- ปัญหาคลาสสิกของการมีพี่น้องคือ เราอาจมีประเด็นแข่งขันโดยไม่เจตนากับพี่น้องอยู่เสมอ และหรือเราจะเติบโตโดยมี ‘บทบาท’ บางอย่างวางไว้ให้ จึงอาจทำให้คาแรกเตอร์ของคนเป็นพี่ ลูกคนกลาง น้องคนเล็ก คล้ายกันกับหลายๆ บ้านไปโดยปริยาย
- ชิ้นนี้ เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา เขียนถึงบทบาทและความคาดหวังที่แตกต่างอันเนื่องจากลำดับการเกิดในครอบครัว ที่อาจสรุปไม่ได้ว่าทุกคนเป็นเช่นนี้ แต่อาจพูดโดยรวมได้ว่าในส่วนเสี้ยวหนึ่ง ลำดับการเกิดในครอบครัวก็ส่งผลต่อจิตใจและตัวตนคล้ายๆ กัน
“การที่พี่น้องรักกัน ถือเป็นโชคดีของพ่อแม่” แต่ความรักระหว่างพี่น้องจะเกิดขึ้นได้ หากพวกเขาได้รับความรักและการดูแลอย่างเข้าใจจากพ่อแม่ ซึ่งลูกแต่ละคนเกิดมามีความแตกต่างกัน และลำดับการเกิดมีผลต่อบุคลิกภาพของเขา หากพ่อแม่สามารถทำความเข้าใจกับข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราจะสามารถเข้าใจและยอมรับลูกแต่ละคนในแบบที่เขาเป็นมากขึ้น
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
ปมในใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ของลูกแต่ละคน….
ลูกคนโต “ผู้ถูกปลดออกจากบัลลังก์”
ตั้งแต่วินาทีแรกที่เด็กน้อยลืมตาดูโลก เขากลายเป็นศูนย์กลางของความรักระหว่างพ่อกับแม่ มีผู้คนมากมายรายล้อมเขา ช่วงวัยทารกเป็นช่วงที่เด็กเป็นจุดสนใจของทุกคนภายในบ้าน แค่เพียงเขาร้องไห้ พ่อแม่ก็จะอุ้มเขาขึ้นมาปลอบโยน เปลี่ยนผ้าอ้อม ให้นม และขับกล่อมต่ออีกนานสองนาน
เด็กน้อยที่ได้รับความรัก ความสนใจที่เพียงพอ เขาจะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่ได้ (พ่อแม่มีจริงสำหรับเขา) และเขาจะวางใจต่อโลก แต่ในขณะเดียวกัน การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentrism) นั้นยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วย เป็นเรื่องธรรมดาโดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียน 0 – 3 ปีหรือก่อน 7 ปี จะเชื่อว่า ‘เขาเป็นดวงอาทิตย์ และโลกหมุนรอบตัวเขา’
กล่าวคือ ‘ทุกคนต้องเห็นในสิ่งที่ฉันเห็น ได้ยินในสิ่งที่ฉันได้ยิน เข้าใจในแบบที่ฉันเข้าใจ และไม่เข้าใจว่า ผู้อื่นมีมุมมองการรับรู้ที่แตกต่างจากตนเอง เขาต้องการเป็นคนสำคัญที่สุดของพ่อแม่เสมอ’
ดังนั้น เมื่อเขาจำเป็นต้องแบ่งปันความสนใจและความรักจากพ่อแม่หรือคนอื่นๆ ให้กับ ‘น้อง’ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ นั่นเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่สำหรับเขามาก ไม่ต่างอะไรกับการสูญเสียตำแหน่งจุดศูนย์กลางของคนในบ้านไป
ภาระทางใจที่มักเกิดกับลูกคนโต
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคาดหวังให้เราดูแลรับผิดชอบน้องๆ และสิ่งต่างๆ ภายในบ้าน รวมทั้งธุรกิจภายในครอบครัว แม้พี่คนโตอาจจะมีฝันที่อยากทำ แต่ด้วยภาระที่พ่อแม่มอบให้ตั้งแต่วันที่เขามีน้องเกิดมา ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะต้องรับผิดชอบ แม้ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เขาทำหน้าที่ตามสัญชาตญาณ จึงเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่หลายคนในยุคปัจจุบันที่เป็นพี่คนโตของครอบครัว มักจะมีช่วงเวลาที่ขมขื่นอยู่ไม่น้อยที่ตนเองต้องคอยตามรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่มอบให้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ มรดกทรัพย์สิน ไปจนถึงหนี้สินต่างๆ
บางคนต้องรับผิดชอบส่งเสียน้องๆ ให้ได้เรียน ในขณะที่ตนเองต้องยอมเสียสละลาออกมาทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว บางคนต้องรับผิดชอบดูแลธุรกิจของครอบครัว ยอมละทิ้งฝันที่ตนมี ในขณะที่น้องๆ สามารถออกไปทำตามฝันของตัวเองได้อย่างอิสระ
พี่คนโตอย่างเขาจึงเลือกที่จะวางสิ่งที่ตัวเองต้องการไว้เบื้องหลัง และแบกรับความต้องการของครอบครัวก่อนเสมอ
ลูกคนที่สอง หรือ ลูกคนเล็ก “คู่แข่งตัวฉกาจของคนพี่”
สำหรับลูกคนที่สอง ตั้งแต่เขาเกิดมาตัวเขาได้กลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของคนพี่ไปโดยทันที เพราะพอเราเกิดมา ความรักและความสนใจจากพ่อแม่ได้ถูกแบ่งครึ่งจากพี่มาให้เขา ทำให้คนพี่ไม่ชอบใจเสียเท่าไหร่ แม้ว่าจะไม่ใช่ความผิดของเขาเลยที่เกิดมาเป็นลูกคนที่สอง แต่พี่คนโตก็รู้สึกเช่นนั้นกับน้องของเขาไปเสียแล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง การเป็นลูกคนที่สองทำให้เขาต้องพยายามทำตัวให้ดี และดิ้นรนเพื่อจะเป็นที่ยอมรับของพี่ให้ได้ เขาจึงชอบเลียนแบบพี่ของเขา พี่จะทำอะไร เขาจะพยายามทำตาม พี่เล่นอะไร กินอะไร ชอบอะไร คนน้องทำ เล่น กิน ชอบบ้างทันที ซึ่งกลายเป็นว่า ยิ่งน้องทำแบบนี้ คนพี่อาจจะหงุดหงิดกว่าเดิม แต่ก็มีพี่บางคนรู้สึกดีใจที่น้องกลายเป็นลูกสมุนก๊วนเดียวกับเขา
ดังนั้น ลูกคนที่สองจึงมีแนวโน้มทางพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะเขาเลียนแบบเด็กวัยใกล้เคียงอย่างพี่ของเขา และพ่อแม่อาจจะมีประสบการณ์มาพอสมควรจากการเลี้ยงลูกคนแรกไปแล้ว จึงสามารถรับมือกับลูกคนที่สองง่ายขึ้น
ภาระทางใจที่มักเกิดกับลูกคนที่สอง
พ่อแม่มักคาดหวังว่า ลูกคนที่สองจะต้องเจริญรอยตาม ‘คนพี่’ หากคนพี่ทำสิ่งต่างๆ ไว้อย่างโดดเด่น น้องอย่างเขาก็ยิ่งรู้สึกกดดัน ยกตัวอย่างเช่น หากพี่น้องเรียนโรงเรียนเดียวกัน แล้วคนพี่เรียนเก่งมาก คนรอบข้างมักจะคาดหวังว่าน้องคนที่สองจะต้องเรียนเก่งอย่างคนพี่แน่ๆ หรือเมื่อคนพี่ทำสิ่งใดได้ดี พ่อแม่มักจะคาดหวังว่า คนน้องย่อมทำได้ดีด้วยเช่นกัน เป็นต้น ความคาดหวังเหล่านี้มักส่งผลให้ลูกคนที่สองมีเป้าหมาย คือการทำได้เท่าพี่หรือดีกว่าพี่ของเขา ซึ่งบางครั้งเป้าหมายนั้นสูงเกินไป และสุดท้ายเขาไม่สามารถทำได้สำเร็จ ทำให้ลูกคนที่สองอย่างเขามักรู้สึกแย่และรู้สึกว่าตัวเองไม่เอาไหน ทั้งๆ ที่เขาอาจจะทำได้ดีกว่าคนอื่นมากมาย แต่อาจจะไม่ดีเท่าพี่ของเขาเท่านั้นเอง การที่เขาและใครๆ ต่างเปรียบเทียบตัวเองกับพี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้ลูกคนที่สองอย่างเขาต้องรู้สึกกดดัน และเอาจริงเอาจังกับผลลัพธ์ และผลแพ้ชนะเสมอ
ลูกคนกลาง “ผู้ประนีประนอมและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด”
สำหรับลูกคนกลาง เขาเกิดมาโดยที่รับรู้ว่ามีคนเกิดก่อนตัวเองอยู่แล้ว เขาต้องคอยแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ระหว่างพี่กับตัวเขา และหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อน้องคนเล็กเกิดมา ตัวเขาก็ต้องแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ที่เดิมทีมีอยู่น้อยนิดไปให้น้องด้วย ตัวเขาไม่เคยมีช่วงเวลาที่มีแค่เขากับพ่อแม่มาก่อน
เขาต้องต่อสู้กับพี่คนโต และแบ่งความสนใจกับน้องคนเล็ก ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ถ้าเขาอยากทำให้ทุกคนมองเห็น เขาต้องพยายามทำตัวให้แตกต่างจากพี่กับน้องของเขา นอกจากนี้เขาต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพราะเขาต้องรับบทบาทถึงสองบทบาทในเวลาเดียวกัน
คือ เป็นน้องของพี่คนโต และเป็นพี่ของน้องคนเล็ก เวลาพี่น้องทะเลาะกัน ลูกคนกลางอย่างเขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้เป็น และทำหน้าที่ประนีประนอมระหว่างพี่คนโตกับน้องคนเล็กให้ได้ บ่อยครั้งเขาเลือกที่แยกตัวออกจากพี่น้องเพื่อที่จะได้อยู่กับตัวเองอย่างสงบสุข จึงไม่น่าแปลกใจที่ลูกคนกลางจะค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองสูง
ภาระทางใจที่อาจเกิดกับลูกคนกลาง
ลูกคนกลางที่จะมีปมทางใจ มักเกิดจากการที่พ่อแม่มักมองข้ามลูกคนกลางอย่างเขาเสมอ ทำให้เขารู้สึกไม่มีตัวตนในสายตาพ่อแม่ หรือ คนในครอบครัว ลูกคนกลางอย่างเขาจึงต้องพยายามทำตัวแตกต่างเพื่อให้ทุกคนสนใจ แต่ลูกคนกลางบางคนก็เลือกที่จะอยู่เงียบๆ เพราะเหนื่อยที่จะพยายามทำให้ทุกคนสนใจเขา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่า เสียงของตัวเองนั้นไม่สำคัญ ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร คงไม่มีใครใส่ใจเขา เพราะขนาดพ่อแม่ยังให้ความสำคัญกับพี่และน้องของเขามากกว่า
ลำดับขั้นการเกิดส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก (Birth order effect)
Alfred Adler (1973) เชื่อว่า พ่อแม่มักปฏิบัติและตอบสนองต่อลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาเชื่อว่า เกิดจากลำดับการเกิดของลูกแต่ละคนนั่นเอง
ลูกคนโต
เป็นลูกที่ได้รับความรักและความสนใจอย่างเปี่ยมล้นตั้งแต่เกิดมา พ่อแม่มักใส่ใจเขามาก เพราะพ่อแม่เองก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์มีลูกมาก่อน ทำให้ลูกคนแรกได้รับการประคบประหงม และดูแลความสะอาดเป็นพิเศษ ทำให้ลูกคนโตมีแนวโน้มจะรักสะอาดและไม่ชอบสิ่งสกปรก
แต่เมื่อลูกคนโตกำลังจะมีน้อง เขาจะรู้สึกว่าน้องกำลังจะขโมยสิ่งเหล่านี้ไปจากเขา ถ้าหากพ่อแม่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้กับพี่คนโตในเรื่องของการมาช่วยพ่อแม่ดูแลน้อง พี่คนโตอย่างเขาจะต่อต้านและปฏิเสธน้องโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกันหากพ่อแม่เตรียมเขาเพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลน้องแบบเดียวกับพ่อแม่ พี่คนโตจะรับรู้ถึงอำนาจ และความรับผิดชอบ เขาจะทำหน้าที่พี่คนโตได้อย่างดี
ลูกคนกลาง
เป็นลูกที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่น้อยที่สุด ทำให้เขาเป็นเด็กที่มีความทะเยอทะยานสูง อดทน และมีแนวโน้มเป็นคนดื้อรั้นและดื้อเงียบ ลูกคนกลางบางคนจะพยายามทำตัวโดดเด่นกว่าพี่น้องของตน หรือทำตัวแปลกแยกไปเลยเพื่อให้เป็นที่สนใจของพ่อแม่และคนรอบตัว ทั้งนี้ หากพ่อแม่เข้าใจและให้ความสนใจลูกคนกลางอย่างเพียงพอ เขาจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าพี่น้อง และเป็นกาวเชื่อมใจระหว่างคนในครอบครัวอีกด้วย
ลูกคนสุดท้อง
เป็นลูกที่พ่อแม่และทุกคนในบ้านตามใจ คอยให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ ทำให้ลูกคนสุดท้องกลายเป็นเด็กค่อนข้างเอาแต่ใจ และมักทำตัวเป็นเด็กไม่รู้จักโต แต่ในขณะเดียวกันหากพ่อแม่มอบหมายหน้าที่ให้กับน้องคนเล็กอย่างเขา เช่นเดียวกับพี่ๆ เขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพได้ดี เพราะมีพี่ๆ เป็นตัวอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นลูกคนโต ลูกคนกลาง ลูกคนเล็ก ทุกคนต่างต้องการความรักและความสนใจอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนควรเข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้
ข้อที่ 1 ลูกของเราเป็นคนละคนกัน นั่นหมายถึงพวกเขามีความแตกต่างกัน อย่าเปรียบเทียบพวกเขา
ตัวอย่างคำพูดเชิงเปรียบเทียบ
“ดูพี่ของลูกสิ ทำไมพี่เขาถึงทำได้”
“ทำไมไม่ทำตัวให้ว่าง่ายเหมือนน้องบ้าง”
“ทำไมชอบทำตัวแปลกแยกจากพี่น้องคนอื่น” เป็นต้น
และที่ลืมไม่ได้ คือ การให้คำชมลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่อาจจะมีการชื่นชมลูกคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษ ก็สามารถทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีได้เช่นกัน เช่น “พี่ของลูกเก่งอย่างนั้นอย่างนี้” หรือ “น้องของลูกทำอันนี้ดีมากเลย ดูสิ”
แม้ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากพ่อแม่ทำกับเราเช่นนี้ บางครั้งตัวเราเองยังแอบเก็บมาน้อยใจลึกๆ เลย ถ้าเป็นเด็ก เขาจะรู้สึกขนาดไหน แม้เด็กจะไม่ได้พูดออกมา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รับรู้ หรือไม่รู้สึก
ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาเพื่อเป็นเหมือนเด็กอีกคน พวกเขาเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง และพ่อแม่ควรรักและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ลูกแต่ละคนเป็น ดังนั้น รักเขาอย่างที่เขาเป็น เพื่อว่าเขาจะได้รับความรักอย่างเต็มที่จากเรา และไม่ต้องไปโหยหาจากที่อื่น
ข้อที่ 2 ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ห้ามต่อว่าเด็กต่อหน้าเด็กอีกคนหนึ่ง
แม้ว่าเราจะถือคติว่า “ทำโทษเด็กอีกคนเพื่อให้เด็กอีกคนไม่ทำตาม” ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อสภาพจิตใจของคนถูกต่อว่านั้นแก้ไขไม่ได้ เขาจะรู้สึกแย่ต่อตนเอง และอับอายที่ถูกตำหนิต่อหน้าพี่น้องของตน
บางคนบอกว่า “ลงโทษพี่ให้น้องดู น้องจะได้สงสารพี่” ความคิดนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ที่คนน้องจะสงสารคนพี่ แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่า คนที่ถูกลงโทษจะไม่รู้สึกอับอายต่อหน้าน้อง
ดังนั้น ในเมื่อเราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำจะสร้างปมให้กับลูกๆ หรือเปล่า ไม่ทำสิ่งนั้นกับพวกเขาดีที่สุด
ข้อที่ 3 ของของเขา ก็คือ ของของเขา
ถ้าเราซื้อของอะไรให้ลูกแต่ละคน แล้วบอกว่า “นั่นคือของของเขา” นั่นแปลว่า ถ้าพี่หรือน้องมาแย่งของเขาไปเล่น อย่าบอกเจ้าของว่า “ให้แบ่งปัน ยอมๆ พี่หรือน้องบ้าง” เพราะเขาจะรู้สึกว่า ไม่มีของของเขาที่แท้จริง ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เด็กจะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถรักษาสิทธิ์ที่ตนพึงได้รับได้ ตนเองต้องยอมพ่อแม่และพี่น้อง เขาจะท้อ จนไม่อยากปกป้องสิทธิ์ของตนเองอีก ใครจะขอ ใครจะทำอะไร เขาจะยอมๆ ไป (แม้ใจไม่อยากก็ตาม)
หรือ เด็กบางคนจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ เขาจะหวงของมาก เขาจะแอบเล่นของชิ้นนั้นเพื่อไม่ให้ใครมาแย่งของของเขาไป ที่สำคัญเขาจะมองว่า ผู้ใหญ่ คือ ศัตรูของเขาในเรื่องนี้ เพราะพ่อแม่เป็นคนบังคับให้เขาต้องแบ่งของของเขาให้พี่น้องคนอื่น การแบ่งปัน ขอให้รอเวลาอันสมควร และเกิดจากการที่เด็กพร้อมและอยากให้ด้วยตัวเขาเองดีกว่ามาก
ข้อที่ 4 ทั้งพี่และน้องควรได้รับการมอบหมายหน้าที่ ไม่ใช่มีใครคนใดคนหนึ่งไม่ต้องทำอะไรเลย
ในกรณีที่เด็กโตพอแล้ว ช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐานได้ เวลาเรามอบหมายงานให้เด็ก เราควรให้งานที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เช่น คนน้องช่วยเช็ดโต๊ะ คนพี่ช่วยล้างจาน ให้เราเลือกงานให้เหมาะสมกับวัยของเขา ให้เขาช่วยทำงานคนละอย่าง หรือ จะผลัดกันทำก็ได้ เช่น เมื่อวานคนพี่ล้างจานแล้ว วันนี้คนน้องล้างบ้าง เป็นต้น
ไม่ใช่การมอบหมายงานโดยคำนึงเพียงว่า ‘คนพี่’ ต้องทำงานมากกว่า ‘คนน้อง’ หรือ คนน้องไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเป็นการปลูกฝังความคิด ‘เสียสละ’ แบบแบกรับหน้าที่ให้กับคนพี่ และ ‘ให้คนอื่นทำก่อน’ แล้วถ้าเขาไม่ทำฉันค่อยทำให้กับคนน้อง เราควรสร้างค่านิยมให้กับพี่น้องใหม่ว่า ‘ทำในสิ่งที่ตนทำได้ ช่วยกันคนละนิด ทำกันคนละอย่าง’ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่มีใครควรจะแบกรับภาระหน้าที่ไว้แค่เพียงคนเดียว ใครพร้อมมากกว่าควรช่วยในสิ่งที่ตนทำได้ ใครพร้อมน้อยกว่า ก็ช่วยในสิ่งที่ตนทำได้เช่นกัน
ทุกวันนี้ผู้ใหญ่หลายคนที่เติบโตมาในฐานะพี่คนโต มักจะบอกเสมอว่า ‘พวกเขาชินชาเสียแล้วกับการต้องแบกรับหน้าที่ทุกอย่าง แม้ว่าจะไม่มีใครร้องขอก็ตาม เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นจะรู้สึกผิดมากมาย’ แม้ว่าตนเองจะไม่พร้อมแบกรับหน้าที่นั้น ก็ต้องแบกมันทั้งน้ำตา เช่น ภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน และพ่อแม่ที่ชราภาพ เป็นต้น
ข้อที่ 5 อย่าด่วนตัดสินลูก
ในวันที่ลูกทะเลาะกัน จนพ่อแม่แบบเราแทบจะประสาทกิน อย่าเพิ่งตัดสินลงโทษใครทันที พาไปสงบสติก่อน (ทั้งลูกและเรา) สงบแล้ว ให้บอกว่า ‘แม่จะฟังลูกพูด แต่เราจะผลัดกันพูดทีละคน ขณะที่คนหนึ่งพูดไม่จบ ห้ามอีกคนพูดแทรก แม้จะอยากพูดแค่ไหนก็ตาม รอถึงตาตัวเอง’ ทำวนไป จนหมดเรื่องที่จะพูด ถ้าฟังแล้วเหมือนจะผิดทั้งคู่ ให้ทั้งคู่ ‘ขอโทษซึ่งกันและกัน’ และมาช่วยงานแม่เสียเลย
ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด อย่าเพิ่งตำหนิทันที ถามเขาว่า ‘ทำไมหนูถึงทำเช่นนั้น และหนูควรจะทำอย่างไรดี’ ถ้าเขายังไม่พร้อมสำนึกผิด ไม่เป็นไร ไม่ต้องรีบ บอกเขาว่า ‘แม่รอได้ หนูพร้อมเมื่อไหร่ก็บอกแม่’ เมื่อท้ายที่สุดเด็กไม่รู้ว่า จะต้องพูด ‘ขอโทษ’ เราสามารถถามเชิงแนะนำได้ว่า ‘เวลามีคนทำแบบนี้กับหนู หนูจะรู้สึกอย่างไร’ และ ‘หนูอยากทำอย่างไรเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น’ เป็นต้น ถ้าเขาไม่รู้อีก เราแนะนำได้ว่า ‘ถ้าเป็นแม่ มีคนมาขอโทษและกอดแม่ แม่จะรู้สึกดีมากเลย’ เป็นต้น
การทะเลาะจบลง แต่บทเรียนยังควรย้ำเตือน การทะเลาะกันในพี่น้องเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ และบ่อยครั้ง แต่การทะเลาะกัน ควรจบด้วยความเข้าใจ
พ่อแม่ควรจะใจเย็น ไม่ด่วนตัดสินลงโทษลูกคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองทันที โดยที่ยังไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะแม้ว่าจะทำให้เรื่องจบอย่างรวดเร็ว แต่เด็กจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
ข้อที่ 6 ในสถานการณ์ที่เราไม่รู้ว่าจะต้องพูดอย่างไรดี บางทีการไม่พูดอะไรเลย อาจจะเป็นการไม่ทำร้ายลูกมากกว่า
การเผลอพูดอะไรออกไป คำพูดไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ บาดแผลในใจที่เกิดขึ้นแล้วก็เช่นกัน หายดีได้ แต่ไม่มีวันหายไป
สุดท้ายการมีลูกมากกว่าหนึ่งคนเป็นเรื่องดี แต่การเลี้ยงลูกมากกว่าหนึ่งคน เป็นเรื่องยาก ถ้าหากเรามีความรัก เวลา และความเข้าใจมากพอสำหรับลูกเราทุกคน เราจะผ่านมันไปได้ดี
พี่น้องที่รักกัน มักบอกว่า พวกเขามีวัยเด็กที่ทะเลาะกันมากอยู่ แต่พวกเขาสนุกด้วยกันมากกว่า