- Stereotype การคิดแบบเหมารวมที่เชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่งจะมีลักษณะบางประการเป็นสิ่งที่ค่อนข้างถาวร จนการเป็นการตีกรอบพฤติกรรมบุคคลนั้นๆ โดยเฉพาะเรื่องเพศ เช่น ผู้หญิงต้องอ่อนโยน ผู้ชายห้ามร้องไห้ หรือสังคมที่มีแต่เพศชายและหญิง ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง
- สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเพศทางเลือก การค้นหาต้นเหตุของการเป็นเพศทางเลือกของเด็ก และการพยายามจะโทษตัวเองหรือใครๆ ที่ลูกเป็นเช่นนั้น ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะการที่ลูกเลือกที่จะเป็นอะไร ก็ไม่ต่างกับการที่เขาจะเลือกชอบสีอะไร เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับตัวตนของเขา
- ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเด็กจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เด็กทุกคนล้วนเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง พวกเขาต้องการบ้านที่อบอุ่น การสอนสั่ง และโอกาสที่จะได้เติบโตเป็นตัวเองอย่างมีความสุข เด็กทุกคนมีคุณค่า และผู้ใหญ่ทุกคนควรปลูกฝังคุณค่าให้กับเขาตั้งแต่เยาว์วัย
“เจ้าหญิงถูกจับอยู่บนหอคอย ต้องรอคอยเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว”
“เจ้าหญิงอบขนม ปัดกวาดเช็ดถู เจ้าชายออกไปสู้รบ ปราบมังกร”
Stereotype หรือ ภาพในความคิด คือ ความเชื่อที่บุคคลมีต่อคนกลุ่มหนึ่งว่า คนกลุ่มนั้นมีลักษณะบางประการเป็นสิ่งที่ค่อนข้างถาวร โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีในคนกลุ่มนั้น หากอธิบายสั้นๆ Stereotype คือ การคิดแบบเหมารวม ซึ่งในทางประสาทวิทยาเชื่อว่า การคิดแบบนี้ช่วยเอื้อให้มนุษย์ประหยัดเวลาในการจัดเก็บข้อมูลในสมอง อย่างไรก็ตามการคิดแบบนี้ส่งผลทางลบต่อบางกลุ่มคนได้เช่นกัน
ในอดีตสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน หนังสือนิยาย การ์ตูน ละคร และภาพยนตร์ มักจะหยิบยกเอาตัวละครเพศชายและเพศหญิงให้เป็นตัวเอกอย่างชัดเจน โดยลักษณะของพระเอกจะต้องมีความแข็งแรง กล้าหาญ และมีความเป็นผู้นำสูง ในขณะที่นางเอกจะมีความอ่อนแอ เรียบร้อย และมีรูปร่างหน้าตาที่สละสลวย ที่สำคัญในตอนจบของเรื่อง มักจะจบลงด้วยการที่พระเอกนางเอกรักกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป หรือที่เราจะคุ้นเคยกันดีกับประโยคในอุดมคติ ‘มีความสุขชั่วนิจนิรันดร์ (Happily Ever After)’
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาพในความคิดแบบเหมารวมของสังคมที่มีต่อผู้หญิงและผู้ชายในเวลานั้นว่า…
“ผู้ชายต้องแข็งแกร่ง อดทน และเป็นผู้นำที่ดี ในขณะที่ผู้หญิงต้องเรียบร้อย อ่อนหวาน และเป็นผู้ตามที่ดี”
ในความเป็นจริงแล้วคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ก็สามารถมีช่วงเวลาที่อ่อนแอด้วยกันได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ทุกคนก็มีคุณค่า มีความแข็งแกร่ง และพึ่งพาตัวเองได้
“ผู้หญิงทำงานบ้านและเลี้ยงลูก และ ผู้ชายทำงานหาเลี้ยงทั้งครอบครัว”
ในความเป็นจริงงานบ้านและการเลี้ยงลูกควรเป็นงานที่ทำร่วมกันระหว่างสามีภรรยา และสามีภรรยาสามารถช่วยกันแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวร่วมกันได้
“ผู้ชายต้องมีความเป็นผู้ชาย และผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว”
“ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง”
ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าเพศใด ทุกคนควรปฏิบัตต่อกันด้วยความเป็นมนุษย์ ทุกคนควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน
“ความรักเกิดขึ้นเพียงกับตัวเอกชายหญิง”
ในความเป็นจริงแล้ว ความรักสามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศ และ ทุกความรักที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งสวยงาม
บทความชิ้นนี้จะกล่าวถึง ภาพในความคิดแบบเหมารวมที่สังคมมักจะมีต่อเพศชายและเพศหญิง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมา
ซึ่งปัจจุบันสื่อต่างๆ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดนี้มากขึ้น เพื่อช่วยให้สังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้น และบทบาททางเพศที่ควรจะเปลี่ยนไป เพื่อให้คนทุกคนเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง และอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพความเป็นมนุษย์ในกันและกัน
ภาพยนตร์ที่กล่าวถึงความรักระหว่างเพศหลากหลายมากขึ้น เช่น Call me by your name, Carol, Love Simon และ รักแห่งสยาม เป็นต้น
การ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องดังที่ตัวละครนำเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่ง สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เช่น Brave, Frozen, Moana และ Raya จากค่ายดิสนีย์ (Disney) และ Spirited Away และ Princess Mononoke จากค่ายจิบลี (Ghibli) เป็นต้น
หนังสือและการ์ตูน เช่น เด็กชายนุ่งกระโปรง, การเดินทางของผีเสื้อหลากสี และ Heartstopper เป็นต้น
นอกจากนี้ตัวละครในภาพยนตร์ การ์ตูน และละครต่างๆ เริ่มมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นอีกด้วย
ภาพในความคิดแบบเหมารวมของสังคมที่มีต่อเพศชายหญิงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูเด็ก
สี
ผู้ใหญ่มักจะจับคู่ เด็กชายกับสีฟ้า เด็กหญิงกับสีชมพู ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เด็กทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นตัวของเขาเอง ความชอบที่มีต่อสี เขาควรจะเป็นผู้เลือกด้วยตัวเขาเช่นกัน การที่เด็กชายชอบสีชมพู ก็ไม่ได้แปลว่า เขาอยากจะเป็นผู้หญิง หรือการที่เด็กหญิงไม่ชอบสีหวานๆ ก็ไม่ควรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า ไม่มีความเป็นกุลสตรีเสียเลย
ในความเป็นจริงไม่ว่าเด็กๆ จะชอบสีอะไร ก็ไม่ได้แปลว่า เขาจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบสีนั้น เพราะเด็กๆ เติบโตและเปลี่ยนแปลงทุกวัน และการชอบสีแต่ละสีก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าเขาจะมีบุคลิกภาพเช่นไร
การร้องไห้
ผู้ใหญ่มักจะบอกเด็กชายเสมอว่า ‘เป็นลูกผู้ชายอย่าขี้แย’ หรือ ‘เป็นผู้ชายต้องแข็งแกร่ง ห้ามร้องไห้ให้ใครเห็น’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพศใด เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ การที่เราร้องไห้ไม่ได้หมายความว่า ‘เราอ่อนแอเสมอไป’ แต่การร้องไห้ช่วยกระตุ้นกลไกทางร่างกายที่เรียกว่า ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System: PNS) ซึ่งช่วยให้ร่างกายของเราผ่อนคลายตัวเอง (Self-soothing) ดังนั้น เวลาที่เราเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก หรือเวลาที่เราเผชิญกับความเศร้าที่เกินทานทน การร้องไห้มีส่วนช่วยให้เราสามารถระบายความรู้สึกที่อัดอั้นหรือคับข้องใจออกมาได้ (Gračanin, Bylsma & Vingerhoets, 2014)
ในสถานการณ์ตรงกันข้าม เวลาที่เราดีใจและมีความสุขมากๆ การร้องไห้ออกมา คือ การแสดงออกซึ่งความรู้สึกตื้นตันใจอันเปี่ยมล้น นอกจากนี้เวลาที่เรามองเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์หรือรู้สึกร่วมไปกับอีกฝ่าย จนทำให้เราร้องไห้ออกมานั้น
การร้องไห้ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอ แต่เกิดจากการร่วมรู้สึก และความเห็นอกเห็นใจอีกฝ่ายต่างหาก ซึ่งทำให้การร้องไห้เป็นเรื่องที่ดี และไม่ควรถูกห้ามไว้เฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง เพราะการร้องไห้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของความเป็นมนุษย์
ของเล่น
ผู้ใหญ่มักจะจับคู่เด็กชายกับของเล่นที่เป็นแนวเครื่องยนตร์กลไก เช่น รถยนต์ หุ่นยนต์ บล็อกไม้ ตัวต่อพลาสติก และหุ่นไดโนเสาร์ต่างๆ ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะถูกจับคู่กับของเล่นที่เป็นแนวการดูแลผู้อื่นและงานบ้าน เช่น ตุ๊กตาเด็กทารก ครัวทำอาหารเด็กเล่น ชุดแต่งตัวตุ๊กตา และตุ๊กตาเจ้าหญิง เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วของเล่นไม่ควรถูกจัดประเภทตามเพศ แต่ควรจัดตามหมวดหมู่ เพราะของเล่นทุกประเภทสามารถส่งเสริมเด็กๆ ในด้านที่แตกต่างกันไป เด็กๆ ไม่ควรถูกจำกัดให้เล่นของเล่นเพียงหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่ง
Becky Francis (2014) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัย Roehampton ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ของเล่นที่ผู้ใหญ่มักเลือกให้เด็กตามเพศของเด็ก อาจจะส่งผลต่อการเลือกแผนการเรียนและอาชีพในภายหลังได้ หากลองสังเกตดีๆ ของเล่นที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นของเล่นของเด็กผู้ชาย เช่น ตัวต่อบล็อกต่างๆ รถยนต์ หุ่นยนต์ และไดโนเสาร์ เป็นต้น มักจะส่งเสริมด้านการคิดเชิงมิติสัมพันธ์และพัฒนาสมองให้พร้อมกับการเรียนในเชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะที่ของเล่นของเด็กหญิง เช่น การเล่นตุ๊กตา ของเล่นครัว และเล่นทำผมตุ๊กตา มักส่งเสริมด้านการคิดเชิงสร้างสรรค์และพัฒนาสมองในส่วนของศิลปะ สังคมศาสตร์ และภาษาศาสตร์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยใดที่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การเล่นเพียงของเล่นตามเพศ จะส่งผลให้เด็กชายหรือเด็กหญิงไม่สามารถพัฒนาทักษะอื่นๆ ได้ แต่มีงานวิจัยมากมายที่ต้องการจะสร้างความตระหนักให้กับพ่อแม่ที่เลือกของเล่นให้กับลูกว่า ไม่ควรปิดกั้นลูกในการเล่นของเล่นใด เพราะของเล่นแต่ละชิ้นสามารถส่งเสริมเด็กๆ ในพัฒนาการแต่ละด้านได้
ของเล่นไม่มีเพศ : เด็กชายเล่นตุ๊กตา
เมื่อไม่นานมานี้ การศึกษาการทำงานของสมองของเด็กชายและเด็กหญิงวัย 4 – 8 ปี จำนวน 33 คน ขณะเล่นตุ๊กตา ของนักประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ (Hashmi, Vanderwert, Price, & Gerson, 2020) ทำให้ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญ พวกเขาค้นพบว่า สมองส่วน posterior Superior Temporal Sulcus (PSTS) ซึ่งเป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น สมองส่วนนี้ได้รับการกระตุ้นขณะเด็กๆ เล่นตุ๊กตา
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย เล่นคนเดียวหรือเล่นกับเพื่อน ผลที่ออกมานั้นไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อเด็กเล่นตุ๊กตา สมองส่วนนี้ได้รับการกระตุ้น ทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะพัฒนาทักษะทางสังคมได้ดี เวลาเด็กๆ เล่นกับตุ๊กตา ตุ๊กตาเป็นเสมือนเพื่อนฝึกซ้อมสำหรับพวกเขา ก่อนที่จะได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในสังคมจริงๆ
แม้ตุ๊กตาจะไม่มีชีวิต แต่ด้วยจินตนาการของเด็กๆ ทำให้ตุ๊กตาที่พวกเขาเล่นด้วยเป็นเสมือนเพื่อนคนสำคัญ ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนที่เป็นคนจริงๆ ทุกครั้งที่เด็กๆ ดูแลและเล่นกับตุ๊กตาของพวกเขาอย่างทะนุถนอม เด็กๆ ได้พัฒนาความอ่อนโยนในจิตใจของพวกเขา แม้ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง ความอ่อนโยนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ ใจดีกับตัวเอง และผู้อื่น
“เด็กๆ ที่มีความอ่อนโยน ไม่ได้แปลว่า พวกเขาอ่อนแอ เด็กๆ สามารถแข็งแกร่งและอ่อนโยนได้ในเวลาเดียวกัน
อาชีพ
เด็กหญิงมักถูกมองว่า พวกเขาไม่ควรทำอาชีพที่ใช้ร่างกายและวิชาวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ เช่น ทหาร ช่างก่อสร้าง วิศวกร นักดับเพลิง นักบินอวกาศ และอื่นๆ
ในขณะที่เด็กชายมักถูกมองว่า พวกเขาไม่ควรทำอาชีพที่ใช้ความละเอียดอ่อน และการสื่อสาร เช่น คุณครูอนุบาล พี่เลี้ยง ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ช่างเย็บผ้า และอื่นๆ
ในความเป็นจริงแล้ว อาชีพที่เด็กๆ เลือกควรมาจากความสนใจของพวกเขา ไม่ใช่สิ่งที่สังคมคาดหวังจากเขา ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ อย่างเท่าเทียม
“การศึกษาและทัศนคติที่ผู้ใหญ่มอบให้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ มองเห็นศักยภาพของตัวเอง และกล้าที่จะทำตามความฝัน”
ณ ห้องเรียนประถมแห่งหนึ่ง คุณครูได้บอกเด็กๆ ให้วาดรูป นักบิน, ศัลยแพทย์ และนักดับเพลิง เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่วาดผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้เป็นผู้ชาย
เมื่อวาดเสร็จ คุณครูบอกเด็กๆ ว่า ‘วันนี้คุณครูได้เชิญผู้ที่ทำอาชีพทั้งสามอาชีพนี้จริงๆ มาที่ห้องเรียนของเราด้วย’
เด็กๆ ตื่นเต้นเป็นอย่างมาก แต่เมื่อทั้งสามท่านเดินเข้ามา เด็กๆ กลับประหลาดใจ เพราะสิ่งที่เด็กๆ คาดหวังกลับตรงกันข้าม นักบิน, ศัลยแพทย์ และนักดับเพลิงที่มาในวันนี้ล้วนเป็นผู้หญิงทั้งหมด
ก่อนหมดคาบ คุณครูสรุปให้เด็กๆ ฟังว่า ‘ไม่ว่าเด็กๆ จะเป็นเพศใดนั้นไม่สำคัญเลย เพราะทุกคนมีความศักยภาพ ขอให้เด็กๆ มีความตั้งใจและกล้าที่จะทำตามความฝันของตัวเอง’
ในสังคมไม่ได้มีเพียงเพศหญิงกับเพศชาย แต่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเพศใด ทุกคนล้วนเป็นมีคุณค่า
Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender หรือ Queer/Questioning (LGBTQ+)
ในทางการแพทย์บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางจิตใจแต่อย่างใด ความหลากหลายทางเพศจึงไม่ใช่ความผิดพลาดหรือพยาธิสภาพ เราไม่ควรต้องเข้าไปแก้ไข รักษา หรือ พยายามปรับเปลี่ยนตัวตนของบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้น สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเพศทางเลือก การค้นหาต้นเหตุของการเป็นเพศทางเลือกของเด็ก และการพยายามจะโทษตัวเองหรือใครๆ ที่ลูกเป็นเช่นนั้น ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะการที่ลูกเลือกที่จะเป็นอะไร ก็ไม่ต่างกับการที่เขาจะเลือกชอบสีอะไร เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับตัวตนของเขา แม้สภาพแวดล้อมจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน แต่ตัวตนของเด็กที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เขาเลือกที่จะเป็นตัวเขาแบบไหนเช่นกัน
กำแพงที่ถูกสร้างขึ้น
ความแตกต่างไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่บางครั้งสำหรับคนบางคนอาจจะเริ่มต้นด้วยการสร้างกำแพงกับสิ่งที่เขาไม่รู้จักก่อน ซึ่งกำแพงที่สร้างขึ้นอาจจะทำให้อีกฝ่ายถูกกีดกันไปโดยปริยาย และในบางครั้งกับคนบางคน อาจจะไม่ได้แค่เพียงสร้างกำแพง แต่เขากลับสร้างหนามแหลมไว้ทิ่มแทงอีกฝ่ายอีกด้วย
บาดแผลที่เกิดจากความแตกต่าง
McDonald (2018) กล่าวว่า เด็กวัยรุ่นที่เป็น LGBTQ+ มีแนวโน้มเสี่ยงต่อสุขภาพทางจิตมากกว่าบุคคลทั่วไป เนื่องจากพวกเขาต้องต่อสู่กับความวิตกกังวลว่าจะเป็นที่ยอมรับในครอบครัว โรงเรียน และสังคม นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเองอีกด้วย เนื่องจากการไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวหรือสังคม การกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่โรงเรียน อาจจะส่งผลให้เด็กมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นหากเรามองเห็นแนวโน้มที่เด็กอาจจะทำร้ายตัวเองหรือมีปัญหาสุขภาพจิต แนะนำให้พาเด็กไปพบจิตแพทย์หนือนักจิตวิทยาทันที
พ่อแม่ทุกคนต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกๆ แต่การให้การยอมรับหรือการสนับสนุนไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณพ่อคุณแม่ของเด็กที่เป็นเพศทางเลือก (LGBTQ+)
ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเด็กจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เด็กทุกคนล้วนเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง พวกเขาต้องการบ้านที่อบอุ่น การสอนสั่ง และโอกาสที่จะได้เติบโตเป็นตัวเองอย่างมีความสุข
เด็กทุกคนมีคุณค่า และผู้ใหญ่ทุกคนควรปลูกฝังคุณค่าให้กับเขาตั้งแต่เยาว์วัย โดยเริ่มจาก…
ข้อที่ 1 ทำให้เด็กๆ รู้ว่า พวกเขาเป็นที่รักและมีคุณค่า
เด็กทุกคนต้องการความรักที่ปราศจากเงื่อนไข หากพวกเขาได้รับความรักดังกล่าว คุณค่าในตัวของพวกเขาจะได้รับการยืนยัน เมื่อนั้นเด็กๆ จะพัฒนาการยอมรับตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และการรักตัวเองในที่สุด
สำหรับคุณค่าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเด็กๆ รับรู้ว่า ตัวเองมีความสามารถ และสามารถทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเองและผู้อื่นได้ ซึ่งต้องเริ่มจากการที่พ่อแม่เชื่อมั่นว่าลูกสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ตามวัย และเปิดโอกาสให้ลูกลงมือทำด้วยตัวเองจนเกิดเป็นความชำนาญ นอกจากนี้การมอบหมายงานส่วนรวม อย่างงานบ้านให้กับเด็กๆ ในวัยเยาว์ ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่น ซึ่งคุณค่าที่เขาสร้างขึ้น จะสะท้อนให้เขามองเห็นคุณค่าในตัวเองได้
ข้อที่ 2 ยอมรับเด็กๆ อย่างที่พวกเขาเป็น และไม่เปรียบเทียบ
เริ่มต้นจากผู้ใหญ่ต้องไม่ตำหนิ ล้อเลียนตัวตนของเด็ก ณ ตอนนั้น ไม่ว่าเขาจะชอบหรือเป็นแบบไหน เราเรียนรู้ที่จะยอมรับเขาก่อน ให้ลูกรับรู้ว่า ‘ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ตัวเขาเป็นที่รักของเราเสมอ ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ และไม่ต้องดีอย่างใครๆ ขอแค่ลูกเติบโตตามจังหวะของตัวเองอย่างมีความสุขก็เพียงพอแล้ว’
เมื่อลูกออกไปเผชิญโลก เขาจะสามารถยืนหยัดเพื่อตัวเองได้ โดยมีเราเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและให้การสนับสนุนอยู่ห่าง
พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะแสดงความรักต่อลูก ‘พ่อแม่จะอยู่เคียงข้างลูก และพ่อแม่จะรักและพร้อมที่จะสนับสนุนลูกเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม’
วัยรุ่นคนหนึ่งเคยกล่าวในกลุ่มปรึกษาสำหรับวัยรุ่นว่า ‘ต่อให้โลกทั้งใบหันหลังให้กับเขา ขอแค่พ่อแม่ที่พร้อมจะเชื่อมั่นและสนับสนุนเขา เขาจะตั้งหลักและเดินต่อไปได้อย่างแน่นอน’
ข้อที่ 3 ไม่ปิดกั้น และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้
ผู้ใหญ่ไม่ควรสร้างทัศนคติให้กับเด็กว่า ‘เด็กชายหรือหญิงต้องชอบสีอะไร เช่นเดียวกับต้องเล่นอะไรเท่านั้น’
ของเล่นที่เด็กเล่นไม่ควรถูกกำหนดให้เฉพาะเพศใดเพศหนึ่งเล่นได้เท่านั้น เด็กชายและเด็กหญิงทุกคนควรได้เล่นในสิ่งที่เขาสนใจ
การที่เด็กชายชอบเล่นตุ๊กตา เขาอาจจะเติบโตเป็นเด็กชายที่อ่อนโยน และเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
การที่เด็กหญิงชอบเล่นตอกไม้ ไขน็อต เธออาจจะเติบโตเป็นเด็กหญิงที่ทะมัดทะแมง แก้ไขปัญหาได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นต้น
เมื่อผู้ใหญ่ปล่อยให้พวกเขาได้เล่นในแบบที่เขาชอบและสนใจ (ตราบใดที่ไม่ทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน และข้าวของเสียหาย) เด็กๆ จะได้ค้นหาตัวตนของเขาระหว่างทาง ในวันที่เขาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะค้นพบสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นได้
ข้อที่ 4 เคารพตัวเอง และเคารพผู้อื่น
‘ไม่ว่าจะเพศใด ทุกๆ คนควรได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นมนุษย์เหมือนๆ กัน’
เด็กๆ ที่เคารพตัวเอง พวกเขาจะมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และไม่มองตัวเองต่ำต้อยกว่าผู้อื่น ที่สำคัญพวกเขาจะต้องไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนหรือผู้อื่นเดือดร้อน
เมื่อเคารพตัวเองแล้ว เด็กๆ ควรที่จะเรียนรู้ที่จะเคารพผู้อื่นด้วย โดยการไม่ไปละเมิดสิทธิ ตำหนิ ล้อเลียนสิ่งที่ผู้อื่นเป็น
ในข้อนี้ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กๆ ควรเป็นแบบอย่างให้กับพวกเขาด้วย เพราะแบบอย่างที่ดี สำคัญกว่าคำสอน
ข้อที่ 5 เป็นบ้านที่ปลอดภัยทางกายใจ
‘บ้านไม่ใช่สถานที่ แต่บ้านคือบุคคล’
สำหรับเด็กเล็กๆ อาจจะต้องการบ้านที่เขาสามารถดูแลและตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐาน กินอิ่ม นอนหลับ สอนสิ่งต่างๆ ให้กับเขาได้
แต่เมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น พวกเขาต้องการบ้านที่เขาสามารถวางหัวใจที่เหนื่อยล้าลงเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ และกลับไปเผชิญโลกภายนอกต่อไป
พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถเป็นบ้านที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ได้ โดยเริ่มจาก
ให้การรับฟัง ให้ความรักและการสนับสนุนทางกายใจ ทั้งปัจจัยสี่และการสัมผัสด้วยรัก
ให้อภัยและการสอนสั่ง และให้ความเชื่อมั่นในวันที่เขาต้องออกไปผจญโลก
สุดท้าย ในวันนี้ไม่ว่าเด็กๆ จะเป็นเช่นไร ภูมิคุ้มกันทางใจที่พ่อแม่สามารถมอบให้กับลูกๆ ในวัยเยาว์ ได้ คือ ความรักที่มาพร้อมกับเวลาคุณภาพ ซึ่งควบคู่กับการสอนวินัยและการช่วยเหลือตัวเองตามวัยให้กับเขา
เมื่อเราเตรียมความพร้อมเขามาตั้งแต่วัยเยาว์ และสร้างสายสัมพันธ์มาอย่างแน่นแฟ้น เราไม่ควรหวาดวิตกที่จะต้องปล่อยมือเขาไปในวันที่เขาจะต้องเติบโตก้าวไปสู่โลกภายนอกด้วยตัวเขาเอง วันนั้นเรามีหน้าที่เชื่อมั่นในตัวเขา และเฝ้าดูเขาอยู่ห่างๆ