- เราบางคนอาจเคยสับสนและรู้สึกหลงทางเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ช่วงวัยที่เราต้องเจอกับคำถามตลอดเวลา ฉันชอบทำอะไร? ฉันอยากเป็นอะไร? บางคนที่โชคดีได้ค้นพบตัวเอง แต่กับบางคนกำลังเดินอยู่ในเขาวงกต ไม่มีทีท่าว่าจะหาทางออกเจอ แม้จะเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
- รายการพอดแคสต์ ‘ในโลกวัยรุ่น’ ตอนแรก จะมาแนะนำเครื่องมือที่ช่วยวัยรุ่นค้นหาตัวเอง กับ 3 พลังที่วัยรุ่นควรได้รับ พลังของการถูกมองเห็น พลังของการได้รับการชื่นชม และพลังของการค้นพบความคลั่งไคล้ หรือ passion ของตัวเอง
ในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่กำลังค้นหาตัวตนก่อนที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ มี 3 พลังที่ควรได้รับที่จะช่วยให้เขาเจอความชอบ เจอศักยภาพของตัวเอง นั่นคือ พลังของการถูกมองเห็น พลังของการได้รับการชื่นชม และพลังของการค้นพบความคลั่งไคล้ หรือ passion ของตัวเอง ซึ่งทั้ง 3 พลังนี้อาจได้มาจากคนรอบตัว จากตัวเราเองที่ย้อนมองประสบการณ์ของตัวเรา หรือจากเครื่องมือดีๆ ที่เข้ามาช่วย
โจ้ – กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential ชวนสนทนาถึงประเด็นนี้ใน Podcast รายการ “ในโลกวัยรุ่น” ว่า 3 พลังนี้คืออะไร และจะสามารถค้นเจอได้อย่างไรในช่วงวัยรุ่น ผ่านการถอดประสบการณ์ของตัวเอง
รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่นี่
The Potential Podcast รายการ “ในโลกวัยรุ่น” เป็นรายการที่อยากชวนคุณผู้ฟังมาลองย้อนกลับไปมองตอนที่เรายังเป็นวัยรุ่น อยู่ในช่วงของการสับสน ค้นหาตัวเอง เหมือนฟ้ามืดๆ มองหาทางไม่เจอ แล้วมันมีจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้เราค้นพบศักยภาพตัวเอง เจอพลังความชอบ ความใช่ พลังคลั่งไคล้ เพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่ศักยภาพอันสูงสุด โดยเราจะชวนคนในอาชีพต่างๆ มาเล่าประสบการณ์ถอดบทเรียนในช่วงเวลาที่เขาเป็นวัยรุ่น เขาทำทางหาตัวเองเจอได้อย่างไร พร้อมกับแนะนำเครื่องมือและวิธีการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ช่วยให้วัยรุ่นได้ค้นเจอศักยภาพของตัวเอง |
ทุกวันนี้ในวัยกลางคนทำงานอะไร และมีช่วงวัยรุ่นเป็นอย่างไร?
ขอเริ่มจากงานที่เราทำแล้วกัน แน่นอนว่างานหนึ่งของเราคือการเป็นบรรณาธิการเว็บไซด์ The potential เราทำหน้าที่ในการคิด วางธีม วางแก่นแนวคิด แล้วก็สร้างสรรค์เนื้อหาต่างๆ ส่งมอบเรื่องราวดีๆ ให้กับคุณผู้ฟัง ส่วนอีกงานหนึ่งคือเราเป็นคนทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน
จริงๆ มันมีจุดเปลี่ยนนะว่าทำไมเราจึงเลือกมาทำงานพัฒนาเยาวชน เพราะตอนที่เป็นวัยรุ่นเราก็เป็นคนหนึ่งที่สับสน คลำทางไม่เจอตัวเอง ชีวิตเราพ่อแม่แยกทางกัน เราก็เลยโตมากับยาย ค่อนข้างต้องดูแลตัวเองในระดับหนึ่ง ไปโรงเรียนเอง ทำอะไรเอง ซึ่งการที่เราต้องอยู่ด้วยตัวเองมันค่อนข้างที่จะมืดมาก คือเราหาไม่เจอเส้นทางที่จะพัฒนาตัวเอง ยิ่งเราเรียนในโรงเรียนที่เข้มข้นเรื่องวิชาการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความถนัดของเรา เราเป็นคนไม่ชอบคิด ไม่ชอบเรียน แต่ชอบปฏิบัติ รวมๆ มันก็ทำให้เราหาทางได้ยากนะ
จนวันหนึ่ง ใครจะไปคิดว่าคนอย่างเราที่เป็นเด็กหลังห้อง เด็กที่กว่าจะค้นหาตัวเองเจอ ก็นำไปสู่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ทุกวันนี้เราทำงานพัฒนาเยาวชน เพราะเราอยากแชร์วิธีที่เราเจอตัวเองให้คนอื่นได้เรียนรู้ไปด้วย
ก่อนจะมาทำงานพัฒนาเยาวชนเต็มตัว ได้ยินมาว่าพี่โจ้เป็นนักการละครมาก่อน อยากรู้ว่าจุดเริ่มต้นของการเข้าไปเรียนการละคร เริ่มจากอะไร?
ช่วง ม.ต้น เราเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เหมือนโรงเรียนในกรุงเทพฯ ทั่วไปที่เน้นเรื่องวิชาการ เน้นคณิตศาสตร์ วิทย์ อังกฤษ และเชื่อว่าเด็กเก่ง คือ ต้องเป็นที่ 1 ในการท่องจำ ถ้าย้อนไปมองเราตอนนั้นไม่รู้จะเหมือนคุณผู้ฟังหรือเปล่านะ คือ เราไม่ถนัดเรียนหนังสือ เป็นเด็กหลังห้อง คะแนนก็ไม่ค่อยดีเท่าไรเพราะเราไม่ค่อยตั้งใจเรียน เราไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ได้นานๆ นั่งเรียนไปสักพักก็จะหันออกไปมองนอกห้อง แต่ละคาบที่เรียนไปเราก็รอว่าเมื่อไรจะถึงเวลาพักสักที เมื่อไหร่จะได้นั่งคุยกับเพื่อน เหมือนเราเป็นคนที่ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบความสัมพันธ์ ชอบทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนเสียมากกว่า
วิธีเรียนรู้ (Learning Styles) ของเราไม่ใช่แบบสายวิชาการ
ใช่ แล้วมันก็จะมีความ pain พอสมควรนะ สำหรับเด็กหรือวัยรุ่นที่เป็นแบบพี่
Pain จากอะไร?
Pain จากความรู้สึกว่าเราไม่มีจุดเด่น ไม่มีความโดดเด่นอะไร เพราะสังคมมักให้ค่าว่าความโดนเด่นต้องอยู่ที่คะแนน ถ้าจะบอกคุณว่าเป็นวัยรุ่นที่เก่ง มีศักยภาพ แปลว่าคุณต้องได้เกรด 4 ในบางวิชา โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ หรือโอ้โห ต้องเป็นที่หนึ่งของห้องเรียน แต่เราเป็นพวกอยู่หลังห้องเรียนอะ แถมเวลาสอบ คะแนนออกมาก็ไม่ค่อยดีอีกต่างหาก หรือเวลาอ่านหนังสือ เราก็อ่านยังไงวะ? หลับตลอดเวลาเลย ประมาณนี้
เพราะเป็นนักกิจกรรมหรือเปล่า เลยไม่สนใจวิชาการ?
ตอนนั้นเราก็ยังไม่ชัดเจนว่าชอบกิจกรรม แค่พอรู้ว่าหากจัดกีฬาสีเมื่อไรมันคือช่วงเวลาของเรา เป็น festival ที่จะได้เฉลิมฉลอง ได้เจอเพื่อน พี่ น้อง เรียนรู้และลองทำกิจกรรมร่วมกัน รู้สึกว่าข้างในเรามีพลังบางอย่างที่เรียกร้องหรือตื่นเต้นเป็นพิเศษกับการทำกิจกรรม แต่เนื่องจากช่วง ม.1 – ม.6 ก็ไม่ค่อยมีเวลาให้ทำกิจกรรม ยิ่งเราเป็นเด็กหลังห้องก็ยิ่งไม่ถูกมองเห็นอีก
วันหนึ่งเกิดจุดเปลี่ยน ตอนนั้นอาจารย์ออกแบบให้ทำละครภาษาอังกฤษ มีเพื่อนเราคนหนึ่งเป็นคนชอบละคร เขาไปเรียนการแสดงตั้งแต่ ม.4 – ม.5 ไปเรียนกับครูช่าง ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง แล้วเอาแบบฝึกหัดมาเล่นกับเพื่อนๆ ในห้อง คล้ายๆ กับทำเวิร์คช็อป ให้เราลองใช้ร่างกายเคลื่อนไหวหรือการพูดแสดงสด เรามีโอกาสไปทำเวิร์คช็อปนั้น เพื่อนก็เป็นนักพาทำจริงๆ เนื่องจากเขามีประสบการณ์การละครมาก่อน
เพื่อนคนนี้ชื่อว่าคุณเชอร์รี่ เป็นคนแรกที่มองเห็นเรา อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนหลังห้องนะ เพื่อนๆ ที่คบก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่วันนั้นที่เราทำละครภาษาอังกฤษ เชอร์รี่บอกว่า ‘โจ้ แกเก่งมาก กล้าใช้ร่างกาย เวลาที่เล่นละครแกโดดเด่นมาก’
พลังแรก “การถูกมองเห็น” มาแล้ว
ใช่ แล้วไม่ได้มาจากครูหรือผู้ใหญ่ที่ไหน แต่เป็นเพื่อนเราเองนี่แหละที่สะท้อนเรา ตอนนั้นเรารู้สึกว่าถูกเติมเต็ม (fullfill) นะ เรารู้สึกดีใจที่ได้รับการชื่นชม พอเราถูกมองเห็นก็เริ่มคิดแล้วว่า เอ๊ะ! หรือเราจะชอบทางนี้? ก็กลับมานั่งคิดว่าเราอยากลอง ถ้าเราได้เป็นนักแสดง ได้ทำละคร เราจะเป็นอย่างไร
ตอนที่เพื่อนบอกว่า เราใช้ร่างกายเก่งนะ เราเชื่อเพื่อนตั้งแต่แรกเลยไหม? มันไม่ได้ขัดแย้งกับ ความรู้สึกจริงๆ ของเราใช่ไหม?
ก็ไม่รู้ว่าเราเชื่อหรือไม่นะ แต่มันเหมือนว่าคำชื่นชมของเพื่อนเป็นแรงผลักดันให้เราได้ค้นต่อ ให้เราได้สำรวจต่อ คำพูดเขามันเปิดโอกาส เชื้อเชิญให้เราได้ทดลองใช้ร่างกาย ให้อยากทำแบบฝึกหัดนั้น แล้วยิ่งใช้ร่างกาย ลอง เราก็ทำมันให้สุด เพราะมันคือโอกาสที่เราจะได้ทำครั้งเดียวเท่านั้น
แล้วเพื่อนเขาก็เปรียบเทียบด้วยนะ เพื่อนแต่ละคนที่ทำงานเขาก็บอกคนนี้มันโดดเด่นเหลือเกินทำออกมาเสียดี นั่นแหละเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราอยากค้นหาและอยากทำแบบฝึกหัดแบบนี้มากขึ้น เอาจริงเราไม่เคยจินตนาการมาก่อนนะว่า เราอยากเป็นนักแสดงหรือเปล่า เรายังคิดไปไม่ถึงตรงนั้น แต่เรารู้สึกว่าแค่ทำงานตรงนี้ อยู่กับกิจกรรมแบบนี้แล้วเรามีความสุข สุดท้ายมันก็ทำให้เราพาตัวเองไปสู่การสอบที่จะเข้าสาขานี้ ไปออดิชัน
เรามั่นใจไหมว่าเราอยากเป็นนักการละคร?
ตอนนั้นไม่รู้ว่าอยากเป็นนักการละครไหม แต่รู้ว่าอยากเรียนที่นี่ อยากทำแบบฝึกหัดให้มากขึ้นไปอีก คิดว่าถ้าได้ฝึกเพิ่มกว่านี้เราจะดีขึ้นไหม? ตอนนี้เราเพียงแค่ทำกิจกรรมใช้ร่างกายแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้าเราได้เข้าไปเรียนตรงนั้นเลย มีเวลาค้นหา ใช้ร่างกายในการแสดงให้มากขึ้น มันจะเป็นไปได้ไหม
ตอนไปสอบไม่รู้หรอกว่าจะติดหรือเปล่า แต่ปรากฎว่าเขาเรียก เซอร์ไพรส์มากเลย คือตอนที่ไปออดิชัน เรารู้สึกว่ามีคนกำลังมองเห็นเรา เขาเป็นครูที่มานั่งดูออดิชัน พอถึงตาเราเราต้องเล่นละครสดๆ เราเตรียมบทไว้เอง 3 – 5 นาที ตอนนั้นไปสอบที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว.ประสานมิตร สอบครึ่งเช้ามีคนเป็นร้อย พอเล่นเสร็จมีรุ่นพี่มาบอกเราว่า มีอาจารย์ชอบเรานะ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าอาจารย์เห็นแววอะไรบางอย่างในตัวเราหรือเปล่า แสดงว่าพรสวรรค์ที่เรามีมันอาจจะใช่
คล้ายๆ กับเป็นการคอนเฟิร์มบางอย่างใช่ไหม?
ใช่ ตอนประกาศผลเราได้สำรองลำดับ 5 ไม่ได้ติดหนึ่งใน 15 คน แต่สุดท้ายเขาก็เรียกสำรองทั้งหมดนะ ก็ได้โอกาสเรียนที่นี่ เรารู้สึกว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงวัยรุ่น แล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่าชอบอะไร เรียนเราก็ไม่เก่ง เราก็คิดว่าจะสอบอะไรได้หรือเปล่า สอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องไม่ติดแน่นอน แต่มีเพื่อนคนหนึ่งที่มองเห็นเรา ว่าเราใช้ร่างกายได้ดีนะ น่าจะเป็นแบบนี้นะ คำพูดตรงนั้นทำให้เราลองสำรวจตัวเอง ครู อาจารย์ รุ่นพี่มาพูด ก็ทำให้เรากล้า มั่นใจที่จะสำรวจความชอบของตัวเอง
แสดงว่าจุดเริ่มต้น คือ การได้รับคำชื่นชมที่จะทำให้เราสนใจอยากไปต่อ และพอมีคำชมที่สอง มันเริ่มยืนยันแล้วว่าสิ่งที่เราทดลองนั้นน่าจะมาถูกทางแล้ว?
ใช่ๆ เหมือนมีคนหนึ่งมองเห็นแล้วจุดประกายเรา
ตัวเขามีเซนส์บางอย่างที่รับรู้ได้ว่าคนคนนี้กำลังมีอะไรที่ซ่อนอยู่ พร้อมที่จะฉายแววออกมา การมีคนที่มีเซนส์แบบนี้เราว่าสำคัญมากนะสำหรับวัยรุ่น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่ อาจเป็นเพื่อนกันเองก็ได้ และที่สำคัญคือคำชม มันเหมือนการมอบของขวัญ ‘ทำไมเราถึงใช้ร่างกายได้ดีจัง’ ‘ทำไมเราแตกต่างจากคนอื่น’ คำพูดแบบนี้มันโคตรจะเป็นแรงผลักดันให้เรามีแรงค้นหาตัวเองต่ออีกเยอะ
พลังที่สอง พลังของการได้รับการชื่นชม
มันเหมือนซีรีย์นะ พลังที่ผลักดันเราช่วงเป็นวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่ยังหาตัวเองไม่เจอ กว่าจะเจอมันเริ่มต้นจากการมองเห็นก่อน อันที่สอง คือ การชื่นชม ยิ่งได้รับคำชื่นชมมากก็เหมือนได้ของขวัญ คำชมที่เป็นจุดเปลี่ยนของพี่อีกอันนึง คือ ช่วงที่พี่เรียนวิชาละครสร้างสรรค์ เป็นละครเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อเล่นละครเวที หรือละครหน้ากล้อง เป็นวิชาที่เราต้องฝึกเป็นพิธีกร เป็นคนนำกิจกรรมที่จะพากลุ่มเป้าหมายเกิดการเรียนรู้ พาเยาวชนไปเรียนรู้ เป็นครั้งแรกของชีวิตที่ได้ทำกิจกรรมแบบนั้น
มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับเรานะ เพราะปกติเราเป็นแค่คนร่วมกิจกรรม แต่นี่เราต้องเป็นคนนำกิจกรรม ยืนหน้าห้องพาคนนำกิจกรรม เหมือนไปไม่ถูก แต่เราก็ได้รับคำชมของอาจารย์คนหนึ่ง ชื่อครูแพท รศ.ดร.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันเป็นคำพูดหนึ่งจากอาจารย์ที่พี่จดจำได้ตลอดชีวิตเลย เขาบอกว่า ‘คุณเป็นครูได้’ คำนี้นี่แหละมันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย ทำให้เห็นว่าเราเก่งอะไร ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่เห็นตัวเราเองด้วยซ้ำ หรือทั้งๆ ที่การทำกิจกรรมครั้งนั้นจะเป็นครั้งแรกในชีวิตเรา แต่พอครูพูดคำนี้ปุ๊บ มันมีความหมายสำหรับเรามากที่จะทำให้เราได้ฝึกตัวเองต่อในเส้นทางนี้ เรารู้สึกว่าเราต้องการมากเลย
ในชีวิตเราจะได้รับคำชมหลายแบบมาก แล้วเส้นแบ่งระหว่างคำชมที่ทำให้เรามองเห็นอาชีพหรือทักษะบางอย่างในตัวเอง กับคำชมทั่วๆ ไปคืออะไร?
ถ้าให้ถอดรหัสนะ คำชมที่เติมเต็มเรามักเป็นคำชมจากคนใกล้ชิด เป็นคนที่มีความหมายกับชีวิตเรา เป็นคนที่เรามองเขาแล้วรู้สึกว่าเราเรียนรู้จากเขา คล้ายๆ กับคนที่เป็นไอดอลของเรา
พี่รู้สึกว่าอาจารย์คนนี้เขาเชี่ยวชาญเรื่องนี้ แล้วถ้าพี่จะฝึกฝนตัวเองเพื่อที่จะเป็นคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องอะไร พี่ก็จะดูจากคนที่เขาเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อาจารย์คนนี้ก็เหมือนเป็นไอดอลนั่นแหละ แล้วคิดดูสิว่าไอดอลมาชมเรา มันจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่ต้องชมตัวเองเลย มันจะแยกออกเลยระหว่างคนอื่นทั่วไปที่มาชมเรากับคนที่พิเศษสำหรับเรา
มีคำชมอื่นๆ ที่รู้สึกว่าเติมเต็ม (fullfill) ตัวเอง หรือมีผลต่อการค้นหาอาชีพของเราต่อไหม?
ไม่ถึงขั้นเป็นคำชมนะ เป็นแรงเสริม คือเวลาเล่นละครก็ต้องใช้เวลาฝึกซ้อมประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้ววันสุดท้ายที่เราเล่นละครตอนจบ ถ้าใครเคยดูละครเวที พอละคร 1 ชั่วโมงเล่นจบ เขาจะให้นักแสดงออกมาเพื่อโค้งคำนับ แสงสปอต์ไลท์ก็ส่องมาที่เรา มีเสียงปรมมือจากคนดู มันเป็นอะไรที่สุดยอดเลยนะ ที่เราทุ่มเท ฝึกฝนซักซ้อม แล้วก็เตรียมพร้อมกับมันมา ณ วันหนึ่งที่ปล่อยผลงานเราออกไป แล้วมีเสียงปรบมือให้กับเรา เราก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่พี่คิดว่าคำชมมันควรเป็นสิ่งที่ค่อยๆ เก็บสะสมมาเรื่อยๆ พูดในมุมการละครนะ
แต่ถ้าเป็นเรื่องของการนำกิจกรรม พี่มีโอกาสได้นำกิจกรรมให้กับน้องๆ เยาวชนหรือเด็กๆ ที่ขาดโอกาสหลายๆ คนนะ หลังทำกิจกรรมเสร็จ ก็จะมีกระบวนการให้เขาเขียนสะท้อน (Reflection) แล้วเขาเขียนว่า ‘ขอบคุณที่พี่มาสร้างโอกาสให้กับเรา ทำให้หนูได้เรียนรู้’ ทำนองนี้ คำพูดแบบนี้มันทำให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่า เรามีความหมาย เป็นแรงผลักให้เราพัฒนางานของเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
แล้วจะกลายเป็นว่าเราบ้าคำชื่นชมไหม?
ก็น่ากลัวเหมือนกันนะ บางทีเราอาจจะเสพติดว่าเราต้องได้รับคำชมตลอดเรื่อยๆ แต่ลึกๆ ตัวเราจะสัมผัสได้เองว่าอะไรคือคำพูดที่จริงใจ ทรงพลังกับเรา อย่างที่บอก กว่าจะจัดแสดงละครครั้งหนึ่งต้องซ้อม 6 เดือนถึง 1 ปี เราทุ่มเททำ พัฒนา เราใช้เวลากับมันมาก พอได้รับคำชื่นชมมันก็มีความหมายกับเรามากเป็นพิเศษ แต่ถ้าคนมาเยินยอเรา แต่เรารู้ตัวอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ทุ่มเทขนาดนั้น คำชมนั้นก็ไม่โดนเราหรอก แต่งานไหนที่เราทุ่มเท เป็นผลงานที่เราพร้อมนำเสนอจริงๆ มันก็จะโดน
สำหรับผู้อ่านหรือผู้ฟังที่เป็นคุณครู อาจารย์ หรือคนที่มีส่วนในการผลักดันสนับสนุนเยาวชน หรือวัยรุ่น เขาควรใช้คำชมอย่างไรที่จะทำให้วัยรุ่นที่เขาดูแลค้นเจอตัวเองแบบที่พี่โจ้เจอ?
ชมที่ทักษะ ที่ความทุ่มเทของเขา ถ้าเราปล่อยคำชมมากมาย แต่ไม่ได้มาจากใจจริงก็เท่านั้น แต่ถ้าเราจริงจังกับคำชม เรารู้ว่าคำชมนี้มันจะทำงานกับวัยรุ่นในช่วงที่เขากำลังฝึกฝนตัวเอง มันจะทรงพลังมากนะ
สุดท้ายแล้ว เราก็แค่อยากจะได้รับความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในสิ่งที่เราทำอยู่
ใช่ จะทำให้เราชัดเจนว่าเรากำลังหาอะไร อย่างที่พูดไปเมื่อช่วงต้นว่าวัยรุ่นเป็นช่วงของการคลำทางค้นหาตัวตน เขาไม่รู้หรอกว่าชอบอะไร จะทำสิ่งนี้ได้ดีหรือไม่ แต่โจทย์ที่เขากำลังเจอ ที่เขากำลังทำอยู่ ถ้ามันได้รับคำชมขึ้นมา แล้วคำชมนั้นมันกลายเป็นคำชมที่จริงจังและจริงใจ มันจะทำให้เขาพาตัวเองไปสู่การฝึกฝนที่เจอตัวเองจริงๆ เหมือนศักยภาพที่ซ่อนอยู่มันจะค่อยๆ ฉายแววออกมา จะฉายออกมาได้ก็ต่อเมื่อได้ฝึกฝน
การเดินทางของชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ สิ่งที่เราได้รับไม่ได้มีแต่คำชม คำด่าก็มี ซึ่งมันทำงานกับเรานะ อาจจะไม่ได้ให้พลังบวกแบบคำชม
พี่ก็ได้ตรงนี้เยอะมาก เช่น การที่เขาบอกจุดบอดของเรา หรือบอกว่าจุดที่เรายืนอยู่มันด้อย ตอนฟังก็หน้าชานะ รู้สึกอาย แต่จริงๆ ก็ดีเหมือนกัน แต่มันไม่ควรใช้บ่อย ในสังคมไทย ผู้ใหญ่ชอบใช้เยอะเลยแหละ เขาเรียกเสียงหมาป่า เป็นคำต่อว่า ซึ่งเราก็จะมีวิธีเก็บเสียงที่เป็นคำพูดที่ชื่นชม คำพูดที่เสริมพลัง
ตัวพี่ได้คำด่าเยอะมาก ทุกๆ วันที่เราฝึกซ้อมละคร เราจะมีกรรมการมาคอยคอมเมนต์ สะท้อน หรือวิจารณ์ที่เป็นเชิงบวก พี่ได้ฝึกตรงนี้เยอะเหมือนกัน เช่น เวลาเราซ้อมละครรอบที่ 1 เสร็จ ผู้กำกับก็จะมานั่งคุยกัน เขาก็จะบอกว่าจุดนี้คุณยังทำไม่ได้นะ เป็นการสะท้อนให้เห็นความเป็นจริง ผู้กำกับจะบอกให้เราใส่ใจกับตรงนี้อีกนิดนึงได้ไหม ‘คุณลองใช้ร่างกายเพิ่มขึ้นได้ไหม’ ‘ลองอยู่กับความจริงจัง’ ‘จริงใจกับตัวละครอีกได้ไหม’ ‘คุณลองเอาสถานการณ์ในชีวิตจริงของคุณเข้ามาคิด แล้วก็มาเป็นตัวละครตัวนี้ได้ไหม’ ‘ทดลองดูซิ ถ้าทำได้เนี่ย มันจะทำให้การแสดงของคุณมันน่าสนใจขึ้นเยอะเลย’ ประมาณนี้
คนที่เรียนละครจะได้ฟีดแบคแบบนี้ทุกวัน หรือแม้กระทั่งในกระบวนการใดๆ ก็ตาม เหมือนเป็นวัฒนธรรมที่เราจะรับคำติชม แต่ให้รู้นะว่าคอมเมนต์เพื่อเป้าหมายงาน นี่ก็น่าสนใจ เป็นพลังของคำวิจารณ์ ขัดเกลาให้ทักษะของเราได้เชี่ยวชาญเข้าไปได้อีก
กระบวนการที่จะเปลี่ยนคำวิจารณ์นั้นให้เป็นพลังบวก ไม่ให้เรายอมแพ้กับมัน ทำอย่างไร?
พอพูดคำว่าเป็นกระบวนการ คำนี้ก็น่าสนใจนะ วัยรุ่นเป็นวัยที่มีอารมณ์ข้างในมากมาย เขาจะอยู่แต่กับความรู้สึก ใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ ช่วงแรกๆ สิ่งที่เราควรให้วัยรุ่นคือคำชม พอช่วงหลังๆ เราก็จะลองให้ฟีดแบคเขาอย่างจริงจัง ให้เขาเห็นตัวเองเพื่อที่จะพัฒนาต่อ ซึ่งมันจะนำไปสู่พลังสุดท้ายที่วัยรุ่นควรได้รับ คือ passion หรือการค้นพบพลังคลั่งไคล้ในตัวเอง
พลังที่สาม การค้นพบพลังคลั่งไคล้ในตัวเอง
ในช่วงวัย 14 – 18 ปี ถ้าเราพบ passion ของตัวเอง มันจะเป็นอะไรที่สุดยอดมาก ทำให้เรารู้เป้าหมายและอาจจะทำให้สำเร็จ ถ้าสะท้อนตัวเองในช่วงวัยรุ่น สิ่งที่พี่เจอว่าตัวเองคลั่งไคล้… จำตอนที่เล่าเรื่องเวิร์คช็อปละครตอน ม.6 ได้ไหม ตั้งแต่เจอสิ่งนั้นพี่ก็อยู่กับมันมาตลอด เรียนปี 1 – 4 ก็เรียนการละคร คือพี่ไม่วิ่งออกจากลู่นี้เลย เพราะเราเจอพลังคลั่งไคล้อย่างจริงจัง แล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำสำเร็จ เวลาเรียนละครก็จะมีสเต็ปของมัน เริ่มต้นคุณเป็นนักแสดง สเต็ปต่อมาเป็นนักแสดงที่ใช้ร่างกาย จินตนาการ ใช้ความเชื่อ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดี ต่อมาก็ไปสู่การเข้าใจชีวิต คุณต้องเป็นคนที่ผ่านการตีบทละครได้ดีอย่างลึกซึ้ง ถ้าคุณอยากเป็นคนเขียนบทละคร คุณก็ต้องฝึกการเป็นนักเขียนบทละครที่เข้าใจชีวิต แล้วก็ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตจริงผ่านศิลปะได้ ขยับไปอีกเป็นผู้กำกับ หรือคุณอยากเป็นนักออกแบบฉาก นักออกแบบเสื้อผ้า ผู้กำกับเวที ทั้งหมดมันมีลู่วิ่งที่ทำให้เราต้องฝึกฝนตนเองมากขึ้นไปเรื่อยๆ
พี่ได้มีโอกาสฝึกการเป็นนักแสดงและผู้กำกับเยอะพอสมควร ประมาณ 4 ปี จนพี่มาเปลี่ยนทาง (track) ของตัวเองว่าเราชอบการเป็นคนใช้ละครเพื่อการพัฒนา ใช้ละครในเชิงสร้างสรรค์ก็ตอนเรียนปี 3 เจอเส้นทางใหม่ของตัวเองว่าเราสามารถนำละครมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตัวตน พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมได้ พี่ก็ขัดเกลาความเชี่ยวชาญของตัวเองลึกลงไปอีก ในเรื่องของการใช้ละครเพื่อการพัฒนา กำลังจะบอกว่าพลังคลั่งไคล้มีส่วนสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ของเราไม่มีวันจบ เราจะค่อยๆ พัฒนาตัวเองต่อไป มันเหมาะมากนะสำหรับวัยรุ่น
มันจะเสียเวลามากถ้าช่วงวัยรุ่นเราหาตัวเองไม่เจอ เราไม่เจอพลังคลั่งไคล้ แล้วเราลองอะไรได้นิดเดียวเราก็เลิกทำแล้ว มันเสียโอกาสที่เราจะได้สร้างสรรค์แล้วก็ขัดเกลาความเชี่ยวชาญของตนเอง แต่เผอิญถ้าช่วงวัยรุ่นคุณได้คำชื่นชม คุณได้ถูกมองเห็นไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม หรือว่าเรามองเห็นตัวเราเอง แล้วเราก็ได้เจอพลังคลั่งไคล้ ฝึกมันต่อ เป็นอะไรที่โคตรเยี่ยมเลย
การที่เราจะเจอว่าตัวเองคลั่งไคล้อะไรสักอย่าง ก็มาด้วยหลายๆ องค์ประกอบ มีคนมองเห็น มีคนชื่นชม มีคนให้ฟีดแบค แล้วตัวเราก็ไม่ยอมแพ้ด้วย ซึ่งการไม่ยอมแพ้ก็มาจากพลังที่เรารู้สึก สิ่งนี้แสดงว่าเราคลั่งไคล้มันอยู่ใช่ไหม?
ใช่ๆ พอเราได้ชิมลองพลังคลั่งไคล้ครั้งหนึ่ง ก็จะรู้เลยว่าชีวิตเราไม่ได้มีสิ่งเดียวที่เราคลั่งไคล้ เราจะลองไปเรื่อยๆ หาความชอบ มันไม่ใช่แค่ว่าเรียนปี 1 – 4 จบมาแล้วคุณจะทำอาชีพนั้น หรือทำสิ่งนั้นไปตลอดชีวิต เพราะอย่างพี่ก็ไม่ได้เป็นนักแสดง เรียนจบปี 4 เราก็ผันตัวเองไปเป็นนักพัฒนาเยาวชนโดยใช้เครื่องมือละคร ใช้เครื่องมือศิลปะที่เราเรียนมา จนทุกวันนี้อายุ 38 เราก็ยังมีพลังคลั่งไคล้หลากหลายขึ้นไปเรื่อยๆ
เหมือนเป็นลูป (Loop) เลย จากในโลกอนุบาลมาสู่ในโลกวัยรุ่นแล้วเดี๋ยวก็จะมีวิกฤตวัยกลางคน (midlife crisis) ที่ต้องไปหาความคลั่งไคล้ใหม่ของตัวเองต่อไป หมายความว่าความคลั่งไคล้มันมีอายุของมันใช่ไหม?
ใช่ครับ มันจะใช้ได้ในช่วงหนึ่ง สักพักก็ถึงวันหมดอายุ ก็ต้องไปหาอันใหม่ต่อ เหมือนที่เขาบอกว่าโลกมันซับซ้อน ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ
ชอบที่ทุกอย่างมันล้อกัน และมีวันหมดอายุ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร เป็นวัยรุ่นหรือไม่ จะหาตัวเองเจอหรือเปล่า มีคนมองเห็นศักยภาพของเราไหม แล้วก็หาความคลั่งไคล้ของตัวเองให้เจอ ทุกอย่างมันต้องค่อยๆ หาไปเรื่อยๆ
แล้วคุณไม่จำเป็นต้องคลั่งไคล้ในเรื่องเดียว ฝึกฝนไปเรื่อยๆ ท้าทาย หาความคลั่งไคล้ หาพลังที่ช่วยเป็นแรงผลักดันให้คุณฝึกฝนที่จะทำให้ตัวเองเชี่ยวชาญต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้คุณไม่ท้อถอย เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ถ้าเรามีครอบครัวที่ดี มีเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานที่ดี คนเหล่านี้ก็จะเป็นคนที่ทำหน้าที่ในการมองเห็นเรา ทำหน้าที่ในการชื่นชม หรือให้ฟีดแบคว่าเราต้องพัฒนาอะไร ทั้งหมดนี้เป็นของขวัญที่ทำให้ความคลั่งไคล้ของเราถูกพัฒนาจนเป็นความเชี่ยวชาญ แล้วเราก็สามารถอยู่ในสังคมที่เป็นตัวของตัวเอง
ก่อนจะจบรายการ พี่โจ้มีอะไรอยากทิ้งท้ายไหมคะ?
ฝากคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่กับวัยรุ่น คิดว่าคุณพ่อคุณแม่คงเข้าใจแล้วล่ะว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่สับสนและหลงทางได้ง่าย เป็นวัยที่ค้นหาตัวเองอยู่ ต้องการคนช่วยที่จะพาให้เขาคลำทางเจอว่าเขาชอบอะไร ถ้าเอา 3 พลังนี้ไปใช้ก็จะช่วยให้คนคนนึงพบเจอศักยภาพของตนเอง แล้วเขาจะมีชีวิตที่มีความสุข