- “Nature Deficit Disorder” หรือ “โรคขาดธรรมชาติ” เกิดจากการที่ปัจจุบันผู้ปกครองกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก การเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติที่จำกัด และการหลงติดอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
- การไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติทำให้เราไม่รู้จักตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ไม่ตอบสนอง ไม่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว รวมไปถึงเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่สนใจต่อการมีอยู่หรือหายไปของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และมีอาการที่อยากจะเป็นเพียงผู้รับแต่ไม่เป็นผู้ให้ จึงต้องหันมาใช้ “ธรรมชาติ” เพื่อป้องกันและแก้อาการเหล่านี้
โลกตะวันตกหันมาสนใจ “Nature Deficit Disorder” หรือ “โรคขาดธรรมชาติ” มากขึ้น เพราะริชาร์ด ลุฟว์ (Richard Louv) ผู้เขียนหนังสือ Last Child in the Woods: Saving Our Children from Nature-Deficit Disorder (2005) บอกว่า โรคนี้กำลังเกิดมากขึ้นกับเด็ก เขากล่าวว่า โรคนี้มีสาเหตุหลักมาจากการที่ปัจจุบันผู้ปกครองกลัวอันตรายที่จะเกิดเด็ก การเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติที่จำกัด และการหลงติดอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
อาการของโรคนี้ ไมคาห์ มอร์ตาลี (Micah Mortali) ผู้ก่อตั้ง The Kripalu School of Mindful Outdoor Leadership ที่สหรัฐอเมริกาได้อธิบายต่อไว้ว่า จะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าจากการสนใจจดจ่อในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนมีผลให้ความสามารถในการกำกับตัวเองลดลงและก้าวร้าว หงุดหงิดได้ง่ายขึ้น การไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติยังทำให้เราไม่รู้จักตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ไม่ตอบสนอง ไม่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว รวมไปถึงเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่สนใจต่อการมีอยู่หรือหายไปของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และมีอาการที่อยากจะเป็นเพียงผู้รับแต่ไม่เป็นผู้ให้ ดังนั้นที่โรงเรียนของเขาจึงหันมาใช้ “ธรรมชาติ” เพื่อป้องกันและแก้อาการเหล่านี้
ที่จริงแล้วการสร้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ร่มรื่น การออกไปเรียนรู้ธรรมชาติ การให้ธรรมชาติได้ขัดเกลาจิตใจ… แนวทางเหล่านี้เป็นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะกับ รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม ที่ได้นำมาใช้ที่โรงเรียนทางเลือกอย่างโรงเรียนรุ่งอรุณมากว่า 20 ปี เธอคือคนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่า การเรียนรู้กับธรรมชาติจะช่วยสร้างปัญญาและสันติสุขได้ รศ.ดร.ประภาภัทรได้อธิบายแนวคิดนี้ไว้ในปาฐกถานิตยา คชภักดี “Children & Nature-deficit Disorder เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2564 จัดโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
The Potential ขอนำปาฐกถานี้มาเล่าต่อ เพราะเมื่อได้ฟังแล้วมั่นใจว่าจะทำให้พ่อแม่รวมไปถึงครูเปิดประตูพาเด็กๆ ออกไปสู่ห้องเรียนธรรมชาติกันมากขึ้น และเพราะ “ธรรมชาติ” ไม่ใช่แค่แหล่งรักษาอาการของโรคขาดธรรมชาติโดยตรงแต่ยังช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดีด้วย
ธรรมชาติช่วยสร้างปัญญาและสันติสุข
รศ.ดร.ประภาภัทร กล่าวว่า ธรรมชาติที่สำคัญในตัวของมนุษย์คือธรรมชาติการเรียนรู้ และการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นไร้ขีดจำกัด นั่นคือ เราสามารถที่จะเรียนรู้อย่างลึกซึ้งไปจนถึงระดับปัญญาสูงสุดดังเช่นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ และแนวทางนี้คือสิ่งที่โรงเรียนรุ่งอรุณนำมาใช้เพื่อการจัดการการเรียนรู้
“การที่เราเข้าไปรับสัมผัสที่เรียกว่า กายภาวนา ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ที่จะสร้างให้เกิดฉันทะในด้านการเรียนรู้ขึ้นมา และเป็นการเรียนรู้ที่จะไปสู่ระดับปัญญาภาวนาได้”
และที่สำคัญคือ “การเรียนรู้ธรรมชาติภายในของมนุษย์ต้องอาศัยความสัมพันธ์กับธรรมชาติภายนอก” รศ.ดร.ประภาภัทรได้อธิบายต่อว่า ธรรมชาติภายนอกที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งการเรียนรู้มีสองระบบ ระบบแรกคือ “ระบบปิด” เป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น ตัวอย่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในระบบนี้ เช่น การสอนในห้องเรียน การสอบ หรือการสอนทางเดียว (One-way Teaching) ในระบบนี้จะมีสรรพวิชาความรู้ ผู้คน การสื่อสาร กติกาทางสังคม สภาพแวดล้อมทางสังคม บ้านเมือง การเรียนรู้จึงถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ส่วนระบบที่สองคือ “ระบบเปิด” เป็นโลกธรรมชาติ สรรพสิ่งทั้งปวงที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต เป็นระบบนิเวศ ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน ไม่ได้อยู่โดดๆ เป็นระบบนิเวศที่กว้างใหญ่ เปี่ยมไปด้วยพลัง ทั้งนี้ ทั้ง “ระบบปิด” และ “ระบบเปิด” ล้วนจำเป็นต่อการเรียนรู้
“แต่ที่สุดแล้วในระบบเปิดต่างหากที่จะทำให้การเรียนรู้เข้าไปรู้จักตัวเองได้ดีกว่าทำในระบบปิด”
รศ.ดร.ประภาภัทร มองว่า ระบบความสัมพันธ์แบบเปิดท่ามกลางธรรมชาติมี “พลัง” ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาปัญญา เป็นสิ่งที่เด็กสามารถเข้าใจได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะขยายการเรียนรู้ของเด็กให้ไปถึงระดับปัญญาจำเป็นต้องอาศัยระบบเปิด
“ถ้าหากเขาได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางโลกธรรมชาติเหล่านี้ ก็จะเห็นเรื่องความหลากหลาย เห็นเรื่องความแตกต่าง แต่ก็เห็นว่า ทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้ มีความกลมกลืน แล้วก็เอื้อให้กับการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม แม้มันจะมีการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน แต่ว่ามันมีระบบของความสมดุลอยู่ อันนี้ก็เป็นจุดที่พอเข้าไปอยู่กับธรรมชาติ เด็กก็จะได้เห็น ได้ประจักษ์สิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง”
การเรียนรู้ในธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ ครู และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องทำความเข้าใจ เพราะในการเรียนรู้รูปแบบนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย
“ธรรมชาติจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจ เกิดโจทย์ใหม่ๆ ขึ้น เกิดการท้าทายว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นที่มาของการค้นพบสรรพศาสตร์ คือความรู้ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการรู้จักตัวเอง อันนี้สำคัญที่สุด ซึ่งในระบบปิดอาจจะทำหน้าที่อย่างนี้ไม่ได้ แต่ว่าในธรรมชาติเด็กจะมีโอกาสที่จะเข้าไปรู้จักตัวเอง พาตัวเองเข้าไปสัมพันธ์ เขาต้องกลับมาที่ตัวเองด้วย”
โลกธรรมชาติเป็นโลกที่มีอิสระ ไม่มีกติกาตายตัว ซึ่งจุดนี้เองจะช่วยทำให้เด็กได้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น ไม่อยู่ในระบบปิดที่คล้อยตามไปอยู่ตลอดเวลา เมื่อให้โอกาสเด็กๆ ไปสังเกต ไปมองเห็น ไปรับรู้โลก รับรู้ชีวิต ตามที่เป็นและอย่างกว้างขวางจะมีผลต่อจิตใจเด็กที่จะเปิดเผย เป็นอิสระ แต่ละเอียดอ่อนตามไปด้วย และนั่นเท่ากับว่า ได้ทำให้เด็กได้รู้จักกับ “การเป็นอยู่ที่สันติสุข” แล้ว
ให้โรงเรียนอยู่กลางธรรมชาติ และให้ธรรมชาติเป็น “ห้องเรียน”
“โลกธรรมชาติเป็นห้องเรียนที่เด็กรัก เป็นห้องเรียนอมตะ และเป็นตำราที่ไม่มีที่สิ้นสุด”
รศ.ดร.ประภาภัทรเอ่ยจากประสบการณ์ที่ได้เห็นนักเรียนในโรงเรียนแสดงออกมาเสมอ
โรงเรียนรุ่งอรุณสร้างโรงเรียนอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า สิ่งแวดล้อมต้องเป็นรมณีย์ ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้สัมผัสกับสิ่งเอื้อต่อการเรียนรู้ และการเรียนรู้นี้ยังหมายรวมไปถึงการเรียนรู้ด้านในด้วย
เพราะความเชื่อว่า ธรรมชาติที่ร่มรื่น เขียว ปลอดโปร่ง แจ่มใส สดชื่น จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้สงบ ละเอียดอ่อน ลึกซึ้งได้ โรงเรียนรุ่งอรุณจึงรายล้อมไปด้วยธรรมชาติ นอกจากการสร้างสิ่งแวดล้อมแล้ว โรงเรียนยังมีบทเรียนที่เรียกว่า “หน่วยการเรียนบูรณาการ” ที่ให้เด็กๆ ได้ออกไปสัมผัสกับธรรมชาติในที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา แหล่งน้ำ ป่าไม้ คล้ายๆ กับกิจกรรมทัศนศึกษา แต่ให้เด็กได้ไปเรียนรู้ชุมชม สัมผัสแหล่งธรรมชาติ พร้อมเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงอย่างลึกซึ้ง โดย รศ.ดร.ประภาภัทร เล่าว่า กิจกรรมการออกนอกโรงเรียนเช่นนี้มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กมากและครอบคลุมไปถึงความรู้สึกของเด็กด้วย
“ครูไม่ต้องไปบอกสอน แต่เข้าไปแล้วจิตเขาจะเปิด เขาก็จะค่อยๆ หันกลับมาดูตัวเอง พอออกไปอย่างนี้ บางคนสะท้อนได้ดีมากเลย สะท้อนถึงว่าเขารู้สึกกตัญญูรู้คุณกับธรรมชาติ อันนี้ถ้าเป็นการสอน ไปสอนเรื่องความกตัญญู สอนเป็นตัวหนังสือยากมาก แต่ว่าวิธีการพาเขาออกไป เขาจะรู้สึกว่าตัวเขาเล็กมากแล้วต้องอิงอาศัยธรรมชาติในการที่เขาจะดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นมันจะเกิดความรู้สึกกตัญญูรู้คุณขึ้นมา”
เติม “ธรรมชาติ” ให้กับเด็กทุกช่วงวัย
ในเด็กแรกเกิดไปจนถึงเด็กปฐมวัยจะเป็นช่วงที่สมองที่การพัฒนาสูงสุด สำหรับเด็กแรกเกิดการแสดงออกของพ่อแม่ต่อเด็กวัยนี้แม้ว่าจะเป็นอวัจนภาษาอย่างสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง รวมไปถึงความรู้สึกล้วนสำคัญต่อเด็ก ในเรื่องนี้ รศ.ดร.ประภาภัทรอธิบายว่า ความเป็นธรรมชาติของพ่อแม่ก็คือโลกทางธรรมชาติของลูกที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ทางจิตใจและปัญญาโดยตรงและส่งผลต่อพื้นฐานจิตใจของลูกมากที่สุด ดังนั้นหากธรรมชาติในจิตใจและการกระทำของพ่อแม่เป็นไปด้วยความรักอันบริสุทธิ์ พื้นฐานจิตใจของลูกก็จะบริสุทธิ์แจ่มใสไปด้วย
ส่วนวัยเตาะแตะจะเป็นวัยที่เด็กเริ่มสำรวจโลกด้วยตัวเอง เริ่มเรียนรู้ความหมายของสรรพสิ่งรอบตัว หลังจากนั้นเมื่อเด็กไปโรงเรียนจะเรียนรู้ผ่านบทเรียนแล้วก็การลงมือทำผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาสุขภาพกาย ทักษะการทำงาน ทักษะการทางสังคม
หากเป็นเด็กประถมฯ การเรียนรู้จะเกิดขึ้นกว้างไกลกว่าเด็กอนุบาลออกไปอีก การออกแบบการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ตัวอย่างที่โรงเรียนรุ่งอรุณทำก็คือ ให้เด็กอนุบาลได้รู้จักเจริญสติท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สัปปายะ ร่มรื่น ให้เด็กประถมฯ ได้ไปเห็นธรรมชาติภายนอก และได้เป็นอาสาสมัครช่วยชุมชน เช่น สร้างฝายชะลอน้ำ สร้างแนวกันไฟ ให้เด็กมัธยมปลายไปร่วมขบวนธรรมยาตราที่เลาะเลียบไปตามแหล่งน้ำและป่าไม้ หรือให้มีโอกาสไปอยู่กับชุมชนตามภูมิภาคต่างๆ
“ถ้าโรงเรียนอนุบาลต่างๆ มีแต่ห้องเรียนที่เป็นห้องปิดแล้วก็ให้เด็กอยู่ในนั้นทั้งวันเลยนะ ดิฉันว่าก็มีผลต่อจิตใจแน่นอนถ้าเขาไม่ได้ออกไปเล่นข้างนอกเลย พออกไปก็ไปเจอสนาม ร้อน ไม่มีต้นไม้เลย มีแต่ปูน แล้วก็มีเครื่องเล่นสีฉูดฉาด ตากแดดอยู่นานแล้วก็ร้อนอีก คือเด็กจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับสิ่งที่มีผลในทางบวกกับจิตใจ เพราะฉะนั้นโรงเรียนอนุบาลต้องคำนึงถึงบรรยากาศเหล่านี้ให้มากว่าเรากำลังเล่นอยู่กับพื้นฐานจิตใจของมนุษย์”
การได้ออกไปสัมผัสกับโลกธรรมชาติที่เปิดกว้าง ด้านหนึ่งคือการไปรับพลังจากธรรมชาติที่มีผลต่อจิตใจ และต่อความรู้สึกที่เด็กสามารถรับเข้าไว้ด้านใน อีกด้านหนึ่งยังช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย เช่น การทำงานเป็นทีม การตัดสินใจ ซึ่งสำคัญไม่แพ้การเรียนในห้องเลย
“นักเรียนมัธยมฯ ปลายมีโจทย์น่าสนใจมากก็คือ ไปร่วมขบวนธรรมยาตราทุกปีกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านจัดเดินไปดูแลลำน้ำปะทาว นักเรียนเราก็ไปร่วมเดินด้วย เขาต้องแบกของไปเอง อาหารก็ไม่มีนะ อาศัยที่พระท่านบิณฑบาตจากชาวบ้าน แล้วก็ไปช่วยตรวจน้ำตามจุดต่างๆ ที่พระอาจารย์ท่านแวะ เอาความรู้ที่ได้จากการตรวจน้ำกลับคืนให้ชาวบ้านเพื่อที่จะได้บอก อธิบายได้ว่า จะต้องรักษาอย่างไร อันนี้เป็นอะไรที่มีพลังมากๆ ทั้งพลังชุมชนด้วย ทั้งการที่ได้เข้าไปอยู่กับธรรมชาติก็มีผลมากๆ เลย เด็กกลับมาแล้วมีความเข้มแข็ง มีพื้นฐานจิตใจที่เข้มแข็ง แล้วก็เห็นมุมมองมิติต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกัน”
จากประสบการณ์ของโรงเรียนรุ่งอรุณที่จัดการเรียนรู้ท่ามกลางห้องเรียน “ธรรมชาติ” มานับไม่ถ้วน มีเด็กเติบโตขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า “ธรรมชาติ” สามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้หลากหลายด้านโดยเฉพาะการเรียนรู้ด้านในที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีจิตใจที่พร้อมเสมอสำหรับการเรียนรู้อีกหลายๆ บทเรียนที่รออยู่ในวันข้างหน้า
อ้างอิง
https://kripalu.org/resources/five-symptoms-nature-deficit-disorder-and-how-mindfulness-can-help