- จากสถานการณ์ที่มีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกข่มขู่ กดดัน ไล่ออกจากบ้าน หรือถึงขั้นถูกดำเนินคดีเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับในฐานะเยาวชนที่ต้องถูกคุ้มครองตามกฎหมาย คือ ความเงียบจากหน่วยงานพิทักษ์สิทธิ หรือแม้แต่คนที่ทำงานคุ้มครองเด็ก กลับไม่มีการออกมาเทคแอคชั่นใดๆ
- ชวนคุยกับอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชนในสองประเด็นใหญ่คือ รัฐและภาคประชาชนที่ทำงานพิทักษ์สิทธิเด็กต้องทำอะไรบ้างในสถานการณ์นี้ และเราจะประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กและเยาวชนด้วยกฎหมายชุดไหนได้บ้าง
- “#ถ้าการเมืองดี เราจะมีกลุ่มสหวิชาชีพ และ พม. เข้าไปดูแลเด็กๆ อย่างทันทีถึงบ้าน ประเมินสุขภาพจิตทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และหากรุนแรงจะต้องจัดหาบ้านพักเพื่อแยกกันอยู่ชั่วคราวและให้การเยียวยาจิตใจเพื่อให้ต่างคนต่างมีเวลาทบทวนความคิดและการกระทำ”
“สิ่งที่น่าเศร้า ณ เวลานี้ คือความเงียบจากหน่วยงานพิทักษ์สิทธิ คนที่ทำงานด้านเด็ก”
คือคำตอบของอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิที่ทำงานเป็นหลักในประเด็นคนหาย สตรี ภาคใต้ และสิทธิพลเมือง ทั้งเป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ความเงียบจากหน่วยงานพิทักษ์สิทธิ คนที่ทำงานด้านเด็กที่มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิเด็กตามกฎหมายหลายชุด ทั้งกฎหมายในประเทศอย่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และนอกประเทศอย่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) และพิธีสารเลือกรับตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Optional Protocol to the CRC – OP CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
ข้อถกเถียงในสังคม ณ วันนี้ คือรัฐกระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ เช่น การฉีดน้ำแรงดันสูง (water cannon) ผสมแก๊สพิษใส่ผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม โดยในเหตุการณ์นี้มีเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บ และการสลายการชุมนุม ณ แยกเกียกกายด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาและการใช้กระสุนยางเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยในเหตุการณ์นี้มีเด็กเล็กถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีการจับกุมแกนนำนักศึกษาที่ตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐ
รวมถึงการที่เด็กและเยาวชนถูกข่มขู่ กดดัน หรือถึงขั้นไล่ออกจากบ้านเนื่องจากความเห็นทางการเมือง การไม่ยืนเคารพธงชาติแล้วถูกตบและด่าทอรุนแรง ทั้งหมดนี้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ประกันทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็น และในบางกรณีต้องเข้าให้ความช่วยเหลือ ในสถานการณ์รุนแรง (ดุเดือด) เช่นนี้ ที่ถูกต้องตามหลักการ หน่วยงานรัฐสามารถทำอะไรได้ ไม่ได้ และควรยืนยันด้วยข้อกฎหมายชุดใดบ้าง?
เราชวนคุณอังคณา คุยกันสองประเด็นใหญ่คือ รัฐ หน่วยงานของรัฐ และภาคประชาชนที่ทำงานพิทักษ์สิทธิเด็กต้องทำอะไรบ้างในสถานการณ์นี้ และเราจะประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กและเยาวชนด้วยกฎหมายชุดไหนได้บ้าง
ที่เมื่ออ่านจบแล้วทำให้เรายิ้มอย่างมีความหวังและขำขื่นในเวลาเดียวกัน เพราะกฎหมายเขียนครอบคลุมไว้ครบหมดกระบวนท่า ถ้าเพียงแต่เราต่างทำหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่…ในความหมายของมันจริงๆ
ใครบ้างที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ?
คุณอังคณาเริ่มต้นด้วยการอธิบาย (อย่างใจเย็น) ว่า เฉพาะกฎหมายในไทย อ้างอิงตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 7 คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น และมาตรา 17 คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการฯ ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนศาลจังหวัด เป็นต้น ทั้ง 2 มาตรานี้ยังมีหน่วยงานอื่น อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสหวิชาชีพได้แก่ แพทย์ ทีมกฎหมาย นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
“อย่างกรณีป้าตบเด็กที่ทางรถไฟ จังหวัดอยุธยา ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งอยู่ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองเด็กประจำจังหวัดต้อง take action ต้องรีบออกมาปกป้อง ต้องออกมาแสดงท่าทีเพื่อให้ความคุ้มครองช่วยเหลือ แต่เรางงว่าทำไมเขาเงียบแล้วต้องให้ชาวบ้านมากดดันแทนด้วยการรุมด่าป้าที่ไปตบเด็ก รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วยที่ต้องออกมา take action ในฐานะผู้ที่มีหน้าที่นี้โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิฯ”
เธอพูดเพื่อย้ำให้เข้าใจว่า หนึ่งในคนทำงานใกล้ตัวที่มีหน้าที่ต้องเข้ามาดำเนินการไม่ใช่ใครอื่น แต่คือผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่กฎหมายเขียนไว้ชัดว่าเป็นประธานคณะกรรมการพิทักษ์สิทธิเด็ก และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนและภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศอีกหลายส่วนที่ทำหน้าที่นี้โดยตรง เช่น องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children), มูลนิธิเด็ก, UNICEF และอื่นๆ
“องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้แม้ไม่มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเข้าไปคุ้มครองเด็กได้โดยตรง แต่สิ่งที่องค์กรเหล่านี้ทำได้ก็คือการออกแถลงการณ์ให้รัฐใช้ความระมัดระวัง ออกมายืนยันว่าเด็กทุกคนต้องได้รับความคุ้มครองในการแสดงออกซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่กลายเป็นว่าคนที่ควรจะคุ้มครองเด็กกลับไม่ออกมาส่งเสียง หรือมีก็น้อยมาก เช่น Save the Children หรือ UNICEF สิ่งที่น่าเศร้า ณ เวลานี้ คือความเงียบจากหน่วยงานพิทักษ์สิทธิ คนที่ทำงานด้านเด็ก”
“แต่อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว พม. (กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง) มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องออกมาปกป้องเด็ก ต้องออกมายืนยันเรื่องสิทธิเด็ก แต่โดยส่วนตัวคิดว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคือหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องรีบออกมาในทันที โดยเฉพาะในเวลาที่เด็กมีความขัดแย้งกับรัฐ จากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้เราหวังการทำงานเชิงปกป้องคุ้มครองจากรัฐได้ยากมาก รวมถึงกรรมการสิทธิฯ ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับที่ไทยเป็นเป็นภาคี กรรมการสิทธิฯ ต้องรีบออกมา และที่สำคัญการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจำเป็นที่จะต้องมี human rights lens (จับจ้องและปฏิบัติด้วยหลักสิทธิมนุษยชน)”
อีกหนึ่งหน่วยงานที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกลุ่มสหวิชาชีพ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตอนนี้เราได้ยินเรื่องราวการแตกหักในครอบครัวและในรั้วโรงเรียนด้วยประเด็นความเห็นต่างทางการเมือง โดยมีการแสดงออกไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ ไล่ออกจากบ้าน ทำร้ายร่างกายซึ่งหน้า ทั้งหมดนี้
คุณอังคณาให้ความเห็นว่า #ถ้าการเมืองดี เราจะมีกลุ่มสหวิชาชีพ และ พม. เข้าไปดูแลเด็กๆ อย่างทันทีถึงบ้าน ประเมินสุขภาพจิตทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และหากรุนแรงจะต้องจัดหาบ้านพักเพื่อแยกกันอยู่ชั่วคราวและให้การเยียวยาจิตใจเพื่อให้ต่างคนต่างมีเวลาทบทวนความคิดและการกระทำ
คุ้มครองสิทธิเด็ก ด้วยกฎหมายชุดไหนบ้าง
ส่วนกฎหมายที่คุณอังคณาพูดถึง หลักๆ ในประเทศคือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ส่วนนอกประเทศ คือสนธิสัญญาต่างประเทศซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นภาคี 7 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ CRC ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องนำมาปฏิบัติโดยระบุหลักประกันไว้ชัด 4 เรื่องคือ
- การห้ามเลือกปฏิบัติต่อเด็กและการให้ความสำคัญแก่เด็กทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิด หรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดามารดา หรือผู้ปกครองทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน
- การกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก (best interest of the child)
- สิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม
- สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก และการให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้น
นอกจากนี้ ไทยยังเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Optional Protocol to the CRC) ซึ่งมีอยู่ 3 ฉบับด้วยกัน ว่าด้วยเรื่อง
- การขายเด็ก การค้าประเวณี และสื่อลามกเกี่ยวกับเด็ก
- ความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธ
- และ กระบวนการติดต่อร้องเรียน
“โดยพิธีสารสุดท้ายเรื่องการร้องเรียน จำได้ว่าตอนที่ไทยเข้าเป็นภาคีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราดีใจมาก เพราะเด็กทุกคนในประเทศนี้ หรือ NGO ที่ทำงานด้านนี้สามารถส่งอีเมลไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการ CRC ของสหประชาชาติได้โดยตรงด้วยตัวเองเลย แต่ปัญหาคือ เด็กไม่รู้เรื่องสิทธิของตัวเอง ไม่รู้ว่าจะติดต่อยังไง โรงเรียนไม่ได้ให้ข้อมูลชุดนี้ คนในกระทรวงศึกษาฯ เองก็ไม่รู้จัก CRC ไม่รู้จัก CEDAW (อนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง) ไม่รู้จัก ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) แล้วถามว่ากระทรวงศึกษาฯ จะคุ้มครองเด็กตามหลัก CRC ได้ยังไง”
มองว่ากฎหมายที่เขียนไว้ ครอบคลุมพอหรือเปล่า ทำไมจึงดูเหมือนมันไม่ฟังก์ชันในบ้านเราเลย? – เราถาม
คุณอังคณายืนยันว่ากฎหมายเขียนไว้ครอบคลุมแล้ว เพียงแต่ในหน้างานจริงมีปัญหาซับซ้อนลงไปอีก หนึ่ง – เมื่อคนทำงานเป็นคนของรัฐทั้งหมด เมื่อเกิดกรณีเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง
“อันที่จริง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ค่อนข้างจะครอบคลุมนะคะ แล้วยังอ้างอนุสัญญาระหว่างประเทศด้วยก็ได้ แต่ปัญหาคือการใช้ดุลพินิจในการตีความ ซึ่ง ‘ดุลพินิจ’ นี่แหละที่เป็นปัญหาและอันตราย คุณใช้ดุลพินิจอย่างไรในการตีความล่ะ? เช่น คุณมักอ้างความมั่นคงของชาติ แต่ถามว่าอะไรคือความมั่นคงของชาติ หรือเราใช้ดุลพินิจในมาตรา 116 ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่นทำให้เกิดการกระด้างกระเดื่องหรือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถามว่า…โอ้โห เด็กๆ จะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เลยเหรอ? การตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินจริงแบบนี้มันทำไม่ได้
“ว่ากันตามจริง ในหลักการการชุมนุมโดยสงบ รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้การชุมนุมนั้นให้เป็นไปโดยความสงบ อีกอย่างคือรัฐต้องรักษาความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ในชุมนุมทั้งหมด โดยต้องไม่มีใครได้รับบาดเจ็บอันตราย นี่คือ 2 หลักการใหญ่ๆ คือหัวใจเลยนะ ซึ่งรัฐต้องทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่เอาหน่วยอรินทราชเข้ามา”
ตราบถึงทุกวันนี้ ทำไมเรา และหรือคนทำงานเรื่องเด็ก เรื่องสิทธิ จึงเหมือนยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ (เสียที)
คุยกันเรื่องสิทธิก็เหมือนพายเรือในอ่าง เหมือนถามคำถามที่ไม่น่าจะต้องถามกันแล้ว อย่างถามว่าทำไมตำรวจจึงมีหน้าที่จับผู้ร้าย ทำไมคุณหมอต้องรักษาคนไข้ แต่ปรับคำถามเป็น ทำไมคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและการพิทักษ์สิทธิ จึงเหมือนไม่เข้าใจเรื่องนี้เสียที? คุณอังคณาให้ความเห็นว่า อาจเพราะสังคมไทยเราผูกติดกับวัฒนธรรมที่เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน โตมากับความเชื่อว่าหากเถียงผู้ใหญ่ปากจะเท่ารูเข็ม
“คุณไม่ได้ใช้ human rights lens ในการมองเด็ก เเต่ว่าคุณปฏิบัติกับเด็กเหมือนกับเด็กคือผู้ที่อยู่ในปกครอง
“เด็กวัยเตาะแตะ เด็กก่อนวัยเรียน เด็กพวกนี้ต้องการการอนุบาลเขา การดูแลเอาใจใส่ เด็กๆ มีสิทธิที่จะได้รับอาหารน้ำดื่ม การดูแลไม่ถูกทอดทิ้ง เป็นสิทธิตามกฎหมาย ขณะเดียวกันพอเด็กพัฒนาเเละโตขึ้น เด็กเองก็มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น มีสิทธิในการแสดงออก ซึ่งตรงนี้ค่านิยมของสังคมยังมองว่าเด็กเถียงพ่อเถียงแม่ เดี๋ยวตายไปปากเท่ารู้เข็ม มันทำให้ผู้ใหญ่ใช้อำนาจแล้วก็เป็นลักษณะของการทวงบุญคุณ เลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอยถึงเติบโตมาได้ ไม่งั้นเอาขี้เถ้ายัดปากตายไปนานเเล้ว ในต่างประเทศถ้าเด็กถูกทำร้ายเด็กสามารถโทรศัพท์ไปหาตำรวจ แป๊บเดียวสหวิชาชีพจะแยกตัวเด็กไปคุ้มครองเลย ออกจากที่นั้นไปเลย ประเมินครู ประเมินพ่อแม่เลย จนกว่าเขาจะมั่นใจว่าคุณดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยได้ เขาถึงจะให้เด็กกลับไปอยู่บ้านหรือโรงเรียน เเต่เมืองไทยไม่ได้เป็นเเบบนั้น
“ที่ผ่านมาเราคิดว่าเราจะมีลูกเพื่อที่ให้ลูกมาดูแลเราตอนแก่ แต่เราไม่ได้คิดว่าการที่เรามีเด็กในครอบครัวมีเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในสังคม จะเป็น Generation ที่จะทำให้สังคมพัฒนาไป
“เด็ก gen ใหม่เขาเติบโตมาแบบหนึ่ง ขณะที่เด็กต้องมาอยู่ในวัฒนธรรมแบบเดิม เรื่องแบบนี้ก็เลยทำให้มันมีการ crash กัน ผู้ใหญ่เองก็ถือว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่า”
คำถามสุดท้ายก่อนจากกัน เราถามคุณอังคณาว่า #ถ้าการเมืองดี ในมุมของเธอคืออะไร?
“#ถ้าการเมืองดี องค์กรอิสระจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐได้ เราจะมีตุลาการที่เป็นอิสระ รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินหรือกรรมการสิทธิฯ ก็จะทำหน้าที่ได้อย่างกล้าหาญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมถึงประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ”