดำหัวและหัดทำน้ำขมิ้นส้มป่อยอันเสมือนน้ำมงคลเพื่อใช้ในงานพิธีต่างๆ ฝักส้มป่อยใช้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ดอกสารภีมีกลิ่นหอม ดอกคำฝอยให้สีเหลืองสวย
- ฐานเอนจอยบอร์ดเกม ชวนผู้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้อย่างสนุกสนานกับบอร์ดเกมต่างๆ ทั้งเรื่องปลาน้ำจืด การลดน้ำตาลในชีวิตประจำวัน ปัญหาขยะ เป็นต้น หน่วยงานการศึกษาหลายแห่งได้ค้นพบและเรียนรู้แล้วว่า บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือเรียนรู้ที่ทำให้คนสนุกและเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเข้าใจเชิงลึกได้จริง
ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ชื่นชมงานกิจกรรมในมหกรรมนิทานสร้างเมืองอย่างมาก ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าเป็นกิจกรรมให้ความรู้ที่สนุกมากจนไม่รู้สึกเลยว่ากำลังได้รับการให้ข้อมูลสำคัญบางประการอยู่ บ้างถึงกับเรียกร้องให้มีการจัดงานเสมือนงานวันเด็กประจำเชียงใหม่ทุกปี เพราะสัมผัสได้ถึงพื้นที่เรียนรู้อิสระที่มีคุณค่าความหมายอย่างยิ่ง พ่อแม่หลายท่านได้แรงบันดาลใจเพื่อทำกิจกรรมกับลูก คุณครูหลายท่านเห็นการเชื่อมโยงนิทาน (ตัวอักษร) สู่การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง การเปิดตัวนิทานสร้างเมือง เรื่อง “มาช่วยเพื่อนเรากันนะ” ช่วยกระตุ้นเตือนเรื่องปัญหาขยะที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้าง และก่อเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อสัตว์น้อยใหญ่มากมาย ตั้งแต่บนบกจนถึงใต้ท้องทะเล นิทานที่สื่อสารปัญหาเรื่องขยะเล่มนี้ จึงมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้รับรู้ข้อเท็จจริงและรู้สึกรู้สาไปกับสรรพชีวิตเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง
งานมหกรรมนิทานสร้างเมือง จัดขึ้น ณ ลานสนามหญ้าห้องสมุดฟื้นบ้านย่านเวียง ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำหรับฉันแล้วงานนี้เหมือนมีนัยสำคัญของการเกิดขึ้น ประการหนึ่งคือวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ สี่ปีจึงจะเวียนมาสักครั้ง ส่วนชื่อของสถานที่จัดงานนั้นชวนให้เรามีความหวังกับเด็กๆ ที่มาร่วมงานว่า พวกเขานี่ละที่จะเป็นอนาคต เป็นผู้ฟื้นบ้านฟื้นเวียงและดูแลบ้านเมืองเชียงใหม่นี้ให้คงอยู่สืบไป
หากเราเชื่อในพลังของนิทาน โปรดเป็นพ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เป็นครูที่อ่านหนังสือให้นักเรียนฟัง เป็นพี่ที่อ่านหนังสือให้น้องฟัง เรื่องราวความคิดทั้งหลายในตัวอักษรมีพลังวิเศษซุกซ่อนอยู่ รอบ่มกายภายในเพื่อนำพาเด็กๆ ของเราทั้งหลายไปสู่เป้าหมายที่งดงามของชีวิต ดังที่เราเชื่อหนักหนาว่าเมื่อเราสร้างเด็ก แล้วเด็กจะสร้างเมืองด้วยตัวเขาเองในท้ายที่สุด
นิทานสร้างเมือง เรื่อง “มาช่วยเพื่อนเรากันนะ” แต่งโดย ทัทยา อนุสสรราชกิจ วาดโดย ณัฐวุฒิ เกียรติไชยยากร นิทานชุดอ่านดอยสุเทพ ประกอบด้วย “กราบดอยสุเทพ” แต่งโดย ระพีพรรณ พัฒนาเวช วาดโดย เฉลิมชาติ เจริญดียิ่ง “หนูน้อยไปดอยสุเทพ” แต่งโดย ทัทยา อนุสสรราชกิจ วาดโดย ถิง ชู “ป่าดอยบ้านของเรา” แต่งโดย วิรตี ทะพิงค์แก วาดโดย จันทิมา กิติศรี ซึ่งขณะนี้นิทานป่าดอยบ้านของเราได้ผ่านเข้าชิงรางวัลลูกโลกสีเขียวในรอบแรกแล้ว รอการพิจารณาจากกรรมการในรอบต่อไป ท่านที่สนใจนิทานชุดดังกล่าว สามารถสั่งซื้อได้ที่ facebook : เชียงใหม่อ่าน ในราคาเล่มละ 100 บาท (ทุกการซื้อหนึ่งเล่มจะสมทบให้ศูนย์เด็กเล็กหนึ่งเล่ม) รายได้จากการจัดจำหน่ายนำไปสมทบโครงการฮอมหื้อดอย |