- ครูอนุบาล คือ ผู้เตรียมนักเรียนตัวน้อยก่อนจะก้าวเข้าสู่การเรียนในระดับประถมศึกษาเเบบเต็มตัว สนับสนุนเเละส่งเสริมความสนใจของนักเรียน
- ตอนนี้สังคมกำลังตั้งคำถามว่า ห้องเรียนที่เหมาะสมกับห้องเรียนอนุบาลควรเป็นอย่างไรเเละบทบาทของครูปฐมวัยมีหน้าที่อะไรบ้าง
- ชวนทำความเข้าใจบทบาทของครูที่อยู่ในห้องเรียนอนุบาลของ 3 คุณครู จาก 3 ประเทศ ได้เเก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เเละนอร์เวย์ จะช่วยวาดภาพห้องเรียนเเละเเสดงให้เห็นบทบาทของครูอนุบาลที่เเตกต่างจากเดิม…
ภาพ ครูเจี๊ยบ สุวิมล ปาณะลักษณ์ มาร์ติน, ครูปุ๊ก หิรัญญา กิจกอบชัย และครูจาร์ อุทุมพร สุญาณเศรษฐกร
คุณครูอนุบาล คือ ผู้เตรียมนักเรียนตัวน้อยให้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการ ได้พัฒนากาย ใจ จิตวิญญาณ ตัวตน และการสัมพันธ์กับผู้อื่น การสัมพันธ์กับโลก แต่จากข่าวคุณครูใช้ความรุนแรงกับเด็กๆ ทำให้สังคมตั้งคำถามมากมายว่า ตกลงแล้วครูอนุบาลต้องเรียนอะไรมาจึงจะเป็นครูได้ และโรงเรียนควรมีการควบคุมคุณภาพครู และคุณภาพการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กอย่างไร
The Potential ได้รับความกรุณาจากครูอนุบาลใน 3 ประเทศ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เเละนอร์เวย์ ช่วยมาให้ข้อมูลว่า พวกเขาคือใครในห้องเรียน ระบบการคัดเลือกครูและการควบคุมคุณภาพเป็นอย่างไร
ห้องเรียนอเมริกา: การควบคุมคุณภาพครูเเละโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ
“สิ่งสำคัญคือการควบคุมคุณภาพหรือ Quality Control ของบุคคลากรที่รัฐต้องมาตรวจอย่างสม่ำเสมอ เขามาเมื่อไหร่ เราต้องพร้อม ไม่ใช่เเเค่เอกสารของครูหรือนักเรียน เราต้องมีทุกอย่าง ตั้งแต่แผนการสอน จนถึงงานประเมินผลการเรียนของนักเรียน เพราะสำหรับเด็กเล็ก คุณภาพครูสำคัญสำคัญที่สุด ถ้าเด็กเริ่มเกลียดการเรียนและโรงเรียนเเต่เล็กก็จะจำฝังใจจนกลายเป็นไม่ชอบเรียน”
คุณครูเจี๊ยบ-สุวิมล ปาณะลักษณ์ มาร์ติน อดีตครูประจำชั้นเตรียมอนุบาล (โปรแกรมพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง) โรงเรียน บราวน์ เออรี่เลิร์นนิ่ง สคูล (Brown’s Early Learning School) รัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เเละอดีตครูผู้ช่วย
การคัดเลือกครู และบทบาทของครูประจำชั้น และผู้ช่วยครู
ครูประจำชั้น ต้องจบปริญญาตรีทางศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ มีหน้าที่หลักคือการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (lesson plan) ส่วนครูผู้ช่วยก็คือครูผู้ช่วยจริงๆ ช่วยทุกๆ อย่าง เป็นมือขวาของครูประจำชั้นเลยก็ว่าได้ โดยครูประจำชั้นจะออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (lesson plan) ซึ่งเขาจะบอกเราก่อนว่าวันนี้เราจะทำอะไร มีทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรที่แปะไว้บนบอร์ดของห้องเรียนและส่งให้ผู้ปกครอง รวมถึงต้องอธิบายปากเปล่าว่า วันนี้จะทำอะไรบ้าง แผนสำรองมีไหมถ้ามีการเปลี่ยนแปลง และต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง ถ้ามีเด็กที่ดูเกินความสามารถในการดูเเลและครูผู้ช่วยไม่สามารถตัดสินใจเองได้ก็สามารถปรึกษาครูประจำชั้นตลอด ครูประจำชั้นเองก็จะรับฟังและปรับปรุงถ้าครูผู้ช่วยต้องการนำเสนอความความคิดในการเรียนการสอนเช่นกัน เน้นทำงานร่วมกันเป็นทีม
ในส่วนของการไปเข้าห้องน้ำครูผู้ช่วยจะพาไปเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นเด็กเล็กนั้นในห้องเรียนจะมีห้องน้ำในตัวแต่เป็นห้องน้ำที่ไม่มีประตู เพราะต้องรู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ เพื่อป้องกันเหตุอันตรายสำหรับเด็ก
และนอกจากการจัดการเรียนรู้แล้ว ครูจะต้องคอยสังเกตและประเมินพัฒนาการของนักเรียนในด้านต่างๆ ทั้งการเรียน การเข้าสังคม เเละวิชาการ โดยมีการประเมินทุก 3 เดือน ซึ่งห้องเรียนของครูเจี๊ยบนั้นมีครูประจำชั้น 2 คน และมีครูผู้ช่วยหนึ่งคน ทั้งสามคนจะสลับกันประเมินเพื่อป้องกันการโน้มเอียง (bias)
ซึ่งหากจะเป็นครูผู้ช่วยต้องเรียนอะไรบ้างนั้น เเต่ละรัฐไม่เหมือนกัน ของรัฐนอร์ทแคโรไลนาต้องเรียนวิชา EDU 119 ซึ่งวิชาเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับทฤษฎีการศึกษาและพัฒนาการเด็ก วิชานี้เราจะได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับนักทฤษฎี นักจิตวิทยาทางด้านการศึกษา และพัฒนาการในการเรียนรู้แบบต่างๆ เช่น เพียเจต์ (Piaget), ไวกอตสกี้ (Vygotsky), สไตเนอร์ (Rudolf Steiner), มารีย์ มอนเตสซอรี่ (Montessori), เฟรดเดอริค โฟรเบล (Friedrich Fröbel), เรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia approach), วอลดอลฟ์ (Waldorf) เป็นต้น และวิชานี้จะเน้นความรู้ตั้งแต่เกิดจนถึงห้าขวบ แม้จะจะไม่ลงลึกแต่เน้นปูพื้นฐานสำหรับการเริ่มเป็นครูที่จะสามารถเข้าใจธรรมชาติของเด็กๆ ได้ และตัวครูเจี๊ยบเองแม้จะจบปริญญาตรีมาคนละด้าน แต่ก็ต้องไปเรียนใหม่และเป็นครูผู้ช่วยหลังจากเรียนจบวิชานี้ และหากจะเป็นครูประจำชั้นก็จะต้องไปเรียนต่อยอด หากไม่ได้เรียนจบครูในระดับปริญญาตรี ก็สามารถไปเรียนต่ออีก 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่งเพื่อเอาใบประกอบวิชาชีพครูได้ หรือเลือกที่จะต่อปริญญาโทก็ได้เช่นกัน
แต่การจบ EDU 119 จะได้เป็นครูผู้ช่วย Assistant Teacher หรือเป็น Floater (ครูห้องไหนขาดก็ไปห้องนั้น เพราะที่นี่มีกฎหมายว่าเเต่ละห้องเรียน เเต่ละช่วงอายุจะมีจำนวนเด็กต่อครู อย่างเด็ก 2 ขวบ ก็จะเป็นเด็ก 4 คนต่อครู 1 คนซึ่งถ้ามี 5 คนต้องมีครู 2 คน เเต่หากเด็กกลับบ้าน เหลือ 4 คน ครูผู้ช่วยคนนี้สามารถวิ่งไปช่วยห้องอื่นได้ ใครขาดก็ไปช่วย ต้องทำได้ทุกอย่าง และที่สำคัญต้องเข้าใจเด็กๆ) ส่วนใหญ่ถ้าเรียนวิชานี้แล้วจะได้ขึ้นมาเป็นครูผู้ช่วยเพราะถือว่ามีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานการศึกษาเด็กปฐมวัย
ในส่วนครูผู้ช่วยนั้นถ้าต้องการเรียนเพิ่มเพื่อเป็นครูประจำชั้นก็สามารถขอเงินสนับสนุนจากรัฐไปเรียนต่อได้เช่นกัน อาจจะรอนานหน่อย หรือใช้ทุนจากรัฐแล้วกลับมาสอนให้โรงเรียนรัฐบาลเป็นการแลกเปลี่ยนหลังเรียนจบก็ได้ เช่นเดียวกับครูที่จบปริญญาตรี หากต้องการเรียนต่อก็สามารถทำได้เช่นกัน
ระบบควบคุมคุณภาพและพัฒนาครู
ครูเจี๊ยบเล่าให้ฟังว่า ห้องเรียนของเธอคุณครู 1 คนจะดูเเลนักเรียน 6 คน ไม่มีการติดกล้องวงจรปิด เเต่จะใช้เป็นกระจก 2 ด้าน ที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรมการเรียนของลูกหลานได้จากภายนอก โดยไม่เข้าไปเเทรกกิจกรรมการเรียนการสอน อยากมาเมื่อไรก็มาได้เสมอ ติดต่อกับทางผู้อำนวยการแล้วนัดเวลามา กระจกสองด้านตรงนี้เป็นตัวช่วยที่ดีที่ทำให้ครูต้องพร้อมเสมอเพราะเราไม่รู้ว่าอาจมีใครมาแอบดูเราสอนอยู่
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมคุณภาพจากกระทรวงสุขภาพเเละบริการมนุษย์สหรัฐ (United States Department of Health and Human Service) ที่เข้ามาตรวจปีละ 2 – 3 ครั้ง โดยไม่บอกก่อน ดังนั้น คุณครูต้องพร้อมในการสอนเเละดูเเลเด็กๆ ตลอดเวลา
และสำหรับครูประจำชั้นและครูผู้ช่วยแม้ว่าจะบรรจุเข้าทำงานแล้ว (โรงเรียนรัฐบาลที่นี่จะทำสัญญารายปี เราต้องพัฒนาตัวเองเพื่อจะได้ต่อสัญญาทำงาน) เเต่ละปียังต้องเรียน Continued Education ทั้งลงเรียนในห้องเรียน ออนไลน์ หรืออบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในหลักสูตรต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์กร และพัฒนาห้องเรียนไปในตัว “ไม่ใช่เป็นครูแล้วก็เป็นไปเลย ซึ่งแต่ละปีเราต้องเรียนเพิ่มเพื่อเอามาใช้ในห้องเรียน ถ้าเป็นครูประจำชั้นอาจจะเยอะหน่อย เพราะจะต้องอบรมเชิงปฏิบัติการเยอะมาก (workshop) ยิ่งเป็นครูนานขึ้นก็ต้องสร้าง workshop ให้ครูคนอื่นไปเป็นที่ปรึกษา (mentor) ให้ครูเพิ่งจบเเละครูผู้ช่วย”
ในทุกๆ ปีโรงเรียนต้องส่งเอกสารการดำเนินการเหล่านี้ให้กับกระทรวงสุขภาพเเละบริการมนุษย์สหรัฐ (United States Department of Health and Human Service) ในการประเมินคุณภาพ ซึ่งจะร่วมกับการมาตรวจโรงเรียน ที่มีการตรวจทั้งความสะอาด อาคาร สนามเด็กเล่น การเรียนการสอน นโยบายของครูและโรงเรียน และทุกๆ สองปีบุคลากรทุกคนในโรงเรียนก็ต้องเรียนและสอบ CPR , First Aid (การปฐมพยาบาลเบื้องต้น) เพื่อรักษาคุณภาพองค์รวมของโรงเรียน (ยังไม่รวมถึงระดับดาวในการรักษาคุณภาพองค์รวมระดับสากลทุกสามปี)
ในส่วนของโรงเรียนในสังกัดโรงเรียนรัฐบาลแต่ละเดือนจะมีการประชุมกลุ่มครูในเขตโดยเฉพาะซึ่งมีนัดหมายทุกเดือน โดยวันที่นัดหมายนี้จะนับเป็นวันทำงานของครู (Teacher Workday) และวันนั้นเด็กๆ ไม่ต้องมาเรียน ครูจะใช้เวลาทั้งวันไปอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เรียนเพิ่ม หรือไปคุย ปรึกษา แบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ รวมไปถึงเยี่ยมชมห้องเรียนของกันและกันกับครูในเขต “ห้องเรียนเธอกับห้องเรียนฉันเป็นอย่างไร เรามีนักเรียนแบบนี้เราต้องติดต่อครูพิเศษเพื่อจะมาช่วยเป็นพิเศษไหม ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราควรช่วยนักเรียน หรือ พ่อ แม่ ผู้ปกครองอย่างไร เป็นต้น นี่คือตัวอย่างโรงเรียนกลุ่มเสี่ยงของรัฐบาลเฉพาะกลุ่มเตรียมอนุบาล แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนทั่วไป เขาก็จะมีวันลักษณะนี้เช่นกัน วันทำงานครูปีละ 3 – 4 ครั้งหลังเลิกงาน และอย่างน้อยต้อง 2 ครั้งที่ปิดโรงเรียนแล้วใช้เวลาทั้งวันและรวมตัวกันเพื่อจะเรียนเพิ่มเติม”
ข้อดีของโรงเรียนรัฐบาลคือ ครูสอนจริงๆ ในห้องเรียน 6.5 ชั่วโมง แม้ว่าจะทำงาน 8 ชั่วโมงก็ตาม เวลาที่เหลือครูผู้ช่วยรับต่อ ขณะที่เราเองสามารถใช้เวลานั้นมาเตรียมการเรียนการสอน ทำให้ครูไม่ต้องเครียดขนงานกลับมาทำที่บ้านและช่วยลด Teacher Burnout (ภาวะหมดไฟในการทำงาน) ด้วย
คุณครูทำงานกับพ่อแม่ของเด็กอย่างไร
ก่อนเปิดเรียน ครูทั้งห้องจะไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านเพราะจะได้ดูว่าเด็กเป็นยังไง ดูสภาพเเวดล้อมที่บ้านว่าเวลาอยู่บ้านเป็นยังไง จะได้รู้ว่ามีเด็กที่ต้องการความดูแลพิเศษแบบไหนบ้าง แล้วเราจะต้องเตรียมตัวยังไง เรามีเวลาคุยกับพ่อแม่เขาแบบ one on one พ่อแม่อยากรู้อะไรถามมา เเละมี Open Door policy พ่อแม่อยากมาพบครูเมื่อไหร่นัดเวลามาได้เลย (เราสามารถขอล่ามได้ด้วยในกรณีที่พ่อแม่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่) โดยปกติมีการคุยและประชุมพ่อแม่ผู้ปกครองทุก 3 เดือนอยู่แล้ว อันนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแห่งด้วย เท่าที่ทำงานมาเราเชื่อว่าครูกับพ่อแม่ต้องทำงานร่วมกัน เพราะไม่งั้นเด็กคือคนที่จะไม่ได้อะไรเลย
“หน้าที่ของครูคือต้องเข้าถึงพ่อแม่ให้ได้มากที่สุดเพราะพ่อเเม่คือครูคนเเรกของลูก”
บทบาทครูเมื่อเกิดการใช้ความรุนแรงกับเด็ก
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ข้างหลังหูเป็นรอยเขียว ใต้ผมเป็นรอยช้ำ เราในฐานะครูต้องเป็นกระบอกเสียงให้เขา”
ธรรมชาติของครู เราต้องช่างสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก เช่น วันหนึ่งเด็กเข้ามาในห้องเรียน เงียบ ไม่พูดคุย หรือมีอะไรเปลี่ยนไปเราต้องเช็ค ต้องถาม เรามีเคสนักเรียนมาโรงเรียนแล้วเราเช็คเจอว่าหลังใบหูเขียว ใต้ผมเป็นรอยช้ำ (หลังหูใต้ผมเป็นที่ๆ ไม่มีใครเห็นหรือสังเกต) เราต้องถ่ายรูปส่งไปให้นักสังคมสงเคราะห์ จดรายละเอียดเป็นหลักฐานเพราะถ้าครูไม่ส่งจะมีความผิดเพราะครูต้องเป็นกระบอกเสียงให้เด็กๆ บางทีคุณครูต้องแจ้งความให้เมื่อเกิดการทำร้ายเด็กขึ้น
ถ้าคุณครูเห็นว่านักเรียนต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ทางโรงเรียนจะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เเละนักกิจกรรมบำบัดเข้ามาช่วยฟื้นฟูจิตใจเขา (ที่นี่มีกฎหมายว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะพิการ พิเศษพูดต่างภาษา หรือไม่ว่าอะไรก็ตามต้องได้เรียนร่วมกัน อาจมีแยกห้องบ้างเวลาเรียนกับครูพิเศษ แต่ต้องได้มีเวลาเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นทุกวัน)
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย ครูเจี๊ยบให้ความเห็นว่า เด็กจะมองและจดจำภาพของโรงเรียนและครูเปลี่ยนไป เเต่เราในฐานะครูจะทำอย่างไรให้เขากลับมารู้สึกว่าโรงเรียนคือ “พื้นที่ปลอดภัย” ที่เขาจะเล่นเเละสนุกได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง
ที่นี่สอนเรื่องสิทธิในร่างกายตั้งเเต่อนุบาล เพราะเด็กอยากรู้เเล้ว ยิ่งมีเพื่อนที่เพศไม่เหมือนเรา เเล้วห้องน้ำไม่มีประตู ทำไมเขามีอันนั้น ทำไมเราไม่มีอันนี้ ซึ่งทำให้เราต้องเริ่มสอนว่ามันโอเคนะที่เรามีร่างกายไม่เหมือนกัน เเล้วเราจะทำยังไงให้เขาเข้าใจว่านี่คือร่างกายของเขา คนอื่นไม่มีสิทธิมาเเตะต้องเรา ถ้าเรารู้สึกไม่ปลอดภัยเราต้องให้ไปหาใคร หรือเราต้องขอความช่วยเหลืออย่างไร เวลารู้สึกไม่ปลอดภัย
“เด็กเล็กควรจะมองโรงเรียนว่าเป็นที่ๆ สนุกเเละอยากไป เพราะมีความสุขและปลอดภัย ครูคือเพื่อน ถึงแม้ว่าจะมีกรอบการเคารพอยู่ แต่ในห้องเรียนเราเป็นเพื่อนกัน เล่นด้วยกัน มีอะไรมานั่งคุยกัน เพราะนอกจากนักจิตวิทยาที่จะเข้ามาช่วยเด็กเเล้ว คุณครูก็เป็นสื่อกลางที่จะช่วยปรับสภาวะจิตใจเด็กๆ ด้วย ครูอยู่กับเด็กๆ ทั้งวัน เขาไว้ใจเรา แต่ถ้าเข้าไม่สามารถไว้ใจเราได้เพราะเด็กกลัวครูไปแล้ว นั่นคือปัญหาใหญ่ ถ้าเด็กกลัวครูเขาจะเรียนไม่ได้”
อ่านรายละเอียด สมาคมการศึกษาปฐมวัยแห่งชาติได้ที่ The 10 NAEYC Program Standards
อ่านรายละเอียด คุณสมบัติครูปฐมวัยรัฐนอร์ท แคโรไลน่าบัญญัติ ได้ที่ Institute for child development professionals
ห้องเรียนอนุบาลที่ออสเตรเลีย: เด็กคือคนที่ควรปกป้อง
“ทุกวันนี้บ้านเราไม่ให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็ก หรือ Child Protection เด็กโดนทำร้าย แต่บางคนกลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ หมายความว่าถ้าเด็กเจอแบบนี้ตั้งแต่เล็กๆ ความรุนเเรงหรือบาดเเผลในใจเขาจะติดตัวไปตลอด เพราะช่วงอายุ 0 – 5 ขวบ เป็นช่วงวัยที่สำคัญในการค้นหาตัวตนที่จะส่งผลต่อเขาในอนาคต”
คุณครูปุ๊ก – หิรัญญา กิจกอบชัย เป็น Educator ของแฟมิลี่เดย์เเคร์ ของค็อกคาทู เเฟมิลี่เดย์เเคร์ (Cockatoo Family Day Care) รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) ประเทศออสเตรเลีย
ที่ออสเตรเลียการเข้าอนุบาลจะมี 3 แบบคือ 1) Pre-school สำหรับเด็กอายุ 3 – 5 ปี เหมือนโรงเรียนอนุบาลที่ประเทศไทย 2) Long day care (Child care centre) รับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 0 – 5 ปี บางที่เริ่มทำงานกันตั้งแต่ 6:00 น. ถึง 18.00 น. และ 3) Family Day care ซึ่งใช้บ้านพักอาศัยเป็นสถานที่ดูแลและให้ความรู้เด็ก สามารถดูแลเด็กได้ไม่เกิน 4 คน อายุตั้งแต่ประมาณ 1 – 5 ขวบเรียนร่วมกัน โดยการจะเปิดทำการนั้นต้องขอใบอนุญาต จะมีเจ้าหน้าที่จาก Family day care scheme มาตรวจดูบ้านเลยว่าทุกอย่างปลอดภัยสำหรับเด็กหรือไม่ และผู้ดูแลเด็ก (Educator) ต้องมีคุณสมบัติครบตามกฎระเบียบ
การเรียนในชั้นอนุบาลจะเรียนแบบ play based learning กับ child interests จัดกิจกรรมให้เด็กจากที่เด็กสนใจ เช่น เด็กๆ คุยเรื่องพระจันทร์ ก็หาหนังสือมาอ่าน แล้วดูว่าพระจันทร์ที่เห็นมีรูปร่างยังไงบ้าง แล้วมีเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์พอดี ก็เล่น playdough ทำขนมไหว้พระจันทร์กัน ส่วน Butterfly Life Cycle (วงจรชีวิตผีเสื้อ) ที่จัดไว้ในห้องก็เพราะมีเด็กชอบให้อ่านหนังสือ Crazy Caterpillars แบบนี้เป็นต้น
การคัดเลือกครู และบทบาทของครูประจำชั้น และผู้ช่วยครู
เส้นทางของการเป็นครูผู้ช่วย (Child care assistant) หรือ Educator ในออสเตรเลียจะต้องเรียนหลักสูตร ‘Certificate III in Early Childhood Education and Care’ เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน เเต่ถ้าต้องการจะทำในตำเเหน่งที่สูงขึ้นเป็นครูประจำชั้น หรือ Room leader จะต้องเรียนต่อในระดับ ‘Diploma’ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง และหากต้องการเรียนเพิ่มจนจบปริญญาตรีจะต้องเรียนต่ออีกประมาณ 2 ปี หรือใครแน่ชัดว่าชอบเป็นครูจะเรียนปริญญาตรี (Bachelor of Early Childhood Education) 4 ปีเลยก็ได้
ซึ่งคุณสมบัติของ Family Day Care educator ที่ออสเตรเลียระบุไว้ชัดเจนตามกฎหมายว่าต้องมีคุณสมบัติ คือ 1) สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรระดับ 3 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและการดูแลเด็ก (Certificate Ill level education and care) 2) มีใบรับรองการผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการทำซีพีอาร์ (First aid and CPR) รวมถึงการจัดการภาวะฉุกเฉินของโรคหอบหืดและภาวะภูมิแพ้ 3) ผ่านการประเมินประสบการณ์ทำงานร่วมกับเด็ก ไม่เคยมีประวัติการทำร้ายเด็ก (Working with children check) 4) ต้องมีใบรับรองประวัติอาชญากรรม (Police Check) 5) มีใบรับรองแพทย์ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคติดต่อ สุขภาพจิตดี
หน้าที่ของ Family day care educator จะเป็นคนดูแลและให้ความรู้เด็กทั้งสี่คนเองทั้งหมด แต่จะมี Family Day Care Coordinator มาเยี่ยมที่บ้านทุกๆ 1 – 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อตรวจบ้านและตรวจงานต่างๆ ของ educator คอยให้ความรู้เพิ่มเติม ให้ความช่วยเหลือในกรณีมีข้อสงสัยหรือเด็กมีปัญหา Family Day Care Coordinator จะต้องมีวุฒิ Diploma in Early Childhood Education
ส่วนใน Pre-school และ Child care center บทบาทของครูประจำชั้น หรือ Room leader (Diploma in Early Childhood Education) จะเป็นคนทำโปรแกรมการเรียนรู้ว่าในแต่ละวันเด็กจะทำกิจกรรมอะไร ซึ่งคอยดูจากความสนใจของเด็ก แล้วจะมี Child care assistant (วุฒิ Certificate III in Early Childhood education) ช่วยดูแลเด็ก และนอกจากครูประจำชั้น และครูผู้ช่วยแล้ว ยังมี ECT (Early Childhood Teacher) เป็นครูที่ดูภาพรวมทั้งหมดซึ่งจะจบปริญญาตรี
นอกจากการสอนพื่อพัฒนาความรู้ของเด็กแล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นครูคือจะต้องช่างสังเกตในสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและถ้าเด็กมีปัญหาจะต้องรู้วิธีที่จะรับมือเพื่อไม่ให้เด็กเกิดอันตราย ครูและ educator จะต้องอบรมเรียนการปกป้องเด็ก (Child protection training) ทุกๆ สามปีนอกเหนือจากการเรียนวิชา Identify and respond to children and young people at risk ในหลักสูตร และจะต้องเรียนเพิ่มเติมในเรื่อง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First aid and CPR) และเรียนรู้การรับมือกับหอบหืดและภูมิแพ้ (Asthma and Anaphylaxis) เด็กๆ ที่ออสเตรเลียเป็นโรคหอบหืดกับภูมิแพ้กันค่อนข้างเยอะ เด็กบางคนเป็นหนักมากจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นจึงให้ความสำคัญกับการเรียนปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งใบรับรอง CPR ต้องต่ออายุทุกปี และใบรับรองหลักสูตรปฐมพยาบาลต้องต่ออายุทุก 3 ปี
ระบบควบคุมคุณภาพและพัฒนาครู
ทุกรัฐจะมีกรอบตัวชี้วัดพัฒนาการของเด็ก และครูจะสังเกตพัฒนาการของเด็กอยู่ตลอด โดยใช้ Early Year Learning Framework เป็นแนวทางเพื่อดูว่าพัฒนาการของเด็กสมวัยตาม Developmental Milestones หรือไม่ และมีคู่มือ (guideline) ที่คอยดูว่าที่เราสอนเด็กไปตรงกับข้อไหน เด็กสามารถทำตามสิ่งที่ควรจะได้ทำตามวัยไหม เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั้งประเทศ
ส่วนการประเมินโรงเรียนจะใช้ระบบ ‘Assessment and Rating’ จากกระทรวงศึกษาธิการ (Department of Education) ที่ออสเตรเลียใช้ National Quality Standard เป็นกรอบในการชี้วัด จะได้รับแจ้งล่วงหน้าก่อนการตรวจทุกๆ 2 – 3 ปี ไม่ได้ตรวจเเค่สถานที่ เเต่รวมถึงวิธีการเรียนการสอน การเก็บข้อมูลเด็ก ความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม สุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก จำนวนครูต่อนักเรียน ความสัมพันธ์ของเด็กกับครู การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง และคุณภาพครู นอกจากนี้ยังมี Spot Check การเข้ามาตรวจโดยไม่บอกล่วงหน้า
“ถึงเขาจะสุ่มตรวจ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราจะโดนเมื่อไหร่ แล้วตรวจจริงจังมากเพราะว่าถ้ามีอะไรไม่ถูกต้อง โรงเรียนอาจจะถูกสั่งปิดเลย”
ในส่วนของ Family day care educator จะต้องเข้าอบรมเพื่อพัฒนาความรู้อย่างน้อยปีละสี่ครั้ง และมี Educator conference ปีละหนึ่งครั้ง
ยังสามารถเรียนเพิ่มเพื่อต่อยอดความรู้ของตนเองได้ รวมถึงมีทุนการศึกษาจากรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนสำหรับเรียนปริญญาตรีเพื่อเป็นครู การลดราคาค่าเล่าเรียน Certificate III และ Diploma หรือบางรัฐสามารถเรียนฟรี เพราะเขามองเห็นความสำคัญของเด็กอนุบาลที่ไม่ได้มีเเค่การนำเด็กมาให้โรงเรียนดูเเล เพราะช่วงอนุบาลเป็นวัยที่เด็กจะเรียนรู้จากการเล่นเเล้วนำไปต่อยอดในอนาคต
บทบาทครูเมื่อเกิดการใช้ความรุนแรงกับเด็ก
“ที่ออสเตรเลียทำร้ายเด็กคือไม่ได้เลย ผิดกฎหมาย และถ้าได้ชื่อว่าเป็น ครูหรือ educator แล้ว หน้าที่ก็คือต้องเป็นคนดูแลปกป้องเด็ก ถ้าเห็นว่ามีอะไรผิดปกติจะต้องรายงาน จะนิ่งเฉยไม่ได้”
กรณีครูที่ทำร้ายเด็ก ถ้าเป็นกฎหมายที่ออสเตรเลีย หากมีหลักฐานชัดเจนจะดำเนินการตามกฎหมาย แต่จะถูกตัดสินยังไงก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและดุลพินิจของศาล และครูที่เกี่ยวข้องและรับรู้เหตุการณ์ก็จะถูกพิจารณาด้วย ครูทุกคนที่นี่เป็น mandatory reporter ต้องคอยสังเกตดูแลเด็กว่าปกติดีไหม ปลอดภัยหรือเปล่า
ครูปุ๊กทิ้งท้ายว่า การตีเด็กเป็นเรื่องผิดกฎหมายของออสเตรเลีย เพราะฉะนั้นคุณครูควรมีความรู้เรื่องการจัดการพฤติกรรมของเด็ก (Behaviour Management Strategies) เช่น เวลาพูดกับเด็กควรย่อตัวลงให้อยู่ระดับใกล้เคียงกับเด็ก เวลาอยู่ใกล้กับเด็กจะทำให้เราได้รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของเด็กได้ดีขึ้นและจะช่วยให้เด็กสนใจตอนที่เราพูดหรือถาม ฟังในสิ่งที่เด็กพูด และใช้ทักษะการพูดให้เด็กอารมณ์เย็นลงและค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่เขาทำลงไป เเละถ้าเด็กจะต้องได้รับการดูเเลพิเศษ ก็จะปรึกษากับ Family Day Care Coordinator ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลให้คำปรึกษาของ Family day care educator ก่อนที่จะพูดคุยกับพ่อเเม่ให้พาลูกไปพบกับผู้เชี่ยวชาญเเละนักบำบัด
อ่านรายละเอียดมากกว่านี้ได้ที่ Australia children’s education and care quality authority
ห้องเรียนนอร์เวย์: ความสุขของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
“การตีเด็กเป็นเรื่องที่ค่อนข้างห่างไกลสำหรับคนนอร์เวย์ อาจเป็นเพราะความแตกต่างเรื่องวัฒนธรรมและหลักการคิดในด้านสิทธิของเด็ก”
คุณครูจาร์- อุทุมพร สุญาณเศรษฐกร เจ้าหน้าที่เฉพาะทางด้านเด็กเเละเยาวชน อนุบาล Ullern Menighets barnehage Holgers lyst ประเทศนอร์เวย์ เล่าว่า คนนอร์เวย์จะเข้าใจเรื่องสิทธิเเละจิตวิทยาเด็กเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่เเล้ว เพราะเขาเชื่อว่าเด็กจะเติบโตด้วยการเรียนรู้จากสังคม ทำให้นอร์เวย์เเทบจะไม่มีการตีเด็กเลย ซึ่งส่งผลให้เด็กอนุบาลนอร์เวย์ไม่เรียนวิชาการ เเต่คุณครูจะนำเรื่องที่เด็กสนใจมาประยุกต์ให้เข้ากับแบบแผนโครงสร้างการเรียนการสอนประจำปี อนุบาลไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ เเต่เด็กในนอร์เวย์ 9 ใน 10 คน ไป kindergarten (โรงเรียนอนุบาล) กัน
ครูจาร์เกริ่นกับเราให้เห็นภาพว่าวัฒนธรรมของคนในประเทศนั้นก็มีผลต่อการเลี้ยงดูเด็ก เธอเล่าว่า คนนอร์เวย์รักการอยู่กับธรรมชาติมากเป็นพิเศษ และด้วยภูมิประเทศซึ่งประกอบไปด้วยภูเขา ป่า และฟยอร์ด (หรือ fjord บริเวณชายฝั่งที่ถูกน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นอ่าว) ทำให้ธรรมชาติเป็นส่วนนึงของชีวิตของคนที่นี่ และเชื่อว่าอากาศที่ดีจะช่วยให้ร่างกายเเข็งเเรงเเละช่วยเรื่องจิตใจ ความสงบ และเป็นพื้นฐานความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต ดังนั้น เมื่อเด็กๆ เข้ามาเรียนเนอสเซอรี่ คุณครูก็จะออกเเบบกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การเก็บใบไม้ การเดินทริปสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือเดินออกไปร้านค้าเพื่อเลือกซื้ออุปกรณ์และส่วนประกอบในการทำอาหารร่วมกัน
“คนนอร์เวย์รักธรรมชาติมาก ไม่เเปลกที่จะต้องไปเดินป่า เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ทำกันมานาน ไม่ใช่กระทรวงศึกษาบอกให้ทำเพราะเขาเชื่อว่าการที่เด็กออกไปใช้ร่างกาย สูดอากาศบริสุทธิ์จะดีกว่าอยู่ในห้องเรียนเเละทำให้ร่างกายเเข็งเเรง เพราะฉะนั้นถ้าเด็กเล็กมาเนอสเซอรี่ ก็เป็นวัฒนธรรมที่ต้องอยู่ข้างนอก พาเด็กเล่นกลางสายฝนหรืออากาศหนาวติดลบก็ต้องออกไปเล่นข้างนอก
“อนุบาลของนอร์เวย์จะไม่มีการเรียนการสอนด้านวิชาการอย่างเป็นทางการจนกว่าจะถึงชั้นประถมศึกษา เเต่ทุกอย่างที่เรียนคือการเข้าสังคมผ่านกิจกรรม ให้เด็กลองใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ใช้มือ เล่นข้างนอก เล่นทราย ไปทริปเข้าป่า เพราะเขาเชื่อว่าการเล่นคือการเรียนของเด็ก เด็กคือเด็ก เด็กต้องได้โตแบบเด็ก โตผ่านการเรียนรู้จากการเล่นและการอยู่ร่วมกันในสังคม การแสดงออกให้เด็กได้รับรู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ ความเป็นตัวของเขา ยอมรับเขาในแบบที่เขาเป็นแบบ individual ส่งเสริมเขาในสิ่งที่เขาสนใจ และช่วยพัฒนาหาแนวทางส่งเสริมในด้านที่เป็นจุดอ่อนของเขา คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเป็นครู
หรือตัวอย่างในห้องเรียน จะมีชาร์ตเรื่องเพื่อน สอนให้เด็กรู้ว่าถ้ารู้สึกเเย่ต้องทำยังไง เเละถ้าเห็นเพื่อนที่เดินคนเดียว เศร้าหรือเหงาเราต้องปฎิบัติตัวอย่างไร
การคัดเลือกครู และบทบาทของครูประจำชั้น และผู้ช่วยครู
การเป็นครูนอร์เวย์ต้องผ่านด่านการคัดเลือก ไม่ต่างจากอเมริกาหรือออสเตรเลีย คือ ครูต้องเรียนจบปริญญาตรีโดยตรง ครูจาร์เล่าว่า เธอไม่ได้เรียนจบครูมาโดยตรง ได้มาศึกษาเพิ่มเติมที่นี่ด้านเด็กและเยาวชน และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อด้าน Children with Special Needs ก็จะทำงานตำเเหน่งเจ้าหน้าที่เฉพาะทางด้านเด็กเเละเยาวชนที่จะช่วยดูเเลเด็กๆ ในห้องเรียน ขณะที่ครูผู้ช่วยไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี เเต่ส่วนใหญ่ต้องมีประสบการณ์ทำงานเนอสเซอรี่มาก่อน เเละไม่ว่าตำเเหน่งอะไรก็ตามจะต้องมีใบรับรองประวัติจากกรมตำรวจของนอร์เวย์ว่า ไม่มีประวัติการทำร้ายร่างกายหรือประวัติอาชญากรรม
ตาม พรบ. การศึกษาปฐมวัยของนอร์เวย์ระบุว่า ครูประจำชั้น (head teachers) และผู้อำนวยการ (pedagogical leaders) จำเป็นต้องผ่านการอบรมการศึกษาก่อนปฐมวัย (Preschool teacher) หรือได้รับคุณวุฒิทางการศึกษาที่รับรองคุณสมบัติของการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก คุณครูต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี สำหรับผู้อำนวยการที่ไม่มีคุณวุฒิด้านการศึกษาปฐมวัยจำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาเกี่ยวกับการสอนในระดับอนุบาล (kindergartens)
ผู้ช่วยคุณครูใน kindergarten ไม่มีข้อบังคับว่าต้องมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเรื่องเด็ก แต่ทุกคนไม่ว่าทำงานประจำหรือชั่วคราวต้องมีใบรับรองจากตำรวจว่าไม่เคยก่อเหตุอะไรมาก่อน
สำหรับหน้าที่การทำงานดูเเลเด็กจะเหมือนกันหมด เเต่ต่างกันตรงที่ครูมีหน้าที่วางเเผนการทำงานของคนในเเผนกด้วย เเละวางเเผนว่าเเต่ละสัปดาห์ เเต่ละเดือน จะเน้นเรื่องอะไรเพื่อให้สอดคล้องกับเเผนโครงสร้างของรัฐในด้านปฐมวัย ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ครูก็สามารถเสนอความคิดได้ว่าอยากให้มีการเปลี่ยนเเปลงอะไร ตรงไหน อย่างไร เเละครูมีหน้าที่ประชุมกับผู้ปกครองตัวต่อตัวเพื่อรายงานว่าเด็กๆ เป็นยังไง สรุปการติดตามพัฒนาการให้ผู้ปกครองทราบ เเละผู้ปกครองก็จะติดต่อกับคุณครูในกรณีที่มีเรื่องจะปรึกษา
ครูจาร์อธิบายเพิ่มว่า ในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ลาหรือขาดงาน และทางเนอสเซอรี่มีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่จากที่อื่นมาทำงานแทน เจ้าหน้าที่คนนั้นจะไม่สามารถอยู่กับเด็กตามลำพังได้ ถ้าจะต้องพานักเรียนไปเข้าห้องน้ำก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปด้วย เพื่อป้องกันอันตรายต่อเด็กหรือทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งในห้องเรียนคุณครู 1 คนจะดูเเลนักเรียน 3 คน
“ในเเผนกพี่มีเด็ก 15 คน ก็จะมีคุณครูสองคน ซึ่งจบครูโดยตรงมีพี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ด้านเด็กเเละเยาวชน เเละมีผู้ช่วยครูอีกสองคนค่ะ ซึ่งทั้งคู่ไม่ได้จบด้านเด็กหรือครู รวมทั้งหมดเจ้าหน้าที่ 5 คน เด็ก 15 คน ตามกฏหมาย (0 – 3 ขวบ)”
ระบบควบคุมคุณภาพและพัฒนาครู
ระบบพัฒนาครูจะมีคอร์สให้ครูเลือกได้ว่าอยากจะพัฒนาตนเองอย่างไร ซึ่งกิจกรรมที่จะเข้าร่วมก็จะขึ้นอยู่กับสหภาพครูในเขตพื้นที่นั้นเพราะเป็นการจัดร่วมกับเนอสเซอรี่อื่นๆ ซึ่งมีวันของคุณครูเหมือนกับอเมริกา เรียกว่า ‘Planning Day’ โดยครูจาร์บอกว่า ที่โรงเรียนจะมีการประชุมใหญ่ของครูปีละ 4 ครั้ง โดยเป็นการประชุมหรือสัมมนาแบบทั้งวันเพื่อเเลกเปลี่ยนไอเดียเเละปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีผู้อำนวยการเป็นคนช่วยวางแผนให้ และในแต่ละห้อง/แผนกจะมีการประชุมกันอาทิตย์ละครั้ง สรุปผลการทำงาน ติดตาม ปรับปรุงแก้ไข และแลกเปลี่ยนความคิดกัน
“อนุบาลของพี่จาร์จะจัดสัมมนาที่ทุกคนมานั่งคุยเเลกเปลี่ยนกันในเรื่องที่อยากจะเเก้เเละปรับเปลี่ยน เเล้วหาทางออกร่วมกัน เช่น ครั้งนี้เราจะคุยกันเรื่องอาหาร เราก็จะนั่งใส่รายละเอียด นั่งถกกัน อะไรที่อยากแก้ไข เพิ่มเติม ”
ส่วนเรื่องเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพของการสอน ครูจาร์บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐหรือเอกชนก็จะมีมาตรฐานเดียวกันที่จะต้องผ่านเกณฑ์เหล่านี้ก่อน
การดูแลเมื่อเกิดการใช้ความรุนแรงกับเด็ก
คนที่นี่มองว่าเด็กควรได้รับการดูเเลที่ดีที่สุด เรื่องการคุ้มครองเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะบุคคลใดก็ตาม แม้กระทั่งพ่อ เเม่ ก็ไม่มีสิทธิ์เเตะเนื้อต้องตัวให้เจ็บหรือด้านอารมณ์
ที่นี่มี The Norwegian Child Welfare Services เป็นผู้ดูเเลเรื่องความเป็นอยู่ของเด็ก การตีเด็กเป็นเรื่องผิดกฎหมายของที่นี่ เเม้กระทั่งการตีด้วยมือเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำโทษ พ่อเเม่ไม่มีสิทธิ์เเตะต้องตัวลูกในลักษณะที่ทำให้เจ็บ ถ้ามีการเเจ้งจากเพื่อนบ้าน ครู หรือใครก็ตาม หรือแม้กระทั่งตัวเด็กเองเป็นคนแจ้งว่าเด็กถูกกระทำ เจ้าหน้าที่จะทำการสอบสวนสัมภาษณ์เด็กโดยเร็วที่สุด โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ หลังจากมั่นใจแล้วว่าเด็กโดนกระทำจริง ในวันเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่ทางการจะเรียกผู้ปกครองให้มาพบและแจ้งเรื่องราวทั้งหมด และดำเนินการโดยด่วน
ในบางกรณีจะมีการจับเด็กแยกออกไปจากครอบครัวและไปอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ทางการจัดให้ในระหว่างที่เรื่องยังไม่จบ ครอบครัวที่โดนเอาลูกไปเพราะเขามองว่าพ่อแม่ไม่มีประสิทธิภาพในการเลี้ยงลูกให้ดีพอ ทางรัฐก็จะไปหาครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และมีเจ้าหน้าที่ทางด้านจิตวิทยาด้านเด็กร่วมมือในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
เรื่องความสุขของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เเละการที่เราวางพื้นฐานให้เขารักเเละมีความสุข สนุกกับการไปอนุบาลหรือไปโรงเรียน เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เขาเอนจอยกับการเรียน มีความกระตือรือร้นเเละพร้อมที่จะเรียนรู้เสมอ เราในฐานะบุคลากรทางด้านการศึกษามีหน้าที่ที่ต้องทำส่วนของเราให้ดีที่สุด เเละใช้จิตวิทยาในการทำงานกับเด็ก รู้ต้นเหตุที่มาที่ไปเเละผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กจากการกระทำหรือเเผนงานของเรา สถานศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญในชีวิตเเละอนาคตของเด็ก เด็กๆ ใช้เวลาอยู่ในสถานศึกษามากกว่าอยู่กับผู้ปกครองในเเต่ละวัน เพราะฉะนั้นเราต้องร่วมกันทำให้เด็กๆ มีความรู้สึกที่ดีกับสถานที่เเห่งนี้
3 ห้องเรียน จาก 3 ประเทศ อาจเป็นทางออกของสถานการณ์การศึกษาปฐมวัยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเเต่ละประเทศ บุคลากรในโรงเรียน ทั้งผู้บริหาร คุณครูเเละนักเรียนต่างช่วยกันสร้างห้องเรียนของตัวเอง เเล้วถ้าถามว่า ตอนนี้ใครคือคนที่มีบทบาทสำคัญเเละเป็นเจ้าของพื้นที่ในห้องเรียนเด็กเล็กของไทย คำตอบของคุณคืออะไร…