- สภาพสังคมและเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกน้อยลง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องความผันผวนรุนแรงของสภาพอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
- บทความนี้จะพาไปดูข้อเท็จจริง งานวิจัย ความเห็นและความเคลื่อนไหว (movement) ของคนรุ่นใหม่หลายคนที่เลือกจะ ‘ไม่มีลูก’ อันเนื่องจากสภาพอากาศที่พังทลายนี้
เรื่อง: ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
Photo by Harrison Moore on Unsplash
ปัจจุบันคู่รักวัยทำงานมองอนาคตของตนเอง ทั้งเรื่องการทำงาน ความรัก เเละการวางเเผนครอบครัวมากขึ้น เเต่เมื่อพูดถึงครอบครัว ‘ลูก’ คือคนสำคัญในชีวิตที่เหล่าคนรุ่นใหม่จะนึกถึงในการสร้างครอบครัว เเต่ปัญหาของสิ่งเเวดล้อมในปัจจุบัน อาจจะทำให้พวกเขาต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่า “ลูกน้อยที่จะลืมตาดูโลกจะต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งเเวดล้อมอะไรบ้าง”
บทความเรื่อง How Climate Anxiety Is Shaping Family Planning (ความกังวลเรื่องภูมิอากาศส่งผลต่อการวางแผนครอบครัวอย่างไร) ตีพิมพ์ใน parenting.nytimes.com ยกตัวอย่างเรื่องของ ลอรี่ เดย์ (Lori Day) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาในเมืองนิวบูรีพอร์ท รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา วัย 56 ปี กับประเด็นที่ว่า… แม้เธอจะเกิดในยุคที่สิ่งแวดล้อมไม่พังทลายเท่าทุกวันนี้ แต่ก็กลัวว่าจะปกป้องลูกไม่ได้เนื่องจากภาวะโลกร้อน หลังเธอคลอดลูกคนแรกในปี 1991 เธอกังวลถึงขนาดเก็บไปฝันว่าดูแลลูกไม่ได้เนื่องจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม และยังฝันเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่า 10 ปี
จนฤดูหนาวที่ผ่านมา (ปี 2019) เดย์เจอเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ birthstrike โดยบังเอิญ ซึ่งเป็นเพจของกลุ่มคนในสหรัฐอเมริกาประมาณ 650 คน ที่ให้คำสัญญาว่าพวกเขาจะไม่มีลูกเนื่องจากวิกฤติรุนแรงของระบบนิเวศ อาจอนุมานได้ว่า เธอไม่ได้อยู่คนเดียว
ความกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้น ทำให้เดย์ห่วงไปถึงลูกสาวของเธอว่า หากลูกสาวของเธอมีลูก (ซึ่งก็คือหลานของเดย์นั่นเอง) จะทำให้เด็กคนหนึ่งที่โตมาต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก แต่ตอนนี้เดย์รู้สึกโล่งใจเพราะลูกสาวยังไม่ได้วางแผนจะมีลูก อีกทั้งเดย์ยังเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ออกมาเตือนเรื่องภาวะโลกร้อนจนนำไปสู่การปรับตัวและการเลิกล้มความหวังของคนส่วนใหญ่ที่อยากมีลูกโดยธรรมชาติ
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกัน นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ปี 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ทำให้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มการประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงระดับโลกอย่าง Extinction Rebillion เริ่มต้นการประท้วงภายใต้ชื่อ ‘feed in’ โดยมีแม่ที่พาลูกของพวกเธอมาเข้าร่วมการประท้วงที่หน้าสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองในลอนดอน และยังมีการแขวนแบนเนอร์ที่เขียนว่า ภาวะโลกร้อนฆ่าเด็ก (Climate change kills children) อีกด้วย
มุมมองเรื่องการมีลูกในช่วงเวลาวิกฤติของระบบนิเวศ เริ่มเป็นที่สนใจจากบทสัมภาษณ์ของไมลีย์ ไซรัส (Miley Cyrus) ในฐานะที่เธอเป็นคนหนึ่งที่ผลักดันเรื่องภาวะโลกร้อนเเละการเปลี่ยนเเปลงของสภาพอากาศ อาจมีผลต่อความคิดเรื่องการมีลูกของเธอในอนาคต และ เจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ที่ตรัสว่าเขาเองก็อยากทบทวนให้เเน่ใจว่าสภาพเเวดล้อมจะไม่ทำลายอนาคตของลูก ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการพูดคุยในสื่อสังคมออนไลน์จนกลายเป็นกระแสสังคมเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ และแนวคิดที่ว่าการวางแผนครอบครัวถือเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน
บทวิเคราะห์ของ Gallup บริษัทด้านการวิเคราะห์เเละให้คำปรึกษาของสหรัฐอเมริการ เผยเรื่อง ภาวะโลกร้อนกับระยะห่างของอายุ (Global warming age gap) ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่า ในผู้ใหญ่อายุ 18-34 ปี ร้อยละ 70 กังวลเรื่องภาวะโลกร้อน ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 55 ปีขึ้นไป กังวลเรื่องภาวะโลกร้อนร้อยละ 56
ส่วนแบบสอบถามออนไลน์ของ Business Insider เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019 พบว่า ร้อยละ 38 ของคนอายุ 18-29 ปี มองปัจจัยเรื่องภาวะโลกร้อนประกอบการตัดสินใจในการมีลูก โดยในปี 2018 แบบสอบถามด้านพฤติกรรม ของ Morning Consult ของนิวยอร์คไทม์ เปิดเผยว่า ร้อยละ 33 ของผู้ตอบแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างวัย 20-45 ปี ทั้งชายและหญิงคิดว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจมีลูกน้อยลงกว่าที่ตั้งใจไว้
อีกทั้งงานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่า การมีลูกน้อยคน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดปัญหาสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ในปี 2017 จดหมายวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในประเทศกำลังพัฒนา การมีลูกน้อยลงหนึ่งคน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 58.6 ตันต่อปี
เอลิสัน เกมมิลล์ (Alison Gemmill) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในโรงเรียน Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health เล่าว่า ผู้หญิงอเมริกันส่วนใหญ่ตั้งใจมีลูกน้อยลง รวมไปถึงเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนจะเห็นว่าผู้หญิงอยากมีลูกน้อยลง ซึ่งก็เป็นความจริง เมื่อดูจากอัตราการเกิดในสหรัฐอเมริกา พบว่า ปี 2018 มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เหลือ 1.73 ต่อผู้หญิง 1 คนจากปี 1957 ที่มีอัตราการเกิดเฉลี่ยสูงสุด 3.77 และถึงแม้ว่า Gemmill จะไม่ได้ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ทราบว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งปัจจัยในการตัดสินใจเรื่องการมีลูก นักวิจัยการสื่อสารเรื่องภาวะโลกร้อนจาก Yale Program ยังยืนยันคล้ายกันว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าภาวะโลกร้อนจะส่งผลอันตรายต่อตัวพวกเขาและช่วงอายุของคนในอนาคตมากกว่าผู้ชาย
ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการพูดคุยร่วมกันบนโลกออนไลน์ของคนที่ตัดสินใจว่าจะไม่มีลูก ในเดือนกันยายน ปี 2019 นักเรียนของมหาวิทยาลัยแมคกลิลล์ (McGill University) ประเทศแคนาดา จัดแคมเปญ “#No Future, No Children” ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีลูกจนกว่ารัฐบาลแคนาดาจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และมีอีก 5,000 คนที่มีความเห็นเหมือนกัน โดย Birthstrike จึงเป็นพื้นที่กลางในการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับการตัดสินใจวางแผนครอบครัว
ส่วนโครงการ “Conceivable Future” ที่นำโดยผู้หญิงชาวอเมริกัน รวบรวมข้อมูลเพื่อยืนยันว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการคลอดและการเลี้ยงดูลูก ไม่กี่ปีที่ผ่านมา Babycenter กลุ่มการเลี้ยงดูลูกก็ได้โพสท์เรื่องผลกระทบของภาวะโลกร้อนในการเลี้ยงดูลูกผ่านโปสเตอร์ในปี 2016 เขียนระบุไว้ว่า “สิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรามีลูกคนเดียว”
รวมไปถึงในปี 2019 เว็บไซต์ Reddit ตั้งคำถามว่า การมีลูกเมื่อเกิดภัยพิบัติภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเรื่องผิดศีลธรรมหรือไม่ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น 175 ความคิดเห็นในโพสต์นี้ และพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าอยากมีลูก แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดเช่นกัน
นอกจากนี้ไบร์ท เปปิโน (Blyte Pepino) นักดนตรีชาวลอนดอนบอกว่า เพจ Birthstrike เป็นเหมือนกลุ่มสนับสนุนอีกด้วย โดยสมาชิกจะโพสต์เรื่องการเลิกกับแฟนที่ต้องการมีลูกหรือวิธีการรับมือกับความสับสนที่ยังอยากมีลูก เปปิโน เองก็มีช่วงเวลาที่เสียใจหลังตัดสินใจไม่มีลูกและอธิบายถึงความว่างเปล่าของการอยู่ตัวคนเดียวและเธอนึกถึงรูปแบบครอบครัวของเธอที่ควรจะเป็นหรือเวลาที่เธอลูบท้อนเพื่อที่กำลังท้อง ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ทำให้คุณรู้ปัญหาที่แท้จริงของปัญหาภาวะโลกร้อน
ส่วนเมสัส คัมมิมส์ (Mason Cummimgs) โปรดิวเซอร์ขององค์กรปกป้องพื้นที่ป่าหรือพื้นที่รกร้างที่ชื่อ Wilderness Society ในเมืองดูรังโก (Durango) เม็กซิโก อายุ 34 ปี เล่าว่า เขาเสียใจมาก เมื่อเขานึกถึงหลานสาวอายุ 3-6 ปี และเขาทำหมันตั้งแต่ปี 2016 เพราะไม่อยากให้เด็กต้องมาเผชิญกับโลกที่ไม่ปลอดภัย
ขณะที่แอนนา เจน จอยเนอร์ (Anna Jane Joyner) ที่ปรึกษาและนักเขียน วัย 35 ปี เล่าว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอย้ายกลับมาที่บ้านใน Perdido Beach เพราะเธอกังวลว่าบ้านเก่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงจากภัยพิบัติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และช่วงเวลาเดียวกันที่เธอเลือกที่จะไม่มีลูก อย่างน้อยเธอก็คิดว่าการย้ายพื้นที่อาจจะดูเห็นแก่ตัว แต่เพราะความเป็นห่วงว่าลูกเธอจะไม่ปลอดภัย และเธอยังคาดหวังว่าเธอจะเป็นแม่เสมอ ทำให้เธอโกรธและโมโห เพราะต้องตัดสินใจหาทางด้วยความรู้สึกที่ไม่สามารถที่จะวางแผนหรือมีลูกได้
ในบรรดาเรื่องที่เล่ามา ส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจ เพราะรายงานสภาพอากาศของสหประชาชาติ ที่เปิดเผยข้อมูลในปี 2018 เล่าถึงจุดเสี่ยงสำคัญของวิกฤตของสภาพอากาศ เจสสิก้า โจแฮนเนสสัน (Jessica Johannesson) นักเขียนและนักขายหนังสือในเมืองบาธ ประเทศอังกฤษ วัย 35 ปี จำได้ว่าขณะที่เธอเลื่อนโทรศัพท์บนเตียงเช้าวันอาทิตย์แล้วเจอพาดหัวข่าว ทำให้เธอฉุกคิดว่า ใครที่เกิดมาจะตกอยู่ในอันตราย ไม่กี่เดือนต่อมาเธอก็ลงนามในประกาศของ Birthstrike
โจแฮนเนสสัน เข้าร่วมเพจ Birthstrike ในปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่ครอบครัวของเธอวางแผนที่จะมีลูก บางครั้งพวกเขาปรึกษากันเรื่องการดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนครอบครัวในอนาคต ซึ่งเธอคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและมีความสุข แม้จะใช้เวลานานก็ตาม
เเม้ภาวะโลกร้อนจะเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการตัดสินใจในการมีลูก เเต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การรักษาสิ่งเเวดล้อมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการปกป้องเด็กที่เกิดมาท่ามกลางความเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศเเละปัญหาสิ่งเเวดล้อมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี