- คุยกับแชมป์- ทีปกร วุฒิพิทยามงคล จากเด็กชายตัวเล็กที่โดนรุมจากอำนาจของรุ่นพี่ในโรงเรียน เขาค้นพบพลังที่ช่วยกระจายเสียงเล็กๆให้ดังขึ้น และวิธีใช้พลังนั้นเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทั้งตัวเองและคนอื่น
- เสียงจากครอบครัวเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เสียงเล็กๆ ของเขาดังขึ้น และหล่อหลอมให้เขาเป็นเขาในวันนี้
- “ประสบการณ์พวกนี้มัน imprint เรา ทำให้เรารู้ว่าการเรียกร้องในสิ่งที่เราควรจะได้มันโอเค ซึ่งพ่อแม่ก็รู้เรื่องนี้ และบอกว่าดี ทำถูกแล้ว ถ้าเป็นพ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่าลูกถูกเรียกไปห้องปกครองเป็นเด็กเกเรก้าวร้าว แต่พ่อแม่เราได้อ่านการ์ตูนก็บอกว่าสนุกดี ซึ่งตรงนี้มันช่วย shape เราเยอะมากเลย ถ้าสมมติวันนั้นเขารีแอคเป็นอีกแบบ เราอาจไม่ได้มาทำสื่ออย่างทุกวันนี้”
- “แค่ผู้ใหญ่ยอมรับกับตัวเองได้ว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง ไม่ได้เป็นโพยของเด็กและต้องไม่อายที่จะบอกลูกว่าไม่รู้ หรือบอกเด็กว่า เราไปหา Google ด้วยกันมั้ย มารู้ไปพร้อมกัน ผู้ใหญ่ต้องเลิกอำนาจนิยมก่อน เราว่าตรงนี้จะช่วยปลดล็อคได้”
หากย้อนกลับไปในยุคที่ยังไม่มีเฟซบุ๊ค วัยรุ่นส่วนใหญ่ในยุคนั้นไม่มีใครไม่รู้จัก เว็บบล็อค Exteen (และถ้าคุณรู้จัก ตอนนี้ก็ยังนับตัวเองว่าเป็นวัยรุ่นได้อยู่เหมือนกันนะ) พื้นที่บันทึกความคิด แสดงความเห็นและตัวตน และเป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับนักเขียนหลายราย แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล คือผู้สร้างเว็บไซต์แห่งนั้นขึ้นมาตอนเขาเรียนอยู่ปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะอยากให้เพื่อนมีที่เขียนเรื่องออนไลน์ หลังเรียนจบแชมป์เข้าทำงานประจำที่ Reuters แผนกซอฟแวร์สำหรับดูหุ้น ที่ที่เปิดการเรียนรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ของเขา จังหวะเดียวกับที่ exteen กลายมาเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมอันดับต้นของประเทศ และทำให้ตัวเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น
แชมป์เริ่มเขียนหนังสือ และเข้าสู่วงการนักเขียนอย่างเต็มตัว ผ่านการชักชวนของ บิ๊ก- ภูมิชาย บุญสินสุข แห่งสำนักพิมพ์ a book ในขณะนั้น เขาสั่งสมทักษะการสื่อสารหลายรูปแบบ ทั้งวาดการ์ตูน เขียนบทความ ทำเว็บไซต์ ทำเพจ จัดรายการวิทยุเรื่องข่าวสารเทคโนโลยี จนได้รับคำชวนจากอาจารย์ ปกป้อง จันวิทย์ มาทำกราฟฟิกให้รายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด ของ 101 (วันโอวัน) จนทักษะการพูดฉายแววและยื่นหมวกอีกใบให้กับเขา นั่นคือการเป็นพิธีกรรายการ วัฒนธรรมชุปแป้งทอดร่วมกับ นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) และ โตมร ศุขปรีชา ที่ที่เปิดโลกเรื่องนิติรัฐ โครงสร้างในประเทศไทย และสร้างฐานให้เขามองทุกอย่างรอบด้านมากขึ้น ก่อนตกผลึกออกมาเป็น The Matter สื่อออนไลน์ปัจจุบันแชมป์เป็น คอลัมนิสท์ให้กับ เว็บไซท์ Momentum, The 101.world, a day bulletin, เจ้าของลายเส้น #หมีเขี่ย และเจ้าแมว #ทีมขี้เกียจในเฟซบุคเพจ Champ Teepagorn และปัจจุบันทำงานที่ NETFLIX ประเทศสิงคโปร์
ตลอดเส้นทาง หลากรูปแบบหลายบทบาทในวงการสื่อ โอกาสทั้งหมดเกิดจากการสั่งสมทักษะและการเห็นพลังของสื่อ ที่แชมป์พูดได้อย่างมั่นใจมาเสมอว่า “สิ่งที่ตัวเองชอบคือ Communication”
เขาหาความชอบและพลังนี้เจอได้อย่างไร แล้วเสียงแบบไหน ที่ทำให้เด็กชายตัวเล็กที่เคยโดนอัดร่วงที่โรงเรียน กลายมาเป็นอีกหนึ่งเสียงของคนรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมในวันนี้ คอลัมน์ Dear Parents ขอเสนออีกหนึ่งเสียงที่อยากส่งถึงผู้ใหญ่และผู้ปกครองทุกท่าน
ย้อนกลับไปเด็กชายทีปกร คือเด็กชายตัวเล็ก ที่เป็นเป้าของการโดนรังแกจากรุ่นพี่ในโรงเรียน ที่เจ้าตัวเล่าว่าสมัยนั้นไม่ใช่ Social bullying ที่ทำให้อับอาย แต่เป็นการทำร้ายร่างกาย ที่โดนอัดร่วงลงไปกองกับพื้นแบบโนบิตะ จนกระทั่งขึ้นมัธยม การค้นพบพลังโดเรมอนในตัวเองทำให้ฐานันดรในโรงเรียนของเขาเปลี่ยนไป
ชีวิตในโรงเรียนของเด็กชายทีปกรเป็นอย่างไร
ตอนเด็กผมเป็นคนสายตาสั้นก็จะถูกหักแว่น คือโหดมากจริงๆ ครับ โดยเฉพาะพ่อก็จะไม่ค่อยแฮปปี้ที่เราเป็นคนไม่สู้คน เขาก็จะบอกให้สู้คนสิ แต่เราไม่มีต้นทุนทางด้านร่างกายจะให้เราไปต่อยกับเขา เราคงแย่กว่าเดิม ส่วนแม่จะเป็นฝ่าย support คอยปลอบ เขาจะทำหน้าที่คนละอย่างกัน แต่ความรู้สึกว่าเราต้องต่อกรกับอำนาจอะไรบางอย่างน่าจะเกิดขึ้นตอนนั้น เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ตัวเล็กในที่นี้คือตามตัวอักษรจริงๆ ที่โดนแกล้ง โดนรังแก โดนกระทำ เรารู้สึกว่ามันไม่มีวิธีใดแล้วที่จะสามารถต่อกรกับอำนาจพวกนี้ได้ เราเคยพยายามที่จะพึ่ง authorities เช่น ไปฟ้องครู แต่ครูก็ไม่ค่อยช่วย อาจเพราะครูเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เด็กเล่นกันทะเลาะกันไม่ควรเข้าไปยุ่ง พอจบป.6 ปุ๊บ ผมคิดเลยว่าต้องเปลี่ยน มัธยมจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้แล้ว
ข้อดีของเราคือ เป็นเด็กที่เรียนเก่ง หัวดี ดังนั้นเราเลยพยายามสอบให้ได้ห้อง 1 (ห้องเด็กเก่ง) ของโรงเรียนในจังหวัดเพื่อที่จะได้หนีไปจากการโดนแกล้ง ตอนนั้นคิดในใจว่า ไม่ได้ละ เราจะไม่มีชื่อเสียงด้านนี้อีก พอม.1 เราคิดว่าในเมื่อเราเป็นเด็กที่ไม่ได้มีต้นทุนทางด้านร่างกาย เด็กห้อง 1 ก็เรียนเก่งเหมือนกันหมด แล้วอะไรเป็นจุดเด่นของเรา? ตอนนั้นโชคดีที่พอเราสอบเข้าม.1 ได้ พ่อแม่ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่มากเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้เราพบกับโลกของ programming /coding ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่ามันจะคลิกกับเรานะ แต่เราสามารถอ่านและเขียนได้เอง อันนี้เป็นอันหนึ่งที่เรารู้สึกว่า “โอ้ว อันนี้เราเก่งว่ะ
อีกอันที่ทำได้ดีคือภาษาอังกฤษ คงไม่ดีเท่ากับคนไปเรียนต่างประเทศแต่ถือว่าดีในระดับที่ซึมซับเหมือนฟองน้ำ พอมีคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน เริ่มใช้โปรแกรมนู่นนี่เป็น เรารู้สึกว่าอันนี้แหละจะสร้างความแตกต่างให้เรา แต่ตอนนั้นคงไม่ได้คิดเป็นระบบอย่างนี้หรอกนะ แค่คิดว่าจะทำอะไรดีให้เพื่อนสนุก ให้เพื่อนยอมรับ ก็เลยทำหนังสือพิมพ์ห้อง ใช้โปรแกรม Word พอทำหนังสือพิมพ์ห้องแล้วไม่มีใครแกล้งเราเลย เราเริ่มรู้จักพลังของสื่อ นี่คือพลังของฐานันดรที่มี เพราะทุกคนอยากอ่าน แซวนู่นนี่ เราไม่ได้รังแกคนอื่นนะ ก็มีเขียนคนนี้จีบกัน มันก็ตลก คาบนี้เรียนอย่างนี้ อะไรไปเรื่อยเปื่อย เป็นหนังสือพิมพ์ที่เวียนกันอ่าน ปริ๊นท์ออกมาแล้วเวียนกันอ่านในห้องจนครบ 30 คน”
พอเขียนโปรแกรมเป็น ก็เริ่มทำเกมส์ให้เพื่อนเล่น เริ่มรู้ว่า เรามีข้อดีด้านการสื่อสาร เราชอบเวลาที่สื่อสารอะไรไปแล้วเห็นผลลัพธ์ อย่างทำเกมแล้วเพื่อนเล่นก็เห็นผลลัพธ์ว่าเพื่อนทำหน้าอย่างนี้ เพื่อนชอบเกมนี้ เพื่อนรู้สึกว่าเกมนี้ห่วย ชอบประดิษฐ์เกมให้เพื่อนเล่นในห้อง มีโมเดลการคิดแบบนั้นในตัว เรื่อยมาจนม.ปลาย ก็ทำเวปไซต์ห้อง ซึ่งพอมองย้อนกลับไปการที่เราเก่งคอมพิวเตอร์ ส่วนหนึ่งเพราะเราได้ภาษาอังกฤษ ทำให้เราอ่านศึกษาได้เอง
ก่อนที่จะเจอว่าสื่อคือเครื่องมือช่วยเลื่อนฐานันดรในโรงเรียน ย้อนกลับไปตอนที่ลูกโดนรังแก ครอบครัวมีรีแอคชั่นกับเรื่องนี้อย่างไร
พ่อไม่ชอบครับ แกบอกต้องต่อสู้นะ ส่วนแม่จะเป็นสายโอ๋ มันมีครั้งหนึ่งเราทะเลาะกับครูในชั่วโมงงานประดิษฐ์ เพราะครูอยากให้เราทำงานประดิษฐ์ที่เราคิดว่ามันไม่เมคเซนส์ ครูให้ร้อยด้ายเป็น pattern ทำมาสามอาทิตย์แล้วต้องทำอีกเหรอ เราก็ตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำวะ ทำเพื่ออะไร ตอนนั้นไม่ได้พูดอย่างนี้กับครูนะ แต่เราคงดื้อแพ่งไม่ทำ ครูเลยไม่พอใจเรียกพ่อแม่เราไปพบ
พอพ่อแม่เราไปพบครู เขากลับมา เขาไม่ได้ผิดหวังในตัวเราเลย เขาบอกว่าดีแล้วที่ตั้งคำถาม แม่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าครูให้ทำไปทำไม ซึ่งอันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้วิธีคิดของตัวเองว่ามาจากไหนและกล้าที่จะตั้งคำถามนะ
เราว่ากว่าที่พ่อแม่จะกล้าตั้งคำถามกับครูอย่างทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในตอนนั้นมันยากมากเลยนะ ที่พ่อแม่จะบอกว่าครูไม่ถูก ลูกฉันถูกนะ แล้วงานที่ครูสั่งมันไม่เมคเซนส์
อีกครั้งหนึ่งคือเราต่อสู้กับครูมัธยมตอนม. 2 คือมีครูภาษาอังกฤษคนหนึ่งเขาจะบอกข้อสอบนักเรียนที่ไปเรียนพิเศษกับเขา แล้วเรารู้สึกไม่แฮปปี้มากๆ จำได้เลยว่าข้อสอบเป็นเรื่อง linking verb วิธีการของเราไม่ใช่ด่าครู แต่เราเขียนการ์ตูน 32 หน้า เพื่อบอกว่ามันไม่โอเคยังไง คล้ายๆ ทำให้ครูเป็นฝ่ายร้าย คนที่เหลือในห้องเป็นฝ่ายดี เหมือนคนที่เหลือต้องรวมพลังกันเพื่อต่อสู้กรกับฝ่ายร้ายตัวนี้ ทำเป็นการ์ตูนเวียนกันอ่าน ทีนี้พอเวียนกันอ่าน ก็มีคนเอากลับไปที่หอ คนที่หอพักมีรุ่นพี่ที่เขาคุยกับครูคนนี้อยู่ รุ่นพี่ก็เลยเอาไปให้ครูคนนี้อ่าน เราเลยโดนเรียกไปห้องปกครองว่า “ทำไมทำอย่างนี้ เธอโดนไล่ออกได้เลยนะ เธอทำอย่างนี้กับครู ครูไม่เข้าใจว่าทำไมถึงก้าวร้าวขนาดนี้”
แต่มันดันกลายเป็นอีกครั้งที่เราซาบซึ้งใจ เพราะเพื่อนทั้งห้องมานั่งกันหน้าห้องปกครอง แล้วบอกว่าจะลงโทษเราไม่ได้ มาช่วยซัพพอร์ตเราว่าครูทำผิดจริงๆ ผลลัพธ์คือครูคนนั้นไม่ได้ถูกไล่ออกแต่ต้องย้ายไปสอนห้องอื่น ในขณะที่เราได้ครูคนใหม่มาซึ่งดีมาก
ประสบการณ์พวกนี้มัน imprint (ประทับตราในใจ) เรา ทำให้เรารู้ว่าการเรียกร้องในสิ่งที่เราควรจะได้มันโอเค ซึ่งพ่อแม่ก็รู้เรื่องนี้ และบอกว่าดี ทำถูกแล้ว ถ้าเป็นพ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่าลูกถูกเรียกไปห้องปกครองเป็นเด็กเกเรก้าวร้าว แต่พ่อแม่เราได้อ่านการ์ตูนก็บอกว่าสนุกดี ซึ่งตรงนี้มันช่วย shape เราเยอะมากเลย ถ้าสมมติวันนั้นเขารีแอคเป็นอีกแบบ เราอาจไม่ได้มาทำสื่ออย่างทุกวันนี้
คุณพูดถึงว่า พ่อแม่สมัยนี้กล้าที่จะมีคำถามกับครูมากขึ้น ‘ลูกฉันถูกนะ’ แต่ก็มีพ่อแม่แบบที่ ‘ลูกฉันถูกเสมอ’ ปกป้องลูกไว้ก่อนแต่ไม่ได้เกิดบทสนทนาเพื่อคุยกันว่าความจริงอยู่ตรงไหน แล้วเส้นแบ่งของ ‘ลูกฉันถูก’ กับ ‘ลูกฉันถูกเสมอ’ มันอยู่ตรงไหน
เราว่าต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ครูสั่งให้เด็กกราบ แต่ที่บ้านเราไม่ได้เลี้ยงมาแบบนี้ แล้วเด็กไปตั้งคำถามครูว่าทำไมต้องกราบครู ถ้าพ่อแม่จะไปปกป้องลูกก็อาจจะเป็นเรื่องถูก แต่ถ้าลูกไปต่อยเพื่อนที่เขาไม่มีทางสู้ แล้วพ่อแม่มาปกป้อง อันนี้คงไม่ใช่ ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป
สำหรับเรา สถาบันครอบครัวและโรงเรียนเป็นสิ่งที่ปลูกฝังเรามาเยอะเหมือนกัน เพราะมันคือโมเดลสังคมย่อส่วน เวลาเรามองบ้านที่มีพ่อแม่ลูก โครงสร้างอำนาจของบ้านหลังนั้นมันฝังเข้าไปในใจคน อย่างในบ้าน พ่อแม่มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร ลูกสามารถทวนกระแสอำนาจขึ้นไปได้บ้างรึเปล่า อย่างการตั้งคำถาม ทำไมต้องกินข้าวตอนนี้ ทำไมต้องพูดลงท้ายว่าครับ สมมตินะ มันได้รึเปล่า แล้วถ้าได้ พ่อแม่มีรีแอคชั่นกลับมายังไง เราว่ามันฝังไปในใจเด็ก แล้วมันจะค่อยๆ ทำให้เขาเติบโตมาเป็นคนแบบนึง ในโรงเรียนก็เหมือนกัน ครูมีอำนาจเหนือนักเรียนมาก วิธีการสอนของครู มันเป็นวิธีบอกหรือพานักเรียนไปด้วยกันไหม เราคิดว่าพวกนี้มันส่งผลต่อโมเดลความคิดเด็กให้กลายมาเป็นอาชีพ กลายมาเป็น active citizen ในอนาคต
ถ้าตอนนั้นเราบอกว่าการบอกข้อสอบไม่ถูก แล้วเพื่อนทั้งห้องบอกว่าถูก ให้ไปเรียนกับเขาสิ จ่ายเงินไปก็จบแล้ว เราคงเป็นคนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันคงไม่ใช่เหตุการณ์เดียวแต่มันสะสมกันมา โชคดีที่ตอนนั้นทั้งเพื่อน ทั้งพ่อแม่เป็นแบบนี้ กระทั่งเรื่องที่ครูบอกข้อสอบเด็ก เราก็คิดว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราเป็นคนแบบทุกวันนี้
เราเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้อง เห็นเกรียต้า ธุนเบิร์ก เห็น Black Lives Matter เห็นวัยรุ่นฮ่องกง เห็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไทย เขามีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือคล้ายกัน แต่เเรงกระเพื่อมต่อสังคมต่างกัน คุณคิดว่า สังคมความเป็นเอเชียนกับสังคมแบบตะวันตก มีผลต่อการแสดงออกต่อปัญหาสังคมไหม
คิดว่ามีนะ คือความเป็นเอเชียนมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเป็นครอบครัวใหญ่ คนเอเชียมักจะมีจุดร่วมกันคือเป็น Collectivism คือยูเป็นส่วนหนึ่งของผิวน้ำ น้ำหยดหนึ่งรวมกันเป็นทะเลใหญ่ และยูไม่ควร make waves ให้กับมัน จะสอนกันประมาณนี้ ในแง่ของความสงบเรียบร้อยมันก็ดี แต่ว่า ถ้าประเทศชาติอยู่ในสถานะที่ไม่ดีและควรจะเกิดการเปลี่ยนแปลง การสอนลูกว่ายูไม่ควรสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย มันจะทำให้เขาแย่ในอนาคตเพราะบ้านเมืองก็จะไหลไปสู่ที่ที่มันไม่ควรจะไปมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นถามว่าการบอกให้ fit in กับคนอื่น พวกนี้มันมีผลหมดแหละ
เราชอบพูดกันว่าชอบเด็กที่ตั้งคำถาม สอนให้เด็กคิดเป็น ไม่จริงอะ! ยังบอกให้เด็กดูการเรียนการสอนทางไกลผ่านทีวีอยู่เลย ในบางโรงเรียนแค่จะไปเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ยังไม่ได้ การสอนให้เด็กคิด มันกลายเป็นแค่สโลแกนที่ทำให้ทุกคนรู้สึกดี ใช้คำว่า Child Center แต่บางทีครูมีคำตอบอยู่แล้ว
ส่วนหนึ่งมันเกิดจากการที่ครูเองเขาโตมาแบบนี้ เขาก็เลยสอนต่อไปอย่างนี้ หรือเปล่า
มันก็ได้นะ แต่ว่าตัวครูเองต้องตระหนักด้วยว่าในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะยุคที่มีเทคโนโลยี มีอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นแบบ exponential ซึ่งครูบางคนที่มีชีวิตเติบโตมาแบบเส้นตรง เขาไม่ควรเอาประสบการณ์ของตัวเองทั้งหมดมาตัดสินการเติบโตแบบ exponential นี้ เพราะมันจะกลายเป็นการทำให้เด็กไม่ได้ถูกฝึกให้มีทักษะเพื่อตลาดแรงงานในอนาคต หรือสังคมในอนาคต
ซึ่งถ้าครูมีความตระหนักว่าจริงๆ ฉันไม่รู้ รวมถึงพ่อแม่ด้วยนะ ขอแค่นี้เลย แค่ผู้ใหญ่ยอมรับกับตัวเองได้ว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง ไม่ได้เป็นโพยของเด็กและต้องไม่อายที่จะบอกลูกว่าไม่รู้ หรือบอกเด็กว่า เราไปหา Google ด้วยกันมั้ย มารู้ไปพร้อมกัน ผู้ใหญ่ต้องเลิกอำนาจนิยมก่อน เราว่าตรงนี้จะช่วยปลดล็อคได้
ทุกวันนี้เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งมันมีช่องว่างของความที่ผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจว่าเทคโนโลยีคืออะไร เขาเลยมีความกลัวต่อการเข้ามาของสิ่งนี้ เลยใช้วิธีจำกัดการใช้ของเด็ก ๆ
จริงๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาทั่วโลกเนอะ กระทั่งว่าเจ้าของแพลตฟอร์ม YouTube เขาก็ต้องพยายามที่จะมีฟังก์ชั่นมาเพื่อจำกัด เช่น YouTube Kids เพราะไม่อยากให้เด็กหลงไปดูคลิปที่ไม่ควร เราคิดว่าคำตอบมันจะตามสูตรมากเลย คือถ้าพ่อแม่ไม่รู้ พ่อแม่ก็ต้องใช้ไปกับลูก ถ้าไม่รู้ว่านี่คืออะไร ก็ศึกษาไปด้วยกัน ใช้ไปด้วยกัน เราว่าบางเรื่อง อย่างลูกมาบอกว่าสมัคร Tiktok มา พ่อแม่ก็เข้าไปดูหน่อยก็ได้ว่า Tiktok คืออะไร ถ้าปัดไปทั้งหมดว่าเรื่องคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องไร้สาระ มันไม่ถูกต้อง
โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยเปิดพื้นที่ให้แสดงออก ช่วยให้เด็กพูด กล้าตั้งคำถามมากขึ้น แล้วแง่ลบที่เราควรรู้ทันและระวังล่ะ
algorithm ของ social network ต่างๆ พื้นฐานคือเสิร์ฟสิ่งที่เราชอบ ซึ่งการเสิร์ฟสิ่งที่เราชอบ ก็จะพาเราไปสู่ หนึ่ง echo chamber (ห้องแห่งเสียงสะท้อน) สอง ไปสู่ความคิดที่รุนแรงขึ้น (radical thinking) ได้ง่าย เช่น YouTube สมมติว่าเราคลิกวิดีโอประหลาดที่เสนอมาซักอัน สมมติเป็นวิดีโอตัดหัวตุ๊กตา YouTube ก็จะจำว่าเราชอบอย่างนี้ แล้วก็จะพาเราเข้าไปสู่หลุมดำของการตัดหัวตุ๊กตาและมันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่ามันไม่ได้มี เครื่องป้องกันให้เด็กขนาดนั้น สมมุติว่าเด็กอายุเกิน 10 ขวบใช้ YouTube เวอร์ชั่นผู้ใหญ่ แล้วเด็กเผลอเข้าไปในหลุมดำนั้น มันก็น่ากลัวนะว่าเขาจะสามารถตัดสินใจได้ไหมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ดีกับเขาหรือไม่ อันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้ทัน ครูเองก็ต้องรู้ทัน
มันก็จะกลับไปที่พ่อแม่และครูเองก็ต้องรู้ ต้องมี Media Literacy
ซึ่งผู้ใหญ่เองเขาก็อาจจะไม่รู้ เด็กอาจจะรู้มากกว่าพ่อแม่ก็ได้นะ อย่าคลิกเข้าไปแบบนี้เยอะเพราะมันจะแนะนำมาอีกเยอะ ผมก็เคยเห็นเด็กที่เตือนพ่อแม่แบบนี้ หรือมีกระทั่งว่า ลูกของครอบครัวที่เป็นเพื่อนกัน แล้วพ่อแม่เขาชอบดูอะไรที่รุนแรง ลูกก็แอบเข้าคอมพ์พ่อแม่แล้วไปคลิกอะไรที่มันซอฟท์ๆ เพื่อไปถ่วงดุลไม่ให้มันแนะนำอะไรที่รุนแรงขึ้นมาเยอะ คือเขาก็มีวิธีการจัดการแบบของเขาซึ่งเรารู้สึกว่าน่ารักดี และเป็นมุมกลับว่าแทนที่พ่อแม่ต้องสอน Media Literacy ใส่ลูก แต่ลูกนี่แหละที่อาจจะเป็นคนสอนพ่อแม่ ยิ่งในยุคนี้เรายิ่งเห็นลูกสอนพ่อแม่ใช้เทคโนโลยีเยอะมาก สุดท้ายเราว่าคือการเปิดใจว่าตัวเราเองไม่ได้รู้มากที่สุดนะ
เริ่มจากยอมรับว่าเราไม่รู้ในบางเรื่อง เพื่อให้เกิดบทสนทนา แล้วเรียนรู้ไปพร้อมกัน ซึ่งมันก็มักจะหนีไม่พ้นความเห็นต่าง ยิ่งประเด็นร้อนอย่างการเมือง เราจะเริ่มสร้างบทสนทนาที่ดีได้อย่างไร
เราคิดว่ามันต้องกลับมาเริ่มต้นที่การตั้งคำถามกันว่าทำไมถึงคิดอย่างนี้ เป็นเพราะอะไร ทำไมถึงคิดว่านาย A ดี เป็นเพราะว่านาย A เขามีประวัติอย่างนี้เหรอ
การคุยที่ดีมันต้องอยู่ในโหมดที่ไม่ต่อสู้กัน ซึ่งการคุยแบบนี้ควรเริ่มได้ง่ายในสถาบันครอบครัวนะ เพราะโดยมากพ่อแม่ก็หวังดีกับลูก ลูกก็หวังดีกับพ่อแม่ ในครอบครัวไม่มีใครเป็นศัตรูกัน ไม่มีเจตนาแอบแฝง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน คือมันเป็นสถาบันที่ถ้าฝ่ายหนึ่งดีอีกฝ่ายก็ดีใจตามไปด้วยโดยพื้นฐาน ดังนั้นเราคิดว่าควรใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นจุดเริ่มในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สุดท้ายแล้วเรากับพ่อแม่ก็เป็นหน่วยสังคมเดียวกัน
แต่ก็มีหลายเคสต์ที่ครอบครัวกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย มีหลายคนไม่คุยกับพ่อแม่เรื่องการเมืองเพราะว่ามีความเชื่อไม่ตรงกัน คุยแล้วทะเลาะเลยหลีกเลี่ยงดีกว่า เราจะเริ่มสร้างบทสนทนาการเมืองในบ้านได้อย่างไร
ปัญหาคือเมื่อทะเลาะกับพ่อแม่เนี่ย มันกระทบใจเยอะที่สุด มากกว่าทะเลาะกับคนในเน็ตเยอะ
เริ่มคุยจากเรื่องปัญหาเฉพาะหน้าของลูกก็ได้ เช่น ไปทำงานไม่ทันรถติด ทำไมถึงรถติด เพราะวางผังเมืองไม่ดีเหรอ รถไฟฟ้าสายนี้ไหนบอกจะเสร็จนานแล้ว อะไรอย่างนี้ มันเริ่มจากอะไรใกล้ตัวได้ รถไฟฟ้าสายนี้ไม่เสร็จเพราะว่าเขาไม่ต้องแคร์เราเหรอ ผลักศัตรูให้มันไกลจากคนที่พ่อแม่แคร์ไปหน่อย หาทางลงนิ่มๆ ให้เขา ถ้าไปหักที่โคนเขาเลย ไม่มีทาง เพราะเขาสั่งสมสิ่งนี้มา 50-60 ปี จะไปหวังโมเมนต์เหมือนในละครที่พูดประโยคเดียวแล้วน้ำตาไหล ไม่มีหรอก เอาเท่าที่ได้ก่อน ตั้งเป้าหมายต่ำหน่อย แล้วก็พยายามดึงให้มันเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ เรื่องปากท้อง ทำไมไข่ถึงแพง ช่วงนี้คนลำบากเนอะป๊า ช่วงนี้ขายของไม่ดีเนอะ อะไรอย่างนี้ พยายามตั้งพื้นฐานด้วยความจริงบางอย่างให้ที่บ้านยอมรับก่อน มีเรื่องที่เห็นด้วยตรงกันก่อน เช่น ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี แล้วเพราะอะไร ก็ค่อยไปแกะทีละปม
แต่หลายครั้งการตั้งคำถาม กลายเป็นผู้ใหญ่มองว่าเถียง หรือไปท้าทายความเชื่อของเขา
บางครั้งอาจจะต้องรอจังหวะที่เขาพูดขึ้นมาเอง จังหวะที่อีกนิดนึงจะไปสู่เรื่องนั้นได้แล้ว ลองใช้จังหวะนั้นโน้มเขามา ซึ่งมันก็ทำยากแหละ บางทีไม่พูดละกัน เบื่อ ก็ต้องค่อยๆ โน้มมาทีละนิดๆ ค่อยๆ เคลื่อน แล้วก็ตั้งความหวังไว้ในใจว่า ต้นไม้เป็นไม้ยืนต้นแล้ว อย่างมากได้แค่เคลื่อนกิ่งโน้นกิ่งนี้นิดหน่อย แต่จะไปเคลื่อนโคนคงไม่ได้ ต้องตั้งโจทย์นี้ไว้ในใจด้วย โดยเฉพาะลูกๆ ต้องรู้จักชื่นชมยินดีกับชัยชนะเล็กๆ
คุณคิดว่า Generation gap มีผลแค่ไหน ณ วันนี้ เรามีความเห็นไม่ตรงกับพ่อแม่ แต่ ณ วันข้างหน้าที่เราเติบโตขึ้น เราอาจกลายเป็นคนแบบที่ทะเลาะกับลูก
ผมคิดเรื่องนี้ตลอดเวลา คือเราเคยคิดว่าเราไม่สามารถอยู่ในด้านที่ถูกของประวัติศาสตร์ได้ ไม่สามารถมั่นใจในเรื่องนี้ได้ง่ายๆ อย่างเช่น สิทธิของคนข้ามเพศ (trans) คนที่เกิดมาก่อนหน้านี้เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสิ่งนี้อยู่ในโลก trans เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้แปลงเพศได้ระดับนี้ เพราะฉะนั้นมันเลยย้อนกลับไปที่ เราต้องสร้างพื้นที่ในการตั้งคำถามได้ ตอนนี้บางที่มันร้อนมากจนกระทั่งแค่การตั้งคำถามก็โดนด่า เพราะงั้นเหมือนกันกับเรื่องพวกนี้ ในอนาคต มันมี norm บางอย่างที่เราอาจจะไม่รู้เลยตอนนี้ อย่างสิทธิของหุ่นยนต์ เราไม่รู้ว่ามันควรจะทำอย่างไรในอนาคต เพราะตอนนี้เราก็ไม่มีฐานด้วยซ้ำว่าคนจะปฏิบัติอย่างไรกับหุ่นยนต์หรือแรงงานบางอย่างที่มนุษย์เป็นส่วนประกอบ 10% เป็นสิ่งที่เทคโนโลยียังมาไม่ถึง แต่ในอนาคตถ้ามันมาถึงแล้ว เราจะเอาอะไรเป็นฐานคิดเราก็ต้องกลับไปสู่ฐานคิดแบบที่เราเคยมี ซึ่งตอนนั้นมันอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นผมคิดเรื่องนี้ตลอดเวลาว่า อย่ามั่นใจนักว่าเราถูกต้องในเมื่ออีก 100 ปีข้างหน้าการที่เราจะถูกต้องไม่น่าจะเป็นไปได้
สรุปคือ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงเปิดใจรับข้อมูลใหม่ๆ เสมอ
ใช่ และบางเรื่องก็ต้องรู้ว่าไม่รู้ สำคัญที่สุดคือต้องยอมรับว่าบางเรื่องก็ไม่รู้ คนที่สร้างปัญหาคือคนที่บอกว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง และพยายามที่จะยัดเยียดความรู้ของตัวเองเข้าสู่คนอื่น ซึ่งถ้าคนที่บอกว่าตัวเองรู้ทุกอย่างอยู่ในตำแหน่งที่อำนาจไม่เยอะมากก็อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจมาก เช่น เป็นพ่อ เป็นครู เป็นข้าราชการ มันก็อาจจะแย่ไง
วันนี้ ครอบครัวในมุมของคุณหมายถึงอะไร
เราคิดว่าสุดท้ายแล้วครอบครัวในนิยามใหม่ คือหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด ดังนั้นมันคืออะไรก็ได้ใช่ไหมฮะ ผมคิดว่าต่อไปเราจะเห็นครอบครัวที่มีลักษณะเป็นเพื่อนกันที่อาศัยอยู่ด้วยกันเฉยๆ มากขึ้นแล้วก็เรียกว่า อันนี้คือครอบครัว ในอนาคตอันนี้จะกลับไปเชื่อมกับเรื่องเดิมที่พูดเมื่อกี้คือเราไม่มีทางรู้ว่า เราอยู่ในจุดที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ เพราะว่าถ้าต่อไปในอนาคตมันมีกฎหมายที่ recognize ว่าการที่เพื่อนที่อยู่กันสองคน ไม่ได้เป็นแฟนกัน ถือว่าเป็นครอบครัวแล้ว สิทธิของอันนี้คืออะไร มันจะเท่าคู่แต่งงานไหม เราก็ไม่รู้ใช่ไหม คู่แต่งงานอาจจะศักดิ์สิทธิ์มากไม่สามารถไปแตะได้เลย แต่เพื่อน 2 คนอยู่กันเป็นครอบครัวทำไมถึงไม่ไป recognize เขา หรือเพื่อนอยู่กับหมาทำไมไม่ recognize ว่านี่คือครอบครัว แล้วหมาถือว่าเป็นคนในครอบครัวไหม ถ้าหมาป่วยต้องลางานได้ไหม
ซึ่งเราไม่รู้ว่าถูกต้องหรือเปล่า ดังนั้นมันก็กลับมาที่ว่าครอบครัวคือหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ซึ่งหน้าตาจะเป็นยังไงก็ได้ เรารู้สึกอย่างนี้ แต่คงไม่ไปถึงขนาดว่า 1 คนคือครอบครัวได้ แต่อย่างน้อย 2 หน่วยของสิ่งมีชีวิตขึ้นไปอาจเรียกว่าครอบครัวได้ อันนี้ก็คงต้องคิดกันต่อไป แต่อย่างไรก็ตามเรารู้สึกว่า ด้วยความที่มันเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมและมันเป็นหน่วยที่เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นที่สุด มันก็สามารถ shape คนคนนึงได้เยอะที่สุดเหมือนกัน ดังนั้นก็เลยผูกกลับมาว่าการที่จะบอกว่าให้สังคมมันก้าวหน้า สังคมบูรณาการซึ่งกันและกัน ก็ต้องเริ่มที่หน่วยเล็กที่สุดก็คือครอบครัว และก็ต้องทำให้ทุกหน่วยในครอบครัวเห็นว่ามันมีโครงสร้างอำนาจยังไง คือเวลาบอกว่าคนเราเท่ากัน เริ่มจากครอบครัวก่อนได้ไหม
ถ้าผู้ปกครองรุ่นใหม่ อยากสนับสนุนลูกให้เติบโตมากล้าคิดกล้าทำ ประสบความสำเร็จ (แบบคุณ) มันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโต
การเปิดประตูให้ลูกเยอะๆ บ้านผมค่อนข้างผลักผมเรื่องนี้ อย่างเช่นตอนเด็กซื้อเลโก้มาให้ ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ ให้เรียนเปียโน เรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งเรื่องพวกนี้ยิ่งเปิดประตูให้ลูกมากเท่าไหร่ ลูกจะยิ่งเห็นว่าอะไรที่เขาชอบอะไรที่เขาไม่ชอบ และมันจะติดตัวไปในอนาคต อาจจะไม่ต้องไปเสียเงินเปิดประตูขนาดนั้นก็ได้นะ แต่ชี้ชวนให้ลูกดูวีดีโอ ดูรายการนี้ไหม ลองสำรวจลูกเยอะๆว่าจริงๆแล้วเขามี preference ไปทางด้านไหนบ้าง แล้วก็ถ้าเขาเจอสิ่งที่ชอบก็ encourage ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่พ่อแม่สมัยใหม่ทำได้ดีมากๆอยู่แล้ว
ซึ่งประตูไม่ควรมาพร้อมความคาดหวังนะ อย่างเราเล่นเปียโนพ่อแม่ไม่เคยให้เราไปสอบใบเซอร์ฯหรือประกวดอะไรทั้งสิ้น คือเล่นเพื่อเล่น แต่ถ้าลูกอยากแข่งขันเองนั่นแหละจึงให้ไป เปิดใจและโอบอุ้มบทสนทนาของลูกในเรื่องนั้นโดยที่ไม่ไปบอกว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงผู้ปกครอง
ผมคิดว่าตอนนี้สภาพสังคมไทยเป็นสภาพที่ร้อน ร้อนแบบระอุ คือเอาแค่จากโลกทวิตเตอร์ก็ได้ เราจะเห็นว่า มันมีคำถามที่แหลมคมออกมาตลอดเวลา เราคิดว่าถ้าข้างนอกร้อนมากแล้ว ในครอบครัวพยายามทำในบ้านให้ไม่ต้องร้อน พยายามอุ่น แค่อุ่นก็พอแล้ว อันนี้คงฝากไปถึงทุกคนในครอบครัวที่ไม่ใช่พ่อแม่อย่างเดียว ในบ้านคือเป็นที่พักจากข้างนอกบ้างเถอะ
ส่วนถ้าฝากไปถึงผู้มีอำนาจก็จะฝากว่า เริ่มยอมรับว่าไม่รู้ก่อน