- The Element หนังสือที่ว่าด้วยการตามหา ค้นเจอ และบ่มเพาะ ‘ธาตุภาวะ’ ของแต่ละคน เป็นองค์ประกอบของความหลงใหล ความชอบ การได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนตกเข้าไปอยู่ในห้วงแห่ง ‘ความลื่นไหล’ จมดิ่งกับมันจนลืมวันเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ‘ธาตุ’ มีได้หลากหลายเกินกว่าที่คนจะทำเกณฑ์ประเมินกัน
- ไม่อึดอัด เพราะผู้เขียนไม่ได้ยัดเยียดว่าหากยังค้นไม่พบ ‘ธาตุภาวะ’ จะเท่ากับโศกนาฏกรรม หนังสือเล่มนี้ย้ำตลอดว่า ‘ธาตุ’ ของเรานั้นหลากหลาย บางคนค้นเจอธาตุของตัวเองตอนอายุน้อยแล้วบ่มเพาะขัดเกลากันไปเรื่อยๆ, บางคนไม่ได้ใช้ ‘ธาตุ’ ตัวเองทำมาหากินและเลือกจับวางเป็นงานอดิเรก, มีหลายคนด้วยซ้ำที่ค้นพบ ‘ธาตุ’ ใหม่ของตัวเองในวัย 60-70 ปี และเคี่ยวกรำตัวเองในวัยที่คนอื่นคิดว่าถึงเวลาอยู่เฉยๆ
- สุดท้ายมันคือการกลับไปมองตัวเองในสายตาที่พยายามเพ่งเล็งและจับสังเกตว่าเราจัดวางตัวเองถูกที่ถูกทางรึยัง ทั้งหมดไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากทางเลือกที่รู้ว่าเลือกได้… และมันอาจโล่งโปร่งสบายขึ้น
คุณฉลาดแค่ไหน? จงให้คะแนนตัวเองจาก 1-10
ตอนหนึ่งของหนังสือ The Element : How Your Passion Changes Everything (ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้) เขียนถามเอาไว้
เซอร์ เคน โรบินสัน (Ken Robinson) และ ลู อโรนิกา (Lou Aronica) สองผู้เขียนเล่าว่า เค้ามักใช้คำถามนี้เวลาออกบรรยายเกี่ยวกับ ‘การค้นเจอศักยภาพ’ ของมนุษย์ ผู้เขียนเล่าว่า มีบ้างประปรายที่ให้คะแนนตัวเองเต็ม 10 บ้างให้ 8-9 บ้าง แต่ส่วนใหญ่ให้คะแนนตัวเองกลางๆ ที่ 6-7 คะแนน
สิ่งที่ทั้งสองไฮไลต์ก็คือ ทำไมทุกคนจึงยอมให้คะแนนตัวเอง?
ไม่ใช่ว่าเราควรถามกลับหรือว่า… เราจะให้คะแนนความฉลาดของตัวเองในเรื่องอะไร ด้านไหน คะแนนที่เราให้วันนี้ พรุ่งนี้มันจะเพิ่มขึ้นได้มั้ย และเราประเมินความฉลาดของตัวเองเป็นมาตรวัด 1-10 ได้จริงละหรือ?
สิ่งที่ทั้งคู่คาดหวังว่าผู้คนจะถามกลับนั่นคือ… จะบ้าหรือ ความฉลาดของคนมีตั้งหลากหลาย และเราจะกะเกณฑ์ตั้งประเมินให้มีมาตรวัดชัดเจนได้อย่างไร – ซึ่งนี่เอง คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้
The Element ว่าด้วยการตามหา ค้นเจอ และบ่มเพาะ ‘ธาตุภาวะ’ ของแต่ละคน เป็นองค์ประกอบของความหลงใหล ความชอบ การได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนตกเข้าไปอยู่ในห้วงแห่ง ‘ความลื่นไหล’ จมดิ่งกับมันจนลืมวันเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ‘ธาตุ’ มีได้หลากหลายเกินกว่าที่คนจะทำเกณฑ์ประเมินกัน
“แต่ละคนต่างมี ‘ธาตุ’ เฉพาะตัว ‘ธาตุ’ คือจุดที่พรสวรรค์ตามธรรมชาติมาบรรจบกับความปรารถนาจากส่วนลึก ความชำนาญผสานเข้ากับความหลงใหล ความถนัดมาพบกับความรัก เมื่อเราเข้าถึง ‘ธาตุ’ เราจะรู้สึกเป็นตัวเองและมีพลังสร้างสรรค์อย่างที่สุด มันยังเป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจ พลังชีวิต และความสำเร็จอีกด้วย”
โปรยปกหลัง
แล้วเกี่ยวกับนิยามความฉลาดของคนอย่างไร? – เกี่ยวอย่างจังเลยละ ผู้เขียนมองว่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาของมนุษย์พุ่งเป้าไปที่การวัดความฉลาดของคน เช่นแบบทดสอบสติปัญญา IQ, การสอบ SAT (ข้อสอบเข้าระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา ทดสอบความถนัดในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นอย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่า สังคมกำหนดระบบระเบียบมาให้เราเดินตามทางที่ทุกคนมองว่า คนที่ประสบความสำเร็จ คนที่ฉลาด มักจะเดินตามกัน
The Element ชวนเรามองหา ‘ธาตุ’ ของตัวเองผ่านการเดินทาง การค้นหา การบ่มเพาะ ‘ธาตุ’ ของผู้คนผ่านการสัมภาษณ์และเรียบเรียบเรื่องเล่าในอดีตและปัจจุบันของพวกเค้า เราจะได้พบเห็นตัวละครตั้งแต่ผู้ที่หลงใหลคลั่งไคล้ตัวเลข นักบิลเลียดหญิง ชายตาบอดเพราะอุบัติเหตุที่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตทำให้คนที่มีโอกาสตาบอดกลับมามองเห็นอีกครั้ง เรื่อยไปกระทั่งนักดนตรี นักเต้น และคนจากหลากอาชีพ เช่น
- อเล็กซิส เลอแมร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เจ้าของสถิติโลกปี 2007 ว่าสามารถตัวเลขสุ่ม 200 หลัก ด้วยการถอดรูท 13 หลักในใจได้ในเวลา 72.4 วินาที
- เอวา ลอแรนซ์ นักบิลเลียดหญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ผู้ที่รู้สึกว่าการแข่งขันต่อเนื่อง 9 ชั่วโมงดำเนินไปแค่ราว 20 นาที
- จอห์น วิลสัน ชายตาบอดจากอุบัติเหตุในห้องเคมีตอนเขา 12 ปี ผู้ผลักดันสมาคมคนตาบอดของจักรวรรดิอังกฤษ (Sightsavers Internationa) ในช่วงที่วิลสันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกว่า 30 ปี องค์กรนี้ผ่าตัดต้อกระจกให้คนราว 3 ล้านคน รักษาผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะตาบอดอีก 12 ล้านคน และจัดหาวิตามินเออีกกว่า 100 ล้านโดสเพื่อป้องกันอาการตาพิการในเด็ก และโครงการอื่นๆ ที่ทำให้คนกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
- เด็บบี แอลเลน นักเต้น นักแสดง นักร้อง ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ คนเขียนบท สำคัญคือเธอเป็นนักเต้นสมัยที่ยังมีการแบ่งแยกสีผิวกันอยู่ แต่ก็ใช้ความสามารถและความหลงใหลในอาชีพหาที่ยืนให้กับตัวเองได้
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่าง ‘ความหลากหลาย’ ของผู้คนที่จะพบเจอในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งว่าด้วย ‘ธาตุ’ ที่ฝังในเนื้อตัวของคนแต่ละคน ถ้าพวกเค้าเชื่อว่าความฉลาดของคนมีแบบเดียว คงปรากฎตัวพร้อมเรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้
แม้จะเล่าผ่านชีวประวัติบุคคล แต่ในเรื่องเล่านั้น โรบินสัน และ อโรนิกา อธิบายโครง ปัจจัย หรือ องค์ประกอบร่วมที่ทำให้แต่ละคนค้นพบ ‘ธาตุ’ และบ่มเพาะมันจนไปสู่ผลสำเร็จ (ในความหมายที่แตกต่างตามแต่นิยามของบุคคล) เช่น…
มุมมองเรื่องความคิดสร้างสรรค์, การพบ ‘สื่อ’ ที่ช่วยกระตุ้นจินตนาการและปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น งานเขียน ดนตรี ตัวเลข การใช้ร่างกาย และอื่นๆ, การค้นพบสภาวะลื่นไหล, ตัวช่วยหรือที่ปรึกษา, การแวดล้อมด้วยคนแบบเดียวกัน, การออกจากสิ่งแวดล้อมที่กักขังไม่ให้พบ ‘ธาตุ’ ของตัวเอง เช่น ข้อจำกัด 3 อย่าง คือ ตัวเอง สังคม และวัฒนธรรม, ทัศนคติของคนที่มักมองว่าตัวเองโชคร้าย กับ คนที่มักมองว่าตัวเองโชคดี และปัจจัยอื่นๆ
สิ่งที่ผู้เขียนชอบและอยากยกมาแบ่งปันในที่นี้ มีอยู่ 2 เรื่องคือ การหาคนพันธุ์เดียวกัน และ ตัวช่วย
การหาคนพันธุ์เดียวกัน กับความแตกต่างของ ‘วงการ’ และ ‘แวดวง’
คิดว่าหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า สิ่งที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองในสิ่งที่ตัวเองชอบและหลงใหล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้อยู่ในสภาพแวดล้อม ได้อยู่กับคนที่ชอบเหมือนๆ กัน ไม่ใช่แค่เรารู้สึกอุ่นใจจนมั่นใจพอจะพัฒนาตัวเองไปต่อ แต่เราจะซึมซับองค์ความรู้ เคล็ดวิชาจาก ‘ไอดอล’ จากคนที่ชอบและทำในสิ่งที่คล้ายกันด้วย
“ฉันพบว่าโลกของดารานักแสดงนั้นมีเสน่ห์น่าหลงใหล ฉันได้อยู่กับคนที่สนุกเฮฮาตลอด เหมือนได้อยู่กับครอบครัวขยายที่มีแต่คนบ้าๆ บวมๆ สนุกมาก ฉันทำงานวันละ 16 ชั่วโมง แต่ยิ่งนานก็ยิ่งรู้สึกสนุกกับทุกๆ วัน ฉันชอบที่เราคุยกันเรื่อยว่าทำไมคนโน้นคนนี้ถึงทำแบบนั้นแบบนี้และศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกัน ความคิดเห็นที่ได้จากการคุยกันนี้มีผลต่อการสร้างบุคลิกตัวละครของฉันว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร ไม่รู้หรอกนะว่าฉันได้ความคิดเหล่านี้มาจากใครบ้าง แต่ได้เยอะ เยอะมาก ฉันมักพูดในทำนอง ‘โอเค นั่นคือความหมายแฝง แล้วทำไมฉันต้องพูดความหมายแฝงออกมาตรงๆ ด้วยล่ะ’ ฉันมักปรับแก้บทพูดใหม่ และอินกับบทบาทตัวละครและโลกของตัวละครพวกนั้น เรามีบทหนังใหม่ๆ ทุกวันละฉันก็ต้องจำบทพูดพวกนี้ทั้งหมด เป็นงานที่น่าพิศมัยสุดยอดเลยล่ะ เราจมอยู่กับมันจนไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่นเลย”
คือคำสัมภาษณ์ของเม็ก ไรอัน นักแสดงยอดนิยม (เป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น When Harry Met Sally และ Sleepless in Society) กับผู้เขียนทั้งสอง นี่คือตัวอย่างของการได้อยู่กับ ‘คนพันธุ์เดียวกัน’ ว่าผลักดันการทำงาน และช่วยให้เราอยู่ใน ‘ธาตุภาวะ’ ได้อย่างไร
มีอีกอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในเรื่องนี้คือ คำว่า วงการ (Domain) กับ แวดวง (field) ซึ่งสองอย่างนี้สำคัญสำหรับคนที่กำลังค้นหา ‘ธาตุ’ ของตัวเอง
- วงการ : ประเภทกิจกรรม หรือ สาขาความรู้ที่คนเข้าไปกระทำ เช่น การแสดง ดนตรีร็อก บัลเลต์ กวี จิตวิทยา การสอน
- แวดวง : ผู้คนที่กระทำกิจกรรมในวงการนั้น เช่น วงการที่เม็ก ไรอัน อยู่คือการแสดง ละครโทรทัศน์ แวดวง ก็คือนักแสดงคนอื่นๆ ที่เธอทำงานด้วย
สิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะบอกก็คือ
การพบธาตุของตัวเองไม่ได้เกิดเฉพาะตอนที่อยู่กับตัวเองคนเดียวเท่านั้น หลายคนค้นพบได้เมื่อเจอ ‘คนพันธุ์เดียวกัน’ และการพัฒนาตัวเองจนค้นพบธาตุ ไม่มีใครอยู่แค่แวดวงเดียว การประสบความสำเร็จในวงการใดวงการหนึ่ง จำเป็นต้องพาตัวเองออกไปพบเจอคนหลายๆ แวดวง ไปซึมซับ ไปตักตวง และเรียนรู้ประสบการณ์ ที่หลายคนเรียกมันว่า ‘การขยายขอบ’ ของตัวเอง หรือกระทั่ง ต้องรีบออกจากแวดวงที่รู้สึกว่า ‘ถ้าอยู่ต่อไป แวดวงนี้จะกักขังไม่ให้เราพบ ‘ธาตุ’ ของตัวเองได้แน่ๆ
ตัวช่วย ความสัมพันธ์เปลี่ยนชีวิต
“ที่ปรึกษามีค่ายิ่งในการช่วยให้คนเราเข้าถึง ‘ธาตุ’ ของตัวเอง ถ้าจะบอกว่าหนทางเดียวที่จะเข้าถึง ‘ธาตุ’ ได้ก็โดยอาศัยความช่วยเหลือจากที่ปรึกษา มันก็อาจพูดเกินจริงไปบ้าง แต่คงไม่มากนัก เราทุกคนต่างเคยเจออุปสรรค กว่าจะเจอสิ่งที่เรารู้สึกว่าเกิดมาเพื่อทำมันจริงๆ ถ้าขาดผู้ชี้แนะที่มีความรู้ดีพอจะช่วยให้เราค้นพบความชอบของตัวเอง สนับสนุนความสนใจของเรา ช่วยให้เราเดินทางราบรื่นขึ้น และผลักดันให้เราทำจนเต็มกำลังความสามารถแล้วล่ะก็ การเดินทางก็คงยากกว่านี้เยอะ
“แน่นอน ระบบการเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำปรึกษานั้นเป็นเรื่องสองทาง คือการให้และรับ ที่สำคัญมากพอๆ กับการมีที่ปรึกษาก็คือ คุณต้องทำหน้าที่นี้เพื่อคนอื่นๆด้วย เป็นไปได้มากว่าคุณอาจพบว่า ธาตุของคุณก็คือการเป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่นๆ” – หน้า 141
เชื่อว่า ณ จุดที่เรายืนอยู่ ถ้ามองย้อนกลับไป คงมองเห็นคนช่วยกันดุนหลังผลักไหล่ ชี้แนะแนวทาง หรือเป็นแรงบันดาลใจให้เรายืนได้ ณ ที่ตรงนี้ …นี่คือความหมายเดียวกับ ตัวช่วย หรือ ที่ปรึกษา นอกจากผู้เขียนทั้งสองจะชวนเรามองย้อนกลับไปดูว่าที่ปรึกษาของเราคือใครกันบ้าง และพวกเขามีส่วนช่วยผลักดันเราอย่างไร พวกเขายังย้ำว่าเราต่างเป็นที่ปรึกษา หรือ ตัวช่วย ให้กับใครอื่นเพื่อช่วยให้เค้าหาธาตุของตัวเอง และในระหว่างนั้น เราจะได้พบธาตุของตัวเองด้วยเช่นกัน
โรบินสัน และ ลู อโรนิกา เสนอว่าบทบาทของที่ปรึกษา ทำได้ดังนี้
- การมองเห็นความสามารถ (recognition) : พรสวรรค์และทักษะของคนเรามีหลากหลาย ที่ปรึกษาที่ดีจะช่วยชี้ให้เห็นทักษะของเราอย่างที่คนอื่นๆ มองไม่เห็น
- การเสริมสร้างกำลังใจ (encouragement) : ที่ปรึกษาจะจูงใจให้เราเชื่อว่าเราสามารถบรรลุความสำเร็จในสิ่งที่ก่อนหน้านั้นดูไม่น่าเป็นไปได้
- อำนวยความสะดวก (facilitating) : ที่ปรึกษาจะช่วยนำทางเราสู่ธาตุของเราได้ด้วยการให้คำแนะนำและบอกเล่าเทคนิคต่างๆ แผ้วถางทางให้เรา และแม้แต่ปล่อยให้เราสะดุดบ้างโดยจะคอยอยู่ข้างๆ เพื่อช่วยให้เราตั้งหลักใหม่ได้พร้อมๆ กับเรียนรู้ข้อผิดพลาดของเราเอง
- ผลักดันให้เราใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ (stretching) : ที่ปรึกษาเก่งๆ จะผลักดันให้เราใช้ทักษะความสามารถอย่างเต็มที่
“คนเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เรา ทำให้เรารู้สึกทึ่งในศักยภาพของมนุษย์ พวกเขาช่วยให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ และจุดประกายไฟให้เรา” – หน้า 243
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่ ‘ต้องอ่าน’ แต่เมื่อได้ไล่ทำความรู้จัก ไล่อ่านความคิดที่ถูกเรียบเรียงไว้ทีละหน้า สำหรับฉัน – ผู้ที่ไม่ได้คิดว่าต้องค้นหาตัวตนหรือเสาะหา ‘ธาตุ’ ของตัวเอง – แม้จะอ่านชีวประวัติของผู้อื่น แต่ได้ย้อนกลับไปยังชีวประวัติของตัวเอง ได้ค่อยๆ ไล่เรียงพิจารณาว่าสิ่งที่เห็น ทำ และเป็นอยู่ เข้าข่ายค้นเจอ ‘ธาตุ’ ของตัวเองแล้วหรือยัง
ไม่อึดอัดด้วยเพราะผู้เขียนไม่ได้ยัดเยียดว่าหากยังค้นไม่พบ ‘ธาตุภาวะ’ จะเท่ากับโศกนาฏกรรม หนังสือเล่มนี้ย้ำตลอดว่า ‘ธาตุ’ ของเรานั้นหลากหลาย บางคนค้นเจอธาตุของตัวเองตอนอายุน้อยแล้วบ่มเพาะขัดเกลากันไปเรื่อยๆ, บางคนไม่ได้ใช้ ‘ธาตุ’ ตัวเองทำมาหากินและเลือกจับวางเป็นงานอดิเรก, มีหลายคนด้วยซ้ำที่ค้นพบ ‘ธาตุ’ ใหม่ของตัวเองในวัย 60-70 ปี และเคี่ยวกรำตัวเองในวัยที่คนอื่นคิดว่าถึงเวลาอยู่เฉยๆ
สุดท้ายมันคือการกลับไปมองตัวเองในสายตาที่พยายามเพ่งเล็งและจับสังเกตว่าเราจัดวางตัวเองถูกที่ถูกทางรึยัง ทั้งหมดไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากทางเลือกที่รู้ว่าเลือกได้… และมันอาจโล่งโปร่งสบายขึ้น