- วัยรุ่นกำลังถูกทำร้ายด้วยกระแสคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบ ปลายทางคือโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย
- ต้นตอมาจากเทรนด์โลก Neoliberalism หรือเสรีนิยมใหม่ ที่ให้อภิสิทธิ์สูงสุดกับคนที่ประสบความสำเร็จซึ่งวัดได้จากเงินเท่านั้น
- เราจะช่วยและฉุดวัยรุ่นขึ้นมาได้อย่างไร เพราะการเป็นและติดอยู่กับ ‘มนุษย์เป๊ะเว่อร์’ มันไม่สนุกเลย
จากข่าวทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรือสื่อโซเชียล เราจะเห็นรายงานการเพิ่มขึ้นของผู้มีอาการป่วยทางจิตจากความกดดันและความเครียดพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็กวัยรุ่นในช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย ที่พบว่าป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก
ในบทความเรื่อง ‘The Rise of Perfectionism is Negatively Affecting Young People’ หรือ ‘กระแสคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบกำลังทำร้ายวัยรุ่น’ เขียนโดย โธมัส เคอร์แรน (Thomas Curran) และ แอนดริว ฮิลล์ (Andrew Hill) ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบาธ และ ยอร์ค เซนต์จอห์น แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ World Economic Forum พวกเขาชี้ว่า
ต้นตอความเครียดที่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต มาจากเทรนด์ของโลกที่เรียกว่า Neoliberalism หรือเสรีนิยมใหม่ซึ่งให้อภิสิทธิ์สูงสุดกับคนที่ประสบความสำเร็จซึ่งวัดได้จากการมีเงินเท่านั้น
สังคมที่มีความสมบูรณ์แบบเป็นไม้บรรทัด
เมื่อกล่าวถึง Neoliberalism จุดกำเนิดของแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนี้อยู่ที่ชาติมหาอำนาจในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคใหม่ เมื่ออังกฤษโดยนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นำแนวคิดนี้มาเพื่อกระตุ้นให้เกิดกลไกตลาด และลดบทบาทของรัฐสวัสดิการที่เกิดปัญหารัฐแทรกแซงตลาดมากเกินไปจนเศรษฐกิจไม่เติบโตในยุค 70 และต่อมาประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐ ก็นำทฤษฎีนี้มาปรับใช้ตามเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้เกิดการค้าแบบเสรีด้วยกลไกราคา
ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวได้สร้างโครงสร้างทางสังคมที่เงินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ นอกเหนือจากปัจจัย 4 การจะอยู่รอดในสังคมหมายถึงการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนมาก บริบทของสังคมเสรีนิยมนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันของปัจเจกบุคคลเอง และตลาดเศรษฐกิจที่สินค้าและบริการต้องแข่งกันดึงดูดเงินอย่างดุเดือด ภาพใหญ่คือทุกอย่างล้วนเป็นสินค้าที่มีราคาและสามารถซื้อขายในตลาดได้ สังคมที่ดำเนินไปเช่นนี้ เริ่มสร้างบรรทัดฐานในการประเมินตนเองแบบใหม่ขึ้น ทุกคนเห็นตนเองเป็นเสมือน ‘สินค้าชิ้นหนึ่ง’ ที่ต้องนำเสนอให้มีคุณค่าในสายตาของสังคมตลอดเวลา
ทั้งโธมัสและแอนดริวซึ่งมีบทบาทหลักเป็นอาจารย์เล่าว่า บางครั้งพวกเขาต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางจิตให้กับเด็กนักเรียนที่ภายนอกดูสดใสร่าเริง ปกติดีทุกประการ แต่กลับมีภาวะอาการทางจิตบกพร่อง เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล และคิดฆ่าตัวตายอยู่เสมอ นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่วัยรุ่นจำนวนมากทั่วโลกกำลังประสบปัญหาทางจิตที่นับวันยิ่งรุนแรงและนำไปสู่อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น มันคือผลพวงจากค่านิยมที่สังคมลักษณะนี้กำลังเชพการมองโลกของพวกเขาว่า ตนเองจะมีจุดบกพร่องไม่ได้เลยเด็ดขาด
ไม้บรรทัดที่สังคมใช้กับเด็กคือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย (ต้องจบจากสถาบันรัฐ-เอกชนที่มีชื่อเสียง) สาขาอาชีพที่เรียน (จบไปแล้วมีค่าตอบแทนสูงและมั่นคง) อีกทั้งยังมีแรงคาดหวังจากพ่อแม่ผู้ปกครอง การเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง การไหลบ่าของโซเชียลมีเดียที่ส่งเมสเสจย้ำๆ ว่า “ใครๆ ก็ประสบความสำเร็จ และดูดีกันทั้งนั้น”
พวกเขาถูกเปรียบเทียบ จัดประเภท จัดอันดับอยู่ตลอดเวลา หากถูกจัดให้อยู่ในอันดับล่างหรืออยู่ในเกณฑ์ ‘อ่อน’ จะหมายความทันทีว่าไม่มีค่าและเป็นจุดบกพร่องของสังคมนั้น
เมื่อถนนทุกสายมุ่งไปที่ความสมบูรณ์แบบเป็นเส้นชัย จึงไม่แปลกที่เด็กวัยรุ่นยุคนี้ต้องแบกรับความกดดันให้ตนเอง ‘ดีที่สุด’ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และยิ่งไปกว่านั้น เด็กเหล่านั้นยังมีพื้นที่ในโซเชียลเป็นกระจกสะท้อนความสำเร็จจากมุมมองที่คนอื่นมีต่อตัวเอง กระหายที่จะต้องมีข้อพิสูจน์มารับรองว่าตนบรรลุเป้าหมายแล้ว เช่น สอบติดมหาวิทยาลัย ได้เกรดเฉลี่ยสูง ได้รางวัล หรือคำชื่นชม (หรือ คอมเมนต์ต่างๆ ยอดไลค์ ยอดแชร์ และยอดติดตาม หรือ followers)
ในท้ายที่สุด เมื่อไปไม่ถึงความสมบูรณ์แบบในอุดมคติอันเปราะบางที่สร้างไว้ หรือค้นพบว่าตนเองไม่ได้เป็นที่หนึ่ง พวกเขาจะผิดหวังอย่างรุนแรงเพราะตั้งสมการไว้ว่าคนที่ทำอะไรผิดพลาด ล้มเหลว คือคนไม่มีค่า
Perfectionist: ฉันต้อง ‘เป๊ะ’ ตลอดเวลา
งานวิจัยทางจิตวิทยาที่โธมัสและแอนดริวเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Bulletin ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ว่าระดับเสพติดความสมบูรณ์แบบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1989 โดยน่าจะเป็นอาการหนึ่งที่วัยนี้ใช้เชื่อมกับการพยายามทำให้ตนเองรู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องวางตัวเอง (positioning) ให้อยู่รอดในสังคมแบบเสรีนิยมดังกล่าว
ความกดดันภายในของวัยรุ่นที่ต้องเป็น ‘มนุษย์เป๊ะเว่อร์’ ตลอดเวลา อาจพ่วงมากับอาการทางจิตอื่นๆ เช่น โรคกลัวอ้วนจนมีพฤติกรรมกินผิดปกติ โรควิตกกังวลเกินไป ซึมเศร้า และมีความคิดฆ่าตัวตาย
ตัวอย่างอันน่าเศร้าหนึ่งจากครอบครัววาโลรัสซึ่งสูญเสียลูกสาววัย 17 ปี อเล็กซานดรา วาโลรัส (Alexandra Valoras) จากการฆ่าตัวตาย โดยกระโดดลงมาจากสะพานข้ามไฮเวย์ระหว่างไปเที่ยวทริปสกีในวันหยุดกับครอบครัว ไดอารี 2 เล่มของเธอที่พบในที่เกิดเหตุ เต็มไปด้วยถ้อยคำที่อเล็กซานดราตำหนิและวิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานานนับปี สิ่งที่น่าตกใจคือ เธอไม่เคยแสดงสัญญาณใดๆ ที่บ่งบอกอาการซึมเศร้า อย่างการวิจารณ์ตัวเองในแง่ลบให้ใครได้ยินมาก่อนหน้านั้นเลย
เอลิเซีย (Alysia) และ ดีน วาโลรัส (Dean Valoras) พ่อแม่ของอเล็กซานดราเล่าว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นในลูกคือเด็กมุ่งมั่น มีเป้าหมาย และร่าเริงปกติคนหนึ่ง เธอเลือกเข้าโรงเรียนเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีที่เธอชอบเอง และยังทำเกรดเฉลี่ยดีมาโดยตลอด ทำกิจกรรมและเข้าแข่งขันได้รางวัลมามากมาย แข่งได้ที่ 7 ในการประกวด SkillsUSA National Leadership และ Skills Conference Championships โดยตั้งเป้าว่าปีนี้จะต้องได้ที่ 1 เธอกับทีมเพื่อนนักเรียนกำลังวางแผนลงแข่งการประกวดหุ่นยนต์ในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า
ในสายตาคนภายนอก อเล็กซานดรามักมีรายการสิ่งที่ต้องทำและลงมือทำตามอย่างเคร่งครัด แต่ในไดอารี อเล็กซานดรากลับบรรยายถึงจิตใจที่ถูกกัดกร่อนจากความพยายามวันแล้ววันเล่าในการใช้ชีวิตประจำวันให้อยู่ในกรอบของคนเก่งที่เธอตั้งเอาไว้เอง เธอรับตัวเองไม่ได้เมื่อเกิดความรู้สึกเฉื่อยชา ขี้เกียจบางครั้งบางคราว และกล่าวโทษตัวเองที่มีข้อบกพร่องเหล่านั้น
ด้านล่างเป็นตัวอย่างสัญญาณของอาการยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไปจากไดอารีบางส่วนของเธอ
“…ทั้งหมดใน (ไดอารี) นี้คือเนื้อแท้ที่ฉันไม่ได้ปรุงแต่ง และขาดแหว่งไม่สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครสนมันนอกจากฉัน ในนี้ฉันไม่ต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานที่คนอื่นขีดไว้…แม้แต่ตัวฉันเอง”
“ฉันหลงทาง หมดหวัง ไร้ค่า ขี้เกียจ เฉื่อยชา สับสน เหนื่อยล้า ชาชิน คิดลบ อึดอัด ขัดแย้ง เป็นทุกข์ จับฉ่าย และเคว้งคว้างเหลือเกิน…”
“ชีวิตไร้จุดหมายอะไรอย่างนี้ ทำไมฉันต้องลุกจากที่นอน ต้องมาทำการบ้านช่วงหน้าร้อน ต้องไปวิ่ง ทั้งหมดเพื่อวันข้างหน้า ไม่ใช่เพื่อตอนนี้…ฉันอยู่อย่างมีความสุขอย่างนี้ไม่ได้”
“ฉันต้องได้เหรียญทองการแข่ง SkillsUSA ปีนี้ให้ได้ ไม่งั้นที่ฝึกมาทั้งหมดก็ไร้ค่า”
“ฉันต้องสมบูรณ์แบบ อะไรที่น้อยกว่าสมบูรณ์แบบก็คือล้มเหลว”
“ฉันไม่มีทางเป็นคนที่ฉลาดที่สุด และถ้าไม่ได้เป็นที่หนึ่ง ฉันก็หมดความหมาย”
เท่าทัน ยอมรับ มีสติ
ในเมื่ออย่างไรเสีย เด็กและเยาวชนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดและความกดดันจากสังคมที่เป็นอยู่นี้ได้อยู่แล้ว พ่อแม่และโรงเรียนควรต้องช่วยกันติดตั้งภูมิคุ้มกันให้พวกเขาหาจุดยืนในการเป็นตัวของตัวเองในสังคมได้โดยไม่ต้องเปรียบเทียบ ปลูกฝังหนึ่งในสัจธรรมของความเป็นมนุษย์ คือความไม่สมบูรณ์แบบ ความแตกต่าง ความหลากหลายในสังคม พื้นฐานแรกสุดคือพวกเขาต้องรู้จักยอมรับ และรักในสิ่งที่ตัวเองเป็น
การมีเมตตาในตัวเอง หรือ self-compassion เป็นอุปนิสัยสำคัญซึ่งบทความเรื่อง Self-compassion: ไม่ต้องใจร้ายกับตัวเองมากนักก็ได้วัยรุ่น โดย ชลิตา สุนันทาภรณ์ กล่าวไว้ว่าควรต้องบ่มเพาะให้เด็กรู้จักยอมรับความผิดพลาดของตนเองเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้อย่างมีสติ ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ หลีกเลี่ยงความล้มเหลวหรือความผิดพลาดไม่ได้
นอกจากมีเมตตาในตัวเอง การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นก็เช่นเดียวกัน โธมัสและแอนดริวลงความเห็นว่า การเห็นใจผู้อื่นเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานด้านบวกในจิตใจให้สามารถรับมือกับความเป็นไปในสังคม รวมทั้ง หากโรงเรียน มหาวิทยาลัย และทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจอย่างจริงจังในการกลั่นกรองสิ่งที่สังคมยัดเยียดให้เด็ก โดยวางกรอบการศึกษาเรียนรู้ตลอดจนการทำงานให้อยู่บนพื้นฐานของการเห็นอกเห็นใจมากกว่าการแข่งขันเปรียบเทียบอย่างที่เป็นอยู่ ปัญหาเด็กยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากเกินไปแล้วพ่วงตามมาด้วยโรคทางจิตอีกหลายอย่างน่าจะทุเลาขึ้น
ถ้าให้พูดถึงแนวทางปฏิบัติที่ผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กจะทำได้ อาจไม่ตายตัวนักในครอบครัวและบริบทที่แตกต่างกัน จำเป็นอย่างยิ่งคือ พ่อแม่และครูต้องหมั่นเข้าไปสำรวจโลกของพวกเขาบ้างว่า กำลังสนใจหรือหมกมุ่นกับอะไรเป็นพิเศษ เสพวงดนตรี ศิลปิน หนังสือ ภาพยนตร์หรือเกมประเภทไหน คร่ำเคร่งกับเป้าหมายมากเกินไปรึเปล่า และมีแนวโน้มที่จะตัดสินเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในทางลบหรือไม่
นอกจากต้องหูไวตาไวกับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของความเครียดภายใน พ่อแม่และครู ต้องนับตัวเองเป็นเพื่อนคนหนึ่ง เรียนรู้ที่จะสวมหมวกเพื่อนที่ปรึกษา เป็นพวกเดียวกับเขาโดยไม่ตัดสิน เปรียบเทียบ หรือคาดหวังใดๆ