- ทั้งพ่อเเม่เเละลูกต่างตั้งคำถามต่อกันคนละเเบบจากมุมมองที่ต่างกัน เเต่จะเป็นอย่างไร ถ้าผู้ใหญ่มานั่งฟังความรู้สึกของพวกเขาอย่างเปิดใจเเละเข้าใจ
- TEDxYouth@Bangkok2020 เปิดพื้นที่ชวนผู้ใหญ่มาทำความเข้าใจความรู้สึกเเละพื้นที่ของเด็กๆ และให้เด็กเองได้พูดความคับข้องใจของเขาผ่านหัวข้อ You(th) Matter ไม่ใช่เเค่เสียงของคนรุ่นใหม่ที่สำคัญเเต่เสียงของ ‘คุณ’ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยให้เสียงของคนรุ่นใหม่ดังขึ้นกว่าเดิม
- จาก 10 สปีกเกอร์ มี 3 เรื่องราวผ่านเสียงของเด็ก 3 คน ที่อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าพื้นที่ที่พวกเขาเลือกเองคือพื้นที่ในการเเสดงความเป็นตัวเองเเละมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในของพวกเขา
ภาพ: TEDXYouth@Bangkok2020
พ่อเเม่มักสังเกตพร้อมตั้งคำถามต่อการกระทำเเละความสนใจของลูก เช่น อยากให้ลูกอยู่บ้านกับครอบครัวเเต่ลูกเลือกออกไปหาเพื่อน ลูกอยากเรียนในสิ่งที่เขาสนใจ เช่น ศิลปะ กีฬา ดนตรี เเต่พ่อเเม่อยากให้เรียนวิชาการ พ่อแม่เห็นแต่ลูกติดมือถือทั้งที่จริงๆ นี่คือเครื่องมือการเรียนรู้โลกของยุคสมัย ขณะเดียวกันลูกก็ตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้เช่นกันว่า ทำไมพ่อเเม่ถึงไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาเลือกเเละสนใจ ต่างฝ่ายต่างตั้งคำถามต่อกัน มีความต้องการต่อกันคนละแบบ
เเต่จะเป็นอย่างไร ถ้าผู้ใหญ่มานั่งฟังความรู้สึกของพวกเขาอย่างเปิดใจเเละเข้าใจ
TEDxYouth@Bangkok2020 เปิดพื้นที่ชวนผู้ใหญ่มาทำความเข้าใจความรู้สึกเเละพื้นที่ของเด็กๆ และให้เด็กเองได้พูดความคับข้องใจของเขาผ่านหัวข้อ You(th) Matter ไม่ใช่เเค่ Youth หรือเสียงของคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนเเปลงสังคม เเต่ You ด้วยเช่นกัน ‘คุณ’ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยให้เสียงของคนรุ่นใหม่ดังขึ้นกว่าเดิม เเละมีส่วนช่วยทำให้ความต้องการของคนรุ่นใหม่เป็นจริง
เวทีปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องจัดเวทีเป็น 2 แบบ คือ เเบบออฟไลน์ที่ E-sport Arena เดอะสตรีท รัชดา เเละ แบบออนไลน์ที่มีให้เลือก 2 ออปชั่น คือ ผ่านโปรเเกรม Zoom เเละเพจเฟซบุ๊ก TEDxYouth@Bangkok และความพิเศษของเวทีปีนี้ คือ เป็นครั้งเเรกที่เชิญผู้ใหญ่เข้ามาเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์ด้วย
ขณะที่ฟังเรื่องราวจาก 10 สปีคเกอร์ มี 3 เรื่องราวที่พอฟังแล้วทำให้ผู้เขียนมีโอกาสย้อนกลับไปมองตัวเองในอดีต ตัวเราที่เคยคาดหวังว่าต้องเป็นคนที่ดีที่สุด ต้องทำตัวให้เป็นที่ยอมรับ จนทำให้เราไม่สามารถเเสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ ทั้งการเข้าใจพื้นที่ Safe Zone พื้นที่ที่ทำให้เราได้ทบทวนความรู้สึกและเข้าใจตัวเองผ่านสิ่งที่เราสนใจ เเต่กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเเม้เเต่ความชอบเเละความสนใจของผู้เขียนที่อยากทำงานเขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่จะสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ เเต่ต้องใช้เวลาหลายปี กว่าจะพิสูจน์ให้คนรอบข้างยอมรับเเละเข้าใจจนเป็นตัวเองที่กำลังเขียนเรื่องนี้อยู่
เเละการเป็นเด็กเรียนดีที่เพื่อนกับครูคาดหวัง สร้างภาพจำว่าตัวเราควรจะเป็นอย่างไร จนไม่สามารถเเสดงความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะเป้าหมายของตัวเราในการเรียนคือการเดินเข้าไปอยู่ในภาพจำของคนอื่น
ทั้ง 3 เรื่องราวผ่านเสียงของเด็ก 3 คน ที่ต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่าพื้นที่ที่พวกเขาเลือกเองคือพื้นที่ในการเเสดงความเป็นตัวเองเเละมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในของพวกเขาได้
มายด์ – ธวัลรัตน์ วงศ์นุ่ม: วันสุดท้ายของเรื่องไร้สาระ
จุดเริ่มต้นความสุขของคนๆ หนึ่งในเเต่ละวัน อาจจะเป็นการออกกำลังกาย เล่นเกมส์ ฟังเพลง ดูหนัง ดูซีรีส์ หรือดูคลิปศิลปินที่ตัวเองชอบ แต่บางครั้งสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข อาจถูกมองเป็น ‘เรื่องไร้สาระ’ ในสายตาคนอื่น
มายด์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในเด็กที่ถูกผู้ใหญ่มองความสุขของเธอเป็นเรื่องไร้สาระ มายด์เปิดพื้นที่เล่าเรื่องด้วยคลิปเเคสท์เกมของพี่เอก heartrocker นักเเคสท์เกม (หรือ นักพากย์เกม – Cast Game, Game Caster หรือ Game Commentator) ที่มีคนติดตามมากกว่า 6 ล้านคน พร้อมถามคำถามว่า ‘คุณคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระไหม?’
สำหรับเธอเเล้ว คลิปของพี่เอก heartrocker ช่วยให้เธอลืมความเครียดจากการดูเเลเเม่ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดทางสมองเมื่อ 2 ปีก่อน มายด์สร้างโลกของตัวเธอผ่านดนตรีเเละเกม ใช้เวลาอยู่กับโลกใบนี้วันละ 8 ชั่วโมง จนพ่อถามว่า ‘วันๆ ไม่เห็นจะทำอะไรเลย มัวเเต่เล่นโทรศัพท์’ เเต่มายด์นิยามโลกใบนี้ว่า มันคือจุดเริ่มต้นความสุขเเละรอยยิ้มของเธอในเเต่ละวันที่เรียกว่า Safe Zone – พื้นที่ปลอดภัยของเธอ เพราะในวันที่เธอไม่อยากจะมีชีวิตต่อ แต่เสียงของผู้ชายที่เธอไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าในโลก Safe Zone กลับเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้มายด์เลือกที่จะมีชีวิตต่อไป
ช่วงท้ายการ talk ของมายด์เธอขึ้นภาพสติ๊กเกอร์ไลน์ “สวัสดีวันจันทร์” ชี้ว่าสติ๊กเกอร์นี้คงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนชอบส่งกัน ต่อมามายด์เปิดภาพถัดไป เป็นภาพศิลปินเกาหลี มายด์อธิบายว่า เมื่อนึกถึงศิลปินเกาหลี หลายคนคงเห็นภาพของกลุ่มเเฟนคลับที่รอรับศิลปินที่ชื่นชอบจนเเทบไม่มีที่ยืนในสนามบิน หลังจากเปิดรูปภาพเสร็จ มายด์ก็ถามขึ้นมาว่า “คุณคิดว่าเรื่องนี้ไร้สาระไหม?” มายด์กำลังเชื่อมสองโลกนี้ ความชอบจากโลกสองใบให้เห็นภาพใกล้เคียงกัน
ขณะที่คนหนึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระมากที่สุดในชีวิต เเต่สำหรับอีกคน สิ่งๆ นั้นอาจเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขามีความสุข กระตุ้นให้ตัวเองตื่นเช้าไปเรียนหรือทำงาน หรือเป็นเเรงผลักดันให้เขากล้าเป็นตัวเองมากขึ้นก็ได้
“ทุกคนล้วนมี Safe Zone เป็นของตัวเอง เเละไม่อยากให้ใครมาว่า เราอยากให้ทุกคนเข้าใจคำว่า Safe Zone เพราะวันหนึ่งคุณอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลก Safe Zone ของใครบางคน”
พราว – พราว ธำรงรัตน์: เพื่อนสนิทที่ชื่อ Passion
Passion คือ ความหลงใหลที่มากพอจะขับเคลื่อนชีวิตเรา คงไม่ใช่เรื่องเเปลกถ้าเราจะชอบเเละเดินเข้าไปทำความรู้จักกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก จนเเทบจะเเฝงอยู่ในตัวเราเเบบไม่รู้ตัว เป็นเพื่อนสนิทของเรา หรือที่ใครหลายคนชอบพูดว่ามันคือ Passion เเละกลายเป็นจุดเด่นของตัวเอง พราวเริ่มต้นด้วยเรื่องราวนี้ก่อนจะเเนะนำเพื่อนสนิทของเธอ…
เพื่อนสนิทคนเเรกของพราว คือ ‘คุณ-ภาพ’ ย่อมาจาก การวาดภาพ เพราะความสุขที่ได้จับดินสอ ยางลบ การลงสี ทำให้ทุกวันหลังเลิกเรียน พราวจะใช้เวลาไปกับการวาดภาพ เเต่เมื่อถึงเวลาสอบเธอได้ใช้เวลาวาดรูปน้อยลง เเม้ช่วงเวลานั้นจะแค่ 2 อาทิตย์ เเต่สำหรับพราวเวลาช่างเดินช้าเหมือนผ่านไปเป็น 10 ปี นอกจากนี้เธอก็ต้องพบกับความซับซ้อนในการวาดภาพเเละปัญหาการลงทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับ ‘วาด’ ทำให้คุณ-ภาพ ไม่สนุกเหมือนตอนที่พราวเเละคุณ-ภาพ รู้จักกันใหม่ๆ
จนพราวได้มารู้จักกับเพื่อนคนใหม่ที่ชื่อว่า ‘คุณ-เขียน’ ย่อมาจาก เขียนนิยาย ที่ทำให้พราวตื่นเต้นเเละมีความสุขไปในทุกตัวอักษรเเละเรื่องราวระหว่างบรรทัด
เมื่อแพรโตขึ้น เธอได้รู้จักกับเพื่อนใหม่อีกมากมาย ทั้งคุณ-เพลง คุณ-หนัง คุณ-ซีรีส์ คุณ-กีฬา เเละคุณ-อื่นๆ เพราะสำหรับพราว Passion ก็เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง จะสนิทมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ว่าสิ่งเหล่านั้นเข้ากับบุคลิก นิสัย หรือความชอบของเราได้มากเเค่ไหน
หลังจากนั้นพราวก็เเนะนำวิธีให้ทุกคนค้นหาเพื่อนสนิทของตัวเองผ่าน 4 Checklist หรือ TENM พราวอธิบายว่า ถ้ามีมากกว่า 3 ข้อ ยืนยันได้เลยว่าสิ่งนี้คือเพื่อนสนิทของเราจริงๆ เขาจะเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้างเเละสนับสนุนให้ตัวเรารู้สึกสนุกกับสิ่งที่เราเลือกในอนาคต
- Checklist#1 T : Time เราเล่นสนุกกับเพื่อนคนนี้จนลืมเวลา
- Checklist#2 E : Excite ตื่นเต้นเเละเฝ้ารอที่จะได้เล่นกับเพื่อน
- Checklist#3 N : No Fear ไม่ว่าคนรอบข้างจะมองเพื่อนเรายังไง เราก็ยังอยากจะเล่นเเละทำความรู้จัก
- Checklist#4 M : Money คุณกล้าที่จะเสียเงินเพื่อที่จะได้ไปเจอเเละสนุกไปกับเพื่อนคนนี้
“ลองหยุดฟังเสียงรอบข้างเเล้วมาอยู่กับตัวเอง Passion คือสิ่งที่ตัวเราหลงใหลมากพอที่จะมาขับเคลื่อนชีวิตของเรา Passion เป็นเหมือนเพื่อน ที่บางคนรู้สึกสนิทมากและอยู่กันได้นาน หรือบางคนอาจจะได้ใช้เวลาร่วมกันสั้นๆ เเล้วเเยกย้ายกันไป”
เเพร – เเพรนวล จอนบำรุง: ถึงเวลาคืนค่าเกรดเฉลี่ย
คุณคิดอย่างไรกับเด็กที่สอบได้เกรด 4 ? ภาพในหัวของคนส่วนใหญ่คงเป็นภาพคนเก่ง คนดี เป็นที่รักของใครหลายคน คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
เเพร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นหนึ่งคนที่ถูกจำด้วยภาพนั้น เธอเป็นตัวเเทนของเด็กที่สอบได้เกรด 4 เป็นตัวเเทนโรงเรียนในการประกวดวิชาการ เเล้วยังเป็นนักเรียนที่คุณครูยอมรับพร้อมกับยื่นโอกาสดีๆ ให้เสมอ เเต่ใครจะรู้ว่าโอกาสที่ยื่นให้เเละมองว่าเป็นความสุข กลับทำให้แพรต้องอึดอัดกับความเป็นตัวเอง เเละเริ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทยว่า ‘เกรดเฉลี่ยที่เธอได้มาสำคัญอย่างไร?’ เพราะโลกมี 2 ด้านเสมอ…
“เกรดเฉลี่ยมันอเมซิ่งมากๆ ทั้งเป็นเกณฑ์ที่ทำให้คนๆ หนึ่งได้รับโอกาสดีๆ เเละยังเป็นเครื่องมือในการตัดสินเด็กคนหนึ่ง”
เเพรบอกว่าเกรดคือสิ่งที่หยิบยื่นโอกาสให้คนๆ หนึ่ง เเต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กอีกจำนวนหนึ่งต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพียงเพราะเกรดเขาไม่ดี เเต่จริงๆ แล้วพวกเขาอาจจะทำอย่างอื่นได้ดีกว่า เช่น วาดรูป เล่นกีฬา หรือสิ่งที่เขาสนใจ แพรยกข้อมูลหนึ่งมาเล่าให้ทุกคนฟังว่า ประเทศไทยมีการเเบ่งเเยกนักเรียนสูงมากถึง 77 เปอร์เซนต์ มากกว่าเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์
ไม่ผิดที่เราจะชื่นชมเด็กสอบได้เกรด 4 เเต่ก็ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถด้านอื่นนอกจากวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมเเละเเสดงความสามารถของตัวเอง เพื่อให้เขารู้สึกว่า ความสามารถของเขาสำคัญเเละกล้าที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป
เพราะเมื่อโรงเรียนให้ความสำคัญกับการจัดลำดับนักเรียน ไม่ต่างจากการจัด rank ในเกมส์ ทำให้เด็กต้องตั้งเป้าหมายว่า ‘ฉันจะต้องเป็นเด็กที่มีเกรดดีๆ’ ก็เลยต้องซื้อไอเท็มที่จะทำให้ผ่าน mission เเต่ละด่านไปให้ได้ ก็คือโรงเรียนสอนพิเศษ จะเห็นว่าชีวิตของเด็กไทยในตอนนี้ คือ เรียนในโรงเรียนเสร็จเเล้ว ก็ไปเรียนที่โรงเรียนสอนพิเศษต่อ
เเพรพูดด้วยน้ำเสียงฮึกเหิมว่า “ถึงเวลาเเล้วที่เราจะคืนค่าเกรดเฉลี่ย โดยที่ไม่มีใครควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” เกรดไม่ใช่สิ่งสำคัญ เเต่สิ่งที่สำคัญคือการที่เด็กเข้าใจสิ่งที่เขาเรียนรู้มา สามารถนำมาประยุกต์กับการใช้งานในอนาคต
“หากการศึกษาทำให้ผู้เรียนเหมือนกำลังเล่นเกม เเสดงว่ามันกำลังบิดเบียววัตถุประสงค์ทางการศึกษา เเท้จริงเเล้วเกรดเฉลี่ยไม่ได้เป็นปัญหา เเต่เป็นค่านิยมของคนในสังคมที่กำลังเป็นปัญหา”
เสียงเล็กๆ จากเด็กคนหนึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความเข้าใจระหว่างพวกเขาเเละผู้ใหญ่ เข้าใจเหตุผลของกันเเละกัน ไม่เเน่ว่าวันหนึ่งเสียงนี้จะสร้างความเปลี่ยนเเปลงเเละเป็นเสียงที่ดังที่สุดเสียงหนึ่งก็ได้
ในงาน TEDxyouth@Bangkok2020 มีการส่ง Special Box ให้กับผู้ที่ซื้อบัตรเข้าร่วมงานถึงที่บ้าน โดยด้านในกล่องจะประกอบด้วย 1) Board Game: School Matter เกมส์ที่จะทำให้ผู้เล่นย้อนวัยเหมือนกลับไปอยู่ในรั้วโรงเรียนอีกครั้งผ่านวีรกรรม กิจกรรม เเละบทสนทนาระหว่างผู้เล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเรียน 2) Postcard เเละ Stickers จากเหล่า Speaker ที่ออกเเบบให้เข้ากับหัวข้อการ Talk ของเเต่ละคน เช่น อาร์ม สรสิช สิรวัฒนากุล ที่พูดเกี่ยวกับเรื่องการออกเเบบการเรียนรู้เเบบ Self-Learning ก็ทำเป็นโปสการ์ดถึงวิธีการ What, How, Then ส่วนด้านหลังเป็นปฏิทิน 3) Kerry Express Thailand Box for Laptop รูปเเบบของกล่องสามารถนำไปประยุกต์เป็นที่วางโน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ หรือเเท็บเล็ตได้ 4) GQ Apparel mask TEDxYouth@Bangkok |