- Transactional analysis คือทฤษฎีที่เสนอว่า เวลาคนสื่อสารกันนั้นจะใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘Ego state’ เหมือนเป็น ‘ตำแหน่ง’ หรือ ‘บทบาท’ ของตนและอีกฝ่ายในการสนทนา ซึ่ง Ego state มีอยู่ 3 แบบ มาดูแต่ละแบบ และตัวอย่างคำพูดในบทสนทนาให้เห็นภาพกันครับ คือ Parent, Child และ Adult
- พงศ์มนัส จะพาไปดูว่าระหว่างการสื่อสาร หากแต่ละคนไม่ได้ใช้บทบาท Adult หรือ วางตัวเองว่าเป็น Adult แต่จริงๆ แล้วเป็น Parent หรือ Child ผลที่เกิดจะเป็นอย่างไร
- “เรื่องการเมืองนั้น จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าหลายๆ คนเวลาเถียงกันต่างก็พยายามทำตัวเป็น Adult ที่แย้งด้วยเหตุผล คาดหวังว่าอีกฝ่ายจะรับฟังหรือแย้งกลับมาด้วยเหตุผลแบบ Adult เช่นกันจริงไหมครับ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นตรงที่บทบาทที่เราคิดว่าเราแสดงออก กับบทบาทที่อีกฝ่ายรับรู้นั้น มันอาจไม่ตรงกัน”
หากช่วงนี้ไม่พูดถึงเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเลยคงไม่ได้ เพราะการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ใหญ่อีกต่อไป การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แม้แต่เด็กวัยเรียนก็เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองมากขึ้น ผมคงไม่ชวนคุยเรื่องทฤษฎีทางการเมืองในวันนี้ แต่ขอพูดถึงปัญหาที่หลายๆ คนกำลังลำบากใจอยู่ คือมีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับคนรัก พ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด และพอคุยกันทีไรก็บานปลายเป็น ‘ดราม่า’ ใหญ่โต
เคยไหมครับที่อัดอั้นตันใจเหลือเกินเพราะเรามั่นใจในความคิดและเหตุผลของเรา และอยากจะให้อีกฝ่ายซึ่งเป็นคนที่เรารักหรือสนิทใกล้ชิด เข้าใจจุดยืนของเราเช่นกัน เราก็เลยพยายามอธิบาย ยกทั้งเหตุผล และหลักฐานมาอธิบายและโน้มน้าว แต่พูดให้ตายสุดท้ายเหมือนกับว่าสิ่งที่เราพูดไปนั้นอีกฝ่ายไม่ฟังด้วยซ้ำ โตๆ กันแล้วทำไมถึงใช้เหตุผลคุยกันไม่ได้ มันน่าคับข้องใจเสียจริง
การสื่อสารนั้นเกิดขึ้นระหว่างคนสองคน แต่การแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนอีกฝ่ายมันเปลี่ยนยาก ดังนั้นเรามาหาเทคนิคที่เริ่มจากตัวเรากันดีกว่าครับ บทความนี้จะมาพูดถึงวิธีการแก้ไข ‘จุดอ่อน’ เรื่องหนึ่งที่คนมักละเลยตอนถกเถียง หรือจูงใจคนอื่นให้เห็นด้วยกับเหตุผลของเรา ซึ่งจุดอ่อนนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ให้พูดให้ตาย เหตุผลดีแค่ไหน สุดท้ายก็ไร้ค่าเพราะอีกฝ่ายไม่สนใจเนื้อหาของสิ่งที่เราพูดเลย
โดยจุดอ่อนที่ว่าก็คือ คนเรามักจะคิดแต่เรื่องเนื้อหา เหตุผล หรือหลักฐานที่หนักแน่น เพื่อที่ล้มล้างเหตุผลหรือหลักฐานของอีกฝ่าย แต่มักจะลืมนึกถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ ‘เนื้อหา’ ที่สำคัญไม่แพ้กัน และอาจจะสำคัญยิ่งกว่าด้วยซ้ำ สิ่งที่ว่าคือเรื่องของการวาง ‘ตำแหน่ง’ ของตัวเองและคู่สนทนา และการวางตำแหน่งดังกล่าวนี้แหละครับ เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้การสื่อสารนั้นเกิดปัญหา คุยกันไปก็ไม่เข้าใจ แล้วตำแหน่งที่ว่าคืออะไร มาดูกันครับ
นักจิตวิทยาชาวแคนาดาชื่ออีริค เบิร์น (Eric Berne) เสนอทฤษฎีเพื่อแก้ไขปัญหาชีวิต เชื่อว่ามันเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ลงตัว โดยเขาตั้งชื่อทฤษฎีว่า Transactional analysis ซึ่งเขาเสนอว่าเวลาคนสื่อสารกันนั้น คนเราจะใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘Ego state’ เหมือนเป็น ‘ตำแหน่ง’ หรือ ‘บทบาท’ ของตนและอีกฝ่ายในการสนทนา ซึ่ง Ego state มีอยู่ 3 แบบ มาดูแต่ละแบบ และตัวอย่างคำพูดในบทสนทนาให้เห็นภาพกันครับ
แบบแรกเรียกว่า ‘Parent’ หรือการสวมตำแหน่งของพ่อแม่ เป็นบทบาทที่เลียนแบบสิ่งที่พ่อแม่ทำกับตนในอดีต อย่างการคอยห่วงใย ปรารถนาดี โอบอุ้มค้ำจุน เช่น ‘ไม่ต้องเสียใจนะ เดี๋ยวหาใหม่ก็ได้’ หรือการใช้อำนาจสั่งและบังคับ หรือตำหนิติเตียน เช่น ‘ทำไมคิดได้แค่นี้ เรียนแล้วไม่ใช่หรือ’
แบบต่อมาเรียกว่า ‘Child’ การสวมตำแหน่งของเด็กหรือของลูก ใช้บทบาทในอดีตตอนยังเป็นเด็กเล็กที่ตอบสนองด้วยอารมณ์และความต้องการอย่างใสซื่อ เช่น ‘ขี้เกียจทำงานแล้ว อยากไปเที่ยว’ รวมถึงการใช้อารมณ์ต่อต้านการถูกบังคับ ‘ไม่พูดด้วยแล้ว น่ารำคาญ’ หรือทำตามอย่างว่าง่าย ‘ตามที่เธอพูดก็ได้’
แบบสุดท้ายเรียกว่า ‘Adult’ การสวมตำแหน่งของผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นแบบที่พัฒนามาทีหลังสุด โดยไม่ใช้แต่อารมณ์เหมือนเด็กเล็ก และหรือวางตนว่าสูงกว่าเพื่อค้ำจุนหรือบังคับแบบพ่อแม่ แต่เป็นการสื่อสารที่เน้นการใช้เหตุผล เสนอข้อมูล หลักฐานในปัจจุบันให้อีกฝ่ายรับฟังและเข้าใจ เช่น ‘ถ้าเทียบกับขนาดสินค้า ก็ถือว่าไม่แพงนะ’
ในการสื่อสารของมนุษย์เรา ผู้พูดจะแสดงออกว่าสวมบทบาทไหนและคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะตอบกลับในฐานะบทบาทที่ตนคาดหวัง เช่น ถ้าตอนนั้นเราต้องการสั่งให้ใครเชื่อฟัง เราจะสวมบทบาท Parent ที่ต้องการบังคับ และอยากให้อีกฝ่ายให้เป็น Child ที่ต้องยอมตามและตอบมาแบบ Child กลับไป Parent ตามเส้นทางเดิมที่ส่งไป เช่น ผู้พูดใช้ Parent ไป Child ‘เชื่อกันหน่อยสิ ฉันทำมากี่รอบแล้ว’ และอีกฝ่ายตอบกลับมาด้วย Child ไป Parent ‘ได้ ๆ ทำตามที่เธอพูดเลยนะ’ หรือถ้าเราอยากดื้อทำตามอารมณ์ เราจะสวมบทบาท Child และต้องการ Parent ที่ใจดี คอยห่วงว่าเราเป็นอะไร
เช่น ผู้พูดใช้ Child ไป Parent ‘ไม่อร่อย ไม่กินแล้ว’ แล้วอีกฝ่ายตอบกลับในเส้นทางเดิม Parent ไป Child ‘อิ่มหรือเปล่า รอกินขนมแล้วกัน’ หรือถ้าเราต้องการคุยกับอีกฝ่ายด้วยเหตุผล หลักฐาน ข้อมูล เราจะเลือกเป็น Adult ที่คาดหวังว่าอีกฝ่ายจะเป็น Adult ที่รับฟังเหตุผลชองเรา และโต้แย้งเราด้วยเหตุผลเช่นกัน เป็นการใช้เส้นทาง Adult ไป Adult ทั้งคู่ เช่น ‘ร้านนี้คนเยอะ ไปร้านอื่นเถอะ เดี๋ยวไปไม่ทัน’ และอีกฝ่ายตอบว่า ‘เขาบอกว่ารออีก 15 นาที น่าจะยังทันอยู่นะ’ การสื่อสารที่ผู้ฟังตอบกลับมาตามบทบาทที่ผู้พูดคาดหวัง จะเป็นการสื่อสารที่ ‘เติมเต็ม’ บทบาทของกันและกัน คุยกันเข้าใจ และการสื่อสารจะมีประสิทธิภาพ
แต่ถ้าอีกฝ่ายกลับไม่ทำตามบทบาทที่ผู้พูดคาดหวัง และกลับตอบมาในเส้นทางอื่นแทน เช่น ผู้พูดเลือกใช้เส้นทาง Adult และคาดหวังว่าจะอีกฝ่ายจะเป็น Adult ตอบ ‘ออกจากบ้านก่อน 6 โมงดีไหม แถวนี้รถติด’ แต่เมื่ออีกฝ่ายได้ฟัง กลับตอบโดยใช้เส้นทางผิดจากที่ผู้พูดคาดหวัง ใช้ Parent มาบังคับให้ Child ทำตาม ‘บอกว่า 7 โมงทัน ก็เชื่อกันได้ไหม!’ หรือใช้ Child ที่ใช้อารมณ์ต่อต้าน Parent ‘ไม่ไปแล้ว ตื่นไม่ทันหรอก’
มาดูอีกตัวอย่างกันครับ ฝ่ายพูดเลือกใช้เส้นทาง Parent แสดงความหวังดี ‘เดี๋ยวฉันทำแทนให้นะ เธองานเยอะ’ ที่หวังว่าจะได้รับการตอบรับแบบ Child ที่เชื่อฟัง แต่อีกฝ่ายกลับตอบมาแบบ Parent ที่บังคับ Child ‘ฉันบอกว่าอย่ามายุ่งกับงานของฉัน’ ตัวอย่างเหล่านี้เรียกว่า ‘Crossed transaction’ คือเส้นทางที่ฝ่ายพูดคาดหวัง กับสิ่งที่อีกฝ่ายตอบมันไม่ตรงกัน การสื่อสารแบบนี้ไม่มีประสิทธิภาพ อาจจะทำให้ไม่เข้าใจกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง
เบิร์นเสนอว่าการสื่อสารที่ดีมีประสิทธิภาพนั้นควรจะเป็นแบบ Adult ไปยัง Adult เพราะมันสร้างทัศนคติที่เท่าเทียมกับอีกฝ่าย ฉันมีเหตุผลและเธอก็มีเหตุผล เอื้อให้อีกฝ่ายใช้ Adult ไปยัง Adult กลับมา เล่นตามบทบาทได้ง่ายกว่าการวางตำแหน่งผู้พูดว่าฉันเหนือกว่าแบบ Parent หรือการใช้อารมณ์แบบ Child จริงอยู่ว่าถ้าฝ่ายตรงข้ามตอบกลับมาในแบบที่เติมเต็มพอดี บทสนทนาก็จะยังดำเนินไปได้ไม่ว่าผู้พูดจะใช้บทบาทใด แต่ในโลกความเป็นจริง การใช้วางตนว่าเหนือกว่าอีกฝั่ง หรือการใช้อารมณ์มักจะทำให้อีกฝ่ายต่อต้าน ไม่รับฟังเนื้อหา สนใจแต่อารมณ์ เลยไม่ทำตามบทบาทที่ผู้พูดคาดหวังและเกิด Crossed transaction
ย้อนกลับมาที่ปัญหาของเรากัน เรื่องการเมืองนั้น จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าหลายๆ คนเวลาเถียงกัน พยายามทำตัวเป็น Adult ที่แย้งด้วยเหตุผล คาดหวังว่าอีกฝ่ายจะรับฟังหรือแย้งกลับมาด้วยเหตุผลแบบ Adult เช่นกันจริงไหมครับ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นตรงที่บทบาทที่เราคิดว่าเราแสดงออก กับบทบาทที่อีกฝ่ายรับรู้นั้น มันอาจไม่ตรงกัน
เวลาคนเราสนทนา เรามักให้ความสำคัญกับเนื้อหาเป็นหลัก เช่น เราอยากจะบอกอีกฝ่ายว่า เขาเข้าใจผิด หากไม่เชื่อเรา ก็ลองอ่านดูจากเนื้อหาในหนังสือก็ได้ แต่จะเป็นอย่างไรหากเราพูดออกไปว่า ‘ไหนไปอ่านดีๆ ซิ! หนังสือเขียนว่ายังไง’ ด้วยเสียงแข็งๆ หน้าบึ้งๆ แม้เราจะพยายามใช้เหตุผลแบบ Adult แต่ฝ่ายตรงข้ามอาจจะรู้สึกว่าเขากำลังถูกข่มให้เชื่อฟังเหมือนเราเป็น Parent พูดกับ Child แทน และคนเราเถียงกันมีหรือครับที่เขาจะอยากเป็น ‘เด็กเชื่อฟัง’ กับเรา เราข่มเขามาเขาย่อมไม่พอใจ จากตัวอย่าง อีกฝ่ายอาจจะไม่คิดจะดูหนังสือตามที่ผู้พูดบอกด้วยซ้ำ เพราะอารมณ์ขึ้นคิดว่ากำลังถูกมองว่าด้อยกว่า
มนุษย์เราเวลาสื่อสารกัน เราไม่ได้รับฟังแค่เนื้อหา จากตัวอย่างเราคงเห็นว่าการเลือกใช้คำก็สำคัญ และมนุษย์เรายังให้ประเมินสิ่งนอกเนื้อหาหรือภาษากาย เช่น ท่าทาง สีหน้า น้ำเสียง ควบคู่กันไปด้วย การวางตำแหน่งที่คุมแต่เนื้อหาเลยอาจจะถูกรับรู้คนละแบบหากมันไม่ตรงกับภาษากาย ดังนั้นหากเราอยากจะให้เขาตอบกลับมาแบบ Adult กับ Adult เราก็ต้องระมัดระวัง อย่าชักสีหน้าดุ เชิดหน้าใส่ หรือเลือกคำเชิงตำหนิ จนดูเป็น Parent ที่จะบังคับให้เขาเชื่อ หรืออย่าแสดงแต่อารมณ์โกรธ ทำเสียงดังโวยวายเป็น Child ที่กำลังดื้อแบบไม่สนใจเหตุผล เพราะถ้าทำแบบนี้ต่อให้คำพูดเรามีเหตุมีผลมากแค่ไหน แต่ภาษากายมันไม่เอื้อกับการสื่อสารแบบ Adult เขาเลยตอบสนองด้วยเส้นทางอื่นที่ไม่ใช่ Adult สื่อสารกับ Adult เพราะเราไม่ได้สื่อให้เขาเห็นว่าเราใช้เส้นทางนั้นกับเขาแต่แรก
ที่สำคัญคือบทบาทนั้นไม่จำเป็นต้องเล่นตามบทบาทในชีวิตจริงนะครับ คนเป็นพ่อแม่หรืออายุมากกว่าไม่จำเป็นต้องสวมบท Parent หรือคนเป็นลูกหรืออายุน้อยกว่าก็ไม่จำเป็นต้องสวมบท Child แต่อย่างใด หากต้องการคุยด้วยเหตุด้วยผลใครๆ ก็สวมบท Adult ได้ อย่างตอนถกเรื่องการเมือง ใครจะอายุเท่าไร ผมว่าเราคุยกันแบบ Adult กับ Adult น่าจะดีกว่าจริงไหมครับ มาจับเข่าคุยกันด้วยเหตุผลดีกว่า
แต่อย่างที่บอกครับ เวลาเราพูดเราหลงลืมถึงเรื่องภาษากายและการเลือกใช้คำไป ทำให้หลายๆ คนสวมบท Parent ไปโดยไม่รู้ตัว แสดงออกว่าข่มอีกฝั่งด้วยอายุ ประสบการณ์ ความรู้ หรือการศึกษาที่มากกว่า ซึ่งมันคงยากที่อีกฝ่ายจะยอมเป็น Child สนองบทบาท เมื่อการสื่อสารไม่สอดคล้อง เนื้อหาก็เลยส่งไปไม่ถึง
คำถามคือ ถ้าเถียงกันแล้วอีกฝ่ายกลับวางบทบาท Adult เสียเอง อีกฝ่ายเป็นฝ่ายข่มเราก่อน หรือเอาแต่ใช้อารมณ์ แล้วเราควรจะทำอย่างไร หากดูทฤษฎีแล้ว การตอบกลับให้สมกับบทบาทที่เขาคาดหวัง เช่น หากข่มมาเราก็หงอกลับ ยอมเชื่อฟังแต่โดยดี มันก็เป็นทางที่คุยกันได้รู้เรื่องนะครับ แต่แบบนั้นเราคงเป็นฝ่ายรู้สึกแย่เสียเอง เพราะถ้าเราไม่คิดว่าเราเองก็มีเหตุผล เราคงไม่มาเถียงกันแต่แรก การตอบกลับไปแบบ Adult ถึง Adult แม้ว่าจะ Crossed transaction แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีคือได้เริ่มจากการปรับที่ตัวเราเองก่อน จากนั้นมาพยายามแสดงออกให้อีกฝ่ายรับรู้ว่า เรามองเขาอย่างเท่าเทียม เพื่อเอื้อในการปรับเส้นทางสนทนาให้กลับมาเป็น Adult กับ Adult กัน ไม่ใช่แค่การเมือง ตอนเถียงกันเรื่องไหน เราก็เลือกเป็น Adult ได้นะครับ
โชคดีที่นักจิตวิทยาหลายๆ ท่าน ก็มีเทคนิคการสื่อสารที่ดี ที่เอื้อต่อความสร้างความรู้สึกว่าเราแสดงออกว่าอีกฝ่ายก็เท่าเทียมกับเรามาให้ลองใช้ เทคนิคแรกนั้นอาจจะดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ ทำยาก คือเราต้องเป็นฝ่ายแสดงออกว่ารับฟังเขาก่อน เพราะถ้าเราไม่ฟังเขาแต่แรก เขาก็คงไม่คิดจะฟังเราเช่นกัน ไม่ว่าเหตุผลของเราจะดีแค่ไหนก็ตาม เทคนิคต่อมาคือหลังจากฟังเขาแล้ว หากมีประเด็นไหนที่เราคิดว่ามันเข้าท่า อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นประเด็นหลักในการโต้เถียงก็จริง แต่เราเห็นด้วยในประเด็นนี้ เราก็ควรจะบอกให้เขารู้ ว่าเรื่องนี้เราเห็นด้วย เรื่องนี้เขาพูดถูก การทำแบบนี้ทำให้เขารู้ว่าเราฟังเขาอยู่ และยอมรับในตัวเขาด้วยและในเหตุผลของเขาเช่นกัน ไม่ใช่คิดจะมาเถียงแบบ “ฉันถูกเท่านั้น” พอถึงคราวที่เราเป็นฝ่ายพูด อีกฝ่ายก็มีแนวโน้มจะฟังเรามากขึ้น
จริงอยู่ที่ต่อให้เราและเขาวางตัวเป็น Adult แล้ว อาจจะถกกันไม่ลงตัวอยู่ดีว่าใครที่คิดถูกกันแน่ แต่อย่างน้อยน่าจะทุเลาไม่ให้ ‘ดราม่า’ นั้นบานปลายไปใหญ่โต และหลังจากเถียงกันแล้วก็น่าจะยังมองหน้ากันติด บ้านยังไม่แตกเพราะผิดใจกัน ไว้มีโอกาสหน้า ใครมีข้อมูลที่หนักแน่นเพิ่ม ก็ค่อยมาคุยกันใหม่ดีๆ กันต่อน่าจะดีกว่า ยอมรับและคุยกันด้วยเหตุผลแล้วการเถียงเรื่องใด ๆ จะไม่ลงเอยแต่ดราม่าแบบเดิมครับ