- ผลกระทบที่มาจากการเลี้ยงดูในลักษณะที่ปกป้องเกินไปกระทั่งกลายเป็นการควบคุมบงการ ผ่านตัวละครตำนานอูเธอร์ เพนดรากอนและมอร์กานาจากละครโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักร เมอร์ลิน (Merlin)
- ผลกระทบสุดโต่งทางแรกคือ สูญเสียตัวเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์ และอยู่กับความรู้สึกไม่ ‘จริง’ สุดโต่งอีกทางคือ การตัดสัมพันธ์กับอีกฝ่ายเพื่อที่จะมีความสัมพันธ์กับของตัวเองจริงๆ
- นำเสนอการทำงานกับโลกภายในเพื่อให้เกิดทางเลือกที่แตกต่างจากสุดโต่งสองด้านดังกล่าว
“บัดนี้ข้ารู้แล้วว่าที่แท้นั้นข้าเป็นใคร และมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องกลัว สักวันหนึ่งผู้คนอาจมองว่าเวทย์มนตร์เป็นพลังที่ดีก็ได้” — มอร์กอนา พูดกับเมอร์ลิน
ในบทที่แล้ว (อ่านบทความ) เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ควบคุมและผู้ถูกควบคุม ผ่านตัวละครในตำนาน อูเธอร์ เพนดรากอน พ่อ และ มอร์กานา ลูกสาว ความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่ราบรื่น เพราะอูเธอร์ชิงชังคนที่มีหรือใช้เวทมนตร์ถึงขนาดที่ต้องประหารผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก รากของความชิงชังต่อเวทมนตร์นั้นสืบขึ้นไปได้ถึงเหตุการณ์ที่เขาขอให้แม่มดนิมเวย์ช่วยให้ภรรยาเขาตั้งครรภ์รัชทายาท นั่นก็คือ อาเธอร์ (พี่ชายต่างมารดาของมอร์กานา) ทว่ากฎของศาสนาโบราณเน้นเรื่องความสมดุล ในการทำให้ชีวิตหนึ่งเกิดขึ้น ก็ย่อมต้องมีชีวิตที่ถูกพรากเอาไป และนั่นก็คือ ชีวิตแห่งภรรยาของอูเธอร์
อูเธอร์จัดการกับความรู้สึกผิดไม่ได้ ความผิดจึงตกไปอยู่กับทุกคนที่มีหรือใช้เวทมนตร์ เขาเพียงแค่ไม่อยากรับรู้อารมณ์ที่ทำให้รู้สึกอ่อนแอต่างๆ จึงแปรเปลี่ยนให้เป็นความโกรธ ภายใต้หน้ากากทรราชย์ผู้สั่งฆ่าคนที่ใช้เวทย์มนตร์จำนวนมากมาย เขาเพียงแต่ไม่อยากเปราะบางและหวาดกลัวที่จะสูญเสียอีกเท่านั้นเอง
ส่วนมอร์กานาเองเป็นคนที่มีเวทมนตร์และมีความเป็นนักสู้ในตัวเองด้วย แต่เมื่อพ่อของเธอปฏิเสธมัน เธอจึงต้องยอมตัดขาดกับแก่นสารบางอย่างของตัวเองและหลับใหลอยู่กับความรู้สึก ‘ไม่จริง’ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยและเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับพ่อ นี่คือตัวอย่างของสุดโต่งแบบแรกในความสัมพันธ์ลักษณะนี้
สุดโต่งแบบที่หนึ่ง : สูญเสียตัวเอง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ และอยู่กับความรู้สึกไม่ ‘จริง’ ไปเรื่อยๆ
1.ถ้าฉันแสดงความเป็นตัวเองออกมา และรู้สึกอย่างที่รู้สึก ฉันจะถูกปฏิเสธหรือตกอยู่ในอันตราย
ดร.กาบอร์ มาเธ่ (Gabor Maté) แพทย์ซึ่งสนใจเป็นพิเศษในเรื่องบาดแผลทางจิตใจและพัฒนาการในวัยเด็ก อธิบายว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่คลอดออกมากแล้วก็ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ต้องพึ่งพิงคนอื่นมากที่สุด อีกทั้งเป็นเวลานานกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ความผูกพันซึ่งรวมไปถึงความเชื่อมโยงและความรักจึงทำให้มนุษย์มีโอกาสอยู่รอดและเติบโต
ทว่านอกจากความผูกพัน มนุษย์ยังจำเป็นต้องสามารถรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง อีกทั้งสามารถแสดงออกถึงสิ่งที่เราเป็นและอนุญาตให้ลักษณะต่างๆ ของเราปรากฏอยู่ในความสัมพันธ์ กระนั้น ในความผูกพันระหว่างพ่อแม่และลูกซึ่งยังเป็นเด็กนั้น บางห้วงเวลาคนเป็นพ่อแม่อาจกำลังเครียด หรือเจ็บปวดกับบาดแผลบางอย่าง ฯลฯ
ดังนั้นแม้จะรักลูกมาก แต่โดยไม่รู้ตัวก็สามารถส่งสารบางอย่างออกไป ทำให้ลูกตีความว่าลูกไม่เป็นที่ต้องการ หรือฉันคือความผิดพลาดมาตั้งแต่แรกแล้ว
เช่น เกิดมาแล้วรู้สึกว่าตัวเองทำให้พ่อแม่ลำบากขึ้น ไม่น่าเกิดมาเลย หรือเกิดมาแล้วไม่สามารถช่วยให้พ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างที่แม่ตั้งใจ หรือลูกตีความว่าถ้าลูกเป็นสิ่งที่เขาเป็นหรือถ้ายืนกรานในความรู้สึกจริงๆ ของตัวเอง พ่อแม่จะปฏิเสธเขา
เด็กอาจมีข้อสรุปว่าฉันต้องไม่แสดงความเป็นตัวเองออกมาเพราะมันอันตรายต่อความรอด จึงปรับตัวเข้ากับผู้เลี้ยงดูด้วยการกดความเป็นตัวเอง รวมถึงกดสัญชาตญาณและอารมณ์ต่างๆ อันเป็นเครื่องนำทาง เด็กผูกตัวเองอยู่กับการรับผิดชอบอารมณ์ของผู้เลี้ยงดู และมักห่วงความต้องการทางอารมณ์ของคนอื่นมากกว่าของตัวเอง ถ้าคนอื่นรู้สึกผิดหวังหรือรู้สึกไม่ดี ก็รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบ
เฉกเช่นมอร์กานา เธอรู้ว่าพ่อรักเธอและเขาก็มีเรื่องเครียดอยู่แล้ว นั่นคือพ่อรู้สึกว่าเวทย์มนตร์คืออันตรายต่อราษฎรอันต้องกวาดล้าง เมื่อเธอเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีเวทย์มนตร์ เธอจึงไม่อาจรับรู้มันอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะเธอเองก็ต้องอยู่กับความหวาดกลัวว่าพ่อจะรับไม่ได้และเธอจะไม่รอด เธอไปบอกหมอหลวง แต่เพื่อจะปกป้องเธอ หมอหลวงก็หักล้างความรู้สึกเธอว่าไม่จริง ทำให้เธอสับสนที่จะเชื่อความรู้สึกตัวเอง (หมอหลวงในที่นี้เปรียบได้กับ ความรู้สึกกลัวและความรู้สึกผิด ฯลฯ) นอกจากนี้เมื่อมอร์กานาคัดค้านพ่อไปตามมโนธรรมของเธอ เธอกลับถูกจับขังไว้ในคุกใต้ดิน แม้พ่อของเธอจะมาขอโทษในภายหลัง แต่เธอก็ย่อมเรียนรู้แล้วว่าถ้าทำตามความรู้สึกจริงๆ เธอต้องถูกทำโทษ
เรื่องราวส่วนนี้ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาให้โทษผู้ดูแล เพราะเขาก็พยายามทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่เขาก็มีสถานการณ์ส่วนตัวที่ต้องรับมือเหมือนกัน
ทว่าก็ยังมีกรณีแบบอื่น เช่น เด็กโดนคนเลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศ แต่กดความรู้สึกโกรธไว้และไม่ได้บอกใครเพราะรู้สึกว่าสู้ไม่ได้ หรือเด็กถูกทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกาย แล้วกดความรู้สึกว่าคนที่เลี้ยงดูทำผิดต่อเรา บ้างบอกว่าต้องไม่ปกป้องตัวเองด้วยการสู้กลับเพราะจะเป็นการ ‘อกตัญญู’ แต่สรุปว่าตัวเองทำผิดจึงสมควรรับโทษ เด็กตัดขาดกับสัญญาณเตือนภัยและอารมณ์โกรธในตัวเองเพื่อรักษาสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู และบ้างก็มีประสบการณ์ที่สู้กับคนนอกแล้วพ่ายแพ้ด้วย
เมื่อกลายเป็นพ่อแม่ หนึ่งในอีกวิธีปกป้องลูกจึงเป็นการห้ามไม่ให้ลูกสู้คนอื่นโดยมีลักษณะการห้ามที่มีอารมณ์โกรธรุนแรงหรือกลัวสูง โดยที่ขณะนั้นเขาก็มักไม่รู้ตัวและภายหลังยังบอกว่าจำมันไม่ได้อีกต่างหาก และนั่นเองเขากำลังส่งทอดวิธีรับมือ (coping) กับสถานการณ์ตึงเครียดของตัวเองไปให้ลูก หากลูกคนนั้นยังไม่ได้ทำงานกับตัวเองก็สามารถสืบมรดกรูปแบบความสัมพันธ์ที่ปล่อยให้คนอื่นล้ำเส้นในลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งมันรวมไปถึงการที่ลูกต้องกดสิ่งที่ช่วยนำทางให้พ้นภัย เช่น ความรู้สึกว่าอะไรอันตรายกับเราและอารมณ์โกรธ ผลลัพธ์คือ คนๆ นั้นไม่เพียงสูญเสียความเชื่อมโยงกับตัวเอง แต่ภูมิคุ้มกันก็อาจถูกกดไว้ (ทำหน้าที่แบบเดียวกับความโกรธ คือ ปกป้องอาณาเขตของเราให้พ้นจากอันตราย) และมีผลลบกับระบบประสาทของเขาด้วย
ถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็เริ่มจะมีราคาที่ต้องจ่าย เช่น ความป่วยไข้ทางร่างกายหรือจิตใจ การเสพติดสิ่งต่างๆ รวมถึงเสพติดความสัมพันธ์ที่เป็นโทษต่อตัวเอง ดร. มาเธ่ ให้ตัวอย่างว่าบางคนไม่ได้ติดสารเสพติด แต่ติด ‘ดี’ ต้องเป็นมิตรตลอดเวลา ซึ่งสะท้อนความพยายามหนีความเจ็บปวดจากการไม่ถูกยอมรับอย่างที่ตัวเองเป็น ฉันจึงเป็นอะไรให้พวกคุณก็ได้ แค่รักฉันเถอะ มองเห็นฉันบ้าง ว่ากันว่าคนดีตายเร็ว ซึ่งก็จริงในหลายกรณี เพราะหลายคนติด nice จนกระทั่งเป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง (autoimmune disease) หรือเป็นมะเร็ง ซึ่งบางคนที่เป็นมะเร็งแล้วปฏิวัติตัวเองกลายเป็นคนกล้าปฏิเสธคนอื่น กล้าบอกว่าตัวเองไม่เอาอะไร กล้าใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ ก็กลับหายจากมะเร็งไปอย่างน่าอัศจรรย์
ในการเปลี่ยนผ่านของชีวิต อาการป่วยไข้เหล่านี้ไม่ได้มาบอกว่าเรามีตำหนิ แต่เป็นดั่งเสียงกระซิบซาบแห่งกระบวนการเติบโตทางจิตใจ มันคือเสียงเพรียกหา (Calling) คล้ายในไพ่ The Judgement ให้ต้องใคร่ครวญเพื่อจะเข้าใจว่ามี แนวเรื่องซ้ำรอยเดิมบางอย่าง อยู่ตลอดเส้นทางชีวิตของเรา และเรามีศักยภาพที่จะตระหนักว่าต้องทำหรืองดเว้นการกระทำอะไรหากไม่ต้องการตกร่องเดิมอี
2.โลกภายนอกอันตราย เธอจึงต้องเชื่อฟังและพึ่งพาฉัน : ศักยภาพและจุดยืนที่ถูกกดไว้
ชีวิตของมอร์กานา ไม่เพียงแต่สะท้อนคนที่ต้องตัดขาดกับแก่นของตัวเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์ แต่ยังแสดงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ผู้เลี้ยงดูรู้สึกว่าโลกภายนอกอันตรายอย่างยิ่ง และกลัวสูญเสียลูกไปเพราะอันตรายนั้น (รวมถึงกลัวสูญเสียถ้าหากลูกปีกกล้าขาแข็ง) พวกเขามีแรงขับให้ปกป้องลูกอย่างสุดขีด ซึ่งบ้างก็รวมถึงการปกป้องโดยไม่ให้ลูกสู้คน! (เพราะกลัวว่าหากสู้แล้วแพ้ลูกจะได้รับอันตราย) ผู้เป็นลูกบางส่วนถูกผู้เลี้ยงดูสะกดให้เชื่อว่าตัวเองไม่สามารถรับมือกับโลกภายนอกได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองและต้องพึ่งพาผู้เลี้ยงดูในทางใดทางหนึ่งในลักษณะที่กระทบความนับถือตัวเองของลูกคนนั้น
แนวเรื่องเล่าที่ได้ยินซ้ำๆ คือ การที่ผู้ปกครองปกป้องลูกอย่างสุดขีด ซึ่งมักจะเป็นลูกสาว ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะว่าโดยทางกายภาพอาจมีโอกาสเกิดอันตรายกับผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย รวมถึงมีกรอบทางวัฒนธรรมอีกมากมายโอบล้อมอยู่ ลูกสาวหลายคนที่มีศักยภาพและพรสวรรค์สูง แต่กลับต้องมาซึมเศร้าเมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อคุยไปเรื่อยๆ พบว่าพวกเธอบางส่วนไม่เคยไปอยู่คนเดียวที่ไหนเลย แม้ต้องไปเรียนในที่ไกลๆ ก็ไม่ได้อยู่หออย่างนักศึกษาคนอื่นแต่ต้องเดินทางไปกลับเพื่อให้อยู่ในสายตาผู้ปกครอง พวกเธอถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองอ่อนแอเกินไป หรือไม่มีความสามารถในการดูแลตัวเองดังนั้นจึงต้องอยู่กับพ่อแม่ในรูปแบบที่พ่อแม่คุ้นเคยเท่านั้น หรือต้องมีแฟนที่พ่อแม่เห็นชอบด้วยเพื่อให้มาดูแลเธอ!
ลูกที่ถูกปกป้อง ซึ่งในที่นี้คือควบคุมมากเกินไป เมื่อถึงจุดที่อึดอัดสุดขีด บางส่วนก็ออกไปอยู่ที่อื่นเองนอกบ้านในช่วงวันทำงานแล้วค่อยกลับบ้านเป็นพักๆ แต่ที่น่าสนใจคือ มีคนส่วนหนึ่งที่อายุ 20+ 30+ แล้วแต่ทำได้แค่ปรารถนาและยังคงต้องอยู่ในวงจรขาดจุดยืน คนส่วนหนึ่งในนี้มีอาการซึมเศร้าและได้รับยาต้านเศร้า น่าสนใจเพราะคำว่ารู้สึกซึมเศร้าหรือ depressed นั้นหมายความอีกอย่างได้ว่ากดลงไป นั่นคือ คนเหล่านี้ต้องเก็บกดความรู้สึกหลายอย่างและความเป็นตัวเองเอาไว้
บ้างรู้สึกว่าต้องใช้การแต่งงานเป็นการออกจากบ้านไปมีชีวิตของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการรับประกันได้ว่าสิ่งแวดล้อมใหม่จะมีอิสระมากขึ้น หนำซ้ำยังอาจเลือกแฟนที่ย้ำรอยความสัมพันธ์แบบเดิมด้วย แม้แต่คนที่มั่นใจว่าตัวเองมีศักยภาพต่อกรกับโลกภายนอกพอสมควร ก็ยังกลัวการพัดพรากจากบุคคลที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งก็กลับมาที่สมการเดิมในวัยเด็กว่า ถ้าฉันเป็นตัวเองฉันจะถูกปฏิเสธและถูกตัดความสัมพันธ์
แต่ทุกคนมีโอกาสเปลี่ยนแปลงและเติบโตหากพร้อมเผชิญกับอารมณ์ต่างๆ ของตัวเอง เช่น ความกลัว ความรู้สึกผิด ความละอายใจ ฯลฯ
คนที่เห็นศักยภาพของตัวเองอาจขบถเหมือนมอร์กานา (ซึ่งในชีวิตจริงก็คงไม่เลวร้ายอย่างที่มอร์กานาทำ) มอร์กานามีความเป็นนักรบและมีเวทย์มนตร์ที่ต้องเก็บงำไว้ อีกทั้งไม่สามารถนำมันมาเชื่อมโยงกับชุมชนที่เป็นเหมือนกับเธอได้ เธอย่อมไม่เพียงแต่อึดอัด แต่ยังขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belong) ด้วย เมื่อมาร์กานาค่อยๆ เติบโตขึ้นประกอบกับเห็นด้านลบของอูเธอร์ที่มีอำนาจควบคุมเธอและชาวเวทย์อื่นๆ วันหนึ่งเธอย่อมปิดบังตัวเองไม่ไหว เธออัดแน่นไปด้วยความโกรธและต้องลุกขึ้นทำอะไรบางอย่าง
สุดโต่งอีกด้าน : ตัดสัมพันธ์กับอีกฝ่าย เพื่อที่จะมีความสัมพันธ์กับของตัวเองจริงๆ
ในเรื่อง มอร์กานาจับพ่อไปขังไว้และเถลิงขึ้นเป็นราชินีจอมโหดเสียเอง ทั้งที่ตั้งแต่แรกเธอก็ไม่ชอบความเป็นทรราชย์ของพ่อเอาเลย ในแนวเรื่องนี้ อยากอ่านในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ในแง่ที่เป็นการตัดความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย หรือเป็นการกล้าตัดสินใจแบบที่ตัวเองต้องการเลยโดยที่ไม่แคร์การควบคุมของอีกฝ่ายแล้ว
การเป็นนักรบและการมีเวทย์มนตร์ของมอร์กานาอาจเป็นเพียงแค่ความกล้าหาญและความสามารถในการกลับมาสัมผัสกับแก่นสาร สัญชาติญาณและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ว่าคนอื่นจะชอบหรือไม่ชอบมันก็ตาม บางทีคนอื่นก็สามารถสัมพันธ์กับเราได้ลึกเพียงเท่าที่เขาสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ของตนเอง เราจึงไม่จำเป็นต้องรับเอากรอบกั้นของเขาเสมอไป การเป็นราชินีครองอาณาจักรแห่งชีวิตของตัวเอง หมายความเชิงสัญลักษณ์ได้ว่า ในจุดนั้น เราสามารถแสดงจุดยืนว่าอะไรบ้างที่คนอื่นยัดเยียดให้ทว่าเราไม่ยินดีแบกรับไว้ มันคือการตื่นขึ้นมารับผิดชอบชีวิตตัวเอง (responsible) ซึ่งไม่ได้เป็นการกระโจนเข้ารับผิดชอบความรู้สึกทุกคนหากไม่ได้ทำอะไรผิด ตรงกันข้ามการเป็นราชินีปลดล็อคจากความรู้สึกผิดพร่ำเพรื่อ จึงทำให้สามารถที่จะตอบสนอง (able to response) ไปตามความรู้สึกที่แท้จริงได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเก็บกดที่ผ่านมาก็อาจทำให้มีความโกรธสะสมอยู่เต็มเปี่ยม และสามารถพัฒนาไปเป็นการต่อต้านคำวิพากษ์วิจารณ์และการควบคุมทุกรูปแบบ ทั้งยังอาจมีแรงขับให้ควบคุมคนอื่นและสถานการณ์รอบตัวอย่างสุดขีด เพื่อชดเชยกับการที่ถูกควบคุมมาทั้งชีวิตด้วย ซึ่งเราอาจต้องทำงานกับพลังงานเช่นนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้มันส่งผลลบกับผู้อื่น
หนทางประนีประนอม
ทางออกกลางๆ ระหว่างการตัดขาดกับตัวเองไปสยบยอมผู้อื่นโดยสิ้นเชิง กับการตัดสัมพันธ์และไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น สามารถเป็นการทำงานกับพลังงานภายในที่ต้องกดไว้ เราสามารถทำงานกับภาพสัญลักษณ์ที่ปรากฏในตำนาน ศิลปะและความฝัน ซึ่งอาจสอดคล้องกับร่างฝันที่ปรากฏขึ้นเป็นความป่วยไข้ต่างๆ ด้วย มันสามารถทำให้เราค่อยๆ สัมผัสพลังงานหลายๆ ลักษณะที่เก็บกดไว้ในกรุแห่งจิตไร้สำนึก หรือพลังที่ไม่ค่อยได้ใช้ ซึ่งไม่ว่าเราจะเป็นใครในความสัมพันธ์ ก็สามารถทำงานกับโลกภายในได้ทั้งสิ้น
การทำงานกับโลกภายในไม่ได้แปลว่าภายในครั้งสองครั้ง เราจะต้องปลดล็อคอารมณ์ลบทุกอย่างได้หรือเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง และไม่ได้แปลว่าเราจะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้ แต่อาจหมายความเพียงแค่ว่าพลังงานที่ถูกกดเก็บไว้เหล่านี้มันมีพื้นที่ระบายออกมาอย่างสร้างสรรค์ขึ้นและควบคุมชีวิตแบบที่เราไม่รู้ตัวน้อยลง
ยกตัวอย่าง หญิงสาวคนหนึ่งป่วยกระเสาะกระแสะมาเนิ่นนาน เช่น ปวดหัวและมีอาการซึมเศร้าเป็นระยะๆ เธอรู้สึกว่าชีวิตตัวเองถูกพ่อควบคุมและไม่มีพื้นที่ เธออยากออกไปทดลองใช้ชีวิตนอกบ้านสักพักหนึ่งแต่ยังไม่มีโอกาส
ภายหลังเธอได้ทำงานกับความรู้สึกอึดอัดผ่านภาพศิลปะบนไพ่
เธอเปิดไพ่ขึ้นมาเป็นภาพผู้ชายและผู้หญิงซึ่งเดินสวนทางกันแต่พวกเขาไพล่มือมาเกาะกุมกันไว้ด้านหลังของกันและกัน พวกเขามีรอยยิ้มที่อิ่มเอม สีสันของลำตัวของพวกเขากลืนไปกับพื้นหลังสีเขียวระเรื่อเจือสีสันต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ เธอและเพื่อนไดอะล็อคกันเพื่อเธอสะท้อนภาพ ซึ่งเกิดความหมายที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของเธอกับพ่อ นั่นคือ เธอยืนกรานสิ่งที่เธอรู้สึกและมีจุดยืนของตัวเองได้ ในขณะที่พ่อของเธอก็สามารถรู้สึกแตกต่างไปจากเธอได้เช่นกัน พวกเขาเดินไปคนละทางโดยที่ยังรักกันได้
หลังจากการไดอะล็อคในประเด็นต่างๆ ผ่านภาพสัญลักษณ์ เธอรู้สึกว่าความอึดอัดคลี่คลายขึ้นหน่อย เธอเห็นทางเลือกในความสัมพันธ์กับพ่อมากขึ้น แต่เธอก็ยังต้องออกเดินทางภายในไปเจอกับตัวเองอีกเรื่อยๆ
การทำงานกับภาพสัญลักษณ์ดังกล่าวทำให้เกิดทางเลือก ทั้งสองฝ่ายจึงไม่ต้องตัดขาดกันอย่างอูเธอร์และมอร์กานา