- ‘ชีวิตช่วงนี้รู้สึกกำลังหลงทาง’ ‘รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร’ ‘งานเยอะแต่รู้สึกตัวเองจัดการได้ไม่ดีพอ’ และสารพัดปัญหาอีกมากมาย ป่านและกุ๊กไก่แห่งร้านหนังสือ Fathom Bookspace ขอแนะนำทางออกผ่านการอ่านหนังสือ
ในช่วงเวลาที่ ‘ใจไม่ค่อยดี’ พวกเราจะชอบทำ 3 อย่างค่ะ
- ดูแลร่างกายให้ดี – จะทำให้เรายังใช้ชีวิตได้อย่างดี และมีความรักสำหรับตัวเราเอง
- ใช้เวลากับคนที่เรารักหรือรักเรา – จะทำให้เรามีพื้นที่ปลอดภัย เห็นความเป็นไปได้และโอกาสมากมาย พร้อมกับรับรู้พลังกายใจที่อยู่กับเราเสมอ
- อ่านหนังสือ – จะทำให้เราเห็นว่า เรื่องที่เรากำลังเจอ ไม่ว่ามันคือเรื่องไหน จริงๆ แล้ว มันคือเรื่องอะไรกันแน่ หนังสือมักจะมีข้อความที่ใช่ ในเวลาที่ใช่ มันช่วยให้เราเห็นตัวเองได้ชัด มองคนอื่นได้พอเข้าใจ แล้วช่วยเพิ่มทางเลือกให้เรา ทางเลือกที่ไม่ได้มีไว้สำหรับอนาคตเท่านั้น บางทีก็เป็นทางสำหรับอดีต ที่เราจะได้ทบทวนบางอย่างใหม่ได้อีกด้วย
พวกเรา – ป่าน และ กุ๊กไก่ กำลังอยู่ในร้านหนังสือและพื้นที่เรียนรู้ Fathom Bookspace ขณะอ่านและตอบข้อความนี้ และมีหนังสือหลายเล่มสบตา 😊
1.
Kamonphan C.
รู้สึกชีวิตกำลังหลงทาง ทั้งๆ ที่ถือแผนที่ ดูมันมาอย่างดี เดินตามมาอย่างถูกต้อง แต่พอถึงที่ กลับรู้สึกว่าเหมือนกำลังหลงทางอยู่ บางครั้งก็เหมือนชีวิตวนลูป ทำแบบนั้นเดิมๆ เป็นแพทเทิร์น จนเกิดคำถามหลายครั้งว่าเป็นเพราะอะไร เพราะเราไม่มีเวลา เราเหนื่อย หรือเราเพิกเฉยปล่อยให้มันเป็นแบบนี้กันแน่
รู้สึกยังเศร้ากับความฝันหลายอย่างที่เราเกือบจะคว้ามันได้ แต่ด้วยปัจจัยบางอย่าง เลยทำให้เราเลือกที่จะปล่อยความฝันนั้นไป เคยเป็นคนที่มีความมั่นใจ มีความภูมิใจในสิ่งที่ทำ ในงานที่ทำ แต่ปัจจุบันกลับรู้สึกว่า ผลงานที่เราทำออกมามันดูไร้ค่า ดูมันไม่มีอะไร จนถามตัวเอง “นี่เราไม่มีความสามารถหรอวะ?”
ที่บอกมาอาจจะดูเหมือนคนไม่มีความสุข จริงๆ ก็มีนะ ฮ่าๆ เรายังแฮปปี้กับบางอย่างที่เราทำ เราเจอ ในแต่ละวัน จะรออ่านหนังสือเล่มนั้นนะคะ หรือมีหลายเล่มก็ยินดีค่ะ ขอบคุณล่วงหน้านะคะ 🙂
ถึงคุณ Kamonphan
ดีใจที่ได้เห็นว่าคุณมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ที่เจอ ในแต่ละวันด้วย 😊
พูดถึงเรื่องเส้นทางชีวิต ความฝัน ความคาดหวัง และคุณค่าที่เรามองตัวเอง แล้วนึกถึงหนังสือเรื่อง วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ค่ะ ตอนนี้มันเป็นหนังสือที่หลายคนซื้อมอบให้กันในวันรับปริญญา ดูเหมาะกับสถานการณ์ของคุณ Kamonphan อยู่เหมือนกัน ^^
ในเล่มรวบรวมปาฐกถาในงานรับปริญญาของหลายมหาวิทยาลัยดังซึ่งกล่าวโดยบุคคลหลากหลายแวดวง เช่น Steve Jobs, Marc Lewis, J.K. Rowling, Sheryl Sandberg และอื่นๆ ที่อาจเรียกว่า ‘คนประสบความสำเร็จ’ คนที่ผ่านการต่อสู้จนน่าจะเข้าใจชีวิต คนที่น่าจะรู้วิธีไขว่คว้าฝัน รู้วิธีสร้างความมั่นใจ รู้ว่าแผนที่ชีวิตนั้นควรวาดแบบไหน มันดูคล้ายหนังสือรวมสูตรสำเร็จและแรงบันดาลใจ แต่เมื่ออ่านไปแล้วเราก็พบว่าไม่มีชีวิตใครที่มีสูตร กระทั่งอาจไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จอยู่เลยก็ได้
ประโยคหนึ่งในหนังสือเรื่องวิชาสุดท้ายฯ เล่าว่า “คุณจะได้รับคำบอกเล่าเป็นร้อยวิธี ทั้งแบบอ้อมค้อมและแบบโจ่งแจ้ง ว่าจงปีนขึ้นไปเรื่อยๆ และจงอย่าพอใจกับพื้นที่ที่คุณยืนอยู่ คนที่คุณเป็น และสิ่งที่คุณทำ…การคิดค้นความหมายให้กับชีวิตของคุณเองไม่ใช่เรื่องง่าย”
นอกจากไม่ง่ายแล้ว ก็คงไม่ได้มีวิธีเดียวอีกด้วย ซึ่งนี่เหมือนความจริงที่เราน่าจะรู้กันอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อเราเจอมันกับตัว คนทั้ง 11 คนในเล่ม ไม่ได้เชื่อในสิ่งเดียวกัน ให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน และนั่นก็ทำให้ความหมายของความสำเร็จมีหน้าตาแตกต่างกันไป บางขณะเขาเหล่านั้นพบกับความสูญเสีย บางขณะพบความผิดหวัง บางช่วงชีวิตพังทลาย ตั้งคำถามกับคุณค่าของตัวเอง และนั่นก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้ใคร่ครวญ ใช้ชีวิต กอบกู้บางสิ่ง จนได้ถอดบทเรียนออกมาเป็นปาฐกถาเหล่านี้
เป็นหนังสือที่น่าจะเป็นแรงพลังและมุมมองใหม่ๆ 😊
อีกเล่มที่ชวนอ่านเป็นอีกแนวเลยค่ะ คือเรื่อง วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว นิยายอบอุ่นเล่าถึงผู้หญิงอายุราว 50 ที่ตัดสินใจทิ้งงานการที่ทำมาตลอดชีวิตออกมาเปิดร้านที่ขายแค่ซุปกับขนมปัง เสี่ยงให้ชีวิตเจอที่ทางใหม่ๆ ที่นำมาซึ่งคำตอบใหม่ และคำถามใหม่
2.
Nawasri C.
อะไรบางอย่างในตัวกำลังเปลี่ยน ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แย่ แต่อยากลองอยู่นิ่งๆ ค่อยๆ ตกตะกอน ระหว่างที่กำลังลงมือทำเรื่อยๆ ก็มีคำถามตลอดว่าควรรอให้ตัวเองนิ่งลงกว่านี้ไหม แต่รู้สึกว่ารอไม่ได้อีกต่อไป คงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอะไรสักอย่าง อยู่ในระหว่างเปลี่ยน แต่ยังไม่ผ่านไป
ถึงคุณ Nawasri C.
การเปลี่ยนบางอย่างข้างในไม่ได้เห็นชัดเหมือนการเปลี่ยนข้างนอก แต่เป็นเรื่องที่ดีมากเลย ที่เราสังเกตเห็น รับรู้ ว่ามีบางอย่างกำลังเปลี่ยน และดีที่มันไม่แย่ด้วยเนอะ 😊
เวลาพวกเราเป็นแบบนี้ ชอบอ่านหนังสือที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายพร้อมๆ กับได้ตกตะกอนบางอย่างไปด้วย ซึ่งพบว่า หนังสือประเภทที่เวิร์กมาก คือหนังสือภาพค่ะ
Can I build another me? เป็นหนังสือภาพน่ารักของคุณ Shinsuke Yoshitake ที่เล่าถึงเด็กชายคนหนึ่ง ผู้อยากสร้างตัวเองขึ้นมาหลายๆ คน จะได้มีคนช่วยทำอะไรต่างๆ นานาได้ ว่าแล้ว เด็กชายก็ไปซื้อหุ่นยนต์นักประดิษฐ์มาตัวหนึ่ง หุ่นยนต์นั้น ก็ทำรีเสิร์ชอย่างขะมักเขม้น ว่า อ่ะ… ที่เธออยากให้ฉันก็อปปี้ตัวเธอขึ้นมา ถ้าอย่างนั้น เธอคือใครกันล่ะ
ทั้งเล่ม เราจะได้สำรวจ ทบทวน ไปพร้อมกับคำถามของหุ่นยนต์ และคำตอบของเด็กชาย ว่าเราเป็นใครกันแน่ อะไรที่เราชอบ เราเชื่อ เราเป็น เราสนุก เรารัก
หนังสือไม่ได้ให้คำตอบอะไรค่ะ แต่สิ่งที่พวกเรานึกได้ตอนอ่าน ก็คือ ในตัวเรามีความคิด ความเชื่อ ความเป็นเราบางสิ่งอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน ก็มีบางอย่างเปลี่ยนไปอยู่เรื่อย เวลาที่ผ่านไปบางอย่างก็เพิ่มขึ้นมา บางสิ่งเราอาจไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะมีสิ่งนี้ในตัวเราได้ บางสิ่งมีอยู่เพราะคนอื่นบอกว่าเรามี บางอย่างเราเคยเป็น บางอย่างเราจะไม่เป็น ฯลฯ
เป็นหนังสือที่ทำให้คิดว่า ชีวิตนั้นน่ารัก ค่อยๆ เปลี่ยน เปิด มีหลายๆ มุมให้เราค่อยๆ เจอและรู้จัก 😊
ทะเลเป็นสถานที่ที่ดูเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่แปลกดีที่เวลาเราไปทะเล กายใจที่อยู่กับคลื่นลมซัดสาด กลับทำให้เราสงบลงได้ อีกเล่มชวนอ่านเลยเป็น ของฝากจากทะเล ของคุณแอนน์ มอร์โรว์ ลินด์เบิร์กห์ ที่พาเราใคร่ครวญถึงสิ่งที่เรากำลังพบ คว้า และปล่อยมันไป
3.
Thitirat S.
ช่วงนี้งานเยอะมากค่ะ อยากทำทุกงานเลย แต่ทำไม่ทันด้วยข้อจำกัดเรื่องสุขภาพและเวลาค่ะ
คือลึกๆ มุมหนึ่งก็มั่นใจว่าตัวเองบริหารจัดการทุกอย่างได้ดีค่ะ แต่พอมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น เวลา รึสภาพแวดล้อมก็ทำเอาเราหนักใจเหมือนกันค่ะ
อยากเรียนรู้การรับมือกับความไม่สมบูรณ์แบบและการอดทนกับสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังค่ะ ขอบคุณล่วงหน้านะคะ
ถึงคุณ Thitirat S.
ตอนนี้ เรากำลังอ่านหนังสือเรื่อง Wabi Sabi อยู่ค่ะ ชื่อเต็มๆ คือ วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ปรัชญาญี่ปุ่นที่ว่าด้วยความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ ผู้เขียนคือคุณ Beth Kempton ผู้ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นอยู่ยาวนานและศึกษา สัมภาษณ์ ทำความเข้าใจกับเรื่องวะบิซะบิ ว่าคืออะไรกันแน่
โดยทั่วไป เวลาพูดเรื่องวะบิซะบิ เราจะนึกถึงถ้วยชามแตกร้าว ข้าวของที่ไม่สมมาตร สรรพสิ่งที่มีตำหนิ แต่ในหนังสือเล่มนี้ พาเราไปไกลกว่านั้น คือ พยายามจะหาไปถึงรากว่าทำไมเราจึงควรลองรื่นรมย์กับบรรดาความไม่สมบูรณ์แบบนั้นด้วย เล่าอย่างให้เห็นรูปธรรมในมิติต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการจัดบ้าน การซื้อข้าวของ ความสัมพันธ์ การพักผ่อน ไปจนกระทั่งการงาน (ซึ่งไม่สมบูรณ์แบบได้ด้วยหรือ??)
ตอนหนึ่งในหนังสือ เล่าถึงประเทศญี่ปุ่นว่ามีการแบ่งฤดูกาลย่อยออกเป็น 72 ฤดู ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ ของการที่ผู้คนได้สังเกตสรรพสิ่งรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่า เมื่อเป็นเรื่องธรรมชาติ ส่วนใหญ่ ก็มาในแบบที่เราไม่ได้คาดคิดนัก
ธรรมชาติที่วะบิซะบิพูดถึงจึง ขยายใจความไปที่ ‘สรรพสิ่งตามที่มันเป็น’ สัจธรรมของโลกและชีวิต ว่า “ไม่มีอะไรที่เสร็จสิ้น ครบถ้วน หรือสมบูรณ์แบบ” แต่วะบิซะบิก็ไม่ได้บอกให้ปล่อยทุกอย่างไปตามชะตากรรม แต่เชิญชวนให้เราสามารถอยู่ร่วม ดูแล และรื่นรมย์ประคับประคองกับฤดูกาลที่ผันผ่าน ทั้งฤดูโลก และฤดูในตัวเราเอง – ฤดูที่แข็งแรง ฤดูที่เหนื่อย ฤดูที่ป่วย ฤดูคึกคักสดใส หรือฤดูร้อนหนาวในใจ ซึ่งไม่ว่าใครๆ ก็กำลังเผชิญกับฤดูอะไรสักอย่างอยู่เช่นกัน
บางแบบฝึกหัดในเล่ม บอกว่าเราสามารถมีเวลาให้ตัวเองได้มองเห็นห้วงเวลาผ่านไป เพิ่มพลังตัวเองผ่านการไม่จัดการอะไรเลยสักช่วงเวลาหนึ่งก็ได้ ขณะเดียวกัน ก็อาจจัดการบางอย่าง และทำให้งานเยอะๆ ที่คุณ Thitirat กำลังสนุกกับมัน สนุกมากขึ้นไปอีกได้ด้วย ^^
อีกเล่มที่ชวนอ่าน คือ วิถีบันทึกแบบบูโจ หนังสือยอดฮิตที่พาเราลองใช้การบันทึกแบบ ‘บูโจ’ เพื่อจัดการสารพัดความโกลาหลในชีวิตให้เข้าที่เข้าทาง
4.
Beau S.
เพิ่งย้ายที่นั่งในออฟฟิศค่ะ เพราะที่นั่งเดิมทำให้ใจสั่นเกินไป การรักใครข้างเดียวนานเกินไปสุดท้ายแล้วก็จบลงที่เราต้องกลับมารักตัวเองค่ะ หวังว่าการย้ายครั้งนี้จะทำให้ใจนิ่งลงบ้าง
ถึงคุณ Beau S.
มีนิยายเรื่องหนึ่งที่เราเพิ่งอ่านจบไป ชื่อว่า Sad Café เธอ, เขา, เรา, ฉัน และสามร้อยกว่าวันในดินแดนแสนโศก เป็นนิยายเล่มเล็กของคุณวิรัตน์ โตอารีย์มิตร เรื่องสนุกดีอ่านเพลินและดูเข้ากับสถานการณ์มากเลยค่ะ
นิยายเล่าถึงชายหญิงคู่หนึ่ง จากอดีตคนที่เคยแอบรัก มาเป็นหุ้นส่วนกันเปิดคาเฟ่ที่ตั้งใจว่าจะเป็นคาเฟ่ที่แสนเศร้า ทุกอย่างในร้านจะเศร้ากันให้สุดๆ แบบที่กระทั่งแอร์ในร้านก็จะเปิดให้หนาวกว่าปกติ สถานการณ์ในเรื่องดำเนินไปโดยที่มีลูกค้ามากมายแวะเวียนเข้ามาพร้อมกับเรื่องเศร้าตามคาด
และเรื่องเศร้าที่สุด ก็หนีไม่พ้นเรื่องความสัมพันธ์ สิ่งที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นในหลากหลายหน้าตา เรื่องบางแบบเราเคยเจอ บางแบบซับซ้อนซ่อนเงื่อน บางเรื่องสามเส้า บางเรื่องหนึ่งเศร้า บางเรื่องแค่ฟังก็รู้สึกเจ็บปวดแทน แต่โดยรวมๆ แล้ว มันช่างเป็นเรื่องใกล้ใจและเหมาะกับการมีใครสักคนรับฟัง และเจ้าของร้านทั้งสองของคาเฟ่ ก็ทำหน้าที่นั้นจนสถานการณ์ความเศร้าและความรักในร้านค่อยๆ แปรเปลี่ยนชีวิตของบรรดาตัวละครไป
เป็นหนังสือที่เราคนอ่านก็ได้ออกสำรวจและค่อยๆ เติบโตไปด้วยกัน
สำหรับเรา การเลือกของคุณ Beau ทำให้รู้สึกถึงความรัก 😊 เป็นกำลังใจให้นะคะ
อีกเล่มที่ชวนอ่านเป็นหนังสืออ่านความเรียง เป็นตอนสั้นๆ อ่านเพลินๆ พร้อมภาพประกอบสวยงาม เป็นงานเขียนจากเกาหลี ชื่อ ไม่ได้ขี้เกียจ แค่กำลังชาร์จพลัง เป็นหนังสือที่เหมือนทำให้ได้ทบทวนพูดคุยกับตัวเองในประเด็นต่างๆ และเตือนกับเราว่า “ไม่ไหวบอกไม่ไหว”
5.
Keawalee W.
รู้สึกมีความสุขกับชีวิตโดยเฉพาะในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่กลับรู้สึกลึกว่าๆ ยังมีอะไรที่ขาดไป… ถ้าให้แบ่งตามทั่วไปน่าจะเรียกว่าเรื่องของ ‘การงาน’ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของ ‘เป้าหมายในชีวิต’ มากกว่าหรือเปล่าไม่รู้ จากเดิมที่มีฝันและไฟแรงกล้า ตอนนี้เรากลับรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นกับการมีความสุขในชีวิตเลย มันรู้สึกเหมือนกับเราทิ้งจุดหมายไปอย่างง่ายดายทั้งที่เราเดินทางมาไกลก็เพื่อเติมเต็มความฝัน มาเรียนรู้ เดินทางมาไกลอีกฟากโลกเพื่อให้ตัวเองได้เติบโตและกลับไปเป็นตัวตนแบบที่เคยรู้สึกว่า ambitious ที่สุด
ผ่านมาสองปีแล้วเรากลับกลายเป็นได้เรียนรู้คุณภาพการใช้ชีวิตที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อนที่ดีมากๆ แต่เรายังรู้สึกว่าเรายังอยากค้นพบสิ่งที่ทำเป็นงานแบบไม่รู้สึกทรมานได้ งานที่ทำแล้วเรารักมัน แต่ตอนนี้เรามีความสุขและผลัดผ่อนมันเกินไปไหมนะ หรือมันก็แค่ช่วงชีวิตนี้ที่เรากำลังถึงทางแยก เรามีความสุขกับปัจจุบันแต่ไม่เห็นภาพของอนาคตเลย จนเราแอบหวั่นกับชีวิตตัวเองบางคราว มันมีปัญหาอะไรที่ทำให้เราไม่เผชิญหน้ากับชีวิตหรือเปล่านะ..
ถึงคุณ Keawalee W.
เราอ่านข้อความของคุณ Keawalee แล้วเห็นความเอาใจใส่ที่มีต่อความคิด ความรู้สึก และสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน สังเกตการณ์ตัวเองได้ละเอียดลออน่าสนใจมาก ที่สำคัญ พวกเราว่าคนที่สามารถมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตได้ เหมือนได้รับของขวัญเลยค่ะ 😊
การจัดการชีวิตแบบที่คำนึงถึงความเป็นเรา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทำให้นึกถึงหนังสือเรื่อง Designing your life หนังสือโดยบิล เบอร์เนตต์ และเดฟ อีวานส์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำผู้ประยุกต์ใช้ Design Thinking เข้ากับการออกแบบชีวิต และเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตร Designing Your Life ซึ่งกลายเป็นวิชายอดนิยมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นักออกแบบทั้งสอง หาวิธีที่เอาความคิดของการออกแบบ มาทำให้ชีวิตอิ่มเต็มและมีความหมาย และพยายามหาคำตอบว่า เราจำเป็นต้องทำงานในสาขาที่เรียนมาไหม แล้วจะทำอย่างไรถ้าเราเพิ่งรู้ตัวว่าเลือกทางผิด ทำยังไงให้ passion เป็นเรื่องที่เวิร์ก สมดุลระหว่างงานและครอบครัวสร้างได้ใช่ไหม กระทั่งเราจะออกจากการติดหล่มได้ยังไง
แม้เป็นหนังสือที่บอกไปจนถึงวิธีการ แต่ก็ย้ำกับเราว่า ชีวิตที่ดีไม่ได้มีสูตรตายตัวเหมือนคณิตศาสตร์ แต่ทำยังไงที่เราจะเห็นปัญหาจริงๆ และแก้ไขให้ถูกจุด
ชีวิตเป็นเรื่องคาดเดายาก มันยากจะนึกออก จังหวะชีวิตก็เปลี่ยนไปเสมอ บางทีเราก็ไม่ได้คิดเหมือนเดิม ไม่รู้สึกอย่างเดิม ไม่ได้มีพลังเท่าเดิม เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป แล้วเป้าหมายก็อาจจะเปลี่ยน ซึ่งบางทีก็ยังไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนไปทางไหน และทั้งหมดนั้นก็น่ากังวลใจอยู่เหมือนกัน
แต่อนาคต…วินาทีข้างหน้าก็มาถึงเสมอ แล้วก็ดูเหมือนคุณ Keawalee จะเผชิญมันได้ดีมาตลอด ทีละแยกๆ
มีประโยคหนึ่งที่เคยอ่านเจอเป็นประโยคของนักจิตวิทยาคลินิก คุณ Meg Jay มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
“ประสบการณ์ในแต่ละช่วงวัย จะค่อยๆ สะสมถึงแก่นแท้ ซึ่งคือการที่เราบอกตัวเองได้ว่า ‘เราจะเลือกเอาอะไรเข้ามาในชีวิต’ เท่านั้นเอง”
มีอีกเล่มหนึ่งที่พวกเราชอบมาก เวลาได้คุยเรื่องชีวิตกัน คือ ‘เรื่องส่วนตัว’ ของ Jimmy Liao เป็นหนังสือภาพวาดน่ารัก แต่ละหน้าจะมีบุคคลน่าสนใจ 1 คนที่เราไม่รู้จักและอาจมีเฉพาะในโลกจินตนาการ กับประวัติของเขาเขียนอยู่ด้านข้าง เขาชอบกินอะไร อธิษฐานอะไรตอนเห็นดาวตก ความใฝ่ฝันเป็นแบบไหน และอื่นๆ พวกเราอ่านแล้วพบตัวเรากระจัดกระจายอยู่ในนั้น เป็นช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญที่สนุก 😊
ป่านและกุ๊กไก่ เจ้าของร้านหนังสือและพื้นที่เรียนรู้ Fathom Bookspace ร้านหนังสือเล็กๆ น่ารักที่มีกิจกรรมสารพัดชวนเราค้นหา ค้นพบ ตัวเราและเพื่อนมนุษย์อย่างรื่นรมย์ไปด้วยกัน |