- ‘ยอมไม่เข้าห้องเรียนเพื่อโดดมาเลี้ยงกุ้งฝอยในห้องทดลอง’ ความหลงใหลของน้ำมนต์-ปิยะธิดา อินทะนัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ที่มีต่อโครงการ ‘Super Shrimp‘
- Super Shrimp คือ โครงการผลิตอาหารกุ้งฝอยโดยใช้เบต้ากลูแคน สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ปกติถูกพัฒนาให้นำไปใช้เสริมภูมิคุ้มกันในคน แต่น้ำมนต์และชาวแก้งค์ นำไปพัฒนาในอาหารเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจอย่างกุ้งฝอย เพื่อเพิ่มอัตรารอด สุขภาพดี น้ำหนักได้มาตรฐานพร้อมขายจริงในท้องตลอด
“โอ้โหพี่ กุ้งหนูตายอ่ะ”
คือเสียงลงท้ายหนักแน่นของน้ำมนต์-ปิยะธิดา อินทะนัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย นี่ไม่ใช่กุ้งธรรมดา แต่คือกุ้งฝอยที่ตายในห้องทดลองขณะตามหาสูตรอาหารเลี้ยงกุ้งจากเบต้ากลูแคน* สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ปกติถูกพัฒนาให้นำไปใช้เสริมภูมิคุ้มกันในคน แต่น้ำมนต์และพ้องเพื่อน นำไปพัฒนาในอาหารเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจอย่างกุ้งฝอย เพื่อเพิ่มอัตรารอด สุขภาพดี น้ำหนักได้มาตรฐานพร้อมขายจริงในท้องตลอด ใต้ชื่อโครงการ (และอยากทำเป็นแบรนด์ในอนาคต) Super Shrimp
มากกว่านั้น นี่ไม่ใช่แค่ความตายของกุ้งในห้องทดลอง แต่การตายของกุ้งลอตนั้นเกิดขึ้นขณะส่ง Super Shrimp เข้าโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ หรือ YSC (Young Scientist Competition) ที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนักเรียนชั้นมัธยมปลายห้องวิทย์-คณิต เป็นโปรเจกต์พิเศษนอกห้องเรียนที่เธอและเพื่อนทำชนิด ‘ยอมไม่เข้าห้องเรียนเพื่อโดดมาเลี้ยงกุ้งฝอยในห้องทดลอง’
น้ำมนต์ ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Super Shrimp จะมาเล่าเส้นทางการขยับจากนักเรียนไปเป็นนักวิจัยตัวน้อย เล่าว่าทำไมเธอจึงหมกมุ่นอยู่กับเพื่อนและกุ้งตลอดช่วงชั้นม.ปลาย และการทำโครงการนี้มีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตเธออย่างไร
จากการอ่านหนังสือแก้เบื่อเรื่องเบต้ากลูแคน สู่ความมุ่งมั่นพัฒนา Super Shrimp สู่ท้องตลาดจริง
เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากความบังเอิญ บังเอิญว่าวันนั้นน้ำมนต์เดินเข้าห้องสมุดเพื่อหาอะไรอ่านแก้เบื่อ บังเอิญว่าเธอไปสะดุดตากับหนังสือของ ศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน ผู้เขียนหนังสือรวบรวมผลการวิจัยทั่วโลก ที่ใช้เบต้ากลูแคนไว้ในหนังสือเล่มเดียว ขณะนั้นน้ำมนต์ซึ่งอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 รู้สึกทึ่ง เท่ และเหมือนถูกจุดไฟให้สนใจกับสารอาหารชนิดนี้
“พี่เชื่อมั้ย หนูอ่านจบภายในเวลาแปปเดียว ไม่รู้ติดใจอะไรกับมันนะ แต่อยากทำอะไรแบบนี้บ้าง”
เวลาผ่านไปโดยเก็บเบต้ากลูแคนไว้ในใจและสมอง น้ำมนต์ขึ้นม.4 และเลือกเรียนห้องวิทยาศาสตร์แบบเข้มข้น (excellence science math program) ขณะนั้น
“ตอนม.4 ครูพาไปทัศนศึกษาเนื่องในวันวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตื่นเต้นมาก หนูจดโครงงานที่เอามาโชว์ในวันนั้นทุกกลุ่ม ตั้งใจว่าถ้าขึ้น ม.5 จะส่งประกวดโครงงานแบบนี้กับเพื่อนบ้าง และต้องได้เหรียญให้ได้!” น้ำมนต์พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเหมือนย้อนเวลาไปเป็นเด็ก ม.4 คนนั้นอีกครั้ง
เมื่อเวลานั้นมาถึง เบต้ากลูแคน เป็นสิ่งที่น้ำมนต์เสนอกลุ่มว่าอยากสานต่อ
“เราใช้เวลาเตรียมตัวออกแบบวิจัยและการทดลองประมาณ 3 เดือนก่อนส่ง พอส่งไปปุ๊บ เราโดนอาจารย์ที่มข. หวดหนักมาก เสียใจ เฟลด์ รู้สึกแบบ… ‘มันแย่ขนาดนั้นเลยหรอวะ โห อุตส่าห์อยากเป็นคนแรกที่ทดลองเบต้ากลูแคนกับกุ้งฝอย’ แต่ก็เข้าใจว่าเราออกแบบการทดลองไม่ดีจริงๆ ก็โอเค… ไม่เป็นไร บอกกับเพื่อนว่าครั้งนี้ถือว่าเป็นสนามแรก อย่างน้อยได้มาเก็บคอมเมนต์และเอาไปปรับต่อกันนะ ซึ่งพอได้รับคอมเมนต์ตรงๆ แบบนั้น หนูยิ่งอยากทำให้สำเร็จมากขึ้นกว่าเดิมนะ อยากอุดช่องโหว่เหมือนที่ได้รับคำแนะนำมา
“หลังจากจบโครงการที่มข. แล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าจะเอายังไงต่อ เพื่อนบางคนก็บอกว่าอยากพอแล้ว กลับไปเรียนดีกว่าเพราะตอนนั้นอยู่ม.5 เรียนหนักมากพี่ หนักกว่าม.6 อีก คือเรียนกันถึง 5 โมงเย็นทุกวันไม่มีคาบว่างเลย (เสียงตื่นเต้น) แต่ไม่รู้ยังไง สุดท้ายก็ทำต่อ ผลคือต้องไปโรงเรียนทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ จนแม่บอกว่าอยู่บ้านบ้างดีไหม? แต่มันทำไม่ได้ ห้องเรียนก็ต้องเข้า ต้องทำการบ้านให้ครบ และต้องให้เวลากับโครงงานนี้ด้วย
“จำได้ว่าหนักมาก ขนาดบางครั้งเลือกไม่เข้าเรียนบางวิชาแล้วไปทำโครงการแทน แต่หนูสอบผ่านทุกวิชานะพี่ เกรดไม่ตก”
น้ำมนต์รีบแก้ทั้งที่เรายังไม่ได้ทักท้วงอะไรเลย เพียงแต่สงสัยว่า อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เด็กคนนึงต้องปั่นทั้งงานในห้องเรียน ปั่นทั้งโครงการส่วนตัว น้ำมนต์ตอบว่า “รางวัลของ YSC ได้ไปอเมริกานะพี่ หนูอยากไป และมันก็เป็นโครงการที่จัดโดย สวทช. รู้สึกยิ่งใหญ่”
สุดท้ายแล้วโครงการ Super Shrimp ของน้ำมนต์และเพื่อนผ่านเข้ารอบระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่โครงการถูกพัฒนาจนผ่านเข้ารอบเวทีระดับประเทศอย่าง YSC แก้งค์ Super Shrimp ก็ต้องตัดสินใจเลือกอีกครั้งว่าจะพัฒนางานต่อหรือพอแค่นี้ เพราะเวลาผ่านกระทั่งพวกเธอเข้าสู่ชั้นม.6 ปีที่ต้องให้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
“ตอนแข่ง YSC มันจะมีซุ้มโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ตั้งอยู่ในงาน ตอนนั้นเราเข้าใจแค่ว่าโครงการนี้จะให้เราเข้าค่ายไปพัฒนางานต่อกับนักวิจัยจริงๆ ไม่รู้อะไรมากกว่านี้ แต่ที่ทำให้ติดใจคือ เขาบอกว่าค่ายนี้จะทำพัฒนาให้ product ออกสู่ผู้ใช้จริง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่หนูอยากเห็น แต่ก็ยังลังเลอยู่ว่า ‘เอาไงดีวะ’ ไปต่อดีมั้ย เพื่อนๆ ก็อยากพอแล้วเพราะนี่ก็ถือว่าเราผ่านเวทีที่เราตั้งใจไว้หลายเวทีแล้ว แต่ครูที่ปรึกษาบอกว่า ‘เอานะ ถึงพวกเธอจะไม่ไปต่อ แต่ให้น้องๆ มาสานโครงการต่อก็ได้’ เลยรู้สึกว่า โอเค อย่างนั้นลองส่งโครงการไปก่อนแล้วชวนน้องๆ มาทำต่อ แต่ตอนเข้าค่ายครั้งแรกเราไปเองก่อนเพราะมันต้องมีพรีเซนต์โครงการ น้องอาจยังไม่เข้าใจโครงการเราดีนัก แต่พอไปถึง มันลังเลมากพี่ จบค่ายวันแรกมานั่งคุยกับเพื่อนหน้าลิฟต์ ‘เอาไงดีวะ’ รู้สึกอยากไปต่ออะ ทำมาตั้งนานแล้ว แต่เพื่อนก็ค้านว่า มันต้องอ่านหนังสือแล้วมั้ย จะสอบแล้ว แต่ตีกันไปมาได้ข้อสรุปว่า ถ้าเราจัดเวลาดีๆ มันต้องได้สิ สรุปคือ ไปต่อ (หัวเราะ)”
เหมือนอยากไปต่อเองอยู่แล้ว แต่แค่ลังเลเฉยๆ – เราถาม
“หึยยย… พี่รู้ทัน” น้ำมนต์ตอบ
จากนักเรียนสู่นักวิจัยตัวน้อย
แล้วการมาค่ายต่อกล้าฯ พัฒนางานของเรายังไง ช่วยอะไรเราบ้าง เพราะดูเหมือนว่าโครงการเราก็มาดีแล้ว มาไกลแล้ว? – เราถามต่อ
“การเข้าต่อกล้าฯ เหมือนเราได้เป็นนักวิจัยจริงๆ เพราะครั้งนี้เราไม่ได้ทำงานกับแค่ครู แต่คุยกับนักวิจัยจริงๆ หนูบอกไม่ถูกนะ แต่เวลาคุยกันมันไม่เหมือนกันเลย เขาตั้งคำถาม รับฟังปัญหาและช่วย consult หาทางออก ชอบที่เขาพยายามให้เราวางแผนกระบวนการทำงานว่าเรามีแผนโครงการยังไง มีแผนธุรกิจยังไง ถ้ามันยังไม่ดีเขาก็จะช่วยอุดช่องว่างตรงนั้น ไม่เหมือนการเรียนในห้องที่ได้แต่นั่งฟังครู แต่ที่นี่เราได้เสนอความคิดของเรา
“เรากล้าเปิดใจกับพี่ๆ นักวิจัย กล้าพูดความจริงทั้งหมด พี่… หนูติดเรื่องนี้ พี่… กุ้งหนูตายอีกแล้ว คือมันไม่ใช่การ consult แต่เหมือนได้พูดเปิดใจ แล้วพี่เค้าก็เปิดใจกับเรากลับมาด้วย ไม่รู้ว่าเกี่ยวมั้ย แต่มันทำให้เราอยากทำมากขึ้น เราเห็นสายตาที่มีความหวังกับโครงงานเรา เขาเชื่อว่ามันไปต่อได้ โครงงานเราก็ไม่ได้แย่นะ นี่คือสิ่งที่เราได้จากโครงการ”
ตอนนี้ Super Shrimp อยู่ในขั้นเตรียมทดลองใช้จริงกับท้องตลาด ซึ่ง ณ วันที่เราคุยกัน น้ำมนต์บอกว่ามันยังไม่สมบูรณ์เต็มพร้อม แม้ผลการทดลองในห้องจะยืนยันว่า Super Shrimp ช่วยลดการตายของกุ้งฝอยได้ 80% ขณะที่อาการกุ้งในท้องตลาดทั่วไปอัตรารอดอยู่ที่ 70% และให้น้ำหนักดีกว่าด้วย กระนั้น น้ำมนต์บอกว่ามันจะดีขึ้นกว่านี้ถ้าเกษตรกรนำไปใช้จริงและให้ฟีดแบกกลับคืนนักวิจัยตัวน้อยๆ อย่างพวกเธอ
เอาจริงๆ Super Shrimp ให้อะไรกับน้ำมนต์ – เราถาม
“ตอนก่อนเข้าโครงการ น้ำมนต์ตั้งใจอยากสอบหมอ แต่พอเข้าโครงการแล้วได้รู้จักนักวิจัย ได้ทำงานจริง ได้รู้กระบวนการทำงานทั้งหมด เรารู้สึกว่าแบบ… เฮ้ย มันมีอาชีพอื่นนะ การทำงานกับโปรเจคต์มาต่อเนื่องเป็นปีเลยทำให้รู้ว่าจริงๆ เราชอบทำงานแบบนี้นะ ไม่ต้องเป็นหมอก็ได้ ตอนนี้เลยอยากเป็นนักวิจัยเหมือนพี่ๆ ที่นี่”
วันที่คุยกันน้ำมนต์กำลังรอผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งสาขาที่เธอสนใจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสาขาวิทยาศาสตร์ทั้งหมด แปลว่าสิ่งที่เราอยากเอาใจช่วยเธอมี 2 อย่าง นั่นคือขอให้เธอสานฝันการเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ และ ขอให้ Super Shrimp นั้นวางตลาดและส่งถึงมือเกษตรกรได้จริง
“เหมือนเข้ามหาวิทยาลัยได้เพราะกุ้งเลย” น้ำมนต์ตบท้ายด้วยหัวเราะ
ก่อนทิ้งท้าย อยากฝากอะไรถึง ศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นมั้ย – เราชวนทิ้งท้าย
“หนูขอบคุณที่เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมานะคะ ทำให้หนูติดใจอยากทำ และขอบคุณตัวเองที่เดินเข้าห้องสมุดไปที่ล็อกนั้น เจอหนังสือเล่มนี้ และอ่านมัน (ยิ้ม) แต่ว่าหนูยังไม่ได้คืนหนังสือเล่มนั้นที่ห้องสมุดเลยนะ ไม่รู้ค่าเช่าปาไปเท่าไร”
*เบต้ากลูแคน (beta glucan) สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ช่วยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดมองเห็นเชื้อโรคได้มากขึ้นและกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้เร็ว ปัจจุบัน beta glucan ถูกพัฒนาในรูปอาหารเสริมเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันมนุษย์ |