- สถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพแต่หลายบ้านได้รับผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ การต้องปรับตัวทางอาชีพ และอื่นๆ ที่เป็นความเครียดสะสมในครอบครัว แต่หลายบ้านพ่อแม่อยากปกป้องลูก และเชื่อว่า ‘เรื่องของผู้ใหญ่ เด็กไม่เกี่ยว ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีก็พอ’ แต่หลายครั้งลูกรับรู้ความเครียดของพ่อแม่แต่ไม่รู้จะแก้ยังไง นำมาสู่ความรู้สึกผิดและโทษตัวเอง
- พูดความจริง-ไม่ตีความหรือตีตรา-เสนอทางออก และ บอกความต้องการว่าอยากให้ลูกช่วยเหลืออะไร คือคำแนะนำของ หมอโอ๋ – พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ในการ ‘บอกความจริง’ กับลูก ไปพร้อมๆ กับสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับพวกเขา
- “ความสับสนหลายครั้งคือความทุกข์ การได้รับข้อมูลที่ตรงไปตรงมาจะทำให้เด็กเห็นบทบาทตัวเองในฐานะคนที่ช่วยเหลือครอบครัวได้ ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ ทำให้ตัวเขารู้สึกมีบทบาทกับคนในครอบครัว เขาจะได้เผชิญกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) เข้าใจความทุกข์คนอื่น ได้เห็นว่าตัวเองก็เป็นคนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนอื่นได้”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่หลายบ้านได้รับผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ การต้องปรับตัวทางอาชีพ ความเครียดและความกังวลสะสมที่มาจากความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิต กลายเป็นคลื่นความเครียดสะสมในครอบครัว
‘การปรับตัว’ คือสิ่งที่ต้องจัดการ แต่จะจัดการได้ต้องมีการสื่อสารถึงกันและกัน สื่อสารกับผู้ใหญ่ด้วยกันไม่น่ากังวลมาก แต่… จะสื่อสารกับลูกยังไงไม่ให้ลูกเป็นกังวลตามไปด้วย ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ต้องการความร่วมมือจากลูกในหลายอย่างเพื่อร่วมฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน เช่น ต้องช่วยกันประหยัด ต้องปรับวิถีชีวิตบางอย่างเพื่อก้าวต่อไปให้ได้
ขณะเดียวกัน หลายคนเชื่อว่า (หรือถูกสอนให้เชื่อว่า) ความเครียดต่างๆ เป็น ‘เรื่องของผู้ใหญ่’ เด็กมีหน้าที่เรียนหนังสือและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดไป แต่มันเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า เราต่างเคยเป็นเด็กและรู้ว่าความเครียดจากพ่อแม่เรื่องสถานการณ์ในครอบครัวไม่เคยเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มันกระทบเราใหญ่หลวงแน่นอน
คำถามคือ พ่อแม่ควรสื่อสารกับลูกไหม อย่างไร เท่าไหนดี และ เด็กๆ เองจะได้เรียนรู้และเติบโตจากเรื่องนี้อย่างไรบ้าง The Potential ต่อสายถึงหมอโอ๋ – พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ขอความรู้และขอให้คุณหมอช่วยไขข้อกังวลใจให้กับพ่อแม่
คำตอบของคุณหมอเบื้องต้นคือ ‘บอกความจริง’ กับลูก ไปพร้อมๆ กับสื่อสารอย่างสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับพวกเขาไปพร้อมๆ กัน ทั้งหมดนี้ แม้จะมีปัญหารออยู่มากมาย แต่พวกเราจะสามารถผ่านมันไปได้
เพราะครอบครัวไม่ใช่แค่แชร์ความสุข แต่ความทุกข์ก็ร่วมแชร์ด้วย และ เด็กๆ เองจะเติบโตและเรียนรู้วิธีรับมือแก้ปัญหาของผู้นำครอบครัว อย่าง… พ่อแม่
พูดความจริงต่อกัน เพราะ “ครอบครัวไม่ได้แปลว่าความสุขอย่างเดียว แต่คือการแชร์ความทุกข์ความสุขร่วมกันด้วย”
คุณหมอเริ่มที่การตั้งหลักว่า เราต้องลบความเชื่อเก่าๆ ที่ว่า ‘เด็กเป็นแค่เด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก’ ออกไปก่อน หมอโอ๋อธิบายว่า อย่าคิดว่าเด็กไม่รับรู้อะไรเพราะเขามีความสามารถในการรับรู้เรื่องเครียดๆ เหล่านี้ได้ดี เขารับรู้ได้เร็วมากด้วยว่าพ่อแม่กำลังมีปัญหาอะไร
แต่หากครอบครัวมีปัญหาแล้วไม่อธิบายให้ลูกฟัง เรื่องจะกลายเป็นว่า… เด็กจะไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาจะเกิดคำถามกับตัวเองแทนว่า ‘ทำไมพ่อแม่ต้องหงุดหงิด’ ‘ทำไมต้องโมโห’ สุดท้ายแล้วเด็กอาจกลับไปโทษตัวเอง ‘เพราะเราเป็นเด็กไม่น่ารักใช่มั้ย เป็นลูกที่ไม่ดีใช่มั้ยทำให้พ่อแม่ต้องหงุดหงิด’ แต่หากพ่อแม่อธิบายไปตรงๆ ว่ากำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ นอกจากจะทำให้เขาเข้าใจปัญหาแล้ว ยังทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว รู้ว่าจะช่วยเหลือครอบครัวอย่างไรได้
“เพราะครอบครัวไม่ได้แปลว่าความสุขอย่างเดียว แต่คือการแชร์ความทุกข์ความสุขร่วมกันด้วย” หมอโอ๋กล่าว
พูดความจริง ไม่ตีความหรือตีตรา เสนอทางออก และบอกความต้องการว่าอยากให้ลูกช่วยเหลืออะไร
หมอโอ๋แนะนำว่า พ่อแม่เปิดอกคุยกับลูกได้เลยว่า ตอนนี้บ้านเรากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่ เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปคืออะไรได้บ้าง แต่ทั้งหมดนี้ให้เป็นแค่การบอก ‘ข้อเท็จจริง’ หรือ ‘ข้อมูล’ ที่เกิดขึ้น พ่อแม่บอกถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ แต่หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ในการสื่อสาร หลีกเลี่ยงการหาคนผิด ตีตรา ถ้าต้องการสื่อสารกับลูกเพื่อขอความร่วมมือก็ให้ทำได้เพราะเด็กจะได้รู้ด้วยว่าเขาควรทำอะไร ควรมีบทบาทอะไรในสถานการณ์แบบนี้ จะช่วยเหลือครอบครัวในเรื่องอะไรได้บ้าง
เช่น “จากสถานการณ์แบบนี้ พ่อแม่อาจจะต้องตกงานหรืออาจจะถูกลดเงินเดือนชั่วคราวนะ (บอกสถานการณ์) แต่ไม่เป็นอะไรนะ ช่วงนี้เราอาจต้องประหยัดขึ้น (บอกความต้องการที่อยากให้เด็กทำ / บทบาทหน้าที่ที่อยากให้เด็กช่วย)”
ไม่ควรใช้ประโยคตีความและเต็มไปด้วยอารมณ์ เช่น “ทำไมกินอะไรฟุ่มเฟือยแบบนี้ รู้มั้ยว่าเราต้องประหยัดกันแล้วนะ” ส่วนเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ควรใส่การตีความ จะขอพูดยาวๆ ในหัวข้อต่อไป (หัวข้อ ไม่ได้รู้สึกแย่เพราะ ‘ข้อเท็จจริง’ แต่แย่เพราะ ‘อารมณ์’ ของพ่อแม่)
หมอโอ๋บอกว่า “ความสับสนหลายครั้งคือความทุกข์ การได้รับข้อมูลที่ตรงไปตรงมาจะทำให้เด็กเห็นบทบาทตัวเองในฐานะคนที่ช่วยเหลือครอบครัวได้ ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ ซึ่งถือเป็นผลดีกับตัวเด็ก ทำให้ตัวเขารู้สึกมีบทบาทกับคนในครอบครัว นอกจากนี้เขาจะได้เผชิญกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) เข้าใจความทุกข์คนอื่น ได้เห็นว่าตัวเองก็เป็นคนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนอื่นได้”
ข้อเท็จจริงที่ต้องตามมาด้วยความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย
แต่หมอโอ๋ย้ำว่า ต้องไม่ใช่แค่ใส่ ‘ข้อเท็จจริง’ แต่ต้องมาพร้อม ‘ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย’ ด้วย ซึ่งความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมีความหมายต่อการเติบโตทางใจของเด็กๆ ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นได้ก็มาจากการรู้ว่าจะรับมืออย่างไร มีแผนการอะไรที่ครอบครัวได้วางเอาไว้ ถ้าเกิดปัญหานี้ขึ้นมีทางออกแบบนี้แบบนั้นนะ ซึ่งก่อนจะสื่อสารกับลูก พ่อแม่อาจต้องกลับมาทำงานกับตัวเองก่อนว่าจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร
เช่น ‘มันอาจจะยากลำบากซักหน่อยนะลูก ช่วงนี้เราอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในครอบครัว แต่เราทุกคนกำลังช่วยกันแก้ปัญหานะ แผนของเราก็คือ เราอาจต้องประหยัดขึ้นนะ เราจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนั้นส่วนนี้ หรือ เราอาจจะต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนนี้นะ ถ้าถึงเวลาจำเป็น’
“วิธีคิดของพ่อแม่กับปัญหาที่เกิดขึ้นสอนลูกได้เยอะมากว่า ช่วงเวลาที่ลูกเจอกับปัญหาเขาจะ reaction กับมันยังไง เช่น เขาจะตีโพยตีพาย ร้องห่มร้องไห้ รู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ หรือว่าเขาจะระบายความรู้สึกออกบ้าง แล้วตั้งสติแก้ไขปัญหา นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องการรับมือเพื่อแก้ปัญหาจากผู้ใหญ่”
หมอโอ๋ย้ำว่า ให้บอกสิ่งที่เป็นความจริง อย่าบอกว่า ‘ไม่มีอะไรหรอกลูก’ เพราะจะทำให้เด็กเกิดความสับสนว่าสรุปแล้ว ‘มีอะไร’ หรือ ‘ไม่มีอะไร’ กันแน่
ไม่ได้รู้สึกแย่เพราะ ‘ข้อเท็จจริง’ แต่แย่เพราะ ‘อารมณ์’ ของพ่อแม่
แม้สิ่งที่บอกลูกจะเป็นความจริง แต่ถ้าบอกผ่านการใช้อารมณ์ก็อาจกลายเป็นการทำร้ายความรู้สึกลูก ทำให้ลูกเกิดความกังวล หมอโอ๋แนะนำว่า ‘สติ’ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ไม่ควรส่งสารด้วยอารมณ์ให้เด็กตีความเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น แม้บางครั้งสารที่ส่งไปให้ลูกเป็นความจริง แต่ถ้ามันเป็นอารมณ์หรือความทุกข์ของพ่อแม่ (โดยที่เขาไม่รู้จะแก้ปัญหาหรือช่วยยังไง) จะทำให้ลูกรู้สึกผิด กังวล จนเกิดเป็นความรู้สึกโทษตัวเองขึ้นมา
“พ่อแม่สามารถบอกส่วนที่เราคาดหวัง ส่วนที่เราอยากให้ลูกมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องใช้อารมณ์กัน ความกังวลไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ แต่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ เช่น พ่อแม่บอกว่า ‘ช่วยกันประหยัดนะลูก’ อาจไม่ได้สร้างความรู้สึกแย่เท่ากับคำพูดที่ใช้อารมณ์ ‘ทำไมไม่ช่วยกันประหยัดเลย!’ ‘ทำไมฟุ่มเฟือยอย่างนี้’ ซึ่งนี่เป็นความรู้สึกที่แตกต่างกันนะ” หมอโอ๋กล่าว
หมอโอ๋อธิบายเพิ่มว่า นอกจากเรื่องอารมณ์ ข้อควรระวังอีกอย่าง คือ การตีความของพ่อแม่ เช่น ‘ทำไมเป็นคนฟุ่มเฟือยแบบนี้’ ‘ลูกไม่คิดถึงใจคนอื่นเลยหรือไง’ ‘ทำไมเป็นคนเห็นแก่ตัว’ เป็นต้น คำพูดเหล่านี้เป็นการตีตราหรือตีความจากสิ่งที่พ่อแม่เห็น เป็นสิ่งที่ทำร้ายลูกมากกว่าเจตนาที่พ่อแม่อยากบอก เช่น เจตนาพ่อแม่อาจจะแค่อยากให้ลูกประหยัดขึ้น แต่พอพ่อแม่ไปตีความจากสิ่งที่ลูกทำ มันทำให้ลูกเจ็บ ฉะนั้น ควรระวังการทำร้ายกันด้วยการใช้อารมณ์เชิงลบส่งถึงกัน
อย่าคาดหวังว่าเราต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ ให้อภัยในความไม่สมบูรณ์ของตัวเอง
พออ่านมาถึงตรงนี้ พ่อแม่หลายๆ คนคงจะเกิดความเครียดและรู้สึกผิดว่า ‘ฉันเคยใช้อารมณ์กับลูก’ ‘ฉันเคยพูดจาทำร้ายลูก’ แต่หมอโอ๋อยากให้กำลังใจว่า ต้องไม่ลืมว่าพ่อแม่เองก็เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่ต่างมีอารมณ์ มีความเครียดที่บางครั้งก็จัดการกับมันไม่ได้ อาจเผลอใช้อารมณ์กับลูกหรือแสดงความเครียดออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ สิ่งสำคัญคือให้กลับมาเข้าใจตัวเองก่อนว่า ‘เราต่างก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง’ ที่เมื่อเจอภาวะปัญหาก็มีโอกาสตอบสนองด้วยความรู้สึกและอารมณ์ด้านลบ (ที่ไม่ได้อยากแสดงออกเช่นนั้น)
“ให้อภัยความเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง อย่าคาดหวังว่าตัวเองต้องเป็นพ่อแม่ที่ถูกต้องตลอดเวลา ขอโทษลูกได้ แค่เราเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เราก็เป็นพ่อแม่ที่เติบโตขึ้นแล้ว
“มันเป็นสถานการณ์หนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนมุมมองเรา ทำให้เราเห็นชัดมากว่าอะไรสำคัญกับชีวิตของเรา อะไรคือความต้องการที่แท้ของมนุษย์ มันตอบได้ชัดมากว่า จริงๆ เราแค่ต้องการความปลอดภัย เราต้องการความสัมพันธ์ ความรัก ความมั่นคง ความสงบ มันแค่นี้เองที่มนุษย์ต้องการ ที่เหลือเราไปปรุงแต่งมันอย่างมากมาย
“แต่ละคนเผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน พอเรากลับมามองในวันที่เราต้องเอาตัวรอด มันจะเหลือสิ่งสำคัญสำหรับเราไม่กี่อย่าง ซึ่งก็คือเรื่องความปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง ครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดี การมีเงินพอที่จะซื้ออาหาร ถ้าเรายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ก็ให้บอกตัวเองว่า มันพอที่ทำให้เราลุกขึ้นไปสู้กับอะไรข้างหน้า
“เขาบอกว่าอะไรที่ไม่ทำให้เราตายมันจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นเสมอ” หมอโอ๋กล่าวทิ้งท้าย