- การสร้าง ‘คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง’ (character strengths) เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในเชิงบวก มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จและความสุขของเด็กในอนาคต รวมถึงมีผลต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในระดับปัจเจกและสังคม การปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีในเด็กและเยาวชนจึงควรเป็นเป้าหมายสากลของการเลี้ยงลูกและการศึกษา
- การศึกษาวิจัยยืนยันว่า พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถมีส่วนช่วยปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีให้ลูกหลานได้ตั้งแต่แรกเกิด ตัวอย่างคุณลักษณะที่ดีได้แก่ ความหวัง ความใจดีมีเมตตา ความฉลาดทางสังคม การควบคุมตนเอง และ มุมมองในการใช้ชีวิต ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คุณลักษณะเหล่านี้เป็นกันชนป้องกันผลกระทบจากความเครียดและประสบการณ์ที่เลวร้าย รวมทั้งป้องกันและทุเลาความผิดปกติบางอย่างในเชิงพฤติกรรมของวัยรุ่นได้ด้วย
การศึกษาในระดับนานาชาติ พบว่า ‘ความดี’ หรือ ‘คุณธรรม’ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต นอกจากความรู้แล้ว ผู้ปกครองและโรงเรียนจำเป็นต้องสร้างคุณลักษณะที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเด็กและเยาวชน ถึงแม้จะเป็นนามธรรมและหาตัวบ่งชี้มาวัดได้ยาก แต่มีความพยายามในการสร้างมาตรฐานขึ้นมาวัด จนได้ข้อสรุปออกมาเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากลถึง ‘คุณลักษณะที่ดี’ ที่เด็กและเยาวชน หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่พึงมี
ทุกคนมีจุดแข็ง
เมื่อเอ่ยถึง ‘คุณลักษณะที่ดี’ (good character) แน่นอนว่าคุณลักษณะที่ดีไม่ได้มีเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยหลายอย่างซึ่งมีรากฐานมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว หล่อหลอมให้เกิดความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมที่แสดงออกให้คนอื่นรับรู้ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า คุณลักษณะที่ดีที่พัฒนามาเป็นจุดแข็ง หรือ การสร้าง ‘คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง’ (character strengths) เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในเชิงบวก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามหรืออาจยังไม่รู้
การสร้างลักษณะนิสัยเชิงบวกมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จและความสุขของเด็กในอนาคต เพราะคุณลักษณะเหล่านี้มีผลต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในระดับปัจเจกและสังคม เป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงไปสู่การประสบความสำเร็จในการเรียนการศึกษา การสร้างความพึงพอใจในชีวิต รวมถึงการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ตัวเอง อีกทั้งยังมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตของเด็กและเยาวชนในระยะยาว ทั้งนี้ การศึกษาวิจัย ยืนยันว่า พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถมีส่วนช่วยปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีให้ลูกหลานได้ตั้งแต่แรกเกิด
สิ่งที่พ่อแม่มักคำนึงถึงเมื่อมีลูก คือการสังเกตพัฒนาการของลูกตามช่วงวัย เช่น 7 เดือน ลูกควรนั่งทรงตัวได้เอง 12 เดือนเริ่มตั้งไข่ เลียนเสียง และเริ่มพูดคำที่มีความหมายคำแรกได้ เดินได้คล่องช่วงราว 18 เดือน เป็นต้น แต่นอกจากพัฒนาการทางร่างกายและสิ่งที่มองเห็นจากภายนอกตามที่ว่ามา นันซุก พาร์ค (Nansook Park) รองศาสตรจารย์ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) เขียนถึงการสร้างคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งไว้ในบทความชื่อ ‘Building Strengths of Character: Keys to Positive Youth Development’ ว่า การปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีให้เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายสากลของการเลี้ยงลูกและการศึกษา
สถานการณ์ปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา อันที่จริงมีสภาพไม่ต่างจากประเทศไทย การเรียนการสอนในโรงเรียนส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้เด็กฝึกฝนทักษะด้านการอ่าน การเขียน และการให้ความรู้ตามกลุ่มสาระวิชา ฝึกพัฒนาให้มีทักษะคิดวิเคราะห์ แต่ยังขาดการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ในระยะยาวหากเด็กยังไม่ได้รับการฝึกฝนให้มีคุณลักษณะที่ดีและมีคุณธรรม เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นคนที่ไม่มีความปรารถนาที่จะทำความดี ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้ การสร้างคุณลักษณะที่ดีให้เป็นจุดแข็งจะเป็นภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างที่กล่าวมา ตัวอย่างคุณลักษณะที่ดีที่ว่า ได้แก่ ความหวัง (hope) ความใจดีมีเมตตา (kindness) ความฉลาดทางสังคม (social intelligence) การควบคุมตนเอง (self-control) และ มุมมองในการใช้ชีวิต (perspective) ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คุณลักษณะเหล่านี้เป็นกันชนป้องกันผลกระทบจากความเครียดและประสบการณ์ที่เลวร้าย รวมทั้งป้องกันและทุเลาความผิดปกติบางอย่างในเชิงพฤติกรรมของวัยรุ่นได้ด้วย
ยิ่งกว่านั้นพาร์คเคยเขียนไว้ในผลงานชิ้นอื่นๆ ของเธออย่างชัดเจนว่า การมีคุณลักษณะที่ดีทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียน มีภาวะความเป็นผู้นำ อดทน เมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลาย และมีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งช่วยลดปัญหาสังคมที่เป็นความเสี่ยง เช่น การติดยาเสพติด การติดแอลกอฮอล์และบุหรี่ ปัญหาความรุนแรง การท้องก่อนวันอันควร ภาวะซึมเศร้าและการคิดฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนได้
ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่จุดแข็ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นจุดอ่อน
โครงการ VIA (The Values in Action) คือโครงการใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการวางมาตรฐาน แล้วจำแนกหมวดหมู่จุดแข็งที่สำคัญและสร้างตัวบ่งชี้ขึ้นมาใช้ในการวัดผล การจำแนกคุณลักษณะให้ความสำคัญกับ ‘สิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับมนุษย์’ (what is right about people?) และ ‘คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด’
หากอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น โครงการ VIA มองคุณลักษณะที่ดีเหมือนเป็นครอบครัวหนึ่งที่สมาชิกแต่ละคนมีคุณลักษณะเชิงบวกอันโดดเด่นต่างกันไป แต่ละคุณลักษณะสะท้อนความรู้สึก ความคิด และการกระทำของแต่ละคนที่แสดงออกมา ซึ่งคุณลักษณะที่ดีและโดดเด่นนั้น ถูกเรียกว่า ‘คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง’ หรือ ‘character strengths’ นั่นเอง การศึกษา พบว่า คนหนึ่งคนมีคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งได้มากกว่า 1 อย่าง คุณลักษณะไหนไม่ได้เป็นจุดแข็ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นจุดอ่อน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การให้ความสนใจกับการพัฒนาคุณลักษณะโดดเด่นที่เป็นจุดแข็งให้แสดงบทบาทในชีวิตจริงได้อย่างเต็มที่
ผลการศึกษาจากโครงการมีฐานข้อมูลจากการนำลักษณะนิสัยเชิงคุณค่าระดับสากลทั้งในอดีตและปัจจุบันมาทบทวน และให้คุณค่ากับคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งที่เป็นคุณลักษณะที่ดี 24 อย่าง แบ่งเป็น 6 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
ปัญญาและความรู้ (wisdom and knowledge) จุดแข็งที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ การรับความรู้และนำความรู้ไปใช้ ประกอบด้วยคุณลักษณะเด่น ได้แก่
- ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การคิดถึงวิธีการใหม่ ๆ และมีประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ
- ความสงสัยใคร่รู้ (curiosity) การให้ความสนใจและตั้งคำถามกับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
- การเปิดใจ (open – mindedness) การมีมุมมองความคิดต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างทะลุปรุโปร่ง และพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจ
- ใฝ่เรียน (love of learning) การตั้งใจเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้ตัวเองอยู่เสมอ
- มุมมองความคิด (perspective) ความสามารถในการแนะนำให้คำปรึกษาผู้อื่นได้
การมีกำลังใจ (courage) จุดแข็งทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมุ่งมั่นพยายามไปให้ถึงเป้าหมาย ด้วยแรงขับจากทั้งภายในและภายนอก ประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ ได้แก่
- ความซื่อสัตย์สุจริต (honesty and authenticity) การพูดความจริงและนำเสนอตัวเองอย่างตรงไปตรงมา
- ความกล้าหาญ (bravery) ความไม่กลัวการถูกคุกคาม ความท้าทาย ความยากลำบากและความเจ็บปวด
- ความมานะพากเพียร (perseverance) การลงมือทำจนสำเร็จด้วยความตั้งใจ
- ความสนุกสนานรื่นรมย์ (zest) การใช้ชีวิตที่ให้เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและพลัง
ความเป็นมนุษย์ (humanity) จุดแข็งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล นำไปสู่การเอาใจใส่ดูแลผู้อื่นและความเป็นเพื่อน (tending and befriending)
- ความเมตตา (kindness) การให้ความช่วยเหลือและทำสิ่งดี ๆ เพื่อผู้อื่น
- ความรัก (love) การให้คุณค่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้อื่น
- ความฉลาดในการเข้าสังคม (social Intelligence) ความตระหนักรู้ในความต้องการ แรงจูงใจ และความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น
ความยุติธรรม (justice) จุดแข็งที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและสังคม รากฐานของคุณภาพชีวิตที่ดีในชุมชน
- ความเป็นธรรม (fairness) ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันด้วยความเป็นธรรมและยุติธรรม
- ภาวะผู้นำ (leadership) มีความสามารถในการจัดกิจกรรมกลุ่มและดำเนินงานจนเห็นผลลัพธ์
- การทำงานเป็นทีม (teamwork) มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีทิศทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
การควบคุมอารมณ์ (temperance) จุดแข็งที่ป้องกันสิ่งเร้าจากภายนอก
- การให้อภัย (forgiveness) การให้อภัยไม่ถือสาคนที่ทำผิดต่อเรา
- ความถ่อมตัว (modest) ไม่พูดเยอะ ปล่อยให้ความสำเร็จได้พิสูจน์ตัวเอง
- ความรอบคอบ (prudence) เลือกอย่างระมัดระวัง ไม่พูดหรือทำอะไรที่ทำให้เสียใจภายหลัง
- การรู้จักควบคุมตนเอง (self-regulation) จัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้
การเข้าใจความจริงของชีวิต (transcendence) การเห็นคุณค่าของความงาม (appreciation of beauty) การสังเกตเห็นและชื่นชมความงามและทักษะรอบตัวในทุกด้านของชีวิต
- ความกตัญญูรู้คุณ (gratitude) การตระหนักรู้และขอบคุณสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
- ความหวัง (hope) การมีความคาดหวังที่จะทำให้ดีที่สุด แล้วลงมือทำ
- การมีอารมณ์ขัน (humor) ความตลกและชอบหัวเราะ และทำให้คนอื่นยิ้มได้
- จิตวิญญาณและศาสนา (spirituality and religiousness ) การมีความเชื่อที่สอดคล้องกับเป้าหมายและการใช้ชีวิต
การส่งเสริมให้ใช้คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งทั้ง 24 ข้ออย่างนี้ แรกเริ่มก็เพื่อวัดผลการพัฒนาจุดแข็งแต่ละด้านและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเด็กและเยาวชนตัวอย่าง โดยเชื่อว่าหากนำคุณลักษณะมาใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยและพฤติกรรมตัวเอง คุณลักษณะที่ดีจะช่วยเติมเต็มให้ชีวิตประสบความสำเร็จและมีความสุขมากขึ้น
งานวิจัยเรื่อง ‘Character Strengths Interventions: Building on What we know for improved outcomes.’ ตีพิมพ์ออนไลน์ใน Springer Science Business Media กล่าวว่า การให้เวลากับการพัฒนาคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งดีกว่าการให้เวลากับการปรับปรุงจุดด้อย เพราะการสร้างเสริมคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เวลาน้อยกว่า ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้มากกว่า
สำหรับการสำรวจของ VIA เป็นการสำรวจออนไลน์ แบ่งเป็น หนึ่ง VIA-Youth สำรวจจุดแข็งของเด็กและเยาวชนอายุ 10 – 17 ปี และ สอง VIA -IS สำหรับเยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไป การสำรวจแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 45 นาที หลังผู้เข้าร่วมสำรวจสมัครเข้าทำแบบสำรวจทางเว็บไซต์และตอบแบบสอบถามครบถ้วนแล้ว ระบบจะประมวลผล แสดงผลคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งที่เด่นที่สุดออกมา เรียกว่า “signature strengths” ผลลัพธ์ที่ออกมานี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสำรวจรู้จักคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งของตัวเอง เพื่อฝึกฝนใช้คุณลักษณะเหล่านั้นในชีวิตประจำได้
ใช้จุดแข็งให้ถูกทาง
แม้จะมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางถึงพฤติกรรมเชิงลบของวัยรุ่นอเมริกัน แต่จากการวิเคราะห์ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่พวกเขามีการพัฒนาคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งของตัวเอง โดยเฉพาะด้าน ความกตัญญูรู้คุณ การมีอารมณ์ขัน และความรัก ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำรวจพบได้ทั่วไปในวัยรุ่น ขณะที่ ความรอบคอบ การรู้จักให้อภัย จิตวิญญาณและการควบคุมตัวเอง ยังเป็นจุดแข็งที่พบในผู้ใหญ่มากกว่าวัยรุ่น
โดยสรุปกล่าวได้ว่า คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งทั่วไปมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนอื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ความกตัญญูรู้คุณ ความหวัง ความสนุกรื่นรมย์ ความสงสัยใคร่รู้ รวมถึงสิ่งสำคัญอย่างความรัก
นอกจากนี้ยังพบว่า คุณลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับความรู้สึก (heart) เช่น ความรัก และความกตัญญูรู้คุณ กลับมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยใช้เหตุผลหรือสมอง (head) เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์ และสุนทรียศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ หากเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษา คือ การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สิ่งที่ควรได้รับการปลูกฝังนอกเหนือจากความรู้ควรเป็นเรื่องที่อยู่นอกตำราเรียน นั่นคือ คุณธรรม จริยธรรม และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น
การได้รับความนิยมหรือการได้รับการยอมรับจากเพื่อนในวัยรุ่น มีความเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะเหล่านี้เช่นกัน นักเรียนที่ได้รับการชื่นชอบในหมู่เพื่อนฝูง จะมีจุดแข็งโดดเด่นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในสังคมและชุมชน (civic strengths) เช่น ภาวะความเป็นผู้นำ และความเป็นธรรม รวมถึงจุดแข็งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ อย่างการรู้จักควบคุมตนเอง ความรอบคอบและการให้อภัย เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้นยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงการวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดโรคจิตเภทในเด็กและเยาวชนได้อีกด้วย เช่น หากเด็กมีอาการของภาวะโรคซึมเศร้าและมีความวิตกกังวล สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเด็กควรได้รับการส่งเสริมคุณลักษณะให้มีความหวัง มีอารมณ์ขัน และมีภาวะความเป็นผู้นำ โดยเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกในกิจกรรมที่ตัวเองถนัด หรือการได้รับคำชื่นชมจากผู้ปกครองและครูเมื่อเด็กทำดี เป็นต้น ส่วนปัญหาที่แสดงออกอย่างชัดเจนภายนอก เช่น ความก้าวร้าวในวัยรุ่น มีความเกี่ยวข้องกับการขาดคุณลักษณะเรื่องความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์ ความรอบคอบ และขาดความรัก
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งเหล่านี้สามารถฝึกฝนได้ ผู้ปกครอง โรงเรียน และสังคม ต้องให้ความร่วมมือ เริ่มต้นจากการมีความมั่นใจในตัวเด็กและเยาวชน แล้วเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกตามแนวทางที่พวกเขาถนัด ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาได้รู้จักตัวเอง ก่อน หลังจากนั้นจึงจัดกิจกรรมเฉพาะอย่างเพื่อพัฒนาคุณลักษณะแต่ละด้านอย่างเจาะจง
คำพูดที่บอกว่า “ลูกทำได้หรือทำให้ดีที่สุด” ฟังดูเป็นการให้กำลังใจที่ดี แต่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีให้เกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่ควรมีเป้าหมายที่เจาะจงและชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ปกครองต้องการปลูกฝังคุณลักษณะด้านความรักความเมตตา หรือการเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ดี การให้แนวทางลูกด้วยการบอกว่า อย่างน้อยต้องทักทายหรือพูดสวัสดีกับคนที่ยังไม่เคยพูดด้วยวันละหนึ่งคนที่โรงเรียน จะเป็นคำแนะนำที่มีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายชัดเจนกว่า
“เด็กไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อแม่หรอก” เรามักได้ยินผู้ใหญ่พูดอยู่เสมอ แต่อีกมุมหนึ่งพวกเขากลับมีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เราจึงมักได้ยินอีกคำกล่าวที่บอกว่า “พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก” ด้วยเหตุนี้ วิธีการสอนลูกที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การพูดหรือดุด่า แต่เป็นการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
การทำสิ่งที่ดี และได้ใช้ชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข น่าจะเป็นความฝันของผู้คนในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโตขึ้นมาในสังคมแห่งอนาคตที่น่าจะมีความซับซ้อนมากกว่าความเรียบง่าย มีความวุ่นวายมากกว่าความเบาสบายในจิตใจ ปัญหาคือเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าพวกเขาสามารถหาความสุขและความหมายของชีวิตจากกิจกรรมหรือสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาทำในชีวิตประจำวันได้อย่างไร การมองหาคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งของตัวเองน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำความรู้จักตัวเอง เราทุกคนมีจุดแข็ง จุดแข็งที่ควรแสดงออกมาให้ผู้อื่นได้เห็น จุดแข็งที่สามารถฝึกฝนให้เกิดการยอมรับ กระทั่งกลายเป็นคุณลักษณะที่เป็นตัวตนของตัวเองในที่สุด เป็นการสร้างความเป็นตัวเองที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนเรา…