- เม – เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา ชวนผู้ปกครองและคนเป็นลูกอ่านปมในใจที่เก็บซ่อนไว้อันเนื่องจากความรู้สึกได้รับความรัก หรือไม่รัก จากคนเป็นพ่อแม่
- ชวนมองต้นสายปลายเหตุ พ่อแม่รักลูกของตัวเองไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป และกรณีเด็กที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่เลย
- หาก ‘ลูก’ อ่านอยู่ เมริษาชวน ‘เรา’ จัดการกับความรู้สึกนั้นโดยไม่พยายามบีบบังคับให้ตัวเองเข้าใจทั้งที่เข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้เลย
- หาก ‘ผู้ปกครอง’ อ่านอยู่ ชวนเข้าใจและยอมรับว่าการไม่รักลูกนั้นเกิดขึ้นได้ ถ้าอยากคลี่คลายก็จะช่วยอยู่เป็นเพื่อนและบอกเล่ากระบวนการ แต่หากถึงที่สุดแล้ว ‘รัก’ ไม่ได้จริงๆ ก็จะชวนทำความเข้าใจและแนะนำวิธีอยู่ด้วยกันโดยไม่ทำร้ายและสร้างบาดแผลถึงกันต่อไป
“พ่อแม่ทุกคนรักลูก” และ “พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่ากัน” สองประโยคทองที่พ่อแม่มักบอกกับลูก และผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักบอกกับเด็กทุกคน แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นเช่นไร มีเพียงเจ้าตัวซึ่งเป็นพ่อแม่เท่านั้นที่จะตอบได้ว่า “ตัวเองรักลูกจริงๆ” หรือ “รักลูกทุกคนเท่ากัน” เพราะความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก เราไม่สามารถเสแสร้งแกล้งทำได้ตลอดไป แม้ปากของเราจะบอกว่า “รัก” แต่ “การกระทำ” ที่แสดงออกมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจฝืน เด็กทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ พวกเขาสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็วว่า “พ่อแม่รู้สึกอย่างไรกับเขา”
คงเป็นอีกหนึ่งความจริงที่โหดร้าย เพราะไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่จะสามารถรักลูกของตนได้เท่ากัน หรือ ยิ่งไปกว่านั้น คือ ไม่ได้รักลูกของตนเลยแม้แต่น้อย
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
กรณีแรก
พ่อแม่ที่รักลูกของตัวเองไม่เท่ากัน ในครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป
ปมในใจของพี่คนโตที่รับรู้ว่าพ่อแม่รักน้องคนเล็กมากกว่าตน
สำหรับลูกคนโต ที่ผ่านมาเขาอาจจะเป็นเพียงเด็กคนเดียวในครอบครัว เขาเป็นศูนย์กลางของทุกคนในบ้าน แต่ทันทีที่พ่อแม่มีน้องใหม่ ทุกคนในครอบครัวพุ่งเป้าไปสนใจน้องคนเล็ก และประคบประหงมน้องของเขาจนลืมตัวเขาไป พี่คนโตอย่างเขาตกกระป๋องในทันที ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ลูกคนโตอาจจะรู้สึกอิจฉาและโกรธเกรี้ยวที่น้องคนเล็กแย่งความรัก และทุกๆ อย่างที่เคยเป็นของเขาไปจากเขา ยิ่งพ่อแม่บอกให้พี่คนโตเสียสละ และแบ่งของๆ เขาให้กับน้อง โดยที่เขาไม่เต็มใจ ตัวเด็กเองจะยิ่งไม่ชอบน้องเข้าไปอีก
ปมในใจของการเกิดเป็นลูกคนกลาง (Wednesday’s child) ที่มักจะถูกพ่อแม่มองข้ามอยู่เสมอ
สำหรับลูกคนกลาง เขาเกิดมาโดยที่มีพี่อยู่แล้ว เขาต้องคอยแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ระหว่างพี่กับตัวเขา และหลังจากนั้นเมื่อน้องคนเล็กเกิดมา ตัวเขาก็ต้องแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ที่เดิมมีอยู่น้อยนิดไปให้น้องด้วย ตัวเขาไม่เคยมีช่วงเวลาที่มีแค่เขากับพ่อแม่มาก่อน เขาต้องต่อสู้กับพี่คนโต และแบ่งความสนใจกับน้องคนเล็ก ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ถ้าเขาอยากทำให้ทุกคนมองเห็น เขาต้องพยายามทำตัวให้แตกต่างจากพี่กับน้องของเขา นอกจากนี้ เขาต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพราะเขาต้องรับบทบาทถึงสองบทบาทในเวลาเดียวกัน คือ เป็นน้องของพี่คนโต และเป็นพี่ของน้องคนเล็ก
ปมในใจของน้องคนสุดท้อง ที่รับรู้ว่าตนเองอาจจะไม่ดีเท่าพี่ๆ
สำหรับลูกคนสุดท้อง การที่มีพี่ๆ เก่ง และโดดเด่นในหลายๆ ด้าน ทำให้ตัวเขาถูกกดดันจากครอบครัวและสังคมว่าเขาจะต้องเจริญรอยตามพี่ๆ ทั้งที่จริงแล้วตัวเขาเองอาจจะไม่เก่งในด้านที่พี่ๆ เก่งก็ได้ ส่วนพ่อแม่ในบางครอบครัวก็ละเลยลูกคนเล็กไป โดยการไม่คาดหวังอะไรไว้กับลูกคนเล็ก เพราะเชื่อใจให้พี่คนโตรับผิดชอบมากกว่า แม้จะฟังดูเป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรภายในบ้าน แต่ก็ทำให้รู้สึกแย่ในเวลาเดียวกันที่พ่อแม่ไม่เชื่อใจเขาเท่ากับพี่ๆ
ปมในใจของลูกนอกคอก ที่รับรู้ว่าพ่อแม่รักเขาน้อยกว่าพี่น้องทุกคน
พ่อแม่อาจจะมีลูกคนโปรด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกที่เป็นเด็กเลี้ยงง่าย (Easy child) เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกเอ็นดูเด็กที่น่ารักและว่านอนสอนง่าย ในทางกลับกัน เด็กที่เกิดมาพร้อมกับพื้นฐานอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก (Difficult child) ร้องไห้เยอะ กินยาก นอนยาก และปรับตัวยาก แม้ว่าตัวเด็กเองจะไม่ได้ผิดอะไร เพราะสิ่งที่ติดตัวเขามาเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่พ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก อาจจะรู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ ทำให้บางครั้งพาลไม่อยากเลี้ยงเด็กคนนี้เสียอย่างนั้น ยิ่งถ้าครอบครัวไหนมีลูกมากกว่าหนึ่งคน และมีลูกที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก ส่วนอีกคนเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ข้อเปรียบเทียบจะชัดเจน จนทำให้เกิดอคติที่มีต่อตัวเด็กที่เลี้ยงยากได้
กรณีที่สอง
เด็กที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่เลย
มักจะเกิดขึ้นในครอบครัวที่ไม่ได้ตั้งใจจะมีลูก เช่น แม่วัยรุ่นหรือบุคคลทั่วไปที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการท้องไม่พร้อมของทั้งคู่อาจเท่ากัน แต่แม่วัยรุ่นจะเกิดความรู้สึกเป็นตราบาป (stigma) จากการตีตราของสังคมมากกว่าผู้ใหญ่ที่ท้องไม่พร้อม) ลูกติดจากสามี-ภรรยา ลูกเลี้ยง เป็นต้น พ่อแม่อาจจะรู้สึกว่า ตนเองไม่สามารถรักลูกคนนี้ได้เลย ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะอคติบางอย่างที่เรามีต่อเด็ก และตัวเราเองอาจจะไม่พร้อมทำให้ความรักที่ควรมีให้เขาสามารถเกิดขึ้นมาได้
ซึ่งผลจากการที่รักลูกไม่เท่ากันหรือไม่รักลูก เมื่อลูกรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้ได้ ผลกระทบที่ส่งผลต่อเขาโดยตรง ได้แก่
- เขาอาจจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป เพราะขนาดพ่อแม่ของตัวเองยังไม่รักเขาเลย
- การรับรู้ในคุณค่าของตัวเองติดลบ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถยอมรับตัวเอง และพัฒนาตัวตนที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาในอนาคตได้
- เด็กบางคนเลือกที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ่อแม่หันกลับมามองและสนใจเขา ถึงแม้สิ่งที่เขาทำจะเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น
- ลูกบางคนเลือกที่จะทำตัวดี ขยันเรียน เรียนให้ได้คะแนนดีๆ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจและชื่นชมเขาบ้าง
- ลูกบางคนเลือกที่จะทำตัวตลกๆ หรือ ทำตัวบ้าๆ บอๆ เพื่อให้พ่อแม่สนใจสิ่งที่เขาทำ
- ลูกบางคนเลือกที่จะทำเรื่องร้ายกาจ แกล้งพี่น้องตัวเอง ทำให้ข้าวของเสียหาย เพื่อให้พ่อแม่ดุด่าเขา เพราะการดุด่าอาจจะเป็นความสนใจเพียงอย่างเดียวที่เขาได้รับจากพ่อแม่
ความพยายามที่ไม่เป็นผล นานวันเข้าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ กัดกินหัวใจเกิดเป็นบาดแผลทางใจ และรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพ่อแม่และพี่น้อง
- ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เด็กอาจจะทำตัวห่างเหิน และไม่อยากใกล้ชิดกับพี่น้องตนเอง เพราะรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นน้องหรือพี่ได้รับความรักในขณะที่ตัวเองไม่เคยได้รับเช่นนั้น อยากเกลียดพี่น้องตนเอง แต่ก็รู้ในใจลึกๆ ว่าไม่ใช่ความผิดของพี่น้องที่พ่อแม่รักเขามากกว่าตนเอง
- เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะความเครียด ความเกลียดตัวเองจากการไม่ได้รับความรักส่งผลต่อการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ยิ่งทำให้ไม่รู้ว่าตนเองจะอยู่ไปเพื่อใคร หรือสิ่งใด? ดังนั้น ลูกที่เติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกว่า “พ่อแม่ไม่รักตัวเอง” หรือ “พ่อแม่รักพี่น้องมากกว่าตนเอง” อาจจะต้องกลับมาทำความเข้าใจตัวเราเอง เพราะเราไม่สามารถแก้ไขพ่อแม่ของเราได้
‘เรา’ ในฐานะลูกที่พ่อแม่ไม่สามารถรักเราได้เท่ากับพี่น้องคนอื่น
หรือไม่สามารถรักเราได้อย่างเต็มที่
ขั้นที่ 1 ยอมรับ และอนุญาตให้ตนเองรู้สึกโกรธ
เราต้องยอมรับว่า “ไม่เป็นไรที่พ่อแม่ไม่รักเราเท่ากับพี่น้องคนอื่น” หรือ “ไม่เป็นไรที่พ่อแม่ไม่สามารถรักเราได้” ไม่ใช่ความผิดของเราเลยที่พ่อแม่ทำเช่นนั้น เพราะพ่อแม่เป็นคนธรรมดา และเรามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาเช่นกัน
ขั้นที่ 2 หาที่พึ่งพิงทางใจ หรือ พื้นที่ปลอดภัย
เราต้องหาที่พึ่งทางใจที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวให้เราก้าวต่อไปได้ อาจจะเป็นบุคคลอื่นในครอบครัวที่เขารักและหวังดีต่อเรา หรือผู้ใหญ่รอบข้างที่ให้คำแนะนำเรา ช่วยเหลือเราได้ เช่น คุณครู จิตแพทย์ หรือผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ถ้าไม่ใช่บุคคล อาจจะเป็นความเชื่อ หรือสิ่งอื่นๆ ที่สามารถเป็นที่พื้นที่ปลอดภัยให้กับเราได้ ข้อสำคัญคือบุคคลหรือพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำให้เรารู้สึกสบายใจ และเป็นตัวของตัวเองได้
ขั้นที่ 3 บอกความรู้สึกของเราออกไปให้พ่อแม่ได้รับรู้
ถ้ามีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่ของเราอย่างตรงไปตรงมา ลองบอกความรู้สึกที่เรามีให้พ่อแม่ได้รับรู้ ถึงแม้ผลที่ออกมา คือ พ่อแม่ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ อย่างน้อยๆ เราได้บอกสิ่งที่เรารู้สึกออกไป เราจะได้ไม่รู้สึกค้างคาใจ ที่สำคัญวันนี้พ่อแม่อาจจะไม่ยอมรับ แต่อย่างน้อยเขาได้รับรู้แล้วว่าเรารู้สึกอย่างไร สักวันพ่อแม่อาจจะยอมรับและยอมปรับความเข้าใจกับเราก็เป็นไปได้
ขั้นที่ 4 เรียนรู้ที่จะรักตัวเองก่อน
ถึงแม้พ่อแม่ไม่สามารถรักเราได้ แต่เราสามารถรักตัวเราเองได้ ถ้าวันนี้ยังไม่พร้อมรักตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฝืน ค่อยๆ หาจุดดีของตัวเรา ค่อยๆ หาสิ่งที่เราสบายใจที่จะทำ และสิ่งที่เราอยากจะเป็น การลงมือทำคือคำตอบของการเพิ่มความรักให้กับตัวเราเอง ยิ่งเราทำอะไรเพื่อตัวเรา เราจะค่อยรับรู้ถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
ขั้นสุดท้าย หากวันใดที่เรากลายเป็นพ่อแม่ อย่าทำผิดซ้ำเดิมกับลูกของเรา
อนาคตเมื่อเรามีลูก เราสามารถรักลูกของเราได้อย่างเต็มที่ ไม่ทำให้เขาเจ็บปวดเหมือนที่เราเคยเป็นมา
‘เรา’ ในฐานะพ่อแม่ที่ไม่สามารถรักลูกได้เท่ากัน หรือ ไม่สามารถรักลูกได้
‘ความรัก’ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น มันอยู่เหนือการควบคุมบงการของมนุษย์เรา แต่ ‘ความรู้สึก’ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ข้ออ้างของการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของ ‘พ่อแม่’ ที่พึงมีต่อ ‘ลูกทุกคน’ อย่างเท่าเทียม
เมื่อเราทราบเช่นนี้แล้ว ในฐานะพ่อแม่ เราทำอย่างไรได้บ้าง?
ขั้นที่ 1 เราต้องตระหนักรู้ก่อนว่า “ตัวเรารักลูกไม่เท่ากัน” หรือ ที่แย่ไปกว่านั้น คือ “เราไม่ได้รู้สึกรักลูกคนนี้เลย”
สัญญาณที่บ่งชี้ว่า เรารักลูกไม่เท่ากัน หรือ ไม่ได้รักลูกคนนี้ ได้แก่…
- เรารู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับลูกคนหนึ่งมากกว่าอีกคน ในทางกลับกันเรารู้สึกเครียด หงุดหงิด รำคาญ หมั่นไส้ กับลูกอีกคน ทั้งๆ ที่ลูกอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลย หรือเขาแค่ทำอะไรแบบเด็กทั่วไปแต่กลับทำให้เรารู้สึกไม่อยากอยู่ใกล้
- เราใช้น้ำเสียงกับลูกไม่เหมือนกัน กับคนหนึ่งเราพูดกับเขาอย่างอ่อนโยน ใช้การขอให้เขาทำมากกว่าการสั่ง ในขณะที่ลูกอีกคนหนึ่งเรามักใช้น้ำเสียงแข็ง ดัง ดุ ใส่เขา เรามักสั่งเขามากกว่าพูดขอร้องเขาดีๆ
- เรามีช่วงเวลาดีๆ เช่น อ่านนิทาน ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวกับลูกคนหนึ่ง ในทางตรงข้าม เรามักมีช่วงเวลาแย่ๆ เช่น ทำโทษ สั่งให้ทำงานบ้าน ทะเลาะกันกับลูกอีกคนมากกว่า
- เวลาเราคุยกับใครๆ เรามักพูดถึงลูกคนหนึ่งในด้านดี หรือพูดถึงลูกคนนี้บ่อยกว่าพูดถึงลูกอีกคน หรือเราสามารถนึกถึงข้อดีของลูกได้ง่ายและมากกว่าลูกอีกคนหนึ่ง
- เรายอมรับไม่ได้ เมื่อมีคนบอกว่า ‘เราลำเอียง’ และ ‘เรารักลูกไม่เท่ากัน’ หรือ มีอคติกับประโยค ‘พ่อแม่ไม่รักลูก’ หรือ ‘พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน’ เพราะแท้จริงแล้วเรายอมรับตัวเราเองไม่ได้ว่า เราเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราจึงพยายามหนีความจริงข้อนี้อยู่
ขั้นที่ 2 เมื่อเราตระหนักรู้ แล้วเราควรยอมรับตัวเราเอง
เราต้องยอมรับก่อนว่า “เรารักลูกไม่เท่ากัน” หรือ “เราไม่ได้รักลูกคนนี้” เพราะพ่อแม่บางคนยอมรับไม่ได้ พาลไปสู่การเกลียดตัวเอง เกลียดลูกมากขึ้นไปอีก ซ้ำร้ายเมื่อเกิดความย้ำคิดเรื่องความรู้สึกทางลบที่มีต่อลูกตัวเอง ก็เริ่มคิดว่า “เราเป็นพ่อแม่ที่แย่มาก” “เราไม่ควรค่าพอที่จะเป็นพ่อแม่” ทำให้ความคิดลบย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง ดังนั้น เมื่อยอมรับได้แล้วว่าเรามีอคติต่อลูกเรา เราควรยอมรับด้วยว่า “ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับใคร เพราะเรายังเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง มีรัก มีชัง”
ขั้นที่ 3 แยกความรู้สึกออกจากหน้าที่ (พ่อแม่)
เราต้องระวังไม่ให้ความรู้สึก หรือความคิดภายในใจที่เรามีส่งผลต่อวิถีที่เราปฏิบัติต่อลูก กล่าวคือ ปฏิบัติต่อเด็กๆ อย่างเท่าเทียม แม้ว่าภายในใจเราอาจจะรักพวกเขาไม่เท่ากันก็ตาม
ปฏิบัติต่อลูกในฐานะพ่อแม่ของเขา เลี้ยงดู ดูแล ให้ปัจจัยสี่ สอนวินัย สอนเขาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่
การเป็นพ่อแม่จึงเป็นมากกว่าผู้ให้กำเนิด เพราะหน้าที่พ่อแม่จะสมบูรณ์เมื่อเราทำหน้าที่ของเราโดยทิ้งอคติและความรู้สึกไว้ข้างหลัง “หน้าที่ควรมาก่อนความรู้สึกเสมอ”
เรามักเชื่อว่า “พ่อแม่รักลูกโดยปราศจากเงื่อนไข” แต่ลูกนั้นรักพ่อแม่ของเขาเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ว่าเราจะรักลูกหรือไม่ รักไม่เท่ากันอย่างไร ลูกรักเราโดยปราศจากเงื่อนไข เขาไม่สนใจว่าพ่อแม่เขาจะยากดีมีจน รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เขายอมรับตั้งแต่แรกพบและรักเราอย่างไม่มีข้อแม้ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะรักเขาหรือไม่ เราทำให้เขาเกิดมาเป็นลูกของเรา อย่างน้อยเราต้องทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้กับเขา
ขั้นที่ 4 หาตัวช่วยในวันที่เหนื่อยล้า หาเวลาพักให้กายใจบ้าง
บางครั้งความเหนื่อยล้าที่ยาวนานอาจจะทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อลูกของตนเองได้เช่นกัน เด็กบางคนไม่ได้เกิดมาเลี้ยงง่าย มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องคอยระวังมากมาย ดังนั้น เป็นธรรมดาที่พ่อแม่จะเกิดอาการท้อและอยากถอดใจ ทิ้งหน้าที่ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง
พ่อแม่บางคนชีวิตก่อนมีลูกเคยไปเที่ยวเฮฮากับเพื่อนๆ ไปเที่ยวทุกสุดสัปดาห์ หรือไปดูหนัง ฟังเพลง กินดินเนอร์กันสองต่อสอง ในวันที่มีลูก เรื่องเหล่านี้แทบจะพับเก็บเข้ากรุ กว่าจะได้ทำอีกทีคงลืมไปแล้วว่าตัวเองก็เคยทำเรื่องเหล่านี้
ดังนั้น การที่ลูกเกิดมา พ่อแม่บางคนรับไม่ได้ว่า วิถีชีวิตตัวเองต้องกลับตาลปัตรเช่นนี้ เมื่อรู้แล้วว่าเราไม่ใช่คนที่จะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เราต้องหาทางสายกลางที่ทำให้เราไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป ลองคุยกับสามีหรือภรรยาเรา ผลัดเวรกันบ้าง ไปออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ หรือ จะลองหาตัวช่วยอื่นๆ ในครอบครัวเราบ้าง ปู่ย่าตายาย อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ไว้ใจได้ ในวันที่เราหมดแรงจริงๆ นอกจากนี้เมื่อรู้ว่าตัวเองเริ่มไม่ไหวกับชีวิต ตื่นมาก็เศร้า หลับตาลงก็เศร้า ร้องไห้ โมโห หงุดหงิดอยู่เสมอๆ การไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา อาจจะช่วยให้เราดีขึ้นได้
ข้อควรระวังในคุณแม่เพิ่งคลอด อาจจะเป็นโรคซึมเศร้า (The Baby blues) ได้ เนื่องจากฮอร์โมนหลังคลอดที่เปลี่ยนแปลงกระทันหัน คุณพ่อควรช่วยระวังคุณแม่ด้วย ถ้ามีอาการที่น่ากังวลหรือสงสัยควรพบจิตแพทย์ด่วน
ขั้นที่ 5 ความรักที่เรามีไม่มาก แต่เพิ่มขึ้นได้
ในพ่อแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน เราควรจะเริ่มมองหาจุดดีในตัวลูกเรา โดยเราจะเจอสิ่งดีๆ มากขึ้น เมื่อเราตั้งใจมองหา มากกว่าจับผิดลูกเรา แง่งามที่ลูกเรามีอาจจะเห็นได้ถ้าเราตั้งดู เล่นกับลูกบ้าง เล่นไม่เป็น แนะนำให้ลองเข้าไปนั่งอยู่กับเขา เชื่อเถอะลูกเราเขารู้สึกดีแล้ว แค่เรามานั่งด้วย ดีไม่ดีเขาจะชวนเราเล่นเอง
ส่วนพ่อแม่ที่ไม่เคยรักลูกคนนี้เลย อยากให้ลองหาเวลาอยู่กับลูกอย่างมีคุณภาพ สัญญากับตัวเองว่า “เราจะไม่จับผิดเขา เราจะโกรธให้น้อย ยิ้มให้มาก รับฟัง และเปิดใจ” ลูกต้องโอกาสจากเรา ลองให้โอกาสลูกเป็นที่รักของเราบ้าง
ขั้นที่ 6 ไม่พร้อมรัก อย่าฝืนรัก
อย่าเกลียดตัวเอง เมื่อเราไม่สามารถรักลูกเราได้ในวันนี้ หรือ เรารักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักต้องการเวลา เราต้องให้เวลาตัวเรากับลูกบ้าง ไม่มีความรักไหนเกิดได้ในเวลาเพียงข้ามวันข้ามคืน
“อยากรักเขาให้มากขึ้น” เป็นจุดเริ่มต้นและเป้าหมายที่ดี เมื่อเราตั้งไว้ เราค่อยๆ เดินไป เติมรักในใจเราทีละน้อย มองเข้าไปในดวงตาของลูก คุยกับเขา ฟังเสียงเขา แม้วันนี้เขายังพูดจาไม่เข้าหู ทำตัวไม่น่ารักในสายตาเรา อย่างน้อยเราได้มองเห็นเขาแล้ว และเขารู้แล้วว่า “เขามีตัวตนในสายตาพ่อแม่นะ”
อย่าฝืนรักในวันที่ไม่พร้อม เพราะในเมื่อเด็กรับรู้ได้ถึงความจริงใจจากเรา เขาย่อมรับรู้ได้ถึงความฝืนใจ และแสร้งทำของเราเช่นกัน ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป
ข้อที่ 7 สำคัญมาก ถ้าสุดๆ จากใจแล้ว รักไม่ได้ไม่เป็นไร ขออย่าทำร้ายกันก็พอ
พ่อแม่บางคนสุดท้ายก็ไม่สามารถรักลูกตัวเองได้จากใจ หรือ รักลูกไม่เท่ากัน ถ้าลูกรับรู้เขาย่อมเจ็บปวด แต่สิ่งที่เจ็บปวดมากกว่านั้น คือ การทำร้ายเขาด้วยความอคติที่เรามีส่งผ่านไปสู่ “คำพูด” และ “การกระทำ” ของเรา เช่น พูดจาประชดประชัน ดูถูก เสียดสีทำร้าย และการทำร้ายทางร่างกาย
สำหรับลูก “แค่ไม่รักเขา” มันก็เจ็บมากพอแล้ว อย่าทำร้ายเขาเพิ่มเลย
สุดท้าย เราเองต้องกลับมาทบทวนเยอะๆ ว่า “ความรักที่เรามีให้ลูกไม่เท่ากัน หรือ มีให้ลูกไม่ได้” เป็นเพราะตัวเราเองมีปมค้างคาในอดีตที่เราไม่เคยแก้มันหรือเปล่า บางครั้งเราแก้มันด้วยตัวเองไม่ได้ การไปพบจิตแพทย์อาจจะช่วยเราได้
ลูกเราไม่ดีพอ หรือ ตัวเราเองต่างหากที่ไม่พอดี
ขอเป็นกำลังใจให้กับพ่อแม่ และลูกๆ ที่กำลังหาคำตอบให้กับตัวเอง
ขอให้ทุกท่านมีความเข้มแข็ง และก้าวข้ามผ่านความรู้สึกนี้ไปได้