- เพราะไม่อยากให้ลูกเหนื่อย ลำบาก และความกลัวว่า ‘ถ้าขัดใจลูกแล้วลูกร้องไห้ ลูกจะไม่รักตัวเอง’ ผู้ปกครองหลายคนจึงอาสาที่จะสรรหาและทำให้ลูกทุกอย่าง โดยที่ลูกแทบไม่ต้องทำอะไรเอง การกระทำเช่นนี้อาจเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม ทำให้เขาขาดโอกาสพัฒนาร่างกายและจิตใจตามวัยอย่างที่ควรเป็น
- เมื่อไม่ได้รับพัฒนาการตามช่วยวัย สิ่งที่ตามมา คือ ความมั่นใจในตัวเองของลูกก็จะขาดหายไป เพราะเขาได้นำความมั่นใจนั้นไปแขวนไว้กับพ่อแม่หรือผู้อื่นเสียแล้ว กลายเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา
- เพื่อไม่ให้ความรักของผู้ปกครองส่งผลกระทบแง่ลบกับลูกโดยไม่ได้เจตนา ชวนปรับวิธีเลี้ยงลูกใหม่ เริ่มด้วยการปรับมายเซ็ตเชื่อมั่นในตัวลูกว่าเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เอง ปล่อยให้ลูกลงมือทำกิจกรรมต่างๆ โดยใช้หลักการ ‘เผื่อเวลาให้กับลูกเสมอ’ และ ‘กฎ 5 นาที’ ลดบทบาทของเราลงเป็นเพียงคนคอยซับพอร์ต เข้าไปช่วยเหลือเมื่อเขาทำไม่ได้
หมายเหตุ 1 เนื้อหาต่อไปนี้มีการปรับแต่งเนื้อหาและรายละเอียดเพื่อปกป้องสิทธิ์ของคนไข้ แต่โครงเรื่องยังคงไว้เช่นเดิม
หมายเหตุ 2 บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
ลูกเทวดา
วันเปิดเรียนวันแรกของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เด็กน้อยวัย 4 ขวบ ถูกอุ้มลงจากรถ และพาเข้าโรงเรียน โดยที่เท้าไม่ได้แตะพื้น ในขณะที่เพื่อนๆ ของเขาเดินจูงมือพ่อกับแม่เข้ามาด้วยตัวเอง เด็กน้อยเริ่มหวาดหวั่น และแผดเสียงร้องดังลั่น พ่อกับแม่ของเขาทำตัวไม่ถูก จึงตัดสินใจพูดออกมาว่า ‘ไม่เป็นไรนะ วันนี้ไม่เรียนก็ได้ ไม่ร้องนะๆ กลับบ้านกัน’ จากนั้นก็รีบพาเด็กน้อยกลับขึ้นรถพากลับบ้านทันที
พ่อกับแม่คงคิดว่านี่เป็นเพียงวันแรกของการปรับตัวของลูก แต่ยิ่งนานวันไป จนเวลาเลยผ่านมาเกือบครึ่งปี เด็กน้อยก็ไม่สามารถปรับตัวได้ พ่อกับแม่ต้องผลัดกันไปเฝ้าเขาที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กน้อยยอมไปเรียน
เวลาทำกิจกรรมศิลปะที่ห้องเรียน เด็กน้อยไม่สามารถนั่งทำกิจกรรมได้จนจบ เพราะมือของเขาไม่แข็งแรงพอจะจับสีระบายบนกระดาษเหมือนเพื่อนๆ และเขาไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะรอคนอื่นๆ ทำกิจกรรมจนเสร็จได้ เด็กน้อยจึงมักวิ่งออกไปนอกห้องเรียนเพื่อไปเล่น โดยมีคุณครูต้องวิ่งไล่ตามพาเขากลับมา
เวลาอาหาร เด็กน้อยไม่แตะอาหารแม้แต่อย่างเดียว พ่อกับแม่จึงเตรียมอาหารจากบ้านซึ่งล้วนแต่เป็นของโปรดของเขา พร้อมตัดแบ่งไว้พอดีคำ รอเด็กน้อยหยิบจับเข้าปากก็พอแล้ว
เวลาเข้าห้องน้ำ เด็กน้อยไม่ต้องเข้าเหมือนเพื่อนๆ วัยเดียวกับเขา เพราะเขาสามารถทำธุระในแพมเพิร์สของเขาได้ทันที เขาไม่เคยได้รับการสอนให้ใช้ห้องน้ำเลย
เวลาเล่นกับเพื่อน หากเขาอยากเล่นอะไร เขาจะแย่งมาทันที ถ้าเพื่อนไม่ให้ หรือเขาไม่ได้เล่นในสิ่งที่เขาต้องการ เด็กน้อยจะร้องแผดเสียงทันที จนคุณครูต้องเข้าไปช่วยเหลือก่อนที่เด็กน้อยจะลงไปดิ้นกับพื้น เพื่อนๆ ต่างถอยหนี และไม่อยากเล่นกับเด็กน้อย เขามักจะเล่นคนเดียวบ่อยขึ้น
แม้เด็กน้อยจะได้ทุกอย่างอย่างที่เขาต้องการ แต่เขากลับไม่มีความสุขเลย เด็กน้อยเริ่มร้องไห้บ่อยขึ้น อารมณ์เหวี่ยงขึ้นลง จนพ่อแม่ของเขาเริ่มทนไม่ไหวอีกต่อไป พวกเขาสับสนว่า ‘ทั้งๆ ที่ให้ทุกอย่างที่ลูกต้องการแล้ว ทำไมลูกยังไม่มีความสุขอีก และตรงกันข้าม ดูเขาเป็นทุกข์มากขึ้น’
พ่อแม่ตัดสินใจพาลูกมาปรึกษานักจิตวิทยา และพวกเขาได้รับคำตอบว่า ‘การที่ลูกไม่มีความสุข เพราะเขาไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เขารู้สึกว่าตัวเองต้องพึ่งพาพ่อกับแม่ตลอดเวลา เขาไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ตามวัย ทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเพื่อนๆ ของเขา ความแตกต่างนั้นยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขามาอยู่ที่โรงเรียน’
ความรักที่เกิดจากความเข้าใจผิด ไม่อยากให้ลูกเหนื่อย ไม่อยากให้ลูกลำบาก พ่อแม่จึงอาสาที่จะสรรหาและทำให้ลูกทุกอย่าง โดยที่ลูกแทบไม่กระดิกตัว หรือเอ่ยปากใดๆ ความรักที่มีให้เกินความพอดี หรือให้แบบผิดทาง อาจจะนำไปสู่การทำร้ายโดยไม่ได้เจตนา ลูกจึงขาดโอกาสในการพัฒนาร่างกายและจิตใจตามวัยอย่างที่ควรจะเป็น ภูมิคุ้มกันทางกายใจที่ควรจะมีก็ไม่เกิดขึ้น และความมั่นใจในตัวเองก็ขาดหายไป เพราะเขาได้นำความมั่นใจนั้นไปแขวนไว้กับพ่อแม่หรือผู้อื่นเสียแล้ว จากการต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา และตลอดชีวิต
นอกจากนี้ เวลาที่เขาอยู่ที่บ้าน ทุกๆ อย่าง และทุกๆ คนหมุนรอบตัวเขาตลอดเวลา ทุกคนต้องยอมตามและปรับตัวเข้าหาเขา ตัวเขาเป็นผู้ควบคุมทุกคน ซึ่งตรงกันข้ามเมื่อเขาก้าวออกมาสู่สังคมโรงเรียน ทุกคนไม่ได้หมุนรอบตัวเขาอีกต่อไป เขาต้องเรียนรู้ที่จะอดทนรอคอย ผลัดกันเล่น แบ่งปัน เขาต้องปรับตัวเข้าหาคนอื่น ไม่ใช่คนอื่นปรับตัวเข้าหาเขา และกติกาเป็นผู้ควบคุมทุกคน รวมทั้งตัวเขาด้วย เด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ จึงรู้สึกอึดอัดเมื่อเขาเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้อื่น
เลี้ยงลูกเป็นเทวดา
นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Diana Baumrind (1971) ได้แบ่งรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ ซึ่งแต่ละแบบจะส่งผลต่อเด็กที่เติบโตมาแตกต่างกัน หนึ่งในนั้น คือ ‘พ่อแม่ที่เอาใจลูกและทำตามคำเรียกร้องของลูกแทบจะทุกอย่าง (Permissive parenting style)’ หรือ ที่เรามักคุ้นเคยกันดีกับประโยคนี้ ‘เลี้ยงลูกเป็นเทวดา’
พ่อแม่รูปแบบนี้มักจะทำตามคำเรียกร้องจากลูกเสมอ แม้ว่า ‘สิ่งนั้นจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ตาม’ ถ้าพวกเขาไม่ติดขัดอะไร ลูกจะได้รับสิ่งนั้นในทันที พ่อแม่กลุ่มนี้จะกลัวการขัดใจลูก เพราะกลัวว่า ‘ถ้าขัดใจลูกแล้วลูกร้องไห้ ลูกจะไม่รักตัวเอง’ รูปแบบของการให้โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีขอบเขต อาจจะมีความพยายามในการสอนลูกบ้าง แต่จะเป็นไปในลักษณะพูดขอร้องให้ลูกทำมากกว่าการบอกว่ามันจำเป็นต้องทำ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในลักษณะที่พ่อแม่อยู่ใต้การควบคุมของลูกเสียมากกว่า
ผลลัพธ์ของเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ตามใจลูกในทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม เด็กจะยึดตัวเป็นศูนย์กลาง (ของทุกสิ่ง) ไม่พยายามควบคุมตัวเอง ไม่มีวินัยและความรับผิดชอบ รอคอยไม่เป็น และไม่ต้องการแบ่งปันอะไรให้ใคร เมื่อเข้าสู่สังคม แม้จะเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเองสูง แต่กลับไม่รู้สึกมั่นคง เพราะต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ มักจะชอบการควบคุมบงการให้ผู้อื่นทำตามข้อเรียกร้องของตน ไม่มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ไม่ต้องการอยู่ภายใต้กฎกติกา เนื่องจากพ่อแม่ของเขาเอาอกเอาใจเขาอยู่เสมอ ไม่เคยขัดใจ เมื่อเจอเรื่องขัดใจจะยอมรับสิ่งนั้นไม่ได้
ขั้นพัฒนาการที่ไม่อาจกระโดดข้าม
แม้บันไดขั้นแรกในชีวิตของลูก คือ การที่เขาสามารถเชื่อใจพ่อแม่ของเขาได้ (Trust) ซึ่งความเชื่อใจนั้นเกิดจากการที่พ่อแม่มอบความรักที่สัมผัสได้จากการมีเวลาคุณภาพให้กับลูกในวัย 0 – 2 ปี
แต่บันไดขั้นต่อมา คือ การรับรู้ความสามารถในด้านร่างกายของตัวเอง และรับรู้ว่าตัวเองมีความสามารถที่จะทำสิ่งใดได้บ้าง
ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial Development) ของอีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้กล่าวไว้ว่า ‘พัฒนาการขั้นที่สองของมนุษย์ (วัย 2 – 3 ปี) คือ ความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy)’ เด็กวัยนี้มีอิสรภาพทางร่างกายมากขึ้น เขาสามารถคลาน เดิน วิ่ง และหยิบคว้าอย่างรวดเร็ว เพราะกล้ามเนื้อของเขาเริ่มแข็งแรงพอจะเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง แต่อาจจะกะน้ำหนักมือไม่ได้และยังไม่คล่องแคล่วมากนัก ทำให้เขาอาจจะทำน้ำหก ทำของหลุดมือ จับของแล้วเผลอบีบจนเละคามือ และหกล้มได้บ่อยครั้ง
ดังนั้น ความสามารถที่ต้องพัฒนามาพร้อมกับด้านร่างกาย คือ ‘การควบคุมร่างกายตัวเอง’ ซึ่งทักษะนี้จะเกิดขึ้นได้ หากเด็กได้ลงมือทำ และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
ภารกิจที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ใหญ่ของเด็กวัยนี้ คือ ‘การสอนเด็กช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self-care) เพื่อให้เขาได้ฝึกทำอะไรด้วยตัวเอง’ ได้แก่ การกิน การล้างหน้าแปรงฟัน การอาบน้ำ การถอด-ใส่เสื้อผ้า การถอด-ใส่รองเท้า การเก็บของเล่น และการเข้าห้องน้ำ
ทั้งนี้เราไม่ได้คาดหวังว่า เด็กวัย 2 – 3 ปี ต้องทำทุกอย่างนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์ แต่เราคาดหวังให้เขาเรียนรู้การลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเขาเอง และเมื่อทำเสร็จพ่อแม่และผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง โดยอาจจะทำย้ำให้ในครั้งที่สอง เช่น…
- ให้เด็กได้แปรงฟันด้วยตัวเอง 1 นาที เมื่อแปรงเองแล้ว พ่อแม่มาแปรงย้ำอีกครั้ง
- ให้เด็กอาบน้ำเอง เขาอาจจะทำได้เพียงราดน้ำ และถูสบู่แค่บริเวณที่เขาเอื้อมถึง พ่อแม่มาช่วยย้ำและถูในบริเวณที่เขาทำไม่ถึงได้อีกครั้ง เป็นต้น
เมื่อลูกทำได้ด้วยตัวเอง อย่าลืมชื่นชมทุกก้าวเล็ก ๆ ของลูก เพราะทุกกำลังใจจากพ่อแม่มีความหมายสำหรับเขาเสมอ สิ่งสำคัญอีกประการของพ่อแม่ที่มีลูกวัยนี้ คือ ‘ความอดทนรอคอย’ หากเราเข้าไปช่วยเหลือลูกเร็วเกินไป เด็กจะขาดโอกาสในการฝึกฝนการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และทำให้เขาเลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้น เพราะเขารู้ว่า ‘พ่อแม่พร้อมจะทำให้เขา’ และเด็กจะรับรู้ว่า ‘พ่อแม่ไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะรอเขา’
เคล็ด (ไม่) ลับสำหรับพ่อแม่ คือ ‘การเผื่อเวลาให้กับลูกเสมอ’ และ ‘ใช้กฎ 5 นาที’
กฎ 5 นาที คือ การชะลอเวลาก่อนเข้าไปช่วยเหลือลูก เราให้เวลาลูกลงมือทำ 5 นาที และเมื่อเลยเวลา 5 นาที ค่อยเข้าไปสอนหรือช่วยเหลือเขา ในกรณีที่ลูกไม่อยากทำและไม่ลงมือทำ เราบอกลูกชัดเจนได้ว่า ‘ให้ลูกพยายามทำเองก่อน 5 นาที ถ้าลูกทำไม่ได้ พ่อแม่จะเข้าไปช่วยสอน’ ย้ำว่าเข้าไปสอน ไม่ใช่ทำให้เขาเลย
ขั้นตอนการสอนเด็กที่ดีที่สุด ได้แก่
ขั้นที่ 1 ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง และให้เขาลองทำตาม (หากเด็กทำไม่ได้ ให้ไปที่ขั้นที่ 2)
ขั้นที่ 2 จับมือเขาทำไปด้วยกัน เพื่อให้เขาจดจำการเคลื่อนไหวแล้วทำตามได้ และให้เขาลองทำด้วยตัวเองอีกครั้ง
ขั้นที่ 3 ฝึกฝนจนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีพ่อแม่ช่วย
เมื่อเด็กรับรู้ว่า ‘ตัวเองสามารถทำสิ่งใดได้ด้วยตัวเอง’ เขาจะรับรู้ถึงความสามารถของตน ซึ่งนำไปสู่ความภาคภูมิใจ และความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy) และการควบคุมตัวเอง (Self Control) จะเกิดขึ้นตามมา
ขั้นบันไดพัฒนาการที่หยุดชะงัก (Fixation)
ความมั่นใจที่หายไป เมื่อขาดโอกาสพัฒนาตามวัย…
ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ที่ปกป้องลูกจนเกินเหตุ ห้ามลูกทำนู่นทำนี่จนทำให้เด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองตามวัย หรือพ่อแม่ที่ตำหนิทุกสิ่งทุกอย่างเวลาลูกทำอะไร จนลูกไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง และรอคำสั่งจากผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว เด็กจะเกิดข้อสงสัยในตัวเองว่า ‘แท้จริงแล้วเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง’ ซึ่งนำไปสู่ความวิตกกังวลและไม่มั่นใจในตัวเอง (Shame and doubt) ในเวลาต่อมา
เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองตามวัยไม่ได้ อาจจะแสดงออกใน 2 รูปแบบ คือ…
1. เด็กที่เอาแต่ใจ เพราะเขาต้องรอให้ผู้อื่นมาทำสิ่งต่างๆ ให้กับตัวเอง การต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาทำให้เขาหงุดหงิด เพราะสิ่งที่ผู้อื่นทำให้อาจจะไม่ได้ดั่งใจเขา
2. เด็กที่ไม่กล้าทำอะไรเอง ต้องรอผู้ใหญ่มาบอกหรือตัดสินใจให้ว่า ‘เขาต้องทำอะไร’
ปัญหาที่ขึ้นตามมาของเด็กทั้ง 2 รูปแบบนี้ คือ เด็กอาจจะปรับตัวได้ยาก เมื่อเขาต้องเข้าโรงเรียนหรือเข้าสู่สังคม เขาจะไม่กล้าลองสิ่งใหม่ เพราะเขาไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถพอที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง หรือทำสิ่งนั้นได้โดยไม่ต้องมีใครมาช่วย
กิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ใช้ร่างกายของเขาอย่างเต็มที่
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเด็กวัยนี้ คือ ให้เด็กๆ เล่นโดยใช้ร่างกายให้มากที่สุด เพื่อสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ที่แข็งแรงพร้อมใช้งานในช่วงวัยต่อไป อย่าเพิ่งมุ่งอ่านเขียนเป็นสำคัญ
- เล่นปีนป่าย เช่น ปีนเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ปีนต้นไม้
- เล่นกับธรรมชาติ เช่น เล่นน้ำ เล่นดิน เล่นทราย เล่นโคลน เล่นใบไม้ ใบหญ้า เรียงหิน เป็นต้น
- เล่นเลอะเทอะ (Messy play) เช่น เล่นกับอาหาร ได้แก่ ข้าวสารแห้ง เส้นมักกะโรนี เส้นสปาเก็ตตี้ หั่นผักผลไม้ แป้งข้าวโพดใส่น้ำ เป็นต้น
- เล่นทำงานบ้าน เช่น ช่วยแม่ทำอาหาร ช่วยพ่อล้างรถ ช่วยกวาดพื้น ถูพื้น ซักผ้า เป็นต้น
เพราะการเล่นเช่นนี้ทำให้เด็กได้ทดสอบร่างกายของตัวเอง และส่งเสริมให้ร่างกายได้ใช้งานอย่างเต็มที่นั้นเอง
แม้การฝึกฝนช่วยเหลือตัวเองของลูกในช่วงแรกจะทำให้บ้านเลอะเทอะบ้าง ร่างกายลูกไม่ได้สะอาดเอี่ยมอ่องดังหวังบ้าง ขอให้พ่อแม่และผู้ใหญ่มองข้ามจุดนี้ไป และปล่อยให้ลูกได้ลองทำอย่างเต็มที่ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นค่อยชวนเขามาเก็บกวาดหลังทำเสร็จ หรือช่วยสอนเขาทำความสะอาดร่างกายอย่างเหมาะสมอีกรอบก็ย่อมได้ เมื่อเด็กได้ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เขาจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความชำนาญ และความมั่นใจในตัวเอง
สุดท้าย เด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่แค่เพียงทำให้พ่อแม่สบายใจที่ปล่อยลูกไปสู่โลกภายนอก แต่เป็นความมั่นใจที่เกิดขึ้นในตัวเด็กด้วยว่า ‘เขาสามารถทำได้’ เด็กจะพร้อมเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างมีความสุขเพราะฐานของเขานั้นมั่นคงและเเข็งแรง
ถ้าหากอยากให้ลูกมีความสุขที่แท้จริง พ่อแม่ไม่ควรเป็นผู้มอบความสุขให้เขาเพียงอย่างเดียว แต่ตัวเขาเองต้องเป็นผู้ค้นหา ลงมือทำ และสร้างความสุขด้วยตัวเขาเองด้วยเขาเองด้วย