- เมื่อโลกยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การศึกษาไทยจะปรับตัวอย่างไร จะสร้างคนที่มี ‘นวัตกรรมทางความคิด’ ได้อย่างไร? หาคำตอบได้ที่งานเสวนา Transform University: Learning for the future โดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินทร (SIIT)
- ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า คณิตศาสตร์และการสร้าง hard skill และ soft skill ยังคงเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาสามารถเติมให้พวกเขาได้ โดยเฉพาะสถานศึกษาต้องออกแบบการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เฉพาะบุคคลตามความต้องการและจุดแข็งของผู้เรียน
- รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาทิพย์ สวนมะลิ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการ กล่าวว่า วิธีการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นการเรียนที่ไม่รอรับคำสั่ง แต่มีความสนใจใคร่รู้และพุ่งเข้าหาสิ่งที่ตัวเองสนใจ สิ่งมหาวิทยาลัยต้องปรับ คือ ไม่เรียนเฉพาะสาขาเดียว แต่ต้องผสมสานหลายๆ สาขาตามความสนใจผู้เรียน พร้อมกับมีเทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนพวกเขา
เวลามีคนบอกว่า ต่อไปเราอาจส่ง ‘กลิ่น’ มาทางโลกโซเชียลได้ (เลือกซื้อน้ำหอมออนไลน์พร้อมทดลองกลิ่นได้เลย!) รถไร้ปุ่มที่ควบคุมเพียงการกระดิกมือ หรือ ที่อย่างพอจะมองเห็นและจินตนาการได้ในเร็ววันนี้คือรถเคลื่อนที่ด้วยไฟฟ้า 100% ทั้งหมดนี้ทำให้สงสัยว่า… มันจะเป็นได้จริง จริงๆ หรือ?
แต่ในวงการเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้เริ่มทดลองกันไปนานแล้ว คำถามคือ ประเทศไทยเรามีห้องปฏิบัติการเชิงทดลอง ที่รองรับการเรียนรู้แบบนี้หรือเปล่า? และการเรียนรู้แบบไหนที่จะสร้างบุคลากรที่มีนวัตกรรมทางความคิดเช่นนี้
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของเสวนา Transform University: Learning for the future โดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินทร (SIIT) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 เปิดบ้านเสวนาเล็กๆ ชวนผู้ปกครองคุยกันประเด็น การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยจะปรับตัวอย่างไร การเรียนการสอนต้องพัฒนาทักษะเด็กแบบไหน?
โลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘นวัตกรรม’ โจทย์ใหม่ในการสร้างคนของระบบการศึกษาไทย
ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และราชบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร ชวนผู้ฟังในห้องซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ให้ภาพเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้มีการทำ ทดลอง และลองปล่อยตัวทดลองออกมาให้เล่นบ้างแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น สื่อการเรียนการสอนแบบเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) การ ของเล่นเด็กเล็กที่เชื่อมของเล่นที่อยู่ตรงหน้าแล้วให้เด็กถ่ายรูปสิ่งนั้นแล้วเชื่อมกลับเข้าไปเล่นต่อในหน้าจอ, เรียนการสอนโดยใช้ระบบจำลอง (Simulation), รถยนต์ไร้คนขับ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง การจำลองจับสิ่งของ (ไม่ได้จับจริง) แต่มือเรารู้สึกเหมือนกำลังจับสิ่งนั้นอยู่ อันแปลว่าในอนาคตเราอาจสั่งงานกับอุปกรณ์ต่างๆ โดยที่ไม่ต้องใช้มือแตะสัมผัสเลย! และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ดูจะล้ำสมัย และเป็นเทรนด์การศึกษาโลกกำลังดำเนินไป
ก่อนที่ ศ.ดร.ธนารักษ์ จะโยงกลับมาที่ห้องเรียนว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก รวมทั้งปรากฎการณ์ทางสังคมที่ทำให้เราต้องปรับ (เช่น การระบาดของโควิด-19) และโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘นวัตกรรม’ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ของแวดวงการศึกษาว่า การศึกษาจะปรับตัวอย่างไร จะสร้างคนที่มี ‘นวัตกรรมทางความคิด’ ได้อย่างไร?
“ผมคิดว่าคณิตศาสตร์ยังเป็นทักษะสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานของอีกหลายเรื่อง ควบคู่ไปกับองค์ประกอบของการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะประยุกต์ให้เกิดเป็นไอเดียที่ผสมผสาน สอดรับกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาป่วนในโลกของการศึกษา ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ (Robotics) หรือวัสดุศาสตร์ (Materials Science)” ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังย้ำว่า การ ‘สร้างคน’ ให้มี hard skill (ทักษะที่ว่าเรา ‘ทำงาน’ อะไรได้) นั้นง่าย แต่นวัตกรรมเหล่านี้ต้องการคนที่มี soft skill (ทักษะที่เรา ‘ใช้ทำงานกับผู้คน’ เพื่อทำให้เกิดงานนั้นๆ) นั้นยากกว่าแต่เป็นทักษะจำเป็นในโลกอนาคตและโดยเฉพาะแวดวงวิศวกรรมและเทคโนโลยี ทักษะเหล่านั้นก็เช่น การเข้าใจความรู้สึก (empathy) การวิเคราะห์ข้อมูล การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (problem solving) ทักษะในการทำงานกับผู้คนคน (collaboration) ความคิดสร้างสรรค์ (creativity)
ซึ่งการได้มาซึ่งทักษะเหล่านี้ แน่นอนว่าต้องมาพร้อมกันทั้งครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษา โดยอย่างหลังนี้ต้องมีการออกแบบห้องเรียนในยุคใหม่ ออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคลตามความต้องการและจุดแข็งของผู้เรียน
อย่างไรก็ตาม ที่ SIIT แม้จะเป็นสถาบันผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมและการจัดการ ก็ยังยืนยันว่าต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการออกแบบห้องเรียนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง สร้างห้องปฏิบัติการจริงที่ผู้เรียนจะได้มาประลองวิชาและความคิด ได้แลกเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยีกับต่างประเทศ ซึ่งทาง SIIT ก็พยายามปรับตัวไปในทิศทางนั้นอยู่เสมอ
การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย: จัดการเรียนรู้ที่ผสมผสานหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาทิพย์ สวนมะลิ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการ ให้สัมภาษณ์กับ The Potential เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวิธีการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เป็นการเรียนที่ไม่รอรับคำสั่งแต่มีความสนใจใคร่รู้และพุ่งเข้าหาสิ่งที่ตัวเองสนใจ หากมองไปที่อุปกรณ์ในการเรียนรู้ สิ่งนี้ก็เปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง เห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ใช้ไอแพด สมาร์ทโฟน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็ว เชื่อมกับสังคมโลก และทำให้รอบการเกินสิ่งใหม่นั้นเร็วกว่าที่ผ่านมา
สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยจะสร้างให้ก็ต้องเปลี่ยน เช่น ที่ SIIT เริ่มใช้การเรียนรู้ด้วยวิดีโอคอลเรียนกับกลุ่มนักศึกษาหรืออาจารย์ต่างประเทศ ห้องแลปห้องปฏิบัติการทาง AI การที่นักเรียนสามารถเปิดโปรแกรมแล้วเรียนซ้ำได้ตลอดเวลา (อัดวิดีโอตอนอาจารย์สอนแล้วบันทึกลงระบบ) และอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา และเชื่อมโยงกับคนนอกห้องเรียนได้
รวมทั้งการเกิดขึ้นของ start up ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยนวัตกรรมในภาคใหญ่ แปลว่าการเรียนรู้ต้องปรับตัวเพื่อรองรับทักษะใหม่ๆ ของผู้คนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย
“เทรนด์ในปัจจุบันจะเป็นเทรนด์ที่มองไปในอนาคต การใช้นวัตกรรม มาแน่นอน ต่อไปในอนาคตเราแทบไม่แข่งกันที่ราคาแล้ว แต่แข่งที่นวัตกรรม ซึ่งการเรียนการสอนในต้องเป็นลักษณะที่ต้องมีการเรียนรู้อย่างไม่ใช่สาขาใดหนึ่ง ผสมผสานการเรียนรู้หลายๆ สาขาเข้าด้วยกัน โดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวจับ ขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยายความต้องการ โอกาส และการเข้าถึง(เทคโนโลยี ความต้องการ และโอกาส) ให้ได้ในทุกๆ ระดับ” ดร.สุราทิพย์กล่าว