- บทความถอดจากรายการ Podcast ‘ในโลกอนุบาล’ ตอนที่ 2 ครูอุ้ย – อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟและผู้อำนวยการอนุบาลบ้านรัก ชวนรู้จักกับหลัก 3R : Rhythm (จังหวะชีวิต), Repetition (การทำซ้ำ) และ Reverence (ความเคารพนับถือกัน) หัวใจสำคัญของการดูแลเด็กช่วงอนุบาล การสร้างจังหวะชีวิตให้พวกเขา
- “อย่าให้ความรู้สึกของเด็กเกิดความไม่มั่นคงขึ้นว่าเมื่อไหร่จะมาสักที เขาก็อยากจะเล่นแต่ก็ไปไหนไม่ได้ ความไม่มั่นคงในตัวเขามันก็พอกขึ้นกลายเป็นความไม่ไว้ใจ ไม่ไว้ใจนี่ยากมากนะ แต่เขาบอกไม่ได้หรอกว่าอย่าผิดคำพูดกับหนู แต่เขาบอกเราได้ด้วยการร้องไห้ แล้วก็มักจะมีคำพูดจากผู้ใหญ่ “ลูกเป็นอะไร ทำไมร้องไห้อย่างนี้” เด็กก็บอกไม่ได้หรอกค่ะ แต่ให้สำรวจตารางของตัวเองแล้วกันว่าทำอะไรผิดจังหวะกับลูกหรือเปล่า ทำอะไรไม่ซ้ำเดิมกับลูกหรือเปล่า”
The Potential Podcast รายการ ‘ในโลกอนุบาล’ รายการที่จะชวนคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง แม่ครู และครูที่ต้องทำงานกับเด็กวัยอนุบาลทุกคน พูดคุยกันว่า ธรรมชาติของวัยนี้ต้องการอะไรบ้าง
โดยใน 4 เทปแรก เราเชิญ ‘ครูอุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ ผู้อำนวยการอนุบาลบ้านรัก ผู้เป็นแม่ครู และคุณครูของครูอนุบาลของใครอีกหลายท่าน มาคุยกันว่า ในการจัดการศึกษาแนวมนุษยปรัชญา จัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ วัยอนุบาลอย่างไร
โดยในซีรีส์นี้วางแผนไว้ว่าจะพูดถึงหัวใจ 4 เรื่องหลัก นั่นคือ
- ธรรมชาติวัยอนุบาล
- หลัก 3R (Rhythm จังหวะ, Repetition การทำซ้ำ และ Reverence การเคารพ) ในการดูแลเด็กช่วงอนุบาล
- ธาตุของเด็กที่แตกต่าง เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
- 4 senses อุปกรณ์ในการเรียนรู้โลกของวัยอนุบาล
สำหรับเทปที่สอง ซึ่งเรียบเรียงภาษาให้เหมาะแก่การอ่านชิ้นนี้ ว่าด้วยเรื่อง “หลัก 3R ในการดูแลเด็กช่วงอนุบาล” จะเป็นอย่างไร เชิญอ่านกันได้เลย 🙂
รับฟังเป็นเสียง คลิก: ในโลกอนุบาล ว่าด้วยเรื่อง 3R
Rhythm Repetition Reverence หรือที่เรียกว่า 3R เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กในช่วงอนุบาลอย่างไร
ต้องบอกว่า 3R เป็นหัวใจของแม่ครูอนุบาล และถ้าผู้ปกครองได้รู้ว่า 3R มีความหมายยังไงกับการเป็นแม่ครูอนุบาล คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นด้วยและพยายามทำให้เกิดขึ้นในบ้าน เอาง่ายๆ คือว่าเวลาที่เราเลี้ยงเด็ก ลองมองดูว่าหากเราทำอะไรที่มันไม่เป็นเวล่ำเวลา อะไรจะเกิดขึ้น? เด็กก็จะปั่นป่วน แล้วพวกเราเองในฐานะผู้ใหญ่ก็จะป่วนตัวเอง ทำให้ทุกอย่างดูยุ่งเหยิงไปหมด ฉะนั้นการมีรูปแบบที่เราจะต้องรักษาเอาไว้ มันทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น
Rhythm จังหวะ(ชีวิต)
R ตัวแรก Rhythm จังหวะ(ชีวิต)
R ตัวแรก คือ Rhythm หรือ จังหวะ เมื่อชีวิตของเราไม่มีจังหวะ อะไรเกิดขึ้น? ความวุ่นวายก็มาละ แต่เราก็ต้องมองดูว่าจังหวะคืออะไร หลายๆ คนอาจะบอกว่า จังหวะก็คือจังหวะดนตรี จังหวะสนุกสนาน แม่อุ้ยอยากจะให้พวกเราลองตบมือตาม แม่อุ้ยจะท่องกลอนง่ายๆ ที่พวกเราก็จำได้อยู่แล้ว
หนึ่ง สอง สาม สี่ (เริ่มตบมือตามจังหวะ) โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ หมาหางงอกอดคอโยกเยก (ตัวหนา คือคำที่ลงจังหวะตบมือ)
ตอนที่เราตบมือครบรอบครึ่งหนึ่ง (วาดมือเป็นวงกลมแล้วตบให้เห็นตามจังหวะ) พวกเรารู้สึกยังไงคะ?
เราจำจังหวะได้
จำได้ เดี๋ยวลองอีกทีหนึ่งนะ คราวนี้แม่อุ้ยจะตบมือ โดยสลับจังหวะให้หนูตบด้วย เราก็จะท่องกลอนบทเดิม พร้อมนะ (หันมายิ้ม)
โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ หมาหางงอกอดคอโยกเยก (ตัวหนา คือคำที่ลงจังหวะตบมือ)
ในขณะที่เราสลับจังหวะกันตบ จังหวะที่แม่อุ้ยส่งให้หนูเป็นคนตบ หนูรู้สึกยังไงคะ?
ก็ยังคงจังหวะ ตบตามจังหวะเดิมได้อยู่ รู้สึกปลอดภัยว่าเราจะกลับมาลงจังหวะเดิม
ตรงนี้แหละค่ะคือความหมาย ถ้าเด็กของเราถูกเลี้ยงโดยจังหวะเดิม เด็กเขาก็จะรู้ว่าถ้าขึ้นจังหวะนี้แล้วจะต้องลงตรงนี้ เขาก็จะมีความมั่นใจว่ายังไงแม่อุ้ยก็จะรักษาจังหวะ วงรอบมันจะกลับมาที่เดิม เช่น วันหนึ่งบอกไม่ต้องตื่นเช้าก็ได้ลูกวันนี้ตื่นสายได้ วันนี้บอกไม่ต้องกินข้าวเช้าก็ได้ลูก เดี๋ยวเราไปกินข้าวในรถ วันนี้ไม่ต้องอย่างนั้นก็ได้ลูก ไม่ต้องอย่างนี้ก็ได้ลูก มันไม่ต้องเหมือนเมื่อวานก็ได้ลูก เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วยังไงต่อ? ใจของเด็กก็จะ อ้าว… แล้วยังไงล่ะ สับสนแล้ว
ถ้าจะให้ชีวิตมันง่ายขึ้น มันก็ต้องลงจังหวะเดิม ไม่ถูกเหรอคะคุณแม่ ไม่ถูกเหรอคะแม่ครู? นี่แหละค่ะคือจังหวะ Rhythm คือความที่เรารู้สึกมั่นใจว่ามันจะมาซ้ำเดิม ให้ความมั่นใจกับเด็กว่า “เดี๋ยวมันก็ต้องเป็นแบบนี้” ฉะนั้นให้คุณแม่แล้วก็แม่ครูรักษาจังหวะในการเลี้ยงเด็กไว้ให้ดี ตื่นเช้า มาอนุบาล แล้วก็ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเดิม กลับบ้านให้ตรงเวลา แค่นี้ ไม่ต้องบอกว่าเดี๋ยวอย่างนั้นอย่างนี้ ชีวิตไม่ต้องรีบเร่ง ไม่ต้องผิดจังหวะ เราจะพบว่าเด็กของเราง่ายขึ้น อันนี้คือ R แรก
Repetition การทำซ้ำ
ตัวที่สอง Repetition การทำซ้ำ
เวลาที่ตบมือ ถ้าแม่อุ้ยมีบทกลอนใหม่เรื่อยๆ ไม่ซ้ำเดิม พวกเรารู้สึกยังไง? แต่ถ้าทุกอย่าง เราได้ซ้ำๆ เหมือนจังหวะเวลาในแต่ละวัน ตอนเช้าเราทานข้าวเช้า เสร็จแล้วตอนสายเราทานอาหารว่าง แล้วก็อาหารเที่ยง อาหารว่างบ่าย แล้วก็อาหารเย็น และเข้านอน เด็กจะรู้ว่า อ๋อ… มันจะมีจังหวะเวลาแบบนี้ อันนี้แค่ใน 1 วันนะ ทุกอย่างเป็นแบบนี้
แล้วถ้าเป็นฤดูกาลล่ะ หน้าฝน หน้าร้อน หน้าหนาว เด็กเขาจะมอง อ๋อ… พอถึงหน้าฝน ฝนจะตก อีกไม่นานก็จะมีงานที่ชื่อว่างานลอยกระทงเกิดขึ้น งานลอยกระทงเหมือนคราวที่แล้วเลย ต่อจากลอยกระทงก็จะเป็นช่วงหน้าหนาว อาจจะมีงานรื่นเริง งานครอบครัว งานที่คนมารวมกัน เด็กก็จะ อ๋อ… เหมือนคราวที่แล้วเลย
อะไรก็ตามที่มาเป็นลักษณะการซ้ำเดิม แบบเดิม ทำเหมือนเดิม เด็กจะอ๋อ… เป็นแบบนี้นี่เอง อาจจะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ได้ อย่างการเล่านิทาน ถ้าผู้ใหญ่เล่านิทานแบบเดิม ทุกอย่างแบบเดิม เด็กก็จะรู้สึกวางใจไม่สงสัย แต่ถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยนเค้าโครงนิทาน เด็กจะ อ้าว… ทำไมไม่เป็นแบบนี้ล่ะ? อะไรก็ตามที่เรากระทำแล้วไม่ซ้ำ มันจะเกิดความสับสน
พอร้องเพลงไม่ซ้ำก็ปั่นป่วนละ เล่านิทานไม่ลงแบบเดิม เปลี่ยนแปลงนู่นนี่นั่น ตัวละครต่างๆ เด็กจะรู้สึกว่า“อ๊ะ..ไม่ใช่อย่างนั้นหรอ?” อะไรก็ตามที่เราเคยทำเอาไว้แล้วเราเปลี่ยน เด็กก็จะเริ่มสงสัยข้างใน คราวที่แล้วไม่ได้ทำอย่างนี้นะ แต่เขาอาจจะพูดไม่ได้ จะแค่งงๆ ไปไม่เป็นนิดหน่อย ทีนี้ถ้าเรารู้ว่าการทำซ้ำแล้วทำให้เขาขยายภาพในสิ่งที่เขารู้แล้วให้มีรายละเอียดมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดีนะ
แม่อุ้ยชอบพูดคำว่า พอเพียง แม่อุ้ยอยากจะใช้คำว่า “เพียง” ก่อน โห… เด็ก “เพียง” แค่นี้จะเอาอะไรกับน้องมากมาย มา “ชั่ง” ซะก่อน มา “เพียง” ซะก่อน จะได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำกับเด็กมัน “พอ” แค่ไหน ถ้ามากไปแล้วเราใส่ให้เด็กไม่ซ้ำเลย มันไม่ไหวนะ
การซ้ำ การย้ำ ขยายภาพเดิม มันจะช่วยอะไรเด็กคะ
จะทำให้เขามั่นใจ ถ้าเปลี่ยนอะไรบ่อยๆ ก็เหมือนกับว่าเราพยายามทำให้เขาได้อะไรใหม่ๆ แต่ของเดิมยังไม่แน่น เราก็ต้องมา “เพียง” ก่อนไง โถ… เด็กเพียงแค่นี้ อย่างเพิ่งเลยน่า ซ้ำก่อน จะได้ย้ำความมั่นใจและความมั่นคง เพราะฉะนั้นความรู้ที่เราเคยให้ไว้เดิมเราก็ยังต้องคงไว้เดิมสำหรับเด็กตัวแค่นี้ Repetition ก็จะเข้ามาช่วยทำให้แม่ครูยั้งตัวเอง ให้บทเรียนตรงนี้อย่าไปเปลี่ยนเขาบ่อยๆ อาจจะทำให้เขายากลำบากมากขึ้นอะไรที่เราเคยออกแบบไว้เดิม ขอให้คงไว้ก่อน อะไรในชีวิตประจำวันมากมายที่เราจะต้องทำให้มันเกิดการกระทำซ้ำแล้วทำให้เด็กมั่นใจมากขึ้น
ครูอุ้ยยกตัวอย่างได้ไหมคะ การย้ำเดิม เช่นกิจกรรมอะไร
เอาเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันก่อน คืองานบ้าน แม่ครูก็ออกแบบเอาไว้แล้วว่าการจัดโต๊ะอาหารควรจะใช้วิธีนี้ เช่น จัดจานก่อน ช้อนวางข้างนี้ ส้อมวางข้างนี้ แก้วน้ำวางอย่างนี้ แล้วก็ต้องมีผ้ารองจาน จัดโต๊ะกี่คนก็ว่ากันไป ถ้าเราจะใช้ระบบนี้ก็ขอให้ยึดอย่างนี้ทุกวัน จนกว่าเราจะมีเด็กน้อยลง เด็กมากขึ้น หรือมีโจทย์อย่างอื่นเข้ามา แต่ถ้าจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้แต่ให้ทิ้งระยะเวลาอีก ตอนนี้เปลี่ยนแล้วนะลูก ไม่ใช่เปลี่ยนทุกวัน ถ้าเปลี่ยนทุกวันก็แย่เลย สำหรับเราที่เป็นผู้ใหญ่ การไปไหนแล้วรู้สึกว่าเราทำได้ เรามั่นใจ ไปสถานที่เดิม เรารู้สึกสบายมากกว่าที่จะไปไหนแล้วทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด
เวลาที่เราทำจังหวะ ไม่ว่าจะเป็นจังหวะระยะสั้นหรือแบบยาว อะไรก็แล้วแต่ ถ้าลงจังหวะเดิม เรารอจนกระทั่งถึงจังหวะเดิม ปุ๊บ! เดี๋ยวมันก็ต้องมาเป็นแบบนี้แหละ การรอคอยว่า “เดี๋ยวก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ” แล้วมันลงตรงนี้จริงๆ ทำให้เรารู้สึกว่าการรอมีความหมายมาก แต่ถ้า โอ้โห… มันไม่มาที่เดิม จังหวะอันนี้ทำไมมันยาว ทำไมอันนี้มันสั้น เราไม่รู้เลยว่าเราจะถูกโยกย้ายอะไรไปไหนยังไง แม่บอกว่า “เดี๋ยวมานะลูก” ไม่เข้าใจคำว่า “เดี๋ยว” ของแม่หรือ “เดี๋ยว” ของผู้ใหญ่เลย ทำไม “เดี๋ยว” ของแม่นานจัง ฉะนั้นอะไรก็แล้วแต่พอผิดจังหวะแล้ว เราจะพบว่าเด็กของเราไปยาก ไปไม่เป็น
ทำไมเราต้องทำซ้ำ เด็กๆ จะเบื่อการทำซ้ำไหม
ในความเป็นผู้ใหญ่ ตอนแม่อุ้ยเริ่มทำงานในการศึกษาแนวธรรมชาติของเด็กหรือว่าการศึกษาวอลดอร์ฟ แรกๆ ก็นึกอยู่เหมือนกันว่าเด็กเขาไม่เบื่อหรอ ถ้าจะต้องฟังนิทานซ้ำๆ อยู่ทุกๆ วัน เราควรจะให้นิทานเพิ่มเนื้อเรื่องแล้วก็ทำอะไรหน่อย ให้มันขยายความสนุก หรือว่ามีเหตุผลแอบแฝงบางอย่าง อย่างเช่นเวลาเล่าเรื่องนี้แล้วเราก็แอบใส่อะไรสักนิดหน่อยเพื่อเป็นการสอน เด็กน่าจะได้อะไรมากกว่า
พอทำไปนานๆ แล้วถึงได้เข้าใจว่า อ้อ… ครูบาอาจารย์ของการศึกษาแนววอลดอร์ฟบอกว่าเด็กในวัยนี้เขาเรียนรู้ในรูปแบบของการกระทำซ้ำนะ เราจะเข้าใจไม่ได้เลยถ้าเราไม่ได้มองเห็นเด็กจริงๆ ว่าเด็กเขาต้องการการย้ำทวนอันนี้จริงๆ
เพราะฉะนั้นมองเข้าไปว่า ถ้าเราไม่ย้ำกับเรื่องนี้จะมีผลอะไรกับเขาหรือเปล่า เคยมีนิทานบางเรื่องที่ครูไม่ได้เล่าซ้ำเดิม อาจจะเป็นเพราะว่าครูจำไม่ได้ หรือเพราะว่าครูอยากจะเพิ่มอะไรเพิ่มเติม เหมือนที่แม่อุ้ยก็เคยกระทำมาแล้ว เด็กเขาก็จะสงสัยมากเลย เขาก็จะมองแบบนี้ (ทำสีหน้าสงสัย) แล้วจะถามว่ามันไม่ใช่แบบนั้นหรอ ไม่ใช่แบบที่เขาเคยได้ยินเมื่อวานหรอ เราก็ชะงักนิดหนึ่ง แล้วจะมีอีกคนปั่นป่วนขึ้นมาเลยว่า “จริงด้วยๆ เมื่อวานเราได้ยินแบบนี้นะ เมื่อวานเป็นแบบนี้ต่างหาก” เขาหลุดออกไปจากสิ่งที่เรากำลังให้บทเรียนตรงนั้นไปเลย
แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ คือครูเปลี่ยนแปลงบทเรียน หรือเปลี่ยนอะไรโดยที่ไม่คำนึงถึงเด็กที่ต้องการการกระทำซ้ำ เด็กก็จะไม่มั่นคง ภาพในใจหรือจินตนาการเวลาฟังนิทานของครู ภาพในใจเหล่านั้นมันจะต้องเปลี่ยนแปลง ภาพในใจที่เขามีอยู่มันต้องเปลี่ยนใหม่ แล้วเขาจะชะงัก แล้วก็ต้องสร้างภาพในใจใหม่ แต่เขาบอกเราไม่ได้ แต่เราจะเห็นในแววตาเขาเกิดความสงสัย แล้วแป๊บนึงเขาก็ต้องตามเรา ถ้าแม่ครูทำแบบนี้บ่อยๆ ก็ไม่เกิดผลดีแก่เด็ก
เราอย่าลืมว่าเด็กวัยนี้เขาหล่อหลอมด้วยจินตนาการ จินตนาการของเขาเป็นภาพในใจ แล้วมันก็จะซ้ำๆ แต่ถ้าเราไปเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ภาพในใจที่เขาเคยสร้างก็จะมีร่องรอย เราอาจจะบอกว่าทำให้เขาเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น แต่ยังไม่ใช่วัยนี้ วัยนี้เขาต้องการการทำซ้ำ
การเห่กล่อมก็เหมือนกัน เรายังมีจังหวะที่โยกไปมา เมื่อเด็กได้จังหวะที่โยกไปมาซ้ำๆ เขาจะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายและหลับสบาย แต่ถ้าเขาไม่ได้จังหวะนี้อะไรจะเกิดขึ้น เขาจะเกิดความไม่มั่นคง และจิตใจข้างในของเขาจะได้รับความอบอุ่นไหม ซึ่งเราให้ความอบอุ่น ให้ความมั่นคงกับเขาไปเต็มที่ก่อน จนกว่าฟันน้ำนมโยก ฟันแท้ขึ้น พลังของความอบอุ่น พลังของความมั่นคง มันจะอยู่ในเนื้อตัวของเด็ก เราให้เขาก่อนไม่ได้หรอ
สิ่งที่เราให้เขา อย่าเปลี่ยนแปลงบ่อย เช่น ถ้าเล่านิทาน ในวัยของเด็กเล็ก สังเกตดูนะ เด็กเขาจะร้องขอนิทานซ้ำๆ “ขออันนี้ได้ไหมแม่ อยากฟังเรื่องนี้อีก” แม่ก็จะ “โอ๊ย… ไม่เบื่อหรอลูก” คนที่เล่านี่อาจจะรู้สึกว่าลูกเราทำไมร้องเรียกแต่เดิมๆ หรือว่าลูกเราจะไม่พัฒนาหรือเปล่า แต่เด็กเขาต้องการขยายภาพในใจ การย้ำ การใช้ภาพเดิม ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกพึงพอใจ อบอุ่นใจ เราเอาความอบอุ่นใจมาก่อน อย่าพึ่งใส่ข้อมูล แต่เรามักจะคิดแง่มุมของผู้ใหญ่ไงว่า เราใส่ข้อมูลแต่ความอบอุ่นใจไม่เป็นไรฉันให้ลูกได้อยู่แล้ว แต่กับเด็กนี่กลับกัน ขอความอบอุ่นใจก่อน หนูไม่ได้อยากได้อะไรที่เปลี่ยนแปลงหรอกแม่ แต่เขาบอกไม่ได้ไง หนูอยากจะได้เดิมๆ
เรื่องเล่นก็เหมือนเดิม ต้องลองมองดูนะว่าเด็กเขาจะเล่นแบบเดิมไประยะใหญ่ๆ เช่น เด็กคนหนึ่งในอนุบาลของเราที่เพิ่งไปเที่ยวไปทำบุญที่ต่างจังหวัดมา พอมาถึงอนุบาลปั๊บ สิ่งที่เขาเล่นก็คือเขาไปหาผ้าสีเหลืองมาพัน แล้วก็ให้เพื่อนใส่บาตร (หัวเราะ) แล้วจะเล่นเรื่องนี้ซ้ำๆ ระยะใหญ่ๆ แล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะถ้าเขาจะเปลี่ยน เขาจะเปลี่ยนตามความสนใจเขาเอง ก็ไม่เป็นไร บางคนเล่นรถ ขับอยู่นั่นแหละ ขับทุกวัน เขาก็จะเล่นจนถ้าเขาสนใจเรื่องใหม่ เขาก็จะเปลี่ยนเอง ฉะนั้นผู้ใหญ่ไม่ต้องไปบอกว่า โอ๊ย… เล่นเรื่องเดิมอีกแล้ว ไม่ต้อง ก็เงียบๆ เฉยๆ มองว่าตอนนี้เด็กกำลังทำอะไรอยู่ ขอให้เรื่องของการทำซ้ำเป็นเรื่องที่เขาจะย้ำทวนภาพในใจให้ชัดเจนขึ้น
R ที่ 3 Reverence ความเคารพนับถือกัน
R ที่ 3 Reverence ความเคารพนับถือ
R ตัวสุดท้ายจะเป็น R ที่ต้องบอกได้ว่ามีความสุขมาก คือ Reverence การให้ความเคารพ ให้ความนับถือ เกรงใจกับเด็ก ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ชีวิตในบ้านหลังหนึ่งจะมีสันติสุข เช่น การอยู่บ้านโดยมีผู้ใหญ่ในบ้าน เวลาเด็กตัวน้อยๆ มาถึง เขาจะให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่ในบ้านก่อน เช่น “กลับมาบ้านแล้วไปสวัสดีคุณปู่ก่อนนะคะ” นี่คือการให้ความเคารพนับถือ ความเกรงใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ สบายเลย บ้านนี้จะกลายเป็นบ้านที่มีความสุข มีสันติสุข เพราะว่าเรามีใจให้กัน
ในอนุบาลก็เหมือนกัน พี่ดูแลน้อง น้องก็ทำตามอย่างพี่ พี่รินน้ำให้น้อง น้องดื่มน้ำและขอบคุณพี่ พี่รู้สึกว่าพี่ภูมิใจ พี่รินน้ำให้น้องทุกคนในโต๊ะก็รู้สึกภูมิใจ น้องเองก็ขอบคุณ น้องให้ความเคารพพี่ พอเลื่อนชั้นอีก หนึ่งปี น้องก็ทำได้แบบพี่ เขามองเห็นพี่ทำยังไงเขาก็ทำตามแบบเหมือนพี่เขาทุกอย่าง พี่เองก็ให้การดูแลน้อง ฉะนั้นถ้าเรามีสังคมให้กันดูแลกัน ให้ความเกรงใจกัน
R นี้หมายถึง เราต้องเคารพในตัวเด็กน้อยด้วยใช่ไหมคะ
ใช่ R ที่ 3 (Reverence) นี้สำคัญมากเลย เพราะเป็น R แห่งความสุข เมื่อเราให้ความเคารพซึ่งกันและกันแล้ว เราต้องมองเข้าไปในตัวเด็กว่า เด็กเองพวกเขาก็เพิ่งลงมาจากเบื้องบนไม่นานมานี้เอง ก่อนหน้านี้พวกเขายังคงเป็นจิตวิญญาณ เรียกสั้นๆ ว่าเป็นดาวบนฟ้าแล้วกันนะ พวกเขาลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ มองเห็นโลกมนุษย์สดชื่น สวยงาม มีแต่สิ่งที่งดงามอยากทำให้โลกใบนี้มีความสุขมากขึ้น เรามองเขามาจากที่สูง มาจากเบื้องบน แล้วลงมาช่วยโลกมนุษย์ให้โลกมนุษย์มีความสุขมากขึ้น เห็นภาพนี้แล้วเราจะเห็นเด็กค่อยๆ ลงมาเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ มาเป็นลูกศิษย์ของครู เห็นภาพที่เขามาจากข้างบนแล้วเรารู้สึกยังไงคะ เรารู้สึกยินดีกับเขา เราเคารพในจิตวิญญาณที่เขาลงมาเกิดในโลก แล้วมาทำงานร่วมกับพวกเรา แล้ววันหนึ่งเขาโชคดีที่เรามาเจอกัน ได้มาเป็นครูเป็นลูกศิษย์กัน ถ้ามองอย่างนี้แล้ว พอถึงวันเกิดของหนู เดี๋ยวแม่ครูจะจัดวันเกิดให้นะคะ
(ครูอุ้ยท่องกลอนวันเกิด) ตัวเจ้าเป็นดาวบนฟ้า อยู่บนฟากฟ้าในยามค่ำคืน มองเห็นโลกใบกลมสดชื่น ต้นไม้ร่มรื่น ผู้คนมากมี จึงอยากมาช่วยสร้างโลก ให้หมดทุกข์คลายโศกมีสุขเต็มที่ มองดูพ่อแม่คู่นี้ รักกันนานปีอยากมีลูกผูกใจ จึงชวนหมู่ดาวหลายดวง เรียงร้อยเป็นพวงรถเลื่อนแล่นไป รู้ทอดสะพานรักให้ เจ้าจงลงไปรออยู่ในครรภ์ หูย… มิตรภาพสวยงามนะ พ่อแม่ต่างเฝ้ารอคอย เฝ้าคอยลูกน้อย เฝ้าคอยใจมั่น ลูกน้อยเติบโตในครรภ์ พ่อแม่นับวันรอเจ้าเกิดมา วันนี้เป็นวันเกิดเจ้า ในครอบครัวเราตื่นเต้นนักหนา ปากนิดจมูกน้อยหน้าตา เจ้าแบ่งเอามาจากพ่อแม่เท่ากัน เติบโต เจ้าจงมั่นใจเป็นคนดีให้ได้อย่างเจ้าตั้งมั่น จงรักและจงแบ่งปัน นำความสุขสันต์ให้โลกเราเอย
นี่เป็นบทกลอนสั้นๆ ที่แม่ครูอาจจะจัดให้เด็กๆ ของเขาทุกคน เอ่ยถึงการเกิดที่มาจากสิ่งที่สวยงาม แล้วมาเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ แล้วมาสร้างสรรค์โลกนี้ให้สวยสดงดงาม
พอเรามองถึงภาพนี้ เคารพในจิตวิญญาณของเด็กหนึ่งดวง รู้สึกดีกับจิตวิญญาณดวงนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเด็กคนนี้จะยากลำบากอะไรก็แล้วแต่ในชั้นเรียน กินยาก นอนยาก กรี๊ดมาก อะไรก็แล้วแต่ เรากลับไปที่เดิมว่าเขาก็เป็นดาวบนฟ้ามานั่นแหละ เขาลงมาเพื่อที่จะทำให้โลกนี้งดงาม ไม่ว่าอุปสรรคอะไรเราจะช่วยเขาก้าวข้ามผ่านอุปสรรคนั้นๆ
ใน R ที่ 3 แม่ครูต้องพยายามย้อนกลับไปคิดว่า เขาก็เพิ่งมานะ เขาเป็นดาวบนฟ้าจะมาทำให้โลกนี้งดงามตามความตั้งใจของเขา มันแค่นอนยาก งั้นเดี๋ยวเราช่วยกัน วันนี้แค่กินยาก งั้นเดี๋ยวเราช่วยกัน วันนี้อะไรก็ยากไปหมด งั้นเดี๋ยวเราช่วยกัน อะไรคืออุปสรรคที่เขาต้องเผชิญบ้าง ณ ตอนนี้ เราลองมองหลายๆ มุมซิ ปัญหาอยู่ที่ไหน เรามาช่วยกัน เพราะว่าเด็กทุกคนตั้งใจลงมาเป็นคนดี ที่จะทำ ให้โลกนี้สวยสดงดงาม
R ตัวนี้ก็เหมือนเป็น R ที่เตือนสติเราไว้ให้เคารพจิตวิญญาณของเด็ก?
ใช่เลย เราจะพยายามจนได้ที่จะช่วยเด็กคนนี้ให้ได้ แล้วถ้าทำงานร่วมกับพ่อแม่ แล้วพ่อแม่รู้ว่าคุณครูก็พยายามช่วยอยู่นะ อุปสรรคใดๆ ก็จะฝ่าฟันกันไป ให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคของเขาไปให้ได้ เราไม่รู้ว่าคืออะไร
เราอยากเลี้ยงเด็กในบรรยากาศแบบไหนล่ะ หนึ่ง- Rhythm ก็คือมีจังหวะ สอง – Repetition ก็คือมีการกระทำซ้ำ ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกย้ำและมั่นคง สาม – Reverence การมีความเคารพนับถือกัน เรามองดูว่าเด็กตัวเล็กๆ เราไม่ต้องให้ความนับถือเขาหรอ แต่ถ้าเรามองเข้าไป เขาเป็นดวงวิญญาณที่มาจากเบื้องบน ฉะนั้นการนับถือในความรู้สึกของเรา อย่างแรกเลยก็คือว่า หนูมาจากที่สูง เบื้องบน หนูลงมาเกิดบนแผ่นดินโลก เพราะฉะนั้นหนูมาถูกต้องแล้ว แผ่นดินโลกมีความน่าอยู่ มีความดี อะไรก็แล้วแต่ที่มันจะเป็นอุปสรรคกับหนู เดี๋ยวเราจะมาช่วยกัน
แล้วถ้าเราผิดไปหมด ไม่ได้เป็นไปตาม 3R ไม่ได้เป็นจังหวะ ไม่ได้ทำซ้ำ มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนหนึ่งคะ
เกิดความปั่นป่วน ทั้งเด็กแล้วผู้เลี้ยงเด็ก มันจะวุ่นวายไปหมดเลย เอาง่ายๆ นะ คือเราจะจับจังหวะไม่ถูกว่าเราจะเอายังไง เพราะฉะนั้น สู้ใส่ระบบระเบียบให้เป็นจังหวะไว้ก่อน แล้วพบว่าทั้งเด็กทั้งเราก็ง่ายขึ้น นอกจากบทบาทสำคัญของผู้ใหญ่ที่ต้องมี 3R แล้ว จริงๆ ในชีวิตของเราแต่ละคน
หากทุกอย่างผิดจังหวะไปหมด ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดในชีวิตของเด็ก ทุกอย่างมีความรู้สึกว่าไม่มีใจให้กันเลย สับสนไปอีก เราไม่ได้คำนึงถึง 3R นี้เลย ไม่ได้คำนึงถึงจังหวะ Rhythm ไม่ได้คำนึงถึง Repetition การทำซ้ำ ไม่ได้คำนึงถึง Reverence คือความนับถือเกรงใจ เราไม่มีเรื่องเหล่านี้เลย นอกจากจะปั่นป่วนแล้ว มันยังทำให้สุขภาพ สุขภาวะของเราไม่ดีไปด้วย เหมือนลมหายใจของเรา หายใจเข้าเรารู้สึกสดชื่น รู้สึกได้เติมเต็ม ลมหายใจออกเราได้ผ่อนคลาย แค่จังหวะที่สัมพันธ์กับลมหายใจ มีทั้งเข้าและมีทั้งออก เรายังบอกได้เลยว่าจังหวะเหล่านี้จะทำให้เรามีสุขภาพดี
ครูอุ้ยเคยเล่าว่า บางช่วงเด็กอาจจะมีกรี๊ด ทะเลาะกับพ่อแม่บ้าง ท้าทายต้องการเอาชนะพ่อแม่ พฤติกรรมแบบนี้เชื่อมโยงกับ 3R ไหมคะ
เวลาครูเห็นอาการแบบนี้นะ อย่างหนึ่งที่เป็นสมมติฐานแรก ต้องไปดูว่าจังหวะชีวิตของบ้านนั้นหรือเด็กคนนั้นเขาได้รับมายังไง นอนพอไหม นอนเวลาไหน ตอนเช้าถ่ายไหม กินหรือยัง จับได้เลยว่าร่างกายของเขามันไม่เข้าที่ บอกไม่ได้เลยว่าเขาอยู่ในอารมณ์ไหน เขาหงุดหงิด เขาอารมณ์ไม่คงที่ไปหมดเลย กลับไปดูจังหวะของแต่ละบ้านจะพบว่า จังหวะของแต่ละบ้านไม่เข้าที่จริงๆ แล้วทำให้เด็กเป็นแบบนั้น พอเรามาคุยกับคุณพ่อคุณแม่ว่าเรามาคุยเรื่องจังหวะชีวิตสักนิดกันดีไหม? คุณพ่อคุณแม่อยากเล่าเรื่องอะไร เล่าให้ครูฟังได้เลยนะ มักจะพบว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการผิดเวลา แล้วเป็นการผิดเวลาที่เด็กเอาความแน่นอนไม่ได้ แล้วอารมณ์ก็จะปั่นป่วนมา พอมาถึงที่อนุบาลก็มักจะแสดงให้เห็นสักนิดหนึ่ง ตอนจากกันก็จะแสดงมากหน่อย พอหลังจากจากกันไปแล้วก็สะอึกสะอื้นนิดหน่อย แล้วก็เข้าที่
เพราะจังหวะของอนุบาลของเราจะเป็นจังหวะอยู่แล้ว เด็กก็จะมั่นใจ เราลงจังหวะเดิม เขาก็จะรู้แล้วว่าเมื่อแม่ครูรับเด็กเข้าอนุบาล ทุกอย่างก็จะลงแบบนี้ ถ้ามาสายเดี๋ยวก็จะได้ทานอาหารว่างช่วงเช้า เดี๋ยวก็จะได้เล่น เดี๋ยวจะได้ทำกิจกรรมนี้ เดี๋ยวก็จะได้ออกไปข้างนอก เด็กก็จะรู้จังหวะ แต่ถ้าที่บ้านไม่ได้ทำอย่างนี้ เขาต้องแสดงให้เห็นนิดหน่อยว่าเขาเกิดอารมณ์ยังไง แต่เขาอาจจะบอกความต้องการไม่ได้ว่าอย่าทำอย่างนี้กับหนูนะ หนูรู้สึกไม่สบายใจ แต่ว่าถ้าแม่ครูจับอาการได้ ก็ไปให้ความเห็นกับคุณพ่อคุณแม่นิดหนึ่งว่าเกิดอะไรขึ้นคะ
เช่น เด็กที่อนุบาลคนหนึ่ง ช่วงนั้นมีญาติมาที่บ้านแล้วปรากฏว่าตื่นเต้น รู้สึกว่าทำไมเขาไม่ได้กลับไปกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ทำไมเขาต้องมาที่อนุบาล ทำไมน้องได้กลับบ้านแต่เขาไม่ได้กลับไปด้วย เด็กเกิดความสงสัย พบว่า อ๋อ… จังหวะชีวิต ณ ตอนนี้มีแขก มันไม่ปกติ ถ้าปกติก็คือไม่มีแขก ครูก็ยอมรับได้ว่าช่วงนี้ปู่ย่ามาเยี่ยม เพราะฉะนั้นก็อาจจะเกิดอาการปรี๊ดๆ หน่อยตอนจากกัน แต่ว่าไม่ได้เป็นอะไร เดี๋ยวก็คุยกันได้ว่า “ไม่เป็นไรนะ อยู่กับแม่ครูไปก่อน เย็นนี้เดี๋ยวคุณปู่คุณย่ามารับไม่ใช่เหรอ?” ก็ว่ากันไป
ครูแค่ให้ความสำคัญว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตประจำวันเขา จังหวะชีวิตมันผิดไปนิดหนึ่งตรงที่ว่าเมื่อก่อนไม่เคยมีแขกมา แต่ช่วงนี้มีแขกมา เท่านั้นเองเรื่องก็จบละ
แปลว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมา พ่อแม่ “เอ๊ะ” ได้ว่าเมื่อเริ่มกรี๊ด แสดงว่าอาจมีการผิดจังหวะอะไรบางอย่าง
บางทีคุณพ่อคุณแม่ก็เอ๊ะไม่ได้นะ (หัวเราะ) บางทีก็ต้องถามคนอื่นบ้าง “มันเกิดอะไรขึ้นเหรอคุณครู ทำไมผมมาส่งกรี๊ดจังเลย ช่วงนี้เป็นอะไร” ก็บอก “ก็คุณแม่อุ้มน้องมาด้วยไง ก่อนหน้านี้คุณแม่ไม่ได้อุ้มน้องมาด้วยใช่ไหม ตอนนี้อุ้มน้องมาด้วย เขาเลยอยากอยู่กับคุณแม่นานๆ อีกนิดนึง” บางทีคุณครูก็ต้องเอะใจบ้าง ก็คุยกัน แต่ต้องย้อนกลับไปที่จังหวะแหละค่ะ เอ๊ะ… อะไรในชีวิตประจำวันที่มันไม่เหมือนเดิมนะ เห็นไหมคะว่าอะไรที่ไม่เหมือนเดิมทำให้เด็กเกิดอะไรขึ้น ข้างในเขาก็เกิดความไม่มั่นคง แต่ถ้าเหมือนเดิมเขาก็รู้สึกสบายใจ แต่ว่าถ้ามันเปลี่ยนแปลงแล้วเราเข้าใจได้ เราก็กลับไปทำอะไรให้จังหวะชีวิตมันเหมือนเดิมสักนิด หรือว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ก็ให้เวลาเขาหน่อยว่า “ตอนนี้มันเปลี่ยนแล้วลูก มันเปลี่ยนไปแล้ว ยังไงซะแม่ก็ต้องกระเตงน้องมาส่งหนู แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ทุกวัน” ก็บอกเขา เขาก็ยอมรับได้ อะ… ต้องจากกันแล้วนะ บ๊ายบาย แม่จะไปเลี้ยงน้องนะ จะสะอึกสะอื้นสักแป๊บนึง ก็ทำอย่างนี้ทุกวันๆ เดี๋ยวเขาก็เข้าที่เอง
เด็กที่เขาได้รับการเลี้ยงดูแบบเป็นจังหวะ มีการทำซ้ำ ได้รับการเคารพนับถือ จะส่งผลยังไงในตอนที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่ มันจะไปถึงตรงนั้นไหม
มันจะเกิดความเคยชิน เป็นความทรงจำที่ดี ถ้าพูดง่ายๆ คือเราอยู่ในบรรยากาศที่ดีมาก่อน อยู่ในบรรยากาศที่ไม่สับสน แล้วพอเราโตขึ้นบรรยากาศแบบนี้มันจะหล่อเลี้ยงเรา เมื่อโตขึ้นไปความเคยชินตรงนี้เราอาจจะทำให้คนอื่น แล้วก็อาจจะไม่ชอบคนที่ไม่ตรงต่อเวลา หรือไม่ตรงต่อเวลาเราก็พยายามแก้ไขว่าการตรงต่อเวลาเป็นเรื่องดีนะ ทำอะไรที่ให้ความสำคัญ ทำซ้ำสักนิดเป็นเรื่องดี แต่ว่าเด็กไม่สามารถที่จะบอกได้เป็นทฤษฎีอะไรแบบนี้หรอกค่ะ แต่การสร้างความเคยชินที่ดีมาก่อนจะช่วยได้ในระบบระเบียบชีวิตในภายภาคหน้า
เมื่อเป็นแบบนี้เขาก็จะอยากจัดระเบียบ
เพราะเขาเคยชินในสิ่งที่มันเรียบง่ายแบบนั้น แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยจะสบาย ถ้าทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าเขาเป็นคนแข็งแรงจริงๆ เขาก็จะสามารถปรับเปลี่ยนไอที่สับสนวุ่นวายให้เป็นเรื่องที่ไม่สับสนวุ่นวายได้ เพราะว่าเขาเคยรับสิ่งที่ดีมาก่อนไง มันก็เป็นความเคยชินที่ดี
ถามแทนคุณพ่อคุณแม่ พ่อแม่ทำมาหากิน ทำงานในเมืองจะแงะลูกจากเตียงรีบออกไปส่งอนุบาลตั้งแต่เช้า ต้องกินอาหารในรถ หลายอย่างเราไม่สามารถทำจังหวะชีวิตให้ปกติได้ เราจะทำยังไงดี
อันแรกคือเราต้องให้ความสำคัญก่อนว่า เรื่องนี้ (จังหวะชีวิต) เป็นเรื่องดีสำหรับการเลี้ยงดูเด็ก แล้วถ้าเกิดไม่ให้สิ่งเหล่านี้กับเด็กมันจะมีเรื่องไม่ดีอะไรเกิดขึ้นตามมา ฉะนั้นเราก็ระวัง เช่น รู้ว่ารถติดแน่เลย เราก็ต้องทำอะไรให้มันเสร็จเช้าหน่อย ถ้าทำอะไรไม่ได้จริงๆ เช่น อาหารเช้าทานไม่ได้ที่บ้านจริงๆ ก็คงต้องฝากกล่องข้าวมาให้คุณครูทราบว่า ลูกไม่ได้ทานอาหารเช้าทุกวันที่บ้าน เพราะบ้านไกล ฉะนั้นถ้าเขาไม่ได้ทานในรถ ก็ขอฝากให้ครูช่วยให้เขาทานด้วยตอนเช้า ถ้ามีการเตรียมตัวที่ดี แล้วทุกอย่างไม่ผิดจังหวะเวลามาก เพราะลูกจะรู้ว่าเดี๋ยวก็จะต้องหิ้วกล่องข้าวนี้ไปทานที่อนุบาล ซึ่งที่อนุบาลของเรา จะมีเด็กที่หอบหิ้วเอากล่องข้าวเช้ามาทานกันหลายคน แล้วมันจะมีก๊วนอาหารเช้า รวมทั้งแม่ครูด้วย (หัวเราะ) ก็จะมาทานด้วยกัน
ทีนี้ตอนกลับเหมือนกัน อย่าผิดเวลากับลูกมาก ให้มองดูว่าเวลาที่อนุบาลแต่ละที่เขาหมดเวลากี่โมง ถ้าเขาหมดที่บ่ายสอง คุณแม่ก็ไม่ควรจะเกินเวลาจากบ่ายสองมากเกินไป ถ้าเขาเลิกช้ากว่านั้น คุณแม่ก็ควรจะตรงเวลา ถ้าเพื่อนกลับไปก่อนแล้ว จะมีการชะเง้อแล้วว่าเมื่อไหร่บ้านเราจะมารับสักที หรือถ้าเป็นอะไรที่ต้องช้าจริงๆ แอบบอกคุณครูไว้ว่าวันนี้คงจะช้าแน่เลย ให้เขารู้ตัวไว้ก่อนว่าช้าแน่ เดี๋ยวคุณครูก็หาอะไรให้ทำ ถ้าผิดเวลาแล้วเราจะช่วยกัน
เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราควบคุมไม่ได้เรื่อง 3R ต้องมีตัวช่วย ก็ต้องบอกกันไว้ก่อน อย่าให้ความรู้สึกของเด็กเกิดความไม่มั่นคงขึ้นว่าเมื่อไหร่จะมาสักที เขาก็อยากจะเล่นแต่ก็ไปไหนไม่ได้ ความไม่มั่นคงในตัวเขามันก็พอกขึ้นกลายเป็นความไม่ไว้ใจ ไม่ไว้ใจนี่ยากมากนะ แต่เขาบอกไม่ได้หรอกว่าอย่าผิดคำพูดกับหนู แต่เขาบอกเราได้ด้วยการร้องไห้ แล้วก็มักจะมีคำพูดจากผู้ใหญ่ “ลูกเป็นอะไร ทำไมร้องไห้อย่างนี้” เด็กก็บอกไม่ได้หรอกค่ะ แต่ให้สำรวจตารางของตัวเองแล้วกันว่าทำอะไรผิดจังหวะกับลูกหรือเปล่า ทำอะไรไม่ซ้ำเดิมกับลูกหรือเปล่า
แม่อุ้ยอยากให้พวกเราให้ความสำคัญกับ R ที่ 3 คือ R ที่บอกว่าเราต้องให้ความเคารพนับถือ มองดูเด็กเถอะค่ะว่า เด็กทุกคนรวมทั้งตัวเราด้วย เราก็มาจากจิตวิญญาณที่มาจากเบื้องบน แค่นี้ ถ้าเรานึกถึงว่าทุกคนมาจากสิ่งที่เรียกว่าประทานพรลงมา ยังไงก็ตามเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับทั้งตัวเด็ก ทั้งสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก หรือว่าเป็นอะไรก็ตามที่เราเข้าใจไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ทำไมเขาถึงเลี้ยงยาก หรือว่าไม่สามารถที่จะผ่านความยากลำบากในเรื่องอะไรไปได้ อาจจะร้องไห้มาก นอนไม่ได้ กินไม่ได้ ให้ย้อนกลับไปตรงนี้เลยว่า พวกเขาล้วนมาจากสิ่งที่ได้รับการประทานพรลงมา พวกเขามีโอกาสเท่ากันทุกคน มาจากเบื้องบน มาทำสิ่งที่ดีงามบนโลก ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคอะไรเราก็จะช่วยเขาแก้ไขอุปสรรค ผ่านอุปสรรคไปให้ได้