- ครูผู้ช่วย ผู้ดูแลเด็ก ครูคู่ชั้นคืออะไร? แล้วเป็นครูปฐมวัยต้องจบอะไรมา? หน้าที่ของครูปฐมวัยเป็นอย่างไร? และอีกสารพัดคำถามที่หลายคนมีต่อวงการครูปฐมวัย สามารถหาคำตอบได้ที่บทความด้านล่าง
- บทความที่ฉายให้เห็นว่า ครูปฐมวัยและครูผู้ช่วยในไทยมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เปรียบเทียบกับวิชาชีพเดียวกันในสหรัฐอเมริกา
ท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบเรื่องจากความกังวลของผู้ปกครองต่อการจัดการศึกษาให้กับเด็กวัยอนุบาล จากกรณีครูผู้ช่วยอนุบาลใช้ความรุนแรงกับเด็กเล็ก หลายคำถามประดังเซ็งแซ่ขึ้นมาหนาหู …จากนี้เราจะไว้ใจฝากลูกน้อยไว้กับลูกได้อย่างไรบ้าง?
The Potential ขอใช้โอกาสนี้ชวนวิทยากรในแวดวงปฐมวัย จัดวงเสวนาออนไลน์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 คุยกันยาวๆ ว่า เราจะถือโอกาสนี้พัฒนาวงการปฐมวัยได้อย่างไรได้บ้าง เริ่มกันตั้งแต่ บทบาทครูปฐมวัยและครูผู้ช่วยคืออะไร, การควบคุมคุณภาพควรเป็นแบบไหน, การเยียวยาหัวใจของเด็กๆ ที่ถูกละเมิดคุกคามทำอย่างไรกันดี วิทยากรทั้ง 3 ท่าน รายนามดังต่อไปนี้
- ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้อาวุโสในวงการการศึกษาด้านปฐมวัยมากว่า 30 ปี ผู้อํานวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา
- ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ และ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ ในเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน‘
บทความต่อไปนี้คือการถอดบทสนทนาตลอด 2 ชั่วโมง โดยได้เรียบเรียงให้เหมาะแก่การอ่านและตรวจเช็คความถูกต้องเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ แบ่งบทความออกเป็น 2 ชิ้น
ชิ้นแรกว่าด้วยเรื่อง หลักสูตรผลิตครู การคัดเลือก และ บทบาทหน้าที่ครูปฐมวัยและครูผู้ช่วย ทั้งในประเทศไทยและกรณีตัวอย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และการควบคุมคุณภาพ
ชิ้นที่สอง ว่าด้วยประเด็นจิตวิทยา ผลกระทบที่เกิดในใจของเด็กที่ถูกคุกคามได้รับความรุนแรง การเยียวยา และ ประเด็นที่ต้องถูกทำงานต่อหลังเกิดเหตุนี้ อ่านต่อที่นี่
อีกชิ้นในประเด็นเดียวกัน The Potential คุยกับครูผู้ช่วยและครูปฐมวัยจาก 3 ประเทศถึงบทบาทหน้าที่ของพวกเขา อ่านต่อ ที่นี่
หลักสูตรผลิตครู การคัดเลือก และ บทบาทหน้าที่ครูปฐมวัยและครูผู้ช่วย (ในประเทศไทย)
กระบวนการคัดเลือกครูและครูผู้ช่วยเข้ามาทำงาน มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: ก่อนว่ากันเรื่องคัดเลือกครู อยากเริ่มที่คำที่เกี่ยวข้องในบุคลากรครูนะคะ อยากให้ลองทายกันว่ามีกี่คำ? เรามีกันประมาณ 7 – 8 คำนะคะ ตั้งแต่ ครู ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้ดูแลเด็ก พี่เลี้ยง ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กภายใต้การดูแลของการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เรียกว่าผู้ดูแลเด็ก (ผดด.) ส่วนโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กสังกัดในกทม. เรียกว่าพี่เลี้ยงเด็ก และอื่นๆ โดยบางโรงเรียนที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเด็กๆ เป็นพิเศษก็อาจเรียกแทนตัวเองว่า ‘แม่ครู’ ครูเองก็เรียกเด็กๆ ว่า ‘ลูก’ ทีนี้ยังมีคำว่าครูคู่ชั้นอีก คือการสอนเป็นทีม ด้วยการกำหนดจำนวนเด็กต่อชั้นเรียน
ส่วนการคัดเลือกจะขึ้นอยู่กับแต่ละสังกัด สำหรับข้าราชการ ปัจจุบันนี้เวลาสอบคัดเลือกครูปฐมวัยหรือครูอนุบาลก็ยังใช้คำว่า ‘การสอบครูผู้ช่วยวิชาเอกปฐมวัย’ อยู่ แน่นอนว่ามีการการกำหนดคุณสมบัติ เช่น อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้ที่ไม่เคยทำผิดอะไร สุขภาพกายและจิตดี ไม่เป็นโรคติดต่อ และอื่นๆ อะไรก็ว่าไป แต่กระบวนการของหน่วยงานรัฐก็เข้มข้นมาก มีทั้งสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ และปีนี้มีการสอบภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นด้วย และหลังจากสอบข้อเขียนผ่านแล้วจะต้องสอบสอน ต้องเตรียมทั้ง portfolio สื่อการสอน อุปกรณ์ ไปสอบสอนให้คณะกรรมการดู
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: ยังจำได้ว่าสมัยเข้าวงการใหม่ๆ ได้ไปช่วยสำนักงานการศึกษาเอกชนพัฒนาหลักสูตร 120 ชั่วโมงขึ้นมาสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นครูพี่เลี้ยงแต่ไม่ได้จบด้านปฐมวัยมา ขณะเดียวกัน ตอนนี้ยูนิเซฟได้ให้ทุนสนับสนุนกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ พัฒนาโมดูลหรือหลักสูตรอบรมพี่เลี้ยงเด็ก/ครูพี่เลี้ยงเด็กที่ดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ซึ่งทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อทดแทนการอบรม 120 ชั่วโมงนั้น
ถ้าผู้บริหารเข้มๆ หน่อยก็จะมีการสอบข้อเขียน สอบสอน มีการทดสอบเชิงจิตวิทยา อย่างการสัมภาษณ์เราก็ไม่ได้ใช้คำถามทั่วๆ ไป เช่น ถ้าป้าหนูเป็นคนสัมภาษณ์ ก็จะดูหลายอย่าง ตั้งแต่ประสบการณ์ว่าเคยฝึกสอนที่ไหนมาบ้าง แล้วอนุบาล/โรงเรียนที่เคยไปฝึกสอนได้บ่มเพาะเขามาอย่างไร เวลาสัมภาษณ์เขาก็อาจใช้คำถามว่า “ถ้าเด็กเล็กไม่เชื่อฟัง… ซึ่งเราพยายามเลี่ยงคำว่า ‘ดื้อ’ นะคะ ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง เช่น ไม่กินผัก ไม่ยอมนอนกลางวัน แล้วหนูจะจัดการอย่างไร?” ถามแบบนี้ก็เพื่อดึงออกมาว่าผู้สอบมีทัศนคติอย่างไร การคัดเลือกด้วยการสอบสอนมันดี เพราะจะทำให้รู้ว่าเขามีปฏิสัมพันธ์กับเด็กได้อย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเวลา และอะไรหลายๆ อย่าง ก็คือผู้บริหารโรงเรียนที่พี่หนูสัมภาษณ์มาบางทีก็ดู
ขณะเดียวกัน ครูปฐมวัยก็จะมีเกณฑ์บังคับอีกทั้งมาตรฐานสถานศึกษาปฐมวัยที่ออกมาใหม่ (มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ 2562)* และการประกันคุณภาพภายในของแต่ละสังกัด ที่บอกว่าครูต้องมีการอบรมต่อเนื่องระหว่างประจำการอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งน้อยมาก
มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (2562) ระบุถึงคุณสมบัติเหมาะสมของครู ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้ดูแลเด็ก พี่เลี้ยง หรือบุคลากรที่ทำหน้าที่หลักในการสอนและเลี้ยงดูเด็ก มีคุณสมบัติเป็นไปตามที่หน่วยงานต้นสังกัดกำหนด แต่อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1. ผู้ทำหน้าที่ครู ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู มีวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาวิชาเอกอนุบาล ศึกษา หรือปฐมวัย หรือกรณีที่มีวุฒิปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวข้อง (ครูสาขาอื่นที่ไม่ใช่เอกปฐมวัย จิตวิทยา แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข คหกรรม) ต้องมีการศึกษารายวิชาที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยอย่างน้อย 3 หน่วยกิต (ไม่ต่ำกว่า 45 ชั่วโมง) 2. ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูมีวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาวิชาเอกอนุบาล ศึกษา หรือปฐมวัย หรือกรณีที่มีวุฒิปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวข้อง (ครูสาขาอื่นที่ไม่ใช่เอกปฐมวัย จิตวิทยา แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข คหกรรม) ต้องมีการศึกษารายวิชาที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยอย่างน้อย 3 หน่วยกิต (ไม่ต่ำกว่า 45 ชั่วโมง) 3. ผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยครู กรณีที่วุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีประสบการณ์ทำงานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตามที่ส่วนราชการรับรองหรืออยู่ในระหว่างการอบรมภายในระยะเวลา 1 ปี 4. ครู/ผู้ดูแลเด็กได้รับการพัฒนาต่อเนื่องระหว่างประจำการอย่างน้อยปีละ 20 ชั่วโมง |
ครูประจำชั้น กับ ครูผู้ช่วย ทำงานต่างกันอย่างไร
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: ตามระเบียบของมาตรฐานสถานศึกษาที่ออกมาใหม่ (มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ 2562) จะพูดถึงจำนวนเด็กกับครูเอาไว้ ในลักษณะนี้ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าถ้าเด็กอยู่ระหว่าง 2 – 3 ปี ก็ต้องมีครู 1 คนต่อเด็ก 10 คน เวลาทำกิจกรรมกลุ่มก็ต้องไม่เกิน 20 คน แบบนี้ก็เท่ากับว่าต้องมีครูสองคนต่อเด็กหนึ่งห้องเรียน ซึ่งถ้าโรงเรียนเข้าใจตรงนี้ ก็แปลว่าครูคู่ชั้น/ครูประจำชั้น ตรงนี้ต้องจบปริญญาตรีทั้งสองคน
บทบาทแรก คือ ‘ครูคู่ชั้น’ คือครูสองคนที่สอนเป็นทีม (Team teaching) ด้วยสัดส่วนตาม class size ที่กำหนดไว้ ทำหน้าที่เหมือนครูประจำชั้น สองคนนี้จะสอนเท่ากันแต่แบ่งบทบาทหน้าที่ ครูสองคนต่อห้องเรียนต้องมีความสามารถเท่าเทียมกัน และเรียกว่าครูคู่ชั้น
ตาราง: อัตราส่วนของครู/ผู้ดูแลเด็ก ตามอายุ
เด็ก (อายุ) | อัตราส่วนครู/ผู้ดูแล : เด็ก(คน) | จำนวนเด็กในกลุ่มกิจกรรม |
ต่ำกว่า 1 ปี | 1 : 3 | กลุ่มละไม่เกิน 6 คน |
ต่ำกว่า 2 ปี | 1 : 5 | กลุ่มละไม่เกิน 10 คน |
ต่ำกว่า 3 ปี | 1 : 10 | กลุ่มละไม่เกิน 20 คน |
3 ปี – ก่อนเข้าป.1 | 1 : 15 | กลุ่มละไม่เกิน 30 คน |
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: แต่ ‘ครูผู้ช่วย’ คำว่าผู้ช่วย ก็บอกอยู่แล้วว่าคุณไปเป็นอะไรก็ตามในเชิงวิชาการ และเชิงจัดการห้องเรียน (management classroom) โดยหลักการและเป้าหมายของอนุบาลก็คือ educare คือ อบรม เลี้ยงดู และให้การศึกษา ที่สำคัญเลยมันต้องขัดเกลา กล่อมเกลา หรือดูแลเขาเหมือนแม่ดูแลลูก ดูทุกอย่างและมีโอกาสทำงานแม่บ้านด้วย
คุณสมบัติครูปฐมวัยต้องมีอะไรบ้าง หลักสูตรผลิตครูปฐมวัยในไทยเรียนอะไรบ้าง
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: ในหลักสูตรปริญญาตรีสถาบันศึกษาครูจะแยกออกเป็นหมวดวิชาครู, หมวดวิชาทั่วไป และหมวดวิชาเฉพาะ ในหมวดวิชาทั่วไปก็คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หมวดวิชาครูจะว่าด้วยปรัชญาการศึกษา และหมวดวิชาเฉพาะก็คือกลุ่มวิชาเอก เช่น พัฒนาเด็ก การจัดประสบการณ์ การทำงานกับผู้ปกครอง การดูแลเด็กพิเศษ การดูแลในเชิงของสิ่งแวดล้อมทั้งกายภาพและจิตภาพ ที่สำคัญเลยคือการวัดและประเมินพัฒนาการเด็ก อันนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก เพราะว่าครูยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการประเมินพัฒนาเด็กเยอะ เพราะฉะนั้นเราเลยอยากสอดแทรกเข้าไป
แล้วก็จะมีในลักษณะที่ป้าหนูจำได้ว่า รศ.ดร.พัชรินทร์ พหลโยธิน ตอนที่ท่านมาช่วยทบทวนและพัฒนาหลักสูตร ท่านเสนอให้เรามีวิชา Child Advocacy การรณรงค์เพื่อพิทักษ์สิทธิเด็ก ให้สถาบันฝึกหัดครูเอาวิชาพวกนี้ใส่เข้าไป เพราะมันจะสร้างมายเซ็ทใหม่ให้เกิดขึ้นว่าจิตวิญญาณครูต้องทำอะไรบ้าง แต่เท่าที่ทราบคือ เนื่องจากมันเป็นวิชาใหม่มาก หลายสถาบันก็บอกว่าไม่รู้จะสอนอย่างไร ก็เลยตัดออก
แปลว่าเรายืนยันได้ว่า หลักสูตรผลิตครูมีเรื่องพัฒนาการ เรื่องจิตวิทยา เรื่องสิทธิเด็กเหล่านี้อยู่
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: ใช่ค่ะ อย่างน้อยวิชาต่างๆ ที่ป้าหนูพูดระบุไว้ 3 หน่วยกิต หรือมี 45 ชั่วโมงอย่างต่ำ แต่ก็ยังมีการตั้งคำถามต่อระบบอยู่ ด้วยหลักสูตรเดิมต้องฝึก 5 ปี แต่หลักสูตรใหม่ปี 62 เราปรับมาเรียน 4 ปี ซึ่งการเรียนวิชาเอกปฐมวัย ป้าหนูยืนยันตลอดว่าเราต้องเน้นการปฏิบัติ ฉะนั้นพอกลับมาเรียน 4 ปี จากที่เคยฝึกสอนในสถานศึกษาเป็นเวลา 1 ปี ก็จะเหลือแค่หนึ่งเทอม ตัวระบบเองก็มีความพยายามจะแก้ไขโดยให้ (นักศึกษา) เข้าไปสังเกตและอยู่ในห้องเรียนตั้งแต่เรียนปี1, ปี2, ปี3 สอดแทรกเข้าไป ซึ่งคิดว่าต้องมีการทบทวนค่ะ
ในหลักสูตรการผลิตครูของต่างประเทศ เป็นอย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร: ส่วนตัวครูหม่อมไปเรียนปริญญาโทกับปริญญาเอกด้าน early childhood education (การศึกษาปฐมวัย) อยากเล่าก่อนว่า คนที่จบสาขาอื่นมาก่อนจะเรียนปริญญาโทด้านการศึกษาปฐมวัยนั้น จะต้องเรียน core course หรือหัวใจของการศึกษาปฐมวัยอีกประมาณ 40 หน่วยกิตก่อน แปลว่าเหมือนปริญญาโท (สาขาที่เลือก) กับปริญญาโทอีก 40 หน่วยกิต (core course) ห้ามข้ามด้วย
ทีนี้ สิ่งที่เขาเตรียมครูปฐมวัยที่อเมริกา ต้องเล่าอย่างนี้ค่ะว่า อเมริกาจะมีหลักหัวใจของการศึกษาปฐมวัยที่เรียกว่า DAP (Developmentally Appropriate Practice) คือ หลักการปฏิบัติกับเด็กให้เหมาะสมกับอายุ จะมีหลัก 3 ข้อใหญ่ คือ
หนึ่ง – เรื่องของการทำให้เหมาะสมกับอายุ ปฏิบัติกับเขาให้เหมาะกับอายุ
สอง – ปฏิบัติกับเขาให้เหมาะกับความสามารถหรือเงื่อนไขส่วนตัวของเขา (individual)
สาม – การยอมรับความหลากหลาย ความแตกต่างของวัฒนธรรม ความแตกต่างส่วนบุคคล ซึ่งตรงนี้เป็นแกนหลักที่ทุกคนจะมาทำงานเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัยหรือครูปฐมวัยต้องรู้
ใน core หรือหัวใจของการศึกษาปฐมวัยที่เขาจะไม่ให้ข้ามเลย ก็คือจะต้องเรียนประวัติศาสตร์ของการศึกษาปฐมวัย มีตั้งแต่ว่า เมื่อก่อนเราเป็นสมัยอุตสาหกรรม คุณพ่อคุณแม่ก็ออกไปทำงานกันหมด ฉะนั้นคนที่จะเลี้ยงลูกเลี้ยงเด็กก็เป็นเหมือนบ้านเรา คือเลี้ยงใต้โบสถ์ โรงเรียนวัด โรงเรียนอะไรแบบนี้ เช่นเดียวกันว่าพอเรียนไปสักพักหนึ่ง เขาก็พบว่ามีการกระทำกับเด็กไม่ดี อาจละเมิดสิทธิบ้าง คุกคามทำร้าย (abuse) บ้าง ซึ่งหากเราไม่รู้วิธีการอยู่กับเด็ก และอยู่กับเด็กนานๆ ก็จะส่งผลต่อผู้เลี้ยงดูเช่นเดียวกัน ซึ่งพอเรียนที่มา/ประวัติศาสตร์การเป็นครู เรื่องของสิทธิเด็กและจิตวิญญาณครูจะอยู่ในนั้น
แล้วในประวัติศาสตร์ที่มาของการศึกษาปฐมวัย เขาจะพูดถึงบทบาทหน้าที่ว่าที่มาเป็นแบบนี้ๆ นะ และวิชาชีพนี้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ แปลว่าวิชานี้กำลังบอกเราว่า เราต้องรู้เพิ่มขึ้นจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย รู้เพิ่มขึ้นจากความรู้ที่มันมีเพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์กับเด็กเล็ก พอเราหลุดออกจากปริญญาโทและปริญญาเอกปุ๊บ มันฝังอยู่ในหัวพวกเราเลยว่า เดี๋ยวครูปฐมวัยต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความรู้ เราต้องพัฒนาตัวเองต่อไป เหมือนถูกฝังเอาไว้ว่าการพัฒนาตัวเองกี่ชั่วโมงต่อปีเป็นอะไรที่พวกเรากระหายมาก ไม่เคยรู้สึกว่าน่าเบื่อหรือเป็นภาระอะไร
ซึ่งตรงนี้มองว่าอาจาย์พัชรีพามาถูกทางนะคะ และก็อยากให้พวกเราที่ได้เรียนการศึกษาปฐมวัยได้เรียน เพราะพอเรารู้เรื่องประวัติศาสตร์ รู้เรื่องความสำคัญ ที่มาของวิชาชีพนี้ มันปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูปฐมวัยโดยไม่รู้ตัวและก็รักในวิชาชีพนี้
หลักสูตรผลิตครู การคัดเลือก และ บทบาทหน้าที่ครูปฐมวัยและครูผู้ช่วย (ตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา)
คุณสมบัติครูปฐมวัยในมุมครูหม่อม
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร: หลายครั้งครูหม่อมจะพูดว่า เป็นครูปฐมวัยไม่จำเป็นต้องใจเย็น รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วย และ เป็นครูปฐมวัยไม่จำเป็นต้องอดทน
เวลาพูดแบบนี้ คุณครูปฐมวัยก็จะบอกว่า ‘ไม่จริงอะครูหม่อม’ ครูก็เลยบอกว่า…ฟังให้จบก่อน
เป็นครูปฐมวัยอย่างเดียวเลยคือ ‘ต้องทำใจ’ คือไม่ต้องใจเย็นและไม่ต้องอดทน แต่ต้องทำใจ แล้วทำใจเรื่องอะไร? คือถ้าใจเย็น มันก็มีขีดจำกัด ถ้าอดทน มันก็มีเวลาความอดทน แต่ถ้าทำใจไปเลยว่าเมื่อก้าวมาเป็นครูปฐมวัยแล้ว อะไรบ้างที่คุณจะต้องเจอ มันเป็นอะไรที่คาดคะเนได้และกลับมาบอกเราว่าตัวเองต้องการไหม ใช่ไหม?
หากว่าเราต้องเจอเด็กที่ร้องไห้ทั้งวัน เราอยู่กับเขาได้ไหม เด็กที่สำลักใส่เรา หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว บางทีถ่ายแล้วไส้ออกมาด้วย เราก็ต้องช่วยดันเข้าไปให้ เพราะฉะนั้น ไอ้คำว่าทำได้ มันก็เป็นที่มาของวิชาของครูปฐมวัยที่จะต้องเรียนมาเรื่อยๆ
ครูหม่อมต้องบอกเลยว่าอะไรที่เป็นเรื่องวิชาการกลายเป็นวิชาเลือกหมดเลย เป็นวิชาเลือกนะคะ (ย้ำ) เช่น ครูที่จะสอนเด็กเรื่อง early literacy อย่างนี้จะเป็นวิชาเลือก แต่วิชาหลักที่เรียนเป็น core เลยจะเป็นเรื่องของสมอง จิตใจ และก็ความสัมพันธ์ค่ะ รุ่นของครูหม่อมที่ไปเรียนมีเรื่องวิทยาศาสตร์สมอง (neuroscience) มีเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology)
ทุกพฤติกรรมออกมาจากสมองและจิตใจของพวกเราจะมีความสัมพันธ์กันเป็นแบบสามเหลี่ยม คือ สมอง จิตใจ พฤติกรรม ที่ผ่านมาเรามุ่งปรับพฤติกรรม เพราะว่าวิทยาการเรายังไม่รู้ว่าพฤติกรรมเนี่ย สมองทำงานอย่างไร จิตวิทยาเรายังรู้บ้าง ทีนี้ พอวิทยาการทำให้เรารู้ว่าสมองจิตใจเขาทำงานร่วมกันอย่างไร และออกเป็นพฤติกรรมอย่างไร พฤติกรรมที่เหมาะสมส่วนใหญ่แล้วออกมาจากสมองกับจิตใจที่ทำงานสมดุลกัน พฤติกรรมไหนที่ไม่เหมาะสมส่วนใหญ่มาจากสมองและจิตใจทำงานไม่สมดุลกัน และความสัมพันธ์นี่แหละที่ทำให้เกิดโครงสร้างสมองและโครงสร้างจิตใจ ถ้าพฤติกรรมสามารถทำให้โครงสร้างสมองและจิตใจไม่สมดุล และเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ เราก็ต้องมาแก้ที่ความสัมพันธ์ เรื่องนี้เลยกลายเป็น core หรือหัวใจครูปฐมวัยว่าครูปฐมวัยจำเป็นต้องเรียนจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งมันก็ต่อออกมาเป็นวิชาหลายๆ วิชา
ประการแรก – เริ่มตั้งแต่ตัวเองก่อนเลยค่ะ พวกเราต้องเรียนเรื่อง self คือตัวเราเอง แต่เป็น self ของครูค่ะ พอจบเทอมเราต้องตอบให้ได้ว่าคุณจะเป็นครูแบบไหน ครูแบบไหนก็เริ่มตั้งแต่การสวมบทบาทเป็นครูเดินเข้าไปในห้องเรียน คุณจะเดินอย่างไร พูดอย่างไร จะเป็นครูแบบไหน ต้องสร้าง character ของตัวเอง
ประการที่สอง – เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก เราจะสื่อสารเชิงบวกกับเด็กอย่างไร วิธีบริหารจัดการชั้นเรียน การสร้าง environment สร้างสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศที่เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย
ประการที่สาม – ก็คือเรื่องของวิธีการพูดและสอนอย่างไรให้ EF หรือทักษะสมอง EF ทำงาน อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ครูจะถูกเตรียมออกมา
การคัดเลือก และ บทบาทครูปฐมวัยและครูผู้ช่วยที่อเมริกา เป็นอย่างไร
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร: พอพูดถึงบทบาทครูปฐมวัย ที่อเมริกาจะใช้คำว่า lead teacher (ครูประจำชั้น/ครูผู้นำ) กับ assistant teacher (ครูผู้ช่วย)
ถามว่าแล้วครูผู้นำกับครูผู้ช่วยมีบทบาทอะไร? ต้องทำหน้าที่ได้เหมือนกันเลยค่ะ เพียงแต่ว่า lead teacher จะเป็นเหมือนผู้นำวงออร์เคสตรา เหมือนเป็นคนหลักในห้องเรียนที่คอยกำกับ (direct) ว่าอะไรทำอย่างไร แต่ก่อนหน้านั้นทุกคนต้องมาประชุมและแยกย้ายกันไปทำ และทำเองได้
ทีนี้ ตอนที่ครูหม่อมเรียน…จะว่าไปก็ 20 ปีมาแล้วนะเนี่ย (หัวเราะ) คือช่วงนั้นที่อเมริกาจะเริ่มเรียนร่วม คือเรียนร่วมอายุและเรียนร่วมระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติ เวลาที่เราเรียน เราใช้หลักการเรียนรู้ของครูปฐมวัย ซึ่งตามหลักการศึกษาคือการแบ่งกลุ่ม ฉะนั้นเวลาที่เราแบ่งกลุ่มกันในห้องเรียน ครูผู้ช่วยก็จะมีบทบาทเหมือนครูคนหนึ่งเลย
ครูผู้ช่วยไม่ใช่ช่วยแค่เปลี่ยนผ้าอ้อม พาเข้าห้องน้ำ ปูที่นอน แต่เหมือนกับว่า ถ้าเด็กนักเรียนในห้องมี 25 คน เราจะแบ่งกันเลยว่าใครจะต้องดูแลเด็กกี่คนๆ หมายถึงว่ามีเด็กที่ดูแลไว้ในใจ แต่หากใครเผลอพลาดพลั้งอะไรไปต้องการความช่วยเหลือ เราก็จะต้องเข้าไปช่วยได้
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะครูผู้นำชั้นหรือครูผู้ช่วย บทบาทสำคัญก็คือคุณมีหน้าที่ครู คุณเป็นครูปฐมวัย คุณต้องทำหน้าที่ครูปฐมวัย
สิ่งหนึ่งที่ครูหม่อมชอบในห้องเรียนปฐมวัยที่อเมริกาก็คือว่า การเป็น lead teacher ก็ไม่ได้แปลว่า lead teacher forever ไม่ได้เป็นตลอดไป ใน 5 วัน ก็อาจมีสัก 2 วัน ที่ครูผู้ช่วยขึ้นมาคิดแผนหรือว่าเป็นผู้นำห้องเรียน ที่เขาทำแบบนี้ก็เพื่อว่า หนึ่ง – เด็กๆ ไม่มองว่าใครเป็นผู้นำหรือมี authority มากกว่า แต่เราต้องเป็นที่พึ่งให้เด็กได้ทุกคน ไม่วิ่งเข้าหาใครคนใดคนหนึ่ง สอง – คนที่เป็น lead teacher จะได้พัก เราจะมีวิธีการแบ่ง เช่น พอเราอยู่กับเด็กสักสามชั่วโมง ใครที่ lead หนักๆ หน่อยจะได้พัก แล้วก็หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องได้พัก คือพักไม่นานหรอกค่ะ ประมาณ 20 นาที แต่กลับเข้ามามัน set zero ได้
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: อยากจะสนับสนุนครูหม่อมนิดนึงค่ะ คือในฐานะผู้บริหาร ต้องบอกว่าตลอด 30 กว่าปีที่บริหารโรงเรียนมา ป้าหนูมองว่าการพัฒนาบุคลากรครู ครูผู้ช่วย ครูพี่เลี้ยง ระบบ support ในไทยกับที่ครูหม่อมเล่ามันแตกต่างกันมากมาย เช่นตอนนี้กระบวนการหนึ่งที่สมาคมปฐมวัยแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (National Association for the Education of Young Children: NAEYC) ทำ เรียกว่า power to the profession หรือการเสริมพลังวิชาชีพ โดยให้องค์กรทั้ง 15 องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาผนึกกำลัง ช่วยกันพัฒนา growth mindset ของครู
อีกประเด็นที่ชอบคือ ที่ต่างประเทศครูไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี แต่เขาจะแบ่งครูออกเป็นด้วยระบบ ECE (Early Childhood Education หรือบางแห่งเรียกว่า nursery education) มี ECE1, 2, 3 โดย ECE1 สำหรับคนที่ไม่ได้จบปริญญา แต่ผ่านการอบรมของ CDA (Child Development Associate) เช่นเจ้าแม่ของวิชา Project Approach อย่าง ดร.ลิลเลียน แคทส์ (Dr.Lillian Katz) ก็เริ่มต้นจาก ECE1 ระหว่างที่เลี้ยงลูก เธอก็ไปหาความรู้เพิ่มในมหาวิทยาลัย
ถ้าเปรียบเทียบ ECE1 ก็เหมือนประกาศนียบัตรครูขั้นต้นในสมัยก่อนบ้านเรา ต่อมาก็เป็น ECE2 คือคุณเริ่มมีวิชาชีพมากขึ้น เรียนมากขึ้น ก็จะเป็นประกาศนียบัตรขั้นสูงหรือเทียบเท่าอนุปริญญา ECE3 ก็เท่ากับการจบปริญญาตรีหรือปริญญาโท และเมื่อคุณจบการเรียนจากสถาบันแล้ว คุณจะต้องมีการพัฒนาวิชาชีพอีกถึง 5 ขั้นตอน เพราะครูที่เพิ่งจบใหม่ก็เท่ากับเพิ่งใช้หลักสูตรเป็น แล้วกว่าจะไปถึงขั้นของการคิดนวัตกรรม (การสอน) ได้ มันต้องใช้ประสบการณ์
การควบคุมคุณภาพ
การควบคุมคุณภาพครูปฐมวัยควรเป็นอย่างไร
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร: ตอนนี้ที่ครูหม่อมได้ไปทำกับอาจารย์หนู คือการที่เรานำเสนอนโยบายแนวทางการปฏิบัติสำหรับครูปฐมวัยให้กับกระทรวงศึกษาธิการ และได้ประกาศออกมาแล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายน โดยนโยบายที่พวกเราเสนอไป เราเสนอจากทฤษฎีฐานราก 3 เรื่อง คือพัฒนาการด้านตัวตน พัฒนาการ 4 ด้าน และทักษะสมอง EF 3 เรื่องนี้เป็นแกนหลักที่ครูจำเป็นต้องรู้ ซึ่งหลายครั้งวิธีการสอนของครูปฐมวัยกลับไปยับยั้งพัฒนาการด้านตัวตน ไปทำให้ตัวตนของเด็กเหลือน้อย และทำให้ EF เด็กไม่ได้ทำงาน
จากทฤษฎีนี้เราทำออกเป็นแนวทางปฏิบัติเรียกว่า ‘5 สิ่งมีอยู่จริง’ ซึ่งตรงนี้ล้อกับที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยพูดถึง ‘แม่มีอยู่จริง’ ทีนี้ นั่นคือครูมีอยู่จริง เด็กมีอยู่จริง หลักสูตรปฐมวัยมีอยู่จริง พ่อแม่มีอยู่จริง และผู้ร่วมงานมีอยู่จริง
- ครูต้องมีอยู่จริง พวกเราเคยอยู่กับประสบการณ์ที่ครูไม่มีอยู่จริงมาแล้ว ทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ครูต้องมีอยู่จริงหมายความว่าครูจำเป็นต้องใช้วินัยเชิงบวก ใช้การสื่อสารเชิงบวกทำตัวให้เป็นคนที่มีคาแรกเตอร์มั่นคง ปลอดภัย ไว้ใจได้ เป็นปากเสียงให้เด็กได้
- เด็กมีอยู่จริง เด็กต้องรู้สึกถูกยอมรับว่ามีตัวตนอยู่ในห้องเรียน พวกเราเองไม่เคยมีอยู่จริงในห้องเรียนนะคะ เช่น เวลาที่ครูถามว่า ‘ไหนใครมีคำถาม?’ เรานี่อยากจะหายตัวไปเดี๋ยวนี้ ฉะนั้น ครูต้องมีวิธีการว่า… เอ๊ะ แล้วจะมีวิธีอย่างไรให้เด็กรู้สึกถูกยอมรับ ได้แสดงความคิดเห็นของเขา แสดงความรู้สึกถูกอนุญาตให้คิดผิดคิดถูกในห้องเรียนได้
- หลักสูตรปฐมวัยต้องมีอยู่จริง ห้องเรียนปฐมวัยไหนละเมิดหลักสูตรปฐมวัย มีการเร่งเรียนเขียนอ่าน ถือว่าใช้ไม่ได้ ต้องควบคุม ครูต้องรู้วิธีการเขียน การจัดประสบการณ์ตามหลักสูตรปฐมวัย หัวใจของหลักสูตรปฐมวัยเลย คือ เรื่องการให้โอกาสและความสำเร็จ เรื่องนี้ก็ต้องมีอยู่จริง ครูหม่อมคิดว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กไทย พอเดินเข้าโรงเรียนปุ๊บรู้สึกเสียเซลฟ์ รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ฉะนั้นหลักสูตรปฐมวัยต้องมีอยู่จริง
- พ่อแม่ต้องมีอยู่จริง แปลว่าครูปฐมวัยต้องทำงานกับพ่อแม่เป็น partner กัน เป็นผู้ร่วมเดินทางไปด้วยกันให้ได้
- เพื่อนร่วมงานต้องมีอยู่จริง ครูปฐมวัยจะต้องทำตัวเองเป็นผู้ร่วมงานที่ดีด้วย มีวง PLC (Professional Learning Community) หรือว่าคุยกันให้ได้ว่า เมื่อเกิดปัญหาอะไรเราจะต้องทำอย่างไร และที่สำคัญก็คือคำว่าเพื่อนร่วมงาน ก็หมายรวมถึงสหวิชาชีพด้วย
ตอนที่ครูหม่อมเป็นครูอยู่ที่อเมริกา เด็กคนหนึ่งบ้านไฟไหม้แล้วเกิดภาวะช็อก แต่ครูหม่อมต้องรับเด็กเอาไว้ เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็ช็อกเช่นกัน พอคุณพ่อคุณแม่หายช็อก แต่เด็กยังไม่หายค่ะ สิ่งที่ครูหม่อมจะต้องทำงานด้วยก็คือนักสังคมสงเคราะห์และคุณหมอจิตแพทย์ หลายครั้งเลยที่ครูปฐมวัยหรือตัวครูหม่อมเองจะได้ใบสั่งยาเขียนมาเลย เรียกครูประจำชั้นให้เข้าไปทำงานกับน้องด้วย เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อในการพูด ใบสั่งยามาอีกแล้วค่ะ ครูปฐมวัยก็ต้องไป ไม่ไปถือว่าผิด
ครูปฐมวัยบางครั้งไม่รู้หน้างานของตัวเอง ไม่รู้ว่าบทบาทของครูปฐมวัยมีอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น 5 สิ่งมีอยู่จริงจะทำให้ครูรู้ว่านี่คือบทบาทของครูนะ ครูมีอยู่จริง เด็กมีอยู่จริง หลักสูตรปฐมวัยมีอยู่จริง พ่อแม่มีอยู่จริง และผู้ร่วมงานมีอยู่จริง
ผู้อำนวยการหรือผู้บริหารขั้นต้นที่อยู่ในโรงเรียนลองดูว่า ครูของท่านมี 5 สิ่งนี้อยู่จริงไหม หากไม่มี ก็ต้องพัฒนาครูค่ะ (professional development) คือไปเพิ่มพูนความรู้ของตัวเอง ที่อเมริกาก็เป็นแบบนี้นะคะ โดยจะมี 2 อย่าง คือ เราจะเพิ่มพูนแบบหลากหลายก็ได้ แต่เมื่อไหร่ที่คุณเพิ่มพูนความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง คุณจะต้องเลื่อนขั้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น จะคล้ายๆ กับที่อาจารย์หนูบอกว่าเหมือนกับเรามีความก้าวหน้าทางวิชาชีพของเราเอง เวลาที่คุณไปอบรมอะไรก็ตาม คุณต้องเก็บสะสมเอาไว้ ถ้าคุณทำเรื่องนั้นซ้ำๆ กัน คุณต้องบอกให้ได้ว่าคุณกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นแล้ว
และคุณพ่อคุณแม่คะ หากว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าไปดูสถานศึกษาให้ลูก สิ่งที่อยากให้ดูก็คือ ‘5 สิ่งมีอยู่จริง’ นี้ว่ามีไหม ครูในโรงเรียนเป็นอย่างไร ครูมีอยู่จริงให้ลูกท่านไหม ลูกท่านรู้สึกว่ามีตัวตนในห้องเรียนไหม ครูใช้หลักสูตรปฐมวัยไหม เขียนแผนตามหลักสูตรปฐมวัยไหม หากมีการเขียนรับรองว่าปลอดภัย รับรองว่ากำลังจะได้รับการพัฒนาตามหลักการและหัวใจของการศึกษาปฐมวัยค่ะ
ในส่วนการควบคุมคุณภาพ อาจารย์หนูมีอะไรอยากเพิ่มเติมไหมคะ
ดร.วรนาท รักสกุลไทย: ป้าหนูอยากพูดว่าปัญหามันเกิดจากบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารในเชิงของกระบวนการนิเทศภายในนั้นถูกละเลย ระบบนิเทศภายในต้องทำอย่างกัลยาณมิตร อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และระบบนิเทศภายในไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารก็ได้ เป็นระดับสายหัวหน้าชั้นทำก็ได้ หรือนิเทศกันเอง นิเทศเพื่อนร่วมงานกัน อย่างที่อาจารย์หม่อมพูดว่าเพื่อนร่วมงานที่มีอยู่จริง ทีมงานนิเทศแบบ collaborate กัน แต่ที่สำคัญคือต้องมีการ reflect ให้ชัดเจน ทบทวน เชื่อมโยง แล้วก็มองไปข้างหน้า เชื่อมโยงทฤษฎีให้ได้ เชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติ แล้วมองไปข้างหน้าว่าเราจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร คำถาม reflect สำคัญมาก
ขณะเดียวกันก็อยากเรียกร้องระบบนิเทศจากหน่วยงานข้างนอกเหมือนกัน อยากให้มีระบบศึกษานิเทศประจำเขตพื้นที่ ประจำเขตจังหวัดที่เข้มแข็งขึ้น เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่ครูทำหน้าที่การสอน แล้วขาด leader
เมื่อสองปีที่แล้วได้ไปเข้าอบรม national academy ของ NAEYC วิทยากรท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าอยู่ดีๆ มีครูท่านหนึ่งเดินเข้ามาในห้องทำงานคุณแล้วบอกว่า ‘I need help’ มีเด็กกำลังอาละวาดอยู่ในห้อง คุณต้องลุกไปช่วยทันที หมายความว่าผู้บริหารต้องมีความรู้ที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับครูว่าวิธีแก้ไขพฤติกรรมอย่างไร คือเขากำลังบอกว่าที่อเมริกาก็มีปัญหาเรื่องระบบประกันคุณภาพที่เน้นเอกสารแล้วทำให้ครูไม่สะดวกใจเลย เพราะฉะนั้น เขาบอกเลยว่าคุณต้องลุกจากโต๊ะและเข้าไปช่วยครูเหมือนกัน
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร: ขอเพิ่มจากอาจารย์หนูนิดหนึ่งนะคะ ตอนเรียนอยู่ที่อเมริกา รุ่นของครูหม่อมมีการเปลี่ยนวุฒิของผู้บริหารการศึกษาปฐมวัย จากตอนแรกเขาระบุว่าผู้บริหารต้องจบด้านการบริหารการศึกษา แต่ในปีนั้นเขาบอกว่าต้องจบการศึกษาปฐมวัย แล้วก็ไปเรียนเพิ่มเรื่องการบริหารการศึกษา ด้วยเหตุผลเดียวกับที่อาจารย์หนูบอกเลยค่ะว่า ท้ายสุดแล้วผอ.ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำเป็นต้องรู้เรื่องการศึกษาปฐมวัย และต้องเป็นผู้ช่วยให้กับครูให้ได้ คือคำนี้เลยค่ะ เพราะหลายครั้งมากที่ครูหม่อมก็ ‘need help’ เหมือนกัน ต้องยอมรับนะว่าการเป็นครูปฐมวัย ไม่ว่าจะเตรียมตัวอย่างไร เราต้องมีมากกว่า plan B เสมอ ต้องมี plan C, plan D, plan สุดท้าย เลยคือห้องผู้บริหารนะคะ เราก็วิ่งเข้าไปและขอความช่วยเหลือได้
อีกหนึ่งระบบที่ครูหม่อมชอบมากเลยก็คือ พวกเราจะมีมาตรการของเมืองนั้น ตอนนั้นครูหม่อมอยู่เมืองนอร์ฟอล์ก รัฐเวอร์จิเนีย เขาจะมีระบบประกันมาตรฐาน โดยไปดูที่เด็กเลยนะคะว่าเด็กมีความสามารถจะผ่านมาตรฐานของรัฐไหม แต่มาตรฐานของเขาจะถูกตั้งขึ้นโดยที่ไม่เกินไปกว่าอายุและเป็นจริงได้ เช่น ไม่มีคำว่าอ่านออกเขียนได้ตอนจบอนุบาล ไม่มีนะคะ เขาเอาแค่การเขียนชื่อได้ บอกชื่อตัวเองได้ มีพัฒนาการด้านร่างกายเป็นอย่างไร หรือรู้ว่าตัวเองเป็นใคร เขาจะเน้นเรื่องอะไรแบบนี้
แล้วถ้าเกิดเราทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น? หากว่าเราทำไม่ได้ อันที่หนึ่ง เราจะสามารถติดโปรหรือติดใบเหลืองได้ แล้วบอกเลยว่าภายในสามหรือสี่เดือน คุณต้องมีแผนที่จะพัฒนาครูคนนี้กันเองก่อน เพื่อให้ผ่านมาตรฐานของรัฐ หากไม่ผ่าน เขาจะส่งคนมาประกบครูคนนั้น แต่นั่นแปลว่าศูนย์นั้นจะได้รับเงินอุดหนุนน้อยลงด้วย เพราะเขาถือว่ามีทรัพยากรเงินกับทรัพยากรครูที่เขาส่งมา คิดว่าตรงนี้เป็นระบบที่ดี แต่เขาเป็นกัลยาณมิตรนะคะ แต่ตัวพวกเราเองจะกลัวมากว่าจะมีใครจากข้างนอกมาประกบเรา เหมือนใครมองเข้ามาก็จะ โห…เราต้องมีคนมาประกบ แต่ว่าตรงนี้มันทำให้พวกเราระวังตัวมากขึ้น และครูว่ามันเป็นระบบที่อุ่นใจ ตรงที่ถ้าเราสติแตก เรามี director และถ้า director สติแตก เอาไม่อยู่กันจริงๆ เราก็มีรัฐที่จะส่งคนเข้ามาช่วย
ติดตามเรื่องการเยียวยา และ การพัฒนาระบบการการศึกษาปฐมวัยต่อ ได้ที่ ถอดบทเรียนกรณีครูปฐมวัยทำร้ายเด็กเล็ก2: ความรุนแรงซึ่งหน้าในเด็กเล็ก ส่งผลอย่างไร แก้ไขเยียวยาอย่างไรดี