- คำว่า วาย (Y) มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘ยะโออิ’ หรือ ‘ยะโอย’ (YAOI) หรือบางครั้งก็เรียกว่า Boy’s Love เป็นนวนิยายและการ์ตูนประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น ได้รับความนิยมกันในกลุ่มเล็กๆ ที่สื่อสารกันเฉพาะกลุ่ม
- การ์ตูนและนิยายวายเสมือนพื้นที่และเครื่องมือให้ผู้หญิงได้มีโอกาส ‘เล่น’ กับเรื่องเพศ (Play with sex) ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม ผ่านการมองความสัมพันธ์ของตัวละครชายในเรื่อง
- สถิติผู้บริโภคที่เข้ามาดูซีรีส์วายในแพลตฟอร์ม LINE TV ต่อปีมีประมาณ 19 ล้านคน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคแบบใหม่ที่เรียกว่า Y-Economy ซึ่งกระแสบริโภคนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่ที่ประเทศไทย แต่ขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก
ณ วันนี้ ซีรีส์วายคงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ตลอด 2 – 3 ปีที่ผ่านมากระแสนิยมและตลาดซีรีส์วายเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นวัฒนธรรมบริโภคแบบใหม่ที่เรียกว่า Y-Economy ในภูมิภาคเอเชีย ต่อให้ไม่ใช่ ‘สาววาย’ หลายคนก็คงอาจได้ยินหรือลองดูซีรีส์วายกันบ้างแล้ว
บทความนี้อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับการเดินทางของซีรีส์วายที่ก่อนจะกลายเป็นแนวซีรีส์ที่ยึดพื้นที่ทั้งสื่อหลักและแพลตฟอร์มทางเลือกด้วยยอดวิวหลักล้าน คำว่า ‘วาย’ มาจากไหน แล้วเข้ามาในไทยได้อย่างไร รวมถึงความน่าสนใจอะไรที่ทำให้ใครๆ ต่างอยากหยิบเอาพล็อตเรื่องแนวนี้ จากนิยายชื่อดังหลายเรื่องบนออนไลน์ มาดัดแปลง แต่งเติม และผลิตสู่จอแก้ว จนประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายต่อหลายเรื่อง เช่น ‘Love sick The Series, SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง, เพราะเราคู่กัน, ธารไทป์ The Series
นอกจากเรื่องราวความรัก ความผูกพัน ของคนสองคนที่ไม่มีคำว่า ‘เพศ’ มาเป็นตัวกำหนด ที่เป็นแกนหลักของเรื่องแล้ว ซีรีส์วายมีอะไรที่น่าสนใจและบอกอะไรกับเราบ้างนะ
ถ้าพร้อมแล้วเราไปเปิดโลกอีกหนึ่งใบของวัยรุ่นพร้อมกันค่ะ
ที่มาของคำว่า ‘วาย’
คำว่า วาย (Y) มีรากศัพท์มาจากคำว่า ‘ยะโออิ’ หรือ ‘ยะโอย’ (YAOI) หรือบางครั้งก็เรียกว่า Boy’s Love เป็นนวนิยายและการ์ตูนประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น ได้รับความนิยมกันในกลุ่มเล็กๆ ที่สื่อสารกันเฉพาะกลุ่มตั้งแต่ยุค 70 เริ่มจากงานเขียนที่เรียกว่า ‘โดจินชิ’ โดยนักเขียนมือสมัครเล่นหรือกลุ่มแฟนการ์ตูน หยิบตัวละครจากการ์ตูนเรื่องโปรดมาแต่งเรื่องตามจินตนาการ โดยต้องการล้อเลียนงานเขียนโคลงจีนยุคเก่าที่มี Ki (บทนำ), Syo (ดำเนินเรื่อง), Ten (จุดผกผัน) และ Ketsu (บทสรุป) จึงสร้างงานเขียนที่ไม่มีไคลแมกซ์ (Yamanashi), ไม่มีประเด็น (Ochinashi) และไม่มีความหมาย (Iminashi) ซึ่งยุคต่อมาใช้ล้อเลียนการ์ตูนชายรักชาย ที่เน้นเล่าถึงความรักโรแมนติกหรือความสัมพันธ์ทางเพศของตัวละครชายกับชาย
ทว่า ในตระกูลการ์ตูนวายไม่ได้มีเพียงความรักของชายชายเท่านั้น ยังมีเรื่องราวความรักหวานๆ ในแบบฉบับหญิงหญิง เรียกว่า ‘ยูริ’ (Yuri) หรือ Girl’s Love โดย Bongaku Itou บรรณาธิการนิตยสารเกย์ในญี่ปุ่น เขาต้องการสร้างสัญลักษณ์ของกลุ่มรักเพศเดียวกัน จึงใช้ดอกกุหลาบ (Bara) เป็นสัญลักษณ์กลุ่ม Boy’s Love และใช้ดอกลิลลี่ (Yuri) เป็นตัวแทนฝั่งผู้หญิง
แม้การ์ตูนวายจะมีที่มาจากโดจินชิ แต่จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์แบบชายรักชาย ที่ได้รับความนิยมและถูกยอมรับว่าเป็น Yaoi รวมถึงเป็นเรื่องแรกที่ขายบนดินได้คือ Kaze To Ki No Uta (A Poem of Wind and Trees) โดย ทาเคมิยะ เคย์โกะ (ตำนานบัลลังก์เลือด, สุสานฟาโรห์) ตีพิมพ์ในช่วงปี 1976 เป็นต้นมา และใช้คำเรียกเพื่อย่อยประเภทของการ์ตูนวายบนดินว่า ‘โชเน็นไอ’ (Shonen’ai) เน้นความสัมพันธ์ มิตรภาพ อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครมากกว่าเรื่องเพศ
แต่หลังจากนั้นในช่วงปี 1990 นิตยสาร JUNE หรือนิตยสารแนวกามารมณ์ ปล่อยคอลัมน์เรื่องเล่าชายรักชายในรูปแบบการค้า จุดนี้เองที่เป็นใบเบิกทางไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของวงการวาย เนื่องจากมีนิตยสารแนวนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก และขายในร้านหนังสือมีชั้นวางโดยเฉพาะ
จะเห็นว่าการ์ตูนวายมีหลายประเภทที่ย่อยออกไป เราจึงไม่อาจเหมารวมได้ว่า การ์ตูนวายเท่ากับการ์ตูนเกย์หรือไม่ แม้มันจะเป็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย แต่ตัวละครชายในการ์ตูนวายไม่ใช่เกย์ในชีวิตจริง เขาเหล่านั้นเป็นผู้ชายในจินตนาการของผู้หญิง โดยมีความรักเป็นแรงผลักดันทำให้พวกเขาผูกพันกัน
ในบทความ “The Evolution of BL as ‘Playing with Gender’: Viewing the Genesis and Development of BL from a Contemporary Perspective” ของฟุจิโมโต ยูคาริ (Fujimoto Yukari) ซึ่งเป็นนักวิชาการผู้บุกเบิกวงการ Boy’s Love เขาตีความว่าเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงชายในสังคมญี่ปุ่น ผู้หญิงถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขทางสังคมมากกว่าผู้ชาย จึงนำไปสู่ความหวาดกลัวต่อความสัมพันธ์ทางเพศและความเกลียดชังในความเป็นหญิงของตน
ทั้งการ์ตูนและนิยายจึงเสมือนพื้นที่และเครื่องมือให้ผู้หญิงได้มีโอกาส ‘เล่น’ กับเรื่องเพศ (Play with sex) ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม ผ่านการมองความสัมพันธ์ของตัวละครชายในเรื่อง กับฉากที่แสดงความสัมพันธ์ทางเพศ ขยับสู่การเล่นกับ ‘เพศสถานะ’ (Playing with gender) ผ่านการจับคู่ตัวละครชายที่หลากหลาย สามารถสลับบทบาทการเป็นผู้กระทำ ‘เซะเมะ’ (Seme) หรือผู้ถูกกระทำ ‘อุเคะ’ (Ukeru) ปรับเปลี่ยนเพศสถานะที่เลื่อนไหลได้ตามรสนิยม
เมื่อนิยาย ‘วาย’ ป้ายยาแฟนดอมไทย
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวความรักของชายสองคนในจินตนาการของเด็กหญิงที่กำเนิดจากการ์ตูนญี่ปุ่นถูกส่งต่อมายังบ้านเราโดยอิทธิพลความนิยมของนักร้องญี่ปุ่นและเกาหลี ในช่วงปี 2550 ทำให้เกิดนิยายวายบนเว็บบอร์ดในโลกออนไลน์ที่เรียกกันว่า ‘แฟนฟิกชัน’ (FanFiction) โดยกลุ่มแฟนคลับหยิบเอาความสัมพันธ์ของนักร้องชายมาเล่าต่อโดยใส่จินตนาการอย่างเป็นเรื่องราวที่อิงกับโลกความจริงบ้าง หรืออาจหลุดเข้าไปอยู่ในโลกแฟนตาซีเลยก็มี
ในช่วงเดียวกันกระแสจากรายการประกวดร้องเพลงของไทยแนวเรียลลิตี้โชว์กำลังได้รับความนิยม เพราะนอกจากนำเสนอความสามารถของผู้เข้าแข่งขันแล้ว ยังถ่ายทอดให้เห็นภาพการใช้ชีวิตรวมกันและความผูกพันที่เกิดขึ้นในบ้าน อย่าง Academy Fantasia (AF) และ The Star ค้นฟ้าคว้าดาว ซึ่งคู่จิ้นที่มาแรงในยุคนั้นหรือจะเรียกว่าเป็นคู่จิ้นในตำนานเลยก็คือ ณัฐต้อล AF4, เต๋าคชา AF8 และโน่ริท The Star 6 โดยส่วนใหญ่เผยแพร่บนเว็บไซต์ dekd.com
จากแฟนฟิกชันก็ค่อยๆ พัฒนามาเป็น ‘นิยายวาย’ ที่ผู้แต่งคิดพล็อตเนื้อเรื่องเอง ซึ่งพล็อตที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นพล็อตที่มีแก่นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ของผู้มีเพศสภาพ (Gender) เดียวกัน และเลือกมีเพศวิถี (Sexuality) มีความรักในรูปแบบชายรักชาย, หญิงรักหญิง โดยอาจเริ่มต้นจากมิตรภาพหรือศัตรู แต่ท้ายที่สุดจะขยับไปสู่สถานะที่มากกว่าเพื่อน พี่ และน้อง นั่นคือ ‘คนรัก’
ส่วนเซตติ้งยอดฮิตมักจะดำเนินเรื่องอยู่ในวัยนักเรียนนักศึกษา และตัวละครเอกฝ่ายหนึ่งมักจะมีคาแรกเตอร์เข้มแข็งแบบ ‘ชาย’ ตามกรอบที่สังคมวางไว้ เช่น รูปร่างสูงใหญ่ อารมณ์ร้อน พูดจาโผงผาง เจ้าชู้ เป็นต้น ส่วนอีกฝ่ายจะมีความอ่อนโยนกว่า เช่น รูปร่างบาง ขี้อาย อ่อนไหวง่าย เป็นต้น จะให้ความรู้สึกว่าพวกเขาเหมือนจิ๊กซอว์ที่แตกต่างแต่เข้ากันได้พอดี
แม้จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ด้วยเป็นนิยายที่ขัดกับค่านิยมอันดีงามตามที่สังคมไทยกำหนดไว้ ทำให้นิยายวายส่วนใหญ่อยู่เผยแพร่อยู่ใต้ดิน บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม, ธัญวลัย, รี้ดอะไร้ต์ หรือถ้าตีพิมพ์เป็นเล่ม ก็จะใช้วิธีพรีออเดอร์ คือ นักเขียนตั้งว่าจะจัดตีพิมพ์นิยายเรื่องนี้ รวบรวมคนที่สนใจและตีพิมพ์ออกมาจำนวนจำกัด
ซีรีส์วายไทย จิ้นแรงทุกแพลตฟอร์ม
หลังจากนั้นในปี 2014 การปรากฏตัวของ ‘Love Sick’ รักวุ่น วัยรุ่นแสบ ซีรีส์วายสัญชาติไทยเรื่องแรกบนจอแก้ว ออกอากาศทางช่อง 9 MCOT ดัดแปลงมาจากนิยายที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ dekd.com ก่อนจะตีพิมพ์และนำมาสร้างเป็นซีรีส์ ความเปลี่ยนแปลงจากนิยายวายบนออนไลน์มาสู่อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และผลิตเป็นซีรีส์ทางสถานีโทรทัศน์ช่องหลักดังกล่าว ส่งผลให้ซีรีส์วายเกิดอย่างต่อเนื่องในปีถัดๆ มา เช่น ‘SOTUS The Series’ พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง เรื่องราวระบบการรับน้องในมหา’ลัยที่เรียกว่า โซตัส ทำเรตติ้งซีรีส์วายที่สูงที่สุด เฉลี่ย 0.597 และมียอดเข้าชมบน LINE TV กว่า 100 ล้านครั้ง
และนี่เองที่ทำให้วงการนิยายวายไทยที่เคยอยู่ใต้ดินได้ขึ้นมาอยู่บนดินอย่างภาคภูมิใจ นักอ่านสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ มีการก่อตั้งสำนักพิมพ์ที่ขายนิยายวายโดยเฉพาะ เช่น สำนักพิมพ์บ้านวายบุ๊ค สำนักพิมพ์นาบู สำนักพิมพ์เบเกอรี่บุ๊ค
หรือแม้กระทั่งสำนักพิมพ์ดังๆ อย่างเช่น สำนักพิมพ์นิยายวัยรุ่นชื่อดังอย่างแจ่มใส ก็แตกไลน์สำนักพิมพ์ย่อยที่ผลิตนิยายวายโดยเฉพาะเช่นกัน ‘เอเวอร์วาย’ หรือสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ก็เปิดสำนักพิมพ์ย่อยชื่อว่า สำนักพิมพ์ Deep สำหรับตีพิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะ ซึ่งข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจคาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์ที่ผลิตนิยายวายโดยเฉพาะกว่า 75 สำนักพิมพ์
แพลต์ฟอร์มนิยายออนไลน์ก็ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดิม จนเกิดรูปแบบใหม่ๆ อย่าง ‘จอยลดา’ ที่เรียกว่าเป็นนิยายแชท คือ การนำเสนอเนื้อหาจะเป็นรูปแบบหน้าต่างแชท ส่วนแพลตฟอร์มที่ฉายซีรีส์วายส่วนใหญ่เป็นแพลต์ฟอร์มสตรีมมิ่ง เช่น ยูทูบ (YouTube) ไลน์ทีวี (Line TV) อ้ายฉีอี้ (iQiyi) วีทีวี (WeTV) เป็นต้น
อีกหนึ่งวงการที่เติบโตไปพร้อมๆ กับวงการซีรีส์วาย คือ วงการนักเขียนและนักวาด ซึ่งเรทค่าตัวนักวาดจะเริ่มตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน การคิดเรทก็จะมีตั้งแต่ภาพวาดนั้นขนาดเท่าไร เป็นแบบใบหน้าตัวละครอย่างเดียว หรือแบบครึ่งตัว หรือแบบเต็มตัว นำรูปไปใช้ส่วนตัวหรือเพื่อเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ส่วนรายได้นักเขียนก็จะมีหลากหลาย เช่น ถ้าลงนิยายบนเว็บออนไลน์ก็จะได้ค่าตอบแทนที่เรียกว่า ‘ระบบ Donate’ แต่ละเว็บจะมีฟังก์ชั่นให้ผู้อ่านสามารถโดเนทเงินให้นักเขียนได้หากชื่นชอบ หรือนักเขียนสามารถตั้งราคาตอนขายได้อีกด้วย
และถ้าหากนิยายเรื่องไหนได้รับการตีพิมพ์หรือนำไปสร้างเป็นซีรีส์ ค่าตอบแทนก็จะยิ่งเพิ่มพุ่งพรวด ที่น่าสนใจ คือ คนที่ทำงานนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่หารายได้เสริม ไปจนถึงคนทำงาน หรือคนที่ลาออกจากงานประจำเพื่อเดินสายงานนี้เต็มตัว
อุตสาหกรรมซีรีส์วายไทยยืนหนึ่งตลาดเอเชีย
ไลน์ทีวีได้ทำการเก็บสถิติผู้บริโภคที่เข้ามาดูซีรีส์วายในแพลตฟอร์มตัวเองต่อปีมีประมาณ 18,986,376 ล้านคน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคแบบใหม่ที่เรียกว่า Y-Economy ซึ่งกระแสบริโภคนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่ที่ประเทศไทย แต่เรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมซีรีส์วายของตลาดเอเชีย
ซีรีส์วายยังเป็นประตูสู่ดวงดาวแจ้งเกิดนักแสดงหน้าใหม่ เกิดกลุ่มแฟนคลับที่รวมตัวกับคอยซับพอร์ตศิลปินที่ชอบ ยิ่งในยุคที่โซเซียลเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารหลัก เมื่อซีรีส์ปล่อยได้ไม่นานก็สามารถสร้างฐานคนดูเพิ่มขึ้นได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ
Seth Godin กูรูการตลาดระดับโลก เคยกล่าวบนเวที TED ว่า นักการตลาดต้องตามหากลุ่ม Geek หรือคนที่คลั่งไคล้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วสื่อสารกับพวกเขา หากสร้างการเข้าถึง (Engagement) กับพวกเขาได้ เท่ากับเข้าถึงลูกค้ากลุ่มแรกได้ (Early Adopter) และจะถูกบอกต่อโดยที่แบรนด์ไม่ต้องหว่านเงินเพื่อจับตลาดแมสตั้งแต่แรก
ผู้ผลิตซีรีส์จึงต่อยอดความสำเร็จด้วยการดันคู่จิ้นเคมีเข้ากันเสิร์ฟโมเมนต์ฟินๆ ในจัดงาน ‘แฟนมีทติ้ง’ (Fan Meeting) ในประเทศและขยายสู่ตลาดเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่มีกำลังซื้อสูงอย่าง ‘จีน’ ที่สร้างปรากฏการณ์ขายบัตรหมดใน 5 นาที โดยราคาเริ่มต้นที่ 1,000 – 5,000 บาท ตามมาด้วยพรีเซ็นเตอร์สินค้า ออกงานอีเว้นท์ รวมถึงได้รับโอกาสในวงการบันเทิงมากมาย เช่น พิธีกร วงบอยแบนด์
จุดสำคัญหนึ่งที่ทำให้ตลาดซีรีส์วายเติบโตอย่างรวดเร็ว คือ กลุ่มผู้บริโภค ที่พวกเขาพร้อม ‘เปย์’ ให้กับศิลปินดาราที่รัก เช่น เช่าป้ายโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือเอ็มอาร์ที หรือเช่าป้ายโฆษณาตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เช่น สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิร์ด เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดให้ดาราหรือฉลองเทศกาลต่างๆ
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ฐานคนดูซีรีส์วาย ไลน์ทีวีได้ทำการเก็บสำรวจพบว่ากลุ่มคนที่รับชมซีรีส์วายหลักบนแพลต์ฟอร์มตัวเอง เป็นกลุ่มคนอายุ 18 – 24 ปี รองลงมาคือ 25 – 35 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง แต่ปัจจุบันฐานอายุคนดูเพิ่มขึ้นจนถึง 65 ปี ซึ่งการเติบโตนี่ถือว่าสร้างการรับรู้ใหม่ที่คนส่วนใหญ่มองว่ากลุ่มคนดูซีรีส์วายจะเป็นเพียงคนรุ่นใหม่เท่านั้น
จากการเติบโตของตลาดและพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภค ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตัดสินใจเข้าตลาดสร้างซีรีส์แข่งขัน อย่างช่องทีวีหลักอย่างช่อง 3 ที่ผลิตซีรีส์วาย ‘Gen Y The Series’ ‘คุณหมีปาฏิหาริย์’ และ ‘นับสิบจะจูบ Lovely Writer’ รวมถึงประเทศเกาหลีใต้ที่เริ่มหันมาผลิตซีรีส์วายด้วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่งวงการกีฬาเองก็หันมาจับทางสร้างซีรีส์วายเช่นกัน โดยบริษัท เซนส์ เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด จับมือกับ ELEVEN SPORTS สร้างคอนเทนต์กีฬา หนึ่งในนั้น คือ การสร้างซีรีส์การ์ตูนวาย ‘The Winner รักชนะใจ’ เพื่อขยายฐานกลุ่มคนดูวายมาสู่วงการฟุตบอลไทย
อ้างอิง
ในวันที่ DATA คือพลังสำคัญ : สรุปเทรนด์ผู้บริโภคในงาน LINE Thailand Business 2020 (thematter.co)
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884794
https://mgronline.com/business/detail/9630000103815
การ์ตูน Y ‘Yaoi’ จากพื้นที่แสดงพลังของผู้หญิงสู่การเป็นสื่อบันเทิงที่เปิดกว้าง
YAOI101 ปูศัพท์พื้นฐาน สำหรับการเป็นหนุ่ม/สาววาย (มือใหม่) – Anitime