- ‘เรื่องเพศ’ เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันให้เป็นเรื่องธรรมดา คุยกันให้คลี่คลาย เพื่อความปลอดภัยของบุตรหลานเอง และเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ลูกมี ‘อำนาจภายใน’ ที่เข้มแข็ง มีวุฒิภาวะและกล้าหาญพอจะบอกรับหรือปฏิเสธในสัมผัสที่ไม่ต้องการ
- คำถามคือ…เริ่มพูดเมื่อไร อย่างไร และมีอะไรที่ต้องรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง?
พ่อแม่รุ่นใหม่หลายคนเข้าใจกันดีว่า ‘เรื่องเพศ’ เป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกันให้คลี่คลาย ทั้งเพื่อความปลอดภัยของบุตรหลานเอง และเรา – ผู้ปกครอง ต่างก็รู้แหละว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องสามัญ เป็นความรัก เป็นความสุข เป็นประสบการณ์ และเป็นวิถีชีวิต ทั้งผู้ปกครองหลายคนเองก็เคยถูกเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ไม่พูดกันเรื่องเพศ รู้ตัวอีกทีก็เผชิญหน้ากับมันอย่างต้องเรียนรู้กับมัน ‘ด้วยตัวเอง’ เอาตัวรอดกันเอง พอมีลูก หลายคนก็ตั้งใจว่าเรื่องนี้ยังไงก็ต้องคุยกัน
รู้แล้วว่าเรื่องเพศต้องไม่หลบเลี่ยง ต้องพูดคุยให้เป็นเรื่องธรรมดา และเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ลูกมี ‘อำนาจภายใน’ ที่เข้มแข็ง มีวุฒิภาวะและกล้าหาญพอจะบอกรับหรือปฏิเสธในสัมผัสที่ไม่ต้องการ
คำถามคือ…เริ่มพูดเมื่อไร อย่างไร และมีอะไรที่ต้องรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง?
เวิร์กชอป ‘คุยกับลูกเรื่องเพศ’ Fathom Bookspace ร่วมกับ The Potential ชวนวิทยากร 2 ท่านคือ #แม่จิ๋ว วีววรรณ กังวาลนวกุล กระบวนกรผู้พลิกมุมมองเรื่องเพศและการคุยกับลูกเชิงบวก และ #พี่เหมียว อุไรรัตน์ หน้าใหญ่ ผู้ทำงานเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศมากว่า 20 ปี โดยเฉพาะประเด็นการมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขปลอดภัย ชวนผู้ปกครองและคนทำงานสังคม เวิร์กชอป 2 วันเต็มว่าด้วยการคุยเรื่องเพศกับเด็กล้วนๆ
แต่วงนี้ไม่ได้ตั้งหลักที่การส่งทอดข้อมูล แต่เป็นการตั้งคำถาม (ท้าทาย) ความเชื่อเรื่องเพศของผู้เข้าร่วม ที่ค่อยๆ ไต่ระดับตั้งแต่ ทวนถามว่าคุณมีความรักครั้งแรกเมื่อไร, เมื่อได้ยินคำว่า ‘เพศ’ คุณคิดถึงอะไร ชวนทำความเข้าใจเรื่อง ‘อำนาจ 3 แบบ’ (อำนาจเหนือ อำนาจร่วม อำนาจภายใน) ไดอาล็อกกันไปตลอดทางจนสุดท้ายตบเข้าเรื่อง การเรียนรู้ผ่านสายสัมพันธ์ (six stages of attachment) โดย Gordon Neufeld
และเมื่อตอบคำถามเรื่องเหล่านี้ได้หมด เสียงของผู้ปกครองและคนทำงานในวงร่วมกันแชร์ว่า …ความรู้เรื่องเพศแตะไปทุกมิติตั้งแต่พัฒนาการ สิทธิ กฎหมาย บรรยากาศในสังคมที่กดทับทำให้ผู้น้อยไม่กล้าพูดความจริง และ… ความรู้เรื่องเพศเหล่านี้ ควรจะสื่อสารกับเด็กตั้งแต่เล็กๆ ระดับอนุบาลเลย!
ก่อนจะคุยกับเด็กๆ เรื่องเพศ ชวนตอบคำถามเล่นๆ เวิร์กชอปกับตัวเองเบาๆ ก่อนคุยกับลูกกันค่ะ 🙂
เมื่อได้ยินคำว่า ‘เพศ’ คุณนึกถึงคำว่าอะไรบ้าง?
หลายคนในห้องแลกเปลี่ยนกัน มีตั้งแต่ นม จิ๋ม จู๋ เพศหญิง เพศชาย คนหลากหลายทางเพศ แม่ พ่อ และอื่นๆ
ก่อนที่วิทยากรจะช่วยสรุปในตอนท้ายๆ ของเวิร์กชอปว่า เวลาที่เราได้ยินคำว่า ‘เพศ’ มันไม่ได้เท่ากับ ‘เพศสัมพันธ์’ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่หลายคนคิดถึงเวลาได้ยินคำนี้ จึงอาจทำให้เราอึดอัดเวลาได้ยิน ทั้งที่จริงๆ แล้วในทางความหมายมันแค่อธิบายคำศัพท์ แต่มายาคติที่พ่วงมากับคำนี้ต่างหาก ที่ทำให้เราต้องทำงานกับมัน และพยายามย้ำกันบ่อยๆ ว่า เพศก็คือเพศ ไม่ใช่ เพศสัมพันธ์
อีกเรื่องที่ผู้เข้าร่วมแชร์กันระหว่างไดอาล็อกตรงนี้คือ คำว่า จิ๋ม จู๋ หี ควย ที่ในระดับภาษาบอกว่านี่คือคำหยาบคาย คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงมัน แต่ดีกรีความรุนแรงของคำเหล่านี้ในบางคนอาจรุนแรงกว่ามาก เพราะมันหมายถึง คำหยาบที่พ่วงด้วยเรื่องเพศ
ประเด็นที่ชวนแลกเปลี่ยนกันคือ การที่เราพยายามกลบเกลื่อนคำ เรียกคำอื่น ไม่พูดถึงมันตรงๆ เช่น จิ๊โมะ ช้างน้อย ไม่ใช่ว่ามันไม่ดี แต่อย่างไม่รู้ตัว เรากำลังสื่อสารว่าคำเหล่านี้เป็นคำต้องห้าม ต้องไม่พูดถึงมัน พอไปปกปิดมากเข้า เราก็ทำให้คำธรรมดาที่ใช้เรียกเครื่องเพศกลายเป็นคำหยาบไปในที่สุด เวลาที่เราได้ยินคำเหล่านี้ จึงรู้สึกอึดอัด ทั้งที่มันก็เป็นคำศัพท์ธรรมดา
“ทำไมเราถึงมองว่าเรื่องเพศมันคุยยากฟังยากขนาดนั้น มันก็เรื่องเดียวกับที่เราชอบกินผัดกะเพรานั่นแหละ” ผู้ปกครองท่านหนึ่งพูดขึ้น เกือบจะเรียกว่าเป็นการสรุปประเด็นวงคุยทั้งวันเลยทีเดียว
คุณมีความรักครั้งแรกเมื่ออายุเท่าไร และ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร?
จำได้กันหรือเปล่าคะว่า ความรักครั้งแรกของคุณเกิดขึ้นเมื่อไร และ ตอนนั้นรู้สึกต่อความรักอย่างไร รู้สึกต่อตัวเองอย่างไร
ผู้เข้าร่วมเวิร์ปชอปแชร์กันว่า บางคนก็เริ่มรักตั้งแต่อายุ 6 ขวบ (ไม่ว่าดีกรีของมันจะขนาดไหน) บ้างมาช้าหน่อยคือ 18 ปี แต่ที่คนส่วนใหญ่จะพร้อมรู้สึกรักคล้ายๆ กันคือช่วง 13 – 15 หรือก็คือช่วงป. 5 ป.6 และม.ต้น
ส่วนความรู้สึกน่ะเหรอ หลายคนตอบว่ามันมาพร้อมกับความสดใสยิ้มๆ เช่น อยากพัฒนาตัวเอง อยากไปโรงเรียนบ่อยๆ ชื่นชม มีพลัง แรงบันดาลใจ ถึงแม้จะมีมุมรู้สึกไม่ดีกับตัวเองบ้าง เช่น งง สับสน รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ แต่เราก็แชร์กันว่ามันเป็นความรู้สึกต่อตัวเองที่อยากจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น มากกว่าจะเป็นความรู้สึกในทางลบต่อความรักครั้งแรก
ตรงนี้ สิ่งที่คนในวงช่วยกันแชร์คือ หนึ่ง-ความรักครั้งแรกของเด็กๆ เกิดขึ้นเร็วมาก เป็นได้ตั้งแต่วัยอนุบาล ประถมปลาย ม.ต้น และความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันเป็นแต่ทางบวก ไม่ค่อยมีความคิดเชิงลบแบบที่ผู้ใหญ่คิดกัน (ซึ่งมีประสบการณ์รักไม่ดีตอนโตแล้ว)
แปลว่าหากจะพูดเรื่องเพศ เราคงรอให้ถึงวัยรุ่นไม่ได้ แต่ควรตั้งหลักคุยกันเนิ่นๆ โดยเฉพาะการทำให้เขาเข้าใจเรื่องการปฏิเสธ ความเข้มแข็งภายใน (อำนาจภายใน) ความรู้เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย ยาคุม การป้องกัน
ประเด็นที่สอง ความรักเป็นพัฒนาการ วัยนี้เด็กๆ (และเราเองต่างก็เคยผ่านมา เพราะนี่คือคำตอบของเราเองเนอะ) เต็มไปด้วยความรู้สึก มันเป็นช่วงวัยที่เขาอยากจะทดลองรักผู้อื่น สับสนในความสัมพันธ์ สงสัยใคร่รู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
ที่ผู้ปกครองควรทำได้ไม่ใช่การปฏิเสธ แต่เป็นผู้ฟังนิ่งๆ ฟังอย่างไม่ต้องตัดสิน ทำให้เด็กๆ ไว้ใจว่าจะมาปรึกษาเราได้ ซึ่ง การทำเช่นนี้ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างกันต้องดีก่อน ซึ่งเราจะค่อยๆ ปรับได้จากการ ‘ฝึกฟัง’ โดยจะขอกล่าวในส่วนถัดไป โดยระหว่างนี้ อยากให้ท่านผู้อ่านค่อยๆ ตั้งคำถามกับตัวเองไปทีละด่าน ก่อนไปฝึกฟังกันค่ะ
เมื่อได้ยินคำว่า ‘เพศชาย’ ผู้ชาย ลูกชาย หลานชาย คุณคิดว่าเขาต้องมีบุคลิกยังไง
เมื่อได้ยินคำว่า เพศชาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชาย ลูกชาย หลานชาย คุณคิดว่าเขาต้องมีบุลคลิกอย่างไรบ้าง
ที่แชร์กันเร็วๆ ในวงก็เช่น ต้องเข้มแข็ง, ไม่ร้องไห้, เป็นผู้นำครอบครัว, บอยๆ แตะบอลกันครับ(ครัช), วิศวกร, เก่งงาน, ชอบผจญภัย, เล่นกีฬาเก่ง และอื่นๆ
อ่านถึงตรงนี้ ฝากคุณผู้ปกครองช่วยจดความคิดลงในกระดาษก่อนนะคะ แล้วเดี๋ยวเรามาชวนคิดกันต่อ
เช่นกัน เมื่อได้ยินคำว่า ‘เพศหญิง’ ผู้หญิง ลูกผู้หญิง หลานผู้ชาย คุณคิดว่าเขาต้องมีบุคลิกยังไง
เช่นกันค่ะ เมื่อได้ยินคำว่า ‘เพศหญิง’ ผู้หญิง ลูกผู้หญิง หลานผู้ชาย คุณคิดว่าเขาต้องมีบุคลิกยังไง
ในวงแชร์กันอย่างสนุกเลยค่ะว่า เป็นคนเรียบร้อย, พูดค่อยๆ, ไม่ใช้เงินเปลือง, สวย, เย็บผ้าเป็น, ล้างจาน, ตื่นก่อนนอนทีหลัง, ทำกับข้าวเก่ง และอื่นๆ
เหมือนเดิมค่ะ ฝากคุณผู้ปกครองช่วยจดความคิดลงในกระดาษก่อนนะคะ แล้วเดี๋ยวเรามาชวนคิดกันต่อ
จากที่นิยามเพศสภาพทั้งสองไว้ ถ้าพวกเขาเป็นครบทั้งหมดนั้น ลึกๆ เขาจะเป็นคนแบบไหน และคุณจะรู้สึกอย่างไรต่อเขาหรือเธอ?
จากที่นิยามเพศสภาพทั้งสองไว้ ถ้าพวกเขาเป็นครบทั้งหมดนั้น ลึกๆ เขาจะเป็นคนแบบไหน และคุณจะรู้สึกอย่างไรต่อเขาหรือเธอ?
ที่ตั้งคำถามแบบนี้ วิทยากรตั้งใจตรวจสอบว่าสังคมมองเพศสภาพทั้งสองไว้ว่าอย่างไร และถ้าเป็นได้ครบ เขาคนนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง
เอาผู้ชายก่อน หลายคนช่วยกันแชร์ว่า ถ้าผู้ชายเป็นได้ทั้งหมดนั้นคงอึดอัดน่าดู และการอยู่ใกล้ผู้ชายแบบนี้คงทำให้เราอึดอัดเช่นกัน เพราะมันคงไม่เหลือพื้นที่แห่งความไม่สมบูรณ์แบบเลย
และยิ่งถ้าเขามีเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด (เกย์ กะเทย transgender เลื่อนไหล ไม่มีเพศ และอื่นๆ) คงหลุดพ้นจากความคาดหวังเหล่านี้ได้ยาก
ส่วนผู้หญิง หลายคนแชร์ว่าถ้าเป็นได้ทั้งหมดนั้น คง ‘เป็นบ้า’ เพราะแค่ ‘ไม่ใช้เงินเปลือง’ กับ ‘สวย’ ก็ไปด้วยกันไม่ได้แล้ว (ความสวยต้องใช้เงิน) แถมต้องตื่นก่อนนอนทีหลังอีก ในความเป็นจริงที่ทุกคนทำงานนอกบ้านเคียงบ่าเคียงไหล่ไม่สนเพศ การพักผ่อนน้อยคงทำให้เส้นความอดทนขาดผึง
อะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึก ‘ตัวเล็ก’ กว่าคนอื่น
ประสบการณ์ เงิน หน้าที่ ความรู้ ฐานะทางสังคม ความรัก อายุ เสียงดัง สีผิว เพศ (ชาย-หญิง) ถิ่นที่อยู่อาศัย การศึกษา ชนชั้น เชื้อชาติ ทรัพยากร ศาสนา ความเชื่อ ฐานะทางเศรษฐกิจ (รวย) พูดได้หลายภาษา
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คนในวงช่วยกันแชร์ว่า อะไรที่ทำให้เรา…รู้สึกตัวเล็ก ต่ำกว่า หวั่นไหวไม่มั่นคงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนที่มี ‘อำนาจ’ แบบนี้ — เราเรียกสิ่งที่ช่วยกันลิสต์ไว้ข้างต้นนี้ว่า ‘แหล่งอำนาจ’ ค่ะ
แล้วสิ่งนี้เกี่ยวกับเพศอย่างไร?
เหมือนจะไม่เกี่ยวแต่จริงๆ แล้วเกี่ยวโดยตรงเลยค่ะ หนึ่ง-เพราะแหล่งอำนาจเหล่านี้มีผลต่อการเอ่ยปากปฏิเสธ หรือการจะยืนหยัดต่ออะไรสักอย่างว่าเราชอบหรือไม่ชอบ เราอยากทำจริงๆ หรือเพียงเพราะยอมจำนน
สอง-ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน เจาะจงลงมาพูดเฉพาะในครอบครัวก็ได้ การเป็นพ่อ เป็นแม่ บวกเพิ่มด้วยความรักและปรารถนาดี เหล่านี้รวมๆ กันแล้วทำให้ผู้ปกครอง ‘มีอำนาจเหนือ’ ลูก ซึ่งมีแหล่งอำนาจน้อยกว่า ทำให้หลายๆ ครั้งเราอาจกดดันลูกทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าเรา ‘ไม่ฟัง’ และใช้อำนาจเข้าข่มด้วยแล้ว ไม่ต้องถึงเรื่องเพศ แค่เรื่องในชีวิตประจำวัน ก็คงคุยกันไม่รอด
สาม-เพศ ในตัวมันเองก็มีผลต่อการเป็น ‘แหล่งอำนาจ’ ที่สังคมมอบให้มา แล้วเอาไปใช้ต่อรองกับผู้อื่น (ผู้ชายมีอำนาจกว่าผู้หญิง ผู้หญิงที่สังคมบอกว่า ‘สวย’ มีอำนาจมากกว่า ผู้หญิงที่สังคมบอกว่า ‘ไม่สวย’ ผู้หญิงไม่สวยที่อยู่ในเมืองหลวง อาจมีอำนาจมากกว่าผู้หญิงสวยที่อยู่นอกเมือง อะไรแบบนี้เป็นต้น)
แต่สิ่งที่จะทำให้ ‘แหล่งอำนาจ’ เหล่านี้มีผลต่อเราน้อยที่สุด ก็มาจาก ‘อำนาจภายใน’ ดูต่อในหัวข้อถัดไปเลยค่ะ
อำนาจเหนือ อำนาจร่วม อำนาจภายใน
ในเวิร์กชอป วิทยากรลองให้ผู้เข้าร่วมจับคู่แล้วผลัดกันนั่ง-ยืน คนที่ยืนอยู่ในอิริยาบทก้มคอมองคู่ตรงหน้าที่นั่งอยู่ ถูกใส่บทให้ทำตัวขึงขัง คิดว่าเป็นคนที่อยากใช้อำนาจครอบงำ ขณะที่คนที่นั่งอยู่ในท่าแหงนคอเกือบ 90 องศามองคนที่ยืนค้ำหัวอยู่ ใช้เวลาอยู่ในท่านั้นราว 1 นาที
เสร็จแล้วก็ให้แต่ละคนบอกความรู้สึกของตัวเอง
คนที่ยืนอยู่แชร์ว่า มองเห็นในมุมกว้าง มั่นใจ ชนะ ตัวใหญ่กว่า รู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า แม้อยู่ใกล้แต่รู้สึกไกล — ความรู้สึกแบบนี้เรียกว่า #อำนาจเหนือ
ขณะที่คนนั่งแชร์ว่า รู้สึกถึงการหายใจติดขัด ไม่กล้าสบตา ต่ำต้อย เหมือนถูกกด กังวล รู้สึกวิงวอน บางคนก็แชร์ว่าพยายามจะสู้กลับ
ต่อมาวิทยากรให้ปรับตำแหน่งนั่งโดยให้คู่สนทนานั่งในระนาบเดียวกันแล้วถามความรู้สึกใหม่อีกครั้ง ได้ผลว่า รู้สึกว่าคุยกันง่ายขึ้น เท่ากัน ได้ตกลงกัน ใกล้กัน เชื่อมกัน ไม่มีกำแพง เป็นความสัมพันธ์ที่แลกเปลี่ยนได้ — แบบนี้เรียกว่า #อำนาจร่วม
ในความสัมพันธ์แบบอำนาจร่วม เราอาจพบในความสัมพันธ์กับคนรัก เพื่อนร่วมงาน เจ้านายลูกน้อง ซึ่งก็เชื่อมโยงกับ ‘แหล่งอำนาจ’ ที่มีในมือ ในสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าครอบครัว เราอาจโตมาในบ้านที่พ่อแม่ใช้อำนาจเหนือบ่อยๆ ซึ่งที่สุดแล้วก็ทำให้การพูดเรื่องเพศเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่หากปรับเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหันมาใช้อำนาจร่วม ฟังกันให้มากด้วยท่าทีที่เสมอกัน แบบนี้ก็จะทำให้เกิดอำนาจร่วม เป็นความสัมพันธ์ที่แลกเปลี่ยนกันได้
เมื่อแลกเปลี่ยนกันได้ ไม่ว่าจะเรื่องเพศหรือเรื่องอะไร เราก็คุยกันได้ในที่สุด
ส่วนอำนาจภายใน อยากชวนย้อนคิดถึงหัวข้อ ‘อะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึก ‘ตัวเล็ก’ กว่าคนอื่น’ กล่าวคือ ความรู้สึกว่า ‘ตัวเองตัวเล็กนิดเดียว’ จะเจือจาง เกิดเร็วจบเร็ว หรือ ส่งผลกระทบต่อเราน้อยที่สุด ก็มาจากความมั่นใจส่วนตัว มั่นคง เชื่อมั่นว่าตัวเองดีพอ — ซึ่งเจ้าความรู้สึกเหล่านี้ จะมาได้ก็มาจากเบ้าที่หลอมจากความรักของคนในครอบครัวเป็นพื้นฐาน และสิ่งนี้เองที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ค่อยๆ เสริมเติมให้เขาได้
อีกประเด็นคือการมอบสิทธิที่จะ ‘ปฏิเสธ’ ให้เขาเข้าใจแต่เล็กๆ โดยชวนดูต่อในหัวข้อ consent นะคะ
พัฒนาการร่างกายของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องเพศ เริ่มมี… ครั้งแรกเมื่ออายุเท่าไร
ครั้งนี้ วิทยากรชวนผู้เข้าร่วมคิด (ในเวิร์กชอปจริงจะมีการเคลื่อนไหวร่างกายย้ายที่ทางไปมาด้วย!) ถึงพัฒนาการต่างๆ ในร่างกาย เช่น เริ่มมีขนที่อวัยวะเพศเมื่ออายุเท่าไร ประจำเดือนเริ่มมีช่วงไหน เริ่มมีหน้าอกเมื่อใด และอื่นๆ
นอกเหนือจากนี้ยังเป็นคำถามที่ค่อยๆ ไต่ระดับไป เช่น ควรสอนลูกเรื่องยาคุม/ถุงยางอนามัยเมื่อไร เมื่อไรที่ควรคุยกับลูกเรื่องการถูกจับสัมผัสที่ไม่ดี (จับของสงวน ต้นคอ นม อวัยวะเพศ หรือ แม้แต่จับร่างกายปกติเด็กเซนส์ว่า ‘ไม่สบายใจ’)
“เด็กคนนึงเกิดสิ่งเหล่านี้ มีพัฒนาการแบบนี้ตั้งแต่เล็กๆ แต่พ่อแม่คิดว่าต้องพูดตอนโต” ผู้ปกครองท่านนึงแชร์ในวง
สิ่งที่เธอแชร์นี้คือความตั้งใจของวิทยากร จะเห็นว่าเด็กเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและในเรื่องเพศตั้งแต่ช่วงประถม หรือราว 10 ขวบก็เริ่มเข้าสู่วัย Pre-teen (ก่อนวัยรุ่น) แล้ว แปลว่าการพูดคุยเรื่องเพศอาจต้องเริ่มเร็วกว่านั้น
โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการทางเพศ, การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย, ความรัก, การคุมกำเนิด, การใช้ถุงยาง, consent (การยินยอม) การปฏิเสธเมื่อรู้สึกไม่โอเค/ไม่พร้อม/ไม่ต้องการ
เรื่องพัฒนาการทางเพศนี้ ชวนอ่านต่อที่: https://thepotential.org/family/how-to-talk-about-sex-with-children/
Consent และ อำนาจภายใน
ต่อเนื่องจากหัวข้อข้างต้น สิ่งที่พ่อแม่ควรสร้างบรรยากาศในบ้านและควรสอน นั่นคือ consent หรือ การยินยอม โดยเฉพาะการยืนยันกับเด็กตั้งแต่เล็กๆ (อนุบาล) ว่า ร่างกายเป็นของเขา หากมีใครจะมาสัมผัสหรือทำอะไร ถ้าเราไม่อนุญาต ใครจะมาแตะสัมผัสไม่ได้ …นี่คือการสร้าง ‘อำนาจภายใน’ ให้เขาตั้งแต่เล็กๆ ยืนยันว่า ร่างกายของเขา เขามี ‘สิทธิที่จะปฏิเสธ’ ‘มีสิทธิพูดว่าไม่’ ในสิ่งที่เขาไม่ชอบ และทุกคนต้องเคารพ
เคยมั้ยที่ลุงๆ ป้าๆ หรือคนที่ไม่รู้จักจะชอบมาจับมาหอมเด็กด้วยความเอ็นดู แต่หลายครั้งเด็กก็อึดอัด แต่ผู้ปกครองก็จะบอกว่า ‘เขาทำด้วยความรัก’ ในทางหนึ่ง มันคือการบอกว่าเด็กไม่มีสิทธิในร่างกายตัวเอง เมื่อโตไป (อาจไม่ต้องโตมากก็ได้) ถ้ามีใครมาลวนลาม จับสัมผัสที่สงวน เด็กอาจไม่รู้และ ‘ไม่มีอำนาจข้างใน’ ในการจะบอกปฏิเสธ
ที่ดีคือ บอกให้ชัดว่าส่วนที่ไวต่อความรู้สึก คือ “ซอกคอ จู๋ จิ๋ม นม ก้น” เราจะไม่แตะสัมผัสใครและไม่ให้ใครมาแตะสัมผัส
ต้องไม่ลืมว่าการล่วงละเมิดในเด็กส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัว การคืนอำนาจใน…ในการปฏิเสธ เช่นนี้ให้เด็ก เป็นการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศได้ดีที่สุด และเมื่อเขาโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เขาจะจัดการกับประสบความรักด้วยตัวเองได้อย่างแข็งแรงและรู้จักความต้องการของตัวเอง
ครั้งแรกที่คุณพูดคุยเรื่องเพศ ความรัก กับผู้ปกครองครั้งแรก คุณได้รับการตอบสนองแบบไหน และ หลังจากนั้นคุณยังคงพูดคุยกับพวกเขาเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร?
ที่ผ่านมาเราคุยกันเรื่อง ‘ก่อนจะคุยเรื่องเพศกับลูก’ เราควรตั้งหลักอะไรบ้าง แต่สิ่งที่วิทยากรชวนกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้ง คือ อยากถามผู้ปกครองว่า คุณเล่าเรื่องความรักให้กับพ่อแม่ครั้งแรกตอนไหน บรรยากาศเป็นอย่างไร
บางคนแชร์ว่าการพูดคุยเป็นไปด้วยดี แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีกลับมา บางคนแชร์ว่า ครั้งแรกที่คุยกับแม่ เธอรู้สึกว่า ‘แม่เหยียดหยามความรักของเธอ!’ (โถ) แม้จะพูดติดตลก แต่เธอแชร์ว่า ‘รีแอค’ ของแม่ครั้งนั้นยังติดในความทรงจำ แม้เป็นเพียงเสี้ยวขณะ แต่ทำให้เธอไม่พูดกับแม่ในเรื่องส่วนตัวลึกๆ อีกเลย เพราะรู้สึกว่าแม่ไม่รับฟัง ถูกทอดทิ้ง และยังมีนัยแห่งการปฏิเสธความรู้สึกของเธอด้วย
แล้วของคุณละคะ เป็นแบบไหน?
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราเชื่อว่าการจะพูดเรื่องเพศ บรรยากาศระหว่างกันต้องเป็นไปอย่าง ‘สบายใจ’ ที่สุด เรารู้แล้วว่าเรื่องเพศสำคัญและต้องพูดกันตั้งแต่เด็กเล็ก แต่ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ดี เราคงคุยกันไม่ได้เลย
ชวนดูหัวข้อถัดไป ฝึกฟัง…ฟังให้ลึกลงไปถึงหัวใจ ฟังอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน
การฝึกฟัง 4 ระดับ (ทฤษฎีตัว U)
ในเวิร์กชอปเรามีการฝึกฟัง 4 ระดับกันด้วยค่ะ เพราะเชื่อว่าการที่ลูกจะไว้ใจและอนุญาตให้ผู้ปกครองคุยกันเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ระหว่างกันต้องดีมาก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะสร้างได้คือ การที่ผู้ปกครองต้องฟังให้เป็น ฟังโดยไม่ตัดสิน
วิทยากรให้พวกเราผลัดกันเล่าเรื่องของตัวเองคนละ 7 นาที แล้วให้คนฟัง ฟังโดยไม่พูดอะไร ฟังโดยตั้งใจ ฟังโดยปล่อยให้คนตรงหน้า ได้ระบายเรื่องราวในใจจนครบ 7 นาที
ตอนแรกทุกคนคิดว่าเวลา 7 นาทีนี้มันยาวนาน เราจะเล่าอะไรให้กันฟังได้ถึง 7 นาที แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เวลา 7 นาทีตรงนั้น คือเวลาที่ทำให้หลายคนเสียน้ำตา ทั้งที่คนตรงข้ามไม่ได้พูดอะไรเลย!
คุณแม่คนหนึ่งแชร์ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้ระบายความในใจอย่างหมดเปลือกและอย่างที่ไม่เคยได้พูดเรื่องนี้กับใครมาก่อน ตอนแรกก็กังวลว่าคนที่ฟังเรื่องนี้จะตัดสินเธอหรือไม่ แต่พอคนตรงหน้าไม่ขัด ไม่พูดแทรก ไม่แม้แต่จะแสดงสีหน้าแห่งความสงสัย เธอกลับสบายใจที่จะเล่าเรื่องที่เก็บไว้นานแสนนาน และระบายออกมาเป็นน้ำตา — อาจเรียกว่านี่เป็นปาฏิหารย์ 7 นาที
ไม่ต้องเชื่อก็ได้นะคะ แต่อยากชวนลองทำดู ด้วยทฤษฎีตัวยู (Theory U) หรือการฟัง 4 ระดับ
#ระดับแรก Downloading ฟังแบบดาวน์โหลด คือรู้แล้ว เอาความรู้ในอดีตเข้ามาอธิบาย อันนี้อาจจะฟังได้ตื้นที่สุด
#ระดับที่สอง Factual ฟังมากขึ้นหน่อยแต่ก็ยังเช็คกับเหตุผลของตัวเองอยู่ ถูกหรือไม่ถูก ฟังเพื่อโต้แย้ง ฟังเพื่อตอบ ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจ เป็นการ debate คือฟังมากขึ้นแต่เต็มไปด้วยเงื่อนไข ถ้าไม่ถูกก็จะโต้กลับและตั้งคำถาม
#ระดับที่สาม Empathetic ฟังลึกลงไปหน่อยแต่จะไม่อยู่กับเหตุผลแล้ว แต่ฟังเพื่อหาความรู้สึก เพราะความรู้สึกสะท้อนสิ่งที่เขาให้คุณค่า ทำไมเขาพูดเรื่องนี้ อะไรมันมีคุณค่าสำหรับเขา
#ระดับที่สี่ Generative ระดับลึกที่สุด การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว เหมือนเป็นคนเดียวกัน เข้าไปนั่งอยู่ในใจ สัมผัสได้ เข้าใจถึงสิ่งที่เขาให้คุณค่า ได้รับผลจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เช่น รู้สึกสั่นสะเทือน พองโต ทราบซึ้ง ไม่ได้หมายความว่าเราจมอยู่กับอารมณ์ของใครอีกคน แต่ว่าเข้าใจมากกว่าแค่ความคิด เป็นการฟังเพื่อค้นหาตัวความเป็นไปได้ใหม่ๆ ตัวตนใหม่ๆ หรือภาพในอนาคตที่ต้องการให้ปรากฏ
คลิก: https://thepotential.org/knowledge/theory-u/
การเรียนรู้ผ่านสายสัมพันธ์ โดย Gordon Neufeld
Gordon Neufeld นักจิตวิทยาพัฒนาการ เป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะที่เขาเป็นผู้ทำวิจัยและเขียนทฤษฎีที่ว่าด้วยการเติบโต จิตวิทยา การเลี้ยงดู โดยสิ่งที่แม่จิ๋วและพี่เหมียวหยิบมาแชร์ในวันนี้ คือ ทฤษฎีของ Gordon ว่าด้วย สัมผัส 6 อย่าง (six stages of attachment) ที่สำคัญมากในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต โดยมีคีย์เวิร์ดที่ว่า
คนเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีรากมาจากหลายอย่าง ตั้งแต่…
- Sense หรือ Proximity : การสัมผัส ได้รับความรู้สึก ความรู้สึกว่าสื่อสารเชื่อมโยงได้
- Sameness: ความเหมือนกัน ในเด็กเล็กจะต้องการความรู้สึก ‘เหมือนกัน’ ฉันเหมือนเธอ (ผู้เลี้ยงดู) มากที่สุด และเมื่อเขาโตเป็นวัยรุ่น ไม่ว่าอย่างไรเขาก็ยังต้องการรู้สึกว่า ‘เรามีอะไรเหมือนกัน’
- Belonging and Loyalty: ความเป็นเจ้าของ ความภักดี เช่นรู้ว่าแม่เป็นของเขาจริงๆ แม่จะอยู่กับเขา รักเขาเสมอ ความสำคัญ รับรู้ว่าตัวเองมีตัวตนและรู้ว่าตัวเขาสำคัญ การฟังอย่างลึกซึ้งของใครสักคน ก็ให้สิ่งนั้นกับเขา
- Love: ความรัก เช่น เด็กไม่ควรทำอะไรเพื่อแลกความรัก ความรักเป็นความผ่อนคลาย
- Being Known: ความไว้ใจ ทำยังไงให้เด็กๆ สามารถคุยกับเราได้ทุกเรื่อง