- ชวนเข้าใจประเด็นความรุนแรงในครอบครัวกับเบส – บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความและผู้ก่อตั้งกลุ่ม SHero พื้นที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับเคสความรุนแรงทุกรูปแบบ
- คุยกันตั้งแต่ทำไมผู้ถูกกระทำถึงใช้เวลาสักพักค่อยก้าวเดินออกมาจากความสัมพันธ์ กระบวนการยุติธรรมที่ส่วนหนึ่งมองบนฐานการสมานฉันท์และการรักษาครอบครัวเป็นหลัก และหากจะดำเนินการก้าวออกจากความรุนแรง จากจุดเริ่มต้นถึงตอนจบ เราทำอะไรได้บ้าง
- “ปัญหาหลักของกระบวนการยุติธรรมไทย คือแทนที่จะทำงานแบบ survivor-centered approach ให้ผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลางของการออกแบบการช่วยเหลือ แต่เขาดันไปให้ครอบครัวเฉยเลยว่า ‘คุณต้องรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้’ ”
ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า
คือคำแนะนำบทบาทหน้าที่สามีภรรยาและสมาชิกในครอบครัวไทยที่อยู่คู่สังคมมาอย่างช้านาน เรามักถูกสอนว่า ไม่ว่าครอบครัวจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นให้เก็บไว้ในบ้าน อย่าได้ไปเล่าให้คนอื่นฟังเด็ดขาด ขณะเดียวกันก็กลายเป็นกำแพงกั้นไม่ให้คนอื่นเข้าไปช่วยเหลือหรือแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อช่วยประเมินสถานการณ์ตรงหน้าอย่างสมจริงขึ้น
สำหรับเราคิดว่า ใช่ เพียงส่วนหนึ่งที่เรื่องในครอบครัวสมาชิกควรจัดการกันเอง แต่บางสิ่งเราก็ไม่สามารถตีกรอบมันว่าเป็นแค่เรื่องภายในบ้าน เช่นความรุนแรงในครอบครัว ถ้าเราเห็นสามีกำลังตบภรรยา หรือพ่อแม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงกับลูก เราจะสามารถมองว่าเป็นเรื่องครอบครัวได้ไหม? — ทั้งที่เหมือนจะตอบง่ายเพราะเรากำลังเจอความรุนแรงต่อหน้า (คนตรงหน้าอาจตายเลยด้วยซ้ำถ้าเราไม่เข้าไปช่วย) แต่นี่แทบจะกลายเป็นคำถามท้าทายหลายยุคหลายสมัยไม่เฉพาะแต่สังคมไทยเลยทีเดียว
เพื่อให้เข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น เราชวนเบส – บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความและผู้ก่อตั้งกลุ่ม SHero มาคุยกัน เพราะเคยตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจสร้าง SHero กลุ่มที่ให้คำปรึกษาทางกฏหมายกับเคสความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว
“ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรารู้เลยว่า ถึงเราจะมีคาแรกเตอร์ดูเป็นคนเข้มเเข็ง มีความรู้ทางกฏหมาย มีทุกอย่างอยู่ในมือ แต่กว่าเราจะตัดสินใจเดินออกมาจากจุดนั้นมันยากมากนะ เราเข้าใจผู้ถูกกระทำเลย”
บทสนทนาต่อไปนี้จะทำให้เราเข้าใจประเด็นความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น ตั้งแต่บริบทความรุนแรงในครอบครัว กระบวนการทางกฏหมาย มุมจิตวิทยาเพื่อเข้าใจสภาวะของผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ
หมายเหตุ: บทความต่อจากนี้จะใช้คำว่า ‘เคส’ หรือ ผู้ถูกกระทำ แทนคำว่า ‘เหยื่อ’ ที่มาจากคำว่า victim เพราะไม่ต้องการซ้ำเติมภาพการเป็น ‘เหยื่อ’ ที่อยู่ในที่ต่ำกว่า ไร้ทางสู้ อ่อนแรงอ่อนแอกว่า โดยปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ เลือกใช้คำว่า survivor เพื่อให้เห็นภาพของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้วและออกมาบอกเล่าเรื่องราวหรือบ้างดำเนินคดีกลับด้วยความมั่นคง ปกป้องสิทธิของตัวเอง อย่างปราศจากความกลัวและไม่รู้สึกว่าตัวเองมีมลทิน
หมายเหตุ2: เราได้สรุปขั้นตอนการดำเนินงานในการดำเนินคดีอย่างรวบรัดไว้ท้ายบทความ แต่อยากชวนอ่านบทความฉบับเต็มเพื่อให้เห็นขั้นตอน กระบวนการ ประสบการณ์จากคนทำงาน และเรื่องราวของบุคคลจริง เพื่อทำความเข้าใจต่อประเด็นดังกล่าวร่วมกัน
คนที่เข้ามาปรึกษา รูปแบบเคสเป็นแบบไหนบ้าง? และจุดไหนที่ทำให้เขาตัดสินใจมาหาเรา
เคสความรุนแรงในครอบครัวจะมีหลายแบบ ตามโมเดล Stage of Change (ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม)* ตั้งแต่อยู่ในภาวะที่ไม่รู้ว่าตัวเองถูกกระทำ เพราะรู้สึกว่า ‘คงเป็นเรื่องปกติแหละที่แฟนกับเราจะตีกัน’ คือตัวเคสจะยังมีความโทษตัวเองอยู่ระดับหนึ่ง เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่กับ abuser (ผู้กระทำ) มานาน ถูก abuser บอกตลอดเวลาว่า ‘เพราะคุณ คุณเป็นคนผิด’ ความภูมิใจในตัวเองลดลง กลายเป็นความเบลอๆ ชินชากับสิ่งๆ นี้
บางคนอยู่ในภาวะที่รู้ว่าสิ่งนี้มันผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นว่าควรทำอะไรต่อ ทำให้บางคนเข้ามาปรึกษาเราเฉยๆ หรือบางทีถึงขั้นเตรียมทุกอย่างแล้วนะ แต่ตัดสินใจไม่เดินหน้าต่อแล้วกลับไปอยู่เหมือนเดิมแทน หรือเข้ามาปรึกษาเราช่วงที่เลิกกับแฟนพอดี จึงหนีไปอยู่ที่อื่นและไม่ไปแจ้งความหรือดำเนินคดี ตัวผู้กระทำก็ลอยนวลหรืออาจกลับมาทำร้ายเขาอีกเราก็ไม่รู้
คนที่เข้ามาปรึกษาเราส่วนใหญ่จะถูกกระทำมาสักพักละ บางคนโดนเป็นปีๆ น้อยมากที่โดนครั้งแรกแล้วมาหาเราเลย หรือบางคนเป็นคนรู้จักเรา แล้วเห็นงานที่เราทำใน facebook ก็โทรมาถามว่าเขาเจอแบบนี้มันใช่หรือเปล่า
ถ้าเขาอยู่กับสิ่งๆ นี้มาเป็นปีๆ อะไรเป็นจุดที่ทำให้เขาเกิดอาการ ‘เอ๊ะ’ ว่าสิ่งที่ฉันกำลังเผชิญอยู่มันไม่ปกติ ไม่ถูกต้อง
เราว่าคนส่วนใหญ่เกิดอาการ ‘เอ๊ะ’ เพราะเห็นคนอื่นพูด อย่างเช่นเห็นคนในโซเชียลพูดถึงประเด็นนี้ แต่ถ้าคนที่อยู่ในครอบครัวหรือในสังคมที่มองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ มันจะทำให้เขาไม่กล้าพูดออกมาเพราะกลัวการตีตรากลับมา เลยเลือกที่จะเก็บไว้แทน มีบางคนไปปรึกษาเพื่อนแล้วโดนถามกลับว่า ‘แล้วแกไปทำอะไรเขาล่ะ?’ แทนที่เพื่อนจะตอบมาเลยว่า ‘ไม่ได้นะ เขาไม่ควรมาตีแก’
เคยถามบางคนนะว่าทำไมถึงมาหาเรา เขาตอบว่าที่กล้าเข้ามาเพราะรู้ว่าเราจะไม่ตัดสินเขา มีหลายคนที่บอกว่า ‘รู้ไหมเบสเป็นคนแรกที่เขากล้าเล่าให้ฟังขนาดนี้’ เราก็แบบ ‘อ้าว แล้วเพื่อนล่ะ ครอบครัวล่ะ?’
บางทีนอกจากให้คำปรึกษา เราต้องช่วยเคสหาว่าใครคือ support system (คนที่สามารถช่วยเหลือ ดูแล สนับสนุน) ที่ใกล้ตัวเขาบ้าง เพราะตัวเราอยู่ไกล ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาเราไปช่วยเขาทันทีไม่ได้ กลายเป็นว่าบางคนแทบจะไม่มีเลย เล่าให้เพื่อนฟังก็ไม่เข้าใจ แถมไปโทษไปซ้ำเติมเขาอีก หรือพ่อแม่ก็บอกแต่ว่าอย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ อย่าไปขึ้นโรงขึ้นศาล
ความเห็นหนึ่งที่เรามักจะเจอเวลามีเหตุการณ์แบบนี้ คือ ทำไมไม่เลิก? โดนเขาทำขนาดนี้ทำไมยังทนอยู่อีก
เพราะมีเรื่องความรักมาเกี่ยวข้องด้วย ผู้ถูกกระทำหลายๆ คนเขาจะมีความหวังว่าเดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้น ตัวเขาก็โกรธก็เจ็บเวลาถูกทำร้าย แต่เขาก็จะมีความคิดว่าตัวเขาสามารถเปลี่ยนให้ abuser กลับมาเป็นคนเดิมได้ กลับมาเป็นคนที่เขารัก เกิดเป็นวงจรระดับหนึ่งที่… โอเค เราทำร้ายกัน – กลับมาดีกัน (honeymoon) – สงบ – กลับมาโกรธกันอีก วนอยู่อย่างนี้
อย่างตอนเรื่องของเรา เราก็ไม่ได้เล่าให้ใครฟังเพราะไม่อยากให้คนอื่นมาบอกให้เราเลิกกับเขา ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันผิด เเต่เราก็ลองคุยกับเขาตั้งเงื่อนไขกันว่าถ้าทำแบบนี้อีกจะเลิกเเล้ว เเต่สุดท้ายก็ใจอ่อนอยู่ดี
จุดที่ทำให้เราตัดสินใจเดินออกมา คือ การกระทำของเขามันเริ่มรุนเเรงขึ้น จนเรารู้สึกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรามันหายไป เราล้มไปกองกับพื้นเเต่เขาไม่สงสารเราเลย ตอนนั้นตัดสินใจวิ่งหนีออกมา ไปหาห้องพักรายวันอยู่ ความรู้สึกเราคือเบลอๆ รู้แค่ว่าต้องไปหาพื้นที่ปลอดภัยอยู่ แต่พอมานึกย้อนไปก็งงนะ ทั้งที่สภาพเราตอนนั้นเสื้อผ้าขาดวิ่น เลือดไหลเต็มตัวไปหมด แต่ไม่มีใครพาเราไปแจ้งความเลย
เพราะฉะนั้นก่อนที่เคสจะกล้าออกมา speak up กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ ก็คือการตระหนักว่าเหตุการณ์แบบนี้มันไม่ถูกต้อง ต่อให้คุณนอกใจเขาหรือเขาโกรธคุณ เขาก็ไม่มีสิทธิ์ทำร้ายคุณ
เมื่อเขาตัดสินใจเข้ามาปรึกษาเรา หน้าที่ของเบส ของทนาย หลังจากนั้นคืออะไร?
เบสจะเริ่มตั้งแต่ให้เขาประเมินว่าตัวเองอยู่ขั้นไหนในของ stage of change เพื่อดูว่าใจเขาอยากเดินไปทางไหน จากนั้นอธิบายให้เขาเข้าใจว่าสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่มันคืออะไร อธิบายข้อมูลทางกฎหมายและทางเลือกที่เรามีให้เขาฟัง
พอคุยกันไปสักพักมันก็มีเรื่องจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเวลาเราทำงานกับเคสไปเรื่อยๆ เขาจะมีช่วงที่รู้สึกว่า ‘ไม่ไหวแล้ว เหนื่อยมาก’ ‘วันนี้ไม่มีแรงเลย’ เราก็ต้องช่วยให้กำลังใจเขาด้วย เราจะบอกเคสเสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเจอไม่ใช่ความผิดเขานะ ถ้าอยากเดินต่อก็มีคนพร้อมช่วย หรือถ้าไม่ไหวอยากหยุดก็ไม่เป็นไร เพราะเราเข้าใจระบบกระบวนการยุติธรรมของไทย มันเหนื่อยมาก
อย่างตอนที่เบสยังทำงานที่แม่สอด เราต้องเตรียมตัวเลยนะว่าตำรวจที่เราจะไปเจอเป็นใคร จริงๆ ตามกฎหมายมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของทนายหรือ caseworker (นักสังคมสงเคราะห์) ที่ต้องไปเคลียร์กับตำรวจ แต่เพื่อลดความยากของงาน เราก็ต้องเตรียมไปเลยว่าเราควรไปหาเจ้าหน้าที่คนไหนดีที่จะดึงให้เขามาช่วยเคสเรา หรือตำรวจคนไหนที่พอมีแววจะเข้าอกเข้าใจเคสเราก็ไปดึงให้เขามาช่วย
ถึงแม้เราจะให้ข้อมูลทุกอย่างกับเคส ทุ่มเทเต็มที่ แต่สุดท้ายเคสจะเป็นคนตัดสินใจเอง เราจะให้เวลาเขากลับไปคิดว่าหลังจากฟังข้อมูลแล้วอยากเดินต่อหรือไม่ แต่ในขณะที่เขากำลังคิดก็ต้องให้เขาดูเรื่อง safety plan (การวางแผนความปลอดภัย) ถ้ากลับไปอยู่ที่เดิมยังปลอดภัยไหม หรือระหว่างที่ตัดสินใจสามารถไปอยู่กับใครได้บ้าง
ก็มีบางคนโทรมาคุยกับเราไม่กี่วันก็พร้อมไปศาลเลย หรือบางคนดำเนินกระบวนการไปแล้ว แต่ยอมแพ้กลับไปจุดเริ่มต้นใหม่ก็มี
ถ้าเคสที่มาปรึกษา เขาตัดสินใจเดินต่อ เส้นทางต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร?
ก่อนอื่นเราจะให้เขาดูว่าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ของจังหวัดเขาอยู่ที่ไหน เบอร์ติดต่ออะไร เพราะทุกจังหวัดจะต้องมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ประจำอยู่ มีหน้าที่ตามกฎหมาย คือ จัดการเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้นนะถึงจะเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ ต่อให้เป็นแฟนกันเฉยๆ ก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนกัน
จากนั้นเราจะให้เคสไปโรงพยาบาลตรวจร่างกายและบันทึกข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ทางคดี เท่าที่เรารู้ทุกโรงพยาบาลรัฐจะต้องมีศูนย์พึ่งได้ หรือ OSCC (One Stop Crisis Center) มีหน้าที่ดูแลเคสแบบนี้โดยเฉพาะ ถ้าโรงพยาบาลที่ระบบ OSCC มันฟังก์ชัน โดยปกติเขาจะมีหมอมาเช็คร่างกายเราว่าบาดเจ็บตรงไหนบ้าง ให้ไปคุยกับนักสังคมสงเคราะห์เพื่อเช็คสภาพจิตใจ พอเก็บข้อมูลเสร็จ ถ้าเคสต้องการดำเนินคดีกับผู้กระทำ OSCC ก็จะส่งข้อมูลทั้งหมดประสานงานไปที่ตำรวจในพื้นที่ต่อ ทีมอพม.ก็เข้ามา จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
ทีนี้ปัญหาหลักของกระบวนการยุติธรรมไทย คือ แทนที่จะทำงานแบบ survivor-centered approach ให้ผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลางของการออกแบบการช่วยเหลือ แต่เขาดันไปให้ครอบครัวเฉยเลย ว่า ‘คุณต้องรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้’
แล้วตัวพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 กฎหมายที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็โดนวิจารณ์ตั้งแต่ออกมาใหม่ๆ ว่า ไม่ค่อยมีความชัดเจนในกฎหมาย พยายามใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ทำให้พอหน้างานจริงเจ้าหน้าที่พยายามผลักให้เคสเลือกวิธีไกล่เกลี่ย
แล้ววิธีการไกล่เกลี่ยมันส่งผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน?
เคสเลือกที่จะไกล่เกลี่ยก็ได้ แต่การไกล่เกลี่ยนั้นต้องเป็นสิ่งที่เขาตัดสินใจเอง โดยปราศจากการกดดันจากเจ้าหน้าที่ (manipulate) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานจริง คือ เคสยอมไกล่เกลี่ยเพราะถูกกดดันว่านี้เป็นทางออกเดียวที่เขามี สุดท้ายเคสต้องกลับไปอยู่จุดเดิม บางคนเดินกลับไป (วงจรเดิม) เร็วเกินยังไม่ได้วางแผนความปลอดภัย กลายเป็นเกิดปัญหาซ้ำๆ เคสโดนกระทำซ้ำจนตายไปเลยก็มี เราเห็นเคสแบบนี้บ่อยมาก
เราพยายามหาข้อเท็จจริงนะ ลองไปคุยกับตำรวจว่าทำไมไม่ค่อยเข้าไปดูแลเวลามีเคสแบบนี้ เขาก็บอกว่า ‘ไม่มีงบครับ ค่าน้ำมันรถก็ไม่มี’ ทำให้ส่วนใหญ่เขาเลยเลือกวิธีไกล่เกลี่ย เพื่อรีบปิดเคสให้จบ ก็มีตำรวจบางคนที่อยากทำงานนี้ แต่ด้วยความที่ตัวเขาก็มีงานล้นมือ ทำงานไม่เสร็จก็โดนนายด่า แถมไม่มีงบประมาณในการทำงาน ทุกอย่างเข้าตัวเองหมด
แต่ตัวเราก็ต้องยืนยันสิทธิ์ของเคสว่า คุณมีสิทธิ์ทุกอย่างที่จะไม่ไกล่เกลี่ย ถึงเจ้าหน้าที่จะพยายามให้เคสไกล่เกลี่ย หรือถ้าอยากไกล่เกลี่ยจริงๆ เราอยากให้ไปไกล่เกลี่ยที่ชั้นศาลเพราะจะปลอดภัยที่สุด ถ้าไกล่เกลี่ยกับตำรวจหรือ อพม. ที่เขาก็ไม่ได้มีกระบวนการชัดเจนรัดกุม บางทีไกล่เกลี่ยกันปากเปล่า กลับบ้านแล้วเกิดเหตุขึ้นมาอีกก็คือไม่มีหลักฐานอะไรมารับรอง
ที่บอกว่าหลายคนพอเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายก็ยอมแพ้ไม่ดำเนินการต่อ อยากให้ขยายความเพิ่มเติมว่ามันเป็นเพราะอะไร
ส่วนใหญ่เจอแรงกดดัน ทั้งจากตัวผู้กระทำที่คอยตามเช็คว่าอยู่ที่ไหน ตามขู่ หรือมุมครอบครัว เพื่อนที่ดูจะเป็น support system ของผู้เสียหาย แต่ในความเป็นจริงส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เคสเลือก มีเคสที่ไปอยู่กับเพื่อนแล้วเจอเพื่อนบอกว่า ‘น่าสงสารแกนะ แต่เขาก็เป็นคนดี แกไปทำอะไรเขารึเปล่า?’ คำถามบางอย่างมันก็เป็นคำถามที่ไม่ได้มองจากมุมของเคส แต่มองจากมุมคนทั่วไปที่คิดว่านี่เป็นเรื่องปกติ
หรือมุมสังคม คนแถวบ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน เคยเจอเคสที่เราขอให้คนข้างบ้านช่วยเป็นพยานได้ไหม เขาตอบว่า ‘ไม่ไป ไม่อยากยุ่งเรื่องผัวเมียชาวบ้าน’ เราพยายามทำความเข้าใจกับเขาว่า ‘แค่ให้เคสได้รับการคุ้มครองนะคะ ไม่ได้เหรอ?’ เขาก็ยังยืนยันไม่ช่วย
ถ้าบางคนรู้สึกท้อ คนรอบข้างก็ไม่สนับสนุน สุดท้ายเหนื่อยก็ตัดสินใจยอมแพ้ ย้ายบ้านหนีแทนแล้วกัน เราเคารพการตัดสินใจของเคสเสมอ ถ้าเขาไม่อยากเดินเรื่องต่อไม่เป็นไร แต่เราจะบอกเขาตลอดว่าถ้าอยากกลับมาเรายังแสตนบายอยู่ตรงนี้นะ ขอให้มั่นใจว่าคุณยังใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขก็พอ
พอเป็นแบบนี้ ตั้งแต่มายเซ็ตที่ให้ผู้ถูกกระทำคิดถึงความเป็นครอบครัวให้มาก ความไม่เข้าใจสถานการณ์และอาจตั้งคำถามกลับว่า ‘เธอไปทำอะไรเขาถึงโดนแบบนี้’ ซ้ำด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เน้นการสมานฉันท์ เหล่านี้เลยทำให้ผู้ถูกกระทำทนไม่ไหว ตัดสินใจจบปัญหาด้วยความรุนแรงแทน
ใช่ อย่างที่บอกว่ากระบวนการยุติธรรมไทยพยายามใช้กระบวนการสมานฉันท์ในการจัดการเคสแบบนี้ ซึ่งเราเห็นด้วยกับตัวกระบวนการนะ แต่เห็นด้วยเฉพาะในเคสของผู้ที่มีปัญหายาเสพติดหรือกับเด็ก เพราะเรารู้สึกว่าพวกเขามีโอกาสเข้าโปรแกรมบำบัดเยียวยาแล้วสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้
แต่ถ้าจะเอากระบวนการสมานฉันท์มาใช้กับเคสความรุนแรงในครอบครัว แล้วใช้ไม่ถูกต้องหรือใช้โดยที่เครื่องมือเราไม่ได้พร้อมขนาดนั้น กลายเป็นว่าเราผลักเหยื่อหรือผู้เสียหายให้กลับเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมอีก นอกจากนี้ยังมีเคสที่ผู้เสียหายพยายามแจ้งความแต่โดนจับให้ไกล่เกลี่ย กลับไปอยู่เหมือนเดิมแล้วก็ถูกกระทำซ้ำๆ สุดท้ายเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายสามีกลับ จนถึงขั้นเสียชีวิต ศาลไม่ย้อนไปดูเลยนะว่าคนๆ นี้โดนอะไรมา ทำไมถึงตัดสินใจทำแบบนี้ เขาดูแค่ปัจจุบัน ว่า อ๋อ คนนี้ฆ่าสามี ติดคุก จบ ถ้าคุณบอกว่าต้องการใช้กระบวนการสมานฉันท์จริงๆ ทำไมมันถึงไม่เคยถูกเอามาใช้กับผู้หญิงที่ถูกกระทำ ทำไมผู้หญิงที่ถูกกระทำจนทำร้ายสามีกลับ กลับไม่มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา แต่พอเป็นสามีปุ๊บได้รับการเยียวยาเฉยเลย
แล้วหลักการไกล่เกลี่ยที่ควรเป็นนั้น เป็นอย่างไร
จริงๆ แล้วมาตรการไกล่เกลี่ยตามกระบวนการศูนย์พึ่งได้สมานฉันท์ ยังมีการดีเบตกันมาถึงทุกวันนี้ ที่ต่างประเทศก็มีวิธีการหลายแบบ หลักๆ คือมีผู้ไกล่เกลี่ยเชี่ยวชาญเป็นตัวกลางระหว่างผู้ถูกกระทำกับผู้กระทำ ทั้งนี้ สิ่งที่ GBV specialist (Gender Based Violence Specialist ผู้ที่ทำงานดูแลเรื่องความปลอดภัย การป้องกันและคุ้มครองเคสความรุนแรงบนพื้นฐานเพศและเพศสภาวะ (sexual and gender based violence) ในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่สงคราม พื้นที่ที่มีอุทกภัย พื้นที่ชายแดน) ย้ำเสมอคือ การจะไกล่เกลี่ยนั้นต้องมาจากการตัดสินใจของเคสเอง และต้องให้เขามีเสียงในทุกๆ การตัดสินใจ
เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้เอากฎหมายอาญามากำหนดโทษ ฉะนั้น มันจะมีทางออกหลายโมเดล เช่น ให้ไกล่เกลี่ยแล้วจบ หรือไกล่เกลี่ยเสร็จแล้วให้ผู้กระทำผิดรับทัณฑ์บนต้องเข้าโปรแกรมบำบัดเยียวยา เป็นต้น
ส่วนที่ไทยแต่ก่อนเราจะมีโปรแกรมบำบัดผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว เราพยายามหาข้อมูลนะว่าไอ้โปรแกรมนี้มันสำเร็จแค่ไหน รับฟังเสียงของ survivor แค่ไหน พอไปสำรวจก็ไม่มีข้อมูลที่บอกว่าสำเร็จจริงๆ แล้วส่วนใหญ่คนที่เข้าไปในโปรแกรมพวกนี้ เขาจะแสร้งว่าสำนึกผิด พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อที่จะได้เป็นอิสระออกมา
คือสุดท้ายต่อให้เอากระบวนการสมานฉันท์มาใช้ แต่ถ้าคนใช้เป็นคนที่อยู่ในระบบที่มองว่าผู้ชายโมโหแฟนเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือโทษว่าผู้หญิงทำตัวไม่เหมาะสมผู้ชายถึงต้องแสดงออกแบบนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์
บริบทความเป็นครอบครัวก็จะไม่ได้มีแค่สามี – ภรรยา แต่ยังมีลูกด้วย ถ้าเป็นเคสลูกที่โดนพ่อแม่ทำร้าย เขาสามารถเข้าสู่กระบวนการแบบเดียวกันได้ไหม
ตามกฎหมายไทยลูกไม่สามารถแจ้งความพ่อแม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กถูกกระทำแล้วจะถูกทิ้งไม่สนใจนะ เพราะมันมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 คุ้มครองคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทุกจังหวัดจะมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่ต้องคอยดูแลเคสแบบนี้
ถ้าเป็นเคสที่พ่อแม่เป็นอันตรายต่อลูก เจ้าหน้าที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีหมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เพื่อประชุมว่าจะจัดการเคสนี้ยังไง ไม่ได้ถึงขนาดต้องเอาพ่อแม่เข้าคุกเท่านั้น อาจประเมินว่า ขั้นแรกเด็กควรแยกไปอยู่ที่บ้านพักเด็ก หรือจัดหาที่ๆ ปลอดภัยให้ ถ้าเด็กคนนั้นต้องไปโรงเรียนจะสามารถไปได้ไหม พ่อแม่มีภาวะคุกคามเด็กหรือไม่ ส่วนฝั่งพ่อแม่ก็จะมาดูว่าต้องจัดการอะไร ปัญหาที่ทำให้เขาแสดงออกแบบนี้ ให้ไปคุยกับนักจิตวิทยา ก็มีเคสที่ทำงานจนรู้สึกว่าปลอดภัยแล้วเด็กสามารถกลับไปอยู่กับพ่อแม่เหมือนเดิมได้ หรือถ้าเป็นเคสที่ผู้ถูกกระทำเป็นแม่และเด็ก เจ้าหน้าที่เขาจะแยกเลยว่าดูแลแม่แบบไหน ดูแลลูกแบบไหน
แต่ส่วนใหญ่คนมักจัดลำดับความช่วยเหลือไปที่ผู้เสียหายผู้ใหญ่เป็นหลัก ครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการออกแบบความช่วยเหลือ โดยลืมว่าเด็กก็เป็นผู้เสียหายเหมือนกัน ถ้าสุดท้ายแม่ตัดสินใจกลับไปอยู่กับพ่อเหมือนเดิม โดยที่ลูกไม่ต้องการ มันก็เละ แล้วการที่แม่กลับไปก็เพราะความผูกพันและความรักที่เขามี รวมถึงการเป็นผู้หญิงที่โดนสังคมหล่อหลอมว่า ‘ต้องมีหน้าที่ปกป้องครอบครัวไว้ก่อน’
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเคสที่ถูกทำร้ายร่างกาย มีบาดแผลเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี แต่ถ้าเป็นเคสที่เจอความรุนแรงจากการใช้คำพูด ไม่มีบาดแผลเป็นเครื่องยืนยัน แบบนี้ดำเนินการได้มั้ย
ถ้าตามตัวบทกฏหมายการทำร้ายทางจิตใจก็นับว่าเป็นความรุนเเรงอย่างหนึ่ง เเต่ข้อท้าทายคือเจ้าหน้าที่จะทำงานยังไง เพราะเคสไม่มีบาดแผล ไม่มีสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้เห็น บางเคสเขาจะไปพบจิตเเพทย์เพื่อให้แพทย์รับรองว่าการกระทำนั้นส่งผลกระทบต่อเขาจริงๆ สามารถเป็นหลักฐานทางคดีได้อย่างหนึ่ง
การเลือกเดินเส้นทางที่จะต่อสู้เพื่อออกจากความรุนแรงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพื่อให้กำลังใจคนที่อาจจะอยู่ในช่วงกำลังตัดสินใจว่าฉันควรเลือกไปทางนี้หรือไม่ เราอยากรู้ว่า สุดท้ายปลายทางบนถนนการฟ้องร้อง สิ่งที่รอเคสอยู่คืออะไร?
ขึ้นอยู่กับ end goal (เป้าหมายสุดท้าย) ของเเต่ละคน บางคนอยากให้มีคำพิพากษา มีคำสั่งคุ้มครองจากศาล เพื่อทำให้เขารู้สึกว่า ‘ฉันได้รับการคุ้มครอง’ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นอีกเขาสามารถเรียกร้องสิทธิ์ได้ และตัวผู้กระทำจะไม่กล้ามาทำอะไรเขาอีก หรือบางคนกลัวมากก็อยากให้จบแบบจับผู้กระทำติดคุกไปเลย
ที่เราชอบใช้คำว่า survivor centered approach เพราะเราให้สิทธิ์เคสเป็นคนตัดสินใจเสมอ อะไรที่เขาไหว ทางเลือกไหนที่เขารับได้ เราไม่เคยไปบอกเคสว่าต้องเเจ้งตำรวจๆ เเต่เราจะบอกว่าคุณมีสิทธิอะไร 1-2-3-4
ส่วนการตัดสินของศาลก็จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล ถ้าเป็นเคสผู้กระทำที่ไม่เคยมีประวัติการทำผิดมาก่อน อาจให้รอลงอาญา เพื่อดูพฤติกรรมว่าถ้าเขาทำผิดอีก เขาจะต้องเข้าคุกทันที หรือเคสที่ผู้กระทำเป็นคนที่กระทำผิดบ่อยมาก เคยมีเคสมาก่อนหน้านี้ หรือมีคดีอื่นๆ พ่วงมาด้วย ศาลก็อาจตัดสินให้จำคุก
เราไม่ได้สนับสนุนให้เป็นโทษจำคุกเสมอไปนะ เรารู้สึกว่าในเมื่อกฏหมายมันมีมาตรการบำบัด มีมาตรการให้ดูเเล ส่วนตัวเราคิดว่าควรเอามาตรการพวกนั้นมาใช้ให้มันมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่เเน่ใจว่ามาตรการบำบัดของประเทศไทยมันเข้มเเข็งเเค่ไหน เพราะว่าทรัพยากรอย่างนักจิตวิทยาหรือนักสังคมในจังหวัดหนึ่งมันน้อยมากๆ แต่อย่างน้อยถ้าเป็นเคสที่รอลงอาญา การมีมาตรการบางอย่างให้เขาไปทำ อาจสะท้อนทำให้เขาเห็นปัญหา เเต่อย่างที่บอกเราไม่สามารถคอนเฟิร์มได้เลยว่า ผู้กระทำผิดจะสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ทุกคน
ในฐานะที่คุณทำงานประเด็นนี้มานาน และทำงานกับกระบวนการในไทยด้วย คิดว่าจากที่คุยกันมาทั้งหมด ประเด็นความรุนแรงในครอบครัวไทย มันสะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง
ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า ทุกคนมองความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องส่วนตัว กลายเป็นไม่อยากยุ่งเรื่องชาวบ้านเพราะกลัวลูกหลง ซึ่งพอยิ่งเห็นเรายิ่งอยากเปลี่ยนทัศนคติแบบนี้ เราอยากให้สังคมมองว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติเพราะมันกระทบทุกคน ไม่ใช่แค่เรื่องคนโดนทำร้าย แต่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน
ถ้าสังคมยอมรับเรื่องแบบนี้ แสดงว่าคุณกำลังทอดทิ้งผู้ถูกกระทำ ตัวเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้วมันจะไม่กระทบสังคมได้ยังไง? ยิ่งถ้าเคสที่เป็นเด็กด้วย อย่างเช่นเด็กที่โตมากับครอบครัวที่ชอบใช้ความรุนแรง กลายเป็นว่า ‘โอเค งั้นฉันใช้ความรุนแรงตัดสินบ้างแล้วกัน’ ไปตีกับคนอื่นที่โรงเรียน แล้วคนจะมองแค่ว่าเด็กคนนี้ก้าวร้าวเหลือเกิน แต่ไม่ได้มองว่าเด็กคนนี้โดนอะไรมาถึงก้าวร้าวแบบนี้
เพราะงั้นเวลาเราทำงานไม่ใช่แค่ทำงานกับเคสนะ แต่เราต้องคอยทำงานกับพ่อแม่เคส ทำงานกับคนในสังคมชุมชนเหมือนกัน เช่น ถ้าเข้าไปในชุมชน เราจะเข้าไปทางผู้นำชุมชนหรือผู้นำศาสนา อธิบายให้เขาเข้าใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมันไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของสังคมนะ
เคยได้ยินว่าผู้กระทำก็เคยถูกกระทำมาก่อน เลยกลายเป็นปมที่ทำให้เขาไปทำร้ายคนอื่นต่อ
เราเคยคุยกับคนที่ทำงานให้คำปรึกษาผู้หญิงในสกอตแลนด์ว่า เคยเจอเคสที่ผู้ถูกกระทำกลายมาเป็นผู้กระทำไหม หรือว่าคนที่เข้ากระบวนการบำบัดเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จริงๆ เขาก็ตอบว่างานวิจัยเองก็ยังเห็นไม่ตรงกันในเรื่องที่บอกว่าผู้ถูกกระทำสามารถกลายมาเป็น abuser ได้
ไม่สามารถบอกได้ว่าสาเหตุนี้มีส่วนไหมหรือเป็นเพียงแค่ข้ออ้างของคนที่ใช้ความรุนเเรงเท่านั้น และการเข้ากระบวนการบำบัดนั้น จะเปลี่ยนได้หรือไม่ ต้องอยู่ที่ความตั้งใจของเจ้าตัวจริง ๆ ไม่ใช่ทำเพื่อให้พ้นโทษ
ส่วนตัวเราคิดว่าเรื่อง Victim turned abuser (การเปลี่ยนจากผู้ถูกกระทำไปเป็นผู้กระทำ) มันเป็นทฤษฎีที่ละเอียดอ่อนมาก แต่อย่าลืมว่าเมื่อโตขึ้นทุกคนมีอำนาจและความรับผิดชอบในการตัดสินหรือกระทำอะไรลงไป การเคยเป็นเหยื่อ ไม่ใช่ข้ออ้างในการกระทำต่อ ไม่ใช่สาเหตุการใช้ความรุนแรง
เขายังบอกอีกว่ายิ่งมีทัศนคติแบบนี้ ยิ่งทำให้ผู้กระทำเชื่อมั่นว่าตัวเองไม่ผิด เพราะเขาโดนทำร้ายมาก่อน เขาเลยต้องแสดงออกแบบนี้ แล้วยิ่งอยู่ในสังคมที่บอกว่าผู้ชายต้องแข็งแกร่ง ไม่ควรแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา มันเลยยากที่ผู้ชายจะยอมเปิดประตูทำความเข้าใจบาดแผลตัวเอง
สิ่งที่เราสังเกตได้อย่างหนึ่ง คือ สังคมไทยชอบมองว่าต้นเหตุที่ทำให้คนกระทำผิดเพราะติดเหล้า ติดยาเสพติด ฉะนั้นการเข้าโปรแกรมบำบัดเลยไม่ได้ไปบำบัดเรื่องความรุนเเรง เเต่ไปบำบัดการติดยาติดเหล้าแทน เราไม่รู้ว่าสังคมมองง่ายไปหรือเปล่า ลองนึกภาพว่าถ้าเรากินเหล้าเเล้วเมา เราต้องไปตีกับคนอื่นเหรอ? หรือถ้ากินเหล้ากับเจ้านาย พอเมาจะไปตีเจ้านายไหม? เพราะคนที่ abuser จะทำร้ายมีคนเดียวก็คือคนใกล้ตัวเขา คนที่เขารู้ว่าเขาสามารถทำอะไรก็ได้
เหล้าเป็นเเค่ปัจจัยเสริมเฉยๆ ที่ทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น เวลาเคสบอกเราว่า “พี่เขาคงเมาเเหละเขาเลยทำเรา” เราจะถามกลับเลยนะว่า แล้วถ้าคุณเมาหรือคุณโมโห คุณจะทำร้ายเขาไหม? ถ้าเราโมโหเเฟน สิ่งเเรกที่เราจะทำคือเดินเข้าไปตบเเฟนหรือคุยกับเขา
มันอาจเป็นเหตุผลให้เคสรู้สึกเห็นใจผู้กระทำผิด ทนอยู่กับเขาต่อ
ตอนที่เราเจอ เราก็เห็นใจแฟนเก่านะ เพราะเขาเคยถูกพ่อทำร้ายตอนเด็กๆ พอโตขึ้นเขากลายเป็นผู้ชายที่อะไรนิดอะไรหน่อยก็จะปังๆๆ (ปะทุง่าย) แต่ถึงจะเห็นใจเราก็ไม่สงสารเขานะ เราเข้าใจว่าเขามีการเดินทางในชีวิตเเบบนี้ เเต่ถ้าคุณโตเเล้ว การตัดสินใจทุกอย่างก็คือคุณ You are the man who make a decision for yourself. เเล้วถ้าเรื่องในอดีตมันทำให้คุณเจ็บปวดก็มาแก้กัน ไปบำบัดหรือไปคุยกับจิตแพทย์ก็ได้
แต่ความรู้สึกแบบนี้มันก็ทำให้เราต้องใช้เวลาอยู่พักหนึ่งกว่าจะพาตัวเองออกมาได้ เพราะเราก็เข้าอกเข้าใจเขาในระดับหนึ่ง เราคิดว่าเราสามารถช่วยเขาได้ บางเคสก็จะมีความเห็นใจกับผู้กระทำเยอะเหมือนกัน เเต่เราก็ต้องบอกให้เขาคิดถึงตัวเองบ้าง คือคนเราชอบคิดถึงแต่คนอื่น ใจดีกับคนอื่นมากๆ แต่ลืมนึกถึงตัวเอง
วิธีการคุยของเราคือพยายามให้เคสเอาความเห็นใจที่มีกับ abuser กลับมาที่ตัวเอง คุณเห็นใจเขาได้ เเต่คุณหันกลับมามองตัวเองหรือยัง ก่อนที่เราจะไปรักคนคนหนึ่งที่ก็ไม่ได้รักเราพอที่จะไม่ทำร้ายเรา เรารักตัวเองหรือยัง พูดเเบบนี้ทีไรร้องไห้กันทุกคน เหมือนทุกคนลืมจริงๆ ลืมไปเลยว่าต้องรักตัวเอง
การที่สังคมตีตราว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง มันก็ส่งผลให้ตีกรอบเคสผู้ถูกกระทำว่ามีแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่จริงๆ ก็มีผู้ชายที่เป็นผู้ถูกกระทำเหมือนกัน
เพราะสังคมจะมีการตีกรอบความเป็นชาย (masculinity) ทำให้เขาไม่กล้าเล่า มีเคสที่เป็นผู้ชายเข้ามาปรึกษาเราเหมือนกันแต่เป็นเชิงเล่าให้ฟังเฉยๆ แล้วถามข้อมูล เราก็ดูแลเขาเหมือนเคสอื่นๆ ก็เข้าใจความกังวลของเขา เช่น ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเป็นผู้เสียหายได้ไหม เพราะเขาเป็นผู้ชายแต่ถูกกระทำ เราจะบอกเขาเสมอว่า คุณก็เป็นผู้เสียหายเพราะคุณถูกทำร้าย ใครก็ไม่มีสิทธิ์มาทำอะไรกับเราทั้งนั้น
แต่ถ้าพูดจริงๆ เลยคือไม่ค่อยมีเคสที่ไปต่อ ส่วนใหญ่มาคุยด้วยเฉยๆ หาคนระบาย และสุดท้ายเขาอาจจะเลิกคิดหรือกลับไปใช้ชีวิตของตัวเองต่อ เขาไม่ได้รู้สึกว่าต้องพึ่งพาคำสั่งคุ้มครองทางกฎหมาย เพราะเขามองว่าเขาสามารถดูแลตัวเองได้
เราที่เป็นคนนอกเห็นเลยงานนี้มันยากจริงๆ ในฐานะที่เป็นคนทำงานตรงนี้ คิดว่าเพื่อให้ปัญหานี้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง ควรเริ่มจากอะไร
ยอมรับว่าตอนทำ SHero ใหม่ๆ เรามีช่วงต้องหยุดไปพักหนึ่งเลย เพราะมันเหนื่อยมาก (ลากเสียง) ช่วงทำแรกๆ เราทุ่มมาก พักเที่ยงหรือเลิกงานปุ๊บเราจะไปสถานีตำรวจกับเคสเลย หรือตอนดึกๆ ขับรถไปหาไปช่วยเคส แล้วมันถึงจุดที่สุดท้ายเคสยอมเเพ้ หรือระบบมันติดขัดไปหมด จนเรารู้สึก burn out เหนื่อยล้าไปเลย
ตอนหลังการทำงานของเราเลยถอยออกมาเพื่อดูว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เเล้วค่อยหาทีมทำงาน รวบรวมเคสที่เราเคยทำงานให้เป็นข้อมูลออกมาให้คนอื่นๆ ดูเป็นตัวอย่าง หรือถ้าเป็นไปได้เวลาเราทำงานกับองค์กร จะใช้วิธีประชุมกลุ่ม (case conference) ให้ค่อยๆ เกิดการประสานงาน ช่วยกันทำงาน ทำให้เเน่ใจว่าถ้าเราไม่อยู่ในพื้นที่นั้นเเล้ว ยังมีคนที่ทำงานขับเคลื่อนต่อไป
9 ข้อ ต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อประสบเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว โดย เบส – บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความและผู้ก่อตั้งกลุ่ม SHero 1. การดำเนินคดีไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น แค่เป็นแฟนกันเฉยๆ ก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนกัน 2. แนวทางการทำงานของคุณเบสจะเริ่มด้วยการประเมินสภาวะทางจิตใจของเคสด้วยโมเดล Stage of Change (ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม) ดูว่าเขาต้องการดำเนินการกับเหตุการณ์นี้อย่างไร 3. แนะนำการดำเนินคดีตามกฎหมายว่าแต่ละกรณีสามารถดำเนินการด้วยแนวทางอะไรได้บ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้ที่ตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่และอย่างไร คือตัวของเคสเอง 4. หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว คือ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด 5. แนะนำให้เคสไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเพื่อบันทึกข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางคดี เมื่อไปถึงโรงพยาบาลให้ถามหา ศูนย์พึ่งได้ หรือ OSCC (One Stop Crisis Center) ซึ่งจะรับหน้าที่ดูแลเคสแบบนี้โดยเฉพาะ 6. สิ่งที่อาจเจอระหว่างการดำเนินการ คือ การถูกขอหรือกดดันให้ไกล่เกลี่ย ด้วยหลักการสมานฉันท์ ซึ่ง ยืนยันว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องไกล่เกลี่ยหรือสมานฉันท์ก็ได้ หรือหากจะไกล่เกลี่ยหรือสมานฉันท์ ให้ทำที่หน้าศาล 7. ถ้าตามตัวบทกฏหมาย การทำร้ายทางจิตใจก็นับว่าเป็นความรุนเเรงอย่างหนึ่ง 8. ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำเป็นลูก แม้ตามกฎหมายไทย ลูกไม่สามารถแจ้งความพ่อแม่ได้ แต่ยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 คุ้มครองคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ร้องขอให้อัยการฟ้องได้ โดยทุกจังหวัดจะมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่ต้องคอยดูแลเคสแบบนี้ 9.ในเคสที่พ่อแม่เป็นอันตรายต่อลูก เจ้าหน้าที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมีหมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เพื่อประชุมว่าจะจัดการเคสนี้ยังไง โดยอาจประเมินเรื่องการจัดหาสถานที่ปลอดภัยให้ ประเมินว่าเด็กไปโรงเรียนปได้ไหม พ่อแม่มีภาวะคุกคามเด็กหรือเปล่า อาจมีการจัดนักจิตวิทยาไปคุยกับพ่อแม่ เคสที่ทำงานจนเห็นว่าปลอดภัยแล้วเด็กสามารถกลับไปอยู่กับพ่อแม่เหมือนเดิมได้ หรือถ้าเป็นเคสที่ผู้ถูกกระทำเป็นแม่และเด็ก เจ้าหน้าที่เขาจะแยกเลยว่าดูแลแม่แบบไหน ดูแลลูกแบบไหน |
*Stage of Change (ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของทฤษฎีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Transtheoretical Model) โดย James O. Prochaska ที่บอกไว้ว่า บุคคลจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้เมื่อเขา ‘ต้องการ’ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นๆ หากไม่มีความต้องการเขาก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ไม่ว่าจะได้รับการบำบัดหรือให้ข้อมูลข่าวสารมากมายเพียงใด 1. ขั้นก่อนชั่งใจหรือไม่สนใจปัญหา (Precontemplation) เป็นขั้นที่เขาไม่มีความคิดหรือความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง เพราะคิดว่าพฤติกรรมที่เป็นอยู่ไม่เป็นปัญหา อาจมาจากการไม่ได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ทำให้ไม่รับรู้ถึงผลกระทบของพฤติกรรมนั้น พวกเขามักหลีกเลี่ยงที่จะอ่าน พูดคุย หรือคิดเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของตน 2. ขั้นชั่งใจหรือลังเลใจ (Contemplation) เป็นขั้นที่เริ่มคิดถึงข้อดีของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ตั้งใจอยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีความรู้สึกว่าอาจต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง หรือข้อเสียที่จะเกิดขึ้นถ้าตัวเองปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น เกิดเป็นความลังเลใจ 3. ขั้นเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติ (Preparation) เป็นขั้นเริ่มเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือ ตัวเขาตัดสินใจแล้วว่าจะเปลี่ยนตัวเองแน่นอน ก็จะเตรียมตัวหาข้อมูลศึกษา เช่น ไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญ 4. ขั้นปฏิบัติ (Action) เป็นขั้นลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา หรือเปลี่ยนพฤติกรรม 5. ขั้นคงไว้ซึ่งพฤติกรรมที่ต้องการ (Maintenance) หลังจากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นได้ ตัวเขาจะพยายามไม่กลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิม ต้องมีการคิดวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เขากลับไปกระทำพฤติกรรมเดิม และเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองเวอร์ชั่นใหม่ ที่มา: James O. Prochaska อ้างถึงใน ฉัตรพันธ์ ดุสิตกุล (2561) |