- มนุษย์เรามักปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ในรูปแบบพฤติกรรมที่เคยชิน หมายถึง เมื่อมีสถานการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นตรงหน้า เราจะแสดงพฤติกรรมตอบสนองที่เราคุ้นชินมากกว่าจะปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรม
- Adaptability คือ ความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่น เป็น 1 ใน 16 ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 คนที่มีทักษะนี้มักไม่มีปัญหา เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเมื่อต้องออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองก็พร้อมปรับมุมมองหรือวิธีคิดอยู่เสมอ
อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ถูกมองหาใน ‘ทีมทำงาน’ ทุกวันนี้คือ adaptability ‘ความสามารถในการปรับตัว’ และ ‘ความยืดหยุ่น’ 1 ใน 16 ทักษะจำเป็นศตวรรษที่ 21
โดยรวม ผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัวคือคนที่ไม่มีปัญหาหรือมีปัญหาน้อยเมื่อสถานการณ์รอบตัวเปลี่ยนไปหรือต้องออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง มีความพร้อม (willing) ที่จะปรับมุมมองหรือวิธีคิด ปรับแผนงานเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ง่าย ขณะที่ผู้มีปัญหาด้านการปรับตัวอาจใช้เวลามากกว่าเพื่อปรับตัวให้รู้สึกผ่อนคลายกับสถานการณ์ใหม่ จนปรับวิธีคิดหรือมุมมองเพื่ออยู่ในสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างสะดวกใจ และคิดหาวิธีจัดการสถานการณ์ตรงหน้าได้ในที่สุด
สำคัญที่สุด นี่ไม่ใช่แค่คาแรคเตอร์ที่บ่งบอกความสำเร็จด้านการงานเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับความฉลาดทางอารมณ์ หรือพูดได้ว่าผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัวมักเป็นผู้ที่มีความสุขได้ง่ายดายกว่าด้วย
อ้างอิงจากงานวิจัยในปี 2008 โดย Economist Intelligence Unit เรื่องคาแรคเตอร์ที่ ‘ผู้นำ’ ต้องมีในสนามธุรกิจโลก คือ
- ความสามารถสร้างแรงบันดาลใจและจุดไฟให้ผู้ร่วมงาน (35 เปอร์เซ็นต์)
- ความสามารถจะทำงานท่ามกลางความหลากหลาย (34 เปอร์เซ็นต์)
- ความสามารถที่จะสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นในองค์กร (32 เปอร์เซ็นต์)
- อันดับท้ายๆ ตกเป็นของความสามารถในวิชาชีพ (11 เปอร์เซ็นต์) และ ความสามารถสร้างผลกำไร (10 เปอร์เซ็นต์)
แม้จะเป็นผลสำรวจย้อนกลับไปนับสิบปี (แต่ทักษะในศตวรรษที่ 21 ยังคงระบุคุณสมบัติข้อนี้ในคนรุ่นใหม่) แต่อาจตีความได้ว่าความสำคัญเรื่องการปรับตัวไม่เคยหายไปไหน ซ้ำยิ่งถูกไฮไลต์ให้ชัดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของโลกใบนี้
การทำงานท่ามกลางความหลากหลาย (ข้อ 2) – หนึ่งในคาแรคเตอร์ของการปรับตัว – เคยถูกให้ความสำคัญอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังจำเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเอื้อให้เราทำงานเชื่อมต่อกันจากทั่วทุกมุมโลก งานวิจัยบอกว่าในทีมงานหนึ่งอาจมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ถึง 22 แห่ง! รวมทั้งการมองหาโอกาสเพื่อทำให้เกิดขึ้นในองค์กร (ข้อ 3) ก็เป็นหนึ่งในวิธีคิดและมุมมองของผู้ที่มีความสามารถในการปรับตัวเช่นกัน
การปรับตัวกับการทำงานของสมอง
ในหนังสือ Everyday Survival: Why Smart People do Stupid Things โดย ลอเรนซ์ กอนซาเลส (Laurence Gonzales) อธิบายเรื่องการแนวโน้มการปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่กับรูปแบบพฤติกรรมเคยชิน เมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้นตรงหน้า เราอาจตอบสนองในรูปแบบที่เราคุ้นชินมากกว่าจะปรับตัวและเปลี่ยนพฤติกรรม นั่นเป็นเพราะการรับรู้ที่ใส่กุญแจล็อคความคิดของเราไว้
ลอเรนซ์ ระบุว่า ‘behavioral scripts’ หรือ ‘mental models’ ในทางประสาทวิทยา หรือ neuroscience คือวิธีเรียนรู้ที่เกิดจากเงื่อนไขทางสังคม เช่น หากทำสิ่งนี้จะได้รางวัล หากทำสิ่งตรงข้ามจะถูกลงโทษ หรือพูดง่ายๆ มันคือการเรียนรู้ที่มาจาก บรรทัดฐาน หรือ norm ของสังคม เช่น การเรียนรู้ที่จะพูดขอโทษหรือขอบคุณ การเรียนรู้ที่จะต้องเอาอกเอาใจพ่อแม่ ซึ่งเงื่อนไขของการเรียนรู้จะแตกต่างไปแล้วแต่สังคมที่เราอาศัยอยู่ ‘behavioral scripts’ ยังเป็นการเรียนรู้ที่จะจดจำพฤติกรรมที่เราทำบ่อยจนเคยชินด้วย เช่น การใส่รองเท้า เราทำซ้ำๆ จนใส่มันได้คล่อง ใส่ไปคุยไปด้วยยังได้
หมายความว่า behavioral scripts ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพฤติกรรม แต่เกิดในระดับ ‘การรับรู้’ และ ‘ความเชื่อ’
ที่น่าสนใจคือ behavioral scripts มีแนวโน้มทำให้เราไม่รับรู้ต่อสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของเรา ทำให้เราไม่พยายามจะทำในสิ่งที่ ‘เรารู้สึก’ ว่ามันแย่หรือ ‘คิด’ ว่าเป็นไปไม่ได้
แล้ว behavioral scripts เกี่ยวข้องกับการปรับตัวอย่างไร?
ก็เพราะเจ้า behavioral scripts ที่เป็นระบบปฏิบัติการทางสมอง ในทางหนึ่งช่วยให้เราปลอดภัยเพราะเลือกทำในสิ่งที่เราคุ้นชินหรือสิ่งที่สังคมบอกว่าดี รูปแบบหรือพฤติกรรมที่เราเคยชินอาจทำให้เราเพิกเฉยหรือปฏิเสธสถานการณ์หรือสัญญาณเตือน ‘ใหม่’ ที่ปรากฏตรงหน้า และคิดว่าเป็นสถานการณ์เดิมๆ ที่เรา (รวมทั้งสมองเรา) รับรู้อยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เป็นธรรมดาที่เราจะปฏิบัติต่อสถานการณ์ตรงหน้าอย่างที่เราเคยทำ (ในสถานการณ์เดิม) ในอดีต
โดยรวม การปฏิเสธข้อเท็จจริงใหม่ที่สมองไม่เคยรับรู้และยังตีความว่า “มันก็เป็นเรื่องเดิมๆ” ทำให้เรามีแนวโน้มจะละเลยข้อเท็จจริง ไม่ยืดหยุ่น ไม่มีความสนใจ ตั้งใจจะเรียนรู้และเปิดรับแนวทางใหม่ๆ มาปรับใช้กับสถานการณ์ตรงหน้า (หรือเรียกว่าประตูแห่งการเรียนรู้ไม่ถูกเปิด)
เหตุผลทางสมองที่กล่าวไปนี้ ย้ำว่านี่คือเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไปจนเป็นหนึ่งในสาเหตุว่า… Why Smart People do Stupid Things? เพียงรู้ไว้แค่ว่า เวลาที่สมองติดกับจนรีบอยากปฏิเสธข้อเท็จจริง อาจลองใช้เวลาพิจารณาข้อเท็จจริงอีกนิดว่า… เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับมุมมอง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ตรงหน้า
14 มุมมอง ของคนที่ปรับตัวเก่งสุดๆ
อันที่จริงคงไม่มีใครระบุได้ว่าการเป็นคนปรับตัวเก่งนั้นมีลักษณะที่ชัดเจนและตายตัวอย่างไร (แน่นอนว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘แท้ทรู’ เช่นเดียวกัน)
อย่างไรก็ตาม เจฟ บอส (Jeff Boss) ที่ปรึกษาอาวุโสแห่ง N2Growth บริษัทให้คำปรึกษาระดับโลกติดอันดับนิตยสาร Forbes และคอลัมนิสต์นิตยสาร Forbes เขียนถึงความสำคัญของ การปรับตัว ในแง่คาแรคเตอร์สำคัญในการเป็นผู้นำ และระบุ 14 มุมมองของคนที่ปรับตัวได้ดี จากมุมมองและประสบการณ์ของเขาไว้ดังนี้
- เพื่อจะปรับตัวได้ พร้อมเปลี่ยนแปลง: คุณต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองพร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่การกระทำ แต่เป็นความต้องการภายในที่พร้อมจะปรับตัว มีทัศนคติที่ดีต่อความอดทน
- คนที่ปรับตัวเก่ง เห็นวิกฤติเป็นโอกาส: การปรับตัวคือการเติบโต การเปลี่ยนแปลง และคือการเปลี่ยนความเข้าใจของตัวเองต่อสิ่งที่คิดว่าเคยใช่ รู้ว่ามันผิดได้และผิดอย่างไร จากนั้นคนที่ปรับตัวรู้ว่าจะหาวิธีปรับตัวไปสู่สิ่งที่ถูกต้องใหม่อย่างไร (หรือที่เรียกว่า new right) นี่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะความสำเร็จในอดีตไม่ได้หมายความหรือการันตีว่ามันจะเกิดผลแบบเดียวกันในอนาคต
- คนที่ปรับตัวเก่ง แก้ปัญหาได้ดี: แทนที่จะติดอยู่กับปัญหาที่ (รู้สึก) ว่าแก้ไม่ได้ คนที่ปรับตัวเก่งมีแผน A, B, C อยู่เสมอ
- คนที่ปรับตัวเก่ง มองหาโอกาสเสมอ: เพื่อการพัฒนาตัวเอง คนที่ปรับตัวเก่งจะขยายขอบความสามารถของตัวเองไปเรื่อยๆ เสมอ
- คนที่ปรับตัวเก่ง จะไม่ฟูมฟาย: เพราะเมื่อไรที่พวกเขาเจอสถานการณ์ที่จัดการไม่ได้ …นั่นแหละ พวกเขาก็แค่ปรับตัวและก้าวต่อไป
- คนที่ปรับตัวเก่ง มักพูดกับตัวเอง: งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันมาแล้ว คนที่คุยกับตัวเองเป็นคนฉลาด! หมายความว่าคนที่คุยกับตัวเองไม่ได้เป็นบ้า แต่เมื่อไรก็ตามที่พวกเขากระวนกระวายใจ ฟุ้งซ่าน หรืออารมณ์ข้างในสั่นไหว พวกเขามักใช้การคุยกับตัวเองในเชิงบวก ถาม-ตอบ กับตัวเองเพื่อทบทวน เรียนรู้ และไตร่ตรองต่อสถานการณ์ตรงหน้า
- คนที่ปรับตัวเก่ง ไม่โทษคนอื่น: พวกเขาไม่ล่าเหยื่อ ไม่หาคนผิด แต่พยายามทำความเข้าใจ แก้ไข และก้าวต่อ
- คนที่ปรับตัว ไม่เอาหน้า: พวกเขาไม่อวดตัวว่าเป็นเจ้าของความสำเร็จเพราะรู้ว่าไม่นานมันก็จะสูญสลายหายไป แทนที่จะใช้เวลา (และอารมณ์) กับความสำเร็จชั่วยาม พวกเขาใช้เวลานั้นกับปัญหาที่อาจเกิดในโปรเจ็คต์ถัดไป
- คนที่ปรับตัวเก่ง มีคาแรคเตอร์แห่งความสงสัยใคร่รู้: ถ้าไม่มีความกระหายอยากรู้ ก็ไม่มีการปรับตัว สองอย่างนี้ยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งการเรียนรู้และผลักให้คนเราพัฒนาต่อไปข้างหน้า
- คนที่ปรับตัวเก่ง ปรับตัว: แน่นอนที่สุด คนที่ปรับตัวเก่งจะไม่มีบุคลิกแบบนี้ได้ยังไง?!
- คนที่ปรับตัวเก่ง ไม่หนีปัญหา: การจะปรับตัวได้ คุณต้องรู้ปัญหาตรงหน้าเสียก่อนว่ามันคืออะไรและสำคัญอย่างไร
- คนที่ปรับตัวเก่ง มองเห็นระบบ: เวลาพวกเขาพิจารณาบางอย่าง (เพื่อปรับตัว) พวกเขาไม่ได้มองแค่ใบไม้ใบเดียว แต่ต้องการมองเห็นใบไม้ทั้งป่า เพื่อที่จะประเมินได้ว่าพวกเขาจะตัดสินใจต่อสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไร
- คนที่ปรับตัวเก่ง มีใจที่เปิดกว้าง: ใจที่เปิดกว้างหมายถึงความพร้อมที่จะเข้าอกเข้าใจ รับฟังปัญหาจากคนอื่น ไม่ใช่แค่ความเข้าใจต่อกันที่ลึกซึ้ง แต่หมายถึงความเข้าใจต่อ ‘ข้อมูล’ หรือ ปัญหาที่คนตรงหน้ามี การรู้ปัญหาที่แท้จริงนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่ถูกจุด
- คนที่ปรับตัวเก่ง รู้ว่าคุณค่าของพวกเขาคืออะไร: การปรับตัวนั้นจำเป็นต้องใช้ความเข้าใจต่อคุณค่าที่ตัวเองยึดถือและอะไรไม่ใช่ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร แม้ว่าการปรับตัวคือการยืนอยู่ที่เดิม แต่อย่างน้อยจะรู้ว่า ที่ยืนอยู่เพราะเราเชื่อในอะไร