- ครูพล คือครูรุ่นใหม่ ที่ใช้ฐานคิดเชิงสังคมมาออกแบบวิธีการสอนในห้องเรียน
- ทุกคำถามของครูพล เริ่มต้นด้วยคำว่า ‘ทำไม’ โดยที่ไม่มีคำตอบถูกหรือผิดมาครอบไว้ ซึ่งทำให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด มากขึ้นกว่าเดิม
- ต้องสั่นคลอนความคิด-ต้องสนุก-ต้องเกิดการสนทนาระหว่างกัน 3 สิ่งที่ต้องมีตามตำราการสอนฉบับครูพล
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
แม้เพิ่งจบใหม่หมาดและก้าวขามาทำอาชีพครูได้เพียงปีครึ่ง แต่ อรรถพล ประภาสโนบล หรือ ครูพล วัย 24 ปี ครูผู้ช่วยสอนวิชาสังคมศึกษาชั้นมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี ก็ได้รับตำแหน่งขวัญใจของเด็กๆ ไปแล้ว
ครูพลใช้ความหลงใหลในประเด็นสังคมของตัวเองมาเป็นสารตั้งต้นในการชวนนักเรียน เรียน-เล่น-คิด-คุย และเปิดพื้นที่อย่าง ‘อิสระ’ ให้เด็กได้ถกเถียงกันอย่างเต็มที่ ทำให้บรรยากาศห้องเรียนมัธยมที่เคยน่าเบื่อ กลายเป็นสนามเด็กเล่นที่นักเรียนใช้ปลดปล่อยความคิดของพวกเขาออกมา และทำให้วิชาสังคมที่เคยเป็นวิชาท่องจำกลายเป็นคาบสนุกสนาน เด็กๆ ตะโกนแย่งกันตอบคำถาม แบบไม่กลัวว่าจะผิดหรือถูก
พ้นรั้วโรงเรียนไป ครูพลยังเป็นหนึ่งในสมาชิก ‘กลุ่มพลเรียน’ ที่เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมาย คือ ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นการศึกษา ซึ่งอยู่บนฐานความคิดด้านสังคม เพื่อกระทุ้งให้เด็กหรือครูเกิดความคิดบางอย่าง
ทำไมถึงมาเป็นครู
ย้อนไปในช่วงก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ได้รู้สึกอยากเป็นครูเลยด้วยซ้ำ เพราะเราเติบโตมาเหมือนเด็กมัธยมปลายทั่วไป ไม่ได้มีความฝัน หรือคิดว่าเรียนจบแล้วจะต้องทำอะไรดี พอหันไปรอบๆ ตัว ญาติพี่น้องต่างรับราชการครูกันหมด งั้นเราลองดูก็ได้ แต่ก็เกิดคำถามต่อว่า ‘แล้วจะเรียนครูไปสอนอะไร?’ เลยถามตัวเองว่าเราชอบอะไรบ้าง ตอนนั้นรู้แค่ว่าเราชอบเล่นเกม เพราะเกมมันพาเราไปเจอกับอะไรใหม่ๆ ที่อยู่ในโลกเลยรู้สึกว่าเรียนรู้สังคมผ่านเกมเยอะ ประกอบกับตอนนั้นชอบดูข่าวมาก โดยเฉพาะข่าวกีฬาก็เลยคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่เราชอบ และถ้าจะเป็นครูก็คงต้องเป็นครูที่สอนวิชาสังคม
แต่พอได้เข้ามาเรียนครูในรั้วมหาวิทยาลัยจริงๆ เรากลับเจออะไรบางอย่าง เจอกับระบบโซตัส ระบบรับน้อง มันจึงทำให้เราตั้งคำถามต่อว่า ‘คณะที่สอนครู ทำไมถึงผลิตครูแบบนี้ เรากำลังจะสร้างครูแบบนี้ออกไปจากสังคมจริงหรือ?’ เหตุการณ์นี้มันทำให้เรามองย้อนกลับไปถึงการศึกษาที่ผ่านมาหมดเลย ว่าเราเคยเจอกับความรุนแรงจากครู เด็กต้องเจอกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชั้นเรียน ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้นในระบบการศึกษา ซึ่งสิ่งที่เราเจอคือการผลิตซ้ำความรุนแรง สุดท้ายแล้วมันก็จะส่งผลให้ห้องเรียนในอนาคตข้างหน้ามันก็จะยังเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นอีกแน่นอน
ฉะนั้นเมื่อเราเริ่มสนใจว่าเราอยากเป็นครูแล้ว จึงถามตัวเองว่า ‘แล้วเราจะเป็นครูแบบไหน การศึกษาแบบไหนที่เราอยากเห็นในอนาคต’ เราก็จะทำแบบนั้นให้ได้
เมื่อเริ่มจากความไม่รู้ จนได้มาเป็นครูจริงๆ มันเป็นอย่างที่คิดไหม
อย่างหนึ่งที่คิดได้หลังจากเข้ามาเป็นครู คือการย้ำว่าการศึกษามันสำคัญ และมันเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากสังคม ถ้าเราอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหน เราต้องสร้างการเรียนการสอนให้เป็นแบบนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าผมอยากเป็นครูแน่ๆ คือความรู้สึกเจ็บปวดจากคนในโลกใบเก่า ที่เคยทิ้งเราให้จมปลักอยู่ในโลกใบนี้มาตลอด ฉะนั้นการศึกษาที่พอจะสร้างความหวังได้ คือเราต้องสร้างการศึกษาในโลกใบใหม่ให้เหมาะกับคนรุ่นนี้มากกว่า เขาจะได้ไม่ต้องเจ็บปวดและรู้สึกถูกกักขังเหมือนที่เราเคยเจอ
ดังนั้นเมื่อถามว่าก้าวขาเข้ามาแล้วจะทำมันให้เป็นอย่างที่หวังไว้ได้ไหม…ก็ไม่ใช่ทุกเรื่อง แต่เราตั้งเป้ากับมันสุดๆ ได้ และค้นพบว่าการสอน คือการกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะทดลอง กล้าที่จะทำ ถึงแม้มันจะไม่เป็นไปตามที่เราหวัง แต่อย่างน้อยมันก็เป็นจุดเริ่มต้นในการที่เราจะลุยกับมันดู
แล้วภาพที่ครูพลหวังไว้ เป็นภาพแบบไหน
ภาพเด็กที่กล้า กล้าเริ่มคิดอะไรด้วยตัวเอง ย้อนไปตอนฝึกสอน ตอนนั้นคาดหวังไว้สูงมากว่าเด็กจะต้องแย่งกันยกมือตอบคำถาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กนั่งนิ่ง ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ นักเรียนบอกเลยว่า ‘ครูอย่าถามเยอะ เฉลยมาเลย ไม่ต้องถามแล้วบอกคำตอบมา’ มันเลยทำให้เรากลับมาทบทวนว่า เด็กอยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้มานานแค่ไหน ภาพที่เราหวังมันไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นภายในวันเดียว หรือเดือนเดียว เราจึงอยากค่อยๆ เติมภาพตรงนั้นให้มันเกิดขึ้นได้
แต่การเป็นครู มันไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอน ทำไมครูพลจึงยังอยากทำอยู่
เพราะผมอยากเห็นสังคมมันเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเครื่องมือที่จะเคียงข้างผมเพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ คือการศึกษา เรารู้สึกว่าสิ่งนี้จะเป็นตัวสร้างนักเรียน สร้างคนรุ่นใหม่ ให้เติบโตไปออกแบบสังคมของพวกเขาเองได้ นี่จึงเป็นจุดที่เราปักหลักและชัดเจนกับมันว่าเราเลือกที่จะทำต่อ แต่ถ้าถามว่าเข้ามาในระบบครูมันเจ็บปวดขนาดนั้นไหม มันก็มีบ้าง แต่เราก็เลือกที่จะหาวิธีต่อรอง หรือหาช่องทางที่ทำให้เราอยู่ให้ได้แค่นั้นเอง
สมัยตอนเรียนครู คณะมักจะสอนว่าครูคือเรือจ้าง ต้องเป็นพ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ ให้นักเรียน แต่เราอาจจะมองต่างจากคนอื่น คนเป็นครูจะต้องเป็นคนที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสังคม อาชีพครูก็เป็นหนึ่งในคนทำงานด้านการเมือง
ดังนั้นห้องเรียนมันไม่ใช่แค่พื้นที่เอาไว้ใช้สอนหนังสือแล้วจบไป แต่ห้องเรียนมันคือสนามต่อสู้ทางความคิดที่จะปะทะเพื่อทำให้นักเรียนได้เห็นทางเลือกใหม่ๆ ในชีวิตตัวเอง
พาเขาไปเห็นคำตอบ เห็นวิธีคิดใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งแนวคิดแบบนี้ จึงทำให้เกิดกลุ่มพลเรียนขึ้นมา
กลุ่มพลเรียนคือใคร แล้วทำอะไรบ้าง
เริ่มจากเมื่อ 3 ปีก่อน ผมและเพื่อนๆ ที่เจอความเจ็บปวดตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เรารู้สึกเหมือนกันว่า สิ่งที่เราเจอมาตอนเรียนมันไม่ทำให้การศึกษาไปเชื่อมกับสังคมได้เลย บวกกับเราชอบเรื่องสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เหมือนกันอยู่แล้ว เราก็เลยจัดตั้งกลุ่มพลเรียนขึ้นมา ซึ่งเป็นการผนวกกันระหว่างคำว่า ‘พลเมือง+นักเรียน’
เพราะมองว่านักเรียนเป็นพลเมืองหนึ่งในโรงเรียน เพียงแต่พลเมืองคนนี้อยู่ในรัฐโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนไทยมักจะไม่เปิดให้เด็กตั้งคำถาม เราจึงพยายามฉายภาพให้เห็นว่า เรื่องการศึกษาสำคัญและมันต้องพูดกันบนฐานคิดเชิงสังคมด้วย
ตอนนี้ในกลุ่มมีประมาณ 5 คนหลักๆ แต่ก็จะมีสมาชิกอีกหลายๆ คนที่วนเวียนกันเข้ามา ซึ่งทั้งหมดล้วนทำอาชีพครูเหมือนกัน
ส่วนภารกิจหลักของกลุ่มพลเรียน อย่างที่บอกว่าการศึกษามันคือเรื่องอำนาจ มีไว้เพื่อสร้างให้คนคล้อยตามและตกอยู่ในวิธีคิดที่ตัวเองต้องการ ดังนั้นความรู้ที่ส่งผ่านในระบบการศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องบริสุทธิ์ มันยังมีวิธีคิดบางอย่างที่ทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง เราจะเห็นได้จากแบบเรียนสังคมศึกษาที่มักไม่ค่อยพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือเรื่องในสังคมอื่นๆ แบบตรงไปตรงมาสักเท่าไร พูดแต่เรื่องเดิมๆ
กลุ่มพลเรียนจึงช่วยกันรื้อแบบเรียน ปรับวิธีสอนกันใหม่ ทำให้การศึกษาไปเป็นคำตอบในมิติอื่นๆ ของสังคมได้
อย่างที่สองคือ เราเชื่อว่า ‘ครูต้องเปลี่ยนวัฒนธรรม’ ต่อให้ระบบโครงสร้างใหญ่มันจะเปลี่ยนไป แต่ถ้าครูไม่ได้เปลี่ยนตาม การพัฒนาก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ฉะนั้นถ้าเราอยากเห็นภาพสังคมแบบไหน ก็ต้องพยายามสร้างครูให้มีวัฒนธรรมแบบนั้น
ที่ผ่านมาก็มีการจัดเวิร์คช็อปให้กับนักศึกษาครูที่สนใจบ้าง แล้วก็จัดกระบวนการให้พื้นที่พวกเขาได้ถกเถียงกันเรื่องสังคมในมิติต่างๆ รวมถึงขับเคลื่อนทางพื้นที่ออนไลน์ไปด้วย นั่นคือการสร้างกลุ่ม ‘ครูปล่อยของ’ เพื่อแลกเปลี่ยนและแชร์ไอเดียกัน ครูแต่ละคนสามารถหยิบยืมวิธีการหรือไปต่อยอดเป็นวิธีการสอนของตัวเอง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มพลเรียนคืออะไร
ครูที่เข้ากิจกรรมหลายคนก็นำเอาสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนกันในวงไปปรับใช้จริง เช่น การออกแบบห้องเรียนและการสอนใหม่ให้มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากหวังให้ครูเปลี่ยนความคิดของตัวเองโดยสอดคล้องไปกับวัฒนธรรมแบบใหม่ๆ แล้ว ยังแพลนไว้ว่าในอนาคตอยากสร้างเครือข่ายให้ขยายใหญ่ขึ้นเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้น
ยกตัวอย่างการสอนแบบพลเรียน
สมมุติสอนเด็กเรื่องภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ โดยให้ปักหมุดแผนที่ว่าเราอยู่ตำแหน่งไหนในประเทศไทย แล้วค่อยๆ ไล่คำถามว่าทำไมเรามาอยู่ที่นี่ จากนั้นก็สอนเรื่องของการโยกย้ายของคน ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ หรือการชวนคุยเรื่องวัฒนธรรม ให้เด็กออกมาแสดงภาพว่าแบบไหนเรียกว่าวัฒธรรมที่ดี ดีเพราะอะไร แล้ววัฒนธรรมที่ไม่ดี ไม่ดีจริงหรือ?
หรืออย่างเช่น การหยิบยกประเด็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นมาสอน พานักเรียนตั้งคำถามว่า คนดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ เป็นพลเมืองที่ดีไหม?
มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เราไม่มีทางเจอเรื่องแบบนี้ในหนังสือเรียน แต่เรากลับเจอเหล้าเบียร์ในสังคมจริง จึงอยากทำให้ห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่สั่นสะเทือนทางความคิด ทำให้เด็กไม่สามารถเชื่อคำตอบแบบเดิมที่เคยเชื่อได้ อย่างน้อยทำให้เขากลับไปตรวจสอบความเชื่อของตัวเอง ซึ่งฟังดูเหมือนจะยาก แต่วิธีการมันไม่ยากเลย แค่เปิดพื้นที่ให้เขาได้ถกเถียงกัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขาต้องเจอในอนาคตอยู่แล้ว
ตำราการสอนฉบับครูพล จะต้องสอนแบบไหน
สามสิ่งที่ผมคิดก่อนจะออกแบบการสอน คือ
1. ต้องสั่นคลอนความคิดนักเรียนให้ได้
หมายความว่า เราไม่ได้คิดแทนพวกเขา แต่เราพยายามที่จะเสนอคำตอบในแบบต่างๆ ให้เขาได้ขบคิด เมื่อนักเรียนเสนอความคิดมา เราจะเป็นคนที่นั่งอยู่ตรงข้ามกับความคิดเขา แหย่เขาด้วยวิธีคิดต่างๆ ดังนั้นเมื่อจบจากห้องเรียนไป สุดท้ายผมก็จะไม่มีคำตอบที่ถูกให้ เพื่อให้พวกเขาได้ลองคิดต่อไปเรื่อยๆ
2. ต้องทำให้สนุก
ที่ผ่านมาเด็กต้องนั่งจดตามที่ครูสอน หรือทำใบงานส่งแล้วก็จบไป ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วม เด็กไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น ความสนุกไม่ได้แปลว่าเด็กจะต้องลุกขึ้นมาเต้นมาร้อง มันทำให้สนุกในแบบอื่นได้ สนุกในความคิด สนุกในการเรียนรู้
3. ต้องเกิดการสนทนาระหว่างกัน
เมื่อไรก็ตามที่นักเรียนได้แลกเปลี่ยนกันเอง รวมถึงพูดคุยกับครู จะทำให้เขาได้เห็นคำตอบซึ่งกันและกัน ซึ่งการออกแบบการเรียนการสอนเช่นนี้ ไม่ได้ทำได้แค่วิชาสังคมเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะวิชาเลข วิทย์ ก็ทำได้หมด ลองออกแบบการสอนให้ไปท้าทายความคิดของพวกเขา ชวนเขาให้กล้าคิดแบบอื่น อธิบายด้วยวิธีใหม่ๆ ต่างจากเดิม
การสอนแบบนี้ มีอุปสรรคหรือเจอแรงปะทะบ้างไหม
ไม่เคยนะ เราสอนเรื่องแบบนี้ในพื้นที่ของโรงเรียนรัฐได้ มีความยืดหยุ่นกับครูพอสมควร ทำให้เราดีไซน์บทเรียนเองได้เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่าง เมื่อปีที่แล้วสอนวิชาอาเซียน โดยปกติตามตำราจะต้องสอนเกี่ยวกับดอกไม้ประจำชาติ ธงประจำชาติ แค่นั้นก็จบ แต่เรากลับออกแบบให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ รวมไปถึงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ และเราไม่ได้คิดไปคนเดียว พยายามคุยกับครูผู้สอนคนอื่นๆ ด้วย เพื่อออกแบบร่วมกัน แต่มันก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่รวมๆ แล้ว เรายังดีไซน์การสอนขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเองได้
แล้วครูพลมีวิธีรักษาสมดุลอย่างไร ไม่ให้ความคิดของเราไปครอบงำเด็ก
ก่อนสอนทุกครั้ง เราต้องทำการบ้านเยอะมาก มันมีวิธีคิดอะไรบ้าง แล้วพยายามนำเสนอออกไปให้เยอะที่สุด ถ้าเราไปสอนว่าสิ่งนี้ไม่ดี เด็กก็จะไม่ได้คิดหรือตกตะกอน
“ทุกคำถามเริ่มต้นด้วยคำว่าทำไม ทำไมถึงคิดแบบนี้ ทำไมถึงรู้สึกแบบนี้เพราะอะไร โดยที่ไม่มีคำตอบถูก-ผิด จะทำให้เขากล้าคิด กล้าพูด”
‘ครู แล้วสรุปมันคืออะไร’
‘ครู คำตอบที่ถูกคืออะไร’
‘ครู เฉลยหน่อย’
ผมจะรู้สึกสนุกทุกครั้งเมื่อจบคาบเรียน เมื่อเห็นเด็กเถียงกันไปมาว่าอะไรคือคำตอบที่ถูกกันแน่ เพราะเมื่อไรที่เกิดประโยคเหล่านี้ขึ้นมา แปลว่าเขาเริ่มไม่ได้เชื่อความคิดแบบเดิมอีกแล้ว หรือกำลังชั่งใจอะไรบางอย่างอยู่
โมเดลการสอนแบบนี้มาจากไหน
น่าจะเป็นช่วงเรียนมหาวิทยาลัย การตั้งคำถาม-โยนคำตอบ มันไม่ใช่วิธีใหม่ จะเห็นได้ว่าวิธีการไม่ได้ต่างจากการเรียนเลคเชอร์ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เมื่อมาปรับใช้ในห้องเรียนเด็กมัธยม อาจจะไม่คุ้นชิน เพราะวิธีเดิมเด็กมักเรียนโดยการให้เปิดหนังสือไปทีละหน้า ทีละหน้า มากกว่า
การดีไซน์บทเรียนใหม่ๆ แบบนี้ ทำได้ในโรงเรียนอื่นไหม
ผมคิดว่าไม่ต่างกัน เพียงแค่เป้าหมายต้องเป็นไปตามตัวชี้วัดของกระทรวง เราออกแบบมันใหม่ ผมคิดว่าโรงเรียนรัฐ ก็มีพื้นที่แบบนี้ให้ครูเข้าไปต่อรองและใช้พื้นกับมันได้อยู่แล้ว อย่าไปคิดว่าเขาจะปิดกั้น
มีคนถามบ่อยว่า ‘ทำไมครูพลไม่สอนตามหนังสือ’
สิ่งที่อยู่ในหนังสือคือเนื้อหา ทุกครั้งที่เราออกแบบเราต้องไม่ทิ้งเนื้อหาหรือทิ้งตัวชี้วัด เพียงแค่ตีความมันใหม่ เช่น กระทรวงบอกว่าเด็กจะต้องสามารถอธิบายวัฒนธรรมได้ ซึ่งวัฒนธรรมตามตำรามักจะเป็นเรื่องดีๆ เสมอ แต่เราพาเด็กไปเข้าใจแก่นของวัฒนธรรมในแบบอื่นๆ ไม่ฟันธงไปเลยว่าวัฒนธรรมแบบนี้มันสูงหรือต่ำ แต่เราพยายามทำให้พวกเขาเห็นว่าแบบนี้ก็เป็นวัฒนธรรมได้เหมือนกัน
เมื่อเข้ามาสอนในโรงเรียนรัฐ มันดับไฟในตัวเราไหม
อย่าไปมองแบบนั้น โรงเรียนรัฐบาลเป็นพื้นที่เด็กสามารถเข้าถึงได้สำหรับเด็กทุกคน เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งใจอยากจะสร้างการศึกษาที่ดี ก็ไม่ใช่ไปสร้างแค่เฉพาะกับคนบางกลุ่ม แต่เราต้องสร้างการศึกษาให้เป็นของทุกคนให้ได้ แต่ถ้าถามว่ามีอุปสรรคอะไรไหม ก็คงจะเป็นการออกแบบบทเรียน ที่ให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วม บางครั้งก็ไม่เวิร์ค นักเรียนไม่สนุกด้วย ก็ต้องปรับต่อไป
ถ้าให้ ‘ครูพล’ นิยามตัวเอง จะนิยามว่า
อืม คงเป็นครูที่ประเทศนี้ห้ามไม่ให้มี (หัวเราะ) ไม่หรอก เราคงเป็นครูขบถคนหนึ่ง ที่กล้าจะตั้งคำถาม กล้าขบถกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราอยากเป็นคนที่อยู่ตรงข้ามกับความคิดบางอย่าง หรือสอนให้เด็กๆ เห็นว่าคิดต่างไม่ใช่เรื่องผิดเท่านั้นเอง