ดูซีรีส์ แล้วย้อนมอง ‘แม่’ ตัวเอง เอ๊ะ… ทำไมเหมือนแม่เราไม่มีผิด!? และบทลูกในซีรีส์ นี่คือฉันรึเปล่า! กี่ครั้งที่ต้องเสียน้ำตาให้กับเรื่องราวความสัมพันธ์แม่ลูกที่เหมือนมาจากชีวิตจริงของตัวเอง
หลายครั้งที่การดูซีรีส์ หนัง ละคร เหมือนได้เห็นชีวิตของตัวเองผ่านเรื่องราวตรงหน้า (ราวผู้กำกับเอาชีวิตและเรื่องราวในบ้านฉันไปเขียนหรือเปล่านี่) โดยเฉพาะซีรีส์เกี่ยวกับความรักความผูกพันของคนในครอบครัว คาแรกเตอร์ของแม่ที่แตกต่าง น้ำเสียงของตัวละคร หรือสถานการณ์ในเรื่อง ที่ดูแล้วทำให้นึกถึงแม่ตัวเอง แม่ ที่มีทั้งความสมบูรณ์แบบ ไม่สมบูรณ์แบบ ความถูกต้อง ความผิดพลาด ความเปราะบาง ความเข้มแข็ง แม่ที่เป็นเมียหลวงเมียน้อย แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือใครก็ตามที่อาจไม่เคยคลอดลูกแต่มีบุคลิกบางอย่างที่เราอยากบอกว่าเขาก็คือ “แม่”
ทั้งหมดเหล่านี้… ทำให้เกิดคำถามหรือคิดในใจว่า แม่ที่เรากำลังดูอยู่ เหมือนแม่ของฉันไม่มีผิด แล้วลูกที่อยู่ในเรื่องนั้น คือตัวเราเอง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย แต่เราต่างเป็นผลพวง ส่งผลกระทบต่อกันและกัน
เนื่องในโอกาสวันแม่ปี 2563 เราลองลิสต์คุณแม่ในซีรีส์ ละคร และภาพยนตร์ที่บอกถึงความคิด ความรู้สึก และบทบาทของแม่ในเเต่ละครอบครัว คุณเเม่คนไหนเหมือนกับเเม่ของคุณมากที่สุดจนอยากจะเรียกแม่ที่บ้านให้มาอ่าน มาดูที
SKY Castle – แม่ เพราะรักจึงคาดหวัง
แม่ (ชุด) แรกที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือบรรดาแม่ๆ ใน “SKY Castle” (2018) ซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้ ถ่ายทอดเรื่องราวของพ่อเเม่ในการส่งลูกให้ไปเเตะฟ้า ซึ่งพ้องมาจาก SKY อักษรต้นของมหาวิทยาลัยชั้นนำในเกาหลีใต้ คือ S-Seoul National University K- Korea University Y-Yonsei University จนครองใจผู้ชมด้วยเรตติ้งอันดับ 1 ของรายการเคเบิ้ลเกาหลีนานถึง 2 ปี (จนเรื่อง A World of Married Couple จากค่ายเดียวกันมาโค่นไป!)
โดยบทบาทที่เราจะพูดถึงคือบทบาทของฮันซอจิน (แสดงโดย ยอมจองอา ) แม่ผู้เเบกความคาดหวังว่าอียอนซอ (แสดงโดย อีฮเยยุน) ลูกสาวจะต้องเป็นทายาทหมอรุ่นที่ 3 ของตระกูลให้ได้ ซึ่งเป็นความหวังของตัวเธอเอง สามี และแม่สามี สิ่งนี้ทำให้อียอนซอเป็นเด็กที่ชอบแข่งขัน ชอบเอาชนะ ต้องเป็นที่หนึ่ง และไม่เคยเผชิญกับความผิดหวัง
จนวันหนึ่งที่อียอนซอพลาดคะแนนสอบไปเพียง 1 คะแนน ทำให้เธอหัวเสีย แสดงความก้าวร้าว และไม่สามารถควบคุมอารมณ์และการกระทำของตัวเอง และไม่มีใครจะเยียวยาความรู้สึกนั้นได้ แม้แต่ครอบครัวของเธอเอง
สุดท้ายซีรีส์เรื่องนี้คงพยายามจะบอกเเม่ๆ ว่าถึงแม่จะบอกกับเราและกับตัวเองว่า “เเม่ไม่ได้คาดหวัง” เเต่คำพูดที่พูดกับลูก การกระทำที่ทำให้ลูก ก็มีมวลแห่งความคาดหวังในอีกรูปแบบเพียงแต่แม่อาจไม่พูดออกมาหรือบางทีอาจไม่รู้ตัว เเละลูกก็ต้องยอมรับความคาดหวังไปโดยปริยาย
ดูได้ที่: Viu, Netflix
Another Child – แม่ เมียหลวง เมียน้อย ผู้หญิงคนหนึ่ง
Another Child (2019) ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีที่ว่าด้วยบทบาทของ ‘แม่’ ทั้งแม่ที่เป็นเมียหลวง แม่ที่เป็นเมียน้อย และการหยิบยื่นความเป็นมนุษย์ให้แก่กันตราบที่ความเข้าใจ ณ ขณะนั้นจะมอบให้กันได้
จูริ (แสดงโดย คิมฮเยจอน) และ ยุนอา (แสดงโดย พัคเซจิน) นักเรียนชั้นมัธยม 5 ในโรงเรียนเดียวกัน เพิ่งมารู้ว่า “พ่อ” และ “แม่” ของพวกเธอเป็นชู้กัน (พ่อของจูริ เป็นชู้กับแม่ของยุนอา) เมื่อรู้ความจริง ทั้งคู่จึงพยายามหาทางยุติความสัมพันธ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะยิ่งรู้ว่าแม่ของยุนอากำลังตั้งครรภ์น้องอีกคน (แปลว่า น้องคนนี้กำลังจะกลายเป็นน้องของทั้งจูริและยุนอาด้วย) แต่ปรากฎว่า ยิ่งช่วยมากเท่าไหร่ เรื่องกลับยิ่งบานปลายขึ้นเท่านั้น
แม้หนังจะตั้งต้นที่คู่ความสัมพันธ์ของชู้ แต่กลับให้น้ำหนักไปที่ความสัมพันธ์ของ จูริ และยุนอา และ ความสัมพันธ์แม่ลูก และ เมีย-เมีย เริ่มกันที่ จูริ และ ยุนอาก่อน ที่มันประหลาดมากเพราะทั้งคู่อยู่ในสถานะของลูกเมียหลวงเมียน้อย ต่างแบกรับความรู้สึกเจ็บแค้นจากความเจ็บปวดของแม่ตัวเอง (ไม่ว่าจะหลวงหรือน้อยก็เปราะบางไม่ต่างกัน) ขณะเดียวกันก็ต้องวางความแค้นลงแล้วโฟกัสที่ ‘น้องน้อย’ ที่เพิ่งเกิดมาและตายไปอย่างไม่มีใครช่วยได้ “พี่ครั้งแรก” นี่คือสิ่งที่เธอมีร่วมกัน เข้าใจเหมือนกัน สุขและทุกข์ยามเห็นน้องนอนตัวเขียวและสิ้นลมหายใจ ความรับผิดชอบร่วมที่จะดูแลน้องในวาระสุดท้าย ทำให้ความเป็นลูกเมียหลวงเมียน้อย หายไปชั่วคราว
และอีกคู่ คือ แม่ของจูริ (สถานะเมียคนแรก) และ แม่ของยุนอา (สถานะเมียคนรอง) คู่นี้หลายคนอาจตัดสินไปแล้วว่าแม่ของยุนอานั้นทำผิดศีลธรรม แต่หนังพาคนดูเข้าไปทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์(ขี้เหม็น)อย่างลึกพอ ชวนกลับไปโฟกัสที่ความเป็นแม่ ที่อยากปกป้องและรีบเคลียร์ความเจ็บช้ำของตัวเองให้คลี่คลายเร็ววัน แม่จูริเสียใจที่ถูกสามีหักหลัง เกลียดเมียน้อยเช่นกันที่ทำลายภาพฝันครอบครัว ขณะเดียวกัน วันที่รู้ว่าแม่ยุนอาตั้งครรภ์ลูกของสามี ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน เธอเกลียดแม่จูริได้อย่างไม่เต็มใจนัก อาจเป็นความเวทนา แต่คงเป็นผู้ที่ผ่านความเป็นแม่มาเท่านั้นละมั้งถึงจะเข้าใจความหนักหนาของภาระนี้ด้วยกัน แต่ฉากตอนแบบอินดีเทลจะเป็นอย่างไร อยากให้ติดตามชมต่อในภาพยนตร์
ในฐานะลูกและเป็นพี่สาวซึ่งโตพอเข้าใจความเทาของโลกใบนี้ แค่อยากบอกแม่ว่า …วันหนึ่งเธออาจทำผิด อาจอกหักในวัยชราและกลายเป็นหญิงคนหนึ่งที่ต้องการนอนเน่าๆ อยู่บนเตียง ร้องไห้จนหมอนเปียก ไม่แค่จิบแต่กระดกบรั่นดีจนเมาคอพับแถมตัวเหม็นจนไม่มีใครอยากเข้าใกล้ แต่ขอให้รู้ไว้ว่า เมื่อเช้าวันพรุ่งนี้มาถึง ฉันจะจับเธอไปร้านทำผม ออกค่าทำเล็บให้ จะโทรศัพท์ไปบอกเจ้านายให้เองว่าแม่จะขอพักร้อนสักสี่ห้าวัน อืม… ไม่เป็นไรแม่ ฉันจะอยู่เป็นเพื่อนเธอ ฉันจะเข้าข้างเธอ
ดูได้ที่ : Viu
My mother เรียกฉันว่าเเม่ – ฉันไม่ได้อยากเป็นเเม่
“ฉันไม่เคยอยากจะเป็นเเม่ เพราะฉันเข้าใจความรู้สึกหวาดกลัวที่พ่อทำร้ายเราทุกวันได้”
คำพูดของ ทิชา (เเสดงโดย เเพนเค้ก เขมนิจ) นักวิจัยตกงานที่จำใจมาเป็นคุณครูประจำชั้น จากซีรีส์เรื่อง My Mother เรียกฉันว่าเเม่ (2018) ที่นำมารีเมคเป็นเวอร์ชันที่ 3 หลังจากเคยทำในเวอร์ชันญี่ปุ่น เเละเกาหลี
ตลอดชีวิตทิชาไม่เคยอยากเป็นแม่ เเต่เเล้วความคิดของเธอก็เปลี่ยนไปหลังได้พบกับ ของขวัญ (เเสดงโดย มากิมาชิดา) เด็กหญิงในชั้นที่เธอดูแล ของขวัญกล้าคิด กล้าทำ กล้าถาม เเตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ แต่ภายใต้ความกล้าของเด็กหญิง ของขวัญอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยความรุนเเรงในครอบครัว และของขวัญก็ไม่เคยบอกใครเพราะคิดว่านี่คือการปกป้องเเม่เเท้ๆ ของเธอ
ชีวิตของของขวัญไม่ต่างจากวัยเด็กของทิชา เพราะตอนอายุ 7 ขวบ คนที่เธอเรียกว่าพ่อทำร้ายเธอจนเเม่ต้องพาเธอออกจากบ้านเเละทำให้เธอต้องเข้าไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า นี่เป็นเเรงผลักให้ทิชาเลือกจะเป็นเเม่ให้กับของขวัญ ในวันที่เธอเจอของขวัญถูกทิ้งอยู่ในถุงขยะ (ของขวัญนั่งเงียบอยู่ตรงนั้นเพราะคิดว่านี่คือการทำตามความต้องการของแม่ตัวเอง) เกิดเป็นความผูกพันของเเม่ลูกที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด
บางครั้งความสัมพันธ์ของเเม่ลูก อาจไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือดเพียงอย่างเดียว เเต่เป็นความรู้สึกที่อยากจะพาคนๆ หนึ่งให้หลุดพ้นจากบ่วงความรู้สึกเศร้า ความหวาดกลัวในบ้านซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของตัวเราเอง
ดูได้ที่: LINE TV
ฮาวทูทิ้ง – แม่นักเก็บ
เคยไหม? เวลาจะทิ้งของบางอย่างเเล้วเเม่ไม่ให้ทิ้ง พร้อมกับได้รับคำตอบว่า ของสิ่งนั้นยังเอาไปทำอย่างอื่นได้ หรือบอกว่ายังใช้ได้อยู่ ลูกไม่ใช้ เดี๋ยวเเม่ใช้เอง เพราะเเม่ของจีนเเละเจย์ (เเสดงโดย อุ๋ม อาภาศิริ) ในภาพยนตร์เรื่อง ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2019) ภาพยนตร์จากค่าย GDH559 กับเรื่องราวที่เริ่มต้นมาจากจีน (เเสดงโดย ออกแบบ ชุติมณฑน์) ผู้หญิงสายมินิมอล อยากเปลี่ยนบ้านให้เป็นบ้าน 2 ชั้นเเละต้องการเคลียร์สิ่งของภายในบ้านที่เเต่ละชิ้นเต็มไปด้วยเรื่องราว
เเม่ของจีนเเละเจย์คือเเม่ที่อยากจะเก็บสิ่งของในบ้านไว้ เพราะเป็นร่องรอยความทรงจำแห่งความสุขของคนในครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ก่อนที่สามีเเละพ่อจะตัดสินใจเดินออกจากชีวิตครอบครัวนี้ เช่น การเถียงกันของเเม่เเละจีนว่าต้องการจะเอาเปียโนที่พ่อชอบเล่นไปขาย เเต่เเม่ไม่ยอมเพราะการขายเปียโนก็เป็นการลบความทรงจำ ตัดเรื่องราวของพ่อทิ้งไป
ของชิ้นเล็กชิ้นน้อย สำหรับลูกเเล้วอาจเป็นเเค่ของชิ้นหนึ่ง เเต่ของชิ้นนั้นเเฝงไปด้วยความทรงจำเเละเรื่องราวที่เเม่ไม่อยากให้หายไปจากความทรงจำของเขา เพราะความทรงจำเเละเรื่องราวเกี่ยวกับของอาจมีคุณค่าเเละเเรงใจที่ทำให้เขามีความสุขกับการเป็น ‘เเม่’ ของลูกๆ ต่อไปก็ได้
แม่ในเรื่องนี้คนอื่นอาจตัดสินว่าเธอมูฟออนเป็นวงกลม ยังคงเก็บของและเรื่องราวไว้แม้รู้ว่าสามีจะไม่กลับมาเเล้ว แต่ใครจะรู้ว่าเธอและอดีตสามีผ่านเรื่องราวผูกพันกันมาแค่ไหน ทั้งในฐานะ คนรัก คู่ชีวิต สามีภรรยา และพ่อแม่ของลูกๆ เราต่างมีวิธีเยียวยาและก้าวต่อไปในแบบของตัวเอง แม่ในเรื่องนี้สะท้อนภาพผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เจ็บปวดได้ ผิดหวังกับความรัก และยังไม่ต้องมูฟออนก็ได้
ดูได้ที่ : Netflix
The Yard – แม่ที่เดินเข้าคุกแทนลูก
ฉากแรกของซีรีส์ฉายให้เห็นภาพชาย-หญิงคู่หนึ่งกำลังแย่งปืนกัน ศีรษะฝ่ายหญิงชุ่มไปด้วยเลือด สักพักมีหญิงสาวอีกคนวิ่งเข้าห้าม ก่อนจะตัดจบด้วยเสียงปืนหนึ่งนัดที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดใน The Yard (2018) ซีรีส์สัญชาติตุรกี เล่าเรื่องราวของเดนิซ เดมีร์ (แสดงโดย Demet Evgar) คุณแม่ที่เดินเข้าคุกแทนลูกสาว เอเจม เดมีร์ (แสดงโดย Eslem Akar) ในข้อหายิงพ่อตัวเอง
ชีวิตในคุกไม่ง่ายสำหรับเดนิซ เธอต้องเอาตัวรอดจากเจ้าถิ่นที่หวังใช้เธอเป็นเครื่องมือทำสิ่งผิดกฎหมาย สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวเดนิซไม่ทำให้เธอเป็นบ้าไปซะก่อน คือ เอเจม ภาพลูกสาวบนกำแพงเป็นเครื่องเตือนใจเดนิซว่า มีคนกำลังรอเธออยู่ข้างนอก เธอต้องออกไปจากคุกให้ได้
ถ้าถามว่าต้นเหตุเรื่องราวทั้งหมดเกิดจากอะไร คงไม่ใช่กระสุนนัดนั้น แต่คือความรุนแรงในครอบครัวเดมีร์ ซีรีส์ฉายให้เห็นผลกระทบที่ส่งต่อเป็นโดมิโน่ ตั้งแต่ภรรยาที่ทนอยู่กับสามีอารมณ์ร้าย จนกลายเป็นคนเก็บกด หรือลูกที่โตมากับภาพแม่โดนพ่อทำร้ายเป็นประจำ กลายเป็นแรงผลักให้ตัดสินใจหยิบปืนยิงพ่อเพื่อปกป้องแม่ หรือแม้แต่ตัวสามีที่ถึงจะทุกข์ทรมานกับการกระทำตัวเอง แต่ก็ไม่หยุดหรือเปลี่ยนมัน
ถ้าบอกว่าแม่ที่ดีต้องปกป้องลูก ต้องเลี้ยงดูให้ลูกโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดี แม่แบบเดนิซอาจไม่ใช่ แต่แม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีความรู้สึก มีความรักให้สามีตัวเอง เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เดนิซทำผิดหรือไม่ เพราะแต่ละคนมีสิ่งที่ต้องดีลต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือการเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ ไม่ควรมีใครถูกทำร้าย โดยเฉพาะจากคนที่เรารัก
ดูได้ที่: Netflix
My Happy Family – แม่ที่หนีออกจากบ้านไปมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง
My Happy Family (2017) ภาพยนตร์สัญชาติจอร์เจีย อยู่มาวันหนึ่ง มานานา ผู้หญิง แม่ ภรรยา ลูกสาว ผู้หญิงวัย 50 ปีที่อาศัยร่วมกับคนในครอบครัวร่วมสิบชีวิตในห้องเช่าเล็กๆ ห้องหนึ่ง วันหนึ่งโดยที่ไม่มีใครรู้ตัว มานานาตัดสินใจเก็บเสื้อผ้า ไม่บอกใคร ไม่อธิบายเหตุผล และเดินออกจากบ้าน จากครอบครัวไปหาอพาร์ทเมนต์โกโรโกโส (แต่มีระเบียงกว้าง) อยู่เองคนเดียว
เธอยังเป็นแม่ เป็นลูกสาว เป็นภรรยา เป็นหญิงคนเดิม ต่างตรงที่เธอชัดเจนแล้วว่าเธออยากใช้ชีวิตที่ ‘เงียบ’ และสงบมากพอจะทำอะไรก็ตามเพื่อตัวเองสักที ถ้ามองในมุมลูกและสามี มันคงเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ว่าอยู่ดีๆ ทำไมต้องทิ้งทุกคนแล้วออกมา แต่ในชีวิตคนเราน่ะ บางทีมันก็ยากมากนะที่จะอธิบายเหตุผลที่แม้แต่ตัวเองก็สรุปมาเป็นคำพูดไม่ได้ เพียงแต่ข้างในมันบอกว่า ต้องเปลี่ยนแล้ว ต้องไปแล้ว และอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตของเราน่ะ ทำไมต้องอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ
เราไม่แน่ใจว่าความหมายครอบครัวในจอร์เจียคืออะไร แต่ในหนังฉายภาพความบงการลูกสาว ของพี่ชาย ของแม่ ของสามี การเรียกญาติทั้งตระกูลมาปรับทัศนคติมานานา เพราะเข้าใจไม่ได้ว่า “การอยากมีชีวิตส่วนตัว” มันคืออะไรนะ และความต้องการนี้ถึงกับทำให้เธอต้องทิ้งหน้าที่ดูแลบ้าน สามี ลูก และพ่อแม่ไปเลยหรือ?
มานานาไม่ได้อธิบายเหตุผล ไม่เลย แต่จังหวะที่เธอตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ เปิดหน้าต่าง จับอาร์มแชร์ที่เอาผ้าห่มเก่าๆ มาคลุมไว้แล้วดันหันเก้าอี้เข้าหาหน้าต่าง กินเค้กเป็นอาหารเช้า นั่งมองความเงียบที่กองตรงหน้า ไม่มีความจอแจและความเคียดขึง คนที่อยู่นอกจอพลันเข้าใจทันที เธอแค่อยากรู้สึกเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เป็นเจ้าของพื้นที่ของเธอเอง
ทั้งหมดนี้ทำให้คิดถึงชีวิตของแม่ แม่จะรู้สึกอึดอัดกับชีวิตหลายสิบปีที่เขาต้องรับบทบาทหน้าที่แม่ พื้นที่ส่วนตัวขาดผึงไปตั้งแต่คลอดเราออกมา บ้างรึเปล่านะ?
มิซาเอะ แม่ชินจัง – แม่ (ที่เป็น) บ้าน
“แม่คือคนที่หาของในบ้านทุกอย่างเจอเสมอ” ฉันเคยนั่งวิเคราะห์กับเพื่อนว่าเวทย์มนตร์ของแม่ข้อนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วลงความเห็นตรงกันว่า เพราะเเม่คือคนที่ใส่ใจรายละเอียดและรู้จักทุกซอกทุกมุมไม่ใช่แค่ของบ้าน แต่ของทุกคนในบ้านด้วย แม่เลยเก็บของไว้อย่างเป็นระเบียบ และรู้ว่าเรามักจะลืมของอะไรไว้ที่ไหน
ข้อนี้ทำให้นึกถึงภาพของมิซาเอะ คุณแม่ของเจ้าหนูคิ้วเข้ม สุดกวน เจ้าของมุกทะลึ่งที่สร้างเสียงหัวเราะให้หลายคน เธอคือผู้หญิงที่เลือกทางเดินมาเป็นคุณแม่และภรรยาแบบเต็มเวลา และได้รับโหวตจากชาวญี่ปุ่นให้สุดยอดคุณแม่ เป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วยังมีสีสันในชีวิต ตลอดเรื่องฉายให้เห็นชีวิตประจำวันของผู้หญิงคนหนึ่งที่ตื่นนอนก่อนทุกคนในบ้าน เปิดม่านรับแสง เตรียมอาหารเช้า เตรียมอาหารกลางวัน ดูแลความเรียบร้อยทั้งของสามีและลูก หรือขี่จักรยานไล่ตามรถโรงเรียนเพื่อไปส่งชินจังอยู่ประจำ กลับมาทำความสะอาดบ้าน ซักเสื้อผ้า เป็นกิจวัตรที่ทำซ้ำวนไปมาทุกวัน จนเธอแทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง
แม้จะมีปากเสียง และเป็นคุณแม่จอมโหดเจ้าของกำปั้นสว่านในบางที แต่เธอคือคุณแม่ที่คอยสนับสนุนความฝันของลูก และเป็นลมใต้ปีกของครอบครัว ไม่มีเรื่องไหนที่มิซาเอะไม่รู้ เพราะไม่มีเรื่องไหนของครอบครัวที่เธอไม่ใส่ใจ
ในวันที่โลกสนใจเรื่องความเท่าเทียม บทบาทของการเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ ที่แบกรับภาระดูแลบ้านสารพัดอย่างถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันมากขึ้น ต่างคนต่างความเห็น รอยยิ้มของมิซาเอะหรือแม้แต่การระเบิดอารมณ์ของเธอบอกเราว่า ความเท่าเทียมที่เราเรียกร้องกันนั้นควรครอบคลุมถึงการเคารพว่าการเป็นแม่บ้านเป็นอีกทางหนึ่งที่มีคนเต็มใจเลือก อาจเป็นความฝันของใครบางคน และเป็นความภูมิใจของใครอีกหลายคนก็ได้
Sex Education – แม่ แม่ ลูก
ภาพของครอบครัว LGBTQ มีให้เราเห็นในซีรีส์หลายเรื่อง ตั้งแต่ Friends (1994) Working moms (2017) เรื่องที่เราอยากหยิบมาเล่าคือ ครอบครัว Marchetti ครอบครัวเพศหลากหลายของคุณแม่ผิวสีและผิวขาว จากซีรีส์ Sex Education (2019) ซีรีส์สัญชาติอังกฤษที่เล่าเรื่องวัยรุ่นที่ว้าวุ่นกับเรื่องเพศ เปลือกนอกของซีรีส์อาจฉาบด้วยประเด็นที่ดูแรงและชวนโฟกัสไปที่เซ็กส์ แต่เนื้อในกลับตรงกันข้าม ซีรีส์พาเราไปรู้จักครอบครัวธรรมดาที่ไม่สมบูรณ์แบบ มีปัญหา มีบาดแผล มีชีวิตจิตใจ มีเรื่องเพศที่เราไม่เคยหยิบมาพูดกัน sex education ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์แต่คือเรื่องความสัมพันธ์ ครอบครัว ความเป็นเพื่อน และการเติบโต ซีรีส์สามารถหยิบจับประเด็นยากๆ ทั้งบนเตียงและใต้เตียงมาเล่าได้อย่างอบอุ่น
โซเฟีย มาร์เช็ททิ (Sofia Marchetti) (นำแสดงโดย Hannah Waddingham) เป็นคุณแม่ผมบลอนด์ของแจ็คสันลูกชาวผิวสี เธอเคี่ยวกรำลูกชายอย่างหนักให้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ขณะเเจ็คสันที่ต้องทิ้งชีวิตวัยเด็กเพื่อมามุ่งมั่นฝึกซ้อม แรงกดดันรอบทิศที่เขาแบกรับโดยเฉพาะจากแม่ ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามว่าเขากำลังมีชีวิตเพื่อความฝันของแม่หรือเพื่ออะไรกันแน่
เรื่องมาคลายปมเมื่อโซฟียอมรับออกมาว่าสิ่งที่เธอกลัวที่สุดคือความจริงที่เธอไม่ใช่แม่เเท้ๆ (non-biological mom) เธอจึงดีใจมากที่ลูกสนใจว่ายน้ำ เพราะการว่ายน้ำคือสิ่งที่เธอรักและเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เธอรู้สึกเชื่อมโยงกับลูก ขณะที่แจ็คสันได้แชร์กลับเช่นกันว่า สิ่งที่ทำให้เขาชอบการว่ายน้ำที่สุดคือการที่เขาได้ทำกิจกรรมร่วมกับแม่
นอกจากนั้นในเรื่องนี้ยังมีเหล่าคุณแม่ที่คาแรกเตอร์หลากหลาย ทั้งคุณแม่นักบำบัดทางเพศที่สอนสุขศึกษาให้ทุกคนได้ยกเว้นลูกชายตัวเอง แม่ขี้เหล้า ติดยา ขี้โกหก แม่ผู้อยู่ใต้กรอบของสามีจนลืมความสนุกในชีวิตของตัวเอง แม่เคร่งศาสนา ถ้าในเรื่องนี้ลูกๆ กำลังเรียนรู้การเป็นผู้ใหญ่ เหล่าผู้ใหญ่ก็กำลังเรียนรู้การเป็นแม่ในแบบของตัวเองเช่นกัน