- คาร์ล ยุง (Carl Jung) จิตแพทย์และนักจิตบำบัดชาวสวิส นำเสนอทฤษฎีการแบ่งประเภทของปัจเจกบุคคลตามทัศนคติออกเป็น 2 ประเภท คือ อินโทรเวิร์ต และ เอ็กซ์ตราเวิร์ต
- ตามนิยามของยุง เขาแบ่งโดยดูจากวิธีที่บุคคลนั้นเติมพลังชีวิตให้กับตัวเอง หากเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ต จะเติมพลังให้กับตัวเองด้วยการอยู่กับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนั่งเฉยๆ ขณะที่มนุษย์เอ็กซ์โทรเวิร์ต จะเติมพลังให้กับตัวเองด้วยการพบปะสังสรรค์กับผู้คน เช่น การออกไปพบเพื่อนฝูง
- ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกแปะฉลากว่า เป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ต แถมยังเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตระดับศาสดาหรือไอดอลด้วย
บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ
ในโลกวรรณกรรม ชื่อของฮารุกิ มูราคามิ เป็นชื่อที่โด่งดังในระดับสากล ขณะที่ในบ้านเราเอง สาวกของมูราคามิมีจำนวนไม่น้อย หลายคนเป็นสาวกระดับแฟนพันธุ์แท้ที่ยกย่องนักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้นี้ ด้วยสมญานามว่า ‘ศาสดามูราคามิ’
แม้ว่างานเขียนของมูราคามิ จะมีลักษณะเหมือนงานศิลปะแบบป๊อป – อาร์ต (Pop Art ศิลปะประชานิยม) แต่หากมองกันลึกๆ แล้ว ผลงานของมูราคามิค่อนข้างมีความเฉพาะกลุ่มสูง ซึ่งในทางธุรกิจอาจเรียกว่า ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) และกลุ่มที่ดูเหมือนเป็นเป้าหมายของมูราคามิ ก็คือ กลุ่มคนที่เรียกกันว่า มนุษย์อินโทรเวิร์ต (Introvert Personality)
ไม่มีใครบอกได้ (นอกจากตัวมูราคามิเอง) ว่า เขาต้องการเขียนหนังสือ เพื่อสื่อสารกับกลุ่มมนุษย์อินโทรเวิร์ตโดยตรงหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ว่า ประเด็นความเกี่ยวข้องระหว่างมูราคามิกับกลุ่มมนุษย์ผู้รักความเป็นสันโดษ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อคำถามในโลกอินเทอร์เนทหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในหัวข้อ ‘หนังสือเล่มไหน เหมาะกับมนุษย์อินโทรเวิร์ต’
ศาสดาของมนุษย์อินโทรเวิร์ต
หากคุณไม่เคยได้ยินคำว่า อินโทรเวิร์ตมาก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ เพราะว่ากันจริงๆ แล้ว ศัพท์คำนี้เริ่มถูกนำมาใช้แพร่หลายในวงกว้าง เมื่อสัก 10 ปีมาแล้วนี่เอง พร้อมกับการก่อกำเนิดของโลกโซเชียลมีเดีย
ใช่ว่าก่อนหน้านี้ โลกใบนี้จะไม่เคยมีมนุษย์อินโทรเวิร์ตมาก่อน พวกเขามีตัวตนอยู่ในโลกนี้ (อาจจะมีมาพร้อมกับการก่อกำเนิดของสังคมเมืองด้วยซ้ำ) เพียงแต่อาจถูกเรียกขานในชื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น คนรักสันโดษ คนขี้อาย มนุษย์ผู้ต่อต้านสังคม พวกชอบปลีกวิเวก
คาร์ล ยุง (Carl Jung) จิตแพทย์และนักจิตบำบัดชาวสวิส เป็นคนแรกที่นำศัพท์คำว่าอินโทรเวิร์ตมาใช้ในปี 1921 (อ่านต่อในล้อมกรอบ) หลังจากนั้น ศัพท์คำว่า อินโทรเวิร์ตและเอ็กซ์โทรเวิร์ต (หรือเอ็กซ์ตราเวิร์ต) จึงกลายเป็นศัพท์ทางวิชาการที่ใช้กันในแวดวงจิตวิทยาเป็นหลัก
ในช่วงแรก คำว่าอินโทรเวิร์ต ค่อนข้างถูกมองว่า มีความหมายในทางลบ เมื่อเทียบกับคำว่า เอ็กซ์โทรเวิร์ต หลังจากที่แวดวงจิตวิทยาได้มีการกล่าวถึง ลักษณะบุคลิก 5 ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ความสนใจต่อสิ่งภายนอก หรือเอ็กซ์ตราเวิร์ต หรือเอ็กซ์โทรเวิร์ต โดยกล่าวว่า ความสนใจต่อสิ่งภายนอก อันหมายรวมถึงการเข้าสังคม เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิต
อย่างไรก็ดี อินโทรเวิร์ตเริ่มถูกมองในแง่บวก จนกระทั่งกลายเป็นเทรนด์ หรือกระแสที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง เมื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน ประกาศตัว (ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม) ว่า เขาหรือเธอเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ต อาทิ เซอร์ไอแซค นิวตัน, ชาร์ลส ดาร์วิน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, สตีเวน สปิลเบิร์ก, เมอรีล สตีพ หรือแม้กระทั่งผู้ให้กำเนิดแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ อย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็เป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตเช่นกัน
ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกแปะฉลากว่า เป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ต แถมยังเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตระดับศาสดาหรือไอดอลด้วย
มูราคามิ อาจจะไม่เคยประกาศว่า ตัวเองเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ต แต่เขาเขียนไว้ในหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติ หรือบทรำพึงรำพันถึงบางห้วงแห่งชีวิตว่า..
“ผมเป็นมนุษย์ประเภทที่ชอบอยู่กับตัวเอง กล่าวให้ชัดในรายละเอียด ผมเป็นมนุษย์ประเภทที่ไม่เจ็บปวดถ้าจะอยู่ตามลำพัง ผมใช้เวลาชั่วโมงหรือสองชั่วโมงวิ่งคนเดียว ไม่พูดคุยกับใคร ดังเช่นที่ใช้เวลาสี่หรือห้าชั่วโมงที่โต๊ะเขียนหนังสือ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่น่าเบื่อ สำหรับผมมีแนวโน้มนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเด็ก หากเลือกได้ ผมอยากนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ คนเดียว หรือไม่ก็ทุ่มสมาธิเต็มที่ให้กับเพลงที่ฟัง แทนการใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น ผมอยู่ตามลำพัง ผมคิดหาเรื่องทำคนเดียวได้ไม่ยาก” (จากหนังสือ เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง – What I Talk About When I Talk About Running สำนวนแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์)
ความเป็นมนุษย์ผู้รักความเปลี่ยวเหงาของมูราคามิ เผยให้เห็นตั้งแต่ในผลงานเล่มแรกของเขาเรื่อง สดับลมขับขาน – Hear The Wind Sing ซึ่งแม้ว่าเรื่องราวที่ดำเนินไปในช่วงเวลา 18 วัน จะเป็นแค่การย้อนความทรงจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้คนกับตัวเอกของเรื่อง ที่มีเสียงดนตรีตะวันตกและการประท้วงของนักศึกษาเป็นฉากหลัง แต่ดูเหมือนนักอ่าน โดยเฉพาะมนุษย์อินโทรเวิร์ต จะสัมผัสได้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่บ่งชี้ว่า นี่คือ ‘วรรณกรรมคนเหงา’ ที่เขียนโดยนักเขียนคนเหงา เพื่อนักอ่านที่เป็นคนเหงา
มูราคามิ กลายเป็นนักเขียนโด่งดังในระดับประเทศและระดับสากล หลังจากตีพิมพ์ผลงานเรื่อง Norwegian Wood หรือชื่อภาษาไทยว่า “ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย” ซึ่งว่ากันว่า นี่คือหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติของมูราคามิ และเป็นหนึ่งในนิยายที่สะท้อนความเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตอย่างสูง
อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้มนุษย์ผู้รักความสันโดษอย่างมูราคามิ ตั้งรับไม่ทัน และตัดสินใจย้ายออกจากประเทศบ้านเกิด เพื่อหลบเร้นการต้องเผชิญหน้ากับผู้คนและสปอตไลท์ที่สาดส่องเข้ามาหา
โทรุ วาตานาเบะ มนุษย์ผู้เปลี่ยวเหงาและร้าวราน
Norwegian Wood เป็นหนึ่งในนิยายที่โด่งดังที่สุดของมูราคามิ คือ เรื่องราวการย้อนความทรงจำช่วงชีวิตวัยหนุ่มของโทรุ วาตานาเบะ ที่ว่ากันว่า เป็นตัวละครที่มาจากชีวิตจริงของมูราคามิ ไม่ว่าจะการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโตเกียว รสนิยมชมชอบการอ่านหนังสือ ดื่มด่ำกับบทเพลงตะวันตก และที่สำคัญบุคลิกที่แปลกแยก เปลี่ยวเหงา และร้าวรานเพราะความรัก
แก่นหลักของหนังสือเล่มนี้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างวาตานาเบะกับนาโอโกะ หญิงสาวผู้เป็นรักแรกที่รวดร้าวของเขา โดยความสัมพันธ์ของทั้งคู่ เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อน ก่อนที่การฆ่าตัวตายของคิซึกิ เพื่อนรักของวาตานาเบะ และคนรักของนาโอโกะ จะทำให้มนุษย์ผู้เปลี่ยวเหงา 2 คน ถูกดึงดูดเข้าหากัน จนกลายเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ซับซ้อน ก่อนจะปิดฉากลงด้วยความสูญเสีย และโศกเศร้า
เรื่องราวความรักความทรงจำวัยหนุ่มสาว บนฉากหลังที่เปี่ยมด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมตะวันตกยุค 60 และบุคลิกของตัวละคร ที่อบอวลไปด้วยความเปลี่ยวเหงา ทำให้หนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1987 กลายเป็นนิยายขายดีระดับปรากฎการณ์ทั่วประเทศ และส่งให้ชื่อของมูราคามิ กลายเป็นที่รู้จักในระดับสากล จากการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ
เมื่อความเปลี่ยวเหงา กลายเป็นเรื่องเท่
หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า อะไรทำให้บุคลิกแบบวาตานาเบะ หรือบุคลิกแบบมนุษย์อินโทรเวิร์ต กลายเป็นเสน่ห์ที่น่าดึงดูด
ก่อนหน้านี้ ในโลกหนังสือหรือโลกภาพยนตร์ มนุษย์อินโทรเวิร์ตแบบวาตานาเบะ มีบทบาทเป็นแค่พระรอง เพื่อนพระเอก หนุ่มขี้อาย หรือร้ายสุด เป็นได้แค่ตัวประกอบที่ไม่มีความสลักสำคัญ
จนกระทั่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นิยามอินโทรเวิร์ต เริ่มถูกมองในแง่บวกมากขึ้น วาตานาเบะ ที่เคยเป็นตัวละครเชยๆ ในยุคก่อน กลับกลายเป็นตัวเอกที่มีเสน่ห์ น่าค้นหา จากความเป็นนักคิด รับฟังผู้อื่น คอยดูแลใส่ใจ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง และเป็นคนที่ใครๆ ก็อยู่ด้วยได้อย่างสบายใจ
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง บริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ความเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ต ถูกมองด้วยสายตาที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
เมื่อมนุษย์อินโทรเวิร์ต พูดถึงมูราคามิ
เด็กหนุ่ม บุคลิกเงียบขรึม รักการอ่านหนังสือ พอใจในโลกส่วนตัวอันสันโดษ แม้ว่าเขาจะเป็นที่รักของเพื่อนๆ แต่เขาชอบอยู่คนเดียวมากกว่า อยู่กับหนังสือและเสียงเพลง
เด็กหนุ่มชื่อ ‘เซน’ เป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ต และเป็นลูกชายของผมครับ
เซน หยิบหนังสือเรื่อง สดับลมขับขาน มาอ่านเป็นครั้งแรก ตอนอายุ 15 ปี เขาไม่เคยรู้จัก ฮารูกิ มูราคามิ มาก่อน แต่พออ่านหนังสือเล่มนั้นจบ เซน กลายเป็นสาวกของศาสดามูราคามิไปแล้ว
“ทำไมหนังสือของมูราคามิ กลายเป็นหนังสือเล่มโปรดของอินโทรเวิร์ต ทั้งที่หลายๆ เรื่องของเขา ตัวเอกก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นอินโทรเวิร์ตชัดเจนเลย” ผมเอ่ยปากถามลูกชาย
“บางที ความเป็นอินโทรเวิร์ตของเขา ก็อยู่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ” เซน ตอบหลังจากครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง “อย่างเช่น มูราคามิ รักความเป็นศิลปะ ชื่นชอบดนตรี รักการอ่านหนังสือ ซึ่งเซนคิดว่า เรื่องพวกนี้เป็นอะไรที่อยู่ในความสนใจของอินโทรเวิร์ตอยู่แล้วก็เลยต่อกันติดได้ง่าย”
“แล้วสำหรับเซน ชอบอะไรมากที่สุดในงานของมูราคามิ” ผมยิงคำถามต่อ
เด็กหนุ่มที่เป็นสาวกมูราคามิ ตอบทันทีว่า “ที่เซนชอบที่สุด ก็คือ มูราคามิ ปฏิบัติต่อนักอ่านแบบปัญญาชน”
ว้าว! ผมอุทานในใจ ก่อนจะขอให้ลูกชายขยายความต่อ
“บางทีก็อธิบายยาก แต่เท่าที่พอจะเรียบเรียงเป็นคำพูดได้ มูราคามิ ไม่เขียนอะไรที่ดูโง่ๆ เหมือนเขาจะถือว่า คนอ่านทุกคนเป็นปัญญาชนที่รู้จักคิด มีความฉลาด เพราะงั้นจะไม่เขียนอะไรที่เหมือนเขียนให้เด็กๆ อ่านแบบเข้าใจง่ายๆ” เซน พยายามอธิบาย
“อีกจุดนึงที่เซนชอบ มูราคามิ มักจะเขียนถึงเรื่องยากๆ อย่างเช่น พวกอภิปรัชญา แทรกไปในบทสนทนาของตัวละคร เหมือนกับว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน เหมือนเราพูดถึงเรื่องการไปกินข้าว ไปดูหนัง เป็นอะไรที่ธรรมดามาก”
อินโทรเวิร์ต คือ คนขี้อาย ใช่จริงหรือ เวลาพูดถึงมนุษย์อินโทรเวิร์ต (Introvert Person) เรามักนึกถึงภาพของคนขี้อาย ไม่ค่อยพูดค่อยจา ชอบเก็บเนื้อเก็บตัว เป็นคนช่างคิด และไม่ชอบทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคม หรือคนหมู่มาก จริงๆ แล้ว นั่นคือนิยามของมนุษย์อินโทรเวิร์ตจริงหรือ คาร์ล ยุง (Carl Jung) จิตแพทย์และนักจิตบำบัดชาวสวิส ผู้ก่อตั้งสำนักจิตวิทยาวิเคราะห์ เป็นคนแรกที่นำเอาคำว่า อินโทรเวิร์ตมาใช้ โดยยุงได้นำเสนอทฤษฎีการแบ่งประเภทของปัจเจกบุคคลตามทัศนคติออกเป็น 2 ประเภท คือ อินโทรเวิร์ต (Introvert ซึ่งแปลว่า การมองเข้าไปข้างใน) และ เอ็กซ์ตราเวิร์ต (Extravert ซึ่งแปลว่า การมองออกไปข้างนอก จนกระทั่งในปัจจุบัน นิยมใช้คำว่า Extrovert มากกว่า) ตามนิยามของยุง การแบ่งประเภทปัจเจกบุคคลว่า ใครเป็นอินโทรเวิร์ต หรือเอ็กซ์โทรเวิร์ต ดูจากวิธีที่บุคคลนั้นเติมพลังชีวิตให้กับตัวเอง มนุษย์อินโทรเวิร์ต จะเติมพลังให้กับตัวเองด้วยการอยู่กับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนั่งเฉยๆ มองท้องฟ้า ขณะที่มนุษย์เอ็กซ์โทรเวิร์ต จะเติมพลังให้กับตัวเองด้วยการพบปะสังสรรค์กับผู้คน เช่น การออกไปพบเพื่อนฝูง ทำงานที่ต้องพบเจอผู้คนมากมาย หรือไปงานเลี้ยงสังสรรค์ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องย้ำและขีดเส้นใต้เอาไว้ตัวหนาๆ ก็คือ ในโลกนี้ ไม่มีใครเป็นอินโทรเวิร์ต หรือ เอ็กซ์โทรเวิร์ต 100% ทุกคนล้วนมีส่วนผสมของความเป็นอินโทรเวิร์ตและเอ็กซ์โทรเวิร์ตอยู่ในตัว |
โซเชียลมีเดีย – โลกที่ทำให้อินโทรเวิร์ตกลายเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ต มนุษย์อินโทรเวิร์ต เป็นคนชอบครุ่นคิด ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบคุยกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆที่รู้สึกคุ้นเคย มากกว่าจะพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือพูดในที่สาธารณะ และนั่นทำใหคำว่า อินโทรเวิร์ต กับคำว่า โซเชียล (Social ที่แปลว่า สังคม) ดูไม่น่าจะเข้ากันได้เลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์อินโทรเวิร์ต กับโซเชียลมีเดีย กลับเข้ากันได้ดีอย่างยิ่ง ราวกับเป็นสิ่งที่เกิดมาเพื่อกันและกันก็ว่าได้ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย มนุษย์อินโทรเวิร์ต ซึ่งถนัดในเรื่องการเขียนอยู่แล้ว จึงมีความสุขกับการพูดคุยผ่านแพลตฟอร์มที่พวกเขาไม่ต้องพบเจอหน้าผู้คนจริงๆ อย่างเช่น Facebook หรือ Twitter โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพูดคุยในหัวข้อหรือประเด็นที่พวกเขามีความสนใจร่วมกัน ซึ่งทำให้มนุษย์อินโทรเวิร์ต รู้สึกเหมือนได้พูดคุยกับเพื่อนสนิทกลุ่มเล็กๆมนุษย์อินโทรเวิร์ตหลายคน ถึงกับกล่าวแนะนำตัวเองไว้ว่า “ฉันเป็นมนุษย์เอ็กซ์โทรเวิร์ตเวลาออนไลน์ แต่เป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตเวลาออฟไลน์” |