- คุยกับ ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ นักบำบัดในถาดทรายแห่งเพจ Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้ และพ่อเลี้ยงเดี่ยวซึ่งดูแลลูกที่มีภาวะอัลฟี่ซินโดรม
- ตั้งแต่เรื่องการเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว พัฒนาการน้องเซนจากวันแรกที่รู้ว่าลูกเป็นคนพิการสู่วันที่เขาเข้าใจและเรียนรู้ร่วมไปกับลูก ภาพความสมบูรณ์ของความเป็นครอบครัวเป็นอย่างไรในมุมของเขา ตลอดบทสัมภาษณ์ที่เล่าเรื่องปัจจุบัน และแทรกเสริมด้วยอดีต ทำให้เราเห็นมุมมองได้ใกล้เคียงกับเขามากขึ้น
- “ลูกเกิดมาเป็นคนพิการ เพราะฉะนั้นเขาจะมีชะตากรรมในแบบของตัวเอง โอกาสที่จะถูกกลั่นแกล้งก็สูง ชีวิตเขาจะไม่ประสบความสำเร็จแบบที่คนทั่วไปคิด ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องเป็นอุปสรรคชีวิตเขา ผมคิดว่าเลี้ยงลูกให้มีความภาคภูมิใจในตัวเองจะเป็นภูมิต้านทานดีๆ ให้กับชีวิตเขา หากเขาได้เลือก คิด และตัดสินใจด้วยตัวเอง รู้จักปฏิเสธคน พอเขามั่นใจ เขาก็จะทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีความสุข รับรู้ได้ว่าเก่งเรื่องอะไร สรุปง่ายๆ คือการรู้สึกดีกับตัวเอง”
เจอความพิการตอนน้องเซนมีอายุ 5 เดือนครึ่ง ความรู้สึกตอนนั้น ช็อค ช็อค สับสน ไม่แน่ใจ ไม่มั่นคง หวั่นไหว สั่นไหว สั่นสะเทือนข้างใน กลัว เสียใจ ผมบอกแม่ของเซนในวันที่คลอดว่า ไม่ว่าลูกจะเกิดมาอย่างไรก็จะเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุด นั่นเป็นฐานที่ทำให้ความรู้สึกเรายังอยู่ได้ในเบื้องต้น
ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ ด้านหนึ่งเขาคือนักบำบัดในถาดทรายแห่งเพจ Sand Tray Play ก็ดี Therapy ก็ได้ ชวนผู้คนเข้ามาสำรวจอาณาจักรใจและห้วงความรู้สึกผ่านทรายและของเล่นวัตถุสัญลักษณ์ อีกด้านเขาคือพ่อเลี้ยงเดี่ยวซึ่งดูแลลูกที่มีภาวะอัลฟี่ซินโดรม เรานัดคุยกับเขาที่บ้านย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา ในบ้านต้นไม้ร่มรื่น มีเล้าไก่และแปลงผัก ระหว่างที่นั่งคุยเราสัมผัสได้ถึงความรัก ภาพการสวมกอดและบอกรักไม่ใช่เรื่องแปลก และเขายังใช้ภาษามือสื่อสารกับลูกเพื่อบอกความต้องการและความรู้สึก
ชอตหนึ่งที่เราเห็น ศุภฤทธิ์เดินไปกระซิบลูกว่า “รักนะ เซนเกิดมาดีแล้ว เกิดมาสวยงามแล้ว เกิดมาสมบูรณ์แบบแล้ว ป๊ะป๋ารักเซน” แล้วเซนก็ใช้ภาษามือบอกความต้องการตัวเองกลับว่าเขารู้สึกยังไง เราเองรู้จักเด็กที่มีความต้องการพิเศษหลายคน ก็เพิ่งเคยเห็นเซนนี่แหละที่สื่อสารความต้องการของตัวเองออกมาได้อย่างชัดเจน
บนหน้าเฟซบุ๊กของเขา เราจะได้เห็นเรื่องราวของ เซน จากพ่อผู้เล่าเรื่องการเติบโตและพัฒนาการ เลี้ยงไก่ เล่นน้ำ ปีนป่าย ศุภฤทธิ์มองเห็นย่างก้าวเล็กๆ ที่สำคัญของลูก และเขียนเล่าออกมาในพื้นที่ส่วนตัวบนโลกออนไลน์ เขามองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือก้าวสำคัญในการเรียนรู้ของลูก
เราชวนศุภฤทธิ์ คุยเรื่อง พ่อเลี้ยงเดี่ยว พัฒนาการน้องเซน จากวันแรกที่รู้ว่าลูกเป็นคนพิการ สู่วันที่เขาเข้าใจและเรียนรู้ร่วมไปกับลูก ภาพความสมบูรณ์ของความเป็นครอบครัวเป็นอย่างไรในมุมของเขา ตลอดบทสัมภาษณ์ที่เล่าเรื่องปัจจุบัน และแทรกเสริมด้วยอดีต ทำให้เราเห็นมุมมองได้ใกล้เคียงกับเขามากขึ้น
ความรู้สึกแรกหลังจากที่รู้ว่าลูกตัวเองมีความต้องการพิเศษรู้สึกอย่างไร
ผมรู้วันที่ 31 มีนาคมปี 2556 ตอนนั้นเซนอายุประมาณ 5 เดือนครึ่ง ทราบเพราะพาลูกไปตรวจกรองพัฒนาการ คือพอตรวจแล้วผลไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ทีนี้พอพัฒนาการช้าผมก็ตัดสินใจไปหาหมอพัฒนาการเด็กเลย หมอเขาก็ขอตรวจที่โครโมโซม ดูความผิดปกติซึ่งตรวจแล้วก็เจอ เจอตอนอายุ 5 เดือนครึ่ง ความรู้สึกตอนนั้นคือช็อค
ช็อค สับสน ไม่แน่ใจ ไม่มั่นคง หวั่นไหว สั่นไหว สั่นสะเทือนข้างใน กลัว เสียใจ ผมบอกแม่ของเซนในวันที่คลอดว่า ไม่ว่าลูกจะเกิดมาอย่างไร ผมก็จะเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุด นั่นเป็นฐานที่ทำให้ความรู้สึกเรายังอยู่ได้ในเบื้องต้น
หลังจากนั้นสิ่งที่จำได้แม่นๆ เลยคือฝันร้าย นอนแล้วตื่นกลางดึกอยู่ 3-4 ครั้ง คิดว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิต ลูกจะเป็นยังไง กังวลอยู่สักพักก็เริ่มตั้งหลักได้ เริ่มคิดว่าจะทำยังไง อย่างแรกคือจะสู้กับมันได้เราต้องตั้งหลักและรู้จักภาวะนี้ก่อน โดยพยายามหาข้อมูลว่าอัลฟี่ซินโดรมคืออะไร
อัลฟี่ซินโดรมคืออะไร
โครโมโซมก็เหมือนกับปาท่องโก๋ มันจะมี 2 ชิ้นติดกัน ทีนี้โครโมโซมก็จะมีทั้งหมด 23 คู่ รวมโครโมโซมเพศ กรณีอัลฟี่ซินโดรมนี้คือขาของโครโมโซมคู่ที่ 9 บางส่วนหายไป ส่งผลกระทบต่อเซนคือ ทำให้กระโหลกศีรษะผิดรูป พัฒนาการช้า กล้ามเนื้อนุ่มนิ่ม แนวโน้มสติปัญญาต่ำ จึงพาลูกไปหาหมอพันธุกรรมเด็กโดยตรง
สิ่งที่กลัวก็คือลูกจะอายุไม่ยาว กลัวลูกตาย มีข้อมูลตัวหนึ่งที่พยายามอธิบายว่า เด็กที่มีซินโดรมนี้ส่วนใหญ่อายุจะไม่ถึง 2 ขวบ ทำให้มีความกังวลตรงนี้มาก แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้คิดได้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ เช่น ควรให้ความสำคัญกับพัฒนาการก่อนรึเปล่า แต่ก็คิดว่าการที่จะมานั่งฝึกพัฒนาการเป็นบ้าเป็นหลัง ฝึกแล้วก็เครียด บังคับจับมือเด็กแล้วเด็กก็ไม่อยากทำ ให้ทำแล้วเขาต่อต้าน หรือฝึกเหมือนหุ่นยนต์ ผมตั้งคำถามกับการฝึกลูกมากขึ้น จะทำไปทำไม สมมติว่าลูกอยู่ไม่ถึง จะให้ลูกอยู่กับช่วงเวลาแบบนี้จริงๆ เหรอ ให้เขามีช่วงเวลาที่ดี ใช้ชีวิตร่วมกัน ให้ลูกได้ยิ้มและหัวเราะ พยายามบาลานซ์มันให้ได้
หลังจากที่รู้แล้วว่าลูกเป็นอะไร โจทย์หลังจากนี้คือการส่งเสริมพัฒนาการ ผมพาลูกไปฝึกหลายๆ แบบ ได้เจออาจารย์นักบำบัดหลายๆ คน มีคนหนึ่งที่พูดแล้วสะดุดใจมาก เขาพูดเรื่อง ‘การยืนยันในการปฏิเสธ’ ว่าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเด็กไม่เอาแล้วเขาสามารถแสดงออกมาได้ว่าเขากำลังปฏิเสธ นี่เป็นเรื่องสำคัญ บางคนไม่ได้คิดแบบนี้ การปฏิเสธเกิดขึ้นเพราะมองเห็นว่าตัวเองมีตัวตน จึงปฏิเสธในสิ่งที่เห็นว่าขัดแย้งกับตัวเอง ความเห็นของเขาสำคัญ
เข้าใจว่าตอนรู้เรื่องแรกๆ ความเข้าใจเรื่องอัลฟี่ซินโดรมน่าจะน้อยหรือแทบไม่มีแน่ๆ คุณเริ่มค้นคว้าเรื่องเด็กที่มีความต้องพิเศษจากไหน
ผมชอบไปอบรมหลายๆ ที่เกี่ยวกับด้านการดูแลเด็กและพัฒนาตนเอง ด้านจิตใจ ที่หนึ่งที่ดีเลยก็คือ ‘Rainbow Room’ ได้เห็นว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีศักยภาพอะไรบ้าง
พอมีความเข้าใจมากขึ้นผมก็ตั้งหลักชีวิตได้ จากที่ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรและทำอย่างไร เขาทำให้เห็นว่าเด็กที่มีดาวน์ซินโดรมมีศักยภาพมากกว่าที่คิด เขาทำอะไรได้เยอะ กลายเป็นว่าที่ผ่านมาคิดไปเองถึงสิ่งที่เขาทำไม่ได้
อาชีพที่เขาทำได้ก็มีหนทางในแบบของเขา เล่นกีฬา ดนตรี ทำได้สารพัด เป็นเจ้าของกิจการก็มี วิธีคิดของผมจึงเปลี่ยนไปมาก เชื่อในศักยภาพของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น
อย่างเรื่องการสื่อสาร ผมเข้าใจลูกได้ รู้สึกได้ เพียงแต่รูปแบบจะไม่ตรงอย่างที่บางคนคาดหวัง เซนสัมผัสได้ว่าผมรู้สึกอะไรอยู่ เช่น ถ้าอารมณ์ไม่ดีอยู่เซนก็ไม่ค่อยกล้ามาใกล้เท่าไหร่ นี่เป็นสิ่งที่ลูกรับรู้
พัฒนาการช่วงแรกของเซนเป็นอย่างไร
ช่วงแรกเป็นเรื่องของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเซนนุ่มนิ่มมาก นิ่มเหมือนฟองน้ำ มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อต่ำ วางตรงไหนแขนขาเขาก็แบะตรงนั้น กว่าจะนั่งได้ก็อายุขวบกว่าๆ กว่าจะคลาน กว่าจะเดิน ก็อายุ 6 ขวบ ดังนั้นการกายภาพบำบัดจึงสำคัญ
เรื่องการพูด ตอนนี้ภาษาเขายังจำกัด พูดไม่ได้เยอะมาก พูดได้อยู่ไม่กี่คำ เพียงแต่เขาใช้การส่งเสียงบางอย่าง ที่คล้ายๆ กับเป็นภาษาแต่ไม่ชัดขนาดที่เราจะรู้ได้ ผมอาศัยการเดาความต้องการและบริบทจากน้ำเสียง ผมจึงฝึกให้เขา พยักหน้าส่ายหน้า และปฏิเสธ สอนให้มีการโต้ตอบ
เคยพูดในบทสัมภาษณ์ว่าเลี้ยงลูกให้มีความนับถือตัวเองคือเรื่องสำคัญ อยากให้ช่วยอธิบายเพิ่มเติม
ลูกเกิดมาเป็นคนพิการ เพราะฉะนั้นเขาจะมีชะตากรรมในแบบของตัวเอง โอกาสที่จะถูกกลั่นแกล้งก็สูง ชีวิตเขาจะไม่ประสบความสำเร็จแบบที่คนทั่วไปคิด ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องเป็นอุปสรรคชีวิตเขา ผมคิดว่าเลี้ยงลูกให้มีความภาคภูมิใจในตัวเองจะเป็นภูมิต้านทานดีๆ ให้กับชีวิตเขา หากเขาได้เลือก คิด และตัดสินใจด้วยตัวเอง รู้จักปฏิเสธคน พอเขามั่นใจ เขาก็จะทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีความสุข รับรู้ได้ว่าเก่งเรื่องอะไร สรุปง่ายๆ คือการรู้สึกดีกับตัวเอง บางคนวิ่งเก่งแต่ก็ไม่ได้รู้สึกดีกับตัวเองก็มี พ่อแม่บางคนเขาก็ไม่ได้มองในจุดนี้ อาจจะเลือกที่จุดอื่น นี่ไม่ใช่การเลี้ยงลูกแบบไทยๆ หลายคนมองว่าห้ามชมลูกเลยก็มี เดี๋ยวเหลิง
ในทางปฏิบัติเราต้องหาขอบเขต จุดเชื่อมต่อระหว่างกันที่ชัดเจน เวลาลูกทำถูกเราชม แต่ไม่ได้ชมแค่ว่าเก่งหรือดี แต่ชมว่าเขาทำอะไรได้ดี เขาเกิดมาพิการ แต่เขาก็สมบูรณ์แบบได้ เซนเกิดมาดีแล้ว เกิดมาสวยงามแล้ว เกิดมาสมบูรณ์แบบแล้ว
ตั้งแต่เดินเข้ามา เราจะเห็นว่าคุณให้ลูกจับไก่ ปลูกต้นไม้ ฯลฯ คุณให้ลูกได้ทดลองทำอะไรด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ผมชอบให้ลอง ความพิการไม่ใช่ข้อจำกัด ทำไมจะลองไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะปล่อยให้ลูกทำ ลองได้ควรให้ลอง เขาอยู่ในวัยที่เรียนรู้และทดลอง มันมีประโยชน์ ต่อให้เขาจะทำไม่สำเร็จก็ตาม เด็กควรได้ใช้ชีวิตในแบบเด็ก อย่าเพิ่งให้เขารีบใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนักเลย
ผมสอนให้ลูกจับไก่ เพราะเด็กที่มีความต้องการพิเศษหลายคนมีปัญหาเรื่องเล่นกับเพื่อนแรง สาเหตุนึงมาจากการที่เขากะน้ำหนักไม่ถูก ผมเอาสิ่งนี้มาสอนลูก สอนให้เขาอุ้มไก่ ถ้าเขากะน้ำหนักไม่ได้ไก่ก็ไม่อยู่ เล่นกับเพื่อนไม่ต้องพูดถึง
ถ้าไม่รู้จักมีปฎิสัมพันธ์กับสัตว์ แล้วจะเล่นกับเพื่อนได้เหรอ ต้องสอนให้เขารู้จักความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แล้วจะเดินไปจับไก่มาอุ้ม ไก่ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ ให้จับ ต้องคิด ต้องวางแผน ต้องใช้ใจ สิ่งเหล่านี้อาศัยการเรียนรู้แบบสะสม
ถ้าเขาทำในสิ่งที่ขัดใจเรา
ล่าสุดเขาเพิ่งไปขี่ช้างมา ลำพังตัวเราเองก็ไม่ค่อยกล้าเท่าไหร่ แต่ลูกไม่กลัวเลย สิ่งนั้นเปลี่ยนความคิดผมมาก เคยคิดว่าถ้าผมตายแล้วลูกจะอยู่อย่างไร เขาจะปรับตัวได้หรือเปล่า แต่ผมเห็นแล้วว่าเขาปรับตัวอยู่กับช้างเพียงลำพังแบบ 1 เด็ก 1 ช้างยังได้ เขาไปต่อได้
เห็นว่าคุณสอนภาษามือกับลูกด้วย เหตุผลที่สอนคืออะไร
ผมรู้ว่าภาษาพูดของลูกจำกัด พัฒนาการด้านภาษาเขาไม่ได้มีเท่าเด็กทั่วไป มีความล่าช้า ผมเลยมองหาช่องทางการสื่อสารกับลูก จึงเน้นภาษาท่าทางและภาษามือ ให้ได้สื่อสารออกมา หากเขาได้แสดงความรู้สึก อย่างน้อยความคับข้องใจก็จะได้น้อยลง พูดไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ต้องเกิดการสื่อสาร แสดงความต้องการ ชี้นิ้วจะเอาอะไร ไม่งั้นไม่รู้ พอได้เรียนรู้ผมก็เข้าใจกันมากขึ้น เซนฟังแล้วเข้าใจได้ แต่ไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้เท่าคนอื่น
ตอนนี้เขาสองขวบ ผมพยายามให้เขาแนะนำตัวเองให้ได้ ทำให้เขาภาคภูมิใจว่าทำสิ่งใดได้ ใครรักเขา และสอดแทรกเรื่องความพิการและความต้องการพิเศษลงไปด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของตัวตน ความพิการไม่ใช่เรื่องที่ต้องปกปิดหรือเสียหาย ถ้าโตขึ้นเขาอยากจะบอกคนอื่นหรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขาในการสร้างการรับรู้ไม่ใช่ปัญหา เกิดมาเป็นคนพิการแล้วสร้างสิ่งดีๆ ได้
ดูคุณเตรียมพร้อมให้น้องเชน สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและด้วยตัวเขาเอง ซึ่งค่อนข้างต่างจากผู้ปกครองท่านอื่น ที่อาจไม่ได้พาลูกเข้าสู่สังคมมากนัก
แต่ละคนอาจจะมีสาเหตุไม่เหมือนกัน คนอื่นเขาอาจจะอายหรือเปล่า บางคนเขาอาจวิ่งตามเด็กไม่ทัน เด็กไม่รู้จักที่ปลอดภัย ถูกกระตุ้นเร้าทางประสาทสัมผัสได้ง่ายจนควบคุมตัวเองไม่ได้หรือเปล่า เซนอยากไปไหน ถ้ามีกำลังก็จะพาเขาไป ผมเอาลูกเป็นที่ตั้ง ไม่ได้แคร์คนอื่น
เท่าที่รู้จักผู้ปกครองในกลุ่มลูกพิการ ส่วนใหญ่มักเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว คุณพอจะมีคำอธิบายมั้ย
เอาเรื่องมีลูกเป็นคนพิการออกไปก่อน คนเป็นแฟนกัน มีโอกาสที่จะทะเลาะและเลิกกันได้อยู่แล้ว พอมีลูกที่มีความต้องการพิเศษ ปัจจัยที่จะทำให้เครียดก็มีมากขึ้น เพราะต้องดูแลเด็กเป็นพิเศษ แถมค่าใช้จ่ายมากขึ้น แนวทางการเลี้ยงและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างก็ทำให้เครียด บางครั้งพ่อแม่ก็โทษกันไปมา ความเครียดมีมาก พ่อแม่กลุ่มนี้เหนื่อยทั้งการดูแลลูก และเหนื่อยกับการดำรงชีพ
อีกเรื่องนึงที่เกิดขึ้นคือ ความคาดหวังจากคนรอบข้างในครอบครัว เครือญาติ ทำไมลูกไม่ดีขึ้น ทั้งหมดที่เล่ามาส่งผลถึงผู้ดูแล อย่างกลุ่มออทิสซึมจะโดนเยอะ เพราะใบหน้าของเขามองภายนอกจะดูเหมือนคนทั่วไป ญาติก็คาดหวังว่าจะมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากกว่าคนอื่น
สิ่งหนึ่งที่คิดว่ายังเป็นปัญหาคือ เมืองไทยไม่มีคนให้คำปรึกษาที่รองรับคนเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว อาจเป็นเพราะความเข้าใจเรื่องนี้น้อย ยิ่งเจาะไปในกลุ่มที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษซึ่งมีรายละเอียดโดยเฉพาะยิ่งยาก
สำหรับคุณเองที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว นิยาม ‘ครอบครัว’ ในมุมของคุณคืออะไร
ครอบครัวที่ไม่เป็นครอบครัวคือขาดความอบอุ่น มีการทะเลาะเบาะแว้ง ตีกันรุนแรง ดังนั้น ความอบอุ่นคือฟังก์ชัน ส่วน ‘ความครบ’ ที่ว่าคือองค์ประกอบ คือพ่อแม่ลูก แม้มีโครงสร้างแต่ไม่ฟังก์ชันก็ได้ มีครบไม่ได้แปลว่าอบอุ่นเสมอไป
ผมโตมาในครอบครัวที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมาก่อนเหมือนกัน พ่อผมเป็นพ่อหม้าย แม่ผมเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ผมจึงไม่ได้คิดว่าการหย่าเป็นเรื่องเสียหาย เมื่อเทียบกับความขัดแย้งและความรุนแรงที่มันจะเกิดขึ้น การหย่าก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม ชีวิตไม่ได้ยืนยาวมากพอที่เราจะไปอยู่กับความขัดแย้ง อยู่กันครบแต่ทะเลาะกันรุนแรง ผมมองว่าแยกกันแต่ทั้งสองฝ่ายมีความสุขขึ้นดีกว่า เปรียบเทียบเป็นการกินข้าว เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ช้อนกับส้อมเสมอไป ใช้ช้อนกับตะเกียบ หรือช้อนกลางอย่างเดียวก็ได้ หรือใช้มือก็ได้ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่รูปแบบที่คุณคุ้นเคยก็เท่านั้น
พ่อแม่บางคนไม่เชื่อในศักยภาพของลูก มันเกิดจากอะไร
ทั้งพ่อและแม่ มีความซับซ้อนไม่เหมือนกัน มาจากหลายปัจจัย เขาอาจจะมีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เขาไม่อยากซ้ำรอย อาจกลัว กังวล หรือเจ็บปวด คงมีต้นทางที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ ลูกบางคนอายุสามสิบ พ่อแม่ก็ยังมองเห็นเขาเป็นเด็กน้อย ลูกหลายคนยอมทำในสิ่งที่พ่อแม่สบายใจ แต่ตัวเองก็เก็บมาเจ็บปวด พ่อแม่บางคนใช้คำว่ากตัญญูเป็นเครื่องมือในการคุยกับลูกให้เชื่อฟัง ถ้าไม่ได้มาจากใจก็กลายเป็นการกดทับไปอีก
ผมอยากให้คนเป็นพ่อเป็นแม่คิดตาม ลองจินตนาการดูว่าตอนที่เราเป็นเด็ก มีสักครั้งไหมที่เราอยากให้พ่อแม่เชื่อ อยากทำแล้วพ่อแม่เห็น อยากให้เข้าใจบางอย่าง อยากให้เขาฟังและเชื่อ ลูกของเราเขาก็ต้องการความเชื่อแบบนั้น เขาอยากให้เราเห็นสิ่งดีๆ ที่เขาทำได้ ถ้าเขาทำผิดพลาดก็ยอมรับและไปต่อ ชีวิตคือการทดลองเรียนรู้ ถ้าเขาไม่ทดลองตอนนี้จะให้เขาไปลองตอนไหน ให้เขาลองตอนนี้แล้วสนับสนุนเขา ผลักดันเขา ให้กำลังใจเขา
ทำไมถึงเชื่อในการรับฟัง
ผมมี passion กับการฟัง พอรู้ว่าใครมีความทุกข์มาก็พร้อมรับฟัง เพราะรู้สึกว่าผมเคยทุกข์มาก่อน มันเป็นพื้นฐานที่ต่อยอดงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ผมคิดว่าเพราะลึกๆ เมื่อก่อนผมอยากให้พ่อแม่ฟัง พอมีคนเป็นทุกข์ผมเลยรู้สึกว่า การฟังมันช่วยได้มาก
การรับฟังนอกจากการฟังเสียงลูกแล้ว ยังเป็นเรื่องของการฟังเสียงภายในด้วย เรื่องนี้ส่งผลต่อการตื่นรู้ในใจผม และช่วยส่งผลในการเลี้ยงลูก ตัวอย่างครั้งหนึ่งที่ชัดเจนคือเวลาลูกกินข้าวหกผมจะหงุดหงิดมาก แม้พยายามบอกตัวเองด้วยเหตุผล ในใจก็รู้ว่าเด็กก็กินข้าวหก ใครๆ ก็ต้องกินข้าวหกมาก่อน แต่ความรู้สึกมันปั่นป่วน ตอนนั้นถามตัวเองว่าเป็นอะไรวะ
เมื่อถามด้วยเหตุผลตัวเองแล้วไม่ได้คำตอบ ผมจึงตัดสินใจเผชิญกับมันเลย ผมเอาข้าวมาขยี้เล่นลงพื้นให้ทั่วเลย เอาข้าวมาเขี่ยเล่นตามพื้นไปเรื่อยๆ ทำให้พื้นมันสกปรก แต่ก็ยังรู้สึกว่ายังปั่นป่วนและหงุดหงิดในใจ
ผมใช้เวลา 2 เดือนมานั่งคิดและไตร่ตรองแล้วก็เจอ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากปมในใจสมัยเด็ก ตอนนั้นพ่อชอบกินเหล้า แล้วให้ผมทำกับข้าวให้ ทำเป็นกับแกล้มหลายๆ อย่าง ต้อง 5-6 อย่างขึ้นไป ทำน้อยเขาก็ไม่พอใจ มื้อเย็นต้องอลังการมากๆ แถมกินไม่หมด เหลือทิ้งเยอะมาก เกิดคำถามว่าจะทำไปทำไมตั้งเยอะแยะ กินเหลือทิ้ง ผมก็เสียดาย ความเสียดายนั่นแหละมันติดตัวผมมา พอลูกกินข้าวหก มันก็เกิดความปั่นป่วนในใจ ความปั่นป่วนนั้นมันคือความโกรธของผมที่มีต่อพ่อเมื่อก่อน พอเข้าใจ หลังจากนั้นผมก็ไม่โกรธลูกแล้ว อยากกินข้าวหกก็หกไป ผมรู้ตัวแล้วว่าผมไม่ได้โกรธลูกแต่โกรธคนอื่น ไม่มีประโยชน์ที่จะมาโกรธลูก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการจัดการข้างในซึ่งเป็นภาพซ้อนจากวัยเด็ก
การมีลูกครั้งนี้ คุณได้เรียนรู้อะไร
มากที่สุดคงเป็นเรื่องการใช้ชีวิต ความหมายในการมีชีวิตอยู่ ผมเป็นคนที่เคยมองหาจุดหมายของชีวิตมาก่อน ผมตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าภารกิจและเป้าหมายในการดำรงชีวิตของตัวเองคืออะไร จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม พอมีลูกซึ่งเขาเป็นแบบนี้มันเติมเต็ม พบว่าสิ่งที่หล่อหลอมมาตลอดชีวิตคือเพื่อเติมต่อให้ลูก จากความว่างเปล่า มันเติมเต็มสำหรับผมมากๆ ผมเอาสิ่งที่ต่อเติมจากเขาไปให้คนอื่นได้อีก
ผมพบว่าจังหวะที่ใช่มันอยู่ในอนาคต จนมีลูก รับรู้ความต้องการพิเศษของลูก ถึงได้รู้ว่ากว่าจะมาจุดที่ตัวเองเป็นทุกวันนี้ก็ใช้เวลา คลี่คลายปมในใจตัวเองมามาก พอจัดการตัวเองได้ รับรู้ความหมายของชีวิต ก็รู้ว่าจะทำงานอะไรแนวไหน เริ่มทำงานสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จนตอนนี้ผมทำงานเฉพาะทางไปเลย คือการบำบัดในถาดทราย ได้สำหรับเด็กและผู้ใหญ่
คือ ส่งเสริมพัฒนาการ ตลอดจนให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต สุขภาพจิต และจิตบำบัดความเข้มข้นต่ำ แก่ผู้ใหญ่ด้วย สำหรับผมถาดทรายเหมือนการขุดหลุมโบราณคดีทางจิตใจ คล้ายสิ่งที่ผมเคยเรียนคือโบราณคดี ภายในถาดทราย คือความเชื่อ โครงสร้างทางจิตใจ วัฒนธรรม ค่านิยม คุณค่า ที่อยู่ในถาดทรายของคนนั้นๆ ผมเป็นเหมือนนายช่างสำรวจแห่งอาณาจักรใจ นำพาผู้ใช้บริการเข้ามาสำรวจอาณาจักรใจของตัวเอง เพื่อเขาจะได้ฟังเสียงจากจิตใต้สำนึกและบอกออกมาผ่านเรื่องราวและสัญลักษณ์บางอย่างในถาดทราย ที่ปกติแล้วอาจเป็นเรื่องเล่าได้ยากและอาจเป็นคำตอบว่า ทำไมบางเรื่องจิตสำนึกรู้แล้ว แต่ทำได้จริงไม่ได้เสียที นั่นเป็นอาจเป็นเพราะจิตใต้สำนึกไม่ได้บอกแบบนั้น
ยังกังวลเรื่องอนาคตไหม กลัวตัวเองจะอยู่นานไม่เท่าลูกหรือเปล่า
ไม่แล้วครับ ผมเชื่อมั่นว่าเขาจะโตได้ เพราะแต่ก่อนผมไม่ได้เชื่อมั่นตัวเองและลูก แต่ปัจจุบันผมรู้แล้วว่าเขาโตได้ ปรับตัวได้ เขาเอาตัวรอดได้ ทำให้ไม่ห่วงอะไรมาก เมื่อก่อนกลัวมาก ผมอยากเขียนหนังสือเป็นเล่มๆ เป็นคู่มือให้ลูก เผื่อไว้ในวันที่ผมไม่อยู่ แต่ตอนนี้คิดว่าให้เขาหาวิธีเติบโตด้วยตัวเองดีกว่า
ผมศึกษาแล้วพบว่าทั้งมวลเกิดจากความกลัวของตัวผมเอง กลัวลูกจะตาย กลัวลูกเอาตัวรอดไม่ได้ กลัวแต่ไม่เคยยอมรับว่านี่คือความกลัว มันเป็นความกลัวที่อยู่เบื้องหลังวิธีคิดผม ความกลัวที่จะไม่ปลอดภัย กลัวไม่มั่นคง เวลาไปโรงหนังก็ต้องไปคอยดูว่าทางออกทางหนีไฟตรงไหน ไปนั่งศึกษาแผนผังทางออก ถามว่าคนอื่นเขาทำขนาดนั้นหรือเปล่า ความกลัวมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียบางสถานการณ์มันก็ทำให้เรารอดมาได้ แต่ข้อเสียคือมันคืออาจทำให้เรากลายเป็นคนวิตกจริตกลัวไปสารพัด ใช้ทั้งพลังงานและทรัพยากรกับความกลัวมากเกินไป
สำหรับคนเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือมีลูกเป็นคนพิการ มีข้อระลึกอะไรไหม
สำหรับการเลี้ยงเดี่ยว คือควรมองผลประโยชน์ลูกเป็นที่ตั้งมากที่สุด แม้สิ่งนั้นจะขัดใจ ก็ต้องประนีประนอมบ้าง เหมือนผู้ใหญ่กับเด็กวิ่งสามขาด้วยกัน และสิ่งที่พ่อแม่จะต้องเผชิญมากๆ คือความรู้สึกตัวเอง ต้องถามใจตัวเองดีๆ อีกเรื่องนึง การที่ลูกมีความต้องการพิเศษหรือเป็นคนพิการ ไม่ได้หมายความว่าจะมีแต่เรื่องแย่ๆ ลองค้นหาดูว่าแย่จริงไหม จะมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้บ้างไหม
บางคนคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชายไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ดีเท่าเป็นแม่
ผมจะชวนเขาคุยว่าเป็นแบบนั้นจริงไหม เคยเห็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ดูแลลูกได้ดีหรือเปล่า หรือมันเกิดภาวะอะไรขึ้นในใจเขา คงต้องชวนคุย ผู้ชายสามารถอ่อนโยนได้ไหม ผู้หญิงที่ฆ่าลูกตัวเองก็มี
ผมไม่มีเรื่องเพศสภาพชัดเจนในการเลี้ยงลูก โตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นคนทำงานบ้าน แม่หาเงิน ซึ่งคิดว่าใครทำก็ได้ ไม่เห็นว่าบทบาทนี้จะต้องเป็นของใครเฉพาะ หรือบทบาทไหนผูกกับเพศอะไร เป็นผู้ชายก็เลี้ยงลูกได้ ยุคสมัยนี้ผมมองว่าควรเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันมากกว่า