- การหย่านมแบบลูกนำ (Baby-Led Weaning) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแทนที่จะป้อนอาหารกึ่งเหลว พ่อแม่จะเสิร์ฟสำรับอาหารของเจ้าตัวเล็กเป็นผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่หั่นมาแบบพอดีคำ ให้เด็กน้อยได้ ‘สำรวจ’ อาหารหลากหลายรูปแบบ รับรู้รสสัมผัสที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการรับประทาน และหยุดเมื่อต้องการจะหยุด
- การที่เด็กได้ใช้มือสัมผัสและพยายามคว้าจับเข้าปากช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ สร้างเสริมความมั่นใจในการเลือกอาหารด้วยตนเอง การศึกษายังพบว่าเด็กที่มีโอกาสรับประทานอาหารหลากหลายจะมีแนวโน้มเปิดรับอาหารชนิดใหม่ๆ ในอนาคต
หลังจังหวะชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง เผลอไม่ทันไรเด็กชายที่เคยผอมแห้งก็กลายเป็นเด็กสมบูรณ์ ชอบหยิบจับเอาทุกอย่างที่ขวางหน้าเข้าปาก สนุกกับการเล่นจ๊ะเอ๋ได้ครึ่งค่อนชั่วโมง แถมยังหัวเราะเอิ๊กอ๊ากเมื่อถูกจั๊กกะจี้พุง ธารินทร์กลายเป็นหลานที่ปู่ยาตายายทั้งรักและหลง ส่วนตัวผมเองก็มีความสุขทุกวันที่ได้ตื่นมาพบหน้าลูกชาย
เราพาเจ้าตัวเล็กไปพบคุณหมอเพื่อรับวัคซีนตามตารางเมื่อครบ 6 เดือน หลังจากทั้งวัดทั้งชั่ง หลอกล่อให้เล่นของเล่นอยู่สักพัก คุณหมอก็สรุปว่าพัฒนาการเป็นไปตามวัยและถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มให้อาหารเสริมเพิ่มเติมจากนมแม่ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กที่สำคัญต่อการพัฒนาการแต่มีค่อนข้างน้อยในน้ำนมแม่
เมื่อได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เหล่าปู่ยาตายายก็พร้อมนำเสนอเมนูข้าวตุ๋นตับไก่เอย กล้วยบดเอย ไข่ต้มผสมน้ำนมแม่เอย และอีกสารพัดเมนูปั่นต้มบดตุ๋นเป็นอาหารกึ่งเหลวที่ต้องมีคนคอยป้อน แต่ครั้งนี้คุณแม่ไม่ยอมโดยยืนกรานว่าจะให้อาหารเสริมด้วยวิธีใหม่คือการหย่านมแบบลูกนำ (Baby-Led Weaning) ที่จะเสิร์ฟอาหารทุกอย่างแบบพอดีคำ แล้วเปิดโอกาสให้เจ้าตัวเล็กเลือกเองว่าต้องการรับประทานอาหารชิ้นใด
“จะไม่ติดคอแน่นะ เค้าจะได้สารอาหารเพียงพอหรือเปล่า” ญาติผู้ใหญ่แสดงความกังวล แต่เมื่อได้เห็นฝีไม้ลายมือเจ้าตัวน้อยที่หยิบอาหารขึ้นมาแทะอย่างมีความสุขหลังเริ่มได้ประมาณสองสัปดาห์ บรรยากาศก็เริ่มผ่อนคลายลง
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็นับว่าไม่ง่าย เพราะการหย่านมแบบลูกนำมีรายละเอียดค่อนข้างมาก รวมถึงมีข้อควรระวังที่พ่อแม่ต้องรับทราบและฝึกฝนก่อนเริ่มกระบวนการ
พลิกตำรา ‘หย่านมแบบลูกนำ’
คำว่าการหย่านมแบบลูกนำเริ่มใช้เป็นครั้งแรกโดยจิลล์ แรปลีย์ (Gill Rapley) นักวิจัยด้านพัฒนาการและอาหารของวัยทารก เป็นวิธีทางเลือกของการป้อนอาหารกึ่งเหลวโดยเป็นแนวคิดค่อนข้างใหม่ที่มีอายุเพียงราว 15 ปีเท่านั้น วิธีดังกล่าวเป็นที่นิยมของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและนิวซีแลนด์ ก่อนที่จะแพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงที่ไทยเองก็เริ่มมีการแปลตำราการหย่านมแบบลูกนำมาให้พ่อแม่รุ่นใหม่ได้ทดลองทำตาม
เป้าหมายของวิธีดังกล่าวคือมื้ออาหารที่ทานกันแบบพร้อมหน้าโดยไม่มีใครต้องคอยป้อนและถูกป้อน โดยสำรับอาหารของเจ้าตัวเล็กจะเป็นผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่หั่นมาแบบพอดีคำ ให้เด็กน้อยได้ ‘สำรวจ’ อาหารหลากหลาย
รูปแบบ รับรู้รสสัมผัสที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการรับประทาน และหยุดเมื่อต้องการจะหยุดโดยไม่มีการบังคับเพื่อสร้างประสบการณ์มื้ออาหารที่มีความสุขสำหรับทุกคนในครอบครัว
การที่เด็กได้ใช้มือสัมผัสและพยายามคว้าจับเข้าปากยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ สร้างเสริมความมั่นใจในการเลือกอาหารด้วยตนเอง การศึกษายังพบว่าเด็กที่มีโอกาสรับประทานอาหารหลากหลายจะมีแนวโน้มเปิดรับอาหารชนิดใหม่ๆ ในอนาคต อีกประเด็นที่น่าสนใจแต่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมคือเด็กๆ ที่หยิบอาหารรับประทานเองจะไม่ทานอาหารเกินพอดีซึ่งเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่โรคอ้วน เพราะเขาหรือเธอสามารถตัดสินใจตั้งแต่เด็กว่าทานแค่ไหนคืออิ่ม
แต่ไม่ใช่ทารกทุกคนที่เหมาะกับมื้ออาหารที่หยิบขึ้นมารับประทานเอง โดยพ่อแม่ต้องพิจารณาจากพัฒนาการไม่ใช่อายุ โดยเด็กที่พร้อมจะต้องนั่งตรงได้ด้วยตัวเองและเริ่มหยิบจับของเข้าปากได้ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่อายุประมาณ 6 เดือน อีกทั้งพ่อแม่ยังต้องระมัดระวังเรื่องสารอาหารโดยเฉพาะธาตุเหล็ก เพราะช่วงสองเดือนแรกเจ้าตัวเล็กจะยังคงหยิบอาหารรับประทานได้ไม่มาก จึงต้องเฝ้าดูว่าลูกมีลักษณะขาดธาตุเหล็กหรือไม่
เตรียมสำรับ
เมื่อเราตั้งใจว่าจะเริ่มมื้ออาหารที่ลูกหยิบขึ้นมาทานเอง สิ่งแรกที่ผมทำไม่ใช่มุ่งหน้าไปซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือเปิดตำราทำอาหาร แต่คือการชมคลิปวีดีโอในยูทูปเรื่องการช่วยชีวิตเด็กหากมีสิ่งของติดคอซึ่งเป็นความเสี่ยงหนึ่งของวิธีหย่านมแบบให้ลูกนำ หลังจากชมคลิปเสร็จก็ต้องฝึกฝนกับตุ๊กตา พร้อมทั้งเตือนตัวเองว่าห้ามทิ้งให้ลูกนั่งอยู่คนเดียวระหว่างมื้ออาหารเด็ดขาด
เมื่อฝึกฝนการช่วยชีวิตเบื้องต้นจนมั่นใจ ขั้นตอนต่อไปก็คือการเตรียมสำหรับอาหารในแต่ละมื้อ โดยผู้เขียนในฐานะพ่อบ้านตื่นเช้ามีหน้าที่เข้าครัวเตรียมอาหารให้ลูกทุกวัน ซึ่งบอกตามตรงว่าไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมากนัก เพียงการตัดหั่นให้เป็นชิ้นพอที่มือน้อยๆ จะหยิบจับได้ถนัดโดยจะต้องไม่เล็กเพราะอาจเสี่ยงติดคอ แล้วนำไปนึ่งหรือต้มให้เด็กชายที่ยังไม่มีฟันน้ำนมสามารถเหงือกบดจนละเอียด
หากใครจินตนาการไม่ออกว่าต้องนุ่มแค่ไหน ก็ลองหยิบอาหารที่ทำเข้าปากแล้วใช้ลิ้นดุนอาหารกับเพดานเหงือก หากพอบดแหลกก็เป็นอันใช้ได้
อาหารที่เราเลือกมานำเสนอเจ้าตัวเล็กมีตั้งแต่แครอท แตงกวา ฟักทอง บร็อคโคลี่ อาโวคาโด แอปเปิล มะละกอ มันหวาน มันฝรั่ง พริกหยวก กล้วย ตับ หมูสับ อกไก่ ข้าวปั้น ไปจนถึงพาสต้าซอสมะเขือเทศที่ไม่ได้ปรุงรส จุดสำคัญคือการให้หนูน้อยลองทานทีละอย่างเพื่อสังเกตอาการแพ้ แล้วค่อยๆ เพิ่มเติมอาหารชนิดใหม่ในภายหลัง
มื้อที่ไม่มีใครต้องคอยป้อน
แล้วก็ถึงเวลาที่ทั้งครอบครัวจะได้กินข้าวพร้อมหน้ากัน อุปกรณ์ที่ใช้มีไม่มาก เพียงเก้าอี้เด็กและผ้ารองพื้นกันเลอะเทอะ มื้อแรกของเจ้าตัวเล็กเป็นฟักทองนึ่งวางเรียงรายอยู่ตรงหน้า คู่มือแนะนำว่าในวัยนี้ยังไม่ควรใช้อุปกรณ์อย่างจานชามเพราะเด็กน้อยอาจสนใจที่จะแทะเครื่องครัวมากกว่าของกิน
ผมและภรรยานั่งรับประทานอาหาร ขณะที่ธารินทร์มองแท่งฟักทองด้วยตากลมโต แล้วขยับมือน้อยๆ ไปขยุ้มจนแหลกเละคามือ ผมยิ้มแหะๆ ท่าทางฟักทองจะนุ่มเกินกว่าที่จะคว้าจับได้ แต่เด็กชายก็หยิบเนื้อเละๆ มาละเลงป้ายหน้าป้ายตาจนเปรอะเปื้อน บางครั้งคว้าเข้าปากเป็นชิ้น แต่ไม่นานก็ส่งเสียงไอค่อกแค่กแล้วคายออก ผ่านไปราวหนึ่งชั่วโมง ฟักทองอาจเข้าปากไปไม่กี่โมเลกุลส่วนที่เหลือละเลงอยู่เต็มตัว หน้า เก้าอี้ และพื้น
นี่คือสภาพที่พ่อแม่ต้องทำใจก่อนเริ่มหย่านมแบบลูกนำ การสำลักเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้สำหรับการกลืนอาหาร ส่วนเรื่องปริมาณอาหารที่รับประทานได้น้อยก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะมื้อหลักของเจ้าตัวเล็กก็ยังเป็นน้ำนมแม่ แต่เรื่องความเลอะก็ต้องอดทนไปอีกหลายเดือนกว่าลูกจะหยิบจับอาหารได้อย่างคล่องแคล่ว
แต่สิ่งที่ผมรู้สึกคือความสุขที่ได้กินข้าวอย่างพร้อมหน้า และไม่มีใครต้องถูกขืนใจให้กินอาหาร
เด็กชายมีพัฒนาการในการหยิบจับอาหารอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผมที่เรียนรู้ว่าต้องปรุงให้นิ่มแค่ไหนจึงจะเหมาะสม การได้เห็นเด็กน้อยกินแอปเปิลรสเปรี้ยวแล้วทำหน้าหยี ชิมมะละกอหวานหอมแล้วทำตาโต หยิบอาโวคาโดของโปรดเป็นอย่างแรกทุกมื้อ หรือกินพาสต้าซอสมะเขือเทศเหมือนกันทั้งพ่อแม่ลูก กลายเป็นความทรงจำดีๆ บนโต๊ะอาหารที่ไม่อยากจะแบ่งปันให้ใคร และหวังลึกๆ ว่าเราจะได้นั่งกินข้าวพร้อมหน้ากันอีกนานแสนนาน