- ฌอง – บัปติสท์ คลามองซ์ ตัวละครชายที่ไม่เปิดโอกาสให้เราได้โต้ตอบ ตัวละครที่เอาแต่เล่าเรื่องราวและสารภาพความผิดที่ผ่านมาของตนเอง แต่กลับพาเราดำดิ่งลึกลงไปสู่การค้นหาและรู้จักกับตัวตนของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง และพาให้เราฉุกคิดว่า หรือแท้ที่จริงแล้ว ทั้งตัวเราและผู้คนที่รายล้อมอยู่ในสังคมนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น ‘มนุษย์สองหน้า’ ด้วยกันทั้งสิ้น
- ความเป็น ‘คนดี’ แท้ที่จริงแล้วคืออะไร แค่เพียงการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เข้าวัด ทำบุญ ให้ทาน เพียงพอหรือไม่? ที่จะบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนดี หรือให้อำนาจบุคคลนั้นในการพิพากษาความดี ความเลว ของบุคคลอื่น และตัดสินใจว่าบุคคลนั้นสมควรที่จะโดนลงโทษอย่างไร
ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เราได้ตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าจะใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้น โดยหนึ่งในความสนใจของเรา คือ อยากรู้จักกับตัวตนของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ผ่านการบอกเล่าและการตีความที่หลากหลาย จนทำให้วันหนึ่งเราได้มาพบกับ ฌอง – บัปติสท์ คลามองซ์* ตัวละครชายที่ไม่เปิดโอกาสให้เราได้โต้ตอบ ตัวละครที่เอาแต่เล่าเรื่องราวและสารภาพความผิดที่ผ่านมาของตนเอง แต่กลับพาเราดำดิ่งลึกลงไปสู่การค้นหาและรู้จักกับตัวตนของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง และพาให้เราฉุกคิดว่า หรือแท้ที่จริงแล้ว ทั้งตัวเราและผู้คนที่รายล้อมอยู่ในสังคมนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น ‘มนุษย์สองหน้า’ ด้วยกันทั้งสิ้น…
คลามองซ์ เป็นทนายความผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ทนเห็นผู้ประสบกับความเคราะห์ร้ายเป็นไม่ได้
ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ตั้งแต่การว่าความให้กับผู้ยากไร้โดยไม่เรียกเงิน ให้ทาน ช่วยยกหีบยกกระเป๋าให้ผู้โดยสารที่ไม่รู้จักในขบวนรถไฟ ไปจนถึงการรีบวิ่งไปจูงคนตาบอดข้ามถนน ซึ่งการแสดงออกถึงความสุภาพ ความใจดีเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ นอกจากจะสร้างการยอมรับนับถือและสรรเสริญจากผู้คนที่รู้จักเขาแล้ว ยังสร้างความสุข ความอิ่มใจ ในความดีงามของตนเองให้กับเขา จนเกิดเป็นความนิยมตัวเองอย่างสุดซึ้ง และรู้สึกว่าตนเองนั้น วิเศษ กว่าคนธรรมดาทั่วไปเป็นอย่างมาก
กระทั่งวันหนึ่งขณะที่กำลังเดินขึ้นสะพานเพื่อกลับบ้าน เขาเห็นหญิงสาวคนหนึ่งกำลังจ้องมองลงไปที่แม่น้ำ จนเมื่อเขาเดินผ่านไปไกลจนสุดสะพานแล้ว พลันได้ยินเสียงร่างกระทบน้ำอย่างรุนแรงกึกก้อง ซึ่ง ณ จังหวะนั้น เขาได้หยุดนิ่ง ไม่เหลียวไปดู กระทั่งเสียงหญิงสาวที่ร้องซ้ำๆ ไกลออกไป และเงียบสนิทลงในที่สุด ราวกับทุกอย่างหยุดนิ่งเหมือนกับจะไม่มีการเคลื่อนไหวชั่วนิรันดร แม้ว่าจะอยากวิ่งหนีไปขนาดไหน แต่ก็ก้าวขาไม่ออก แม้จะบอกตัวเองว่าต้องรีบ แต่ก็รู้สึกอ่อนปวกเปียกไปหมดทั้งตัว ในใจคิดวนเวียนกับตัวเองเพียงว่า ‘คงสายไปเสียแล้ว ไปไกลเสียแล้ว’ จนอีกสักพักใหญ่ เขาจึงเดินช้า ๆ เพื่อพาตัวเองกลับบ้าน และไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังอีกเลย
หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ภาพที่เขาเคยได้ประกอบสร้างขึ้นมากลับพลันสลายลงไปช้าๆ แม้ว่าผู้คนรอบตัวจะยังคงชื่นชมและสรรเสริญ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ความคลอนแคลนในตนเองที่เกิดขึ้น ความสงสัยในตัวตนของตนเอง และความรู้สึกที่ต้องพยายามต้องหลีกเลี่ยงการถูกพิพากษาจากผู้คน ที่วันหนึ่งอาจพบว่าที่จริงแล้วการแสดงออกที่เขาเคยทำมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงการตีหน้าว่าตนเองเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยศีลธรรม สร้างตัวตนเพื่อให้ได้รับการชื่มชมสรรเสริญ ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาเป็นเพียงมนุษย์ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นก็เฉพาะเรื่องที่ตนเองสามารถทำได้โดยง่าย และแน่ใจว่าจะมีผู้พบเห็น เพื่อสรรเสริญเขาต่อไปเท่านั้น
เมื่อพาคนตาบอดข้ามถนนเสร็จแล้ว ต้องมองซ้ายมองขวาเพื่อให้มั่นใจ ว่ามีคนตาดีมองเห็นการกระทำของเขา ซ้ำร้ายกว่านั้นคือเมื่อสำรวจลึกลงไปในจิตใจ ยิ่งพบว่าความพยายามวิ่งเข้าหาเพื่อช่วยเหลือคนตาบอดและผู้ยากไร้ของเขา เป็นผลลัพธ์ที่ประกอบขึ้นจากการมองว่าคนเหล่านั้นคือผู้ที่ด้อยกว่า และเป็นเพียงเครื่องมือที่พาตัวเขาไปสู่เป้าหมายในการเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องราวนี้ไม่เพียงชวนให้เราคิดถึงความคิดความอ่านของตัวเอง แต่ยังอดไม่ได้ที่จะชวนให้เรานำมาใช้ในการมองสังคมปัจจุบัน สังคมอันเต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะแสดงออกและบอกกล่าวกับผู้อื่นอยู่เสมอ ว่าตนเองนั้นเป็นคนดี เปี่ยมไปด้วยศีลธรรม โดยการแชร์ภาพที่เข้าหาศาสนา ธรรมะ คำสอน ไปจนถึงการให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่นเล็กๆ น้อยๆ ในทุกครั้งที่โอกาสอำนวย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องที่ท้าทายทางศีลธรรม เช่น การพบเห็นผู้ที่มีความคิดความเชื่อต่างออกไป ต้องถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะด้วยกฎหมาย หรือการทำร้ายร่างกายโดยตรง ผู้คนกลุ่มเดียวกันนี้เองที่ส่งเสริมและสนับสนุนการกระทำอันรุนแรงและป่าเถื่อนเหล่านั้น เพียงเพราะเห็นว่าคนกลุ่มนั้นเป็นคนที่ต่างจากตนเอง มีความผิดที่คิดและเชื่อเช่นนั้น ทำให้ตนเองที่ถือว่าเป็นคนที่ดีกว่า เหนือกว่า มีอำนาจในการพิพากษาว่าพวกเขาเหล่านั้น สมควรแล้วที่จะถูกกระทำอย่างไรก็ได้ แค่เพียงเพราะพวกเขาไม่ใช่ ‘คนดี’ อย่างที่พวกตนเป็นก็เท่านั้น
ดังนั้น เราจึงอยากชวนให้คิดว่า ความเป็น ‘คนดี’ แท้ที่จริงแล้วคืออะไร แค่เพียงการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เข้าวัด ทำบุญ ให้ทาน เพียงพอหรือไม่ที่จะบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนดี หรือให้อำนาจบุคคลนั้นในการพิพากษาความดี ความเลว ของบุคคลอื่น และตัดสินใจว่าใครสมควรที่จะโดนลงโทษอย่างไร หรือแท้ที่จริงแล้ว การทำความดีเหล่านั้น เป็นเพียงฉากบังหน้า เพื่อให้ตนเองสามารถแสดงออกถึงความเลวที่อยู่ภายในได้ โดยมีเกราะกำบังแก่ตัวตนของตนเอง ทั้งเพื่อหลอกผู้อื่นและตนเอง ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเลวอย่างที่เป็นจริง เพียงเพราะเป็นมุมมองของตนเอง ผู้มีศีลธรรมเหนือกว่าผู้อื่นก็เท่านั้น
การคิดทบทวนเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องคิดออกมาดังๆ หรือกังวลว่าจะกระทบกับภาพที่ผู้อื่นกำลังมองตัวเราอยู่ หากเพียงถ้ามีโอกาส อาจจะลองหยิบหนังสือ ‘มนุษย์สองหน้า’ เล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
พาตัวเองเข้าไปสนทนากับ คลามองซ์ รับฟังการสารภาพเรื่องราวของเขา และปล่อยให้เขาพาคุณไปตั้งคำถามกับตัวเอง คิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในการกระทำและตัวตนของเราลึกๆ ที่เราอาจสารภาพออกมากับเขาเพียงเบาๆ ไม่ใช่เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ แต่เพื่อให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น ก็คงเพียงพอแล้ว
ตัวละครจากหนังสือ มนุษย์สองหน้า แปลมาจากหนังสือ The Fall เขียนโดย อาลแบร์ กามูว์ (Albert Camus) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส |