- สถานะความรักของเราเป็นแบบไหน ชวนเช็คกับสามเหลี่ยมความรัก (triangular theory of love) นิยายความรักโดยโรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg)
- องค์ประกอบสามเหลี่ยมความรักของสเติร์นเบิร์ก ได้แก่ Intimacy – ความสนิท ความรู้สึกดีที่ได้อยู่ใกล้ Passion – เสน่หา ความต้องการทางเพศ ความรู้สึกหลงใหลในรูปร่างภายนอก และ Commitment – ความผูกมัด เป็นความรู้สึกว่า อยากจะอยู่เคียงข้างกับคนนี้ต่อไปนานๆ
- ต่อให้มีรักที่สมบูรณ์แบบ ณ ตอนนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ยืนนาน เพราะความรู้สึกของคนมันเปลี่ยนกันได้ แต่การที่ส่วนประกอบนั้นไม่คงที่เปลี่ยนแปลงได้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่ไปทั้งหมด เพราะมันแปลว่าเราพัฒนาส่วนประกอบที่ขาดหายไปให้มันมาเติมเต็มได้เช่นกัน
คำว่า ‘รัก’ เป็นคำที่แปลกครับ เราเริ่มรู้จักมันตั้งแต่ยังเด็ก พอเราเริ่มรู้ความเมื่อเห็นตัวละครที่รักกันในนิทาน ละคร หรือการ์ตูน เราก็พอจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าหมายถึงอะไร และพอเข้าสู่วัยรุ่นบางคนที่มีรักแรกจะเข้าใจเองว่า ความรู้สึกนี้แหละคือความรัก แต่หากให้เราอธิบายชัดๆ ว่า แล้วรักคืออะไรกันแน่ ความรู้สึกแบบไหนจึงจะเรียกว่ารัก กลับเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก ถามคนหนึ่งก็ตอบแบบหนึ่ง อีกคนก็ตอบอีกแบบ
เหตุผลที่คำถามนี้ยากส่วนหนึ่งก็เพราะคำว่า ‘รัก’ นั้นเกิดจากหลากหลายความรู้สึกที่ผสมผสานกัน รู้สึกดีแน่ๆ แต่มันดีแบบไหนกัน และอีกเหตุผลคือรักนั้นมีหลายแบบ รักแฟน รักพ่อแม่ รักพี่น้อง รักเพื่อน รักแบบกิ๊ก สารพัดรูปแบบ มันเลยยากที่จะนิยามความรักอยู่สักหน่อย บทความนี้เราเลยชวนมารู้จักนิยามของความรักในมุมมองของจิตวิทยา ว่ามันประกอบด้วยอะไรบ้าง และรักมีกี่รูปแบบ
นิยามความรักของจิตวิทยาก็มีหลายแบบครับ ตามแต่ทฤษฎีที่ยึดเป็นเกณฑ์ แต่นิยามความรักหนึ่งที่ได้รับความนิยมทั้งในและนอกวงการวิชาการ เพราะครอบคลุมความรักหลากหลายแบบ และฟังดูสมเหตุสมผลคือ นิยามความรักของโรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) นักจิตวิทยาชาวสหรัฐฯ ที่คิดไว้ตั้งแต่ปี 1986 จนถึงปัจจุบัน หากพูดถึงจิตวิทยาความรักทฤษฎีนี้ก็ยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย และมีงานวิจัยที่ยังคงทดสอบรูปแบบความรักดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
สเติร์นเบิร์กนิยามความรักไว้ว่า เป็นความรู้สึกที่ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 อย่าง เขาเลยตั้งชื่อทฤษฎีนี้ว่า ‘สามเหลี่ยมความรัก’ (triangular theory of love) มาดูกันครับว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
สิ่งแรกคือ Intimacy หรือ ‘ความสนิท‘ เป็นความรู้สึกดีที่ได้อยู่ใกล้กัน ปรารถนาให้อีกฝ่ายมีความสุข รู้สึกว่าพึ่งพาอีกฝ่ายได้ เข้าใจกันและกัน
เป็นความรู้สึกที่ ‘อบอุ่น’ ในความสัมพันธ์ ความสนิทอาจต้องใช้เวลาจนกว่าจะคุ้นเคยกัน หรือบางครั้งอาจจะถูกชะตา รู้สึกว่านิสัยเข้ากันได้ทั้งๆ ที่รู้จักไม่นาน
สิ่งที่สองคือ Passion หรือ ‘เสน่หา‘ ซึ่งเป็นความต้องการทางเพศ อยากสัมผัส อยากมีความสัมพันธ์ทางกาย รวมถึงความรู้สึกหลงใหลในรูปร่างหน้าตา หรือแม้แต่เสียง หรือบุคลิกของอีกฝ่าย เสน่หานั้นเหมือนความรู้สึกที่ ‘เร่าร้อน’ ในความสัมพันธ์
สิ่งสุดท้ายคือ Commitment หรือ ‘ความผูกมัด‘ เป็นความรู้สึกตกลงปลงใจว่า อยากจะอยู่เคียงข้างกับคนนี้ต่อไปนานๆ ส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวว่าจะอยู่ด้วยกันแล้วมีความสุขไหม แค่ต้องการรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ให้ยาวๆ ความผูกมัดเลยเหมือนส่วนประกอบที่ ‘เยือกเย็น’ ถ้าเทียบกับความรู้สึกอีกสองอย่าง
รักของเราเป็นแบบไหน?
ความรักในมุมมองของสเติร์นเบิร์กมีหลายแบบครับ โดยความรักไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบครบทั้ง 3 อย่าง มีแค่หนึ่งหรือสองอย่างก็ถือว่า คือ ความรักรูปแบบหนึ่งแล้ว ส่วนประกอบที่ต่างกันไปก็เป็นความรักในรูปแบบที่ต่างกัน คนคนเดียวมีความรักได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าจะรักใคร เช่น ในความสัมพันธ์กับพ่อแม่ก็แบบหนึ่ง กับคนรักเก่าก็อีกแบบหนึ่ง กับคนรักใหม่ก็อีกแบบ เรามาดูกันดีกว่าครับว่าความรักมีรูปแบบอะไรบ้าง
- Non love หรือ ‘ไม่รัก‘ ไม่มีส่วนประกอบใดเลย อาจจะไม่นับว่าคือรูปแบบความรักก็ได้
- Liking หรือ ‘ชอบ‘ มีแค่ความสนิทอย่างเดียว นึกถึงเพื่อนๆ ตอนสมัยเรียนก็ได้ครับ เราสนิทใกล้ชิด มีความสุข เฮฮาตอนอยู่ใกล้ แต่เราไม่ได้คิดเรื่องที่ผูกมัดให้เพื่อนอยู่กับเราไปจนแก่เฒ่า และเราคงไม่ได้หลงใหลหน้าตาหรืออยากมีความสัมพันธ์วาบหวิวกับเพื่อนๆ
- Infatuated love หรือ ‘รักแบบหลงใหล‘ มีแค่เสน่หาอย่างเดียว หรือก็คือหลงใหลหน้าตาและต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วย ตัวอย่างคือ One night stand หรือคนที่มาเจอเพื่อมีเพศสัมพันธ์กันเท่านั้น เสร็จแล้วก็แยกย้าย ไม่ได้คิดจะสานสัมพันธ์อะไรต่อ ไม่คิดจะเปิดอกพูดคุยให้สนิทกันมากขึ้น อาจจะเจอกันหลายครั้งก็ได้ แต่ก็ไม่ตกลงหรือทำสัญญาผูกมัดกันและกันไว้
- Empty love หรือ ‘รักแบบว่างเปล่า’ มีแค่ความผูกมัดอย่างเดียว ที่มันว่างเปล่าเพราะไม่มีทั้งความสุขที่อบอุ่นของความสนิท หรือที่เร้าร้อนของเสน่หา แต่ก็ต้องอยู่กันไปด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น คู่ที่ถูกบังคับให้แต่งงานหรือคลุมถุงชน ในช่วงแรกๆ อาจจะเกิดความรักรูปแบบนี้ คือรู้สึกว่าแต่งงานกันแล้วก็ต้องอยู่ด้วยกันไป ไม่ได้คิดหย่าเพราะอาจจะกลัวเสียชื่อเสียง หรือคิดว่าอยู่ๆ ไปอาจจะรักกันมากขึ้นไปเอง
- Companionate love หรือ ‘รักแบบมิตรภาพ‘ มีทั้งความสนิท และความผูกพัน รู้สึกดีที่ได้อยู่ใกล้กันแบบไม่ได้คิดถึงเรื่องเพศ และผูกพันต้องการอยู่ด้วยกันไปอีกนาน เช่น รักที่มีต่อพ่อแม่ พี่น้อง คนในครอบครัว รวมถึงเพื่อนสนิทที่อยากจะไปมาหาสู่กันจนแก่ หรือคนที่เป็นแฟนหรือคู่แต่งงาน หากอยู่กันไปนานๆ ความตื่นเต้น ความเร่าร้อนของเสน่หาก็หายไปกับกาลเวลา แต่ความสนิทและความผูกพันยังคงอยู่ ก็ถือว่าเป็นความรักรูปแบบนี้ก็ได้ครับ
- Romantic love หรือ ‘รักแบบโรแมนติก’ มีทั้งความสนิทและเสน่หา เป็นความรักที่เกือบจะสมบูรณ์ของคู่รักหรือคู่แต่งงาน เพราะมีความสุขกับความรักทั้งในแง่ความอบอุ่นใกล้ชิด และเรื่องบนเตียงอันเร่าร้อน แต่ไม่ได้คิดไกลๆ ว่าต้องรักกันไปอีกนานแค่ไหน มักจะเกิดในวัยรุ่นที่ยังไม่ถึงขั้นจะร่วมหัวจมท้ายไปกับคู่รัก หรือคนที่อาจจะถูกชะตาและมีอะไรกันแล้วในช่วงแรกๆ ที่ยังไม่มั่นใจว่าจะคบกับคนนี้จริงจังแค่ไหน
- Fatuous love หรือ ‘รักหลงรูป‘ คำว่า Fatuous จริงๆ แล้วแปลว่า ประหลาด รักรูปแบบนี้ประหลาดเพราะมันมีเสน่หากับความผูกมัด หรือก็คือผูกมัดคนรักไว้ด้วยเรื่องทางกามารมณ์ รูปร่างหน้าตา คู่นอนที่เจอกันบ่อยๆ ติดใจเข้ากันได้ทางร่างกายก็อาจจะเกิดความรักแบบนี้ หรือรักในแวดวงดาราที่มีแต่คนหน้าตาดีๆ หลงใหลรูปลักษณ์กันตอนทำงานด้วยกัน คู่แต่งงานที่ชอบพอเพราะหน้าตาถูกใจ และรีบร้อนแต่งงานจนยังไม่สนิทกันก็ถือว่าเป็นความรักในแบบนี้ได้
- Consummate love หรือ ‘รักสมบูรณ์แบบ‘ มีองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง ความสนิท เสน่หา และความผูกมัด หากพูดถึงความรักแบบแฟน สามีภรรยา คู่แต่งงาน รักแบบนี้ถือว่าดีที่สุด เป็นรักในอุดมคติ สนิทใกล้ชิดเข้าใจกันและกันจนให้ความรู้สึกอบอุ่น เรื่องบนเตียงก็เร้าร้อนตื่นเต้น และอยากรักกันไปแบบนี้นานๆ
แน่นอนว่าคนที่เป็นแฟนกัน หรือคู่แต่งงานคู่ไหนก็อยากมีรักที่สมบูรณ์แบบกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตามความรักเป็นเรื่องของคนสองคน การที่ชีวิตรักจะสมบูรณ์แบบนั้น ก็ต้องเกิดขึ้นจากความรู้สึกของคนรักทั้งคู่ และการที่ทั้งคู่จะมีความรู้สึกรักที่มีส่วนประกอบครบถ้วนนั้นมักเกิดขึ้นได้ยาก
สิ่งสำคัญที่ควรรู้ของทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก คือ มันเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ ซึ่งความรู้สึกรักก็เหมือนความรู้สึกอื่นๆ คือ มันเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อเวลาผ่านไป ไม่มีส่วนประกอบใดที่มั่นคงถาวร
ถึงจะมีความรู้สึกผูกมัดตอนนี้ แต่หากชีวิตรักไม่มีความสุขด้านอื่นเลย ความรู้สึกว่าอยากจะอยู่กับคนนี้ต่อไปนานๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามคนเรามักจะเคยชินการมีอีกฝ่ายหากอยู่กันนานมากๆ ก็มักจะเลิกกันยากขึ้น
ความสนิทนั้นส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เพราะอยู่ด้วยกันนานๆ ก็เข้าใจกันมากขึ้น รู้ใจกันมากขึ้น แต่มันก็อาจจะลดลงได้เช่นกัน หลายๆ คนยิ่งคบยิ่งเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจในตัวอีกฝ่าย ทะเลาะกันบ่อยครั้งจนรู้สึกไม่อยากอยู่ใกล้ คุยกันก็ไม่รู้เรื่องรู้สึกไม่เข้าใจอีกฝ่ายไปแล้ว ยิ่งนานยิ่งสนิทกันน้อยลง
ส่วนเสน่หานั้นมักจะลดลงไปตามเวลา พอเจอหน้ากันบ่อยๆ ต่อให้หล่อหรือสวยแค่ไหนเจอทุกวันมันก็เบื่อ หรือเรื่องบนเตียงนานๆ เข้าความตื่นเต้นมันก็หายไป หรือพอแก่ตัว เรื่องพวกนี้มันก็สำคัญน้อยลง
ดังนั้น ต่อให้มีรักที่สมบูรณ์แบบ ณ ตอนนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ยืนนาน เพราะความรู้สึกของคนมันเปลี่ยนกันได้ แต่การที่ส่วนประกอบนั้นไม่คงที่เปลี่ยนแปลงได้ก็ไม่ใช่เรื่องแย่ไปทั้งหมด เพราะมันแปลว่าเราพัฒนาส่วนประกอบที่ขาดหายไปให้มันมาเติมเต็มได้เช่นกัน
คู่รักที่หลงใหลกันเพียงหน้าตา แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้รับรู้นิสัยของกันและกัน ก็อาจจะมีความสนิทใกล้ชิดเข้ามาเพิ่มเติม หรือคู่รักที่สนิทกันแล้ว หลงใหลก็แล้ว เมื่อถึงเวลาต่างฝ่ายต่างตกลงใจว่า ถ้าแบบนั้นก็คนนี้แหละคือคู่ชีวิต ก็อาจจะเปลี่ยนใจมาสร้างความรู้สึกผูกมัดแก่กัน ดังนั้นไม่ว่ามีรักรูปแบบไหนเวลาผ่านไป มันก็อาจจะค่อยๆ เติมส่วนประกอบที่ขาดจนกลายเป็นรักที่สมบูรณ์ได้ แต่ในทางกลับกัน มันอาจจะค่อยๆ ตกหล่นไปจนไม่เหลือส่วนประกอบใดเลย และกลายเป็น ‘ไม่รัก’ ก็ได้
หรือต่อให้บางส่วนขาดหายไป ก็ไม่จำเป็นต้องเลิกรากัน คู่รักในบางคู่แต่เดิมอาจจะมีส่วนประกอบครบถ้วน แต่พออยู่ไปนานวัน เสน่หาหายไป ถ้ายังเหลือความรู้สึกสนิทกันเพราะอยู่ด้วยกันมานานเข้าใจกันดี และผูกมัดเพราะชินแล้วที่อยู่ด้วยกันแบบนี้ จะให้แยกกันก็คงลำบาก ก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบความรักไปเป็นแบบมิตรภาพและอยู่ด้วยกันแบบนั้นต่อไปได้ ซึ่งเราอาจจะเห็นได้บ่อยๆ ในคู่รักสูงวัยที่แต่งงานกันนานแล้ว
ดังนั้น รักที่ดีในตอนนี้ไม่จำเป็นต้องมีทุกส่วนประกอบพร้อมก็ได้ หากคิดว่าส่วนใดยังขาดหายไป ก็ค่อยๆ หาทางเพิ่มมันให้เต็มก็ยังไม่สาย มาพูดคุยเปิดใจ หรือทำงานกิจกรรม หรืองานอดิเรกร่วมกันบ่อยๆ ให้เกิดความสนิทใกล้ชิด หากเรื่องบนเตียงมันยังไม่น่าพึงพอใจ ก็อาจจะลองคุยกับคู่รักดูว่าจะปรับเปลี่ยนกันอย่างไร หรือแม้แต่คุยกับแพทย์ก็ยังได้ว่ามีวิธีบำบัดหรือยาช่วยเรื่องนี้ไหม หรือแม้แต่การคุยกับนักจิตวิทยา ส่วนความผูกมัดนั้นหากทั้งคู่คิดจะปรับตัว นั่นก็น่าแปลว่าต้องการอยู่กันอีกนานอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม รักที่ดี กับ รักที่สมบูรณ์แบบ ก็ไม่เหมือนกัน รูปแบบสมบูรณ์ของสเติร์กเบิร์กนั้นหมายถึงแฟนหรือคู่แต่งงานตามมาตรฐานสังคม แต่ในความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ อย่างเช่นเพื่อนสนิท เราก็ไม่ต้องใส่ผลประโยชน์ลงเป็น friend with benefit ก็ได้ แค่มิตรภาพก็เพียงพอที่จะคบกันได้นานแล้ว หรือคู่รักที่พอใจจะไม่มีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากไม่ต้องการทั้งคู่จะฝืนใจมีทำไม หรือแม้แต่หลายคนไม่อยากมีความสัมพันธ์ระยะยาว อยากเปลี่ยนคนรักไปเรื่อย หากคนที่คบคิดเหมือนๆ กัน ทั้งคู่ก็ไม่ต้องอยู่ด้วยกันนาน ขอแค่ป้องกัน ให้ไม่ติดโรค ไม่มีลูกมาให้ผูกมัดโดยไม่ตั้งใจ ก็เป็นสิทธิในการมีความรักแบบนั้น
จะรักแบบไหน หากพอใจทั้งสองฝ่าย และไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน เราก็มีสิทธิที่จะมีความสุขกับความรักในแบบที่เราพอใจได้เสมอ จะสมบูรณ์หรือไม่ ถ้าพอใจแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครับ