- การออกแบบห้องน้ำ All Gender ไม่ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่คำนึงถึงการใช้งานสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย LGBTQ+ ไม่มีอคติ ไม่จำกัดกรอบว่าเกย์ต้องชอบสีม่วง LGBTQ+ ต้องเป็นสีรุ้ง
- ความมุ่งหวังของการออกแบบห้องน้ำ All Gender คือชวนทุกคนเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกัน และนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น โดยมีปลายทางอยู่ที่ความเท่าเทียมกันในสังคม
ภาพ : ปริสุทธิ์
คนทั่วไปมักมองห้องน้ำเป็นที่ ‘ปลดทุกข์’ แต่ภายใต้บริบททางสังคมและการออกแบบห้องน้ำที่มีแค่ห้องน้ำชาย/หญิง ช่วงเวลาสั้นๆ ในพื้นที่เล็กๆ กลับสร้างความทุกข์ให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง
ไม่ว่าจะมาจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด หากเข้าห้องน้ำผู้หญิงก็อาจถูกมองด้วยสายตาไม่ไว้วางใจ ตรงกันข้ามถ้าเข้าห้องน้ำชายก็อาจถูกกลั่นแกล้งหรือล้อเลียน นอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองข้าม นั่นคือผู้ที่มีสภาพร่างกายแตกต่างซึ่งพวกเขาก็ต้องการทางเลือกในการใช้ห้องน้ำที่สะดวกและปลอดภัยเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาที่ทำให้ ‘เปเปอร์’ ศุทธา มั่นคง นักศึกษาปริญญาโทคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการบริหารจัดการออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เริ่มต้นผลงานวิจัยการออกแบบห้องน้ำ All Gender เพื่อเป็นพื้นที่ที่ไม่ซ้ำเติมความทุกข์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)
โดยความสนใจเรื่องความเท่าเทียมของคนในสังคมของเขา เริ่มต้นจากการที่คนใกล้ตัวคือน้องชายเป็นผู้พิการทางสายตาต้องประสบปัญหาในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการใช้พื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้ตอนที่ศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ เขามีโอกาสพบเห็นปัญหาความยากลำบากของชีวิตคนบนดอยคนชายขอบ จึงได้สะท้อนมุมมองเรื่องความไม่เท่าเทียมผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “คนใน-คนนอก”
เมื่อได้ศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงหยิบปัญหาความไม่เท่าเทียมมาเป็นแนวทางในการออกแบบห้องน้ำ All Gender เพื่อนำเสนอทางเลือกในการใช้ห้องน้ำบนพื้นฐานความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม ซึ่งปัจจุบันเขากำลังเตรียมตัวไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น และมีความคิดที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยการออกแบบห้องน้ำ All Gender ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ข้อจำกัดต่างๆ ที่ผลงานยังมีข้อบกพร่องอยู่ หรือการลดต้นทุนวัสดุเพื่อควบคุมงบประมาณการก่อสร้าง เพื่อตอบโจทย์ทั้งเรื่องความคุ้มค่า ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้ได้มากที่สุด
กว่าจะมาเป็นห้องน้ำ All Gender วางแนวทางการออกแบบอย่างไรบ้าง
ในการออกแบบห้องน้ำ All Gender จะมีการเก็บกลุ่มตัวอย่างโดยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมวางแปลนห้องน้ำในแบบที่ตัวเองต้องการ กลุ่มตัวอย่างจะมีทั้งชายหญิง LGBTQ+ มีทุกเพศไม่มีการอคติ (Bias) ว่าเป็น LGBTQ+ เท่านั้นที่จะเป็นคนวางแปลนห้องน้ำนี้ได้ เพราะห้องน้ำที่ดีควรจะใช้ได้กับทุกคน จึงได้แปลนห้องน้ำออกมา 3 ตัวอย่างตามลักษณะการใช้งาน
แปลน A กลุ่มตัวอย่างนี้มองในเรื่องฟังก์ชันเป็นหลัก โดยจะคำนึงถึงคนพิการและทุกคน จะมีการแบ่งเป็นโซน ไม่มีประตูทางเข้าออก ผู้เข้าใช้งานจะรู้สึกถึงความสบายใจ ถ้าหากเป็นการปิดประตูทางเข้าหมดเลย ผู้หญิงหรือคนอื่นๆ จะรู้สึกว่าเขากำลังถูกกดขี่ทางด้านเพศอยู่ มีอ่างล้างมืออยู่ตรงกลาง และมีกระจกใหญ่ด้านในสุดของห้องน้ำ เพื่อเห็นปฏิกิริยาตอบกลับของคนที่อยู่ภายใน การทำงานของกระจกจะคล้ายๆ กล้อง cctv การออกแบบจะให้ความรู้สึกเรียบง่าย มีความเป็นส่วนตัว ห้องโถปัสสาวะจะเป็นบานสวิงพับ เพื่อให้ผู้ชายหรือคนที่อยากจะใช้งานตรงนี้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จะมีอ่างล้างมือภายในห้องโถปัสสาวะ เมื่อทำธุระเสร็จก็สามารถที่จะล้างมือแล้วออกไปได้เลย
แปลน B กลุ่มตัวอย่างจะมองในเรื่องของความเป็นส่วนตัวในห้องน้ำ หากห้องน้ำนี้ไปตั้งที่ห้างสรรพสินค้าก็ต้องมีถุงช้อปปิ้ง ถุงเสื้อผ้าหรือเข็นรถลูกหลานเข้ามาในห้องน้ำ จึงต้องออกแบบให้มีห้องน้ำขนาดใหญ่ 2 ห้อง เพื่อรองรับกลุ่มคนประเภทนี้ จะได้ไม่ต้องทิ้งลูกหลานไว้ด้านนอกเมื่อคุณแม่ต้องการเข้าห้องน้ำ
ลักษณะเด่นของแปลนนี้ก็คือมีกระจกเพื่อส่องตัวเอง ในเมื่อเรารวมทุกเพศอยู่ในห้องน้ำนี้ จะให้ผู้หญิงมายืนเเคะฟันมันก็ไม่สมควร จึงมีการออกแบบบานกระจกให้เหมือนซองจอดรถที่สามารถเข้าไปส่องได้คนเดียว มีการแบ่งโซนห้องโถปัสสาวะเพราะกลุ่มตัวอย่างเพศชายมองว่า ผู้ชายไทยน่าจะไม่มีความเขินอายซึ่งกันและกัน จึงไม่ต้องมีบานสวิงพับกั้นไว้ ประตูของห้องโถปัสสาวะจะเป็นบานสไลด์เพราะข้างในไม่มีอ่างล้างมือ แต่จะมีอ่างล้างมือด้านหน้าประตู และแปลนนี้จะมีกระจกใหญ่ด้านในสุดของห้องน้ำที่มีคุณสมบัติเหมือนกันกับแปลน A
แปลน C กลุ่มตัวอย่างอยากสร้างพื้นที่ทางเดินให้ไม่มีความซับซ้อนมากเท่ากลุ่ม A คำนึงถึงการมีห้องน้ำขนาดใหญ่เหมือนกันแปลน B จะมองเรื่องความปลอดภัยที่แตกต่าง คือควรเอาโถปัสสาวะมาไว้ที่ห้องน้ำใหญ่ไปเลย บางคนที่เป็นผู้ชายข้ามเพศเขาอาจจะยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ แล้วเขาสะดวกใจที่จะยืนปัสสาวะ หรือไม่ก็อาจจะเป็นผู้หญิงที่มีลูกชายแล้วเข้ามาใช้ห้องน้ำหรือเป็นคุณตาก็สามารถที่จะใช้ได้
เรามองภาพรวมในการออกแบบหมดว่าใครเข้าใช้งานบ้าง ไม่ใช่แค่ว่าคำนึงถึง LGBTQ+ อย่างเดียว เรามองถึงทุกเพศที่เข้าใช้งานด้วยความสบายใจ สามารถตอบโจทย์กับทุกคน ในเมื่อไม่มีอ้างล้างมือข้างในห้องน้ำใหญ่ การออกแบบประตูจึงต้องเป็นประตูสไลด์ แปลนนี้จะมีกระจกใหญ่ด้านในสุดของห้องน้ำที่มีคุณสมบัติเหมือนกันกับแปลน A และ B เช่นกัน
ความท้าทายในการออกแบบห้องน้ำ All Gender คืออะไร
เสียงตอบรับการออกแบบห้องน้ำนี้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะกระแสจากข้างนอกที่ไม่ได้มาฟังเราอธิบายเขาจะรู้สึกปฏิเสธทันที สิ่งนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน มันเป็นไปไม่ได้ ขนาดมีห้องน้ำธรรมดาตอนนี้ยังเป็นถึงขนาดนี้ การมีห้องน้ำรวมมันยิ่งเปิดทางให้กับคนที่เขาไม่ดีเข้ามาหรือเปล่า จึงอยากจะเปิดมุมมองใหม่ให้สังคมอีกมุมว่า ห้องน้ำไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ปลอดภัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีห้องน้ำไหนในโลกที่จะปลอดภัยได้ถึงขนาดนั้น
เราเคยสงสัยไหมว่าการที่ประเทศไทยเรามีเสรีภาพ ที่จะสามารถแสดงออกทางเพศได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่มีการสร้างที่สาธารณะเพื่อรองรับพวกเขา ที่จริงแล้วมันควรจะมีบ้างหรือเปล่า? อันนี้คือคำถามที่ผมรู้สึกสงสัยและอยากจะถามกลับสังคมเหมือนกัน
เมื่อสร้างห้องน้ำ All Gender นี้มา เราก็ไม่ได้บอกว่าเราทำเพื่อให้ LGBTQ+ อย่างเดียว เราก็ต้องคำนึงถึงห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศที่สามารถใช้ได้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ เด็กเล็ก เด็กโต LGBTQ+ หากวกคำถามกลับมาว่ามันจะมีความปลอดภัยขนาดนั้นไหม คือความปลอดภัยที่บอกไปไม่มีที่ไหนปลอดภัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น ผมคิดว่าแล้วแต่สังคมไหนเขารับได้กันมากกว่า อย่างเช่นอเมริกาสามารถออกแบบห้องน้ำนี้ได้ รัฐบางรัฐก็ไม่สามารถออกแบบได้เช่นกัน เพราะว่าด้วยกฎหมายต่างๆ แต่ประเทศเรามันสามารถที่จะออกแบบได้ เพราะว่ากฎหมายควบคุมอาคารไม่ได้จำกัดไว้ว่าต้องเป็นห้องน้ำชายและหญิงเท่านั้น แต่บอกไว้แค่ว่าควรติดป้ายสัญลักษณ์ว่าพื้นที่นี้มันคือพื้นที่อะไรมากกว่า
การที่สังคมมองว่าห้องน้ำนี้ไม่ปลอดภัย และตั้งคำถามว่าจะป้องกันความปลอดภัยได้ยังไงเมื่อเข้าห้องน้ำ อยากจะยกตัวอย่างในเมืองที่เป็นพื้นที่เรียกว่าย่านเจริญแล้ว แต่ไม่มีความปลอดภัยเรื่องห้องน้ำ แสดงว่าประเทศไทยไม่มีที่ไหนปลอดภัยแล้วหรือเปล่า? ความปลอดภัยของห้องน้ำมันก็สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของสังคมด้วยเช่นกัน
แปลนห้องน้ำ All Gender ที่ออกแบบมานี้คิดว่าเหมาะกับบริบทของสังคมไทยแล้วหรือยัง
ห้องน้ำ All Gender เป็นไปได้ที่จะใช้ในสังคมไทย แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เข้ากับจุดประสงค์การใช้งานและสถานที่ เพราะ 3 แปลนที่ยกมาเป็นการเก็บตัวอย่างจากกลุ่มเป้าหมายหลักก็คือ ผู้ชายข้ามเพศ
กลุ่มคนเหล่านี้เขาเจออะไรที่หนักหนา อย่างเช่นยามลากออกจากห้องน้ำ ถูกผู้หญิงกีดกัน หรือถูกเด็กที่มากับแม่แล้วถามว่าพี่เขาเป็นเพศอะไร กลุ่มคนเหล่านี้เขารู้สึกว่าเขาไม่สบายใจในการเข้าห้องน้ำ เข้าห้องน้ำครั้งหนึ่งมันเป็นเหมือนตราบาปของเขาเลย
นี่จึงเป็นการออกแบบห้องน้ำคร่าวๆ ว่ามันควรจะเป็นแบบนี้ แต่หากจะไปออกแบบสถานที่อื่นเราก็จะมาดูที่หลักทฤษฎีของ Queer Universal Design ในการออกแบบอยู่แล้ว อย่างเช่นนักออกแบบต้องมีจิตใจที่ไม่ได้จำกัดกรอบแค่ว่าเกย์ต้องชอบสีม่วง LGBTQ+ ต้องเป็นสีรุ้ง เราต้องมองว่าสถานที่จะตั้งเป็นยังไง วัตถุประสงค์เพื่อขับถ่าย เราก็ต้องออกแบบห้องน้ำ All Gender เพื่อขับถ่าย งานของผมที่ออกแบบอาจจะไปใช่ที่สุด The best one นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นในการออกแบบ เพื่อเปลี่ยนแปลงความเท่าเทียมในสังคมให้มีมากขึ้น ถ้าหากมีใครที่สามารถต่อยอดและเห็นความผิดพลาดในงานของผม ผมก็ยินดีที่เขาทำและผมก็อยากจะร่วมงานกับเขาด้วย
ห้องน้ำ All Gender ควรเริ่มใช้ที่ไหนมากที่สุด ถึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมสังคมจนนำไปสู่ความเท่าเทียมได้
ตอนนี้อยากให้เริ่มที่สำนักงานก่อน เพราะสำนักงานเป็นองค์กรขนาดเล็ก ถ้าเราสามารถทำงานกับกลุ่มของพนักงานบริษัทได้ ผมก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี สมมติว่าภายในองค์กรมีพนักงานประมาณ 50 คน พอมีห้องน้ำรวมขึ้น บุคคล 1 ใน 50 คนที่ใช้งานห้องน้ำนี้ ก็จะคุ้นชินและเรียนรู้ หากบริษัทหนึ่งมีพนักงาน 20 หรือ 1,000 คน มันก็จะค่อยๆ ขยับสร้างความเข้าใจให้กับสังคม จนสามารถนำห้องน้ำนี้ไปตั้งที่ห้างหรือในที่สาธารณะได้
ในมุมมองของคุณ ห้องน้ำที่ดีควรเป็นแบบไหน
ง่ายๆ ก็คือความเท่าเทียมและความสบายใจต่อการใช้งาน ความสบายใจก็พูดถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย ถ้าเราสบายใจ แต่…เอ๊ะ เราปลอดภัยหรือเปล่า? แสดงว่าเรานั้นก็ไม่สบายใจละ จริงๆ แล้วห้องน้ำที่ดีตามหลักที่มันจะเป็นก็คือการเป็น Queer Universal Design สำหรับผมนะ เหมาะกับทุกคนที่เข้าใช้งาน ไม่เกี่ยงเพศ ชาติ ศาสนา สามารถเข้าได้ทุกที่ ทุกเพศ ทุกเวลา
ถ้าอย่างนั้นเราสร้างห้องน้ำ Unisex แยกจากห้องน้ำชายหญิงไม่ดีกว่าหรือ
หากเราไปสร้างห้องน้ำชายหญิง ห้องน้ำ Unisex ตรงกลาง ท้ายที่สุดคนก็ไม่เลือกใช้ห้องน้ำ Unisex ในทางพฤติกรรม ถึงแม้เราจะมีตัวเลือกให้คนเลือก คนก็ไม่กล้าเข้าเพราะผู้หญิงอาจมองว่าเขาไปเข้าห้องน้ำสำหรับผู้หญิงมันจะดีกว่าหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีตัวลือก หนึ่ง สอง สาม ไม่มีการทำให้เห็นความแตกต่าง (Discriminate) ขนาดนั้น สำหรับผมมองว่าการมีห้องน้ำ All Gender มันดีกว่า เพราะมันจะทำให้แต่ละคนในสังคมเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
คุณเชื่อจริงๆ หรือว่าถ้ามีห้องน้ำ All Gender ขึ้นมาใช้ทั่วประเทศ จะสร้างความเท่าเทียมขึ้นในสังคม?
หากมีห้องน้ำ All Gender มันจะเกิดความเท่าเทียมทางเพศในไทยมากขึ้น เราจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์คนนึงที่เขามีความลำบากในการใช้งานมากขึ้น หรือกระทั่งเราจะไม่รู้สึกว่ากลุ่มคนนี้เป็นคนประหลาด บางคนอาจเคยตั้งคำถามว่าเวลาผู้ชาย ผู้หญิง หรือ LGBTQ+ เขาเข้าห้องน้ำเขาทำอะไรกันบ้าง พอเกิดคำถามก็จะไปจินตนาการภาพลักษณ์กันเอาเอง สิ่งนี้มันยิ่งทำให้ไม่ได้เข้าใจกันจริงๆ ผมมองว่าการเข้าห้องน้ำด้วยกันไปเลย มันจะทำให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกัน จนเกิดความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นไปพร้อมกันๆ