- หลังจากกระทรวงศึกษาธิการมีมิติให้เลื่อนเปิดเทอมในภาคการศึกษาที่ 1 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ทำให้คาดเดาไม่ได้เลยว่าอนาคตข้างหน้าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ เด็กๆ จะกลับมาเรียนได้ตามปกติหรือเปล่า การวางแผนรับมือระยะยาวจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
- The Potential ต่อสายตรงหาครูตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อชวนคุยว่าแผนการรับมือของพวกเขาเป็นอย่างไร
- “เราต้องกลับมาที่แก่นว่าจริงๆ แล้วการศึกษามันมีไปเพื่ออะไร เรื่องที่เขาควรจะเรียนรู้คืออะไร ในสภาวะแบบนี้ เรื่องที่เกี่ยวกับการกลับมาสำรวจตัวเองหรือเปล่า วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับโรคต่างๆ หรือเปล่าที่เขาควรเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ เคยมีโรคระบาดอะไรบ้าง การเล่นกับคอนเทนต์แบบนี้ ทำยังไงให้มันน่าสนใจ” ครูแอม – นิธิ จันทรธนู โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าปีนี้ชีวิตของพวกเราเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แพลนต่างๆ ที่วางไว้เป็นอันต้องล่มเพราะสถานการณ์โควิด-19 ไหนจะการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ‘รวมกันเราตาย แยกกันอยู่เรารอด’ การทำงานเปลี่ยนเป็น work from home ร้านอาหารเปลี่ยนเป็นสั่งกลับบ้าน
ประเด็นร้อนในวงการศึกษา (และอันที่จริงต้องบอกว่าเป็นประเด็นร้อนของทุกคนที่มีเด็กนักเรียนอยู่ที่บ้าน) ตอนนี้คงเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีมติเลื่อนเปิดเทอมในภาคการศึกษาที่ 1 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
กระแสตอบรับในโลกโซเซียลมีหลากหลาย ทั้งข้อกังวลของนักเรียนว่าถ้าเลื่อนปิดเทอมจะทำให้มีเวลาเรียนน้อยลง และไม่มีปิดเทอมย่อยไว้พัก ฝั่งพ่อแม่ก็มีทั้งมุมมองบวกว่าเป็นโอกาสที่ได้ใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น บ้างก็เครียดเพราะไม่มีคนดูแลลูกรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่หายไปเนื่องจากไปทำงานไม่ได้ หรือ ไปได้แต่ได้ค่าจ้างน้อยลง ฝั่งครูเองจะมีเรื่องแผนการสอนที่วางไว้ก็คงต้องเปลี่ยน และต้องเค้นสมองหาข้อสรุปกันหลายๆ กรณีว่า ถ้ากำหนดเปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคมนั้นเปิดได้จริงจะมีการเรียนการสอนอย่างไร แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปไกลกว่านี้ จะมีมาตรการอะไรมารองรับดี?
เพราะยังตอบไม่ได้ว่าอนาคตข้างหน้าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ การวางแผนรับมือระยะยาวจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะถ้าถึงเวลาเปิดเทอมแล้วสถานการณ์โรคระบาดยังไม่ดีขึ้น social distancing ยังคงมีอยู่ เราจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร The Potential ต่อสายตรงหาครูตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อชวนคุยว่าแผนการรับมือของพวกเขาเป็นอย่างไร
1
เริ่มกันที่คนแรก ครูเอ๋ – ปัญชลีย์ ฉัตรอริยวิชญ์ ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านปะทาย จังหวัดศรีสะเกษ เธอเริ่มด้วยการเล่าให้ฟังถึงบริบทในห้องเรียน ครูเอ๋สอนนักเรียนแบบ PBL (Problem based learning การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นตัวนำ) ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการแก้โจทย์ปัญหาและทำงานร่วมกัน แต่สถานการณ์ตอนนี้การเรียนอาจต้องเปลี่ยน ครูเอ๋ยังคงการเรียนแบบ PBL แต่เปลี่ยนจากทำงานในห้อง เป็นส่งโจทย์ให้นักเรียนต่างคนต่างทำที่บ้านแทน ตามมาตรการ social distancing
คำถามที่ตามมา ถ้าจะให้นักเรียนเรียนที่บ้าน แล้วเครื่องมือที่ใช้สอนพวกเขาละ? เครื่องมือที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้นระบบออนไลน์ ที่ใครๆ ก็มองว่าง่าย สะดวก สามารถเข้าถึงทุกคน เพราะยุคนี้ใครๆ ก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ตเป็น แต่คงไม่ใช่กับนักเรียนของครูเอ๋ที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี เด็กบางคนไม่มีแม้แต่อินเทอร์เน็ตใช้ ฉะนั้น ครูเอ๋วางแผนว่า เธอจะใช้เครื่องมือออนไลน์ให้น้อยที่สุด เน้นแจกเป็นใบงาน นัดรวมกลุ่มคุยกันสัปดาห์ละครั้งทางออนไลน์หรือเจอหน้ากัน ถ้านักเรียนคนไหนมีปัญหาครูเอ๋จะไปสอนที่บ้าน
“ความเป็นอยู่ของนักเรียนที่นี่ ครึ่งหนึ่งอยู่กับตายาย พ่อแม่ไปทำงานที่ต่างจังหวัด ส่วนอีกครึ่งพ่อแม่ทำงานรับจ้างทั่วไป เช่น ทำงานปั๊ม หาของป่าขายที่ตลาด แล้วส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ผู้ปกครองไม่สามารถช่วยเรื่องเรียนได้ แต่พวกเขาพอจะช่วยสอนเด็กในเรื่องทักษะชีวิต เช่น ทำสวน เลี้ยงสัตว์
“ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เครียดนะ เพราะส่งลูกมาอยู่โรงเรียนก็มีครูคอยดูแล มีข้าวให้กินครบทุกมื้อ ผู้ปกครองก็ไปทำงาน พอต้องเปลี่ยนมาเรียนอยู่บ้านพ่อแม่มีความเครียดเพิ่มขึ้น ไหนจะต้องทำงาน ไหนจะต้องดูแลลูก ยิ่งถ้าเรียนแบบออนไลน์ เด็กเล็กจะถูกทิ้งให้อยู่กับหน้าจอมากกว่าเดิม ไม่ได้ไปไหน
“ทางโรงเรียนก็คุยกันว่าจะออกไปเยี่ยมเด็กแต่ละบ้าน ไปดูว่าเราสามารถช่วยเหลือเด็กได้อย่างไร คุยกับผู้ปกครอง เพราะเด็กที่นี่มีหลายระดับ มีทั้งที่พอจะดูแลตัวเองได้ กลุ่มเด็กอ่อน กลุ่มเด็กพิเศษ การสอนเราคงให้โจทย์ตามสถานการณ์ คิดกิจกรรมให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับครู กับทางบ้าน ครูจะต้องไปเยี่ยมนักเรียนบ้าง”
นอกจากแผนการรับมือ ครูเอ๋เล่าว่าตอนนี้เธอคิดบทเรียนสำหรับเทอมหน้าแล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เนื้อหาเกี่ยวกับที่มาของเชื้อไวรัส สถานการณ์การแพร่ระบาด ผลกระทบที่เกิดทั้งที่ดีและไม่ดี การดูแลตัวเองควรทำอย่างไร วิธีการอยู่รอด การแพร่ระบาดในสังคมสะท้อนอะไรบ้าง เชื่อมโยงเนื้อหาในหนังสือเรื่องระบบร่างกาย เกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วนใดบ้าง พร้อมกับชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมเย็บหน้ากากผ้าและทำเจลล้างมือ
รวมถึงครูเอ๋จะเชื่อมเนื้อหาที่เรียนไปถึงเรื่องของเพศวิถี เพราะตอนนี้นักเรียนของเธอกำลังสนใจดูซีรีส์เกี่ยวกับ LGBTQ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer หรือ Questioning) และอยู่ในช่วงวัยอยากรู้อยากลอง ถือเป็นโอกาสที่จะได้สอนพวกเขาเรื่องความหลากทางเพศ การเข้าใจตนเองและคนอื่น วิธีป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โรคติดต่อทางเพศมีความเหมือนหรือความต่างกับการติดโควิด-19 อย่างไร
2
ครูยอดรัก ธรรมกิจ โรงเรียนบ้านอาวอย จังหวัดศรีสะเกษ สถานการณ์โรงเรียนของครูยอดรักตอนนี้กำลังรอฟังนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการว่า ถ้าเปิดเทอมแล้วรูปแบบการสอนจะเป็นเช่นไร ซึ่งตอนนี้ครูยอดรักกำลังวางโครงสร้างการเรียนการสอน นักเรียนของครูยอดรักเองมีปัญหาเช่นเดียวกับนักเรียนของครูเอ๋ คือ ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยี
“ตอนนี้เราวางโครงเนื้อหาไว้แล้วว่าจะสอนอะไรเด็กบ้าง พอดีเทอมหน้าผอ. ขอให้เรามาช่วยสอนภาษาอังกฤษเด็กป.1-ป.4 เนื้อหาอะไรเราวางไว้เรียบร้อย หนังสือก็สั่งมาละ ส่วนรูปแบบการสอนคงต้องรอกระทรวงว่าจะมีนโยบายอะไร ถ้ากระทรวงให้เรียนแบบออนไลน์ ก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้เด็ก ตัวเราที่เป็นครูก็ต้องเตรียมสื่อการสอน ตอนนี้ก็วางแผนว่าถ้ามันต้องออนไลน์จริงๆ ก็จะถ่ายคลิปลงยูทูปส่งให้เด็ก หรือถ้าเด็กคนไหนไม่พร้อมเรียนออนไลน์ เราก็จะเรียกมาสอนเป็นรายบุคคลแทน
“เด็กที่นี่บางคนไม่มีแม้แต่ทีวี ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ถ้าเรียนออนไลน์มันก็มีปัญหาหลายอย่างตามมา ต่อให้มีโทรศัพท์ มีอินเทอร์เน็ต แต่ความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่นี่ไม่ได้เหมือนกับในเมืองนะ ที่สำคัญเด็กส่วนใหญ่อยู่กับตายาย จะให้เขามานั่งเฝ้าลูกหลานเรียน เอาตรงๆ มันยากมากๆ โดยเฉพาะสำหรับเด็กป.1 – ป.3 แต่ถ้าสถานการณ์มันยังเลวร้ายอยู่อย่างนี้ การสอนออนไลน์คงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเด็กๆ ได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ดีกว่าเขาอยู่บ้านเฉยๆ
“ถ้าเด็กคนไหนไม่พร้อมจริงๆ เราจะเรียกให้มาเรียนที่บ้านเรา สักวันละคนสอนคนไม่ต้องทั้งห้อง นี่ก็วางแผนละว่าจะทำห้องๆ หนึ่งในบ้านให้เป็นโรงเรียนสำหรับเด็ก อย่างน้อยเราได้เจอเขาได้อยู่กับเขา ดูแลเขา”
นโยบายเบื้องต้นของโรงเรียนครูยอดรักจะเรียกผู้ปกครองมาทำความเข้าใจก่อน ชี้แจงว่าโรงเรียนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนอย่างไร เพราะผู้ปกครองต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนของลูก
“การสอนของที่นี่เราเน้นให้เด็กทำกิจกรรม active ถ้าเปลี่ยนไปเรียนที่บ้านคงไม่สามารถทำได้ เพราะเราสอนเองเราจะเป็นคนเตรียมอุปกรณ์ให้ ถ้าให้เด็กเตรียมเองจะยาก คงทำได้แค่ฟังครู จดเนื้อหาตาม แล้วก็ทำใบงาน มันก็ส่งผลกระทบกับเด็กเหมือนกันนะ เขาไม่มีโอกาสได้เรียนรู้จากของจริง เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งวิชาภาษาอังกฤษ เด็กต้องฝึกพูด ฝึกปฎิบัติ ต้องทำงาน ต้องแสดงละคร สิ่งพวกนี้จะหายไปหมดเลย
“ก็คงต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ช่วยพาเด็กทำกิจกรรม active อย่างน้อยๆ ในพื้นที่บริเวณบ้าน เด็กได้ปลูกผัก ทำความสะอาดบ้านบ้าง ทำกับข้าว เลี้ยงไก่ เรียนรู้ทักษะชีวิตบ้างดีกว่ารู้ตัวหนังสือเฉยๆ ตอนนี้พอเลื่อนเปิดเทอมเด็กมีเวลามากขึ้น เขาก็อยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำงาน ปลูกมันสำปะหลัง แพ็คทุเรียนกรอบส่งขายต่างประเทศ”
3
ครูแนน – ปาริชาต ชัยวงษ์ สอนวิชาพระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และวิชาประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จังหวัดนนทบุรี เธอเล่าว่า ถ้าในมุมภาพรวมของโรงเรียนยังไม่มีแผนที่แน่นอน เพราะสถานการณ์คาดเดาไม่ได้ โรงเรียนยังรอประกาศจากส่วนกลาง ตัวเธอเองไม่แน่ใจว่า ถ้าเลื่อนเปิดเทอมไปเป็นเดือนกรกฎาคมจะสามารถกลับมาเรียนได้ปกติ ซึ่งต้องรอส่วนกลางว่าจะมีมาตรการอะไร
“ที่โรงเรียนคุยกันว่าเป็นไปได้ไหมที่กระทรวงจะกระจายอำนาจ ให้โรงเรียนประเมินสถานการณ์และตัดสินใจเอง หรืออาจจะทำแผนเอ แผนบี แผนซีออกมา แล้วให้โรงเรียนเป็นคนเลือกว่าจะทำตามแผนไหน เช่น แผนเอ เปิดเรียนเดือนกรกฎาคม ถ้าโรงเรียนไหนไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสามารถเปิดเรียนได้ปกติ หรือบางโรงเรียนอาจจะเปิดเฉพาะบางระดับชั้น ตัวเราเองไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังมองปลายทางยังไง ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ไปจนถึง ณ จุดไหน และเมื่อไรที่เราจะออกมาใช้ชีวิตกันได้ พอเราไม่รู้ตรงนี้เราก็แพลนอะไรไม่ได้มาก”
ถ้าในมุมปัจเจกบุคคล ครูแนนบอกว่า เธอคิดๆ ไว้เหมือนกันว่า ถ้าโรงเรียนไม่สามารถกลับมาเปิดเรียนได้ตามปกติ เธอควรปรับเปลี่ยนการสอนอย่างไร ระบบออนไลน์คงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเด็กที่นี่ส่วนใหญ่มีความพร้อมเข้าถึงระบบออนไลน์ได้
“ถ้าต่อไปมันต้องเรียนออนไลน์จริงๆ โจทย์ต่อไปจะทำยังไงให้เด็กอยู่หน้าจอน้อยที่สุด ไม่ต้องเรียนออนไลน์ทุกวิชา อย่างวิชาเราควรพาเขาออกไปทำอย่างอื่นให้ได้มากที่สุด ก็คิดอยู่นะว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้าปรับเป็นเด็กเลือกอ่านหนังสือสักเล่ม แล้วเขียน reflection ภายใต้ประเด็นเรียนรู้ที่กำหนดร่วมกัน แล้วเรา feedback รายบุคคล หรือออกไปหาประสบการณ์จากที่อื่นแล้วเขียนงาน มาคุยกลุ่มกัน ก็ปรับการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สนใจรายบุคคลแทน เราอาจจะต้องขยับเนื้อหา ให้ตอบสนองบริบทปัจจุบันที่เด็กกำลังเจออยู่ และตอบจุดประสงค์ของการเรียนรู้ด้วย อะไรที่จะช่วยซัพพอร์ตให้เขาเติบโตภายใต้กรอบวิชาเรา
“ถ้าเด็กประถมเนื้อหามันสำคัญ เป็นความรู้พื้นฐานที่เขาต้องได้เพื่อไปต่อยอด แต่ระดับมัธยมปลายเนื้อหาใช้เป็นแค่ทางผ่านเพื่อให้เขาได้ทักษะบางอย่าง ได้คิด ได้รู้สึก ได้ปฎิบัติ เพื่อมองโลกและมองตัวเองในมุมอื่นๆ มันไม่ใช่แค่วิชาเรียน มันคือทักษะแห่งชีวิต อะไรก็ตามที่อยู่รอบตัวเรา แต่ที่ผ่านมามันแค่ถูกจับเอามาใส่กล่อง ความรู้มันถูกคัดเลือกมาเป็นความรู้มือสองให้เด็ก ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราไปยึดติดกับเนื้อ เราจะไม่ได้ถอยกลับมามองว่าสิ่งนี้มันซัพพอร์ตการเติบโตของเด็กยังไง ถ้าเขาต้องการแค่เนื้อทำไมต้องมาเรียนกับเรา? ไปเปิดหนังสือ หาในกูเกิ้ลเอาก็ได้ ที่เด็กจำเป็นต้องมีเราไม่ใช่เพราะเรารู้เนื้อหามากกว่า แต่เพราะเราอยู่ตรงนี้เพื่ออ่านพฤติกรรมการเรียนรู้ของเขา แล้วหาวิธีการซัพพอร์ตการเติบโตของเขา การเรียนรู้มันยืดหยุ่นมาก ถ้าไปยึดติดกับเนื้อหาก็คือจบ ไปต่อไม่ได้”
แม้คนจะพูดกันมากขึ้นว่า สมัยนี้คนเราสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาโรงเรียน ยิ่งพอตอนนี้การเรียนออนไลน์เข้ามามีบทบาทถึงในรั้วโรงเรียน ในมุมครูแนนมีความคิดว่า ต่อให้มีเครื่องมือช่วยให้คนหาความรู้ได้เอง แต่พื้นที่ๆ ให้คนมารวมตัว เรียนรู้รวมกันยังคงจำเป็น เพราะพื้นที่นี้ยังมีฟังก์ชันอื่นๆ ที่ระบบออนไลน์ไม่สามารถให้ได้
“ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามโรงเรียนว่ายังไง ถ้าโรงเรียนหมายถึงอะไรก็ตามที่เป็น Learning community เป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มคน ก็คิดว่ายังจำเป็นต้องมี คือเราต่างคนต่างไปเรียนก็ได้แหละ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราได้ฟังคนอื่น ได้สบตากันตรงๆ เราจะได้เห็นโลกในมุมที่เราไม่เคยเห็น เราจะได้เข้าใจในสิ่งที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน มันเป็นประสบการณ์ของคนอื่น เราไม่อาจเผชิญกับทุกประสบการณ์ในโลกด้วยตัวเองได้ แต่เมื่อไรที่เราอยู่กับคน 10 คนก็ 10 ประสบการณ์ ยิ่งถ้าเผชิญประสบการณ์ไปด้วยกัน มันก็ทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ได้ตระหนักว่าเราอยู่ในสังคมเดียวกัน ถ้าไปนั่งเรียนออนไลน์เฉยๆ มันก็ไม่ใช่มนุษย์รึเปล่า ซึ่งการมีพื้นที่พวกนี้อาจจะไม่ต้องเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าโรงเรียนในปัจจุบันก็ได้ มันคือที่ไหนก็ได้
“ระบบออนไลน์ยังมีข้อจำกัด เข้ามาแทนที่การเรียนรู้แบบเดิมไม่ได้ มันมีประสบการณ์บางอย่างที่เราจำเป็นต้องเจอไปด้วยกัน เช่น เด็กประถมเขาต้องเรียนรู้ที่จะรอคอย แบ่งปัน จัดการความขัดแย้ง มวลบรรยากาศการเรียนในห้องเรียนที่เราโฟกัสไปที่สิ่งเดียวกัน เทพลังไปที่มัน ไม่ใช่เดี๋ยวแมวร้อง แม่เรียกไปซักผ้า มันเป็นประสบการณ์เรียนรู้คนละแบบ
“แต่ที่แน่ๆ เราจะได้เห็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อเราได้เห็นว่าเด็กเขาบริหารเวลาได้เอง เขามีสิ่งที่สนใจและทุ่มเทกับมันเป็นพิเศษ เขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น และจำเป็นต้องใช้เวลาในโรงเรียนน้อยลงเรื่อยๆ ครูเองได้โฟกัสเด็กเป็นรายบุคคลมากขึ้น ระบบแบบเหมาโหลที่เคยเป็นมาจะถูกเขย่า หลังจากนี้โรงเรียนอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่า เวลาแต่ละนาทีที่เด็กอยู่ในโรงเรียนควรจะใช้ไปเพื่ออะไร”
4
แม้ตอนนี้แต่ละโรงเรียนจะอยู่ในช่วงเตรียมความพร้อม แต่บางโรงเรียนก็เริ่มเข้าสู่ระบบการเรียนออนไลน์แล้ว อย่างที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูแอม – นิธิ จันทรธนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการและสื่อสารองค์กร และครูสอนวิชาการละคร เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้โรงเรียนเริ่มการสอนออนไลน์ไปบ้างแล้ว เพราะโรงเรียนเปิด-ปิดเทอมตามมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงเรียนของเด็กพอดี
ครูแอมเล่าย้อนไปตอนเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดของโควิด-19 หนักขึ้น เป็นช่วงที่โรงเรียนสอบกลางภาคเสร็จพอดี นักเรียนกำลังหยุดพัก พอมีมาตรการให้คนกักตัว โรงเรียนตัดสินใจให้เด็กหยุดอยู่บ้าน ทีนี้โรงเรียนก็ต้องมาคุยกันว่าอีกครึ่งเทอมที่เหลือจะจัดการอย่างไร
“มันก็คือการเรียนทางไกล ซึ่งการเรียนทางไกลไม่จำเป็นต้องอินเทอร์เน็ตเท่านั้นนะ แต่โรงเรียนเราสำรวจนักเรียนเกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เราเลยเลือกสอนแบบออนไลน์ ซึ่งการสำรวจทรัพยากรพื้นฐานของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมากนะ บางโรงเรียนเด็กเข้าถึงออนไลน์ไม่ได้ 100% แน่นอน การเรียนทางไกลมันไม่ใช่อินเทอร์เน็ตอย่างเดียว มันมีช่องทางอื่นอีก เช่น วิทยุ ช่องโทรทัศน์”
เมื่อเลือกแล้วว่าจะเป็นระบบออนไลน์ งานแรกที่ต้องทำ คือ ให้ความรู้ครูเรื่องการสอนออนไลน์ว่าทำอย่างไร วางแผนว่าจะใช้แพลตฟอร์มอะไรสอนเด็ก โดยสำรวจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า เขาใช้ Microsoft teams ซึ่งอีเมลของอาจารย์และนักเรียนที่โรงเรียนใช้ของ Microsoft อยู่แล้ว มีแอคเคาท์ มีแบนด์วิดท์ที่รองรับได้ครอบคลุม โรงเรียนจึงตัดสินใจเลือกใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มหลัก ส่วนแพลตฟอร์มย่อยแล้วแต่วิชากำหนดเอง บางวิชาเด็กต้องทำโปรเจค อาจใช้ไลน์ (Line) หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ
“พอกำหนดวันเรียนเสร็จก็แจ้งผู้ปกครองต่อว่า โรงเรียนจะให้นักเรียนเรียนแบบออนไลน์ แต่เราบอกผู้ปกครองไว้ก่อนเลยนะว่าให้เด็กเป็นคนดูแลตัวเอง เพราะถ้าผู้ปกครองเข้ามามากเกินไปจะกลายเป็นเข้ามาควบคุม force ลูกตลอดเวลา ฉะนั้น เวลาจะส่งข่าวอะไรเด็กต้องรู้เป็นคนแรก เพราะเขาเป็นคนเรียน ถ้าผู้ปกครองรู้ก่อนจะกลายเป็นใช้อำนาจเหนือเด็ก เช่น ทำไมไม่ทำแบบนี้เพราะครูสั่งว่า… กลายเป็นอำนาจทับซ้อน เราก็เสนอว่าให้ผู้ปกครองอยู่ห่างๆ คอยดูแลเรื่องสำรับกับข้าว การบาลานซ์ในชีวิตลูก ส่วนเรื่องเรียนให้เด็กเป็นคนจัดการเอง ข้อดีคือโรงเรียนเราเป็นเด็กมัธยม ถ้าเด็กเล็กกว่านี้โจทย์อาจจะยากขึ้น”
ครูแอมเล่าต่อว่า ด้วยความที่โรงเรียนทดลองใช้ระบบออนไลน์ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เริ่มเห็นว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่ควรแก้ไข ถ้าสมมติต่อไปสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ ต้องเข้าสู่การเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ มี 3 เรื่องที่ต้องวางแผน คือ 1.การจัดเนื้อหาวิชา อะไรที่ไม่จำเป็น ต้องตัดออก 2.วิธีออกแบบภาระงานให้เด็กทำ และ 3.วิธีประเมินผล
“การสำรวจเนื้อหานี้สำคัญมาก เนื้อหาบางอันมันอาจจะ too much (เยอะเกินไป) สำหรับเด็ก ตามทฤษฎีแล้วการเรียนออนไลน์ 100% มันเป็นไปไม่ได้ ควรมีออฟไลน์ผสมด้วยจะทำให้นักเรียนเป็นอิสระ มีช่องทางการเรียนมากขึ้น ถ้าให้เรียนออนไลน์แบบ 100% มันไม่บาลานซ์ งานหนักอยู่ที่เด็ก งานเยอะขึ้น เพราะเมื่อครูไม่สามารถประเมินเด็กได้แบบเรียลไทม์ ก็ต้องดูจากหลักฐานการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งก็คือการบ้านไง (หัวเราะ) แล้วมันไม่สามารถส่งเดี๋ยวนั้นได้เลย กลายเป็นสะสมงาน
“พอมีบทเรียนตรงนี้ก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่เลยแหละ ทำยังไงให้เด็กได้เรียนรู้ในสภาวะที่เหมาะสม มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาเพื่อออนไลน์ เกิดมาเพื่อปฎิสัมพันธ์ แล้ววันหนึ่งต้องมาออนไลน์ตลอดเวลา เรารู้สึกว่ามันส่งผลต่อมิติการรับรู้ของความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จะให้เอาศาสตร์อะไรมาอธิบายก็เยอะแยะไปหมด เช่น ศาสตร์การเรียนรู้ ศาสตร์ทางจิตวิทยา มนุษย์ที่อยู่ในโลกเสมือนมากๆ มันจะเป็นยังไง ถึงเด็กยุคนี้จะเป็น digital age ก็เถอะ บางคนก็บอก ‘ชอบเล่นเกมนะครับครู แต่เวลาต้องมาเรียนออนไลน์ผมไม่ชอบเลย ผมเบื่อมากเลยอยู่แต่หน้าคอมตลอด’
“เรารู้สึกว่าการเรียนรู้ต้องมีระยะห่างมีช่องไฟที่พอดี ไม่งั้นอัดเด็กเกินไป ยิ่งเรียนออนไลน์ช่องไฟยิ่งต้องห่างไปอีก เพราะว่าเวลาให้งานเด็กเขาต้องมีเวลากำกับตัวเอง ไอเดียเบื้องต้นเราคิดว่าอาจจะเรียนเป็นบล็อก เช่น คอนเทนต์วิชานี้สอนและสอบให้เสร็จภายในหนึ่งอาทิตย์ อาจจะช่วยได้ เด็กจะได้โฟกัสไปเลยทีละวิชา เพราะทุกวันนี้เรียนวันละ 3-4 วิชา แล้วทุกวิชาจะมีงานให้เด็กทำหมดเลย มัน too much เกินไป แล้วการเรียนออนไลน์ไม่รู้ว่าจะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลงหรือเปล่าด้วย ทำให้แต่ละวิชาลดความคาดหวังลง วิธีประเมินผลเราไม่ใช้ข้อสอบให้เขียนงานตอบแทน สังเคราะห์งานจากคำถาม หรือวิชาอังกฤษสอบ speaking แทน”
ถือเป็นโจทย์สำคัญของการเรียนออนไลน์ การออกแบบจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนยังมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน ได้ลงมือปฎิบัติ นักเรียนสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนเข้ากับชีวิตจริงได้
“การที่เด็กปฏิสัมพันธ์กันเองในห้องมันก็เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็สูญเสียไปเหมือนกันพอมาเป็นการเรียนทางไกล แล้วออนไลน์มันมีแนวโน้มที่จะเป็น passive ทางเดียว หรือมันอาจจะมี interaction ได้ไม่เท่ากับออฟไลน์อยู่แล้ว จะทำยังไงให้มัน active และ meaning กับเด็กในเรื่องการเรียนรู้นั้นๆ”
วิธีหนึ่ง คือ การจัดสัดส่วนวิชาให้บาลานซ์ ไม่หนักไปทางเนื้อหาอย่างเดียว ให้เด็กมีกิจกรรมอย่างอื่นทำ นอกเหนือจากการนั่งอยู่หน้าจออย่างเดียว ครูแอมบอกว่าเป็นสิ่งที่โรงเรียนกำลังทำอยู่ วิชาส่วนใหญ่จัดการเรียนให้ผสมกันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ เขายกตัวอย่างวิชาศิลปะ เน้นให้เด็กลงมือปฎิบัติ ปลายเทอมมีโปรเจคให้เด็กทำ พอต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ เด็กยังคงทำโปรเจคเหมือนเดิม ซึ่งขึ้นกับตัวเด็กเองว่าอยากทำโปรเจคแบบไหน บางคนสร้างโมเดลโดยมีศิลปินที่ชื่นชอบเป็นต้นแบบ หรือบางคนออกแบบหนังสือ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ วิธีปรึกษาครู ทำผ่านออนไลน์แทน
“ถ้ามองว่ามันเป็นโอกาส ก็จะเป็นโอกาสดีที่ได้วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ จริงๆ มันก็ไม่ใหม่หรอก แต่เราแค่อย่าไปติดกับดักวิธีการ เราต้องกลับมาที่แก่นว่าจริงๆ แล้วการศึกษามันมีไปเพื่ออะไร เรื่องที่เขาควรจะเรียนรู้คืออะไร ในสภาวะแบบนี้ เรื่องที่เกี่ยวกับการกลับมาสำรวจตัวเองหรือเปล่า วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับโรคต่างๆ หรือเปล่าที่เขาควรเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ในยุคต่างๆ เคยมีโรคระบาดอะไรบ้าง การเล่นกับคอนเทนต์แบบนี้ ทำยังไงให้มันน่าสนใจ” ครูแอมกล่าวทิ้งท้าย
ครูแต่ละคนมีวิธีรับมือที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันพวกเขาคำนึงถึงนักเรียนเป็นหลัก การคิดแผนการสอนต้องสอดคล้องกับบริบทของเด็กและสถานการณ์ปัจจุบัน ในช่วงสภาวะแบบนี้เด็กควรเรียนรู้เรื่องอะไร และถึงแม้ว่าตอนนี้ออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ มนุษย์สามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า เด็กๆ ยังคงต้องการพื้นที่เรียนรู้ร่วมกับคนอื่นๆ พวกเขายังต้องการคนที่มาช่วยวิเคราะห์ ช่วยหาเครื่องมือสำหรับเรียนรู้ที่เหมาะสม และซัพพอร์ตการเติบโตของเขา นั่นก็คือครู