- พาเข้าห้องเรียนวิชาการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและพัฒนาชุมชน ของ อาจารย์หน่อง ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิชาที่ชวนนักศึกษาไปเรียนรู้ผ่าน “กระบวนการมีส่วนร่วม” กับชุมชน
- เรียนรู้ผ่านการทำ Asset Mapping หรือการทำแผนผังต้นทุนชุมชน เพื่อเข้าไปทำความเข้าใจบริบทพื้นที่และดึงเอาศักยภาพของชุมชนออกมาโชว์
- จากคลองบางหลวง ปากคลองตลาด และบางลำพู อ.หน่องเล่าว่า พวกเขาไม่ได้เข้าไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ แต่หัวใจของการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและชุมชน คือเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่รู้ว่าเขาสำคัญ เขามีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และสื่อสารข้อมูลบางชุดที่ไม่ถูกรับรู้ และที่สำคัญได้หว่านเมล็ดพันธุ์บางอย่างไว้ในใจผู้คน
- “กลุ่มของนักศึกษาคือชุมชนหนึ่งที่อาจารย์ต้องดูแล ให้เขาไม่ใช่แข่งกันได้ A แต่เขาจะต้อง mobilize ชุมชนของเขาเอง ใครมีศักยภาพอะไรให้เอาออกมาใช้ ในชุมชนนี้จะต้องขับเคลื่อนศักยภาพกันและกัน”
อินเตอร์แอคทีฟฟิลเตอร์อินสตาแกรมดอกไม้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของโมเน่ต์ (Claude Monet), นิทรรศการย้อนวันวานย่านบางลำพูที่แง้มประตูห้างนิวเวิลด์ที่ถูกปิดตายมาหลายปี การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ชุมชนคลองบางหลวง ชวนเด็กมัธยมมาเขียนแผนที่ย่านเกาะรัตนโกสินทร์
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานจากห้องเรียนวิชาการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและพัฒนาชุมชน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ของอาจารย์หน่อง ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ที่เธอตั้งใจสร้างห้องเรียนนอกห้องเรียนให้นักศึกษาได้ไปเรียนรู้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน
หากกล่าวถึง “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” ใครหลายคนอาจนึกถึงบ้านไม้ใต้ถุนสูง เรือนไม้ไผ่แบบปกาเกอะญอ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นใช่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และหากจะเปรียบให้เห็นภาพกันอีกนิด ก็เหมือนกับที่เรามีภาษาถิ่น ภาษาใต้ ภาษาเหนือ หรือแม้แต่ภาษาทวิตเตี้ยนในโลกออนไลน์ ในเชิงการออกแบบสถาปัตยกรรมก็มีภาษาเช่นกัน ซึ่งภาษาที่หมายถึงนั้นคือ เสา หน้าต่าง หลังคา เป็นต้น ที่เป็นองค์ประกอบหลักของตัวสถาปัตยกรรม ซึ่งจะปรับรูปแบบให้สอดรับกับบริบทของพื้นถิ่นนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น เราขึ้นเหนือไปกินข้าวซอย ที่ลำแต้ลำว่า ก็เหมือนกับหลังคาบ้านของชาวเหนือที่มีกาแล หากลงใต้แล้วได้ทานแกงไตปลาที่หรอยแรง ก็เปรียบได้กับอาคารที่มีหลังคาสูงชันเนื่องจากฝนตกชุก นั่นเอง
แล้ว เทคโนโลยี AR ฟิลเตอร์อินสตาแกรม กราฟฟิตี้ ประติมากรรมดอกไม้รูปยูนิคอร์น นั้นเกี่ยวยังไงกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและการพัฒนาชุมชน วันนี้จึงชวนเข้าห้องเรียนของ อ.หน่อง เพื่อหาคำตอบกัน
หลังจบปริญญาโท ด้าน Development Practice และปริญญาเอก สาขา Development Planning Unit จากประเทศอังกฤษ ด้วยการทำวิทยานิพนธ์เรื่องชุมชนแออัดในเมืองและกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เป็นจังหวะที่ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ ม.ศิลปากร ซึ่งที่นี่เองที่อาจารย์ได้นำแนวคิดเรื่อง Urban Informality (ความไม่เป็นทางการของเมือง) มาขยายให้เป็น Urban Vernacular (ความเป็นพื้นถิ่นเมือง)
“อธิบายอย่างง่าย ‘พื้นถิ่น’ คือ non-expert เรานำมาผสมกับสิ่งที่เรียนมา จนลงตัวที่คำว่า Vernacular หรือภาษาถิ่น ภาษาที่ไม่ใช่ทางการกำหนดมาให้ ซึ่งจะไปเชื่อมกับคำว่า informality หรือไม่เป็นทางการพอดี งานเกี่ยวกับชุมชนต่างๆ และย่านต่างๆ จึงเป็นการเอาความรู้ทั้งหมดที่ได้ร่ำเรียนมาถ่ายทอดและสร้างห้องเรียนให้กับลูกศิษย์”
“ชุมชน” คืออะไร
เรามักได้ยินคำว่าชุมชน หรือคอมมูนิตี้ กันบ่อยๆ ในหลากบริบท และเชื่อว่าเมื่อเอ่ยถึง ‘ทำงานกับชุมชน’ ภาพในหัวของหลายคนอาจไม่พ้นภาพชุมชนแออัด ชาวบ้าน ชนบท เราเลยขอให้อาจารย์ช่วยขยายความคำนี้อีกครั้ง
“ชุมชนคือกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกัน โดยมีการบริหารจัดการอะไรบางอย่างร่วมกัน หรือมีความร่วมกันในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่สำหรับอาจารย์ อาจารย์ไม่ได้มานั่ง defind ว่าอันนั้นคือชุมชนหรือเปล่า สิ่งที่อาจารย์สนใจคือ process อะไรที่ทำให้คนรู้สึกว่า ฉันเป็นแก๊งค์เดียวกับคนนั้นคนนี้ สิ่งนี้มันทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
“เหมือนโควิด ต่อให้ introvert นะ มันก็ยังต้องโพสต์ว่าตัวเองเป็น introvert มันก็ยังแบบ นิดนึงอ่ะ มนุษย์ยังไงมันก็ต้องการสังคม มัน belong to กลุ่มเพื่อน กลุ่มคน”
อาจารย์หน่องช่วยขยายความตามหลักวิชาการเพิ่มว่า ชุมชนแบ่งได้เป็น 5 แบบ
หนึ่ง – Place based community การแบ่งตามพื้นที่กายภาพ เป็นวิธีที่เราคุ้นชินและรัฐนิยมใช้ เช่น มีการแบ่งขอบเขตชัดเจน ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน เช่น อยู่ในรั้วเดียวกัน หมู่บ้านเดียวกัน
สอง – Community of Interest ชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันจากความสนใจร่วม อย่างการติดแฮชแทค #ฉันรักเค้กแมคคาเดเมีย แล้วเราคลิกไปเจอคนที่สนใจร่วมกัน ก็รู้สึกคอนเนคกันได้แล้ว โดยไม่ต้องมี place based ร่วมเลย
สาม – Community of Practice คือชุมชนของคนร่วมอาชีพ เช่น สมาคมวิชาชีพ ก็จะมีสิ่งที่เป็น common มีศัพท์ มีเรื่องที่รู้กันในวงการ เป็นการคอนเนคกันไปได้แบบไม่รู้ตัว
สี่ – Community of Culture อันนี้จะเป็นแบบ ชาติพันธุ์ ศาสนา มีวัฒนธรรมความเชื่ออะไรบางอย่างร่วมกัน เช่น คนจีนเหมือนกัน คนพุทธเหมือนกัน ไปจนถึงการติดสติกเกอร์ ที่เห็นแล้วรู้ว่า อ้อ นี่ลูกศิษย์หลวงพ่อวัดเดียวกันนิ
ห้า – Community of Resistant คือมีศัตรูร่วมกัน หรือร่วมต้านทาน อย่างเช่น บางชุมชนปกติอาจจะต่างคนต่างอยู่ แต่พอวันหนึ่งจะโดนเวนคืนที่ เลยต้องรวมตัวกันเพราะว่าต้องเกลียดร่วมกันก่อนเพื่อจะจัดการมัน ซึ่งจัดการศัตรูแล้วเราค่อยเกลียดกันใหม่ก็ได้
ทั้ง 5 รูปแบบนี้คือเลนส์ที่อาจารย์หน่องใช้มองชุมชนที่ทำงานด้วย เพื่อดูว่าเขามีความสนใจร่วมกันตรงไหน หรือมีศัตรูร่วมไหม ซึ่งศัตรูร่วมบางทีก็ไม่ใช่คน อาจเป็นประเด็นของปัญหา
“ที่ต้องพยายามจับตรงนี้ เพราะเราต้องพยายามชวนคนเข้ามาร่วมทำกับเรา การที่เขาไม่อยากมามีส่วนร่วม มันก็ไม่ใช่ความผิดของเขา มันเป็นความผิดของเราส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่เราจะทำได้ว่ามันมีประโยชน์กับเขายังไง ยกตัวอย่างเช่น ที่ปากคลองตลาด สองปีที่แล้วเราทำเว็บไซต์ flowerhub.space ขึ้นมา เป็นโครงการนำร่องเก็บฐานข้อมูล 50 ร้าน ตอนนั้น ทำ google form ซึ่งมันกรอกกันเองก็ได้ แต่เขาก็ไม่กรอกกันหรอก เพราะเขาไม่เห็นว่ามันสำคัญ ทีมก็ไปนั่งเก็บข้อมูลกันเองหมดเลย เราก็มานั่งกรอกเองว่ามีขายดอกอะไรบ้าง จนโควิดมา มีคน inbox มาสิบกว่าเจ้า ว่าเขามากรอกฟอร์มแล้วนะ จะทำยังไงให้ได้อยู่ในแพลตฟอร์ม เราก็อธิบายวิธีเขา ขอให้ถ่ายรูปหน้าร้านมา ซึ่งเราสื่อสารเหมือนเดิมเลยนะ แต่คราวนี้ได้รับความร่วมมือ เพราะเขาเห็นประโยชน์”
อาจารย์หน่องเล่าว่า วิธีการเลือกพื้นที่นั้นเลือกจากพื้นที่ที่อยู่ไม่ไกล เพราะธรรมชาติของการทำงานแบบนี้ต้องเทียวไล้เทียวขื่อ จีบใจผู้คนในชุมชน และสานสัมพันธ์กันระยะยาว ฉะนั้นการจะเลือกพื้นที่ต่างจังหวัดจึงเป็นทางที่ไม่ควรเลือก จากนั้นก็เล็งพื้นที่ที่ดูจะมีของ และใช้เครื่องมือ Asset Mapping หรือการทำแผนผังต้นทุนชุมชน เพื่อเข้าไปทำความเข้าใจบริบทพื้นที่และดึงเอาศักยภาพของชุมชนออกมาโชว์
งานชุมชนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เราไม่จำเป็นต้องโชว์แผล
พื้นที่แรกที่อาจารย์หน่องเข้าไปทำงาน คือคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นชุมชนริมคลองบางกอกใหญ่ มีเรือนข้าหลวงอยู่ตามริมน้ำ หากย้อนกลับไปเมื่อ 6 – 7 ปีที่แล้วยังเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก
“ตอนนั้นคนจะมาแค่ ‘บ้านศิลปิน’ ตอนที่เราไปเป็นวันธรรมดาเพราะพาเด็กไปในชั่วโมงเรียน ไปครั้งแรกไม่เจออะไรเลย อาหารไม่มีกิน บ้านก็ปิดๆ เราก็แบบ ฉันเลือกผิดที่หรือเปล่าวะ แต่ความตั้งใจคือจะเลือกที่ที่ไม่ได้มี conflict เยอะ หนึ่ง เพราะเรายังไม่เก่ง ชุมชนไม่ใช่สนามเด็กเล่นของเรา ที่ฉันอยากจะทำความดี อยากจะลองไปทำอะไรสนุกๆ จังเลย ไม่ได้ คือเรายังไม่เก่ง เพราะฉะนั้นเราต้อง minimise (ลดทอน) ความเสียหายจากความใหม่ความไม่รู้ของเรา จึงต้องเลือกพื้นที่ที่เขาไม่มีเราเขาก็ไม่เป็นไร สิ่งที่เราทำไม่ทำให้เขาแย่ลงก็พอแล้ว ไม่ต้องดีขึ้นก็ได้ เพราะเขาก็โอเคอยู่แล้ว”
ในปีแรกที่ทำงานกับชุมชนคองบางหลวง กระบวนการมีส่วนร่วมเริ่มจากนักศึกษาชักชวนผู้อำนวยการโรงเรียนและเด็กๆ ในชุมชนมามากางแผนที่ใหญ่เท่าผืนห้อง ปักหมุดของดีในชุมชน
“พอทำ asset mapping เลยได้รู้ว่ามีร้านอาหารอร่อย ชื่อร้านก๋วยเตี๋ยวหยุดบ่อย ซึ่งสาเหตุที่เราไปแล้วหาไม่เจอก็ตรงตามชื่อร้านเลย วันไหนอยากปิดเขาก็ปิด ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เสน่ห์ที่ซ่อนในชุมชนแบบนี้จะมีแต่คนในชุมชนเท่านั้นที่รู้ หน้าที่ของอาจารย์คือพานักเรียนไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม แล้วดึงเอาสิ่งที่ซ่อนอยู่เหล่านี้ออกมาสื่อสาร พูดเหมือนง่ายแต่ทำจริงนั้นยากกว่าพูดหลายเท่า”
“เราทำคลองบางหลวง เราเองก็เรียนรู้ไปด้วย แล้วก็โชคดีมาก คือเขาเป็นชุมชนที่มีความเป็นบ้าน วัด โรงเรียน อยู่ในนั้นน่ะ มันมีความอ่อนโยน ความใจดีของผู้คนที่มีความเป็นชุมชนอยู่แล้ว เราไม่ได้เข้าไปสร้างอะไรเลย เราแค่เข้าไปไฮไลท์หรือทำให้มันเหนียวแน่นขึ้น อะไรอย่างนี้”
“มันดูเหมือนโรแมนติกนะ แต่เชื่อเหอะว่าในโลกนี้มันไม่โรแมนติก อย่างเค้กที่เรากิน มันหวานอร่อย แต่เดี๋ยวเราก็ต้องกลับไปตายด้วยเบาหวาน ต้องไปเบิร์นออก มันไม่มีอะไรโรแมนติกเลยเว้ย แต่แล้วยังไง เราก็ต้องกินให้มันอร่อย แล้วเราก็ไปวิ่งเอา ทำงานกับชุมชนก็เหมือนกัน”
“งานที่อาจารย์ทำมันไม่ใช่ชุมชนในจินตนาการที่ทุกคนรักกัน มันไม่มีทางเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว คนเรามีหลากหลาย มีคนเห็นแก่ตัว ซึ่งบางครั้งก็จะถูกมองว่าโลกสวย ซึ่งก็เออ ก็สวยอะ (หัวเราะ) เราคิดว่ามองให้ร้ายมันก็ไม่ได้ช่วยอะไร เราเลือกมองให้สวยไว้ก่อน มองว่ามันมีโอกาสที่จะทำอะไรได้ นิดหนึ่งก็ยังดี แต่ว่าในความที่เรามองให้มัน positive เนี่ย เรารู้อยู่แล้วว่าจะหาคนที่เห็นประโยชน์ร่วมมันยาก แต่เราจะไปทำให้มันทุกข์ทนเหลือเกินทำไม จะเล่าทำไมล่ะ แบบนั้นเอาเวลาไปเล่นกับหมาให้ร่าเริงดีกว่า”
ยิ่งหลากหลาย ยิ่งสวยงาม
วิชาการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และพัฒนาชุมชน เปิดรับนักศึกษาจากทุกสาขา ทุกคณะและทุกระดับชั้นทั้ง ตรี โท เอก นักเรียนในคลาสนี้จึงมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่เด็กโบราณคดี เด็กเรียนเอกไทย เด็กสถาปัตย์ เด็กโปรดักดีไซน์ และด้วยทักษะที่หลากหลายของนักเรียนนี้เองที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับการทำงานกับชุมชนและห้องเรียนแห่งนี้
“เรารับทุกสาขาเลย มันเลยจะมีความเพี้ยนนิด (หัวเราะ) ทุกวันนี้เวลาตรวจงานเด็กบางคนทำอนิเมชันภาพกากในจิตรกรรมวัดพระแก้วมาส่งก็มี ซึ่งมันคือข้อดีมากๆ อย่างคนที่เขาเรียนโบราณคดี เขาคุยกับมนุษย์เก่งกว่าเรามากเลย สถาปนิกมันจะมีมาดอะไรบางอย่างไม่รู้ ต่อให้เราเป็นคนน่ารักแล้วนะ เราก็ยังไม่เหมือนเด็กโบราณคดี สมมติลงพื้นที่ชุมชนชาวประมง แก๊งค์นั้นนั่งคุยกับเขาแป๊บเดียวเขาให้ปลามาตัวเบ้อเร่อ คุยกันยี่สิบนาทีชาวบ้านรักเป็นลูกแล้ว โดยที่เด็กก็ไม่ได้ประจบ เสแสร้งอะไรเลยนะ” อาจารย์หน่องเล่าพร้อมรอยยิ้ม
รู้ว่าเราไม่รู้
“มันมีทฤษฎีอยู่ เป็นคำที่อาจารย์ของอาจารย์ชอบใช้ ‘optimal ignorant’ คือเราไม่รู้ให้พอดี คือถ้าเราต้องรู้ทุกอย่างเพื่อที่จะทำอะไรบางอย่าง มันจะไม่ได้ทำ แต่ถ้าเรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร แล้วเราจัดการความ ignorant นั้น หมายถึงว่าเราไม่ต้องเป็นเลิศทุกด้านก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าชุมชนนี้มีประชากรกี่คน สัดส่วนของคนที่ตกงานเท่าไร ถ้าต้องรู้ทุกอย่างแก่ตายกันไปแล้วไม่ได้ทำพอดี เราเริ่มจากจุดที่เราคิดว่าเราเริ่มได้เล็กๆ แล้วเลือกจุดเปลี่ยนที่มันสามารถ scale up ได้ อาจจะได้วันนี้หรือปีหน้า อาจารย์ของอาจารย์ที่ชื่อว่า Nabeel Hamdi[1] เขาจะสอนเรื่อง small change ซึ่งเราก็จะเป็นสายนั้นเลย เป็นสายมุ้งมิ้ง ทำอะไรเล็กๆ”
อาจารย์หน่องเล่าเสริมว่า ในช่วงแรกก็มีความไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเล็กไปหรือเปล่า แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นว่าสิ่งเล็กๆ เหล่านั้นล้วนนำไปต่อยอดได้ ทั้งงานที่คลองบางหลวงที่ทำต่อเนื่องมากว่าห้าปี ที่เริ่มจากงานในคลาสเรียน จนไปได้ทุนจากโครงการส่งเสริมย่านเก่า และได้ทุนอื่นๆ จนตอนนี้มีแกนในพื้นที่ที่สามารถต่อยอดได้เอง ไปจนถึงการที่เขตเข้ามาเห็น และมีภาคีเข้ามาช่วยพัฒนาย่าน
ห้องเรียนที่ชื่อ ปากคลองตลาด
หากดูภายนอกอาจเหมือนวิชานี้เปลี่ยนชุมชนไปเรื่อยๆ แต่ความจริงแล้ว การทำงานในแต่ละชุมชนนั้นอาจารย์ทำงานอย่างต่อเนื่องกลับไปกลับมาหลายปี เละเพิ่มพื้นที่เพื่อขยายห้องเรียนสู่ชุมชนใหม่ๆ จากคลองบางหลวง ขยับมาปากคลองตลาด และบางลำพู
ย้อนกลับไปปี 2017 การจัดระเบียบร้านค้าแผงลอยย่านปากคลองกำลังเป็นประเด็นร้อน
“เรารู้สึกว่าเราฝึกมือกันมาพอสมควรแล้ว เริ่มเข้าใจความซับซ้อนของชุมชนและผู้คนแล้วในระดับหนึ่ง ตอนนั้นประเด็นปากคลองถือว่าเป็นประเด็นร้อน ซึ่งปกติอาจารย์จะไม่เล่นประเด็นร้อนเลย แต่ก็พิจารณาแล้วว่า มันร้อนแบบที่เราทำอะไรไม่ได้ละ มันรู้ตอนจบของเรื่องนี้แล้ว ยังไงเขาก็ต้องโดนจัดระเบียบ ถ้างั้นก็ขออนุญาตใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ เพราะอาจารย์ต้องบอกว่าอาจารย์ไม่ใช่นักพัฒนาชุมชน หน้าที่ของอาจารย์คือสร้างบรรยากาศให้มันน่าเรียนรู้สำหรับคนที่มาเรียนกับอาจารย์ แต่ในการสร้างการเรียนรู้ก็ต้องไม่ไปเบียดเบียนชุมชนนะ”
กระบวนการทำงานในครั้งนี้ เริ่มจากเข้าไปทำความเข้าใจในประเด็นที่คนตั้งคำถามกัน เช่น แผงลอยบนฟุตบาทเป็นผู้ร้ายจริงหรือเปล่า แผงลอยมาแย่งลูกค้าจากร้านค้าที่เสียค่าเช่าจริงไหม ร้านค้าบนฟุตบาทสามารถขายตัดราคาได้สิ ซึ่งคำตอบที่อาจารย์ได้พบคือ จริง แต่นั่น ไม่ใช่ทั้งหมด
“สิ่งที่เราพบคือในตึกแถว เขาจะขายไม้ดอกนำเข้าที่ราคาจะแพงหน่อย ต้องมีห้องแอร์เก็บ ในขณะที่บนฟุตบาทจะเป็นดอกไม้แบบ ห้าบาทสิบบาทยี่สิบบาท คือเขาขายของแนมกัน มันมีขายแข่งกันเป็นธรรมดา แต่มันคือระบบนิเวศของมนุษย์ที่อยู่ที่นี่”
“เราให้โจทย์นักศึกษาทำ photo essay มนุษย์ปากคลอง พอศึกษาไปเรื่อยๆ เราพบว่าไม่ใช่แค่แผงลอย มันมี informal economy (ระบบเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ) หลายอย่างในนิเวศนี้ เช่น แม่ค้าต้องนั่งเฝ้าแผงริมฟุตบาท เลยมีบริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ เป็นระบบที่แม่ค้าเขารู้จักกัน มีมาก่อน grab ก่อน lineman อีก มีแม้กระทั่งบริการนวดเดลิเวอรี่ มีคนส่งน้ำแข็ง เพราะดอกไม้บางอย่างแช่ในตู้เย็นแล้วจะช้ำ มีธนาคาร 11 ธนาคาร มีเงินสะพัดอยู่ในนี้มหาศาล ที่เข้าระบบภาษีรึเปล่าไม่รู้ เราได้เห็นความสัมพันธ์เหล่านี้ หรือแม้แต่แผงลอยเองก็มีทั้งผู้ร้ายและผู้ดี ซึ่งทุกอย่างมันมีเหตุผล จริงๆ แผงลอยไม่ได้ผิดกฎหมายถ้าตั้งบนจุดผ่อนผัน ถ้าตั้งล้ำเส้นที่อนุญาตอันนี้ผิด แล้วทำไมเขาถึงตั้งได้ ทำไมเขาถึงกล้าล้ำเส้น ทุกอย่างมันมีสาเหตุหมด ก็เป็นพื้นที่ให้นักศึกษาได้ไปเรียนรู้ระบบนิเวศ
“มันมีรูปหนึ่งซึ่งอาจารย์ชอบยกตัวอย่าง นักศึกษาไปถ่ายรูปมาลัยมาอันหนึ่ง แล้วป้าที่เขาให้สัมภาษณ์บอกว่า มาลัยหนึ่งพวง กุหลาบก็มาจากไร่กุหลาบ มะลิมาจากสวนมะลิ ริบบิ้นที่ผูกมาจากชาวนาที่อยู่ในอยุธยา ช่วงที่ไม่ได้ทำนาก็พับริบบิ้นส่งปากคลอง แค่ไม่ให้ขายมาลัยตรงฟุตบาทมันกระทบผู้คนเยอะมาก ซึ่งอันนี้เราตัดเรื่องความถูกต้องของกฎหมายออกไปก่อนนะ นี่คือความสัมพันธ์ของผู้คน ซึ่งเราก็ย้ำกับนักศึกษาว่า เราไม่ได้เข้าไปโปรฝั่งชาวบ้านนะ เพราะว่าพอมันเลยจุดผ่อนผันมันก็ผิด ผิดก็คือผิด”
จากโจทย์ photo essay ในห้องเรียน โปรเจ็กต์จบของนักศึกษาถูกจัดช่อเป็น photo exhibition ที่นำภาพของพี่ๆ มนุษย์ปากคลอง มาจัดวางที่ท่าเรือยอดพิมาน จัดคล้ายๆ เป็นงานเลี้ยงอำลาของแม่ค้าปากคลองที่มีแม่ค้ามาร่วมคับคั่ง และถึงขนาดแม่ค้าขอเก้าอี้นั่งเซ็นท์สมุดชมนิทรรศการ เพื่อบันทึกเรื่องราวกันยาวคนละหลายหน้ากระดาษ
“เรารู้อยู่แล้วว่าเราเปลี่ยนผลลัพธ์ไม่ได้ ในมุมเรา มันดูเป็นการ farewell ที่ดี คือการที่เขาไปตะโกนด่าแล้วก็เทดอกไม้ประท้วง อันนั้นมันก็เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง แต่อย่างของเรา เราก็พยายามทำให้มันพาสเทลขึ้น พยายามดึง cohesion ให้เห็นว่าเขาสำคัญนะ”
แน่นอนว่าพอทำงานกับชาวพื้นที่เยอะๆ รับรู้เรื่องราวจิตใจก็ต้องมีเอนไปบ้าง แล้วอย่างนี้การวางตัวของเราที่จะต้องไปอยู่ในนี้ มันจะยิ่งยากไหมคะ เอ่ยถาม
“เราต้องวางตัวให้ชัดค่ะ บอกเขาตั้งแต่แรก บอกนักศึกษาเองเลยว่า ให้ใช้คำว่า ‘ขอเข้าไปเรียนรู้’ อันนี้คือเห็นแก่ตัวเลย ขอเข้าไปเรียนรู้จริงๆ ช่วยอะไรไม่ได้เลยนะ คือพูดกับเขาตรงๆ เลยว่าการที่พวกเรามาถ่ายรูปหรือสัมภาษณ์ ไม่ได้ช่วยให้พี่จะไม่โดนไล่ แต่ว่าอย่างน้อยการที่พี่จะโดนไล่ออกไป มันจะสร้างความเข้าใจบางชุด ว่าจริงๆ พวกพี่มีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์บางอย่างกับพื้นที่ ได้แค่นี้ แล้วย้ำเด็กมากว่า เราไม่มี authority ในการไปบอกให้เขาอยู่-ไม่อยู่ เราไม่ใช่ กทม. แล้วถามว่า กทม. ผิดไหม กทม. ก็ไม่ผิด เขาทำหน้าที่ของเขา แล้วใช้การตั้งคำถามต่อว่า conflict นี้เกิดจากอะไร”
อาจารย์ย้ำกับเราเสมอว่าอาจารย์ไม่ได้เข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ทีมเปลี่ยนผลลัพธ์ของเรื่องไม่ได้ แต่หัวใจของการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและชุมชน คือเป็นกระบอกเสียงให้คนในพื้นที่รู้ว่าเขาสำคัญ เขามีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และสื่อสารข้อมูลบางชุดที่ไม่ถูกรับรู้ และที่สำคัญได้หว่านเมล็ดพันธุ์บางอย่างไว้ในใจผู้คน
“พอโปรเจกต์จบไป ก็เป็นเด็กๆ เนี่ยแหละมาพูดกับอาจารย์ ว่าเราได้รู้เยอะมาก ไม่เห็นได้ช่วยอะไรเขาเลย เราก็ตอบว่าอาจารย์มีหน้าที่สอนพวกแกไง ดีแล้วที่แกทำแล้วอิน เด็กๆ เขาไปทำแคมเปญตามหามนุษย์ปากคลองต่อกันเอง คือลงรูปเดิมมาโพสต์ในเฟส ว่าคนนี้ไปขายที่ไหนแล้ว ก็มีคนเข้ามาช่วยตอบให้ ยายคนนี้เคยขายมาลัยอยู่ฟุตบาท ย้ายไปขายในยอดพิมานแล้วอะไรแบบนี้ หรืออีกหลายๆคนก็ยังกลับมาทำงานกับเรา ทั้งที่คลองบางหลวง บางลำพู ปากคลอง ก็จะมีแก๊งค์ที่ทำงานกันต่อเนื่อง หรือบางคนจบแล้วไปเปิดสตูดิโอออกแบบด้านนี้เลย ทำ content documentary ก็มี”
พัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้
เมื่อปักธงชัดเจนว่าการเข้าไปในชุมชนครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อเข้าไปพัฒนา แต่เป็นการขอเข้าไปเรียนรู้ การเรียนรู้ในห้องเรียนนี้ทุกคนจึงเป็นครูและนักเรียนของกันและกัน
“จุดประสงค์ของเรา เราอยากทำเป็นโครงการจุดประกาย (catalyst project) อย่างงาน New World X Oldtown คือทำ catalyst project ใช้งานออกแบบมาช่วยบันทึกประวัติศาสตร์และให้คนในชุมชนมาเล่าเรื่องของตัวเอง และสื่อสารภายนอก คนในชุมชนเองบางคนเขาก็เพิ่งได้มารู้จักชุมชนตัวเองมากขึ้นจากเรื่องเล่าของคนที่เคยมาเที่ยวห้างนิวเวิร์ลที่มาเล่าให้นักศึกษาของเราฟัง หรือร่วมงานกับกลุ่มเด็กๆ เกษรลำพูไปเก็บเรื่องราวจากผู้ใหญ่ในพื้นที่มาจัดแสดง เพื่อให้คนเห็นภาพว่า ถ้าคนอื่นอยากมาทำอะไรแบบนี้ ที่นี่ทำได้นะ มาจัดเวิร์คชอป เล่น AR ได้ด้วย ไม่ได้ต้องทำกับเราก็ได้ แต่คุณต้องมาคุยกับเขาให้เขาไม่ด่าด้วยนะ”
ครั้งที่จัดงานที่ปากคลองตลาด โดยชักชวนเหล่าดีไซเนอร์หลากหลายสตูดิโอให้ไปจัดดอกไม้ร่วมกับร้านดอกไม้ ฟีดแบคหนึ่งที่อาจารย์ได้จากเจ้าของร้านดอกไม้รายใหญ่ที่ควบตำแหน่งอาจารย์สอนวิชาจัดดอกไม้ คือ “คิดไว้แล้วค่ะว่า คนอื่นทำยังไงก็ไม่สวยกว่าที่ร้านทำ” อาจจะฟังดูแทงใจ แต่คำพูดนั้นคือการเรียนรู้ครั้งใหญ่ที่อาจารย์ประทับใจจนทุกวันนี้
“อย่างหนึ่งที่เราชอบคือว่า มันทำให้ลุคของแม่ค้าดู smart ขึ้น ก็คือหลอกใช้เราแหละ ร้ายมาก (หัวเราะ) ซึ่งเราตอนที่อยู่แก๊งค์ดีไซเนอร์ ก็จะแบบ เหย แรงนะ แต่ลึกๆ ในเชิงวิชาการทางด้านชุมชน นี่คือดีมากๆ คือเขาโคตร empower เราเลยอ่ะ เขาให้โอกาสเรา แล้วเขาก็รู้ด้วยว่าอาจจะได้อะไรที่มันเฟล แต่จริงๆ ก็ไม่เฟล เขารู้อยู่แล้ว ก็ถ้าเขาทำแล้วมันสวยกว่าแล้วยังไงอ่ะ มันก็จะเหมือนเดิม คือเราไม่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดดอกไม้เท่าเขาอยู่แล้ว แต่การที่มี TEDxBangkok มีองค์กรต่างๆ เข้าไปทำงานกับเขา มันเหมือนค่อยๆ เปิดพื้นที่ปากคลองตลาด ให้คนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ได้เห็น Potential ต่างๆของพื้นที่”
หัวใจของวิชานี้ คือการมีส่วนร่วมของนักศึกษา ที่อาจารย์หน่องนิยามว่า นักศึกษาคืออีกหนึ่งชุมชนที่อาจารย์ต้องดูแล
“กลุ่มคนที่อาจารย์ต้องโฟกัสที่สุดคือนักศึกษา ไม่รู้พูดอย่างนี้จะแฟร์เปล่าเนอะ แต่มันคือเรื่องจริง เพราะเราเป็นอาจารย์น่ะ เราต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เขาต้อง positive ไม่ใช่เอาเขาโยนเข้าไปในสงครามของชุมชน
กลุ่มของนักศึกษาคือชุมชนหนึ่งที่อาจารย์ต้องดูแล ให้เขาไม่ใช่แข่งกันได้ A แต่เขาจะต้อง mobilize ชุมชนของเขาเอง ใครมีศักยภาพอะไรให้เอาออกมาใช้ อาจารย์มักจะพูดเสมอว่าใครถนัดอะไร ทำอันนั้น ไม่ใช่แบบฉันขี้อาย พูดไม่เก่ง จะต้องไปทำงานชุมชนแล้วทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องพูดดิ สเกตซ์เก่งก็สเกตซ์ ถ่ายรูปเก่งก็ถ่ายรูป คนไหนคุยเก่งก็ปล่อยมันไปคุย คนไหนเก่งเรื่องกฎหมายผังเมือง ก็มาไกด์ซิ เพราะฉะนั้น ในชุมชนนี้จะต้องขับเคลื่อนศักยภาพกันและกัน
“asset mapping ที่เราทำกับชุมชนน่ะ เราต้องทำกับทีมเราและตัวเราเองด้วย อาจารย์เองก็ทำได้บางอย่าง ทำไม่ได้บางอย่าง อันไหนเราทำไม่ได้ก็ปล่อยให้ความเซ็กซี่ของคนอื่นได้ทำหน้าที่ของมัน ใครถนัดอะไรก็ไปทำที่ตัวเอง ไม่ใช่คิดว่า โห ฉันต้องทำทุกอย่างเลย ฉันเก่งจังเลย ไม่มีใครที่จะทำได้ตั้งแต่สเกลข้างบนลงข้างล่างได้หมดหรอก อย่างมากคือ concern ถึงเรื่องอื่นๆ คิดถึงทางที่มันจะไปต่อได้ แต่เราทำเองหมดไม่ได้ มันถึงต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมไง”
อีกสิ่งที่อาจารย์หน่องย้ำด้วยแววตาจริงจัง คือเราต้องเคารพคนที่อยู่ในห้องนั้นมากๆ เพราะนี่คือห้องเรียนโลกจริง สิ่งที่เรียนรู้มันคือคนจริง เหตุการณ์จริง เงื่อนไขจริง จึงต้อง minimize ignorance ของเรา ถ้าโง่มากก็อันตราย ถ้าโง่มากแล้วมั่นใจนี่คืออันตรายสุด
“พอพาเด็กๆ ลงไปในชุมชน เราจะบอกว่าเด็กๆ คะ กฎในการเรียนวิชานี้ก็คือ หนึ่งทำตัวน่ารัก สองทำตัวน่ารัก สามทำตัวน่ารัก คือ ทำตัวให้มันน่ารักน่ะ คำว่าน่ารักก็คือมีกาลเทศะ เป็นธรรมชาติ”
เสน่ห์ของการทำงานกับชุมชนสำหรับอาจารย์คืออะไร
“ทำงานกับชุมชน อาจารย์ว่ามันสนุกนะ ซึ่งสนุกมันไม่เหมือนความสุขซะทีเดียว สนุกมันจะเหนื่อยกว่า แต่เหนื่อยแบบสนุกไง เจอเด็กมาเล่าว่าป้าเขาชอบมากเลย ก็ขนลุก มีความสุขละ สักพักป้าวีน ก็ทุกข์ จะเป็นไบโพลาร์ละ (หัวเราะ)”
“มันสนุก เหมือนเราได้กลิ้งไปกับโลกน่ะ รู้สึกได้มีชีวิต ได้เจอมนุษย์ ซึ่งก็ไม่ใช่เจอแล้วมีความสุขอย่างเดียว อีกอย่างหนึ่งที่อยากฝาก คือทุกคนสามารถทำตัวให้มีประโยชน์ได้ โดยที่ไม่ต้องฝืนตัวเอง อาจารย์เชื่อว่าเราทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อโลกได้หมด เป็นอะไรก็ได้ ทำให้มันดี ไม่จำเป็นต้องมาทำเพื่อสังคม สมมติเป็นสถาปนิกก็ออกแบบตึกให้มันดี คนเข้าไปใช้แล้วไม่ตาย แค่นี้ก็ดีแล้ว แต่ถ้าอยาก extra เพื่อสังคมขึ้นมา สมัยนี้ก็มีทุนให้ได้ทำอะไรเยอะแยะ และขอให้จำกัดพื้นที่ที่จะเสียหายจากความไม่รู้ความมั่นใจของเราให้ดี ระวังความมั่นใจเกินไป”
ปากคลองตลาด Strike Back ห้องเรียนล่าสุดของอาจารย์หน่องที่เปิดให้ทุกคนได้ไปสนุกร่วมกันได้ที่ปากคลองตลาด ในตีม “ปากคลองฯ Strike Back!” #เดินหลงในดงดอก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ และกฎบัตรแห่งชาติและกฎบัตรรัตนโกสินทร์ ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 3 ของพื้นที่ปากคลองตลาด ปีนี้มีกิจกรรมหลากหลายให้เลือกเล่นกันได้ตั้งแต่จากที่บ้านผ่านหน้าจอ ที่จะทำให้อยากแต่งตัวสวยไปเดินหลงในดงดอกทั่วปากคลองตลาด เริ่มตั้งแต่ กิจกรรมที่ 1 Quiz คุณเป็นดอกไม้แบบไหน กิจกรรมที่ 2 Flower Tracking เดินหาดอกไม้ต่างๆ แล้วหยิบมือถือขึ้นมาสแกน QR code เพื่อรับอินเตอร์แอคทีฟฟิลเตอร์อินสตาแกรมดอกไม้ฟรุ้งฟริ้ง ทั้งดอกเดซี่ ลิลลี่ ทิวลิป ไปจนถึงบ่อบัวAR ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพของ Monet กิจกรรมที่ 3 เดินหลง (เสน่ห์) ปากคลองในดงดอกไม้ กับ Hide&Seek ตามถ่ายภาพกับสตรีทอาร์ต ที่เลือกนำภาพคนตัวเล็กๆ ที่เป็นมดงานของปากคลองฯ ขึ้นมาขยายใหญ่เต็มผนัง ที่ไม่ใช่แค่ขนาดภาพแต่คือความสำคัญของเขาในระบบนิเวศนี้ด้วย กิจกรรมที่ 4 ช้อปดอกไม้ มาถึงปากคลองทั้งทีจะไม่มีดอกไม้ติดมือกลับบ้านก็เหมือนจะมาไม่ถึง หรือถ้ายังไม่จุใจก็สามารถไปชอปต่อได้ใน flowerhub.space ที่สามารถสั่งดอกไม้ส่งตรงถึงหน้าบ้าน นอกจากจะได้รับรอยยิ้มของแม่ค้าเป็นของแถม ใครถ่ายรูปติดแฮชแทก ก็รอรับมงกุฎดอกไม้ไดอีกด้วย ใครสนใจงานมีถึง วันที่ 11 ตุลาคม 2563 หรือติดตามได้ที่เพจ Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ |