- ต้องใส่ปุ๋ยให้ถูกช่วงวัยและเวลา คือภาพรวมที่สำคัญในการศึกษาและการดูแลเด็ก เพราะปัญหาจะมีอีกไม่รู้จบ ตราบใดที่ยังไม่ตั้งคอนเซ็ปการศึกษาให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก
- คุยกับ นพ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล อุปนายกสมาคมการแพทย์มนุษยปรัชญาไทย คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัดและพัฒนาการเด็กในมุมมองการแพทย์มนุษยปรัชญา ให้เข้าใจพัฒนาการของวัยอนุบาล สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องเติมให้กับเด็กวัยนี้ และสภาพแวดล้อมที่ควรจัดให้เขา
การรักษาหรือการดูแลให้คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเด็กซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราจะต้องดูสมดุลของกายและจิตใจ (Body & Mind)
เป็นสิ่งที่หมอปอง – นพ.ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล อุปนายกสมาคมการแพทย์มนุษยปรัชญาไทย บอกกับเรา
หมอปอง คือคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัดและสนใจเรื่องพัฒนาการเด็กในมุมมองการแพทย์มนุษยปรัชญา เรามาคุยกับคุณหมอเพราะช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมามีข่าวการใช้ความรุนแรงกับเด็กจำนวนมาก หรือในทุกๆ เดือนเรามักเห็นอย่างน้อย 1 ข่าวที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กในวัยอนุบาล
เพื่อไขความกระจ่างของสถานการณ์ดังกล่าว เราชวนคุณหมอปองคุยกันให้ลึกลงไป ให้เข้าใจพัฒนาการของวัยอนุบาลมากขึ้น ทำความเข้าใจเด็กปฐมวัยในมุมมนุษยปรัชญา รวมถึงผลกระทบจากการได้รับความรุนแรง โดยแบ่งเป็น 2 บทความ ในบทความนี้ซึ่งเป็นบทความแรกจะว่าด้วยเรื่องพัฒนาเด็กตามหลักมนุษยปรัชญา สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เด็กวัยนี้มี และการจัดสภาพแวดล้อมให้กับเด็กอนุบาล
พัฒนาการเด็กปฐมวัยในมุมมองมนุษยปรัชญา
มุมมองที่หมอจะพูดต่อไปนี้เป็นเรื่องของการแพทย์แบบองค์รวม เมื่อพูดถึงพัฒนาการเราจะมองให้ครอบคลุม 2 ด้าน หนึ่งคือด้านกาย สองคือด้านจิตใจ หรือ Body & Mind เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายผมจะเปรียบเทียบว่า Body & Mind เหมือนกับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ สมมติเรามีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง เราบอกว่าวันนี้ทำไมฮาร์ดไดรฟ์เสียงมันดังจังเลย อ๋อ..ฮาร์ดไดรฟ์เสีย วิธีการแก้ไข เราก็ไปซื้อฮาร์ดไดรฟ์อันใหม่มาเปลี่ยน สิ่งที่เราแก้ไขตรงนี้เราเรียกว่าการแก้ไขทางด้านฮาร์ดแวร์หรือวัตถุ แต่มันอาจจะไม่จบปัญหาก็ได้ ถ้าเกิดว่าเหตุจริงๆ ที่ฮาร์ดไดรฟ์อันนั้นมันเสียจากการที่คอมพิวเตอร์ติดไวรัส ถามว่าไวรัสคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมมันจับต้องได้ไหม มันเป็นซอฟต์แวร์ จับต้องไม่ได้ แต่มันมีอยู่ เป็นการทำงานบางอย่างที่เรามองไม่เห็นแต่มันทำงานอยู่ภายในคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ
เพราะฉะนั้น หมอก็เปรียบเหมือนกันว่า Mind หรือจิตใจ คือซอฟต์แวร์ของคนคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในร่างกาย เรามองไม่เห็น แต่ถามว่าเวลาเราโกรธ เราปวดหัวได้ไหม? หรือเวลาเรากลัว กังวล บางคนอาจบอกว่า ทำไมรู้สึกหน่วงท้องน้อยเหมือนอยากจะไปเข้าห้องน้ำ ถามว่าเกิดจากกระเพาะปัสสาวะเราผิดปกติไหม? ก็ไม่ใช่ แต่มันเกิดจากความเครียด ฉะนั้น การรักษาหรือการดูแลให้คนๆ หนึ่งเติบโตขึ้นมาแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเด็กซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราจะต้องดูสมดุลของกายและจิตใจ (Body & Mind) ที่ว่านี้
ในมุมมองที่ละเอียดลงไปอีก การแพทย์มนุษยปรัชญา (Anthroposophic medicine) บอกว่าซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่ภายในร่างกายมนุษย์มีเยอะมากกว่าแค่จิตดวงเดียว เรามีมุมมององค์ประกอบความเป็นมนุษย์คนหนึ่งว่า เกิดจาก Body, Soul และ Spirit หรือ กาย จิต และจิตวิญญาณ เมื่อไหร่ที่เรามีอารมณ์ มีความรู้สึกที่ผิดปกติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็จะรู้สึกปั่นป่วน ดังนั้น การดูแลสุขภาพต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้ด้วย
แต่ร่างกายของเราไม่ใช่ท่อนไม้ แพทย์มนุษยปรัชญาบอกว่า ร่างกายที่เป็น Body นั้นเราหยิบยืมพลังงานในธรรมชาติสร้างขึ้นมา ตอนที่เราปฏิสนธิอยู่ในท้องแม่จนครบ 9 เดือนแล้วคลอดออกมา ร่างกายประกอบด้วยธาตุต่างๆ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นพลังงานธรรมชาติและขับเคลื่อนให้เรามีปฏิกิริยาของชีวิต หรือชีวเคมีเกิดขึ้นในตัว เป็นกลุ่มก้อนของพลังงาน ถ้าเป็นภาษาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อาจเทียบได้กับ Electromagnetic field (คลื่นสนามพลัง) คือสิ่งที่เรียกว่ากายหยาบและกายละเอียด
กายหยาบคือรูปกาย เป็นธาตุดิน เราจับต้องได้ แต่ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่เรามองไม่เห็น เกิดจากการทำงานของธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เช่น เราจับไปที่ร่างกายแล้วอุ่นๆ ความอุ่นนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น ตอนที่เราหลับไปตัวจะเย็นลง หรือตอนที่เราตื่นมีสติ อุณหภูมิก็เพิ่มขึ้น หรือตอนที่เรามีอาการติดเชื้อ ร่างกายเราทำงานหนักเพื่อสู้กับเชื้อโรค แสดงออกมาเป็นอาการไข้ขึ้น ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับธรรมชาติที่เปลี่ยนไป เมื่อไรที่สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม ธรรมชาติทั้ง 4 ที่เป็นกายหยาบกายละเอียดก็จะอยู่อย่างสมบูรณ์ไม่ป่วย แต่ถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายเราเสื่อมลงเรื่อยๆ การควบคุมธาตุต่างๆ เหล่านี้เริ่มเสียไป มันก็จะเสื่อมลงไปทีละอย่างๆ ในที่สุดโรคก็เริ่มมา
ในมุมมองแพทย์มนุษยปรัชญา การดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องสร้างสภาพแวดล้อมหรือการบำบัดเยียวยาที่เอื้อให้การเจริญเติบโตของกายหยาบ – กายละเอียดทั้งสี่นี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เต็มศักยภาพที่สุด หรือถ้าร่างกายจะเสื่อมลงหรือถึงจุดหนึ่งที่เราต้องตาย ทำอย่างไรให้เกิดการตายที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ทรมาน คนเราป่วยได้ แต่ป่วยแล้วเราสามารถที่จะทำให้ดวงจิตของเรามีสุขภาพดีอยู่ได้ นี่เป็นสิ่งที่แพทย์มนุษยปรัชญามองว่า เป็นบทบาทและภารกิจที่แพทย์และนักบำบัดต้องทำ
เข้าเรื่องการดูแลเด็ก เราจะต้องดูแลอะไรบ้างเพื่อให้กายหยาบ-กายละเอียด หรือร่างกายของเขาเติบโตอย่างสมบูรณ์ที่สุด เวลาที่เราเกิดมาปุ๊บ คนมักคิดว่าคลอดแล้วคือจบ แต่ในมุมแพทย์มนุษยปรัชญาบอกว่า เราไม่ได้เกิดทีเดียว ตอนที่เราคลอด คือ การเกิดของรูปกายธาตุดิน แต่เราต้องรออีก 7 ปีเพื่อให้พลังชีวิตของเราสมบูรณ์ เป็นการเกิดครั้งที่ 2 และต้องรออีก 7 ปีจนถึงอายุ 14 ที่ธาตุลมหรือฮอร์โมน และอารมณ์ความรู้สึกของเรามันเติบเติบโตสมบูรณ์ เป็นการเกิดครั้งที่ 3 และก่อนที่จะไปถึงอายุ 28 ปีที่เรามีความเป็นปัจเจก มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เรียกว่าบรรลุนิติภาวะ การเกิดครั้งที่ 4
เหมือนเราปลูกต้นไม้ต้นหนึ่ง เราก็ต้องรอวันรดน้ำพรวนดิน จากเมล็ดค่อยๆ งอกราก ตอนงอกรากต้องการปุ๋ยประเภทหนึ่ง พอตอนแทงยอด ผลิใบ ใช้ปุ๋ยแบบเดิมไม่ได้ต้องเป็นปุ๋ยที่เอื้อให้ใบงอกงาม พอเขามีดอกก็ต้องเป็นปุ๋ยที่ทำให้ดอกเขามีศักยภาพสูงที่สุดและสุดท้ายคือออกผล เราจะเห็นว่าวงจรชีวิตเหล่านี้มันต้องมีการปรับการใช้ในเวลาให้เหมาะสม เราจะไปใส่ปุ๋ยเร่งดอกตอนเมล็ดงอกก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนกัน.. ในมุมมองทางการแพทย์มนุษยปรัชญามองว่า การศึกษาเหมือนปุ๋ยที่ค่อยๆ shape up หล่อเลี้ยงให้พัฒนาการทั้ง 4 ระดับเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ถ้าเราไปเร่งข้ามขั้นก็เกิดการบาดเจ็บ สมมติเราไปเร่งดอกตั้งแต่มันยังไม่พร้อม ดอกที่ออกมาก็จะแกร็นๆ ย้อนกลับไปแก้ก็ไม่ได้
สิ่งที่สำคัญ คือ ในช่วง 7 ปีแรก พัฒนาการทางสมองจะเป็นอวัยวะที่เด่นที่สุด เซลล์สมองจะเพิ่มขึ้นได้อีกปริมาณหนึ่งหลังจากที่เราคลอดมาแล้ว แต่หลังจากอายุ 9 ปีเซลล์สมองเราไม่ได้เพิ่มขึ้น ความฉลาดของเราเกิดจากการที่สมองฝ่อ ตัดเอาวงจรความคิดที่ไม่ได้ใช้ออกไป เราเรียกว่า Synaptic pruning
ถ้ามีการกระทบกระเทือนในช่วง 7 ปีแรก จะส่งผลที่บั้นปลายชีวิตเขา เราพบว่าเด็กที่ถูกเร่งเรียนมาแต่เล็กๆ พออายุสัก 60 ปี มีโอกาสเกิดสมองเสื่อมเยอะมาก มักเกิดกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เจนเนอเรชันแรกหลังสงครามโลกที่ถูกเลี้ยงมาแบบนี้ ถูกเอาไปนั่งเรียนๆ ปัจจุบันแทบทุกบ้านมีคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น เพราะเรารีดเร้นเอาพลังชีวิตออกจากสมองมาใช้เร็วจนเกินไป เราอาจดีใจว่าเด็กท่องสูตรคูณได้เร็วตั้งแต่ป.1 – ป.2 แต่นั่นอาจไม่ใช่ดอกที่สวยที่สุดของเขาก็ได้
ถัดไปคือช่วงวัย 7 – 14 ปีเป็นช่วงที่หัวใจและปอดพัฒนาจากปริมาตรเล็กๆ ให้เติบโตขึ้นเท่ากับผู้ใหญ่ ถ้าเราไปทำให้การพัฒนาตรงนี้สะดุด จะทำให้อวัยวะเหล่านี้เกิดปัญหาได้ง่าย ในมุมมองของมนุษยปรัชญาบอกว่า ปอดและหัวใจทำงานเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกเยอะมาก ฉะนั้น ถ้าในช่วงนี้เด็กเติบโตในสภาพแวดล้อมที่บ้านแตกสาแหรกขาด พ่อกับแม่เลิกกัน เราพบว่าบั้นปลายของเขาเมื่อเข้าสู่วัยทองจะเริ่มมีภาวะอารมณ์ผันผวนหรือพวกฮิสทีเรีย (Hysteria) อารมณ์เขาจะไม่มั่นคง ถามว่าเขาตั้งใจไหม? เขาไม่ได้ตั้งใจ แต่มันสืบเนื่องมาจากการสร้างอวัยวะพวกนี้ไม่ปกติ
สุดท้าย ในช่วง 14 – 21 ปี เป็นช่วงที่เราต้องพัฒนาธาตุไฟให้ดี พัฒนาการอวัยวะที่สำคัญที่สุด คือ กระดูกและข้อต่อ การเคลื่อนไหว วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีแรง มีพลังมาก ถ้าเกิดปัญหากระทบกระเทือนอวัยวะเหล่านี้ เราจะพบว่า ในช่วงบั้นปลายเขามีโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคเกี่ยวกับข้อต่อและการเจ็บปวดต่างๆ เราจึงควรระมัดระวังมากๆ ในช่วงที่เด็กเข้าโรงเรียนและหลักสูตรต่างๆ ควรจะทำให้พัฒนาการเหล่านี้เป็นไปโดยราบรื่น เพื่อตอนสุดท้ายเมื่อเขาโตไปเป็นผู้ใหญ่เขาจะมีสุขภาพที่แข็งแรง
ขอย้อนกลับไปอีกนิดหนึ่งก็แล้วกัน การเกิดของธาตุดิน คือตั้งแต่วันแรกที่เราร้องอุแว้ๆ ถึง 7 ปี ธาตุน้ำจึงเกิด พออายุ 14 ปี เป็นการเกิดธาตุลม และ 21 ปี เป็นการเกิดธาตุไฟ พลังเจตจำนง หรือความเป็นปัจเจกบุคคลของเขา
จากประสบการณ์ของการทดลองหลายๆ อย่าง คนมักเชื่อว่าให้การศึกษาทุกอย่างไปจบที่สมอง แต่ในมุมการแพทย์มนุษยปรัชญามองว่า จริงๆ แล้วมันมีผลลึกไปกว่าสมองเพียงอวัยวะเดียว ถ้าเราไปดูวิจัยการทดลองทางสมองที่สำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ การทดลองของพาฟลอฟ (Pavlov) เขาจะนำสุนัขมาทดลอง ทุกครั้งที่ให้สุนัขกินอาหารเราจะสั่นกระดิ่ง มันจะเกิดวงจรความคิดของสุนัขขึ้นมาว่า อ๋อ ได้ยินเสียงกระดิ่ง แปลว่าจะได้กิน น้ำลายก็ไหล คราวนี้รอบที่สอง สั่นกระดิ่งอย่างเดียว ไม่มีอาหาร เกิดปฏิกิริยาตอบสนองน้ำลายไหลออกมาอัตโนมัติ
ทีนี้มีคนทดลองต่อว่าถ้าเกิดเราไม่รู้ล่ะ ถ้าเป็นอวัยวะที่ไม่เกี่ยวกับการรับรู้ มันจะมีผลกับกระบวนการเรียนรู้ (learning process) อย่างนี้หรือเปล่า เขาทดลองกับหนู โดยให้หนูดมกลิ่นอบเชย ซึ่งปกติหนูดมกลิ่นอบเชยก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร มันอาจอยากกินก็ได้ ทีนี้เขาสร้างเงื่อนไขขึ้นมาอย่างหนึ่งว่าทุกครั้งที่ดมกลิ่นอบเชย หนูจะโดนฉีดวัคซีน เวลาเราฉีดวัคซีน ภูมิต้านทานจะ active ร่างกายมีไข้ต่ำๆ นั่นคือภูมิต้านทานถูกกระตุ้นออกมา
หนูได้ดมกลิ่นอบเชยทีไรก็ถูกฉีดวัคซีน ทำให้มันสะดุ้งทุกครั้งที่ได้กลิ่นอบเชย ตอนหลังเขาเปลี่ยนใหม่ว่าให้มันดมกลิ่นอบเชยอย่างเดียว แล้วเจาะเลือดมาดูโดยไม่ต้องฉีดวัคซีน ให้ทายว่าเกิดอะไรขึ้น? แค่หนูสะดุ้งภูมิต้านทานก็เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งถามว่าเม็ดเลือดขาวจะรู้เรื่องนี้ไหม? ไม่รู้หรอก แต่ร่างกายมันเมมโมรี่แล้วนะมันตอบสนองตามเงื่อนไขนี้
เราจะเห็นภาพว่าเด็กมีเมมโมรี่ต่อการไปโรงเรียนเป็นอย่างไร มันฝังอยู่ในร่างกายเขาโดยที่เด็กอาจบอกไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ร่างกายมันพร้อมจะตอบสนอง
เอาเคสปกติที่สุดที่ไม่ต้องไปเจอกับพี่เลี้ยงหรือคุณครูใจร้าย เราเจอเคสที่ทำการสัมภาษณ์แล้วให้ลองนึกว่าความจำแรกที่สุดที่เราจำได้เป็นเรื่องอะไร?
ถ้าความทรงจำแรกของเขาจำได้ว่า วันแรกที่ไปโรงเรียนมันสนุกมากเลย ได้เจอขนม เจอดอกไม้ เจอเพื่อน ความทรงจำนี้จะเป็นตัวเซตแนวคิดพื้นฐาน (mindset) ของคนคนนั้นไปตลอด เขาจะเชื่อว่าว่าโลกนี้มันดี ในวัย 0 – 7 ปี เด็กต้องมีความเชื่อว่าโลกนี้มันดี มันปลอดภัย ถ้าเราสามารถสร้างความรู้สึกนี้ได้ในความทรงจำแรกๆ ของเขา เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เราพบว่าคนกลุ่มนี้ เมื่อต้องเผชิญกับอันตราย ความเครียด เขาจะมีความรู้สึกบางอย่างลึกๆ ที่บอกกับตัวเองว่า “เฮ้ย เดี๋ยวมันก็ดีนะ มันต้องดีสิ”
ตรงกันข้ามถ้าเราไปเจอเด็กคนหนึ่งไปโรงเรียน แต่เหตุการณ์ที่เขาจำได้ เด็กร้องกระจองอแง มีใครก็ไม่รู้ตัวใหญ่เดินมา แม่ก็หายไป มันจะเกิดเมมโมรี่อีกเซตหนึ่ง เป็นมายด์เซต (mindset) ของเขาว่าโลกนี้มันน่ากลัวจังเลย พอเขาโตขึ้น ไปเจออุปสรรคอะไรสักอย่าง ต่อให้มีคนมากรอกหูว่า ‘ไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวมันก็ดี’ เขาจะไม่สามารถทำใจเชื่อได้ เพราะว่าร่างกายมันจำไปแล้ว เมื่อกี้ที่ผมบอกว่า ขนาดกลิ่นอบเชยยังทำให้ภูมิต้านทานของหนูมีระดับสูงขึ้นใช่ไหม? กับบางคนแม้ว่าเขาจะลืมประสบการณ์เลวร้ายไปแล้ว อย่างเช่น คนไข้คนหนึ่ง ใจสั่นเมื่อเข้าไปในห้องแคบๆ เขาจำไม่ได้ว่าเพราะอะไร แต่พอบำบัดกันไปเรื่อยๆ เขานึกออกว่าเคยถูกพ่อขังไว้ในห้องน้ำเพราะซนมาก เขาร้องไห้จนสลบในห้องที่ปิดไฟมืด ถึงความจำเขาจะจำไม่ได้แต่ร่างกายพอไปเจอเงื่อนไขเดิม เจอห้องมืดๆ อีก ร่างกายมีความทรงจำจึงหลั่งอะดรีนาลีนทำให้เกิดอาการใจสั่น กลายเป็นแพนิค
การทำให้เด็กวัยอนุบาลรู้สึกว่าโลกนี้ปลอดภัย สำคัญอย่างไร?
ที่ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าโลกนี้ปลอดภัยเพื่อสะสมประสบการณ์แบบนั้นไว้ เมื่อถึงเวลาที่เราไปเจอโลกแห่งความเป็นจริง เราจะพร้อม มีความมั่นคงทางใจ มีงานวิจัยกลุ่มหนึ่งบอกว่า เมื่อเกิดปมบาดแผล (trauma) ขึ้นแล้ว ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post – traumatic stress disorder หรือ PTSD) นั้นส่งผลอย่างมาก ต่อให้คุณใช้เหตุผลอะไรมากำกับเขาก็ยังกลัว เพราะร่างกายบันทึกไว้แล้ว ฮอร์โมนความเครียดเกิดขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมได้ นี่ขนาดเป็นความทรงจำแค่ว่าเราเจอใครก็ไม่รู้นะ
คนที่ดูสบายๆ หรือคนที่วิตกกังวลเป็นพิเศษ ถ้าลองไปซักดูจะพบว่าประสบการณ์ในวัยเด็กของเขามันต่างกัน
ในเคสที่ผ่านประสบการณ์รุนแรง เราไม่สามารถลบประสบการณ์นั้นทิ้ง แล้วสร้างประสบการณ์ใหม่ขึ้น ผมใช้คำว่าสร้างใหม่นะ ไม่ใช่ให้เหตุผลใหม่ว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก’ แต่เราต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ ให้ความปลอดภัยเขาคืนกลับมา
นั่นคือกระบวนการบำบัด เช่น การนวดบำบัด ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด เพราะในแนวมนุษยปรัชญา ตราบใดที่คุณไม่มีประสบการณ์มาบอกว่า ‘มันปลอดภัยแล้ว’ ต่อให้ใครมาพูดกรอกหูว่ามันปลอดภัย เขาจะไม่เชื่อเพราะมันไม่เคยมีประสบการณ์แบบนั้น
ฉะนั้น ช่วง 7 – 14 ปี ประสบการณ์ที่เด็กควรได้และเก็บไว้ในจิตใจ คือ โลกนี้มันงาม เราพบว่าเด็กที่ถูกให้เร่งเรียนมากๆ โดยไม่เคยสัมผัสด้านอื่นๆ เลย ด้านศิลปะ ความงามของชีวิตเขา คือ การได้เกรด 4 พอเรียนจบแล้วทำไง มันไม่ได้เกรดแล้ว ก็เกิดความผิดหวัง ถึงเพื่อนจะบอกไม่เป็นไรอย่าคิดมาก ยังมีเรื่องอื่นที่สวยงามที่เธอทำได้ดี เขาก็จะนึกไม่ออก ฆ่าตัวตาย เพราะมุมมองต่อโลกนี้ (viewpoint) มันไม่งาม เขาไม่เคยถูกใส่ประสบการณ์เหล่านี้ให้รู้ว่าความงามมันคืออะไร
ถ้าเป็นวัย 14 – 21 ปีจะเป็นเรื่องของความจริง เด็กจะเริ่มตั้งคำถามว่าความจริงคืออะไร เริ่มตั้งคำถามยิบๆ ย่อยๆ ถ้าเราให้ความจริงกับเขาได้ เขาจะเป็นคนที่มีวิจารณญาณที่เป็นปัจเจกชนต่ออย่างสมบูรณ์ เราต้องใส่ปุ๋ยให้เขาถูกช่วงวัยและเวลา นี่คือภาพรวมที่สำคัญในการศึกษาและการดูแลเด็ก
สิ่งแวดล้อมที่เด็กอนุบาลควรจะเจอ เช่น บุคคล หรือ space อย่างบ้าน โรงเรียน ควรเป็นอย่างไร?
ผมมองว่าการศึกษาในเมืองไทย สิ่งที่เรามักไม่พูดถึง แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด คือ ทัศนคติ ต้องบอกว่าไม่มีโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก เราแค่ต้องการคุณครูสักคนหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกอย่างนั้นได้ ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ประสบตอนเด็ก จริงๆ ผมเป็นเด็กขี้อายมาก ค่อนข้างจะเป็นเด็กเรียน อยู่เงียบๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งผมเจอคุณครูประจำชั้นคนหนึ่ง ยังจำชื่อท่านได้เลย ท่านชื่อ มาสเตอร์วรวุฒิ ท่านบอกว่าวันนี้เรามาวาดรูปคริสต์มาสกัน ก็แจกกระดาษเป็นภาพซานตาคลอสให้เติมสี
ด้วยความที่ตัวเองชอบระบายสี การระบายสีตามกรอบมันไม่ค่อยท้าทาย แทนที่จะระบายสีฟ้าเป็นสีฟ้าเหมือนเด็กทั่วไปเราก็เติมดาวเข้าไป พอคุณครูรวบรวมผลงานไปปุ๊บ ก็เรียกผมออกไปหน้าชั้น ตอนเด็กๆ เวลาถูกครูเรียกไปหน้าชั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เหงื่อตก แต่พอคราวนี้ออกไปหน้าชั้น มาสเตอร์บอกกับเด็กในชั้นว่า “ดูรูปของทีปทัศน์นะ เขามีความคิดสร้างสรรค์” โอ้โห วันนั้นมันกลายเป็นวันที่สดใสมาก เปลี่ยนมุมมองไปเลยว่าเราไม่ใช่คนที่ไม่มีความสามารถหรืออยู่เงียบๆ นี่ แค่จุดเปลี่ยนจุดเดียว มันเปลี่ยนเราไปเยอะมาก ผมเริ่มทำกิจกรรม เป็นหัวหน้าคณะหมู่ลูกเสือ กลายเป็นเด็กกิจกรรม บางทีสิ่งที่เราต้องการให้เด็กเจอ คือ ครูคนนั้นคนเดียวด้วยนะ แต่จะเจอรึเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายผิดว่าเด็กทุกคนต้องเหมือนกัน ผมเข้าใจความกดดันของคุณครูหลายคนที่มีปัญหากับเด็กเล็กว่าทำไมเด็กไม่นิ่ง ทำไมดื้อ ก็คุณตั้งดัชนีวัดความสำเร็จ (KPI) ว่าเด็กจะต้องนั่งเรียน ซึ่งมันไม่ใช่เวลานี้ สมองของเขายังอยู่ในช่วงฟักตัว แต่คุณไปบังคับให้เขาท่องสูตรคูณ เด็กบางคนเขามีเซนส์ (sense) ทาง kinetic (การเคลื่อนไหว) เยอะๆ เขาก็ทนไม่ได้ ต้องลุกเพ่นพ่าน
ฉะนั้นถ้าเป้าหมายของการศึกษาในโรงเรียน คือ ให้เด็กนั่ง จะทำยังไงล่ะ? ก็ต้องไปสร้างบทลงโทษ ลงโทษธรรมดาก็จัดการเด็กไม่ได้ พอจัดการเด็กไม่ได้เลยต้องรุนแรง ฉะนั้น เมื่อเราตั้งเป้าหมายผิดแต่แรก เราเอาเขาไปนั่งเรียนทั้งๆ ที่เขาไม่พร้อม ถ้าเราไม่แก้คีย์เวิร์ดตรงนี้ใหม่ ผมเชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้มันแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ยังมีอีกเยอะมาก ตราบใดที่ยังไม่ตั้งคอนเซ็ปการศึกษาให้สอดคล้องกับพัฒนาการที่เป็นมนุษย์ของเขา
ติดตามบทความที่ 2 ต่อได้เร็วๆ นี้