- แม้แต่อัศวินนักรบที่เก่งกาจที่สุดก็ยังต้องมีวันพัก แต่เราต้องพักแค่ไหนและจะทำงานต่อโดยสร้างวิถีใหม่หรือไม่ และอย่างไร? ชวนทบทวนตัวเองผ่าน 4 ข้อเสนอและคำถามด้านล่าง
- คุณอยู่ในเหตุการณทำนองนี้อยู่หรือเปล่า? คุณมีงานล้นมือแล้ว แต่ก็ไม่กล้าต่อรองเรื่องงานที่ถูกยัดมาเพิ่มเรื่อยๆ แบบที่ทุกอย่างต้องเร่งส่งทั้งหมด คุณพยายามทำตามความคาดหวังของคนอื่นโดยการเอาเวลานอนและเวลาวันหยุดของคุณเข้าไปแลกแต่มันก็ยังไม่พออยู่ดี แถมคุณไม่ได้โอทีอีกต่างหาก ลองใคร่ครวญดูว่าที่ยอมทำทุกอย่างตามที่คนอื่นต้องการ (ถ้าไม่นับความกลัวเรื่องเศรษฐกิจ) มันเป็นเพราะอะไร?
- บางคนไปเจอว่าตอนเด็กเขาถูกทำให้เชื่อว่าความต้องการของฉันไม่สำคัญเท่าของคนอื่น บ้างก็มีเสียงวิจารณ์ภายในว่าถ้าให้น้ำหนักกับความต้องการของร่างกายตัวเองบ้างจะกลายเป็น ‘เห็นแก่ตัว’ แต่ถ้าคุณทำให้ตัวเองล้มหมอนนอนเสื่อ คุณจะช่วยอะไรคนอื่นได้?
บทที่แล้ว เราได้รับรู้เรื่องราวของอัศวินที่ทำภารกิจมากมายจนเหนื่อยล้าแต่เมื่อถึงเวลาพัก อัศวินก็ไม่อาจพักได้เพราะโดนเหล่ามังกรตามรบกวน ประสบการณ์ของอัศวินคล้ายคลึงกับอาการบางส่วนของคนที่มีภาวะหมดไฟ พวกเขาเหนื่อยล้ามาก แต่บรรดามังกร (เช่น ความเครียดสะสมหรือการถูกบ่มเพาะมาให้เก็บกดความต้องการของตัวเอง เป็นต้น) ทำให้พวกเขาพักไม่ได้ พวกเขามีอาการเจ็บป่วยต่างๆ นอนก็ไม่ค่อยหลับ สุขภาพร่างกายย่ำแย่ ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลงและบ้างก็รู้สึกไม่ดีกับที่ทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ บ้างก็ตัดขาดทางใจกับงานกันไปเลย และบ้างก็ถึงกับต้องลาออกจากงานเพียงเพื่อจะพบว่าตัวเองเป็นโรคร้ายบางอย่าง!
แม้ว่าจะยังมีผู้บริหารที่เชื่อว่า คนหมดไฟ คือ พวกไร้ประสิทธิภาพ ‘ลาออกไปก็ดีแล้ว อั๊วจะได้ไม่ต้องไล่ออกเอง!’ แต่จริงๆ แล้วคนที่หมดไฟอาจเป็นคนบ้างานและพวกที่ยินดีแบกรับไว้มากเกินไปด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ความคาดหวังขององค์กรก็อาจเป็นส่วนสำคัญที่บีบให้เราต้องโหมงานอยู่ตลอดเวลา และหากไม่พูดถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและความกลัวที่ทำให้เราต้องสยบยอมต่อระบบ มันก็ยังมีแนวโน้มตามธรรมชาติอื่นๆ ในการจัดสิ่งต่างๆ ให้สัมพันธ์ซึ่งกันและกันไปตามแบบแผนบางอย่าง และทำให้สิ่งมีชิวิตดูเรียงรายเข้าจังหวะและดูเป็นหมู่เป็นพวก พูดง่ายๆ ก็คือ มีกลไกบางอย่างที่ทำให้เราเกาะกลุ่มและทำอะไรให้สอดคล้องกันไป (ดู Steven Strogatz: How things in nature tend to sync up โดยเฉพาะท่อนที่ Steven Strogatz นักคณิตศาสตร์ พูดถึงโมเดลของอาจารย์ Iain Couzin นักวิจัยมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด)
ซึ่งหากในโลกยุคใหม่ มีความเชื่อว่าการทำงานหนักเกินไปกระทั่งหมดไฟ หรือป่วย หรือแม้แต่ตาย เป็นเรื่องปรกติในสังคมกลุ่มหนึ่ง ก็ไม่ยากที่มันจะถูกเชื่อไปตามๆ กันและกลายเป็นเรื่องที่ถูกยอมรับว่าเป็น ‘ปรกติ’ ในที่อื่นๆ ด้วย น่าเศร้าเหลือเกินที่ในหลายองค์กร ความ ‘ปรกติ’ ดังกล่าวมีอิทธิพลมากกว่ากฎหมายแรงงานของถิ่นนั้นๆ
ล่าสุดมีข่าวพนักงานในบริษัทจีนแห่งหนึ่งทำงานจนตาย แม้จะเป็นข่าวใหญ่โตที่ทำให้คนถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน แต่วัฒนธรรมการทำงานที่สูบพลังชีวิตพนักงานจนล้มหายตายจากไปก็เป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วและยังคงดำเนินต่อไป แม้แต่ในประเทศไทยเองวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัว
ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องทำงานหนักเกินไปจนกลายเป็นคนป่วยง่ายหรือป่วยเรื้อรัง และรู้สึกใกล้หมดไฟเต็มที คุณอาจตำหนิตัวเองว่าทำงานได้ไม่สมบุกสมบันเท่าคนอื่น คุณอาจตั้งคำถามว่า ตัวเองมีอะไรผิดปรกติหรือเปล่า? ในขณะที่เมื่อมองไปรอบตัว การมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ การมีเวลาพักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การได้มีพื้นที่สีเขียว ฯลฯ ที่ทุกคนควรเข้าถึงได้กลับกลายเป็น ‘อภิสิทธิ์’ – สิ่งที่จะถามก็คือ ตกลงอะไรกันแน่ที่ผิดปรกติ?
แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ในบทแรก คนที่มีภาวะหมดไฟหรือเสี่ยงต่อการหมดไฟ มักมีบุคลิกลักษณะบางอย่าง เช่น เป็นคนจริงจังมากและอาจเข้าขั้นบ้างาน หรือบ้างก็เป็นคนลักษณะที่ไม่ค่อยกล้าปฏิเสธคนอื่น กลัวความขัดแย้ง และลงเอยด้วยการรับงานมหาศาลมาทำตามที่คนอื่นคาดหวังทั้งหมด
นอกจากนี้ เมื่อศึกษาโลกภายในของคนที่หมกมุ่นกับงานอย่างไร้สุขภาวะ ก็พบคนที่ใช้งานหนีแผลใจ หรือคนที่พุ่งทะยานหาความสำเร็จแทบจะตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาไม่ควรค่าแก่การชื่นชมและเป็นที่รัก
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะมีสิ่งรบกวนใจหรือไม่มีก็ตาม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานหนักมากเกินไปจนรู้สึกว่าใกล้พังเต็มที อาจนำข้อเสนอ 4 ข้อด้านล่างพร้อมคำถามสำหรับทบทวนตัวเอง นี้ไปปรับใช้ได้นะ
1. การพักผ่อน “เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ” ถ้าคุณพบว่าตัวเองเป็นพวกบ้าความ “สำเร็จตามเป้า” ก็ลองทำให้การ “พักผ่อน” เป็น “เป้าหมาย” สำคัญดูบ้าง โดยสามารถเขียน “เป้าหมาย” ดังกล่าวลงในปฏิทิน และเมื่อเราสามารถพักผ่อนได้ตามเป้าหมาย มันก็อาจสนองความรู้สึก “สำเร็จตามเป้า” อย่างที่เราไม่ได้คาดมาก่อน นอกจากนี้ ถ้าคุณบ้าความสำเร็จที่วัดจากเรื่องงาน หากมีเวลานั่งนิ่งๆ ลองถามตัวเองไหมว่า มันเป็นเพราะรู้สึกว่าลึกๆ ตัวตนที่แท้จริงของเรา ‘ไร้ค่า’ เกินไปที่จะได้รับความชื่นชมหรือเปล่า? ถ้าใช่ อยากให้ลองนึกถึงเด็กทารกตัวน้อยดู เจ้าตัวน้อยเหล่านั้นต้องพอกตัวเองด้วยความสำเร็จเรื่องงานก่อนไหม คนถึงมารุมรักและเอ็นดู?
2. ต่อรองบ้าง! รักตัวเองหน่อย! คุณอยู่ในเหตุการณทำนองนี้อยู่หรือเปล่า? เช่น ทำงานเกินเวลาติดๆ กันหลายอาทิตย์ พอเคลียร์งานเสร็จหมดแล้ว คุณรู้สึกล้าเต็มทนแต่ก็ไม่กล้าใช้สิทธิลางาน หรือทุกๆ วัน คุณมีงานในมือเยอะมากแล้ว แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธหรือต่อรองเรื่องงานที่ถูกยัดมาเพิ่มเรื่อยๆ แบบที่ทุกอย่างต้องเร่งส่งทั้งหมด คุณพยายามทำตามความคาดหวังของคนอื่นโดยการเอาเวลานอนและเวลาวันหยุดของคุณเข้าไปแลกแต่มันก็ยังไม่พออยู่ดี แถมคุณไม่ได้โอทีอีกต่างหาก
ต่อรองบ้าง! รักตัวเองหน่อย!
หัดปฏิเสธบ้าง ก่อนที่ร่างกายจะปฏิเสธแทนคุณในรูปแบบของอาการป่วย (ดูวีดีโอ When the Body Says No — Caring for ourselves while caring for others. Dr. Gabor Maté)
ลองใคร่ครวญดูว่าที่ยอมทำทุกอย่างตามที่คนอื่นต้องการเพราะคุณเชื่อว่าตัวเองต่อรองไม่ได้หรือเปล่า? ถ้าใช่ มันเป็นเพราะอะไร? บางคนไปเจอว่าตอนเด็กเขาถูกทำให้เชื่อว่าความต้องการของฉันไม่สำคัญเท่าของคนอื่น ถ้าเป็นอย่างนั้น ลองหัดให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเองบ้าง ซึ่งคุณอาจได้ยินเสียงวิจารณ์ภายในว่า ‘เห็นแก่ตัว’ อะไรอย่างนี้! ถ้ามีคำนี้ขึ้นมาลองตั้งคำถามกับมันดูไหม? รักตัวเองอย่างสมเหตุสมผลไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ถ้าคุณทำให้ตัวเองล้มหมอนนอนเสื่อ คุณจะยังช่วยอะไรคนอื่นได้อีก? รักตัวเองมากกว่าคนอื่นสักครั้งเถอะ แล้วครั้งต่อๆ ไปมันจะง่ายขึ้น
และถ้ามีเวลาก็อยากให้ลองทบทวนว่าตอนเด็กเราเติบโตมาอย่างไรหรือมีความเชื่ออะไรที่คอยขับเคลื่อนคุณอยู่โดยที่คุณไม่ค่อยรู้ตัวบ้าง (บางทีก็ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน) คุณอาจจะเจอขุมทรัพย์ภายในบางอย่างที่มีค่ากับชีวิตมากก็ได้นะ (หากสนใจ สามารถอ่านบทความเหล่านี้ประกอบ Perfume น้ำหอมมนุษย์: ความสัมพันธ์กับตัวเองและผู้อื่น ที่เรียนรู้มาจากผู้เลี้ยงดู และ Swan Lake 1: เงามืดในตัวเองที่เราไม่ยอมรับรู้ ซึ่งไปปรากฏในความสัมพันธ์)
หากคุณยอมคนอื่นมาตลอด การที่คุณอนุญาตให้ตัวเองพักในเวลาที่จำเป็นต้องพัก ไม่เพียงเป็นการใจดีกับตัวเอง แต่เป็นการใจดีกับคนอื่นด้วย เพราะมันลดโอกาสที่จะทำให้คุณเกิดความคิดว่าคนอื่นเบียดเบียนหรือเอารัดเอาเปรียบคุณ เมื่อคุณไม่ทำตัวเป็นเหยื่อ คุณก็ไม่ทำให้คนอื่นกลายเป็นวายร้ายไปด้วย
ยังมีกรณีอื่นๆ หากเจ้านายคุณไม่ได้บอกว่างานที่ให้มาต้องเสร็จภายในคืนนี้ เดี๋ยวนี้ แต่คุณเองต่างหากที่รู้สึกว่ายังพักไม่ได้จนกว่างานจะเสร็จ หาทางผ่อนคลายด้วยวิธีคิดบางอย่างได้ไหม? เช่น ลองบอกตัวเองว่า “วันนี้ทำได้เท่านี้ พักก่อน” หรือ “ต่อให้เราตายไปวันนี้ พรุ่งนี้เขาก็หาคนมาแทนเราได้” หรือถ้ายังเครียดมาก อาจลองผสมน้ำกับสีน้ำเงิน สีเขียว หรือสีอะไรตามที่รู้สึกอยากสัมผัสในตอนนั้นมาแปะเล่นบนกระดาษดู อาจจะช่วยละลายความกดดันตัวเองออกไปกับสีได้นะ
และเหมือนที่กล่าวไปแล้ว ถ้ามีเวลาอยากให้ลองทบทวนชีวิตนับแต่อดีตของตัวเองดู เผื่อจะเจออัญมณีภายในที่ช่วยปลดล็อคคุณได้ยาวกว่าแค่ใช้สีระบายความเครียด
3. ลองขอเปลี่ยนตำแหน่งงาน หรือหาทางต่อรองกับเจ้านาย เพื่อปรับรูปแบบการทำงานเพื่อลดความเหนื่อยล้าและได้เนื้องานเยอะกว่า หรือขอทำงานแบบไม่เน้นเข้าออฟฟิศ ถ้าไม่ค่อยเข้ากับ 2 ข้อแรก แต่บริบทมันบังคับให้ต้องโหมงานจริงๆ และ/หรือมีเงื่อนบีบให้คุณต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เข้ากับตัวเองมากๆ และคุณรู้ตัวว่าเริ่มไม่ไหวแล้ว ก็อาจลองขอเปลี่ยนตำแหน่งงาน หรือหากอยู่ในฐานะที่ทำได้ อาจลองนำเสนอรูปแบบการทำงานต่างๆ ที่ช่วยลดความเหนื่อยล้าที่ไม่จำเป็น หนำซ้ำยังมีแนวโน้มทำให้ได้เนื้องานมากขึ้นด้วย พูดให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจฟังดู เขาอาจชอบความสร้างสรรค์ของเราก็ได้
ลองฟังวีดีโอหรืออ่านประเด็นเกี่ยวกับการทำงานที่ไม่เน้นการเข้าออฟฟิศเหล่านี้สิ เผื่อจะปิ๊งอะไรใหม่ๆ (สำหรับเนื้อหางานและสำหรับพนักงานที่มีคุณสมบัติทำแบบนั้นได้ เพราะแน่นอนว่ามันไม่ได้เหมาะกับทุกงานหรือทุกคน และยังมีปัญหาหลายอย่างจากรูปแบบนี้ที่ไม่ได้พูดถึง อีกทั้งมีรูปแบบการทำงานอีกหลายอย่างที่ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาในที่นี้)
- Virtual Culture: The Way We Work Doesn’t Work Anymore, a Manifesto เกี่ยวกับลักษณะธุรกิจที่มีการเชื่อมโยงกันโดยอาศัยเทคโนโลยี การทำงานโดยพนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทอย่างมหาศาล ผลิตภาพไม่ได้มาจากการตอกบัตรเข้าคอกทำงานทุกวัน แต่มาจากการทำงานแบบมืออาชีพ เป็นผู้ใหญ่และเสร็จในเวลาที่เหมาะสม การเคารพเวลาของพนักงานทั้งในและนอกเวลาทำงานและให้อิสระในการทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้บริษัทรักษาคนมีพรสวรรค์ไว้ได้ด้วย ฯลฯ
- Why Work Does not Happen at Work: Jason Fried at TEDxMidwest จากประเด็นคำถามว่าถ้าต้องทำงานให้เสร็จ คนจะตอบว่าจำเป็นต้องไปที่ไหน? แทบไม่มีใครตอบว่าที่ทำงาน มีคำตอบซึ่งเป็นสถานที่พิเศษหรือพื้นที่เคลื่อนไหว และที่ไหนก็ได้ที่เช้ามากๆ ดึกมากๆ หรือเสาร์อาทิตย์ วิเคราะห์โดยรวมก็คือ คนทำงานได้ดีเมื่อ ได้เวลาทำงานจริงๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกรบกวน (แต่ที่ออฟฟิศมักจะมีอะไรมารบกวนไง)
- Remote: Office Not Required หนังสื่อเกี่ยวกับประเด็นการทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ คือเคลื่อนงานเข้าไปหาคนทำงาน แทนที่จะให้คนทำงานเคลื่อนย้ายไปหาที่ทำงาน ประโยชน์ของวิถีแบบนี้ เช่น ลดอัตราการลาออก สามารถดำเนินธุรกิจข้ามหลายๆ เขตเวลาได้ดีขึ้น และเพิ่มความเป็นศูนย์รวมคนเก่ง โดยรวมคือ การทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (remote work) ทำให้เราสามารถมีสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตโดยที่มีผลิตภาพของงานเพิ่มขึ้นได้ด้วย
ยังมีสื่อที่มีเนื้อหาทำนองนี้อีกมาก ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์เชิงบวกของผู้เขียนที่เคยทำงานให้องค์กรต่างประเทศจำนวนหนึ่ง โดยมีเพื่อนร่วมงานซึ่งทำงานร่วมกันจากหลากหลายเขตเวลา ทำงานตอนไหนที่ไหนก็ได้ แค่นัดเวลาคุยงานกันผ่านโปรแกรมสื่อสารต่างๆ เป็นระยะและทำงานให้เสร็จก่อน deadline อย่างมีคุณภาพก็พอ โดยหาทางรับเงินจากช่องทางที่หลากหลาย เช่น Paypal (รับเงินไว แต่ยังต้องทำใจกับค่าธรรมเนียมที่สูงและเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ แต่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องบล็อคเชนเท่าไหร่นัก)
รู้จักคนไทยท่านหนึ่งที่ทำงานประจำจากบ้านให้บริษัทต่างชาติมาหลายปีและมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ต่อมาเมื่อเจ้านายเธอบอกว่าให้เข้าออฟฟิศ เธอยืนยันจะลาออก เจ้านายเธอจึงอนุญาตให้เธอทำงานที่บ้านต่อ แสดงว่าทั้งสองฝ่ายย่อมเห็นข้อดีของการทำงานลักษณะดังกล่าว
นอกจากนี้ช่วงโรค covid-19 ระบาดที่ผ่านมา มีคนส่วนหนึ่งที่เมื่อได้ทำงานจากที่บ้านก็เหนื่อยน้อยลง เมื่อไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันทำงาน เราสามารถลดความเครียดจากการเดินทางฝ่ารถติดไปกลับบ้านและที่ทำงานอย่างน้อยสามชั่วโมง หรือเบียดแย่งรถไฟฟ้า หรือบางทีก็ลดภาระจากการต้องย้ายไปเช่าห้องเล็กๆ เสียงดังๆ กลางเมืองอยู่ คนทำงานส่วนหนึ่งสามารถทำงานจากบ้าน และเมื่อไม่ต้องเหนื่อยล้าและเสียเวลากับการเดินทางก็มักสามารถสร้างเนื้องานให้บริษัทได้มากกว่าเดิม
ในกรณีผสมผสาน เคยสัมผัสกับที่ทำงานแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่ทำงานมูลค่ามหาศาลแบบเน้นเป็นโปรเจกต์ๆ โดยจะมีทีมงานมันสมองส่วนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องเข้างานประจำแบบตอกบัตร และในส่วนที่ต้องเข้ามาประจำ ทางบริษัทก็เตรียมห้องเงียบๆ และพื้นที่เขียวๆ ไว้ให้มนุษย์ใช้สมองหนักเหล่านี้สามารถปลีกวิเวกไปทำงานกับข้อมูลซับซ้อนแบบที่เข้ากับความอินโทรเวิร์ทหรือเซ็นซิทีฟตามลักษณะของแต่ละคนได้เต็มที่ จากผลลัพธ์การดำเนินงานทั้งชีวิตของเจ้าของบริษัท ท่านไม่ได้สำเร็จแค่ด้านการเงิน แต่น่านับถืออย่างยิ่งในการหล่อเลี้ยงความเป็นมนุษย์ของทีมงาน
ความสร้างสรรค์ทำนองนี้ (หรือจะปรับให้ต่างจากนี้ตามประเด็นของกลุ่มทำงานนั้นๆ) อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหมดไฟของคนทำงาน และก็อาจเป็นได้ในที่ทำงานของคุณในอนาคตเหมือนกัน
4. สร้างงานแบบใหม่ที่เหมาะกับตัวเองไปเลย อย่างไรก็ดี ถ้าคุณรู้สึกว่าวิถีการทำงานกระแสหลักไม่ยั่งยืนและอาจสืบทอดปัญหาเชิงโครงสร้างบางอย่าง หากคุณรู้สึกว่าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการหาเลี้ยงชีพโดยสิ้นเชิงแต่ยังไม่มีทางเลือก นอกเหนือจากลิงก์แนวคิดต่างๆ ที่ให้ไว้ด้านบน ในประเทศไทยก็ยังมีแหล่งแนวคิดและวิถีชีวิตทางเลือกที่สามารถนำมาปรับให้เกิดเป็นวิถีการงานและวิถีชีวิตของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นวิถีจากชุมชนพรรณพันของพี่โจนจันได หรือลองศึกษากระบวนทัศน์ใหม่ที่เผยแผ่โดยองค์กรต่างๆ ภายใต้ร่มเงามูลนิธิเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ซึ่งริเริ่มโดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธการทำงานหาเงิน เพียงแต่ยังเน้นการพัฒนามนุษย์ในมิติอื่นๆ และวิถีชีวิตที่ให้ค่าความยั่งยืน การศึกษาโลกภายในและอยู่กับธรรมชาติด้วย ซึ่งเมื่อศึกษาแนวคิดต่างๆ ไปสักพักก็จะเอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์ทางเลือกที่ทำให้ไม่ต้องสยบยอมมากเกินไปกับวิถีการทำงานที่ต้องทำร้ายตัวเองจนหมดไฟหรือล้มป่วย ซึ่งถ้าปรับได้ก็น่าจะส่งผลดีกับคนใกล้ชิดและชุมชนด้วย
ในขณะที่คุณกำลังพิจารณาข้อ 4 นี้ เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนและแม้แต่ล้มและทดแทนธุรกิจต่างๆ อีกทั้งโรคระบาดก็อาจเป็นปัจจัยที่กำลังกระตุ้นให้คุณวิวัฒนาการเร็วกว่าเดิมก็ได้ เหมือนเพื่อนๆ รอบตัวคุณที่อาจโดนสถานการณ์บีบให้ปรับวิถีการงานหรือแม้แต่ต้องออกจากงานประจำมาสร้างธุรกิจของตัวเองล่วงหน้าคุณกันไปแล้ว
มีคนเคยบอกว่าการหมดไฟเกิดขึ้นเพราะคุณหลีกเลี่ยงการเป็นมนุษย์มานานเกินไป ข้าพเจ้าหยิบไพ่ทาโร่ 4 ดาบขึ้นมา บนหน้าไพ่มีรูปอัศวินนอนราบอยู่บนโลงศพ พลันนึกขึ้นได้ว่าแม้แต่อัศวินนักรบที่เก่งกาจที่สุดก็ยังต้องมีวันพัก แต่เราต้องพักแค่ไหนและจะทำงานต่อโดยสร้างวิถีใหม่หรือไม่ และอย่างไร? แต่ละคนต้องหาและออกแบบเองต่อจากนั้น เราไม่จำเป็นต้องรับเอาวิถีของคนอื่นมาทั้งหมดอย่างสุดโต่ง
และการมีกัลยาณมิตรที่เห็นพ้องในวิถีทางเลือกหรือวิถีผสมผสานคล้ายๆ กัน จะช่วยผนึกกำลังและประคองวิถีเช่นนั้นให้อยู่ในชีวิตเราได้มากขึ้น