- เนื่องในวาระวันเด็กแห่งชาติปีที่ 65 ชวนดู “8 คำยอดนิยม” ที่ถูกใส่ไว้ในคำขวัญวันเด็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 – 2564 ว่าเด็กแบบไหนที่ผู้ใหญ่ (รัฐ) ไทยต้องการ แล้วคำขวัญที่ผู้ใหญ่พร่ำสอนสั่งเด็กในวันนั้น ผลิตพลเมืองแบบที่ต้องการได้จริงไหม หากเด็กชายวัยสามขวบที่ได้เข้าร่วมงานวันเด็กครั้งแรกในวันนั้น กลายมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ แถมมีอำนาจออกคำสั่งสอนเด็ก แล้วพวกเขาทำได้อย่างที่สั่ง เป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนในวันนี้หรือเปล่า
วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราของทุกปีถูกจัดให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก โดยธรรมเนียมของทุกปีนายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก โดยคำขวัญวันเด็กประจำปี 2564 จาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม”
ในวาระครบรอบ 65 ปีวันเด็กแห่งชาติ ประเทศไทยมีคำขวัญวันเด็กมาแล้วทั้งหมด 61 คำขวัญ ชวนคิดว่าอะไรที่ซ่อนอยู่ในคำขวัญวันเด็ก คำท่องจำที่สะท้อนสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีในแต่ละยุคถึงอนาคตของชาติ (แต่ไม่เคยสะท้อนเสียงของเด็กเลยสักครั้ง)
ผ่าน “8 คำยอดนิยม” ที่ถูกใส่ไว้ในคำขวัญวันเด็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 – 2564 ว่าเด็กแบบไหนที่ผู้ใหญ่ (รัฐ) ไทยต้องการ แล้วคำขวัญที่ผู้ใหญ่พร่ำสอนสั่งเด็กในวันนั้น ผลิตพลเมืองแบบที่ต้องการได้จริงไหม หากเด็กชายวัยสามขวบที่ได้เข้าร่วมงานวันเด็กครั้งแรกในวันนั้น กลายมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ แถมมีอำนาจออกคำสั่งสอนเด็ก แล้วพวกเขาทำได้อย่างที่สั่ง เป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนในวันนี้หรือเปล่า
เนื่องในโอกาสวันเด็กปีนี้ ก่อนจะไปบอกเด็กว่าควรเติบโตไปอย่างไร อยากชวนผู้ใหญ่มาทบทวนตัวเองว่าเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ทำตัวน่าเคารพสำหรับเด็กแล้วหรือยัง
จุดกำเนิดวันเด็กแห่งชาติไทย: เพื่อปลูกฝังให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
การจัดงานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกเกิดจากคำชวนของ วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ มีจุดหมายเพื่อให้สังคมเห็นถึงความสำคัญและความต้องการของเด็ก และอีกนัยหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทตัวเองในประเทศ สร้างการมีส่วนร่วมให้กับพวกเขา
จุดประสงค์ของการจัดงานวันเด็กของรัฐบาลไทยเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก
และเป็นธรรมเนียมที่ทุกๆ ปี นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญเนื่องในวันเด็ก ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่เริ่มทำคำขวัญวันเด็ก คือ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในปีพ.ศ. 2499
หากมองลึกลงไปในประโยค คำขวัญแต่ละปีนั้นสะท้อนคำสั่งและความคาดหวังจากผู้ใหญ่หรือรัฐ ถึงคุณลักษณะที่อนาคตของชาติพึงมี รวมถึงสะท้อนบริบททางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ไปจนถึงอุดมการณ์และวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น
ชวนย้อนมอง ”8 คำยอดนิยม” ที่ถูกใส่ไว้ในคำขวัญวันเด็ก ตลอด 65 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 – 2564 ว่าเด็กแบบไหนที่ผู้ใหญ่(รัฐ)ไทยต้องการ แล้วคำขวัญที่ผู้ใหญ่พร่ำสอนสั่งเด็กในวันนั้น ผลิตพลเมืองแบบที่ต้องการได้จริงไหม
ตั้งแต่ปี 2499 – 2564 ไทยมีคำขวัญวันเด็ก 61 คำขวัญ แต่มีคำสำคัญที่กล่าวถึงซ้ำๆ อยู่จำนวนหนึ่ง อย่าง ชาติ วินัย คุณธรรม ขยัน สามัคคี ประหยัด ซื่อสัตย์ ประชาธิปไตย
ชาติ
ดูเหมือนความรักชาติจะเป็นคุณสมบัติหลักที่ผู้ใหญ่คาดหวังต่อเด็ก หากไล่เลียงดูคำว่าชาตินั้นปรากฏอยู่ในคำขวัญวันเด็กมากถึง 16 ปี (19 ครั้ง) มีตั้งแต่ เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดพาชาติเจริญ รักชาติ ทำเพื่อชาติ ไปจนถึงเด็กไทยคือหัวใจของชาติ
นัยของคำว่า ‘ชาติ’ ในคำขวัญส่วนใหญ่สื่อถึงประเทศ ทำให้บริบทการใช้จึงส่งเสริมให้เป็นหน้าที่ของเด็กไทยที่ต้องนำพาชาติให้เจริญ ทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดินเกิด ซึ่งคำขวัญที่มีคำว่าชาติที่ฮอตฮิตตลอดกาลคงหนีไม่พ้น ‘เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ’ ของจอมพล ถนอม กิตติขจร วลีเด็ดที่เรายังคงได้ยินอยู่ทุกวันนี้ ถ้าพิจารณาตามบริบทสังคม ณ สมัยปี 2516 ที่เกิดคำขวัญดังกล่าว ถือเป็นปีแห่งความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและรัฐบาล จนเกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญ คือ 14 ตุลาคม คำขวัญวันเด็กจึงเป็นเครื่องมือในการสร้างเด็กที่สังคมนี้ต้องการ
หากเด็ก คือคนที่จะพาชาติเจริญอย่างที่ผู้ใหญ่บอกจริง เราคงต้องกลับมาดูว่าเด็กแบบไหนที่จะขับเคลื่อนประเทศ เด็กตามความหมายเดิม หรือเด็กไทยทุกคนที่ควรได้รับโอกาส แม้เขาอาจไม่ตรงตามกรอบ ‘เด็กดี’ ที่สังคมไทยต้องการ
วินัย
การใช้คำว่า ‘วินัย’ ในสังคมไทยมักหมายถึง การรู้จักหน้าที่ ปฎิบัติตัวตามกรอบที่กำหนดไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในคำขวัญวันเด็กคำว่าวินัยมักมาคู่กับชาติ คือ เมื่อเด็กไทยมีวินัย ก็ย่อมส่งผลให้ชาติรุ่งเรือง และไม่น่าแปลกใจที่คำนี้จะครองความนิยมเป็นอันดับสอง เพราะหากไปไล่เรียงดูอาชีพของนายกฯ จะพบว่ากว่าครึ่งเป็นทหารซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการฝึกระเบียบวินัย ที่น่าแปลกใจคือเหตุใดทหารถึงเป็นอาชีพของนายกส่วนใหญ่
นอกจากนั้นในโลกปัจจุบันเราอาจไม่ได้ต้องการหรือทำให้เด็กต้องตรงตามกรอบ แต่คือ การเปิดกว้างและซับพอร์ตการเติบโตของพวกเขา โดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ ความคิดเป็นของตัวเอง วินัยในวันนี้อาจไม่ใช่การอยู่ในกรอบ แต่คือรู้จักสิทธิและหน้าที่อย่างพลเมืองโลก
คุณธรรม
อีกหนึ่งคุณสมบัติยอดฮิตของเด็กไทยที่ถูกวางว่าต้องมี ซึ่งคำว่า คุณธรรม ความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง สภาพคุณงามความดี และเมื่อพูดถึงความดีในสังคมไทยมักผูกเข้ากับศาสนาตามวิถีชาวพุทธ นั่นหมายความว่าคุณธรรมที่เด็กไทยควรมี คือ การปฎิบัติตัวตามแบบวิถีชาวพุทธ เช่น รักษาศีล 5 รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่เราถูกสอนให้ศรัทธา แต่ปัจจุบันท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่พวกเขาต่างถูกสอนให้ศรัทธา รวมถึงตัวบุคคลที่เป็นคนสอนเขาเอง
ขยัน
การใช้คำว่า ‘ขยัน’ ในคำขวัญจะมีสองนัยด้วยกัน คือ ขยันในเชิงการเรียนรู้ เช่น ขยันหมั่นเพียร ขยันศึกษา และขยันในเชิงเศรษฐกิจ มักมาคู่กับคำว่า ประหยัด เป็นการปลูกฝังทัศนคติเด็กไทยว่า ถ้าเราขยันแล้วชีวิตจะเจริญ ประสบความสำเร็จ สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้
ข้อมูลสถิติจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อปี 2020 ระบุว่าการกระจุกของรายได้ในประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มชนชั้นบน ทำให้การแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึงชนชั้นล่าง และระยะห่างทางฐานะระหว่างกลุ่มชนชั้นบนและล่างนั่นอยู่ที่ 20 เท่า ฉะนั้น ประโยคที่ว่าขยันแล้วจะรวย อาจเป็นเพียงการวาดวิมานในอากาศให้กับเด็กไทย เพราะในสังคมเหลื่อมล้ำ ความรู้ ความสามารถ หรือความขยันคงไม่เพียงพอที่จะทำให้เราสามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้
สามัคคี
การปรากฏตัวของคำนี้ในคำขวัญของนายกฯหลายยุคสมัย สะท้อนให้เห็นว่า คุณสมบัติข้อนี้ เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องการในทุกยุคทุกสมัย หรืออาจมองได้ว่า สามัคคี ถูกใช้เป็นยาที่จ่ายโดยรัฐเพื่อสมานแผลในยามที่ประเทศเกิดความแตกแยกทางความคิด
หรืออีกมุมหนึ่งอาจมองได้ว่า ความเห็นต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัยในทุกๆเรื่อง แม้แต่ในชีวิตประจำวัน กลับถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามของความสามัคคี ความแตกต่างไม่เคยได้รับการโอบรับจากสังคม ความเห็นต่างถูกแปลเป็นความแตกแยก เพราะเป็นสิ่งที่รัฐไม่ยอมรับให้เกิดขึ้น ความสามัคคีจึงถูกหยิบมาเป็นคำสั่งจากรัฐในวาระที่มีคนเห็นไม่ตรงกับสิ่งที่รัฐต้องการ
เพราะหากรัฐมีความจริงใจที่จะส่งเสริม “ความสามัคคี” ให้แก่เยาวชน สามัคคีที่หมายถึง “ความพร้อมเพรียง ความปรองดอง การร่วมมือร่วมใจกันทำ” การร่วมมือร่วมใจกันเรียกร้องความยุติธรรม ของนักศึกษา การเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดการปรองดอง ไปจนถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน (แต่อาจไม่ตรงกับรัฐ) คงไม่ถูกสลายและคุกคามจากรัฐอย่างที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกยุคทุกสมัยอย่างที่เป็นอยู่
ในวาระที่ประเทศอยู่ท่ามกลางความเห็นต่างอีกครั้ง อยากชวนมาคิดถึงความหมายของคำนี้กันอีกที ว่าสามัคคียังเป็นยาสมานความเห็นต่างได้อยู่ไหม หรือการรับฟังและเคารพความคิดที่แตกต่างอาจเป็นวัคซีนในโมงยามนี้
ประหยัด
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุว่า “ประหยัด” มีสองความหมาย 1. การยับยั้ง ระมัดระวัง เช่น ประหยัดปาก ประหยัดคำ 2. การใช้จ่ายแต่พอควรแก่ฐานะ
คำนี้ถูกหยิบมาใส่ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2505 สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในยุคของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ช่วงพ.ศ. 2524-2531 หากมองย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ยุคนั้นเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิ การเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมสู่การผลิตแบบอุตสหกรรม รายได้หลักของประเทศเปลี่ยนจากการส่งออกสินค้าทางการเกษตรมาเป็นการผลิตสินค้าโดยเฉพาะสิ่งทอ เกิดการจ้างงานในระบบโรงงานมากขึ้น รัฐหันมาเน้นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกมาขึ้น และออกนโยบายลดภาษีส่งออก มีการปรับลดค่าเงินบาท และผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ภาคตะวันออกกลายมาเป็นพื้นที่อุตสากรรมอย่างทุกวันนี้ ไทยก้าวเข้าสู่ฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก
สรุปได้ว่าเป็นช่วงที่มีความตื่นตัวทางเศรษฐกิจ มีรายได้เข้าประเทศและการลงทุนด้านอุตสหกรรมในเวทีโลก ขณะเดียวกันก็ถ่างช่องความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตรและอุตสหกรรมให้กว้างยิ่งขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นอย่างกระจุกตัว คำนี้กลับมาปรากฏอีกครั้งในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย 2 ที่รับไม้บริหารต่อจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง การรู้จักคุณค่าของเงิน ใช้จ่ายอย่างมีสติพอควรแก่ฐานะจึงเป็นคุณสมบัติที่รัฐเลือกมาปลูกฝังให้เยาวชนในยุคนั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประหยัดนั้นเป็นเรื่องที่ควรทำและควรส่งเสริมตั้งแต่เด็ก หากแต่ในวันที่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันกำลังดับฝันเยาวชน อยากชวนมาพิจารณาคำนี้กันอีกครั้ง ว่าเด็กไทยควรประหยัด หรือใครกันที่ควรใช้งบประมาณแต่พอควรแก่ฐานะ และใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม
ซื่อสัตย์
ซื่อสัตย์ หรือสัตย์ซื่อ นั้นไม่ใช่แค่ปรากฏในคำขวัญวันเด็ก แต่ความซื่อสัตย์ยังได้ถูกพูดถึงบนเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม ว่าความซี่อสัตย์นั้นมีหลายประเภท เช่น ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อครอบครัว ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ซื่อสัตย์ต่อมิตร และซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ และเป็นคุณธรรมที่จำเป็นต่อสังคม อีกนัยนึงความซื่อสัตย์ยังสะท้อนวัฒนธรรมและความเชื่อแบบเมืองพุทธ ที่ชูการรักษาศีล 5 และดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์สุจริต
คำนี้ถูกหยิบมาใส่ในคำขวัญครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 จนวันนี้ผ่านมา 40 ปี เด็กในวันนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่การเมืองไทยกลับตอกย้ำให้เห็นว่าผลตอบแทนของความซื่อสัตย์ทั้งต่อตัวเอง ต่อหน้าที่ ต่อประเทศชาติ ในการยืนหยัดพูดความจริง กลับเป็นสาเหตุให้หลายคนต้องเอาอิสรภาพและชีวิตเข้าแลก ในขณะที่การคอรัปชั่น การบิดเบือนความจริงกลับยังมีให้เห็นรายวัน
ประชาธิปไตย
คำที่เราได้ยินกันบ่อยในปีที่ผ่านมา คำนี้ถูกกล่าวถึงเพียง 4 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดโดย นาย ชวน หลีกภัย ในปี พ.ศ. 2536 – 37 (รัฐบาลชวน1) และ ปีพ.ศ. 2543 – 2544 (รัฐบาลชวน 2)
ซึ่งปัจจุบันนาย ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งประธานสภา ที่หวังว่าท่านจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตย อย่างที่ท่านเคยมอบคำนี้ให้เด็กๆ ไว้กว่ายี่สิบปีมาแล้ว
ตลอด 65 ปีที่ผ่านมา คำขวัญวันเด็กบอกเราว่าเด็กแบบไหนที่ผู้ใหญ่ต้องการ คุณลักษณะแบบใดที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ทว่าผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เมื่อคำขวัญเป็นเพียงคำขวัญที่ผู้ใหญ่ตั้งขึ้นเมื่อถึงวาระ แต่ไม่เคยมีการเตรียมการหรือวางแผนนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ศักยภาพนั้นเกิดขึ้นจริง ยิ่งไปกว่านั้นคำที่พร่ำบอกเด็กยังกลายเป็นคำหลอกเด็กจากหัวหน้าผู้ใหญ่ในสภา ที่แทบจะไม่เคยมีรัฐบาลไหนเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงเด็กดีที่รัฐไทยต้องการเลยสักครั้ง
และหากวันเด็กคือวันสำหรับเด็ก เรากลับไม่เคยได้ยินเสียงความต้องการของเด็กอย่างจริงจังเลยสักปี การสอนสั่งด้วยเหตุผลว่าหวังดีนั้นยังใช้ได้กับเด็กในวันนี้อยู่อีกไหม อะไรคือสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ?
โอกาส การถูกยอมรับในสังคม ความเชื่อมั่นในตัวเอง การส่งเสริมให้เขาได้เจอศักยภาพในตัวเอง รักตัวเอง อิสระในการแสดงความคิดเห็น และอีกสารพัดสิ่งที่เด็กๆ คงจะเป็นคนตอบได้ดีที่สุด
อยากชวนผู้ใหญ่ทุกคนในวันนี้มามอบคำขวัญที่เด็กๆ อยากได้เนื่องในวันเด็กปีนี้กันค่ะ