- ในโลกอนุบาลพอคแคสต์อีพีแรก ชวนทำความเข้าใจธรรมชาติของวัยอนุบาล ตั้งแต่คอนเซปต์อนุบาลไม่ใช่โรงเรียน, เด็กๆ มาเรียนอะไรที่อนุบาล?, การเรียนรู้ของอนุบาลคือการเลียนแบบ ผ่านงานบ้าน งานครัว งานสวน, มองการเติบโตผ่านสรีระ และ คำถามคลาสิค จำเป็นมั้ยต้องเข้าอนุบาล?
- กับ ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ ผู้อำนวยการอนุบาลบ้านรัก ชวนคุยโดย อุบลวรรณ ปลื้มจิตร บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential
The Potential Podcast รายการ ‘ในโลกอนุบาล’ รายการที่จะชวนคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง แม่ครู และครูที่ต้องทำงานกับเด็กวัยอนุบาลทุกคน พูดคุยกันว่า ธรรมชาติของวัยนี้ต้องการอะไรบ้าง
โดยใน 4 เทปแรก เราเชิญ ‘ครูอุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ ผู้อำนวยการอนุบาลบ้านรัก ผู้เป็นแม่ครู และคุณครูของครูอนุบาลของใครอีกหลายท่าน มาคุยกันว่า ในการจัดการศึกษาแนวมานุษยปรัชญา จัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ วัยอนุบาลอย่างไร
โดยในซีรีส์นี้วางแผนไว้ว่าจะพูดถึงหัวใจ 4 เรื่องหลัก นั่นคือ
- ธรรมชาติวัยอนุบาล
- หลัก 3R (Rhythm จังหวะ, Repetition การทำซ้ำ และ Reverence การเคารพ) ในการดูแลเด็กช่วงอนุบาล
- ธาตุของเด็กที่แตกต่าง เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน
- 4 senses อุปกรณ์ในการเรียนรู้โลกของวัยอนุบาล
สำหรับเทปแรก ซึ่งเรียบเรียงภาษาให้เหมาะแก่การอ่านชิ้นนี้ ว่าด้วยเรื่อง “ธรรมชาติวัยอนุบาล” ค่ะ จะเป็นอย่างไร เชิญอ่านกันได้เลย 🙂
สำหรับการรับฟังรูปแบบ Podcast คลิกที่นี่
ธรรมชาติอนุบาล:
วิธีเรียนรู้โลกวัยอนุบาล คือ ‘การเลียนแบบ’ ผ่านงานบ้าน งานครัว งานสวน
การทำความเข้าใจธรรมชาติของวัยอนุบาล เราเริ่มจากตรงไหนดี
อาจจะเริ่มจากการให้ความหมายของคำว่า ‘อนุบาล’ จริงๆ ความหมายของอนุบาลยังไม่ชัดเจนเพราะว่าเรามีคำว่า “โรงเรียน” ที่เราเรียกว่า “โรงเรียนอนุบาล” ทีนี้พอมีคำว่าโรงเรียนนำหน้าอนุบาล ทำให้คนที่เลี้ยงเด็กมักทำความเข้าใจกับผู้ปกครองลำบาก ตกลงว่าน้องมาเรียนหรือมาได้รับการดูแลจากแม่ครู?
ในภาษาอังกฤษเราก็จะใช้คำว่า kindergarten ตรงตัวเลยคือ kinder คือเด็ก garten คือสวน ความหมายก็คือสวนที่มีเด็กอยู่ ให้ความหมายเหมือนกับว่าเด็กอยู่ในธรรมชาติ แต่พอเป็น “โรงเรียนอนุบาล” ให้ความรู้สึกเหมือนคำว่า “pre-school” หรือเหมือนกับการเตรียมเข้าสู่ระบบ ตรงนี้ถ้าแยกกันชัดเจนเลยเราต้องบอกว่า ใครทำบทบาทอะไร
ถ้าเป็นอนุบาลที่มีความหมายคือ kindergarten เราจะพบว่าในสถานที่แห่งนั้นเขาเตรียมความพร้อมเด็กในเรื่อง “ชีวิตประจำวัน” ให้เด็กเต็มที่กับธรรมชาติความเป็นเด็กไปเลย แต่ถ้าเป็น pre-school คือการเตรียมขึ้นชั้นระถม อาจจะไม่ต้องเตรียมนานหรอกนะเพราะว่ายังไงเด็กก็ต้องขึ้นประถมแล้วก็เรียนในระบบโรงเรียนอยู่ดี ถ้าจะให้ครูอุ้ยแนะนำนะ ใช้เวลาหนึ่งปีสำหรับการเตรียมพร้อมน้องที่จะขึ้นสู่ประถมก็เพียงพอแล้ว
การเริ่มต้นเรียนเขียนอ่านน่าจะอยู่สักประมาณปีสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นประถม แต่สำหรับอนุบาลในความหมายของครูอุ้ยที่ทำที่อนุบาลบ้านรัก คือ kindergarten อนุบาลที่พยายามมองความเป็นธรรมชาติของเด็ก แล้วก็นำสิ่งเหล่านี้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันที่เราปฏิบัติต่อเด็ก หรือว่าให้การศึกษากับเด็ก
Kindergarten หรือว่าอนุบาลที่ครูอุ้ยจัดการเรียนรู้อยู่ เด็กๆ เขาจะมาเรียนหรือทำอะไรที่อนุบาลนี้
ความหมายตรงนี้เราก็ต้องแก้ไขให้ถูกนิดหนึ่งว่า เด็กเขาเรียนรู้หรือรับความรู้ต่างๆ ในโลกนี้โดยผ่านการเลียนแบบ ภาษาอังฤษจะเรียกว่า imitation ก็คือการเลียนแบบโดยที่ยังไม่ได้ผ่านความคิด คือเขาเห็นแบบเขาก็ทำตามเลย
เหมือนกับว่าเมื่อเขาเห็นแบบจากผู้ใหญ่หรือว่าคนรอบข้าง เขาก็จะทำตามทันทีโดยที่เขาไม่ได้คิด ถึงตรงนี้อยากอธิบายว่าเราจะไม่ใช้คำว่า “เรียน” กับเด็ก แต่เราจะใช้ “การเป็นแบบให้เห็น” เพราะฉะนั้น “การเลียนแบบ” ให้เห็นมันก็จะหนักลงไปในชีวิตประจำวันของผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆ เพราะอย่างนี้ งานที่สำคัญที่สุดที่จะมีประโยชน์ต่อเด็กก็คือ งานบ้าน งานในครัวเรือน แล้วก็งานสวน ทั้งหลายที่ผู้ใหญ่ทำ คืองานที่เด็กจะออกไปอยู่ในโลกธรรมชาติภายนอก
การเรียนรู้ที่อยู่ในห้อง กับ การเรียนรู้ที่อยู่ข้างนอก มีความสำคัญกับมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะเด็กตัวเล็กๆ ก็เหมือนไม้อ่อนที่ไม้ใหญ่ก็ต้องทำหน้าที่ดูแล ปกป้อง คุ้มครองเขา เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เขา เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นแบบที่ดีให้เด็กเห็น ถ้าเราทำงานบ้าน งานในครัวเรือน งานสวน เป็นแบบที่ดีกับเด็กแล้ว เด็กก็จะเกิดการเลียนแบบ มองเห็นสิ่งดีๆ แล้วก็ทำตาม การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นไปเอง แต่เราจะไม่ใช้การสอน เด็กจะไม่เข้าใจว่า “อ๋อ… หนูต้องทำแบบนี้หรอ” แต่ทำให้เขาดูเลย แล้วเด็กจะ โห… มันมหัศจรรย์ มันน่าประทับใจ จนเขาอยากจะทำตามมาก เป็นวัยที่เขาต้องการเรียนรู้โดยผ่านการกระทำ
แปลว่างานบ้าน งานครัว งานสวน ไม่ว่าจะจัดที่บ้านหรือที่โรงเรียน การเรียนรู้ของเด็กอยู่ที่คนดูแล ในการทำงานให้ดูเป็นแบบอย่าง แล้วก็ชวนเขาไปทำด้วย
ใช่เลย คือไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง เป็นคุณแม่หรือว่าคุณครู แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่อยู่รอบข้างเด็ก ต้องให้ความสำคัญว่างานที่เราทำอยู่มีความหมายต่อการเลียนแบบของเด็กมากๆ สิ่งที่เราทำแล้วเด็กเห็น เขาก็จะรับเข้าไปทันที เราควรระวังว่าเราทำดีหรือไม่ดีเพราะเด็กเขาจะรับทั้งดีและไม่ดี เพราะ ณ ขณะนี้เขายังไม่รู้ว่าสิ่งที่เขารับไปนั้นถูกหรือเปล่า อย่าลืมว่าสายตาของเด็กเขามองอยู่แล้วและเขาพร้อมที่จะทำตามทันที
การเรียนรู้ของเด็กช่วงนี้คืองานบ้าน งานครัว งานสวน ไม่ใช่การฝึกเขียนอ่าน? แล้วพ่อแม่จะจัดการเรียนรู้เองที่บ้านได้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องขอให้คุณพ่อคุณแม่เปิดใจกว้าง แล้วก็ลองตัดสิ่งที่คุ้นเคยไปก่อน คุณพ่อคุณแม่คิดว่าการเรียนรู้เบื้องต้นของเด็กตัวเล็กๆ ต้องไปที่เขียนอ่าน ถ้าเราวางใจว่าเขียนอ่านจะเกิดขึ้นสักวันหนึ่งแล้วเราตัดเรื่องนั้นออกไปก่อน เราจะพบว่ามีอีกตั้งหลายเรื่องที่ไม่ใช่เขียนอ่านซึ่งเด็กจะต้องรับรู้เข้าไปสู่ชีวิตของเขา พอตัดเรื่องเขียนอ่านออกไป ชีวิตของเด็กก็จะสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตประจำวันแล้ว อย่างนั้นเราก็มาดูกันว่า บ้านที่เป็น “บ้านอนุบาล” เขาทำอะไรบ้างตอนเช้า
ตอนเช้าพอเด็กๆ มาจากที่บ้านของเขามาถึงที่อนุบาล สิ่งแรกที่เขาควรจะทำคือดูแลของใช้ส่วนตัวของเขาก่อน ซึ่งของใช้ส่วนตัวจริงๆ มีเยอะนะ เช่น เสื้อผ้าที่เขาใส่มา รองเท้าของเขา อาจจะมีกระติกน้ำ ของว่าง อะไรกุ๊กกิ๊กๆ นิดหน่อย บางคนก็อาจจะมียาประจำตัว ซึ่งอันนี้เป็นของใช้ที่เขาจะต้องรู้ว่าเขาเอาอะไรมา ถ้าคุณพ่อคุณแม่วางใจนิดนึง คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องเชื่อมั่นว่าลูกจะรับผิดชอบข้าวของตัวเองได้ ถ้าเสื้อผ้าของตัวเองมีชื่อ เขารู้ว่ารองเท้าของเขาคู่ไหน ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะจำผิดจำสลับ เพราะว่าแม่ครูที่อนุบาลเขาจะต้องช่วยเน้นดูแลรับผิดชอบข้าวของส่วนตัวให้เขาเก็บเป็นที่เป็นทางให้เรียบร้อย
พอหลังจากนั้นก็เหมือนบ้านปกติธรรมดา ตอนเช้ามีหน้าที่อะไรบ้าง เช่น มีผ้าผืนน้อยเล็กๆ สำหรับเช็ดตามที่ต่างๆ เช่น เช็ดโต๊ะ เช็ดใบหน้า เช็ดมือ หรือว่าแปรงสีฟัน แก้วน้ำ เขาควรจะเก็บให้ถูกที่ ซึ่งแม่ครูเองก็จะเน้นว่าถ้าเขามาแล้วก็มาทำงานของตัวเองให้ครบถ้วน หรืออาจเป็นการรดน้ำต้นไม้ จัดดอกไม้ ในช่วงเช้า
พอเขาทำงานในช่วงเช้าเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่กิจกรรมกลุ่ม เพราะพอสายๆ เพื่อนก็จะมากันครบ อาจจะมีร้องเพลงรวมกันเป็นวงกลม ซึ่งเป็นการทักทาย เปิดรับอรุณว่าเช้าวันใหม่มาแล้ว เพลงที่แม่ครูจัดให้ก็เหมาะสมว่าเรากำลังต้อนรับวันใหม่ เป็นเพลงสดชื่น พูดถึงฤดูกาลต่างๆ เช่น ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน อะไรที่มีความสำคัญ ปลา เต่า กบ เราก็นำมาใส่ในบทเพลงของเรา มีทานขนมว่างตอนเช้า หลังจากนั้นก็อาจจะต้องไปหายใจออก ก็คือ ไปวิ่งเล่นข้างนอก เพราะคนเรามันต้องมีหายใจเข้า หายใจออก อยู่ในห้องเสมือนหายใจเข้า พออยู่นอกห้อง วิ่งออกไปที่สนาม เสมือนหายใจออก
พอหลังจากนั้นเรียบร้อยก็เข้าสู่อาหารกลางวัน ซึ่งถ้าจะทำให้ดีจริงๆ งานบ้านก็มีส่วนสำคัญ เด็กต้องจัดโต๊ะจัดอะไรให้เรียบร้อย ต้องให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบแล้ว เช่น เด็กกลุ่มนี้ใกล้จะขึ้นป.1 แล้ว เด็กๆ กลุ่มนี้เขาจะรู้ว่า เขาจะนับจานเท่าไหร่ ช้อนส้อมจัดตรงไหน แม่ครูก็จะให้งานเขาทำ เขาก็จะรับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ เห็นได้ว่าทั้งวัน ทั้งอาหารการกินและของใช้ส่วนตัว เราต้องทำเรื่องนี้ก่อน เราต้องทำเรื่องของตัวเองในชีวิตประจำวันให้เรียบร้อยก่อนถึงจะไปรับผิดชอบบทเรียนต่างๆ นานา ที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น เช่น การอ่านเขียนได้
ฉะนั้น เด็กที่มีวินัย มีความรับผิดชอบ รู้จักเวล่ำเวลา พอเขาทำเรื่องนี้ได้ เรื่องที่เราฝากความหวังไว้ว่าเขาควรจะทำได้ก็ไม่ยากเกินไป แต่ถ้าเรื่องของเขาเองเขายังไม่ได้ทำเลย คนอื่นยังต้องมาดูแลเรื่องส่วนตัวของเขา หรือว่าตัวเขาเองไม่รู้ว่าจะต้องดูแลคนอื่นด้วย อย่างเช่น เขาเป็นเด็กที่โตกว่าแล้วต้องดูแลน้องที่เล็กกว่า ถ้าเขาไม่รู้ว่าเขามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ อย่างน้อยก็สังคมกลุ่มเล็กๆ ของเขา แล้วรับผิดชอบเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่น การเรียน เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องนั้นได้ยังไง
เราจึงต้องเคลียร์เรื่องส่วนตัวของเขาให้เรียบร้อยก่อนว่า หนูพอจะทำเรื่องของตัวเองได้ไหม มีวินัยไหม หนูตรงเวลาไหม หนูเอื้อเฟื้อกับคนอื่นไหม ก็เท่ากับปรับฐานชีวิตของเขาให้เข้าที่เข้าทางสักนิดหนึ่ง แต่ก็ต้องทำเสมือนแม่กับลูกนะ ไม่ใช่เป็นคำสั่ง ถ้าเป็นคำสั่งเด็กก็จะ “โอ๊ย..ยังไงเนี่ย” แต่ถ้าเป็นแม่กับลูก มันจะมีความเอื้อเฟื้อ ความไว้วางใจกัน มีความเอื้ออารี มีความรักให้กัน เด็กก็จะอยากทำ “โอ้วว..มีความสุขจังเลย”
แปลว่าการจัดการศึกษาให้กับเด็กในช่วงอนุบาล คือเน้นที่การให้เขาดูแลตัวเอง แล้วก็เอื้อเฟื้อกับคนอื่นได้ก่อน ใช่ไหมคะ
ใช่เลย เป็นสิ่งที่เราจะปลูกให้งอกงามในช่วงนี้ เราควรทำเรื่องนี้ก่อนที่เราจะไปมอบภาระให้เขาว่า หนูจะต้องเรียนอันนู้นอันนี้อันนั้น เยอะแยะไปหมดเลย ตารางเรียนเต็มไปหมด แต่เรื่องส่วนตัวของเขาเองเรายังไม่ได้ทำเลย เราจะต้องดูแลเรื่องส่วนตัวเขาก่อนว่าเขาทำได้หรือเปล่า เขารับผิดชอบ เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราเองเป็นผู้ใหญ่ เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวของเขาว่าหนูทำได้แล้วหรือยัง
ธรรมชาติอนุบาล
มองการเติบโตที่วัดด้วย ‘สรีระเด็ก’ (ไม่ใช่อายุ)
นอกจากวินัย ความรับผิดชอบ การดูแลตัวเองได้ หรือว่าการเอื้อเฟื้อต่อคนอื่น มีเรื่องอื่นของการเรียนรู้ในช่วงอนุบาลอีกไหมที่เราควระจะพาเด็กเรียนรู้
ต่อกันที่พัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 7 ขวบ ก่อนที่ฟันน้ำนมจะหลุดไปแล้วฟันแท้จะขึ้นมา แม่อุ้ยอยากจะให้พวกเรามองอย่างนี้ คือมองช่วงชีวิตนี้แล้วก็ทำให้ชัด clear cut เป็นช่วงวัย อยากให้มองอย่างนี้ว่า “เด็กต้องโตด้วยร่างกาย” การให้ความสำคัญกับปฐมวัยให้มองที่สรีระของเด็ก
จากแรกคลอดมาเขาเป็นเด็กแบเบาะ ช่วยอะไรตัวเองแทบไม่ได้ ช่วงหนึ่งปีแรกหรือประมาณ 12 เดือน เขาสามารถที่จะเดินได้ด้วยเท้าของเขาเอง ผ่านการคลาน การนั่ง แล้วน้องก็ยืนหยัดเดินได้ด้วยตัวของตัวเอง แล้วต่อมาน้องก็วิ่งได้ พูดได้ เล่นได้ จนกระทั่งถึงวัยที่เขามาอยู่กับเพื่อนๆ มากมาย ฟันน้ำนมเริ่มโยก ฟันแท้ผุดขึ้นมา ขอให้เรานับช่วงนี้เป็นช่วงปฐมวัยที่มีค่าที่สุดสำหรับเด็กว่า ผู้ใหญ่อย่างพวกเราจะให้อะไรแก่เขาได้บ้าง ให้ความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะให้ได้
เพราะว่าร่างกายของเขาพึ่งกำลังจะก่อร่างสร้างขึ้นมา แต่ถ้าเราอยากได้มากเกินไป อย่างเช่น หนู 3 ขวบ หนูยังอ่านไม่ได้เลย หนู 3 ขวบ หนูยังพูดภาษาอื่นๆ ภาษาต่างประเทศไม่ได้เลย หนูยังทำอันนู้นอันนี้ให้แม่ไม่ได้เลย ต้องถามว่าอันนั้นเป็นความต้องการของใคร ถ้าเป็นความต้องการของเด็ก เขาต้องการเล่น เพราะว่าเวลาที่เด็กเล่น เขาจะได้อะไรมากมายจากการเรียนรู้โลกภายนอกว่าโลกเป็นแบบนี้นี่เอง เพราะฉะนั้นเราได้ให้โอกาสเขาในความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงกับเขาหรือยัง ถ้าเขาเป็นเด็กเขาต้องได้เล่น แต่ถ้าเขาเป็นเด็กแล้วเขาต้องทำอะไรมากมาย …อันนี้เป็นความต้องการของผู้ใหญ่นะ
ลูกของเราจะมีอีกจุดหนึ่งที่ช่วยทำให้แม่ครูและพ่อแม่ย้ำความมั่นใจว่าลูกเราใกล้จะเป็นเด็กประถมแล้ว คือการทรงตัวได้ อันนี้มันเป็นอะไรที่น่ามหัศจรรย์มาก เด็กเล็กยังเดินบนขอนไม้ไม่ค่อยได้ต้องมีการจับพยุง บาลานซ์ตัวอยู่บนขอนไม้แบบนี้ไม่ได้ แต่พอวันหนึ่งกระโดดขึ้นไปปุ๊บ เดินตุ๊บๆๆ กระโดนโลดเต้น กระต่ายขาเดียวก็ทำได้ละ ทำไมทำในสิ่งที่ไม่น่าจะทำได้ ให้เรามองดูว่านั่นล่ะ การทรงตัวเข้ามาแล้ว เป็นอีกตัววัดหนึ่งว่า ลูกเราพร้อมแล้วสำหรับวัยที่จะก้าวเข้าสู่เด็กประถม
ผู้ที่เลี้ยงเด็กใกล้ชิดเด็ก ถ้าเข้าอนุบาลก็คือแม่ครูอนุบาล ดังนั้น แม่ครูอนุบาลต้องมองธรรมชาติของเด็กเป็นหลัก เด็กวัยนี้เขาก่อร่างสร้างเนื้อกายของเขา อาหารที่ให้ดีแล้วหรือยัง เขาทานอาหารถูกส่วนไหม บางครั้งเราเตรียมอาหารให้เขามากมาย แต่ถ้าลูกปฏิเสธไม่รับประทานก็หมดเลยนะ คือเขาไม่สามารถเอาอาหารดีๆ ที่เราตั้งใจให้เขาทานเข้าสู่ในตัวเขาได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่สามารถเอาอาหารดีๆ เข้าสู่ร่างกายของเขาได้ ก็ต้องมองดูว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค เช่น เขาหิวไหม กินมากเกินไปหรือเปล่า ใช่เวลากินหรือเปล่า ได้ออกไปเล่นให้เหนื่อยหรือว่าพักผ่อนเพียงพอไหม เขาถึงจะอยากรับประทานอาหาร อันนี้ก็เรื่องอาหาร
ประการที่สองคือเรื่องพักผ่อน เขาพักผ่อนได้เพียงพอไหมหรือเขาต้องไปทำอะไรเพื่อเรามากมาย เวลาสูญเสียไปกับการเดินทาง หรือมีตารางเวลาเยอะจัง หรือทำเรื่องอื่นที่จริงๆ เราก็ไม่อยากให้ทำนะ แต่ว่าบางทีเขาติดไปแล้ว อย่างเช่น การติดจอ โทรศัพท์หรือว่าเกมต่างๆ เด็กตัวเล็กๆ เขาก็เริ่มติดแล้ว เขาเสียเวลาเพลิดเพลินไปกับเรื่องนี้หรือเปล่า หรือว่าการที่จะได้เล่นอย่างอิสระ
แปลว่าวัยอนุบาล หรือ 0-7 ปี ก็เป็นวัยที่กำลังสร้างร่างกาย ผ่านอาหาร ผ่านการเรียนรู้ในกิจวัตรประจำวัน งานบ้าน งานครัว งานสวน
ใช่ ผ่านทุกอย่างเลยค่ะ ผ่านอาหาร ผ่านกิจกรรม ผ่านการเล่น ซึ่งเรื่องเล่นเป็นเรื่องสำคัญ
ธรรมชาติอนุบาล
การเรียนรู้เลียนแบบ ผ่านการเล่น
งั้นเราต่อกันที่ ‘การเล่น’ เลยนะคะ การเล่นสำคัญในเด็กวัยนี้อย่างไร
เด็กมีจินตนาการเป็นของขวัญโดยธรรมชาติอยู่แล้ว สิ่งที่เขาได้มาในธรรมชาติ เขาได้ของขวัญมาจากเบื้องบนเลยคือเรื่องของพลังเจตจำนง ภาษาอังกฤษเรียกว่า “will” พอได้ will มา สิ่งที่มองเห็นคือ ตั้งใจทำ มีความมุ่งมั่นทำจนสำเร็จ แล้วมีจินตนาการ จินตนาการคือภาพในใจ ถ้าสองอย่างมาประกอบกัน สิ่งที่ออกมาแล้วเรามองเห็นภาพจากตัวเด็กคือ เขาต้องนำจินตนาการออกมาจากตัวเขาผ่านการลงมือกระทำอะไรสักอย่าง
ทีนี้พอภาพในใจมันอยู่ในหัวเยอะแยะไปหมดเลย คุณแม่ไปซื้อส้มตำ เห็นแม่ค้าตำส้มตำสนุกสนาน พอกลับมาบ้าน หาอะไรที่เหมือนครก หาอะไรที่คล้ายๆ สากได้ก็ตำเลย (หัวเราะ) ฉะนั้นเมื่อเขาเห็นแล้วเกิดความประทับใจมาก ความมุ่งมั่นอันนี้ประกอบกับจินตนาการเป็นภาพประทับใจในหัวเขา เขาต้องเอาออกมาผ่านร่างกายออกมาเป็นการเล่น เราจะมองว่า อ้อ… เล่นบทบาทสมมติ เล่นแต่งตัวเป็นคุณหมอ เล่นเป็นนักบิน เล่นอะไรก็ได้ที่เขารู้สึกว่าอยากจะทำตาม
การเล่นจึงเหมือนการย่อย เหมือนการถ่ายสิ่งที่เขากำลังประทับใจออก อันนี้แหละค่ะ ถ้าเรามองดูเด็กในวัยที่เขากำลังสร้างร่างกาย นอกจากได้อาหารแล้ว เขายังต้องได้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นอาหารใจด้วย เป็นอาหารสมองด้วย เด็กตัวเล็กๆ ขนาดนี้เขาไม่ได้ใช้เรื่องของการคิด ความจำ แต่สิ่งที่ใช้มากที่สุดในเวลานี้ก็คือ จินตนาการ ฉะนั้น เมื่อเขาเห็นอะไรมาแล้วก็ต้องผ่านจินตนาการ ก็เหมือนกับผ่านหัวคิดนั่นแหละ แล้วก็ออกมาเป็นบทบาทสมมติ เราจะเห็นว่าเด็กไม่เคยหยุดเล่นเลย ถ้ามีเวลาว่าง ผู้ใหญ่ทำอะไรอยู่แล้วอาจจะทิ้งเด็กไว้ในมุมนึง เขาอยู่กันเองเล่นกันเอง โห… เล่นไม่หยุดเลย
ซึ่งอะไรที่มันพรั่งพรูออกมาจากตัวเด็กนั่นแหละ เขาเลียนแบบพวกเรา บางคนเลียนแบบคุยโทรศัพท์ “ฮัลโหล อะๆๆ เดี๋ยวไปนะ” บางคนเลียนแบบการแต่งตัว โอ้… สารพัดหลากหลาย เพราะงั้นเด็กจะมีเรื่องเล่นตลอดเวลา พอมองเห็นไหมคะว่าเขาต้องทำสิ่งนี้ผ่านร่างกายของเขา
เมื่อเล่นแสดงออกผ่านร่างกาย และร่างกายก็กำลังเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับฟันน้ำนมที่ค่อยๆ หลุดไป ฟันแท้กำลังจะผุด เราจะมองเห็นการสร้างอวัยวะภายใน สร้างร่างกายของเขา แต่เราก็พากันบอกว่า “หยุดเล่นได้แล้ว พอสักที เล่นอะไรกันมากมาย เสียงดังแล้วนะ” (หัวเราะ) เราพยายามมากมายที่จะบอกว่าห้ามเล่น ในขณะที่พวกเขาต้องการการเล่น ใช้ทั้งหมดทั้งตัวในร่างกายเพื่อการเจริญเติบโต มันก็สวนทางนะ
เด็กที่ถูกห้ามไม่ให้เล่นจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา
เรื่องอารมณ์มาก่อน หงุดหงิด พวกเราก็เหมือนกัน เราถูกห้ามในสิ่งที่เราคิดว่าข้างในเราอยากทำ เราจะรู้สึกยังไง “นั่งเฉยๆ ลูก” “เดี๋ยวๆ อยู่ตรงนี้ก่อนๆ” เขาก็จะนั่งไม่ได้ละ ใช่ไหมคะ? พวกเราเองก็เหมือนกัน เขาอยู่เฉยไม่ได้หรอก เด็กต้องการการเล่น แต่เอาอย่างนี้ดีไหม ให้เล่นเป็นเวลา
ย้อนกลับไปเมื่อสักครู่ที่พูดถึงว่า เด็กมาทั้งวัน (น่าจะหมายถึงมาที่อนุบาลบ้านรัก) บางครั้งเขาต้องอยู่ในห้อง การอยู่ในห้องก็เสมือนลมหายใจเข้า เมื่อเขากินอิ่มแล้วก็ต้องออกไปวิ่งข้างนอก การออกข้างนอกก็เสมือนลมหายใจออก ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ธรรมชาติของร่างกายที่เขาต้องออกไปทั้งในห้องและนอกห้อง ต้องใช้ความสามารถทางด้านร่างกาย ต้องรู้จักเรื่องลมหายใจเข้า-ออก ฉะนั้นพวกเราต้องเตรียมเนื้อที่กว้างๆ ไว้ เนื้อที่ปลอดภัย เนื้อที่สีเขียวให้เด็กด้วย แค่นี้ก็ยากแล้วนะ สำหรับการเข้าใจเด็กคนนึง ว่าธรรมชาติของเด็กต้องการอะไร (หัวเราะ)
สรุปสั้นๆ ของวัยอนุบาลก็คือช่วงอนุบาลเป็นช่วงที่เด็กฟอร์มร่างกาย จิตใจ สมอง แต่ว่าผ่านจินตนาการที่แสดงออกมาเป็นการเล่น ซึ่งกิจกรรมที่จะเหมาะกับเขาคือการเล่น หรือการทำงานบ้าน งานครัว งานสวน
แม่อุ้ยอยากจะให้พวกเรามองให้แคบเข้ามา คือ ความจริงแล้วเด็กเล่นตลอดเวลา เราอาจจะมองว่างานบ้าน งานครัว งานสวน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ทำให้ดูแล้วให้เด็กทำงาน แต่คุณรู้ไหมว่าเวลาที่เรากวาดบ้าน แล้วเราเห็นว่าเด็กมาช่วยเรา เราก็จะคิดว่า “อุ๊ย น่ารักจังเลย เด็กคนนี้ขยันจังเลย มีน้ำใจมาช่วยครู” ไม่ใช่นะ เขากำลังเล่นเป็นตัวเราอยู่ เราลองทิ้งไม้กวาดแล้วเรียก “หนู หนูช่วยมากวาดตรงนี้ที” แล้วแม่ครูเดินไปทำอย่างอื่น เราจะพบว่าเขาก็ทิ้งไม้กวาดเหมือนกันแล้วก็เดินตามเราไป
ฉะนั้นต้องรู้ว่าขณะที่เราทำงานบ้าน งานครัว งานสวน ผู้ใหญ่เป็นหลัก แต่เมื่อผู้ใหญ่เป็นหลัก ผู้ใหญ่ทำทุกอย่างให้เรียบร้อยตามวิถีของผู้ใหญ่ไปเถอะ อย่าลืมมองดูเด็กว่าเด็กกำลังมองดูคุณอยู่ แล้วงานที่สำคัญของคุณก็คืองานที่สำคัญของเด็กเหมือนกัน เด็กกำลังเลียนแบบคุณ ให้โอกาสเขาได้เลียนแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าใช้ให้เขาทำงาน ไม่ใช่ให้ลูกทำแทน เราทำเป็นหลักแล้วเราก็เอื้อเฟื้อ “มา มาช่วยแม่ทำสิ” แล้วเราก็จะพบว่าเขาก็ช่วยเราด้วยนะ แล้วก็ทำเหมือนเราเป๊ะเลย แต่ถ้าเราไม่อยู่ตรงนั้น เขาก็ไม่อยู่เหมือนกัน เราต้องมีความเข้าใจตรงนี้เป็นพื้นฐานก่อนว่า เขาเล่นตลอดเวลา แล้วการที่เขาทำงานกับเรามันก็คือการเล่นอีกรูปแบบหนึ่งของเขา คือการเล่นเป็นตัวครู เป็นตัวคุณแม่
ตรงนี้แม่อุ้ยอยากจะขอขยายเพิ่มนิดนึงนะคะ หลายๆ คนอาจจะบอกว่า “พอลูกโตแล้วทำไมไม่เห็นเหมือนตอนเล็กๆ เลย ตอนเล็กๆ ยังช่วยแม่กวาดบ้านอยู่เลย โตมาไม่ทำแล้ว” อันนั้นมันคนละอายุ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกวัยอนุบาลแล้วเลี้ยงลูกต่อจนกระทั่งถึงวัยประถม อาจจะมีความรู้สึกตรงนี้เหมือนกัน แต่อย่างที่บอกไปคือ ที่เมื่อก่อนเขาทำได้ก็เพราะเขากำลังเล่นเป็นตัวเราอยู่ แต่พอโตขึ้นมาเขาก็ไม่เล่นเป็นตัวเราแล้วค่ะ เขาก็เป็นตัวของเขาเองมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วในวัยที่เขาทำอะไรได้สารพัด เขาอาจจะไม่ทำ ซึ่งเราต้องเปิดใจกว้างเหมือนกันว่านั่นมันคนละอายุ
แล้วพอเป็นวัยเด็กประถม เขาก็ต้องการการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง เขาต้องการไอดอล ต้องการคนที่เป็นคนนำเขา แต่ตอนเล็กๆ เขาต้องการคนที่เสมือนเป็นแม่เขา เพราะฉะนั้น “หยิบของให้ถูกคน” วันนี้เขาต้องการแม่ เราอย่าเพิ่งหยิบครูให้ เราให้ความเป็นแม่ครูเขา ถ้าเราต้องทำหน้าที่เป็นครูอนุบาล เราก็ให้ความเป็นแม่ครูอนุบาลกับเขา เด็กก็จะมีความรู้สึก “เฮ้อ… ชีวิตวัยเด็กของหนู หนูมีความสุขจังเลย หนูได้เลียนแบบแม่มากมาย” สารพัดสารเพเรื่องของงานบ้าน งานครัว งานสวน
ธรรมชาติอนุบาล
จำเป็นไหมต้องเข้าเรียนอนุบาล?
อย่างนี้เด็กไม่ต้องไปอนุบาลก็ได้
เมื่อการอนุบาลศึกษาอยู่ที่ไหน คุณแม่ก็เป็นแม่ครูอนุบาลคนแรกของลูกได้ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องให้คนอื่นช่วยเลี้ยง ก็ขอให้ทำสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับความเป็นบ้าน เพราะว่าเป็นวัยที่เด็กต้องการบ้านต้องการแม่ที่สุด เขาต้องการแม่ที่ปกป้องดูแล แม่ที่ตอบโจทย์ทุกโจทย์ หนูไม่สบาย หนูก็อยากที่จะมาซุกไซ้หาแม่ หนูหิว หนูก็อยากจะมาอยู่กับแม่ว่าแม่มีอะไรให้หนูทานไหม รู้สึกได้ความไว้วางใจทุกอย่างสำหรับบุคคลนี้ จะเป็นแม่ที่โอบกอดเขา ภยันอันตรายทั้งหลายแม่จะเป็นคนปกป้องให้ แล้วหนูจะไม่รู้เลยว่าที่หนูอยู่ตรงนี้มันน่ากลัวเพราะคุณแม่จะดูแลให้ จริงไหม เขาต้องการคนๆ นี้ก่อน ดังนั้นไม่ว่าอยู่ตรงไหน ถ้าให้การอนุบาลกับเขาได้ ก็อยู่ได้ทั้งนั้น ยังไม่ต้องมาสถานอนุบาลด้วยซ้ำ
จริงๆ ครูอุ้ยก็อธิบายไว้แล้ว แต่อยากถามทวนเพื่อสรุปอีกทีนะคะ วัยนี้จำเป็นไหมที่จะต้องได้เรียนเขียนอ่าน
แม่อุ้ยอยากจะบอกอย่างนี้นะว่า เขียนอ่านอาจจะเป็นเรื่องจำเป็นในอนาคตที่เขาต้องใช้ ซึ่งก็อีกไม่นาน เพราะว่าในช่วงอายุก่อน 7 ขวบ ความสามารถพิเศษของพวกเขาคือ เมื่อเขามองเห็น เขาจะมองเห็นเป็นภาพ ภาพสัญลักษณ์ แล้วภาพเหล่านั้นจะมาตอบกับสิ่งที่เขาใช้ชีวิตประจำวันด้วย เช่น เวลาเขาจะไปร้านอะไร เขามองเห็นชื่อร้าน เห็นโลโก้ร้าน เขาจะบอกว่า “หนูอยากไปร้านนี้” “แม่ หนูอยากทานอันนี้” โดยที่เขาไม่ต้องสะกด แต่เมื่อบทเรียนในโลกนี้มันมากขึ้น เขาจึงจำเป็นต้องสะกดนู่นสะกดนี่ และเขาจำเป็นต้องอ่าน จำเป็นต้องเข้าใจคำ คำก็จะต้องเข้ามาในชีวิตประจำวันของเขามากขึ้นๆ ณ บัดนั้นเขาก็จำเป็นต้องเรียนเขียนอ่าน
แต่ก็ขอให้เราแบ่งเขตเอาไว้ก็แล้วกันว่าในเมื่อเขายังอยู่ในปฐมวัยอยู่ การเรียนเขียนอ่านก็ยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับตอนนี้ แต่การแนะนำว่าอะไรมันเรียกชื่อว่าอะไร แล้วอาจจะมีคำสะกดอยู่บ้าง ก็เป็นความต้องการในชีวิตประจำวันซึ่งเด็กก็ได้มาเองตามธรรมชาติ หรือจะเรียกว่าได้ภาษามาเองจากธรรมชาติก็ว่าได้ เด็กจะได้เองอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าเร่งเรียนเขียนอ่านไหม ใช้คำว่า “เร่ง” นะ แม่อุ้ยจะบอกว่าไม่จำเป็น เพราะยังไงเขาก็ได้เขียนอ่านอยู่แล้วแหละ
มีเส้นแบ่งหรือหลักยึดมั้ยว่า เมื่อไรที่ถึงเวลาต้องเรียนเขียนอ่าน
มันจะมี transition หรือการก้าวข้ามสะพานไปสักนิดหนึ่ง ระหว่างความเป็นเด็กจนกระทั่งถึงความเป็นเด็กประถม เด็กอนุบาลถึงเด็กประถม การก้าวข้ามผ่านสะพานอันนี้ การค่อยๆ เปลี่ยนผ่านตรงนี้ เราก็มองดูช่วงอายุแรกเกิดถึง 7 ขวบเหมือนกันว่าพอถึงเวลาประมาณสัก 4-5 ขวบ เราจะพบได้ว่าพวกเขาต้องการการเล่นที่มีเพื่อนเยอะแยะเป็นกลุ่ม แต่ย้อนไปก่อนหน้านั้น 2-3 ขวบ เขายังเล่นคนเดียวอยู่เลย เล่นคนเดียวได้ไม่มีปัญหา แต่พอ 3-5 ขวบ เนื้อเรื่องที่เขาต้องการเล่นมันมีอะไรมากมายเป็นภาพของเขา แล้วก็ต้องการคนจำนวนมากที่มาช่วย ทำให้ภาพนั้นมันดูมีความสุขกับการเลียนแบบตรงนั้น เช่น ถ้าเขาเล่นเป็นคนขายอาหาร เขาก็ต้องมีคนขายอาหาร ต้องมีคนมาซื้อ เพราะงั้นถ้าเขาทำคนเดียวก็ไม่สนุกละ ก็ต้องบอก “มาซื้อหน่อย” เพราะงั้นเขาต้องการเพื่อน เขาก็จะมีการวางแผนว่าเขาจะทำอะไร เล่นอะไร อันนี้คือ 5 ขวบ
แต่พอถึง 6 ขวบเขาจะเปลี่ยนอีกแล้ว เด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าตัวเขาเองเหมือนกับจะน้อมเข้ามาหาตัวเองละ อะไรที่เคยเล่นก็ไม่เล่นแล้ว แต่จะใช้สายตามองเป็นส่วนใหญ่ ไม่รู้มีอะไรคิดอยู่ในหัวเยอะแยะมากเลย เหมือนกับนกจะบินออกจากคอน มันต้องย้ำคอนนิดนึง การย้ำค้อนนี่มันต้องเข้ามาหาตัวเองก่อนถึงจะถลาบินได้ ในช่วงนี้แม่ครูทั้งหลายก็จะมองเห็นเด็กเลยว่า เขาใกล้จะเปลี่ยนผ่าน จากความเป็นเด็กไปสู่การเป็นเด็กโตแล้ว
ในช่วงนี้จินตนาการเขาจะเหมือนกับถึงจุดสูงสุดเลย เพียงแค่นึกถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปเล่น เขาก็พอใจแล้ว เพราะงั้นจะเห็นเขานั่งแล้วบางทีก็มีเพื่อนสองคนมานั่งคุยกัน คุยกันเป็นเรื่องเป็นราว จับมือกันคุยๆๆ (หัวเราะ) คุยกันสนุกสนานแล้วก็นั่งเฉยๆ ไม่เล่นแล้ว นั่งคุยกันก็พอใจละ นี่คือช่วงที่จินตนาการของเขาไปจนถึงจุดที่เรียกว่าสูงสุด เพียงนั่งคุยกันเฉยๆ เขาก็พอใจแล้ว ไม่ต้องเอาตัวของเขาเข้าไปเล่นบทบาทสมมติ
จากตรงนี้ เราเริ่มสังเกตลูกได้แล้วว่าลูกค่อยๆ เปลี่ยนผ่าน พอถึงวัยนี้ แต่ผู้ก็ครองก็อย่าเพิ่งนะ “เอาละ..ถ้าลูกฉันไม่เล่น เขียนอ่านได้เลย” ขอต่ออีกนิดนึง เพราะเด็กเองต้องกลับมาหาตัวเองก่อน เหมือนนกย้ำคอน ก่อนที่จะถลาบิน ขอให้เขาไปสุดความเป็นเด็ก และให้ดูร่วมกับการทรงตัวได้ ซึ่งได้กล่าวไปแล้วร่วมด้วย
พอถึง transition ตรงนี้ วัยที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากความคิดสร้างสรรค์ที่ โห..จินตนาการมากมายภาพในหัวเต็มไปหมด เขาก็จะค่อยๆ ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า abstract ความเป็นนามธรรม หรือสิ่งที่เราบอกไม่ได้เลยว่ารูปทรงอันนี้มันจะเป็นภาพอะไร แต่อันนั้นแหละเขาเรียกว่าตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาอะไรก็แล้วแต่ เหมือนกับว่าเรากำลังบอกเด็กว่าสิ่งเหล่านี้มาเรียงกันหลายๆ ตัว มันทำให้หนูอ่านว่าคำๆ นี้ ฉะนั้นเมื่ออายุของเขาพร้อมพอที่จะเข้าใจได้ว่า อ๋อ… ภาพที่มันไม่ต้องอาศัยความเข้าใจ แต่จากจินตนาการเป็นภาพไปสู่ความเข้าใจทางด้านความจำ อ๋อ… มันโยงกันมาแบบนี้นะ จะทำให้เขาเรียนเขียนอ่านได้โดยไม่ยาก แล้วเราไม่รอถึงจุดที่ลูกทรงตัวได้ก่อนหรอ
รอให้ร่างกายข้างในพร้อมที่สุดก่อนค่อยลุย
เด็กฟันน้ำนมหลุดเขาก็มีอายุหนึ่งที่เสริมร่างกายของตัวเองจนกระทั่งฟันแท้ขึ้น อะไรๆ ในตัวมันพร้อมเต็มที่ การทรงตัวก็เหมือนกัน ถ้าเรารอให้ถึงจุดหนึ่ง เขาสะสมทุกอย่างจนกระทั่งพร้อมแล้วทรงตัวได้ การทรงตัวอันนี้มันจะมีความหมายสำหรับการทรงใจของเขามาก เขาจะมั่นใจ รอถึงตรงนี้ไม่ดีเหรอ? รออีกนิดนึง เราบอกว่าลูกรอไม่เป็น แต่ครูอุ้ยก็ไม่เห็นว่าผู้ใหญ่จะรอได้ (หัวเราะ)
แปลว่าไม่ได้เกี่ยวกับกายอย่างเดียว มันส่งผลถึงใจด้วย
ลองคิดดูว่าถ้าพวกเราไปนั่งเรือ พอเราก้าวเข้าไปสู่เรือซึ่งเป็นลำเล็กๆ หน่อย เราก็กลัวใช่ไหมคะ กว่าเราจะทำตัวเองให้ไปกับเรือได้ในลักษณะการโคลงเคลง แล้วก็หยุดตัวเองไม่ให้โยกไม่ให้โคลง รอจนกว่าเรือก็นิ่ง เรารู้สึกเป็นยังไง ทรงใจไหมล่ะ? ใจเราก็มั่นใจว่าเรานั่งได้ละ แต่ถ้าเราก้าวเข้าไปแล้วมันโคลงอยู่ ข้างในของเราก็แกว่ง
ถามแทนคุณพ่อคุณแม่ บางทีเราก็รู้สึกว่าอยากให้ลูกแข่งขันสู้เพื่อนได้ ยังไม่สบายใจ กังวลเดี๋ยวลูกจะสู้เพื่อนไม่ได้ หรืออยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ มันก็เลยต้องเรียนเขียนอ่าน ณ ตอนนี้ ครูอุ้ยมีคำแนะนำไหมคะ
ถ้าเป็นโรงเรียนในใจของคุณพ่อคุณแม่ อาจจะต้องไปดูเงื่อนไขของโรงเรียนนั้นๆ เสียก่อนว่าโรงเรียนที่ตั้งเป้าเอาไว้เขาเป็นแบบไหน เรามีความภูมิใจในสถาบันแบบที่เราตั้งใจเอาไว้ เช่น เราเป็นศิษย์เก่าของที่นั่นเหรอ? ซึ่งมันก็อาจมีผลต่อความภูมิใจของเรา แต่แม่อุ้ยก็อยากอธิบายว่า แล้วมันใช่หรือเปล่า เราภูมิใจในความเป็นสถาบันของที่นัั้นๆ ที่เรากำลังอยากให้ลูกไป แต่เงื่อนไขคือว่ามันต้องสอบแข่งขัน ลองไปหาข้อมูลให้ดีกว่านี้อีกนิดหนึ่งไหมว่าจำเป็นต้องสอบแข่งขันรึเปล่า ไปหาข้อมูลเสียก่อนแล้วเราถึงจะแน่ใจว่าเราจะต้องเตรียมลูกแค่ไหน ถึงจะผ่านข้อสอบได้
แต่ถ้าให้แม่อุ้ยแนะนำตอนนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพบว่าลูกของเราเขาผ่านหลายเรื่องทางสรีระร่างกาย ถ้าทรงตัวได้ทรงใจได้แน่ การไปเขียนอ่านในระยะเวลาไม่นานตามเงื่อนไขของโรงเรียนประถมที่เราต้องการ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยากของเด็ก เพราะฉะนั้นรอให้ถึงจุดหนึ่งของเด็กก่อนว่า เขาสามารถที่จะดูแลตัวเขาเองได้ สามารถที่จะเรียนรู้บทเรียนสำหรับการเขียนอ่านในระยะเริ่มต้นได้ ทำความเข้าใจได้โดยไม่ยาก เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวก่อนหน้านี้ก็ปล่อยให้เป็นธรรมชาติของความเป็นเด็กไปก่อน แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราพบว่าเขาทรงตัวได้แล้วจริงๆ ก็คงต้องรับผิดชอบงานที่เขาจะต้องไปฝึกเขียนอ่านผ่านข้อสอบโรงเรียนเป้าหมายของคุณพ่อคุณแม่
คนหลายๆ รุ่นที่แม่อุ้ยผ่านมาก็ทำแบบนี้นะ คือรอจนถึงจุดหนึ่งซึ่งเขาพร้อมจริงๆ เขาก็ใช้เวลาไม่นานในการเขียนอ่าน แล้วก็ผ่านเข้าไปตามโรงเรียนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ แต่รอได้ไหม? (หัวเราะ) เรารอไม่ได้ไง เราหวาดกลัว พอเรากลัวปั๊บก็ต้องทำอะไรต่างๆ นานาที่ทำให้เราหายกลัว ส่วนเด็กไม่เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังคิดอะไรอยู่ เด็กก็ยังเป็นเด็ก พ่อแม่พาไปตรงไหนก็ไปตาม เขาทำเพื่อเรามาเยอะแล้วนะ เขาทำเพื่อให้เราพอใจมาเยอะแล้ว บางคนก็ต้องเขียนอ่านเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ แต่เรื่องที่เขาอยากจริงๆ ก็คือเขาอยากเล่นนั่นแหละ ก็มองดูเด็กดูความเป็นธรรมชาติของเด็กหน่อยแล้วกัน จะได้เห็นเด็กอย่างที่เด็กเป็นจริงๆ
สุดท้ายนี้ ครูอุ้ยมีอะไรอยากฝากทิ้งท้ายมั้ยคะ
อยากจะบอกว่าอนุบาลก็คืออนุบาลค่ะ เรียกสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลกนี้ที่ไม่ใช่ลูกเราได้ความหมายตรงกับอนุบาลมากเลย อนุบาลปลาในกระชัง อนุบาลเต่าทะเล พอถึงอนุบาลลูกเรา โอ้โห… มันกลับเป็นอีกแบบหนึ่งเลย พอได้เข้าสถานอนุบาลปั๊บก็กลายเป็นอะไรที่ต้องตามใจผู้ใหญ่ไปเสียแล้ว งั้นเอาใหม่ เราเลี้ยงเด็กอนุบาลให้เขาเป็นธรรมชาติวัยเด็ก ขอเถอะนะ ขอให้เขาเป็นธรรมชาติในวัยที่เขาสมควรจะได้