- ‘ครอบครัว’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ แต่คือ ‘ตัวตนย่อย’ ซึ่งต่างอิงแอบมีความสัมพันธ์กันภายใน (internal) อย่างเป็นครอบครัว (family)
- ปกติตัวตนย่อยของเราจะทำงานอย่างสมดุลและสอดคล้องอย่างเป็นครอบครัว เมื่อตัวตนหวาดกลัวเริ่มสั่นคลอนอ่อนไหว ตัวตนนักสู้ก็อาจเผยตัวออกมาปกป้อง หรือบางทีอาจเป็นตัวตนย่อยอื่นๆ ขึ้นมากลบความหวาดกลัวหรืออะไรก็ตามที่ทำให้เรากำลังเสียศูนย์
- IFS ไม่ใช่เครื่องมือ ‘ปราบปราม’ แต่เพื่อเข้าใจและรู้ทันว่าเรามักใช้ ‘ตัวตนย่อย’ ไหน และมันส่งผลอย่างไรต่อชีวิต
หลายๆ คนอาจเคยเป็นเช่นนี้
“บางสิ่งในตัวฉันอยากได้คำยืนยันว่า ‘ทุกอย่างจะผ่านพ้นไปด้วยดี’ แต่เสียงอีกด้านกลับค้านว่าความคิดนั้นเป็นแค่คำลวง ขณะที่อีกมุมหนึ่งก็รำคาญมากๆ ถ้าใคร หรือแม้กระทั่งตัวเราเองจะมาบอกว่า ‘ทุกอย่างจะต้องผ่านไป’ ”
คือตัวอย่างที่ เอลานา พรีแมค แซนด์เลอร์ (Elana Premack Sandler) นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ (Licensed Professional Social Workers: LCSW) ให้กับศูนย์ข้อมูลการป้องกันการฆ่าตัวตาย (Suicide Prevention Resource Center: SPRC) อธิบายไว้ในบทความเรื่อง ‘Hope and Hopelessness From a Different Viewpoint’ (ความหวังและความสิ้นหวังจากต่างมุมมอง) ในเว็บไซต์ Psychology Today เพื่ออธิบายว่า
‘ภายในตัวตนของเรา มีได้ตั้งหลายตัวตน’ ไม่มีตัวตนไหนเป็นใหญ่ เพียงแต่ในบางช่วงเวลา ตัวตนใดตัวตนหนึ่งอาจลุกขึ้นมาทำงานอย่างแข็งแกร่ง เพื่อปกป้องความหวาดกลัวอื่นในใจของเราเอง
และนั่นคือหนึ่งในแก่นแกนของแนวคิดจิตบำบัดที่ชื่อ Internal Family Systems (IFS) หรือ จิตบำบัดระบบครอบครัวภายใน แต่ ‘ครอบครัว’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงความสัมพันธ์ภายนอกในเชิงเครือญาติ พ่อ-แม่-ลูก หากหมายถึง ‘ตัวตนย่อย’ (part หรือ subpersonality) ซึ่งต่างอิงแอบมีความสัมพันธ์กันภายใน (internal) อย่างเป็นครอบครัว (family) ตัวตนย่อยเหล่านี้จะลุกขึ้นมา ‘ควบคุม’ หรือ ‘ปกป้อง’ ตัวเองจากความเจ็บปวดหรือบาดแผลที่กำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น ตัวตนขี้กลัว, ตัวตนจัดการ, ตัวตนนักสู้, ตัวตนขี้เล่น, ตัวตนหวาดระแวง และอีกมาก
ตัวตนย่อยมีได้มากมายหลากหลายถ้าเราลองสำรวจเสียงในหัวหรือปฏิกิริยาโต้กลับที่แต่ละคนใช้ในแต่ละสถานการณ์ดีๆ
ปกติแล้วตัวตนย่อยต่างๆ ของเราจะทำงานเพื่อขจัดพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาตอบสนองแย่ๆ เพื่อกันไม่ให้เรา ‘หลุด’ หรือ ‘พัง’ เช่น เมื่อตัวตนหวาดกลัวเริ่มสั่นคลอนอ่อนไหว ตัวตนนักสู้ก็อาจเผยตัวออกมาปกป้อง หรือบางทีเราอาจใช้ตัวตนย่อยอื่นๆ ขึ้นมากลบความหวาดกลัวหรืออะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังเสียศูนย์
แต่ถึงจะมีตัวตนย่อย เราก็ยังมีผู้บัญชาการสูงสุดที่เรียกว่า ‘self’ เป็นตัวตนแก่นแท้ ซึ่งคำอธิบายถึง ‘ตัวตนย่อย’ และ ‘self’ จะกล่าวต่อในหัวข้อถัดไป
การใช้งาน IFS มีได้ทั้งการใช้ในชีวิตประจำวัน และการรักษาผู้ที่มีอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า, ไบโพลาร์, ถูกคุกคามทางเพศ และอื่นๆ ซึ่งจะต้องทำงานกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดมืออาชีพ
แต่เฉพาะการใช้งานในชีวิตประจำวัน จะใช้เป็นเครื่องมือใคร่ครวญและค้นลึกเข้าไปในโลกภายในเพื่อดูว่าตัวตนย่อยใดที่เราใช้งานประจำ สำคัญคือ ‘ไม่ใช่การรู้เพื่อรักษา’ แต่ยอมรับว่ามันมีอยู่ รับฟังเสียงและพินิจพิเคราะห์เพ่งมองความต้องการ และลองดูว่าหากเราใช้งานตัวตนนี้บ่อยเกินไป จะเป็นไปได้ไหมหากเราจะยอมให้ self ตัวตนที่เป็นแก่นแท้ปรากฏขึ้นมาดูแลปกป้องตัวเองบ้าง
นอกจากนี้ยังมีการนำ IFS ลงไปใช้กับการเลี้ยงเด็กในแง่ ให้เขาเรียนรู้ แยกแยะ และเข้าใจตัวตนของอารมณ์นั้นตั้งแต่ยังเด็ก โดยเฉพาะเมื่ออายุ 6-11 ปี วัยที่เด็กกำลังพัฒนาด้านภาษาและอารมณ์ กล่าวคือ ในขณะที่พวกเขากำลังหัดพูด และเหมือนจะอธิบายออกมาเป็นภาษาได้ไม่ดีนัก แต่พวกเขากำลังเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ต่างๆ ผ่านสภาพแวดล้อมที่เผชิญ
ตัวตนย่อยคืออะไร มีอะไรบ้าง?
ก่อนจะว่าด้วยตัวตนย่อย ต้องกล่าวก่อนว่า IFS ถูกพัฒนาขึ้นโดย ริชาร์ด ชวอร์ตซ์ (Richard Schwartz) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1990 หลังทำงานกับคนไข้ตลอดหลายปีและพบความเชื่อมโยงในการรักษาคนไข้หลายคนว่าการรักษาจะดีและเจาะจงขึ้นมากหากรับฟังโดย ‘มุ่งเป้า’ ไปที่ตัวตนย่อยที่อยู่ภายในแต่ละคน
ชวอร์ตซ์เชื่อว่าไม่มีตัวตนย่อย หรือ part ไหนที่เลว หน้าที่ของนักจิตวิทยาหรือจิตบำบัดเพียงแต่ทำให้ตัวตนย่อยนั้นไม่แสดงผลลัพธ์อย่างสุดขั้วเท่านั้น ชวอร์ตซ์แบ่งตัวตนย่อยหลักไว้ 3 อย่าง (แต่ย้ำว่าตัวตนย่อยมีได้มากมายหลากหลาย) ดังนี้
- Managers (นักจัดการ): รับผิดชอบด้านความตระหนักรู้โดยทั่วไปของคน วิธีการคือ จะออกไปขจัดความรู้สึกไม่ดีอย่าง ความรู้สึกไม่ชอบ ความรู้สึกไม่สร้างสรรค์ ประสบการณ์ทั้งหลายที่ถูกกระตุ้นจากภายนอก
- Exiles (ผู้ลี้ภัย): เป็นตัวตนที่มักเกิดขึ้นหรือเป็นผลลัพธ์จากเรื่องราวในอดีต เป็นผู้ลี้ภัย เด็กน้อยที่มีประสบการณ์เจ็บปวด เปราะบาง แต่นักจัดการ (Manager) และนักต่อสู้ (Firefighters) มักจะออกมาปกป้องความรู้สึกเหล่านี้ หมายความว่าในระดับปกติ ความรู้สึกจากตัวตนผู้ลี้ภัยนี้จะถูกปกป้องเอาไว้
- Firefighters (นักต่อสู้): นักต่อสู้จะมีบทบาทเมื่อความรู้สึกหวาดกลัว หรือตัวเนรเทศถูกรุกให้เผยตัว นักต่อสู้จะเข้าไปปกป้องความรู้สึกนี้ การเผยตัวของนักต่อสู้ทำให้คนนั้นๆ แสดงพฤติกรรมปกป้องตัวเองทางใดทางหนึ่ง อาจเป็นการยอมทำตามใจ, เสพติดบางอย่างหรือไปทำร้ายบางสิ่ง หรือบางครั้งอาจเป็นทางนำไปสู่พฤติกรรมทางเพศ, ทำงานหนัก, เสพติดอาหาร หรือไม่ก็ลงกับแอลกอฮอล์ หรือยาเสพติด
อาจกล่าวได้ว่า Managers (นักจัดการ) และ Firefighters (นักต่อสู้) อยู่ในบทบาทของ ‘นักปกป้อง’ ขณะที่ Exiles (ผู้ลี้ภัย) จะถูกปกป้อง
Self: ตัวตนแก่นแท้
self หรือ ‘ตัวตนแก่นแท้’ นั่งอยู่ในตำแหน่งของความตระหนักรู้ (consciousness) หรือแก่นแกนของตัวบุคคล self จะให้ภาพของความคิดที่มีคุณภาพเชิงบวก ทั้งการยอมรับ, ความมั่นใจ, ความสุขุมสงบนิ่ง, ความปราดเปรื่อง, ความสร้างสรรค์, ความเมตตา, ความเชื่อมโยง, ความเป็นผู้นำ, มุมมองการใช้ชีวิต และอื่นๆ ซึ่งเป็นคุณลักษณะเชิงนามธรรม ส่งออกมาเป็นคุณภาพจากภายใน ไม่ใช่คุณลักษณะที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ตัวตนย่อยแสดงออกให้เห็นเป็นพฤติกรรมออกมา ในแง่นี้จึงอาจกล่าวได้ว่า self เป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน เป็น ‘I’ หรือ ‘ฉัน’ ที่ทุกคนมีเหมือนกัน เป็นหนึ่งเดียวและไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า
จาก ‘ตัวตนย่อย’ สู่ ‘ตัวตนข้างในอย่าง self’ จึงเป็นการคลี่ขยายให้เห็นว่า การมองเห็นตัวตนย่อยและเท่าทัน เวลาที่ความรู้สึกปะทะขึ้นมา เราจะพิจารณาและชี้ชัดได้ว่าตัวตนไหนกำลังปะทุและจะต่อรองกับมันได้อย่างไร และทำอย่างไรให้เราสามารถแยกตัวตนที่หลากหลาย (unblend) เฝ้าดูอย่างสงบ และกลับมาเชื่อมโยงกับ self ตัวตนแก่นแท้ ที่สร้างความตระหนักรู้ให้กับเราได้อย่างสมดุล
กรณีศึกษา
ในกรณีของผู้ป่วยจิตเภท ผู้ที่ทำงานด้วยคือนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยา แต่ในชีวิตประจำวัน เทคนิคง่ายๆ คือถอยตัวเองออกมาหนึ่งก้าว แล้วมองไปที่ ‘ตัวตนย่อย’ นั้น และค่อยๆ ไล่ถามตัวเองไปว่า ‘เรา’ หรือ ‘ฉัน’ มองเห็นตัวตนที่ว่านี้ไหม รู้หรือไม่ว่าทำไมตัวตนนี้จึงเกิดขึ้นมา และเรารู้สึกกับตัวตนย่อยนี้อย่างไร
แต่ที่จะขอยกตัวอย่างมาอธิบายในที่นี้ คือการทำงานของนักจิตบำบัดกับผู้ป่วยจิตเภทที่ต้องการฆ่าตัวตายรายหนึ่ง บันทึกไว้ในบทความเรื่อง ‘The Teenager’s Confession: Regulating Shame in Internal Family Systems Therapy’ (คำสารภาพของวัยรุ่น: การรู้เท่าทันความอับอายผ่านจิตบำบัดระบบครอบครัวภายใน) โดย ดร.มาร์ธา สวีซี (Martha Sweezy Ph.D) วารสาร American Journal of Psychotherapy
The Teenager’s Confession เป็นเรื่องราวการบำบัดหญิงสาวรายหนึ่งซึ่งใช้นามสมมุติว่าแองจี้ (Angie) เธอรักษาอาการทางจิตมาหลายปีและมีความตั้งใจจะฆ่าตัวตาย สวีซีซึ่งรับผิดชอบการบำบัดเธอโดยยึดทฤษฎี IFS วิเคราะห์ว่า ตัวตนย่อยที่เด่นชัดของแองจี้คือ ‘ความอ่อนแอ’ และ ‘อันตราย’
ในการบำบัด สวีซีพุ่งเป้าไปที่ตัวตนความอ่อนแอ ซึ่งทำให้ตัวตนอันตรายต้องออกมาปกป้อง ในรายงานของสวีซีบันทึกว่า ช่วงแรกนักบำบัดยังไม่แน่ใจว่าตัวตนอ่อนแอและอันตรายของเธอ ถูกกระตุ้นมาจากตัวตนหรือประสบการณ์เบื้องหลังอื่นหรือไม่ แต่เมื่อบำบัดโดยพุ่งเป้าตั้งคำถามกับแองจี้ว่า เธอคิดอย่างไรกับตัวตนอ่อนแอ แองจี้จึงค่อยถอยกลับและเล่าเรื่อง -อย่างที่ในบทความใช้คำว่าสารภาพ (confession)- ว่ามันเกี่ยวพันกับเรื่องราวในชีวิตตอนเด็กที่แองจี้มีส่วนทำให้น้องชายซึ่งขณะนั้นป่วยด้วยโรคมะเร็งถูกข่มขืนและเสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน
แต่เฉพาะการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพการบำบัดในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างการบำบัดแองจี้โดยเริ่มต้นจากตัวตน ‘อ่อนแอ’ โดยใช้มือจำลอง (iron hand) จับไปที่ศีรษะของเธอ
สวีซี: หนูรู้สึกยังไงกับมือจำลองนี้?
แองจี้: หนูเกลียดมัน
สวีซี: ตัวตนของหนูที่รู้สึกว่า ‘เกลียดมัน’ จะยอมถอยกลับไป แล้วยอมให้ ‘หนู’ ได้ช่วยเหลือมือจำลองนี้มั้ยจ๊ะ?
แองจี้: โอเค ก็ได้ค่ะ
สวีซี: ถ้าอย่างนั้น ตอนนี้หนูรู้สึกอย่างไรกับมัน?
แองจี้: กลัวค่ะ
สวีซี: ‘ตัวตนหวาดกลัว’ ของหนู จะยอมถอยกลับแล้วปล่อยให้ ‘หนู’ ได้จัดการกับความกลัวนี้ได้มั้ย?
แองจี้: โอเค
สวีซี: ตอนนี้รู้สึกอย่างไรคะ
แองจี้: โกรธ
ในทางทฤษฎี ชวอร์ตซ์เรียกกระบวนการนี้ว่า ‘การค้นหา’ จุดประสงค์เพื่อให้คนไข้ได้ระบายอารมณ์ที่มักเกิดอย่างต่อเนื่อง เช่น จากความสงสัยใคร่รู้ต่อสถานการณ์นั้น แล้วจึงพัฒนาเป็นความสงสารเห็นใจ ก่อนจะไปสู่ความรู้สึกด้านลบอื่นๆ คนไข้จะถูกขอให้สำรวจความรู้สึกรุนแรงที่เกิดขึ้นและค่อยๆ แยกแยะคลี่คลาย (unblend) ในกรณีของแองจี้คือ ตอนแรกเธอเกลียดมือจำลองนั้น ต่อมาคือความหวาดกลัว และจึงโกรธมัน เมื่อความรู้สึกถูกชี้เฉพาะ สวีซีดำเนินการบำบัดของเธอต่อโดยให้แองจี้ถามว่า ‘มือจำลอง’ นั้นกำลังปกป้องใครอยู่ คนที่มือจำลองปกป้องนั้นอายุเท่าไร และมือจำลองเอง อายุเท่าไร การถามแบบนี้ไปเรื่อยๆ นักจิตบำบัดจะค่อยๆ ได้ข้อมูลมาปะติดปะต่อเพื่อไปยังตัวตนย่อยที่ครอบงำเธออยู่
ซึ่งการบำบัดขั้นสุดท้ายจะทำให้เห็นว่าตัวตนย่อยที่แองจี้ยึดอยู่ แท้จริงแล้วคือความ ‘รู้สึกผิด’ ที่เธอไม่เคยเล่าให้ใครฟังว่าเธอคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้องชายถูกข่มขืนและฆ่าตัวตาย
Hope หรือ Hopelessness ในมุมมอง IFS
กรณีศึกษาด้านบนคือการใช้ IFS ในขั้นตอนการบำบัดผู้ป่วยจิตเภทโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ในชีวิตประจำวัน เราอาจใช้มันเพื่อสำรวจและแยกแยะความรู้สึก และใช้เพื่อย้ำว่า ความรู้สึกใดๆ ที่เราถูกครอบงำในขณะนี้ อาจเป็นแค่ตัวตนย่อยเสี้ยวเดียวจากทั้งหมดก็ได้
“ถ้ารู้สึก ‘หมดหวัง’ เป็นไปได้ที่คนนั้นจะรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย มองให้ลึกลงไป ใต้ความรู้สึกหมดหวังมีตัวตนย่อย (part) และอาจจะหลายตัวตนย่อยด้วยซ้ำซ่อนอยู่ใต้ความรู้สึกนี้ ตัวตนสิ้นหวังก็อาจเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ลุกขึ้นไปปกป้องตัวตนย่อยอื่นๆ เพื่อกันไม่ให้เราเจ็บปวดเพิ่ม ซ้ำร้าย ความกลัวของเราอาจถูกกระตุ้นจากประสบการณ์ในอดีตเพิ่มขึ้นไปอีก ตัวตนสิ้นหวังก็อาจแข็งแรงขึ้นจนคนผู้นั้นแยกไม่ออกว่า ‘ฉัน’ ไม่ใช่ตัวตนสิ้นหวัง, ไม่รู้ว่า ‘ฉัน’ ยังมีตัวตนอื่นซึ่งอาจหลบมุมอยู่, และมี ‘ฉัน’ จริงๆ ซึ่งเป็นคนละตัวตนกับตัวตน ‘สิ้นหวัง’
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ IFS เน้นย้ำคืออย่าเพิกเฉยกับตัวตนสิ้นหวัง (และตัวตนอื่น), กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนย่อยต่างๆ (ที่เปรียบเหมือนครอบครัว), และ กับ self แต่ให้ใช้เวลาทบทวนความสัมพันธ์เหล่านี้ ไม่ว่ามันจะเป็นความคิดที่หนักหนาและอันตรายขนาดไหน เพราะถ้าตัวตนย่อยเหล่านี้ถูกเพิกเฉย ไม่ถูกพิจารณา มันจะเติบโตและขยายกว้างจนควบคุมไม่ได้
“IFS คือการทำงานกับตัวตนย่อยต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาทำความรู้จักมัน ซึ่งมันจะยากมากๆ ในตอนเริ่ม และทำความเข้าใจว่าแต่ละตัวตนทำงานร่วมกันอย่างไร ในกรณีนี้ ถ้าเข้าใจการทำงานของมันจริง ความสิ้นหวังจะสร้างศรัทธาให้กับ self และจะเจอหนทางที่สมดุลในการจัดการมันต่อไป”
คือข้อความจากหนึ่งในผู้เข้ารับการบำบัดกับ IFS ซึ่งแซนด์เลอร์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ยกขึ้นมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานภายในของตัวตนต่างๆ ซึ่งทำให้แซนด์เลอร์ได้ข้อสรุปว่า
- ความสิ้นหวังอาจเป็นความรู้สึกต้องการการปกป้อง หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยจนต้องหาอะไรมาทดแทนความรู้สึกนั้น
- ความรู้สึกที่เรามี หรือตัวตนย่อยที่เรามี ต้องไม่ถูกเพิกเฉยหรือพยายามขจัดมันออกไป เพราะมันเท่ากับการทำให้ความรู้สึกไม่ดีเหล่านี้ขยายกว้างขึ้น
- ‘ใจดีกับตัวเอง’ ขณะที่ทำงานกับความรู้สึกสิ้นหวัง คือสิ่งที่ต้องท่องให้ขึ้นใจ
แซนด์เลอร์ปิดท้ายว่า “ความหวังไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกับความสิ้นหวัง เราต่างมีเหตุผลให้กับทุกความรู้สึกและความคิดของตัวเอง ทั้งยังจัดการกับความรู้สึกดังกล่าวแตกต่างกันด้วย แต่การทำความเข้าใจกับความคิดมันมีกระบวนการ (process) ที่ต้องอาศัยความใส่ใจและเข้าอกเข้าใจ”
หรืออาจกล่าวได้ว่า
ถ้าเชื่อใน IFS ทุกเสียงที่ดังขึ้นในหัว จงท่องไว้เสมอว่านั่นไม่ใช่เสียงเดียว ไม่ใช่ตัวตนหลักที่ครอบงำเป็นใหญ่ หรือเป็นตัวเราจริงๆ ไม่ว่าเสียงนั้นจะดีหรือร้าย มันเป็นแค่ตัวตน ‘ย่อย’ หนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะตัวตนย่อยอื่นกำลังถูกทำร้ายหรือทำให้หวาดกลัว มันเป็นเพียง “กลไกป้องกันตัวเอง” อย่างหนึ่งเท่านั้น
สำคัญคือลองถอยตัวเองออกมาแล้วสอบถามตัวตนย่อยนั้นอีกครั้งว่า เขาอยากอธิบายอะไรกับเรา
แต่ไม่ว่าจะเป็นตัวตนย่อยไหนที่ขึ้นมาก่อกวนใจเรา เราควรแยกตัวตนย่อยออกด้วยความเมตตา เพื่อให้เข้าถึง self หรือตัวตนแก่นแท้ ให้ตัวตนแก่นแท้ได้ทำงานเพื่อให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เป็นอิสระ ทำตามหัวใจของเราที่สร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง