- ชวนทุกคนไปรู้จักกับ ‘ฟิล์ม – พิชญา สุขพัฒน์’ นักเขียนนิยายวาย เจ้าของปลายปากกา ‘afterday’ ที่กว่าจะมาถึงวันนี้เขาผ่านมาแล้วสองอาชีพ คือ อินทีเรียและสตรีมเมอร์
- แรงจูงใจที่ทำให้เราอยากทำ คือ ความชอบ มีคอมเมนต์กับกำลังใจจากผู้อ่านเป็นสิ่งตอบแทน สิ่งสำคัญของการเขียนนิยาย คือ คนเขียนต้องเตรียมใจ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้แต่เป็นทุกๆ เรื่อง ต้องเตรียมใจ วางแผน และให้เวลามีวินัยกับมัน เวลานี่ตัวสำคัญเลยเพราะบางคนเขียนไปตอนเดียวพอจะเริ่มเขียนตอนที่ 2 ‘วันนี้ยุ่งจัง ไว้เขียนพรุ่งนี้แทน’ กว่าจะมาเขียนตอนที่ 2 รู้สึกต่อไม่ติด ทิ้งไปเขียนเรื่องใหม่แทน
บทนำ
ณ บ่ายวันจันทร์ที่อากาศร้อนระอุพอๆ กับสถานการณ์ในไทย การได้เครื่องดื่มเย็นๆ สักแก้วก็คงช่วยบรรเทาอากาศที่ร้อนอบอ้าวเช่นนี้ ฉันตัดสินใจเดินไปสั่งช็อกโกแลตเย็นที่คาเฟ่แถวนั้น และนั่งรอคนที่ฉันนัดเจอในวันนี้
รอเพียงไม่นานก็มีผู้หญิงร่างบางสวมเสื้อแขนกุดสีดำกางเกงขาวขายาว เดินตรงมายังโต๊ะที่ฉันนั่งพร้อมกับส่งเสียงทักทาย หลังจากถอดแมสก์ออก ฉันจึงได้เห็นใบหน้าของเธอเต็มๆ ครั้งแรก ผมสั้นที่รับกับใบหน้าหวานของเจ้าตัว ‘ฟิล์ม – พิชญา สุขพัฒน์’
‘นักเขียนนิยายวาย’ สเตตัสหนึ่งของฟิล์มที่เป็นเหตุผลให้เกิดการนัดหมายครั้งนี้ขึ้น แต่พอคุยไปได้สักพักถึงได้รู้ว่าเธอยังมีอีกหลายสเตตัส ทั้ง ‘นักแคสต์เกม’ หรือ ‘อินทีเรียดีไซน์’
เพื่อไม่ให้บทนี้เยิ่นเย้อจนเกินไป (หลายคนอาจจะตัดสินใจกดปิดหน้าจอไปแล้ว) ฉันอยากชวนทุกคนไปรู้จักฟิล์มและโลกของวงการนักเขียนนิยายวายผ่านบทต่อไปได้เลย
บทที่ 1 กว่าจะเป็นนักเขียนนิยายวาย
จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเขียนนิยายวาย
ฟิล์มเป็นสายคนอ่านมาก่อนค่ะ ปกติเราจะชอบอ่านนิยายวัยรุ่นแนวแจ่มใส หรือนิยายที่อยู่บนเว็บไซต์เด็กดี (dek-d) วันหนึ่งด้วยความบังเอิญฟิล์มไปอ่านนิยายวายเรื่องหนึ่ง เราก็รู้สึกว่า…เออ มันสนุกดีนะ ก็เลยยาวเลย (ยิ้ม) พออ่านเยอะๆ เราเริ่มรู้สึกว่าเราอยากเป็นแบบนักเขียนคนที่เราอ่านงานเขา ถ้าเขาสามารถเขียนนิยายให้เราอ่านได้ ตัวเราก็อยากเขียนให้คนอื่นอ่านบ้าง และพอดีช่วงนั้นปี 2014 ฟิล์มเรียนอยู่ปี 3 เป็นช่วงที่ปิดเทอม 6 เดือนตามอาเซียน ตอนนั้นฟิล์มฝึกงานทำให้มีเวลาว่างเยอะมาก ประมาณ 4 – 5 เดือน ฟิล์มตัดสินใจสมัครเว็บไซต์ลงนิยายวายเลย
ต้องอาศัยความกล้าไหมในการเขียนนิยายครั้งแรก
กล้าไหม? สำหรับฟิล์มตอนที่เริ่มมันไม่ใช่เพราะความกล้า เป็นความรู้สึกอยากลองมากกว่า เราอยากลองทำสิ่งนี้ เรื่องแรกที่ฟิล์มเขียนเป็นเรื่องรักในมหาวิทยาลัยซึ่งเละมาก (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้เตรียมตัว การที่เราอ่านนิยายวายเยอะมาก ทำให้เรามีชุดความคิดหนึ่งเหมือนเป็นประสบการณ์ที่ได้ เช่น สเต็ปการดำเนินเรื่องมันจะเป็นแบบนี้ วิธีการเล่าทำแบบนี้ เราก็ใช้ชุดความคิดนี้เขียนนิยาย แต่ด้วยความที่ข้อมูล หรือความเข้าใจในการเขียนของเรามันน้อย มันเลยออกมาไม่ดี ตัวฟิล์มเองไม่ได้วางพล็อต วางเนื้อเรื่องเลย เขียนจากประสบการณ์การอ่านล้วนๆ เขียนไปได้ครึ่งเรื่องก็ต้องหยุดละ ไปต่อไม่ได้เพราะมันตันมาก ตัวละครรักกันแล้วยังไงต่อ จะจบตรงไหน?
ซึ่งฝั่งคนอ่านเขาไม่เหมือนเรา เพราะเขาอ่านจากประสบการณ์เหมือนกัน เขาจะรู้ว่านิยายแบบไหนที่โอเคและมองเห็นว่านิยายเรามีจุดบกพร่องนะ เช่น ตอนที่ 5 เราพูดแบบนี้ แต่ตอนที่ 6 เรากลับพูดอีกแบบเพราะลืมสิ่งที่เขียน ทำให้เนื้อเรื่องมันขัดแย้งกันเอง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นช่องโหว่ของพล็อต ก็มาจากการที่เราไม่วางพล็อต
ฟิล์มก็เลย โอเค งั้นเอาใหม่ ถ้าเราอยากทำให้สิ่งนี้มันจริงจัง เราก็ต้องจริงจังกับมันจริงๆ ตัดสินใจหยุดเขียนเรื่องแรก มาเริ่มเรื่องที่สองแทน (นายต่างพันธุ์) เป็นเรื่องที่ฟิล์มวางพล็อต โครงเรื่องทุกอย่างตั้งแต่ก่อนเริ่ม ฉะนั้น เวลาเขียนเลยลื่น เขียนจบ และมีโอกาสได้ตีพิมพ์
ในยุคนั้นส่วนใหญ่เขานิยมลงหรืออ่านนิยายวายจากไหนบ้าง
เมื่อก่อนแพลตฟอร์มที่ลงนิยายวายมีน้อย เว็บไซต์เด็กดีนี้จะยืนพื้นเลยอยู่มายาวนาน แต่ค่อนข้างมีข้อจำกัด เช่น จำกัดอายุคนอ่าน หรือความรุนแรงในเรื่อง ก็จะมีอีกเว็บไซต์หนึ่งชื่อ ‘เล้าเป็ด (thaiboyslove)’ เป็นเว็บที่ค่อนข้างอิสระเลย ข้อจำกัดน้อย คนลงนิยายเว็บนั้นเยอะมาก ตัวฟิล์มเองก็เริ่มลงนิยายที่นั่นเหมือนกัน ลงมาจนถึงทุกวันนี้
ตอนนี้ช่องทางมันเยอะขึ้นทั้งแบบหนังสือ หรือแบบออนไลน์ พวกจอยลดา รีทอะไรท์ และก็มีฟังก์ชันมากขึ้นด้วยตอบสนองความต้องการคนเขียน เช่น ตรวจคำผิด กำหนดเวลาลงนิยายได้ หรือคนอ่านสามารถจ่ายเงิน หรือโดเนทเงินให้นักเขียน
ที่บอกว่าเรื่องที่ 2 ได้ตีพิมพ์ ทางสำนักพิมพ์เขาติดต่อมาเอง หรือเราส่งเรื่องไป
ในยุคนั้นส่วนใหญ่สำนักพิมพ์จะเป็นคนติดต่อมาเอง เหมือนเป็นแมวมองในเว็บ ของฟิล์มเขาทักมาว่าพี่สนใจจะตีพิมพ์เรื่องนี้นะ เราอยากร่วมงานกับพี่ไหม พอเห็นข้อความเราก็ตอบตกลง พอได้ตีพิมพ์เรื่องแรกก็กลายเป็นสเต็ปว่าพอเราเขียนนิยายจบปุ๊บก็ส่งให้สำนักพิมพ์นี้พิจารณาว่าจะตีพิมพ์ไหม เวลาลงนิยายฟิล์มจะลงออนไลน์เป็นหลัก เว็บเล้าเป็ดนี่ยืนพื้นเลย แต่มันมีปัญหาที่ตัวเว็บไซต์ไม่มีฟังก์ชันป้องกันคนก็อปนิยายเรา หลังๆ ฟิล์มไปลงที่เด็กดีหรือรีดอะไรท์แทน
ฟิล์มจะลงนิยายอาทิตย์ละ 1 ตอนทุกวันจันทร์ ลงไปเรื่อยๆ จนจบ ปกติเขียนได้ 2 – 3 ตอนเราก็ลงเว็บละ แต่พอส่งให้สำนักพิมพ์ที่เขาต้องมีโพรเซสผลิตหนังสือ ทำให้เราต้องเขียนครึ่งเรื่องก่อนแล้วค่อยลงออนไลน์ เพราะไม่อย่างนั้นถ้าลงนิยายในเว็บจบกว่าหนังสือจะตีพิมพ์เป็นปี ฟิล์มต้องบริหารเวลาส่วนนี้
การที่สำนักพิมพ์จะตีพิมพ์นิยายเรื่องหนึ่ง เขาต้องพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง เช่น ยอดคนอ่าน หรือความน่าสนใจของเนื้อเรื่อง
ตลาดนิยายวายจะมีทั้งหนังสือที่ตีพิมพ์เพราะคนอ่านเยอะ หรือเพราะเนื้อเรื่องมันขายได้ หลักๆ ขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์ว่าแบรนด์เขาขายอะไร เขาก็จะหาหนังสือที่เข้ากับแบรนด์เขา ให้ตีพิมพ์แล้วเขาสามารถทำกำไรได้ ฟิล์มมองเป็นแง่ธุรกิจนะ เพราะเขาทำธุรกิจก็ต้องคิดเรื่องการตลาด แล้ว ‘ดัง’ กับ ‘ดี’ ก็ไม่เหมือนกัน สมมติเขาเอาหนังสือที่คิดว่าขายได้มาแล้วทำให้มันดังก็ได้ หรือว่าเอาหนังสือที่ดังอยู่แล้วมาขายให้ดังขึ้นไปอีกก็ได้เหมือนกัน
ค่าตอบแทนที่นักเขียนจะได้ถ้าหนังสือได้ตีพิมพ์
ฟิล์มคิดว่าแต่ละที่น่าจะคล้ายๆ กัน ของฟิล์มตั้งแต่ที่พิมพ์ครั้งแรกจนถึงวันนี้ได้ค่าเรื่องเรทอยู่ที่ 10% ของราคาขาย หรือบางคนก็ตามยอดจำนวนพิมพ์ ค่าตอบแทนก็จะแตกต่างกันตามความใหญ่ของสำนักพิมพ์ การขายได้ของฐานแฟน
ตอนที่เริ่มเขียนนิยาย ฟิล์มไม่ได้คิดว่าจะสร้างเงินจากสิ่งๆ นี้ได้ เพราะยุคนั้นไม่มีนิยายวายขายตามร้านหนังสือ ต้องขายแบบแอบๆ ใต้ดิน แรงจูงใจที่ทำให้เราอยากทำ คือ ความชอบ มีคอมเมนต์กับกำลังใจจากผู้อ่านเป็นสิ่งตอบแทน แต่ในยุคนี้มันมีคนที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ฟิล์มคิดว่าคนที่เข้ามาในวงการนี้ส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะทำเป็นอาชีพได้ หาเงินจากมันได้
ฟีดแบ็กคนที่อ่านนิยายเราเป็นยังไง
การวัดเรทติ้งนิยาย จะวัดจากยอดคนคอมเมนต์ ยอดคนอ่าน ที่เว็บเล้าเป็ดเขาจะกำหนดเลยว่าถ้ากระทู้ (การลงนิยาย) มีคนคอมเมนต์ 2,000 คนขึ้นไปจะมีสัญลักษณ์นี้ให้ หรือ 3,000 ครั้งจะมีสัญลักษณ์นี้ และพอสิ้นปีจะมีให้คนอ่านโหวตนิยายที่ชอบที่สุดในสาขาต่างๆ เช่น สาขาประทับใจ เศร้าที่สุด ตลกที่สุด
เรื่องฟีดแบ็กมีทั้งแง่บวกและลบ ฟิล์มว่านักเขียนทุกคนน่าจะเคยเจอ จะมีคนที่ชอบนิยายเรามากๆ กับคนที่ไม่ชอบเลย แค่เห็นชื่อเรื่องก็ไม่ชอบละ ฟิล์มเคยเจอคนที่บอกว่า ‘เราไม่อินนิยายที่คนบอกว่าดีเลย อ่านแล้วอ่านต่อไม่ไหว’ ฟิล์มมองว่าของแบบนี้มันเป็นเรื่องของรสนิยม คุณคลิกกับสิ่งที่เรานำเสนอไหม? แค่นั้นเลย ฉะนั้นเวลาที่บอกว่านิยายดีหรือไม่ดีมันยากมาก มันดีจริงๆ ไหม หรือมันดีเพราะดัง แล้ว ‘ดี’ ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันอีก บางคนถ้าอ่านแล้วยิ้มได้เรียกดี แต่คนอีกกลุ่มอาจจะบอกว่าดี คือ มันต้องสร้างสรรค์สังคมนะ
การเขียนนิยายที่ตัวละครห่างไกลจากตัวนักเขียน มีอะไรบ้างที่คุณต้องทำการบ้าน?
ฟิล์มว่าเขียนหนังสือทุกแนวเราต้องหาข้อมูลหมด เขียนนิยายวายก็ต้องศึกษาข้อมูลเช่นกัน ไม่ใช่แค่เสิร์ชหาว่า ความสัมพันธ์ชาย – ชายเป็นยังไง ความรักเขาเป็นยังไง มันมีดีเทลเยอะกว่านั้น สมมติตัวละครทำอาชีพหมอก็ต้องไปศึกษาละว่าหมอเขาเป็นยังไง
ที่บอกว่าเขียนนิยายครั้งแรกแล้วเละเพราะไม่ได้วางพล็อต การเขียนนิยายสักเรื่องสิ่งที่ต้องคำนึง
เทคนิคการเขียนนิยายมันขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย ของฟิล์มคือพล็อตเรื่องต้องแน่น ฟิล์มจะวางไว้เลยว่าตอนที่ 1 มีอะไร ตอนที่ 2 3 4 ต่อไปจนถึงตอนจบแต่ละตอนพูดเรื่องอะไร เหมือนเป็นโลกที่สร้างเสร็จแล้วเหลือแค่กระจายเป็นตัวอักษร แต่เคยคุยกับนักเขียนคนหนึ่งเขาบอกว่า ทำแบบนั้นมันไม่สนุกถ้าเรารู้ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว ตัวเขาชอบเขียนทีละตอนแล้วค่อยดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ฟิล์มเลยไม่อยากสร้างมายเซ็ตให้คนที่กำลังจะเริ่มว่าต้องเป็นยังไง
ถ้าจะให้แนะนำ ฟิล์มว่าสิ่งสำคัญของการเขียนนิยาย คือ คนเขียนต้องเตรียมใจ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้แต่เป็นทุกๆ เรื่อง ต้องเตรียมใจ วางแผน และให้เวลามีวินัยกับมัน เวลานี่ตัวสำคัญเลยเพราะบางคนเขียนไปตอนเดียวพอจะเริ่มเขียนตอนที่ 2 ‘วันนี้ยุ่งจัง ไว้เขียนพรุ่งนี้แทน’ กว่าจะมาเขียนตอนที่ 2 รู้สึกต่อไม่ติด ทิ้งไปเขียนเรื่องใหม่แทน
ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องแรกที่เขียน ต่อให้ตัวเราที่เป็นคนเขียนรู้สึกว่าฉันทุ่มเทกับมันมากที่สุดแล้ว เขียนดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่เรื่องมันไม่ดังทำไงดี? ฟิล์มอยากให้ทุกคนเตรียมใจไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มเลยค่ะ ว่ามันไม่สวยงามแน่นอน เพราะทุกครั้งที่เราเริ่มอะไรใหม่ตัวเราจะเล็กมาก ไม่มีใครสนใจเราเลย ลงนิยายไปนั่งรอเมื่อไหร่จะมีคนเข้ามาอ่าน เข้ามาคอมเมนต์ หรือส่งไปให้สำนักพิมพ์ ก็ต้องรอพิจารณาว่าจะได้ไหม ฟิล์มอยากให้เตรียมใจก่อน คุณต้องเจออุปสรรคแน่ๆ ต้องผิดหวังแน่ๆ จะต้องพยายามมากแน่ๆ
บทที่ 2 อดีตอินทีเรีย ดีไซน์
ได้ยินมาว่าคุณเคยทำงานเป็นอินทีเรีย ดีไซน์มาก่อนจะลาออกมาทำนักเขียนเต็มตัว
ฟิล์มเริ่มเขียนนิยายตั้งแต่เรียนปี 3 เขียนยาวมาเรื่อยๆ จนทำงาน ซึ่งการทำงานอินทีเรียค่อนข้างเหนื่อย เลิกงานไม่ตรงเวลา สมมติเข้างาน 10 โมง เลิก 1 ทุ่ม แต่ของฟิล์มเลิกงานจริงๆ 4 – 5 ทุ่ม กลับถึงบ้านเราเขียนนิยายต่อถึงตี 1 – 2 ได้นอนประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง ทำไป 2 ปีจนตัวเราเริ่มรู้สึกไม่ไหวละ เราไม่สามารถทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ ซึ่งถ้าต้องเลือกระหว่างหยุดเขียนหนังสือกับหยุดทำงานอินทีเรีย ใจตอนนั้นคือเขียนหนังสือดีกว่า เพราะรู้สึกว่าเรามีแพชชั่นกับหนังสือมากกว่า
อาจเป็นเพราะฟิล์มเป็นคนขับเคลื่อนชีวิตด้วยความรู้สึกนะ เราอยากทำอะไร ทำอะไรแล้วเรารู้สึกแฮปปี้ หรือเห็นเป้าหมายของเส้นทางไหนมากกว่า ฟิล์มรู้สึกว่าถ้าให้นั่งทำงานอินทีเรียไปเรื่อยๆ จนเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง ฟิล์มไม่รู้สึกแฮปปี้กับจุดหมายนั้น แต่ถ้าให้เขียนหนังสือเรื่อยๆ จนวันหนึ่งได้ทำอะไรเกี่ยวกับหนังสือที่มันโตขึ้น เออ…เรารู้สึกแฮปปี้นะ ก็เลยตัดสินใจออกมา
ออกมาถาวรเลย
เราหยุดทำไปปีครึ่งแล้วลองไปทำที่ใหม่ คือฟิล์มอยากพิสูจน์ว่าที่เราไม่ชอบทำอินทีเรียเพราะบริษัทนี้หรือเหตุผลอื่น ก็เจอปัญหาเดิมว่าเป็นเรื่องเวลา เราไม่ไหวกับปริมาณงานและเวลาที่เสียไปขนาดนั้น ตัดสินใจมาเขียนหนังสือยาวบวกกับมีเวลาให้เราไปทำงานอย่างอื่นได้ด้วย ตอนนี้ฟิล์มทำสตรีมเมอร์ด้วย (คนที่เล่นเกมและถ่ายทอดให้ผู้ชมบนโลกออนไลน์ดูไปพร้อมๆ กัน)
การเลือกระหว่างอาชีพอินทีเรียกับนักเขียนยากไหม เพราะปัจจัยหลักของการตัดสินใจเลือกทำงานสักอย่าง คือ ความมั่นคง ณ วันนี้การทำอาชีพนักเขียนในสังคมไทยให้ความรู้สึกมั่นคงไหม?
เอาจริงๆ คนถามฟิล์มเยอะมากเรื่องความมั่นคง ฟิล์มเชื่อว่าจุดประสงค์คนถามแค่อยากรู้ว่าถ้าเราทำอาชีพนี้จะเลี้ยงตัวเองได้ไหม หาเงินกับมันได้ดีแค่ไหน เมื่อพูดอย่างนี้ฟิล์มอยากเปรียบเทียบกับการทำงานประจำ การเกิดโควิดมันทำให้ทุกคนรู้ว่าความมั่นคงไม่มีจริง ทุกคนสามารถโดนไล่ออกหรือเชิญให้ออกจากงานได้ตลอดเวลา ถ้าจะให้เปรียบเทียบระหว่างอาชีพนักเขียนกับงานทั่วไป ฟิล์มว่ามันก็ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงเหมือนกัน มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงตลอด
ถ้าถามฟิล์มว่าฟิล์มเลี้ยงตัวเองจากอาชีพนี้ได้ไหม ฟิล์มตอบว่า ได้ ถ้าเราดีพอ คำว่า ‘ดี’ ไม่ได้หมายความว่า เราเขียนเก่ง หรืองานเราดีมากนะ แต่หมายถึงเราตั้งใจ ทุ่มเทกับมัน ที่สำคัญคือการทำอาชีพนี้คุณต้องมีวินัยมากๆ สำหรับฟิล์มการเขียนหนังสือไม่มีคนมาบังคับให้เราเขียน ไม่มีการตอกบัตร หรือเวลาเข้างาน คุณสามารถนอน 6 โมงเช้าตื่นอีกทีทุ่มหนึ่งเพื่อเขียนนิยายก็ได้ คุณจะใช้เวลาเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง 1 เดือน หรือ 6 เดือนก็ได้ พอมันอิสระขนาดนี้ ฟิล์มเชื่อว่าจะมีหลายคนไหลไปกับเวลา ไหลไปกับการพักผ่อน ทำอารมณ์ เขียนไม่ได้สักที อะ… ไม่เป็นไร วันนี้ผ่านไป เดี๋ยวพรุ่งนี้เอาใหม่ ถ้าไปเรื่อยๆ แบบนี้ฟิล์มก็คิดว่าไม่มั่นคงละ
เวลาฟิล์มทำงานจะมีสเต็ปของตัวเองว่า ภายใน 3 เดือนต้องเขียนนิยายเล่มหนึ่ง แล้วฟิล์มจะคำนวณว่าฟิล์มจะได้เงินจากหนังสือเล่มนี้ภายในกี่วัน กี่เดือน หลังจากส่งตีพิมพ์ เพื่อจะได้วางแผนใช้เงินได้ถูก มีเงินเก็บ เงินลงทุน ฉะนั้น ถามว่าอาชีพนักเขียนมั่นคงไหม ต้องถามก่อนว่าคุณทุ่มเทกับมันได้มากแค่ไหน ถึงจะตอบได้
เพราะสังคมเราโตมากับการตีกรอบอาชีพนักเขียนว่า ‘ไส้แห้ง’ แต่กับนักเขียนนิยายวายอาจจะไม่เป็นหรือเปล่า เพราะตลาดผู้บริโภคมันใหญ่มาก แถมเป็นกลุ่มคนที่พร้อมทุ่มจ่ายเงิน ก็เลยทำให้มีรายได้กว่านักเขียนหมวดอื่นๆ
คำตอบที่ได้อาจจะมาจากมุมฟิล์มคนเดียวนะ คือ ‘วาย’ นับจากปีที่ผ่านมามันเป็นกระแส ส่งเสียงดัง คนเห็นเยอะ เข้าร้านหนังสือปุ๊บ โอ้โห…แผงหนึ่งเลย คนเลยรู้สึกว่าตลาดมันกว้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วฟิล์มว่าทุกๆ แนวหนังสือมันมีตลาดของมันอยู่ แต่อาจจะเสียงเบา ไม่ได้ตะโกนออกมาดังๆ ‘เฮ้ย… มันบูมนะ’ แต่ว่ามันก็ยังรันไปเรื่อยๆ ซึ่งฟิล์มมองว่า ‘วาย’ ไม่ได้ทำเงินเยอะกว่าแนวอื่น เพียงแต่ตอนนี้มันอยู่ในกระแส แล้วพอเราได้ยินบ่อยๆ เลยรู้สึกว่า ‘เฮ้ย… มันมา’ แต่ในความเป็นจริงเราที่อยู่ในวงการนิยาย เราเห็นนิยายแนวอื่นๆ ก็ขายดีเป็นกอบเป็นกำเหมือนกัน
เรื่องประสบความสำเร็จของนักเขียนวายก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงจุดนั้น ถึงแม้จะมีนักเขียนเยอะมาก แต่ทุกเรื่องที่ออกมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ตีพิมพ์ บางคนเขียน 4 เรื่อง ได้ตีพิมพ์เรื่องเดียว บางคนเขียน 4 เรื่อง ได้ตีพิมพ์ทั้ง 4 เรื่องก็มี
หรือที่จริงอาจจะเป็นสายงานศิลป์ทั้งหมดที่คนมองว่าไม่มั่นคง ไม่ได้รับการให้คุณค่าเท่าที่ควร
ตอนทำงานอินทีเรีย รับตกแต่งบ้าน สิ่งที่ฟิล์มเจอส่วนมากเลย คือ คนรู้สึกว่าอาชีพนี้ไม่จำเป็น เจอเยอะมากๆ (เน้นเสียง) เขาจะรู้สึกว่าเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์เราทำเองได้ ซื้อโซฟามาตั้งหนึ่งตัว ซื้อนู่นนี่มาแขวน ไม่จำเป็นต้องเสียเงินจ้างอินทีเรีย ฟิล์มรู้สึกว่า เฮ้ย… อาชีพเราไม่จำเป็นว่ะ เหมือนมีคนที่ไม่รู้สึกว่าต้องใช้เราอยู่
อาชีพนักเขียนก็เหมือนกัน บางคนมองว่าหนังสือไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะเขาต้องใช้เงินกับสิ่งที่สำคัญกว่า เช่น การเลี้ยงปากท้อง มันอาจจะเป็นรูปแบบเดียวกันที่ค่าใช้จ่ายมีผลกับการผลิตผลงาน อาจต้องย้อนกลับไปเรื่องสังคมบ้านเราที่มันทำให้คนไม่มีเวลา ไม่มีกำลัง ไม่มีทรัพย์มาสนับสนุนเรื่องบันเทิง หรือสิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือจากปัจจัยการใช้ชีวิต สำหรับฟิล์มถ้าวันนี้ไม่มีข้าวกิน ฟิล์มอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีนิยายอ่าน ฟิล์มอยู่ได้ มันเลยกลายเป็นคนให้ค่าของหมอมากกว่านักเขียน เพราะว่าหมอจำเป็นต้องรักษาคนไข้ แต่นักเขียนไม่มีไม่เป็นไร ค่อนข้างน่าเสียดายที่สายศิลปะบ้านเราน่าจะไปได้ไกลกว่านี้
ซึ่งฟิล์มว่าการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้มันยากมาก คงต้องเริ่มว่าจะทำยังไงให้คุณภาพชีวิตของคนตอนนี้ดีขึ้น จนมีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น
บทที่ 3 ความเป็น afterday
เอกลักษณ์นิยายจากปลายปากกา ‘afterday’
เท่าที่ฟังนักอ่านส่วนใหญ่จะบอกว่านิยายของฟิล์มเป็นโทนอบอุ่น ส่วนตัวเราไม่ชอบนิยายที่จบแบบ bad end เวลาเขียนนิยายของตัวเองจะตั้งเป้าว่าคนที่อ่านเรื่องของเราต้องยิ้มได้ ต้องได้รับความรู้สึกดีๆ กลับไป มีหัวข้อที่จุดบางอย่างให้เขาได้คิด หรือมีประเด็นทางสังคมที่หยิบมาพูดในนิยาย
เพราะยิ่งเราโตขึ้น เรารู้สึกว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีช่องทางในการสื่อสารกับคนจำนวนมากได้ ฟิล์มเลยคิดว่าพอฟิล์มเป็นสื่อก็อยากใช้โอกาสที่มีให้คุ้มค่าที่สุด การอ่านนิยายไม่ใช่แค่บันเทิงอย่างเดียว ฟิล์มต้องการสื่อสารกับเขาด้วย
เรื่องล่าสุดที่ฟิล์มเขียน ‘12%’ ฟิล์มเป็นคนที่ไม่ชอบบุหรี่ เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าบุหรี่มันอันตรายมากกว่าที่ทุกคนเข้าใจว่าแค่มะเร็งของคนที่สูบ ฟิล์มศึกษาค่อนข้างเยอะว่าคนอยู่รอบตัวคนสูบก็อันตรายด้วย มันจะมีบุหรี่มือหนึ่ง สอง สาม ฟิล์มคิดว่าถ้าเราสอดแทรกปัญหาพวกนี้ลงไปในหนังสือได้ เราให้มันเนียนไปกับความบันเทิง เพราะเมื่อไหร่ที่เราบอกจะให้ความรู้ คนจะเริ่มแบบ…ต้องเดี๋ยวนี้เลยไหม เดี๋ยวค่อยรู้ได้ไหม แต่ถ้าเขาอ่านแล้วมันเพลิน เขาก็รับสารเราไปเรื่อยๆ ฟิล์มว่าวิธีมันเข้าถึงเด็ก เข้าถึงคนได้ง่ายกว่า เขาอ่านแล้วอาจจะเอาไปบอกต่อกับครอบครัว คนที่รู้จัก
ทาร์เก็ตกรุ๊ปของคนที่ตามอ่านงานเรา
ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียนไปจนถึงวัยทำงานหลัก 40 ปี เพราะนิยายฟิล์มเนื้อหาอาจจะไม่ได้เด็กจ๋าวัยใส มีบางประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจด้วย พอเรารู้จักกลุ่มคนอ่านจะรู้สึกว่าเวลาทำงานสักชิ้น ต้องคิดเยอะๆ ขึ้น เพราะมีทั้งคนที่อายุมากกว่าเรา มีประสบการณ์มากกว่า และน้อยกว่าเรา เช่น เด็กอายุ 13 ปี ถ้ามีอะไรที่เราเขียนแล้วไม่ระวัง เขาเห็นเอาไปทำตามก็น่ากลัวนะ นิยายเราออกไปเจอคนเยอะ สิ่งที่ตามมาคือ ความรับผิดชอบที่มากขึ้น มีอะไรให้เป็นห่วงเยอะขึ้นละ
ได้ยินว่าตอนนี้นิยายของคุณมีการนำไปสร้างเป็นซีรีส์แล้ว
ใช่ค่ะ ของค่าย GMM นิยายเรื่องนี้เราส่งไปตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ทีนี้สำนักพิมพ์ก็ลองส่งไปให้ค่ายอ่านว่าสนใจจะสร้างเป็นซีรีส์ไหม ซึ่งเขาก็สนใจเหมือนกันเลยได้สร้าง
ตัวฟิล์มไม่ได้มีส่วนร่วมกับซีรีส์เยอะมาก แค่คุยกับทางผู้กำกับ รับรู้ว่าเขาจะนำนิยายเราไปทำประมาณนี้นะ ถ้ามีจุดนั้นที่เขาอยากปรับ เช่น ชื่อเรื่อง โครงเรื่อง ก็จะคุยกับเราก่อน เพราะทางผู้สร้างก็ค่อนข้างแคร์คนเขียนเหมือนกัน อยากให้เราโอเคกับผลงานนี้
นิยายจะมีฐานคนอ่านอยู่ เวลาถูกนำไปสร้างเป็นหนัง ละคร ฟีดแบ็กหนึ่งที่จะเจอจากคนอ่าน ‘ไม่เห็นเหมือนนิยายเลย’ คุณมีความกังวลไหม
ตอนแรกเราก็คิดนะว่าถ้าสร้างเป็นซีรีส์มันจะส่งผลกระทบนิยายเราหรือเปล่า ฟิล์มเคยได้ยินบางคนพูดว่า ‘พอดูซีรีส์แล้วไม่สนุก ไม่อยากอ่านนิยายไปเลย’ ก็มี แต่พอลองชั่งน้ำหนักทุกอย่าง ฟิล์มคิดว่าข้อดีเยอะกว่า ต่อให้เอานิยายไปทำเป็นซีรีส์แล้วสมมติมันไม่ได้รับผลตอบรับที่ดี แต่นิยายก็ยังคงเป็นนิยายอยู่ ทุกอย่างในเล่มยังเหมือนเดิม สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้นิยายของเราแย่ลง ถามว่ากังวลไหม กังวลนะ แต่ถ้าเรามัวแต่กังวลอยู่จุดนี้มันจะไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย อีกอย่างนิยายมันมี life time ของมันอยู่ ออกแผงปุ๊บคนจะสนใจพักหนึ่ง ก่อนที่จะมีเรื่องใหม่กว่าเข้ามาแทน
บทที่ 4 การซัพพอร์ตจากพ่อแม่
ปฎิกิริยาของครอบครัวต่ออาชีพของเรา
เป็นความโชคดีของฟิล์มที่ในชีวิตนี้ฟิล์มทำอะไรก็ได้ ครอบครัวค่อนข้างซัพพอร์ตตลอด วันที่ฟิล์มลาออกมาเขียนหนังสือ เขาให้โอกาสฟิล์มเป็นคนคิด เป็นคนตัดสินใจ พอวันที่ฟิล์มจะไปทำสตรีมเมอร์ เขาก็ให้โอกาสฟิล์มทำ พ่อแม่จะไม่ค่อยถามว่า ‘ทำทำไม?’ ‘ไหวหรอ?’ ‘เลี้ยงตัวเองได้ไหม?’ เพราะเขารู้จักเราว่าเราคิดแล้ว เราไม่ใช่คนทำไปก่อนโดยไม่คิดอะไร เรารู้ว่าจะได้อะไรจากการทำสิ่งนี้
ฟิล์มว่าที่หลายครอบครัวกังวลถ้าลูกจะทำงานเป็นนักเขียน เพราะเขาอาจจะมองว่าหาเงินไม่ได้ เขียนนิยายไปเรื่องหนึ่งแล้วยังไงต่อ เห็นลูกนั่งเขียนงานที่บ้านก็คิดว่าไม่ได้ทำงาน บางคนโดนถามว่า ‘หางานทำเมื่อไหร่ ไม่หางานทำหรอ’ หลายคนไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่านี่เป็นงานที่เขาทำ
การแก้ปัญหานี้เราอาจจะต้องประสบความสำเร็จกับมัน ต้องมีผลลัพธ์ให้เขาเห็น ฟิล์มว่าผู้ใหญ่หลายคนไม่ค่อยสนใจเรื่องกระบวนการระหว่างทางสักเท่าไหร่ แต่จะสนใจว่าสุดท้ายได้เท่าไรล่ะ เลี้ยงตัวเองได้ไหม
มาจากความเป็นห่วงลูก
ไม่แปลกที่พ่อแม่จะเป็นห่วง เพราะเขาอยู่ในยุคที่ต้องทำงานบริษัทได้รับเงินเดือน ถึงจะมั่นคงเลี้ยงตัวเองได้ เขาไม่เข้าใจหรอกว่าการอยู่บ้านแล้วจะได้เงินยังไง เวลาพูดประเด็นนี้ฟิล์มว่าต้องเข้าใจความแตกต่างแต่ละเจน เรามีประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน
มันเป็นจุดสำคัญในชีวิตจริงๆ เรื่องครอบครัว ถ้าเกิดรีแอคของพ่อแม่ฟิล์มเป็นอีกแบบ ก็คงหนักเหมือนกัน
ฟังดูเหมือนถ้าจะทำอาชีพนักเขียนต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักเลย ซึ่งอาชีพอื่นๆ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นนี้ก็ได้
จากที่ทำมา 3 อาชีพ อินทีเรีย นักเขียน และก็สตรีมเมอร์ สำหรับฟิล์มไม่มีอาชีพไหนไม่ต้องพยายาม อย่าง อินทีเรียก็ต้องใช้ความพยายามหางานหาบริษัททำ แข่งกับคนอื่นๆ นักเขียนเองก็ต้องพยายามเขียนให้งานตัวเองโดดเด่นขึ้นมา ในแพลตฟอร์มที่คนลงวันหนึ่งเป็นร้อยเรื่อง ทำอย่างไรให้คนเข้ามาอ่านงานเรา ส่งไปสำนักพิมพ์ทำให้เขาตีพิมพ์เรื่องของเรา หรือแม้แต่สตรีมเมอร์เองที่ทุกวันนี้มีคนทำเยอะมาก หลากหลายแพลตฟอร์ม ทำยังไงให้คนเข้ามาดู ทุกอาชีพต้องใช้ความพยายามหมด
นอกจากความพยายาม อีกส่วนคือการซับพอร์ตจากครอบครัว
ฟิล์มว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำได้ดีที่สุด คือ การสนับสนุนลูก เพราะการที่เริ่มทำอะไรสักอย่างหนึ่งมันมาพร้อมกับความเครียด อย่างตัวฟิล์มเองตอนเขียนนิยายมันค่อนข้างเครียด กดดันตัวเองสูง ลงนิยายไปแล้วคนอ่านน้อย ฟิล์มโชคดีที่เรามีวิธีกำจัดความเครียดได้ง่าย มีอะไรเล่าให้พ่อแม่ฟังได้หมด เพราะฟิล์มไม่เคยรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ฟังเลย และเมื่อไหร่ที่เราแชร์ความรู้สึกให้คนอื่นฟังปุ๊บ ความเครียดมันจะเบาลงนิดหนึ่ง ถามว่าปัญหาหายไปไหม ไม่หายหรอกนะ แต่ว่าเราพร้อมละ เริ่มใหม่ได้