- ทฤษฎีเกม (Game theory) ว่าด้วยเรื่องการตัดสินใจของมนุษย์ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ระหว่างตนและฝ่ายอื่นๆ การตัดสินใจนั้นจะส่งผลให้มีฝ่ายแพ้ ชนะ หรือเสมอ ขึ้นกับว่าใครได้ผลประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากน้อยกว่ากัน และผลลัพธ์ของเกมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอีกฝ่ายด้วย
- ความขัดแย้งระหว่างคู่รักเปรียบเสมือนเกมชนิดหนึ่ง ‘เกมของความรัก’ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องตอบสนองต่อความขัดแย้ง เช่น จะเถียงต่อหรือจะหยุด จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะตามใจเขาหรือตามใจตัวเอง และผลลัพธ์ว่าจะ ‘ชนะ’ หรือไม่มันขึ้นกับทั้งตัวเราและอีกฝ่ายว่าตัดสินใจอย่างไร
- บางคนมักเล่นเกมของความรักด้วยการเป็นฝ่ายโอนอ่อน และยอมอย่างเดียวเพราะคิดว่าจะเอาใจอีกฝ่าย การยอมไม่ทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงที่สุดก็จริง แต่ในการเล่นเกมซ้ำหลายรอบในระยะยาวอาจเป็นปัญหาได้
การหาคนรักที่ว่ายากแล้ว การรักษาความรักให้ยืนนานยิ่งยากกว่ามาก เพราะชีวิตรักไม่ใช่ละครหรือนิยายที่คบหรือแต่งงานกันแล้วคือเรื่องอวสาน จากนั้นก็รักกันไปตลอดกาล คู่รักในชีวิตจริงถึงจะรักกันแค่ไหน แต่ลิ้นกับฟันย่อมกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา คู่ไหนที่นานๆ ทะเลาะกันทีเป็นสีสัน หรือคู่ที่ถึงทะเลาะก็หาทางเคลียร์ปัญหากันได้ถือว่าโชคดีมากครับ เพราะมีอีกหลายคู่ที่ทะเลาะกันได้แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ ทะเลาะกันแทบทุกวัน และบางคู่เถียงกันข้ามวันเรื่องก็ยังไม่จบ มีแฟนหรือแต่งงานแล้วทั้งทีแทนที่จะสุข ต้องกลับมาอมทุกข์ทุกวันเพราะทะเลาะกับคนรัก
น่าแปลกไหมครับ ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายต่างก็รักกัน ต่างก็ให้ความสำคัญแก่กันและกัน แล้วทำไมมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ถึงจัดการกับความขัดแย้งระหว่างตนกับคนรัก หนึ่งในคนที่น่าจะมีเมตตา กรุณา มุทิตา กับตนที่สุดคนหนึ่งไม่ได้ บางคู่ถึงขั้นอุเบกขาคือ ทำใจปล่อยวางด้วยการเลิก ในเมื่อเข้ากันไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่องก็เลิกรากันดีกว่า
วันนี้ผมเลยอยากจะชวนคู่รักมาแก้ปัญหาด้วยการมองความขัดแย้งกันหรือการทะเลาะกันของคู่รักว่าเป็น ‘เกม’ แบบหนึ่ง ผมขอเรียกเกมนี้ว่า ‘เกมของความรัก‘ แต่ทำไมผมถึงอยากให้ท่านมองแบบนั้น ก่อนอื่นผมขอแนะนำ ‘ทฤษฎีเกม’ ให้ท่านรู้จักกันก่อนนะครับ
ทฤษฎีเกม (Game theory) เป็นทฤษฎีที่วงการสังคมศาสตร์ (ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่ต่างๆ) หลากหลายสาขาตั้งแต่เศรษฐกิจ การเมือง จิตวิทยา ฯลฯ ให้ความสนใจในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยทฤษฎีนี้ว่าด้วยเรื่องของการตัดสินใจของมนุษย์ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง ระหว่างตนและฝ่ายอื่นๆ การตัดสินใจนั้นจะส่งผลให้มีฝ่ายแพ้ ชนะ หรือเสมอ ขึ้นกับว่าใครได้ผลประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากน้อยกว่ากัน และผลลัพธ์ของเกมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอีกฝ่ายด้วย จริงๆ แล้วหากมองให้ง่ายๆ ก็คล้ายๆ กับเกมทั่วไปแหละครับ ลองนึกถึงเกม ‘เป่ายิ้งฉุบ’ เกมนี้มีทั้งผลแพ้ ชนะ และเสมอ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ผลด้วยการเลือกของตัวเราฝ่ายเดียวว่าจะออกค้อน กรรไกร หรือกระดาษ แต่ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายตรงข้ามด้วยว่าออกอะไร
การทะเลาะกันของคู่รักจะมองว่าเป็นเกมแบบหนึ่งในทฤษฎีเกมก็ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องตอบสนองต่อความขัดแย้ง เช่น จะเถียงต่อหรือจะหยุด จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะตามใจเขาหรือตามใจตัวเอง และผลลัพธ์ว่าจะ ‘ชนะ’ หรือไม่มันขึ้นกับทั้งตัวเราและอีกฝ่ายว่าตัดสินใจอย่างไร เป้าหมายหนึ่งของทฤษฎีเกมคือทำนายว่าคนมักจะตอบสนองอย่างไรกับเกมรูปแบบต่างๆ และการตอบสนองแบบไหนที่ดีที่สุดสำหรับเกมในแต่ละประเภท การตอบสนองแบบใดที่มีโอกาสจะได้ผลประโยชน์สูงสุด หรือเป็นผู้ชนะของเกม แต่ก่อนจะตอบคำถามว่า แล้ว ‘เกมของความรัก’ จะเล่นอย่างไรให้ชนะ เรามาดูเกมอื่นๆ กันก่อนดีกว่าครับ เพื่อให้เห็นตัวอย่างวิธีวิเคราะห์สถานการณ์ในรูปแบบของเกมกัน
เกมยอดนิยมที่มักใช้เป็นตัวอย่างของทฤษฎีเกมชื่อว่า ‘Prisoner’s Dilemma’ ซึ่งจำลองสถานการณ์ที่ผู้ต้องสงสัย 2 คนถูกตำรวจสอบปากคำแยกกัน ตำรวจพยายามเอาผิดทั้งคู่ให้ได้ เกมนี้ถ้าทั้งคู่ต่างสารภาพว่าทำผิด โทษติดคุกปกติคือ 5 ปี แต่ถ้าเกิดปากแข็งทั้งคู่ ตำรวจก็เอาผิดไม่ได้ ไม่ต้องติดคุก ฟังแล้วการไม่สารภาพย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าจริงไหมครับ แต่เกมมันไม่ง่ายแบบนั้น ทั้งคู่ถูกสอบปากคำแยกกัน และไม่รู้เลยว่าอีกฝ่ายตอบอะไรไป และทั้งคู่ได้รับการเกลี้ยกล่อมจากตำรวจว่าถ้าตนยอมสารภาพ และหากอีกฝ่ายไม่สารภาพ ถึงแม้จะเท่ากับมีความผิดทั้งคู่ แต่ฝ่ายสารภาพจะถูกลดโทษให้เหลือแค่ 6 เดือนเนื่องจากให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่อีกฝ่ายที่ไม่สารภาพจะถือว่าให้การเท็จ และต้องเพิ่มโทษเป็น 10 ปี
หากต้องการชนะ หรือไม่ติดคุก ผู้เล่นต้องเชื่อใจว่าอีกฝ่ายว่าจะไม่สารภาพเหมือนกัน ซึ่งจะได้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของเกมนี้คือรอดทั้งคู่ แต่การเงียบไว้มันก็มีความเสี่ยงที่จะพบกับผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดคืออีกฝ่ายหักหลังสารภาพ กลายเป็นติดคุก 10 ปีแทน ดังนั้น แม้ว่าการสารภาพได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่า แต่ก็ดูเสี่ยงน้อยกว่าคือติดแค่ 6 เดือน หรืออย่างมากก็ 5 ปี
มาดูกันอีกสักเกม เกมนี้ชื่อ ‘Chicken’ เป็นเกมแข่งความใจเด็ดรูปแบบหนึ่ง โดยแต่ละฝ่ายจะซิ่งรถด้วยความเร็วสูงตรงไปที่หน้าผา ใครเบรกก่อนก็ถือว่าใจเสาะและแพ้ไป ถ้าเบรกทีหลังก็ถือว่าใจเด็ดกว่าและเป็นผู้ชนะ ประเด็นคือควรจะเบรกตอนไหนถ้าอยากเป็นผู้ชนะ หากผู้เล่นเกมทั้งคู่คิดตรงกันว่าต้องชนะให้ได้ ไม่มีใครเบรก ผลสุดท้ายคือตกหน้าผาตายทั้งคู่ ถึงจะเบรกพอดีตรงขอบหน้าผาก็ไม่การันตีว่าจะชนะนะครับ ถ้าอีกฝ่ายล้อหน้าวิ่งบนอากาศไปแล้วแต่ถ้าโชคดีล้อหลังยังรั้งไว้ได้ไม่ตก เราก็แพ้อยู่ดี ดังนั้น สถานการณ์ที่ปลอดภัยและน่าจะรับได้ของทั้งคู่คือการเบรกพร้อมกัน ผลคือเสมอกันไป ไม่แพ้เรื่องใจเด็ดแถมไม่ตายฟรีด้วย แต่แบบนั้นไม่ถือว่าได้รางวัลใหญ่สุดในเกม คือเป็นฝ่ายชนะ
สังเกตว่าเกม Prisoner’s Dilemma ถ้าจะชนะด้วยผลประโยชน์ต่อคนที่สูงที่สุด ต้องชนะทั้งคู่เท่านั้น ส่วนการเลือกทางเลือกอื่นมีแต่การเสียประโยชน์ เสียมากหรือเสียน้อยก็แค่นั้น ส่วน Chicken ถ้าจะชนะด้วยผลประโยชน์ต่อคนที่สูงที่สุด ชนะได้แค่คนเดียว แต่การชนะก็เป็นเรื่องเสี่ยงมาก และทางเลือกอื่นอย่างการเสมอเป็นผลที่ยังยอมรับได้ เกมยังมีอีกมากมายหลายรูปแบบและลักษณะของทางเลือกที่มีต่อผลลัพธ์แพ้ชนะก็แตกต่างกันออกไป บางเกมไม่มีวิธีชนะเลยด้วยซ้ำ ผลลัพธ์ที่ทำได้ดีที่สุดคือเสมอ เช่น สงครามนิวเคลียร์ ประเทศไหนเริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน ก็จะโดนนิวเคลียร์จากประเทศอื่นๆ ตอบโต้และสุดท้ายโลกก็วินาศหมด ถือว่าแพ้ทุกฝ่าย ดังนั้น เกมนี้ทำได้แค่นิ่ง ไม่ยิง และเสมอกัน
ว่าแล้วเราก็มาตอบคำถามที่ทิ้งกันไว้ว่าเราจะชนะ ‘เกมของความรัก’ อย่างไร ยกตัวอย่างคู่รักที่ทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน เถียงกันเท่าไรก็ไม่ลงตัวสักที หลายครั้งความโกรธ ความหงุดหงิด ความคับข้องใจ ทำให้คู่รักที่เหมือนผู้เล่นเกมเผลอคิดไปว่า ถ้าตนเถียงชนะอีกฝ่าย เกมนี้ตนคือผู้ชนะ แต่จริงๆ แล้วการชนะในเกมนี้คำตอบคือมันขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายด้วยครับ ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอม เถียงต่อ เกมนี้ก็ไม่จบ และเป็นผลลัพธ์แบบแย่ที่สุดคือไม่มีผู้ชนะเลย บางท่านอาจจะคิดว่าถ้าแบบนั้นก็ต้องเถียงให้ชนะสิ คำถามคือแล้วการเถียงชนะมันคือผลประโยชน์ที่ท่านต้องการจริงๆ หรือเปล่า…
ตอนท่านกำลังเถียงกับแฟนฉอดๆ ท่านอาจจะต้องคิดดีๆ ว่าท่านกำลัง ‘เล่นเกมแบบไหน’ และเกมนี้ ‘ผลประโยชน์สูงสุดนั้นคืออะไร’ ท่านต้องการผลประโยชน์ที่เหนือกว่าในแง่ของการ ‘เถียงชนะ’ จริง ๆ หรือเปล่าครับ ซึ่งการเลือกให้ได้ผลลัพธ์นี้อาจแลกมาด้วยความเสี่ยงคือ แฟนท่านก็ไม่ยอม ส่งผลให้ทะเลาะกันยืดเยื้อต่อไป ซึ่งถ้าเลือกเถียงต่อ ท่านยอมรับการแพ้ทั้งคู่แบบนี้ไหม แต่ถ้าท่านยอมโอนอ่อน ยอมอีกฝ่ายบ้าง เช่น ยอมรับความคิดว่าอีกฝ่ายก็มีส่วนถูก อีกฝ่ายอาจจะพอใจและยืนกรานความคิดของตน ซึ่งท่านคงไม่พอใจนัก แต่อย่างน้อยเรื่องก็น่าจะจบแน่ๆ แถมถ้าอีกฝ่ายพอเห็นท่านโอนอ่อน เขาก็อาจจะโอนอ่อนยอมรับฟังท่านบ้างก็ได้ ท่านอาจจะไม่ชนะเป็นการส่วนตัว แต่เกมของความรักนี้ ท่านและคนรักชนะทั้งคู่ เพราะจบเรื่องได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตามการยอมอีกฝ่ายนั้น ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกเกม ท่านเคยมีปัญหากับแฟนไหมครับว่า ‘มื้อนี้กินอะไรดี’ เกมนี้ถ้าคิดเหมือนกันคือ ฉันจะกินแต่สิ่งที่อยากกินเท่านั้น ก็ต่างคนต่างแยกไปกินร้านที่ตัวเองอยาก แต่แบบนั้นไม่น่าจะใช่คำตอบของการไปกินข้าวด้วยกันของคนรักจริงไหมครับ แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างยอมทั้งคู่ ผลลัพธ์ของเกมก็กลับไม่ดีตาม เพราะตกอยู่ในภาวะตัดสินใจไม่ได้ กลายเป็นเกี่ยงกันเลือก เกมนี้ต้องมีฝ่ายหนึ่งยอมตามอีกฝ่าย และอีกฝ่ายยืนกรานความคิดของตน ถึงคนหนึ่งไม่ได้ไปกินร้านที่ตัวเองอยากกิน ดูเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์ แต่อย่างน้อยที่สุดผลประโยชน์ที่ได้รับคือได้ไปกินข้าวแฟน แถมแฟนก็อารมณ์ดีได้กินของที่ชอบ ทางเลือกนี้คือทางเลือกที่ดีที่สุด ชนะทั้งคู่ แต่ได้ผลประโยชน์ไม่เท่ากัน แต่ก็ดีกว่าการแยกร้านกิน หรือเกี่ยงกันเลือกไม่จบเสียที
เกมในชีวิตนั้นยากกว่าเกมสมมติตรงที่ว่าเราไม่ได้ทะเลาะกันแค่ครั้งเดียว สิ่งหนึ่งที่ต้องเอามาคำนวณในทฤษฎีเกมคือ จะเกิดเกมต่อไปอีกหรือไม่ ต่อให้เล่นเกมเดียวกันวิธีการตัดสินใจของการเล่นแบบครั้งเดียวจบ อาจไม่เหมือนเกมที่ต้องเล่นซ้ำหลายรอบ อย่าง Prisoner’s Dilemma ถ้าให้เล่นรอบเดียวคงยากเหมือนกันว่าจะตอบอะไร แต่ถ้ารู้ว่าต้องเล่นเกมเดิมกับคนเดิมอีกหลายๆ ครั้ง ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการยอมเชื่อใจอีกฝ่ายแต่แรก เพราะถ้าครั้งแรกปากแข็งทั้งคู่ นอกจากจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดคือไม่ติดคุกทั้งคู่แล้ว ยังทำให้อีกฝ่ายเชื่อใจ และทำให้เกมในรอบต่อๆ ไปง่ายขึ้น ชนะแบบง่ายๆ ไปด้วยกัน
เกมของความรัก ไม่ได้มีแค่ครั้งเดียวหรอกครับ ยกเว้นว่าครั้งแรกที่ทะเลาะกันก็เลิกกันเสียแล้ว ดังนั้น ถ้าหากอยากให้รักยืนนาน เราต้องมองถึงเกมต่อๆ ไปในอนาคตด้วย หากท่านทะเลาะกับแฟน ท่านไม่เคยยอมแฟนสักครั้ง แฟนก็อาจจะไม่พอใจสะสมขึ้นเรื่อยๆ และเหลืออดไม่ยอมท่านในสักวัน ท่านต้องดูด้วยว่าถ้าท่านชนะครั้งนี้ ครั้งต่อไปมันจะเป็นผลประโยชน์กับท่านและชีวิตรักของท่านอย่างไร เกมที่ท่านชนะรอบนี้ อาจจะส่งผลให้ท่านต้องแพ้ หรือเกิดผลร้ายสูงสุดแทนในรอบหน้า งานวิจัยพบว่าในเกมของความรัก บุคคลหากรู้ว่าคู่รักจะยอมเสียสละให้ตนก่อนแน่นอน เขาก็พร้อมและยินดีที่จะเป็นฝ่ายเสียสละบ้างเช่นกัน ดังนั้น ถ้าท่านเคยอ่อนข้อมาก่อน ครั้งต่อไปอีกฝ่ายก็อาจจะอ่อนข้อให้ท่านเช่นกัน วันนี้ฉันยอมกินสุกี้กับเธอ แต่อาทิตย์หน้าเธอต้องมากินพิซซ่ากับฉัน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ บางคนมักเล่นเกมของความรักด้วยการเป็นฝ่ายโอนอ่อน และยอมอย่างเดียวเพราะคิดว่าจะเอาใจอีกฝ่าย ทุกอย่างคงราบรื่นกว่า ถ้าหากเราย้อนกลับไปดูสถานการณ์ตัวอย่าง การยอม ไม่ทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงที่สุดก็จริง แต่ในการเล่นเกมซ้ำหลายรอบในระยะยาวอาจเป็นปัญหาได้ ท่านเคยเห็นคู่รักที่คนโกรธคือคนที่ถูกตามใจไหมครับ โกรธเพราะอีกฝ่ายไม่เคยเสนอความต้องการหรือจุดยืนของตัวเองเลย จะกินอะไรก็ตามใจเธอหมด ทะเลาะกันก็ฉันผิดเอง จะผิดถูกไม่รู้รีบขอโทษก่อนทุกครั้ง แต่ทั้งๆ ที่ยอมขนาดนี้ พอผ่านไปนานๆ อีกฝ่ายกลับไม่พอใจเสียอย่างนั้น
งานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ที่ราบรื่นนั้น แต่ละฝ่ายต้องเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ การเป็นผู้ให้อย่างเดียวเหมือนจะดูดีเพราะดูเหมือนว่าเป็นผู้เสียสละยอมตามใจอีกฝ่าย แต่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายเห็นแก่ตัว ไม่เคยเสียสละ ไม่เคยทำอะไรให้อีกฝ่าย เป็นคนรักที่ไม่ดี รู้สึกว่าตนไม่เท่าเทียมอีกฝ่าย สร้างความทุกข์และไม่พอใจให้กับฝ่ายที่รับการเสียสละ ดังนั้น การยอมเป็นผู้รับก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่แน่นอนครับการเป็นผู้รับอย่างเดียวก็ย่อมไม่ดีแน่นอน เพราะอีกฝ่ายจะรู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบ การเป็นผู้รับบ้าง ผู้เสียสละบ้างจะทำให้ความสัมพันธ์ยืนนานกว่า ความรักที่ดีคือคู่รักต้องรู้สึกว่าเกมนี้ ฉันและเธอเท่าเทียม หรือถ้าไม่เท่าเกมนี้ แต่ภาพรวมโดยเฉลี่ยแล้วการเป็นผู้รับและผู้ให้อยู่ในระดับที่เท่าเทียม หรือใกล้เคียงกัน
ในชีวิตรักจะมีเรื่องราวที่เราต้องขัดแย้งกับคนรัก ให้เราเล่น ‘เกม’ กันหลายต่อหลายครั้ง และแต่ละครั้งเกมอาจจะเป็นเกมคนละแบบ ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง สิ่งสำคัญที่สุด ตั้งสติแล้วมองให้ออกว่า นี่คือ ‘เกมแบบไหน’ และคิดให้ดีว่า ‘ผลประโยชน์สูงสุด’ ที่ท่านต้องการคืออะไร เลือกทางที่มีโอกาสได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราหรือทั้งคู่ แต่ถ้าสังเกตให้ดีสุดท้ายทางที่ต้องหาคือผลประโยชน์สูงสุดของทั้งคู่ในทุกเกมแหละครับ มันไม่มีเกมของความรักเกมไหนหรอกครับ ที่มีคนชนะแค่คนเดียวแล้ว รู้สึกดี สะใจ พอใจอยู่ฝ่ายเดียว เพราะใครจะอยากให้คนที่เรารักต้องมาทุกข์ เสียใจ ยังแอบโกรธ หรือคับข้องใจ ถ้าใครต้องการแบบนี้ ถึงจะดูเป็นฝ่ายชนะ แต่ก็ยากที่จะเรียกว่า ‘เกมของคนที่รักกันอยู่’
เกมของความรักชนะคนเดียวไม่ได้หรอกครับ ถ้าไม่ชนะทั้งคู่ ก็แพ้ทั้งคู่