- แม้เนื้อหาต่างๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์ได้ขยายขอบความรู้ออกไปกว้างมากจนทำให้คนรู้จัก “อะไร” ต่างๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ก็คือ ไม่อาจทำให้คนเข้าใจในแง่ “อย่างไร” ได้อย่างชัดเจน How ในการเรียนออนไลน์จึงหายไป
- โรงเรียนควรใช้โอกาสในช่วงโควิดลดเนื้อหาลงไม่จำเป็นต้องมี 8 วิชา อย่างสิงคโปร์เน้นเรื่องภาษาแม่ ภาษาอังกฤษ เพราะเขาจะให้เด็กอ่านคล่อง จับใจความได้ดี คิดวิเคราะห์ได้ คณิตศาสตร์ก็เป็นการคิดเชิงตรรกะอยู่แล้ว ส่วนวิชาอื่นๆ ก็เรียนด้วยการอ่านทั้งสิ้น
- ชวนคิดต่อว่า ในช่วงนี้ที่เด็กๆ ได้รู้จักการเรียนออนไลน์แล้วจะเป็นจังหวะที่ดีที่จะขยับเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ทันโลกและเหมาะสมกับวิถีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ อย่างไร
การเข้าสู่ห้องเรียนออนไลน์แบบไม่ทันตั้งตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั้งพ่อแม่ ครู และเด็กหลายคนต้องเครียดและเหนื่อยไปตามๆ กัน จากการเรียนออนไลน์ไปแล้วเกือบปี เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่คุ้นเคย ไม่คุ้นชิน ไม่รู้ รวมไปถึงการจัดการที่ไม่ดีได้ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กจำนวนหนึ่งลดลงไป
The Potential นำประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์จากการเสวนาในหัวข้อ “พลิกวิกฤตการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จที่เท่าเทียม” ในงานเสวนาออนไลน์ที่ต่อยอดจากหนังสือ “ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” (Helping Children Succeed) โดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มานำเสนอ เพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหา ข้อติดขัดต่างๆ ของนักเรียน ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ การเรียนที่ถดถอยของเด็กโดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่มีฐานะยากลำบาก
ทั้งนี้ ในเวทีการพูดคุยดังกล่าวมองว่า อนาคตการเรียนออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทต่อระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น เราจึงชวนคิดต่อว่า ในช่วงนี้ที่เด็กๆ ได้รู้จักการเรียนออนไลน์แล้วจะเป็นจังหวะที่ดีที่จะขยับเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ทันโลกและเหมาะสมกับวิถีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ อย่างไร
‘How’ ที่หายไปจากการเรียนออนไลน์
“ข้อดีของการเรียนออนไลน์คือเข้าถึงเนื้อหาได้มากขึ้น” พชร สูงเด่น ผู้แปลหนังสือปั้นให้รุ่งฯ ให้ความเห็นต่อการเรียนออนไลน์จากประสบการณ์ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม แม้พชรจะเห็นว่า เนื้อหาต่างๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์ได้ขยายขอบความรู้ออกไปกว้างมากจนทำให้คนรู้จัก “อะไร” ต่างๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ก็คือ ไม่อาจทำให้คนเข้าใจในแง่ “อย่างไร” ได้อย่างชัดเจน
“อย่างไร หรือ how ในการเรียนมันค่อนข้างสูญเสียไปเยอะในการเรียนออนไลน์เหมือนกัน เราค่อนข้างเชื่ออย่างหนึ่ง อย่างที่ พอล ทัฟ (ผู้เขียนหนังสือปั้นให้รุ่งฯ) บอก อย่างไรมันยังต้องสอนคนอยู่ ก็จะมีเนื้อหาหลายอย่างในหนังสือที่บอกว่า
เราแค่บอกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ว่ามันต้องมีการเอื้อสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้น หรือว่าต้องสร้างสถานการณ์ให้เกิดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ เพราะ content (เนื้อหา) อย่างเดียว เหมือนเป็นขั้นแรก แต่ว่า learning (การเรียนรู้) ขั้นอื่นๆ มันอาจจะเกิดขึ้นได้ยากเมื่อผ่านการเรียนออนไลน์”
จากหนังสือปั้นให้รุ่งฯ พอล ทัฟ ผู้เขียนได้ชี้ว่า ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่ ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ความเครียด’ มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งจะทำให้เกิดการบ่มเพาะพฤติกรรมบางอย่างที่จะติดตัวเด็กไป ประเด็นนี้จึงเชื่อมโยงกับความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหันมาใช้ห้องเรียนออนไลน์ได้ เช่น เมื่อเด็กต้องอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน หรือเมื่อครูสั่งการบ้านมากกว่าการเรียนที่โรงเรียน สิ่งเหล่านี้คือ สภาพแวดล้อมที่ล้วนมีผลต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ ขณะที่เด็กกำลังเรียนออนไลน์ยังมีสิ่งเร้าอื่นมาดึงความสนใจต่อบทเรียนได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อทักษะและนิสัยต่างๆ ของเด็กได้เช่นกัน
“เราไม่สามารถโฟกัสหรือแม้กระทั่งพัฒนาคุณสมบัติบางอย่าง เช่น คุณสมบัติอดทนอดกลั้น ทำอะไรที่มันยากๆ ให้มันลุล่วงไปให้เสร็จ การอยู่ใน process (ขั้นตอน) ของอะไรบางอย่างก็เลยเหมือนกับว่า เราเรียนปุ๊บ เราคิดว่ามันเสร็จแล้ว แต่มันสำเร็จในการเรียนรู้มั้ย ก็อาจจะไม่สำเร็จ ซึ่งมันจะไม่ใช่แค่การเรียนสามชั่วโมงนั้น แต่จะติดตัวไปถึงคุณลักษณะนิสัยเลยว่า เราจะแค่ทำอะไรแค่ผ่านๆ ไป” พชร อธิบาย
โรงเรียนคือที่ส่งเสริม soft skills ครูคือผู้ติดตามการเรียนรู้
“ตอนแรกภรรยาก็กังวลว่า เรียนออนไลน์จะผิดวิธีเรียนรู้หรือเปล่า ผมบอกว่านี่คือชีวิตของเขาในอนาคต” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกลและโฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรกล่าว โดยในฐานะคุณพ่อของลูกสาว วิโรจน์ถือว่าการเปลี่ยนห้องเรียนจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ลูกจะได้ปรับตัว เนื่องจากเห็นว่า โลกในอนาคตของลูกจะต้องอยู่ในโลกที่ออนไลน์เป็นหลักทั้งการเรียนและการทำงาน แต่เขาก็เห็นว่า ห้องเรียนออนไลน์ต้องไม่ใช่การยกห้องเรียนออฟไลน์มาทั้งหมด ควรจะมีการปรับเปลี่ยนด้านเนื้อหาและวิธีการสอนใหม่
“โรงเรียนควรจะใช้โอกาสในช่วงโควิดมาลดเนื้อหาในการเรียนลง จำเป็นเหรอที่จะต้องมี 8 สาระวิชา อย่างประเทศสิงคโปร์ ผมดูหลักสูตรเขา เขาสนใจเรื่องภาษาแม่ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เชื่อมั้ยครับว่าวิทยาศาสตร์ เด็ก ป.1 เด็กอนุบาล เขายังไม่ได้เรียน เพราะเขาจะให้เด็กอ่านคล่อง อ่านจับใจความได้ดี อ่านแบบคิดวิเคราะห์ได้ ทั้งภาษาแม่แล้วก็ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของการคิดเชิงตรรกะ คิดแบบแก้ปัญหาอยู่แล้ว ส่วนวิทยาศาสตร์ สังคม ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ มันก็คือการเรียนด้วยการอ่านทั้งสิ้น” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์มองว่า สิ่งที่การศึกษาไทยทำมาตลอดคือการ “สาด” ข้อมูลให้เด็กมากกว่าที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เขาเสนอไอเดียการทำสื่อการเรียนส่วนกลางที่นักเรียนสามารถเข้าดูเนื้อหาได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยควรเป็นสื่อที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เป็นสื่อที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ จากนั้นโรงเรียนจะให้เด็กนำสิ่งที่รู้มาถกเถียงกันผ่านห้องเรียนออฟไลน์หรือการพูดคุยออนไลน์ (teleconference) ก็ย่อมได้
“ถ้าเราสามารถรวมครูเก่งมา จะเป็นการลดภาระครูด้วยซ้ำ และเป็นวิชาที่เด็กทุกคนจะต้องเรียน ครูทุกคนแทนที่จะต้องไปโฟกัสว่าจะสอนเนื้อหาอะไร ครูที่ทำหน้าที่หน้างานก็ไปติดตามการเรียนรู้ของเด็ก ประเมินผล จัดกลุ่มการเรียนรู้ ทำงานเป็นทีมน่าจะดีกว่า
ก็คือมีแหล่งเรียนรู้ร่วมกันที่เป็นออนไลน์ แล้วก็เนื้อหาที่เข้าถึงได้สอนสนุก ครูก็อาจจะได้ลดภาระเรื่องการเรียนการสอน ใช้แหล่งเรียนรู้ให้มีประโยชน์ แล้วก็ไปมีบทบาทในเรื่องของการทำให้เด็กทำงานเป็นทีม เรื่องการดูแลเด็กให้เป็นรายคน ไปใช้พลังกับตรงนั้นมากกว่าที่จะต้องมาเตรียมการสอน” ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ จาก กสศ. เสริม
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเรียนออนไลน์ยังคงไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็ก วิโรจน์เห็นว่า เรื่องการเข้าสังคมและการมีเพื่อนที่เด็กจะได้จากการไปโรงเรียนยังเป็นเรี่องจำเป็นมาก บทบาทของโรงเรียนจึงควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่พ่อแม่จะวางใจได้หลังจากที่ปล่อยมือลูกไปและเป็นสถานที่ฝึกทักษะด้านสังคมให้กับเด็ก
“การเรียนรู้แบบกายภาพมีประโยชน์อะไร ผมมองเหมือนกับองค์กรสมัยใหม่ ผมถามเขาว่าเขายังคงเรียกพนักงานมา training (ฝึกฝน) มาพบปะสังสรรค์กันเพื่ออะไร ผู้บริหารหลายท่านบอกว่าเขาต้องการให้พนักงานมารวมตัวกันแล้วมาทำกิจกรรมร่วมกัน เขาต้องการให้พนักงานรู้สึกว่าเขาได้รับรางวัล รู้สึกถึงความภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็นในองค์กร รู้สึกมีความสุขในการที่เขาได้เจอเพื่อนๆ แล้วก็ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างตัวเขากับเพื่อน
หลักสูตรสมัยใหม่ เขาไม่มาพูด ไม่มีแลคเชอร์กันแล้ว มาทำกิจกรรมกันอย่างเดียว เพราะถ้าจะแลคเชอร์กันเขาทำผ่านระบบ online training แทน ผมว่าการเรียนรู้ต้องถูกปรับแล้ว” วิโรจน์ แสดงความเห็น
หัวใจสำคัญคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน
ณ ตอนนี้ เราคงเห็นแล้วว่า “โรงเรียน” ได้รับผลกระทบจากการพยายามยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมาก จากการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการปิดโรงเรียนในบางพื้นที่และการย้ายเด็กให้ไปเรียนออนไลน์อย่างขอไปทีได้สะท้อนให้เห็นว่า เรายังไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กเท่าที่ควร
“เราถูก disrupt จากเดิมโดยเทคโนโลยีมา ตอนนี้โควิดมา disrupt ด้วย” ธันว์ธิดากล่าว เธอยอมรับว่า ตอนนี้การเรียนออนไลน์เป็นทางออกหนึ่ง แต่ก็ต้องคำนึงถึงด้วยว่านี่อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอยได้หากไม่มีการจัดการที่ดีพอ
ธันว์ธิดายกตัวอย่างให้เห็นถึงกิจกรรมที่ทาง กสศ. กำลังทำร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับการควบคุมสูงสุด กสศ.ใช้วิธีผสมผสานระหว่างการเรียนที่โรงเรียนและออนไลน์ โดยจัดให้ครูไปเยี่ยมบ้านเด็กและจัดทำ “กล่องการเรียนรู้” ให้เด็กได้ฝึกคิดและเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ให้เด็กไม่หยุดการเรียนรู้ และผู้ปกครองก็สามารถคอยเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กได้
ทั้งนี้จากประสบการณ์การทำงานกับเด็ก เธอได้แลกเปลี่ยนด้วยว่า ที่จริงแล้วสิ่งที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหาจำนวนมากๆ ที่ครูคอยป้อนให้เด็ก
“หัวใจสำคัญไม่ใช่แค่วิชาหรือว่าสอนอะไร สิ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปไม่ได้คือเรื่องของ engagement ของเด็ก หรือว่าการปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ
ปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบหรือว่าเรียนไม่ดี จริงๆ มันก็มีอยู่ 2 เรื่อง มีที่เด็กออกจากโรงเรียนเพราะความยากจน และก็มีปัจจัยที่เกิดจากการศึกษาด้วยหลักสูตรที่ไม่ได้ตอบโจทย์เขาด้วย เขาไม่เห็นความหมาย ไม่คิดว่าเรียนเนื้อหาอันนี้แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับเขา” ธันว์ธิดา อธิบาย
ด้านพชรเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงต่อจากนี้น่าจะต้องเริ่มที่การสร้างความเข้าใจเรื่องปัจจัยทางกายภาพและทางจิตใจที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก และต้องทำความเข้าใจใหม่เรื่อง “การเรียนรู้” ด้วยว่าเป็นกระบวนการคิด การประมวลผล การมีส่วนร่วม การมีประสบการณ์ ไม่ใช่แค่การอ่านและฟัง พชรยังยืนยันว่า ทั้งพื้นที่ออฟไลน์และออนไลน์มีความจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ อยู่ที่ว่าเราจะออกแบบพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร
“เพราะว่าเราก็ไม่ได้เกิดเติบโตมาเป็น digital native (ประชากรยุคดิจิทัล) เราเองก็อยู่ในโลกยุคแอนะล็อกอยู่ช่วงหนึ่งแล้วก็เป็นผู้ใช้ออนไลน์ช่วงหนึ่ง แต่พอเรามาคิดว่าเด็กยุคใหม่ ไม่ว่าจะยังไงก็ตามแต่เขาเกิดมากับสิ่งนี้โดยทันควัน คำถามก็คือว่าเราอาจจะไม่ต้องใช้สมการว่าออนไลน์หรือออฟไลน์อันไหนดีกว่ากันอีกต่อไปแล้ว คำถามนี้ไม่ใช่คำถามที่ถูกต้องตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
คำถามของมันต่อไปอาจจะเป็นว่าฟังก์ชันของ 2 พื้นที่นี้ ฟังก์ชันของออนไลน์ควรจะเป็นอย่างไร ฟังก์ชันของออฟไลน์ควรจะเป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าทั้งสองอย่างมันก็มีความจำเป็นทั้งคู่” พชร กล่าว
ดังนั้นคำถามต่อมาที่ผู้ที่ทำงานการศึกษาจะต้องหาคำตอบให้ได้ก็คือ
-หากจะมีการเรียนออนไลน์มากขึ้น อะไรบ้างที่จะอยู่ในห้องเรียนออนไลน์
-อะไรบ้างที่โรงเรียนหรือครูมีหน้าที่ที่จะต้องฝึกให้เด็ก เช่น soft skills ต่างๆ
-จะทำอย่างไรให้เด็กจดจ่ออยู่กับเนื้อหาออนไลน์
-ผู้ดูแลเด็กจะจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเอื้อให้ทักษะแห่งความสำเร็จของเด็กเพิ่มพูนอย่างไร
-จะมีสื่อหรือการจัดการอื่นใดมาช่วยสนับสนุนเด็กๆ ได้อีกนอกจากสื่อออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ “how” หรือทำให้เด็กเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกันได้อย่างกระตือรือร้น
หากช่วยกันคิดต่อจากคำถามเหล่านี้ได้… เด็กก็จะเกิด “การเรียนรู้” อย่างแท้จริง